ธนดี โสภณศิริ ประธานคณะกรรมการจัดการกลุ่มธุรกิจการค้าของเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ซึ่งเคยคร่ำหวอดในแวดวงบริษัทเงินทุนมาก่อน
เป็นอีกคนหนึ่งที่เมื่อ "ผู้จัดการ" ขอให้เขาช่วยย้อนกลับไปมองปัญหาที่เกิดขึ้นในรอบปี
2527 ในประเด็นของตัวสาเหตุแล้ว ธนดีดูจะเน้นไปที่ปัญหาตัวผู้บริหารเป็นพิเศษ
"ส่วนหนึ่งมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ หวังอาศัยสถาบันการเงินเป็นฐานหาผลประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่คำนึงถึงหลักการและความถูกต้อง
อีกส่วนหนึ่งเกิดจากปรับการบริหารไม่เข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม"
ธนดีกล่าวในเชิงรายละเอียดลงไปอีกว่า เจตนารมณ์ของการก่อตั้งบริษัทเงินทุนขึ้นมานั้นได้แยกตลาดไว้ชัดเจนไม่ไปแข่งกับธนาคารพาณิชย์โดยตรง
แต่พอทำไปจริงๆ ธุรกิจที่ว่าก็เกิดมีปริมาณไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องหันเข้าไปแข่งกับธนาคารพาณิชย์
ซึ่งก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้รับจากลูกค้าที่ดีๆ เพราะต้นทุนสูงกว่าธนาคาร ส่วนใหญ่ก็เลยต้องทำธุรกิจกับกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง
ปล่อยให้บริษัทในเครือตัวเองหรือไม่ก็ทำธุรกิจเก็งกำไร เช่นซื้อขายที่ดิน
หรืออสังหาริมทรัพย์อื่นๆ เป็นต้น
"เมื่อเขาต้องหันไปเล่นแต่พวกสินทรัพย์สภาพคล่องต่ำ ภายใต้สถานการณ์ปกติ
คือมีเงินฝากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็คงประคองธุรกิจไปได้ จะเสียหายบ้างก็ตรงที่ดอกเบี้ยเงินฝากต้องจ่ายคนฝากเงิน
แต่ที่ดินเกิดยังขายไม่ได้ และถ้าเป็นในสภาพไม่ปกติคือ ฝากไม่เพิ่มแถมคนยังรุมถอนเงินจะเรียกคืนเงินจากลูกหนี้ก็ไม่ได้
จะขายที่ดินก็ยังไม่มีคนซื้อ เพราะกำลังซื้อของคนต่ำ ดอกเบี้ยแพงเงินหายาก
ปัญหาก็เกิดขึ้นอย่างที่พบเห็นกันในรอบปีที่ผ่านมา"
ธนดี ลำดับปัญหาเป็นขั้นตอนให้ฟัง
สำหรับเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งนับเป็นวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่นี้ ธนดีกล่าวว่า
มันเป็นปัญหาที่เขาเคยคาดหมายไว้ว่าสักวันจะต้องลงเอยเช่นที่เห็น
เพียงแต่เขาไม่คิดว่าจะรุนแรงขนาดสั่นสะเทือนไปทั้งระบบและมีบริษัทนับสิบๆ
แห่งต้องประสบชะตากรรมอย่างน่าสมเพชเช่นที่เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น
"สิ่งที่ทำให้ผมพอจะคาดหมายได้ก็เพราะอย่างที่บอกคือ ปัญหาของบริษัทเงินทุนมันมีมานานแล้ว
และมัน
ค่อยๆ สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สาเหตุที่มันต้องมีอันเป็นไปอย่างรุนแรง หลังจากผมลองทบทวนดูแล้ว
ผมเชื่อว่า
มันเป็นเรื่องของปัญหาเดิมที่ไม่ได้แก้ไขแล้วซ้ำเติมด้วยปัญหาใหม่จากสถานการณ์ภายนอก
คือปัญหาเศรษฐกิจและการเงินในช่วงสองสามปีหลังนี้" ธนดีอธิบายถึงสิ่งที่อยู่นอกการคาดหมายให้ฟังพร้อมกับเสริมว่า
"ปัจจัยทั้งของเก่าและของใหม่นี่เอง ทำให้หลายบริษัทมีปัญหา ผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินก็เริ่มไม่มีความเชื่อมั่น
บริษัทเงินทุน จากแห่งหนึ่งไปสู่อีกแห่งหนึ่ง แล้วก็ทั้งระบบในที่สุด"
อีกสาเหตุหนึ่ง ธนดีมองว่า น่าจะเป็นเพราะธุรกิจบริษัทเงินทุนยังเป็นของใหม่
กฎหมายหรือระเบียบต่างๆ
ตามผู้ประกอบการไม่ทัน มักจะออกมาตามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ทั้งไม่เคยมี
MASTER PLAN เอาแต่รอให้เกิดปัญหาแล้วจึงแก้ มันจึงกลายเป็น CRISIS MANAGEMENT
ไป
"เขี้ยวเล็บของกฎหมายก็ไม่ค่อยมี ขั้นตอนมีมากมาย ถ้าเขียนไม่ชัดคนทำผิดหลุดหมด คนก็เลยไม่กลัว
อีกอย่างหนึ่งกลไกการควบคุมและระบบรายงานของเราก็เป็นตัวสะสมปัญหาถึงแม้ว่าคนควบคุมจะมีความรู้ความซื่อสัตย์และความสามารถส่วนตัวสูงปานใด
แต่ระบบของเรายังเป็นระบบรับชอบแต่ไม่รับผิด มันจึงเป็นธรรมดาที่คนเราจะชอบแต่ทำของดีๆ
ส่วนของที่มีปัญหาหรือของไม่ดีไม่มีใครอยากสอดมือเข้าไปยุ่ง เพราะทำไปก็ไม่ได้ดีอะไรกับตัว
ระบบนี้มีทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน ตอนผมเรียนหนังสือเขายังเคยสอนไว้เลยว่า
ในการแก้ปัญหาในกรณีที่เรายังไม่สามารถวิเคราะห์ตัวปัญหาที่แท้จริงได้ วิธีแก้อย่างหนึ่งในหลายๆ อย่างก็คือ
รอให้ปัญหามันลุกลามมากขึ้น ถึงจุดหนึ่งแล้วปัญหามันจะแก้ด้วยตัวของมันเอง
หรือไม่ก็จะทำให้เห็นปัญหาที่แท้จริง จากนั้นค่อยมาคิดแก้กัน"เขากล่าวในตอนหนึ่ง
ธนดีดูจะเชื่ออย่างมากว่า จากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ได้ให้บทเรียนที่มีคุณค่ายิ่งในการบริหารธุรกิจการเงินสืบไปในภายภาคหน้า
เขาได้ให้ความเห็นในเชิงข้อชี้แนะว่า โลกธุรกิจสมัยนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับเศรษฐกิจและสังคมทั้งในและนอกประเทศ ทางด้านรัฐบาลเองก็เข้ามามีส่วนต่อการดำเนินงานเพิ่มมากขึ้น
เพราะฉะนั้นการจะอาศัยการบริหารงานแบบครอบครัวคงจะไปไม่ได้ไกล ส่วนการบริหารงานสมัยใหม่
จะนำความรู้สึกมาใช้ในการตัดสินใจอย่างเดียวก็คงไม่ได้ จะต้องอาศัยข้อมูลมาประกอบด้วย
การกระจายอำนาจให้กับพนักงานที่มีความรู้และประสบการณ์จึงเป็นเรื่องจำเป็น
"ผมเคยอ่านหนังสือ IN SEARCH OF EXCELLENCE ซึ่งเขาได้สรุปธุรกิจสมัยใหม่ที่ประสบความสำเร็จว่า
มักจะประกอบด้วยปัจจัย 8 ประการที่สำคัญ คือ หนึ่ง - เน้นการเข้าถึงลูกค้า
ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ สอง -เน้นการทำให้เกิดผลงานกับบริษัทเป็นหลัก
สาม -ให้อิสระในการดำเนินงาน ส่งเสริมให้พนักงานเป็นนักบุกเบิก สี่ -มุ่งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพ
โดยมีพนักงานร่วมมือ ห้า -สร้างค่านิยมในการทำงาน หก -ขยายงานในธุรกิจที่ตนชำนาญ
เพราะคนเราจะเก่งไปหมดทุกอย่างไม่ได้ เจ็ด -จัดองค์กรไม่ให้มีงานซ้ำซ้อน
และแปด -มีระบบการควบคุมที่ยืดหยุ่นคือมีทั้งตึงและหย่อนคู่กันไป"
คำชี้แนะเพื่อสร้างความเป็นเลิศนี้ ธนดีบอกว่าคงสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกธุรกิจ ซึ่งแน่นอนว่า
คงไม่มีใครหวงลิขสิทธิ์ น่าเสียดายตรงที่เรามีแต่ปริมาณที่เพิ่มขึ้นเท่านั้นแต่คุณภาพของนักธุรกิจกับไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนตามปริมาณ
"อาจจะเป็นเพราะลักษณะของธุรกิจมันกึ่งผูกขาด เพราะมีอภิสิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้อง
ก็เลยสร้างบรรยากาศของการบริหารงานที่ไม่จำเป็นต้องมีประสิทธิภาพหรือต้องพึ่งพาความรู้ความสามารถมากนัก
ทั้งหมดนี้ก็เลยไม่ได้เอื้ออำนวยให้มีการสร้างนักบริหารและการบริหารแบบมืออาชีพขึ้นมา"
นักสังคมวิทยาและจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยมหิดลคุยให้ "ผู้จัดการ" ฟังระหว่างการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องนี้
"สมัยนั้น เอ็มบีเอไม่สำคัญหรอก สำคัญว่าคุณรู้จักพลเอกคนไหนบ้างและสัมปทานนี้ใครสั่งมาให้คุณ"
นักธุรกิจเก่ารุ่นลายครามพูดเสริมให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
แต่ในด้านสินค้าอุปโภคบริโภคกลับตรงกันข้าม อาจจะเป็นเพราะสินค้าอุปโภคบริโภคนั้นไม่ได้อยู่ในขอบข่ายที่บรรดานักคว้าอภิสิทธิ์จะสนใจเพราะยุ่งยากกำไรช้า
ในวงการนี้กลับเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วพอสมควร และก็ได้สร้างคนขึ้นมาเป็นมืออาชีพก็ไม่น้อยรวมทั้งองค์กรของไทยด้วย
"เหตุผลหนึ่งที่กลุ่มสหพัฒนเขาเก่งขึ้นมามากเพราะเขาต้องดีลกับบริษัทฝรั่งเช่นลีเวอร์หรือคอลเกตมานานแล้ว
ฉะนั้นเขาได้มีโอกาสพัฒนาคนของเขาเองมาตลอด" ไพบูลย์ สำราญภูติ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทพัฒนาที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมให้เหตุผลกับเรา
แม้แต่ในกลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่เช่นเครือซิเมนต์ไทยนั้นก็ไม่ได้ดีไปกว่าด้านอื่นในเรื่องระบบและความเป็นมืออาชีพ
เครือซิเมนต์ไทยนั้นว่าไปแล้วเริ่มจะสนใจในการพัฒนาและทำงานอย่างมืออาชีพกันจริงๆ
ก็ไม่เกิน
10 - 15 ปีที่ผ่านมานี้เอง
สำหรับธุรกิจในด้านการเงินนั้นก็ยิ่งแล้วใหญ่จากการที่ธนาคารต่างๆ ในสมัยนั้นอยู่ภายใต้กลุ่มครอบครัวกันแล้วจะเห็นได้ชัดว่าการพัฒนาคนขึ้นมานั้นโดยให้โอกาสและให้อำนาจแทบจะไม่มีทีเดียว
อาจจะมีเพียง
บุญชู โรจนเสถียร เท่านั้นกระมังที่โชคช่วยและจังหวะให้ทำให้กายเป็นบุคคลนอกตระกูลโสภณพนิชที่สามารถจะเข้ามาบริหารและสร้างให้ตัวเองเป็นมืออาชีพขึ้นมา
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วบุคลากรที่มีคุณภาพในด้านการเงินก็เป็นทรัพยากรที่ขาดแคลนอย่างมากๆ
"มันเป็นเพราะว่าสมัยก่อนนั้นการบริหารธนาคารมันไม่ยาก บุกตลาดให้เป็น
ควบคุมภายในให้ดี มันก็ไปได้ คุณอย่าลืมว่าสมัยก่อนอัตราดอกเบี้ยอัตราเดียวนานๆ
จะขึ้นจะลง ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ที่การผันแปรทางการเงิน
มันเกิดขึ้นแบบวันต่อวัน เราเองก็ค้าขายกับต่างประเทศมาก ภาวะดอกเบี้ยของโลกมีส่วนกระทบกันภาวะการเงินของเมืองไทย
แต่ก่อนนี้ DEFICIT ของอเมริกายังน้อย ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ที่กว่า 200 พันล้านเหรียญ
ซึ่งประเทศอื่นกำลัง FINANCE DEFICIT ของอเมริกาอยู่อย่างขมขืนโดยตัวเองไม่มีทางเลือกภาวะการแบบนี้สมัยก่อนไม่มีใครเคยเจอ
ก็เลยทำให้เขามองไม่เห็นว่าควรจะรีบพัฒนาคนในด้านนี้ไปทำไม"อดีตข้าราชการธนาคารชาติที่เกษียณแล้วพูดให้ฟัง
ในด้านหนึ่งก็คงจะเป็นเช่นนั้นแต่มองดูอีกแง่หนึ่งแล้วเราจะเห็นว่าจากการที่ธนคารอยู่ในมือของกลุ่มตระกูลต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นโสภณพนิช ล่ำซำ เตชะไพบูลย์ รัตนรักษ์ เช่นนี้แล้ว มันไม่มีเหตุผลอะไรที่พวกเขาจะต้องรีบเร่งพัฒนาคนนอกให้เข้ามาทำงานแทนตน
สู้รอพัฒนาลูกหลานของตัวเองไม่ดีกว่าหรือ
"ก็คงจะเป็นการขยายตัวของธุรกิจที่มันขยายเร็วมากจนพวกนี้ในที่สุดก็ต้องขยายตามเลยต้องหันมาพัฒนาคนนอกให้เข้ามาช่วยบริหารมากขึ้น
"อดีตข้าราชการธนาคารแห่งประเทศไทยคนเดิมกล่าว
ค้าขายยุคหลัง 14 ตุลาคม นอกจากแรงกดดันทางการเมืองที่ถูกเปิดแล้วโจทย์ใหม่ของการค้าก็เกิดด้วยนักประวัติศาสตร์ในอนาคตอาจจะให้เหตุการณ์ตอน
14 ตุลาคม เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง
สำหรับ "ผู้จัดการ" แล้ว 14 ตุลาคมไม่มีความหมายเพียงการลุกฮือขึ้นมา
เพื่อต้องการสิทธิทางการเมืองขั้นพื้นฐาน หากแต่ยังมีความหมายไปถึงยุคสมัยใหม่ของการค้าขายอีกด้วย
สำหรับพ่อค้าอภิสิทธิ์ทั้งหลายที่เกาะติดถนอมและประภาสนั้น วันที่ถนอมและประภาสต้องขึ้นเครื่องบินจากแผ่นดินไทยไปในตอนนั้นเป็นเหมือนลางบอกเหตุพวกเขาว่า
วันเก่าๆ ที่เคยมีความสุขจากการขออภิสิทธิ์ คงจะหมดไป แล้ว
ตั้งแต่นี้ต่อไปก็คงจะต้องใช้สมบัติเก่าที่รวยมาจากอภิสิทธิ์ให้เป็นประโยชน์
การชะงักงันของการลงทุนตอนหลัง 14 ตุลาใหม่ๆ นั้นแท้ที่จริงแล้วคือการคอยเฝ้าดูว่าใครจะขึ้นมาต่อไปและจะเกาะใครต่อไปได้
หาใช่เพราะมันมีนักศึกษามาวุ่นวายมากนักก็เลยไม่กล้าลงทุน
"สำหรับพ่อค้าแล้วเขาจะรอดูว่าใครจะมากุมอำนาจ ถ้ารอไปนานๆ เขายังหาตัวคนขึ้นมามีอำนาจนานๆ
แบบถนอมประภาสไม่ได้ เขาก็ลงทุนเหมือนกันแต่เขาก็ต้องเลือกลงทุนเพราะมันไม่
sure 100% เหมือเมื่อก่อนแล้ว" นักสังคมวิทยาจากมหิดลคนเก่าพูดให้ฟัง
ความจริงระบบอภิสิทธิ์ก็ยังคงอยู่หลังจากถนอมและบารมีไม่ด้อยไปกว่าถนอมและประภาสแน่ๆ
แต่ว่าคนหรือจะฝืนลิขิตฟ้า การตายของพลเอกกฤษณ์ สีวะรา นั้นเท่ากับเปิดบทใหม่ในเรื่องธุรกิจในเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง
แม่โขงที่คิดว่าสุราทิพย์น่าจะลอยลำเข้ามาก็กลับเป็นมหาราษฎร์ เพราะระบบ
"ท่านเอาไปเท่านี้แล้วให้ผมได้สัมปทานไป" มันหมดไป พ่อค้าทุกคนต้องหัดทำความรู้จักกับคำว่า
"ผลประโยชน์ที่รัฐควรจะได้" ธุรกิจอื่นๆ ก็เช่นกัน สำหรับธุรกิจการเงินนั้นบทใหม่ก็กำลังถูกเปิดขึ้นเช่นกัน
เมื่อมีการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการเงินทุนหลักทรัพย์จากกระทรวงการคลังนั้นผู้ที่วางแผนให้ไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นจำนวนมากเช่นนั้น
"เราจะค่อยๆ ปล่อยให้โดยเราจะให้เวลาในการพัฒนาคนขึ้นมาเพื่อเข้ามารองรับสถาบันการเงินเหล่านี้"เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังที่ร่วมในการทำโครงการนี้เผยกับผู้จัดการ
"มันกลายเป็นแหล่งหาผลประโยชน์ทางการเงินของพรรคการเมืองที่มีอำนาจ
เพราะในอนุญาตใบหนึ่งซื้อขายกันประมาณ 10-20 ล้านบาทเรียกกันได้ว่าต้องเสียเงินก็แล้วกัน
เสียมากเสียน้อยก็ต้องเสียถ้าจะเอาใบอนุญาตมาเปิดบริษัทเงินทุน" เจ้าหน้าที่คนเดิมกล่าวต่อ
ใบอนุญาตเหล่านี้ส่วนหนึ่งสถาบันการเงินเก่าคือธนาคารได้เอาไปเสริมสร้างฐานตัวเองให้เหมือนหนวดปลาหมึกที่เพิ่มขึ้นอีกเส้นหนึ่ง
อีกส่วนหนนึ่งกว่า 50% ของใบอนุญาตทั้งหมดตกอยู่ในมือของพ่อค้าใกล้ชิดกับเผด็จการ
เช่น
โค้วเฮงท้ง (เงินทุนหลักทรัพย์สหไทย) บุญ บังสุบรรณ (จักรวาลทรัสต์) พลตำรวจเอกพันธุ์ศักดิ์
วิเศษภักดี (คอมเมอร์เชียลทรัสต์) ผิน คิ้วไพศาล (เฟร์สทรัสต์) วัลลภ ธารวณิชกุล
หรือ จอห์นนี่มา (นทีทอง-เอเอฟที และซินเซียร์ทรัสต์)ฯลฯ
อีกส่วนหนึ่งอยู่ในมือผู้ประกอบการที่ร่ำรวยมาจากยุคเผด็จการโดยไม่ได้อยู่วงในหากแต่เป็นคนในวงการเดียวกัน
ในกลุ่มนี้ก็ยังมีที่เป็นผู้ประกอบการและร่ำรวยขึ้นมาเพราะความสามารถของตนเองด้วยเช่น
สุพจน์ เดชสกุลธร (เยาวราชไฟแนนซ์) ชวลิต หล่อไพบูลย์ (เงินทุนหลักทรัพย์ไพบูลย์)
สมศักดิ์และสมยศ
วนาสวัสดิ์ (เงินทุนบางกอกรัษฎาทรัสต์) ที เอส ดัน (สากลเคหะ) วิวัฒน์ สุวรรณภาศรี
(ส่งเสริมเงินทุนไทย) ฟูฟูคุณหลอง (สยามเงินทุน) และยังมีอีกมากมายฯลฯ จะเห็นได้ชัดเจนว่าในบรรดาที่กล่าวมานี้ส่วนใหญ่
หรือจะเกือบทั้งหมดหาได้เป็นนักบริหารสถาบันการเงินมืออาชีพเลยและในบรรดาทั้งหมดนั้นก็หาได้มีผู้ไดเคยบริหารทางการเงินมาก่อน
อันนี้เป็นจุดบอดของกระทรวงการคลังและธนาคารชาติและจุดนี้คือจุดที่หน่วยราชการทั้งสองแห่งจะต้องถูกตำหนิและต้องรับผิดชอบด้วยต่อการล้มของสถาบันการเงินต่างๆ
ในพุทธศักราช 2527
จากรายชื่อที่"ผู้จัดการ" เอ่ยขึ้นมา เราสามารถจะยกตัวอย่างบางคนแล้วแจกแจงได้ว่าใครมีประสบการณ์มาจากด้านใด
ชื่อ อาชีพเดิม
1. สุพจน์ เดชสกุลธร ปั๊มน้ำมัน
2. ชวลิต หล่อไพบูลย์ ขายกางเกงในทีเจ
3. สมยศ/สมศักดิ์ วนาสวัสดิ์ ขายยา
4. ฟู ฟูคุณหลอง ทำเหมือง
ฯลฯ
เพียงแต่คนพวกนี้รู้จักฉกฉวยโอกาสและสร้างสายสัมพันธ์กับผู้หลักผู้ใหญ่
คนพวกที่เป็นผู้ประกอบการเหล่านี้น้อยคนที่จะมีการศึกษาสูง ส่วนใหญ่จะปากกัดตีนถีบมาตั้งแต่หนุ่มแล้วสู้มาด้วยความมานะ
เกือบจะร้อยทั้งร้อยจะเป็นลูกจีนที่เคยลำบากมาก่อนแล้วมีความทะเยอทะยานจะต้องพิสูจน์ให้โลกและคนที่เคยดูถูกดูหมิ่นเห็นว่าตัวเองแน่
"มันเป็นปมด้อยของคน คุณเคยเจ็บช้ำน้ำใจอะไรมาก่อน พอคุณเริ่มมีเงินขึ้นมาคุณจะไม่พอใจกับมันคุณจะมีมากขึ้นเพราะสิ่งแวดล้อมของคนพวกนี้ตั้งแต่เด็กคือบรรยากาศของการถูกอำนาจเงินตรากดมาตลอด
เพราะฉะนั้นคนพวกนี้เชื่ออยู่อย่างเดียวว่าอำนาจที่แท้จริงนั้นคืออำนาจของเงิน"นักจิตวิทยาจากมหิดลพูดให้ฟัง
"บริหารบริษัทเงินทุนนั้นดูว่าง่ายมันก็ง่ายแต่ถึงจุดจุดหนึ่งคุณต้องใช้ความสามารถและความรู้จริงๆ
เช่น
LIABILTY MANAGEMENT นี่ไม่ใช่คุณจู่ๆ เข้ามาในวงการนี้แล้วคุณจะทำได้ทันที"นักบริหารบริษัท
แนวทางการลงทุน ทุกคนมุ่งไปที่ของตายคือการลงทุนที่ดินมีเหตุผลอยู่บางประการที่นำไปสู่การวินาศวิสันตะโรของสถาบันเงินทุนในปี
2527
ประการแรกคือการที่ฐานของธนาคารไม่กว้างพอที่จะรองรับการเจริญเติบโตของบรรดาผู้ประกอบการส่วนที่ต้องการจะโตให้เร็วกว่าเดิม
เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงในสังคมธุรกิจเมืองไทยว่า เราขาดระบบ VENTURE
CAPITAL คือการที่มีสถาบันการลงทุนมาร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการที่มีความคิดความสามารถแต่ขาดเงินทุนดำเนินการ)