พรพยายามจะหว่านล้อมผมต่างๆ นานา ให้หาทางทำตามที่เขาต้องการ อาจจะเป็นเพราะผมยังหนุ่มไฟแรงเกินไป
ที่จะเข้าใจวิธีการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งโดยสันติ ผมก็เลยคัดค้านอย่างหัวชนฝา
และประกาศว่าถ้าใครจะทำก็ทำ แต่ผมขอไม่แตะต้องการให้คนออกในวิธีนี้
ในที่สุดพรก็ย้ายผมมาคุมกิจการทางด้านหนังสือภาษาไทย และเขาก็ลงมือเกลี้ยกล่อมการลดกำลังคนในกองบรรณาธิการของ
BUSINESS TIMES ทันที
แต่พรก็ทำได้ไม่นาน เพราะเขามีภารกิจที่กำลังรัดตัว ตลาดหุ้นกำลังคึกคัก
และการเจรจากับต่างประเทศในโครงการบางอย่างกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม เขาจำเป็นต้องบินไปมาระหว่างต่างประเทศ
พรก็ปล่อยให้ สุธี นพคุณ เป็นคนดำเนินการแทนเขา
เมื่อมามองย้อนหลังไปถึงเหตุการณ์ในช่วงนั้นแล้ว ผมอาจจะ HOT HEAD ไปมากๆ
เพราะผมขัดคำสั่งประธานกลุ่ม เพราะฉะนั้นผมจะต้องถูกลงโทษ
และพรจะไม่เป็นคนลงโทษผม เพราะพรสนิทกับผมมากเกินไปที่จะทำอะไรซึ่งจะขัดต่อคำมั่นสัญญาต่างๆ
ที่เขาชอบมอบให้กับลูกน้องเขา
เขาจึงต้องให้สุธีเป็นคนลงโทษผม โดยเขาบินไปต่างประเทศเสีย!
เพราะพรรู้ดีว่า จากการที่ผมอยู่ค่ายพรมาตลอด ผมมีความรู้สึกขัดแย้งกับสุธี
และสุธีเห็นว่าผมกระด้างกระเดื่องต่อเขามาตลอด แต่เขาก็ทำอะไรผมไม่ได้ เพราะผมมีเกราะป้องกันที่ชื่อ
พร สิทธิอำนวย อยู่
มาตอนนี้ ผมจะยืนอยู่คนเดียวอย่างโดดเดี่ยวแล้ว!
และผมเองก็ไม่รู้ตัวเสียด้วย !!
สุธี นพคุณ เรียกประชุมพนักงานบริษัทแอ๊ดวานซ์มีเดีย แล้วประกาศปลดผมต่อหน้าพนักงานทุกคนโดยย้ายผมเข้าไปกินตำแหน่ง
CORPORATE VICE PRESIDENT ในกลุ่มบริษัท PSA ซึ่งเป็นตำแหน่งไม่มีงานทำ
สำหรับคนหนุ่มอายุเพียง 31 ที่ถูกปลดต่อหน้าคนแบบนั้น มันเป็นเรื่องที่แทบจะทนทานไม่ได้
ผมจำได้ว่าถ้าผมเป็นมังกรไฟทั้งลมหายใจและสายตาก็คงจะต้องมีไฟพุ่งพวยออกมาแน่นอน
แต่นั่นแหละเอาอะไรกับเด็กหนุ่มวัย 31 ที่ไม่เคยล้มเหลว ทำอะไรได้ดังใจมาตลอดพอเริ่มสะดุดบ้างก็จะเป็นจะตายทีเดียว
!
ผมคำนึงถึงศักดิ์ศรีมากจนเกินไป แต่ก็นั่นแหละถ้าผมไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรี
ผมก็คงจะไม่เป็นผมอยู่ทุกวันนี้หรอก !
สำหรับคนบางคนเขาอาจจะฉลาดพอที่จะไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เขาอาจจะไม่ค้านพรอย่างเต็มที่
เขาอาจจะโอนอ่อนตาม และยอมทุกอย่างที่ควรจะยอมเพื่อรักษาสถานภาพไว้
และถ้าเขาฉลาดเขาก็จะใช้เวลาค่อยดึงเอาความเชื่อมั่นจากผู้ใหญ่คืนมาทีละน้อย
จนในที่สุดเขาก็สามารถจะกลับมามีอำนาจอีก
เรื่องแบบนี้มีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ มันไม่ใช่เรื่อง MODERN
MANAGEMENT หรอก มันเป็นเรื่อง HOW TO SURVIVE AND COME BACK TO BEAT THE
SHIT OUT OF YOUR ENEMIES
ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ เราต้องรู้จักอดทน รู้จักขมขื่น และรอคอยโอกาส
ตรงนี้กระมังที่ผู้บริหารหนุ่มๆ มักจะขาดและทำไม่ได้
ผมเองก็เช่นกัน !
เหตุการณ์ครั้งนั้น นอกจากจะให้บทเรียนในการที่จะต้องอดทน ทนขมขื่นแล้ว ยังให้บทเรียนที่ล้ำค่ากับผมอีกประการหนึ่งนั่นคือ
"ในยามที่คุณรุ่งโรจน์ และกำลังก้าวขึ้นไปอย่างรวดเร็ว คุณอย่าได้ไปทำความเจ็บแค้นให้กับใคร
เพราะเวลาคุณร่วงตกลงมา คนพวกนั้นจะเข้าแถวรอคุณอยู่อย่างกระเหี้ยนกระหือ"
พูดง่ายๆ เขาจะรอกินโต๊ะจีนคุณนั่นเอง
ในทุกๆ องค์กรจะเหมือนกันหมด พอคุณหมดอำนาจไปทันที เพื่อนร่วมงาน ลูกน้องคุณ ที่เคยเห็นกันว่า
ร่วมแรงร่วมใจกับคุณตอนคุณเป็นใหญ่ พลอยถือมีดคนละเล่มแล้วแทงคุณข้างหลังทันที
รวมทั้งเลื่อย ค้อน สิ่ว ที่จะแสดงออกมาหลังคุณหมดอำนาจแล้วว่า แท้ที่จริงเขาเลื่อยขาเก้าอี้คุณมานานแล้ว
ถึงจุดจุดนั้น ถ้าคุณเคยสั่งการอะไรบางอย่างโดยขาดความรอบคอบในเรื่องระเบียบ
หรือพิธีการ คุณก็จะโดนคนใหม่เอาเรื่องนี้ขึ้นมาเข่นฆ่าคุณ
เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่พึงระวังอย่างมากๆ ถ้าคุณกำลังบริหารงานอยู่ปัจจุบัน
คุณจะต้องถามตัวเองว่า แล้วคุณจะทำงานอย่างไรให้ดีที่สุด มีการตัดสินใจเร็วที่สุด
แต่ไม่เปิดช่องโหว่ให้ถูกขุดคุ้ยโจมตีทีหลังได้
เห็นจะต้องบอกกันว่าที่ผมเจออยู่ในขณะนี้คือ OFFICE POLITICS AT A HIGHER
LEVEL
ซึ่งทุกๆ แห่งก็มี เพียงแต่วิธีการจะแตกต่างกันไปแบบใดเท่านั้นเอง
คำถามมีอยู่ว่าในฐานะที่เป็นผู้บริหารหนุ่มกำลังพุ่งขึ้นมา คุณจะหลีกเลี่ยง
OFFICE POLITICS ได้อย่างไร ?
ผมคิดว่าหลีกเลี่ยงไม่ให้กระทบเลยนั้น คงจะไม่ได้
แต่หลีกเลี่ยงโดยเข้าไปพัวพันให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ อาจจะพอทำได้
ธรรมดาแล้วในองค์กรหนึ่งถ้าคุณเป็นคนของเบอร์หนึ่ง เบอร์สองก็อาจจะไม่ชอบหน้าคุณ
หรือถ้าคุณเป็นคนของเบอร์สอง เบอร์หนึ่งก็อาจจะเห็นคุณเป็นฐานอำนาจของเบอร์สอง
แล้วรอเขาขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งคุณก็คงจะหลุดพ้นวงจรไป
จะตอบปัญหาดังกล่าวนั้น ก็คงจะไม่ง่ายนักหรอก เพราะมันขึ้นอยู่กับลักษณะของ
องค์กรอีก
ถ้าเป็นองค์กรแบบ FAMILY ที่บรรดาลูกๆ เจ้าของล้วนแต่คานกันไปคานกันมา
ทะเลาะกันบ่อย จะสงบได้ก็ต้องให้เตี่ยมาชี้ขาด
สถานภาพแบบนี้คุณเองก็ลำบาก เพราะถ้าคุณแทงม้าผิดตัว คุณก็อาจจะต้องล้มทั้งยืน
ในขณะเดียวกันถ้าคุณทำงานแบบมืออาชีพจริงๆ คุณก็อาจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือ
เพื่อชนกับอีกฝ่ายหนึ่งของศึกสายเลือดกลุ่มนั้น
หรือในองค์กรที่มีคนคนหนึ่งมีอำนาจเด็ดขาด คุณก็อาจจะทำงานง่ายหน่อย แต่คุณก็คงจะแพ้ภัยรอบข้างของเจ้าสัวคนนั้น ที่คอยทิ่มแทงคนที่มีฝีมือเช่นคุณ
นอกเสียจากคุณจะต้อง เกี้ยเซี้ย และซูฮกอำนาจรอบข้างของอำนาจสูงสุดคนนั้น
ถ้าองค์กรแบบมืออาชีพ บริษัทมหาชน เช่น เครือซิเมนต์ไทย คุณอาจจะสบายใจที่สุด
แต่มันก็ยังมีคำว่า "ยุคใครยุคมันอีก"
สรุปแล้วคำตอบต่อคำถามหลายคำถามข้างต้นนั้น คงจะไม่มีโครงการ MBA ที่ไหนไม่ว่าจะเป็น
HARVARD หรือธรรมศาสตร์ที่สอนคุณได้หรอก
เพราะคำตอบต้องอยู่ที่ไหวพริบ ปฏิภาณ มนุษยสัมพันธ์ และความเข้าใจในวัฒนธรรมขององค์กรนั้น
ที่คุณมีอยู่ ตลอดจนการ TAKE SIDE ที่มี TIMING สมบูรณ์แบบที่สุด รวมทั้งดวงคุณด้วย
ในกรณีของผมนั้นเป็นกรณีกึ่งๆ
เพราะในกลุ่ม PSA นั้น คนที่มีอำนาจตามกฎหมายคือ พร สิทธิอำนวย และมีคนที่พูดกับทำแทนพรได้คือ
สุธี นพคุณ ซึ่งกรณีเช่นนี้ ก็ดูเหมือนว่าจะมีลักษณะ PROFESSIONAL พอสมควร
แต่ข้างหลังพร สิทธิอำนวย ก็ยังมีวนิดา สิทธิอำนวย ที่กบไพ่ใบสำคัญไว้
เพียงแต่ในระยะแรกของ PSA เธอไม่ได้ใช้มันเท่านั้น
เธอมาใช้มาภายหลังจากที่ทั้งเธอและพรคิดจะต้องแยกกับสุธี นพคุณ อย่างแน่นอน
ดังที่ได้เคยพูดมาแล้วในตอนต้นๆ ว่า ถ้าจะให้ผมชี้ข้อบกพร่องของ PSA แล้ว
ผมก็คงต้องชี้ไปที่พร สิทธิอำนวย แต่ผู้เดียว
ไม่ใช่เพราะพรไม่เก่ง!
พรเก่ง!
เก่งเอามากๆ!!
เก่งจนบางครั้งพรไม่รู้ว่าได้ทำอะไรลงไปบ้าง?
ในด้านหนึ่งผมเห็นใจสุธี นพคุณ มากที่ถูกตั้งเป็นมือสองรองจากพร แต่สุธีดูคล้ายกับมีอำนาจแต่ก็ไม่มีโดยแท้จริง
อาจจะเป็นเหตุผลนี้กระมังที่ทำให้สุธีต้องตั้งฐานอำนาจของตนเองขึ้นมา
แต่พูดถึงการมอบอำนาจแล้ว สุธีได้รับความไว้วางใจจากพรอย่างเต็มที่ ในการกระทำแทน จนวันหนึ่ง
พร สิทธิอำนวย ตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าในกลุ่ม PSA นั้น เกิดมีสุธีเป็นเจ้าของในกิจการหลายแห่ง
โดยพรไม่รู้ และหุ้นของพรเกิดลดถอยลงไปอย่างน่าใจหาย
และนี่คงจะเป็นเหตุของการเริ่มแตกแยกกัน
คนที่ค้นพบสาเหตุนี้คือ นายอึ้ง วาย ชอย นักวิเคราะห์การลงทุนและนักเล่นหุ้นตัวฉกาจที่พรไปคว้ามาจากมาเลเซีย
พรเอานายชอยมาเป็นที่ปรึกษาในการเล่นหุ้นช่วงที่ตลาดหุ้นกำลังคึกคักสุดขีด
ในปี 2511-20
และก็เป็นช่วงที่นายชอยกำลัง CONSOLIDATE หุ้นรามาอยู่นั้น ก็เกิดไปค้นพบบริษัทหลายบริษัทที่เป็นเจ้าของหุ้นรามาก้อนมหึมาที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อน
เมื่อสืบไปสืบมาปรากฏว่าบริษัทดังกล่าว เช่น เซ็นจูเรียน เป็นบริษัทที่สุธีเป็นเจ้าของ
และเมื่อเช็กลึกลงไปปรากฏว่าทรัพย์สินของพรหลายชิ้นเกิดมีสุธีเป็นผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น
โดยวิธีการเพิ่มทุนที่พรไม่รู้
ตรงนี้เองที่เริ่มมีการไม่วางใจกันอย่างจริงจัง
และช่วงปี 2519 - 20 ก็เป็นช่วงที่กลุ่ม PSA ขยายตัวมาก และในขณะเดียวกัน
ช่วงนั้นก็เป็นช่วงวิกฤตของ PSA เหมือนกัน
เพราะเป็นระยะที่ PSA ขยายโดยฐานตัวเองไม่แน่น เงินสำรองไม่มี ทุกอย่างต้องหมุนมาจากเงินเบิกเกินบัญชี
หรือพึ่งพาอาศัยการระดมเงินฝากของชาวบ้านที่ฝากในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน
และบริษัทเงินเครดิตการพาณิชย์ และ LOAN PORTFOLIO กว่าครึ่งของบริษัทเงินทุนทั้งสอง
ล้วนแต่หมุนไปปล่อยให้บริษัทในเครือของ PSA ทั้งสิ้น
พูดง่ายๆ ว่าช่วงนั้นหมุนเงินกันหน้ามืดเหมือนกัน
ตรงนี้แหละที่เมื่อมีการล้มของบริษัทเงินทุนต่างๆ ที่เจ้าของเอาเงินประชาชนหมุนไปลงทุนในกิจการอื่นๆ
ในเครือ เมื่อผมมามองเปรียบเทียบดูแล้วก็ไม่เห็นข้อแตกต่างระหว่างพร สิทธิอำนวย
กับคนเช่น ชวลิต หล่อไพบูลย์ สุพจน์ เดชสกุลธร ฯลฯ เลย
ถ้าจะต่างก็ตรงที่ พร สิทธิอำนวย โชคดีกว่าตรงที่ว่า เขาเสี่ยงไปแล้ว
และเขาก็ผ่านช่วงที่วิกฤตนั่นไปแล้ว
หรืออาจจะเป็นว่าเขาเข้ามาเล่นกับเงินบ้านทีหลัง
ส่วนหนึ่งที่ทำให้พรและกลุ่ม PSA โชคดี ทั้งๆ ที่ในระยะนั้นปัญหา CASH FLOW
กำลังวิกฤตอย่างหนัก คือการที่ตลาดหุ้นกลายเป็นเวทีการเก็งกำไร และทุกคนหันเข้าหาตลาดหุ้นเสมือนว่าตลาดหุ้นคือบ่อน
แทนที่จะเข้ามาช่วยกันเสริมสร้างให้ตลาดหุ้นเป็นแหล่งระดมทุนการลงทุน
เรื่องนี้ไม่ต้องไปโทษใครหรอกมันผิดกันทุกคน
ผมตราหน้าได้แทบจะทุกคนในช่วงนั้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีคุณธรรมหรือกลุ่มผู้ดีเก่า
หรือกลุ่มจีนใหม่ ทุกคนกระโดดเข้ามาบนเวทีเดียวกัน หวังเพียงอย่างเดียวคือซื้อมาแล้วรีบขายไปเพื่อเก็งกำไร
แต่พอตลาดหุ้นพังมีผู้แพ้เกิดขึ้น ทุกคนก็ชี้หน้าผู้แพ้ว่าคนนั้นคือคนที่ทำลายตลาดหุ้นทั้งๆ
ที่ทุกคนนั่นแหละได้ช่วยกันทำลายตลาดหุ้น
แต่ก็นั่นแหละผู้ชนะในสงครามย่อมจะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์แต่ผู้เดียว
!
กลุ่ม PSA ได้ฉวยโอกาสจับจังหวะกระโดดเข้าไปเล่นด้วยคนในตลาดหุ้น โดยมีนายอึ้งวาย
ชอย เป็นเสนาธิการในการซื้อและขายหุ้นอย่างเต็มที่
ผมโชคดีที่ได้เห็นการปั่นหุ้น การ SHORT และการดัดหลังกันในวงการตลาดหุ้น
การใช้ศักดิ์ศรีเข้าวัดกัน และกระทืบกันด้วยกำลังเงิน แล้วมองดูอีกฝ่ายค่อยๆ
คลานเข้ามาหาเพื่อซูฮก เป็นสิ่งที่ผมได้เห็น ได้รับรู้ ในช่วงตลาดหุ้นบูม
มีแม้กระทั่งนักเลงโตคนหนึ่ง ที่มีฐานการเงินเป็นธนาคารมหึมา เกิดอยากจะ
SHORT หุ้นรามาขึ้นมาเพื่อหวังผลกำไร แต่พรก็สู้ กลับทุ่มตัวเข้าไป SUPPORT
หุ้นรามาอย่างชนิดถึงไหนถึงกัน แต่สายป่านพรไม่ยาวพอจะทุ่มเป็นร้อยล้านได้
ในที่สุด ก็ต้องปล่อยให้คนคนนั้นปู้ยี่ปู้ยำหุ้นรามาจนหนำใจแล้วเขาก็ถอนตัวไปหลังจากได้กำไรไปมากแล้ว
และทุกวันนี้พรก็ยังคงต้องเอาอกเอาใจคนคนนั้นอยู่ เพียงเพราะเขามีฐานการเงินที่พรต้องพึ่ง
และนี่ก็คือความโหดเหี้ยมของวงการธุรกิจใส่สูท และนั่งรถคันละหลายล้าน ที่ทารุณโหดร้ายยิ่งกว่าอาชญากรที่ฆ่าคนตาย
คนในวงการนี้ ถ้าถูกรังแกแบบนี้ มีชีวิตอยู่มิสู้ตายไปจะดีเสียกว่า !
คนพวกนี้มีอำนาจและอิทธิพลทางการเงินมาก ที่สามารถกำหนดทิศทางของการค้า วางชะตาชีวิตของคนและทารุณกรรมคนที่ไม่เดินตามเส้นทางที่เขากำหนดไว้
แต่คนพวกนี้กลับได้รับการยกย่องเชิดชูในสังคม ทุกปีจะได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งๆ
ที่หาคุณธรรมไม่ได้
สังคมธุรกิจบ้านเรานอกจากจะด้อยพัฒนาแล้ว ศีลธรรม และจริยธรรมเป็นสิ่งที่หาได้ยากมากๆ
!
ขอกลับมาถึงเรื่องของผม ความจริงแล้วพรกับสุธีได้นั่งจับตามองซึ่งกันและกันอยู่มาตั้งแต่
BUSINESS TIMES เริ่มแล้ว
ฉะนั้นในขณะที่พรต้องการเข็น BUSINESS TIMES ออกมา สุธีก็จะคัดค้านสุดเหวี่ยง
และยังไปพูดกับบุญชู โรจนเสถียร ซึ่งเวลานั้นเป็นผู้จัดการใหญ่อยู่ที่ธนาคารกรุงเทพ จนบุณชูเองก็ไม่เห็นด้วย
และก็ร่วมกับสุธีค้านหนังสือเล่มนี้
แต่จะทำอย่างไรได้ เมื่อข้าวสารได้กลายเป็นข้าวสุกไปเสียแล้ว !
ฉะนั้นการที่เบอร์หนึ่งและเบอร์สองวัดกันแล้ว เมื่อผมซึ่งถูกถือว่าเป็นเด็กของเบอร์หนึ่งแล้วอยู่มาวันหนึ่งเบอร์หนึ่งถูกเด็กของเขาขัดคำสั่ง
เขาต้องการสั่งสอนผมให้รู้สึก ก็ไม่มีอะไรดีกว่าการให้เบอร์สอง ซึ่งเบอร์หนึ่งรู้ว่าไม่กินเส้นกับผมมาสั่งสอนผม
ผมไม่ได้มาทำงานหลายวัน เพราะมันเจ็บกระดองใจ ยิ่งเวลานั้นอายุมันเพิ่งจะ
31 - 32 กำลังหนุ่มแน่นไฟแรงจัดยิ่งเจ็บกระดองใจมากเพราะอับอายขายหน้า
พร สิทธิอำนวย กลับมาจากต่างประเทศ ผมก็ทำอย่างคนที่เจ้านายคุ้มกบาลทำกัน คือวิ่งเข้าหา
แล้วทั้งฟ้อง ทั้งใส่ไฟ
ตอนนั้นผมกำลังหน้ามืดไม่ได้ใช้ตรรกวิทยาของการลำดับเหตุการณ์เข้ามาประกอบเรื่อง ผมรู้อยู่อย่างเดียวว่า
พรจะต้องเจ็บแค้นแทนผมแน่ๆ ที่สุธีมาทำเช่นนี้กับผม
ซึ่งผมก็ลืมมองในมุมกลับว่า เวลาผมขัดคำสั่งพร ผมได้ทำให้เขาเจ็บแค้นในส่วนลึกหรือเปล่า?!
นี่คือข้อผิดพลาดของมนุษย์เราที่มักจะคิดว่าตัวเองถูกอยู่เสมอ!!!
และตัวอย่างนี้ก็สามารถจะเห็นได้มาตั้งแต่โบราณกาล จนปัจจุบัน
พรปลอบใจผม แล้วบอกว่าเขาก็ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร เพราะตอนเขาไม่อยู่เขาให้สุธีรักษาการแทน
มีสิทธิ์อำนาจในการทำงานแทนเขาเต็มที่ ฉะนั้นถ้าเขาส่งผมกลับเข้าไปใหม่ก็เท่ากับว่า
เขาเป็นนักบริหารที่เลว
ผมเองก็เขาใจประเด็นนี้เลยพูดไม่ออก
แต่ผมก็ลืมนึกไปอย่างว่า พรเขามักจะพูดให้ฟังเสมอเวลาอยู่กันไม่กี่คนว่า
"In PSA Im always the good guy and suti will always be the mean guy
This is the role we decided to play
ซึ่งมามองกลับไปถึงเหตุการณ์วันนั้น ผมก็เชื่อว่า พรต้องรู้และก็คงต้องปรึกษาวิธีการกับสุธี
นพคุณแล้วถึงมาตรการการจัดการผม
และถ้าผมเป็นพร ผมเองก็คงต้องทำวิธีนี้
มันเป็นจิตวิทยาที่สูงมาก และลึกล้ำหลายขั้น ที่ต้องค่อยๆ วิเคราะห์ เราถึงจะรู้ถึงเหตุผลการทำเช่นนั้น
มันเป็นเช่นนี้คือ.
มันเริ่มจากว่า พรพูดให้ผมฟังเสมอว่า"lf you do as l told you you
can t go wrong"แปลไทยเป็นว่า "ถ้าคุณเชื่อฟังผมโดยไม่ขัดขืน ผมก็จะดูแลคุณตลอดไป"
ซึ่งผมเริ่มงานที่ PSA จากคนไม่เป็นงานจนได้เรียนรู้อย่างเร็วมาก ถึงกับได้รับรางวัลเป็นหนึ่งใน
EXECUTIVES OF THE YEAR โดยได้เงินรางวัล 1 ล้านบาท (คนอื่นที่ได้ปีนั้นมีสุรินทร์
ลิมปานนท์ สุธี นพคุณ ยุทธ ชินสุภัคกุล อึ้ง วายชอย) และก็เป็นที่รู้กันว่าผมเป็นเด็กของพร
และพรใช้ผมในการงัดกับสุธี และพรก็จะปกป้องผมตลอดเวลา
ฉะนั้นการที่ผมขัดคำสั่งพรโดยไม่ทำตามเขาในกรณี BUSINESS TIMES มันก็เท่ากับผมตบหน้าเขาโดยตรง
ผมจึงต้องได้รับบทเรียนที่เจ็บปวด
และพรต้องการสั่งสอนให้ผมรู้สำนึกว่าถ้าไม่มีเขาเป็นเกราะป้องกันแล้วอะไรจะเกิดขึ้น และให้ผมรู้สำนึกว่านี่คือการลงโทษ
และเมื่อเขากลับมาจากต่างประเทศแล้วเขาก็ต้องการจะดูว่า ผมรู้สำนึกหรือยัง
ถ้ารู้สำนึกแล้วเขาสั่งให้ผมทำอะไร ผมก็ควรจะทำตามเขาโดยดี และให้เวลาผ่านไปสักพัก
เขาก็จะเริ่มมอบงานสำคัญให้อีก
มันเหมือนกับผู้ว่าราชการคนหนึ่งที่ถูกย้ายเข้าประจำกระทรวง แล้วถ้าผู้ว่าคนนั้นยังอ่อนน้อมเข้าเคล้าเคลียนายและขอรับครับผมตลอดเวลา
โดยไม่มีริ้วรอยของความขมขื่นหรือการประชดประชัน ผู้ว่าฯ คนนั้นวันหนึ่งก็คงจะมีโอกาสกลับไปเป็นเจ้าเมืองอีก
นี่คือหลักสวามิภักดิ์ที่ในประวัติศาสตร์มีมาตั้งแต่แว่นแคว้นหนึ่งต้องเข้ามาสวามิภักดิ์กับแว่นแคว้นอีกแห่งหนึ่งโดยการแสดงความจงรักภักดีในรูปแบบต่างๆ
เมื่อมาในวงการธุรกิจในทศวรรษนี้ มันคือความจงรักภักดีที่ต้องมีต่อเจ้านายตัวเองทั้งๆ
ที่เรื่องนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เป็นผลดีต่อองค์กร
พูดง่ายๆ ว่า "ถ้าเป็นเด็กดีว่านอนสอนง่ายแล้วก็จะได้รับรางวัลเอง"
พรบอกว่าจะส่งผมไปอยู่อเมริกากับวีรชัย วรรณึกกุล ซึ่งขณะนั้นดูแลผลประโยชน์ของพรอยู่ในอเมริกา
แต่ผมกำลังเลือดเข้าตา ผมไม่ยอม !
ขณะนั้นเป็นช่วงปลายปี 2522 หรือ 2523 นี่แหละ
ช่วงเวลานั้นเค้าของความเตกแยกระหว่างพรกับสุธีเริ่มมีแววขึ้นมาแล้ว !
มันก็น่าจะแตกแยกอยู่หรอก
เพราะในที่สุดแล้วในปีนั้นกลุ่ม PAS ก็กำไรจากการเล่นหุ้นเป็นเงินหลายร้อยล้านบาท
เป็นครั้งแรกในหลายๆ ปีที่ทั้งพรและสุธีไม่ต้องหมุนเงินหมุนทองจนตัวเป็นเกลียว รามาทาวเวอร์คืนเงินเจ้าหนี้ไปเกือบหมดยกเว้น
BFIT (กรุงเทพธนาธร) ทั้งๆ ที่เป็นหนี้อยู่เพียง 10 ล้านบาทเท่านั้น
เหตุผลของการยังไม่คืนนั้นเป็นเพราะทางกลุ่มยังต้องการเก็บเอาไว้เพื่อให้มีความสัมพันธ์กันต่อไป
และเมื่อต่างคนต่างเริ่มเห็นว่ากลุ่มมีเงินแล้ว ทีนี้สงครามแย่งอำนาจก็เกิดขึ้นอย่างช้าๆ
และเป็นสงครามเย็นที่เป็นตัวอย่างอันดีของ POWER POLITICS ที่เห็นได้ชัดแจ่มแจ้ง
สุธี นพคุณ เริ่มสร้างฐานของตัวเองทันที โดยขยายงานบริษัทบ้านที่ดินไทย ขยายขอบข่ายของโรงแรมรามาทาวเวอร์ออกมาเป็นข้าวแกงรามา
บริษัทผลิตภัณฑ์อาหารรามา
และในที่สุดแยกมาสร้างตึกอาคารบ้านและที่ดินไทยขึ้นมาเป็นตึกอำนวยการของกลุ่มตนเองข้างๆ
ตึกอินเตอร์ไลฟ์ตรงข้ามอาบอบนวดเจ้าพระยาแถวศรีอยุธยา
และตึกนั้นก็ถูกขานกันว่าเป็น "ตึกดำ"
การตัดสินใจสร้างตึกดำขึ้นมานั้นเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณให้พรรู้ว่าสุธีกำลังจะประกาศตนเป็นอิสระเร็วๆ
นี้
มันก็น่าจะเป็นเรื่องเจ็บช้ำน้ำใจให้แก่พร เพราะขณะนั้นศูนย์อำนวยการของ
PSA นั้นอยู่ที่ตึกไทย คลองเตย
พรทำห้องให้สุธีอยู่อย่างดี และกำลังจะให้ตำแหน่ง PRESIDENT ของแก่สุธี
จะต่างกันก็ตรงที่ว่า PRESSIDENT นั้นมีหน้าที่งานเฉพาะ DAY TO DAY OPERATION
เท่านั้น ถ้าจะเป็นการตัดสินใจใหญ่ๆ แล้วสุธีก็จะมี BOARD บริหารคุมเอาไว้และคนส่วนใหญ่ที่อยู่ใน
BOARD บริหารนั้นก็เป็นคนของพร
ฉะนั้น การที่สุธีแยกไปสร้างตึกเองมันก็เท่ากับตบหน้าพรโดยปริยาย !
กรณีการแตกแยกของ PSA นั้นมองกันคนละแง่คนละมุม
ในสายตาของกลุ่มสุธีนั้นก็เข้าใจว่าสุธีเริ่มธุรกิจในฐานะเป็นหุ้นส่วนของพร
บางคนถึงกับบอกคำว่า PSA คือ PAUL-SUTI-ADA (ภรรยาพร) ฉะนั้นสุธีมีสิทธิ์ที่จะแตกแยกและรับส่วนเขาออกมา
แต่ในสายตาของกลุ่มพรแล้วก็จะบอกว่า PSA นั้นคือ PAUL SITHI AMNUAY และพรเป็นผู้ให้สุธีเกิดขึ้นมาเพราะพรมีสายสัมพันธ์กับบุญชู
และเป็นผู้สนับสนุนให้บุญชูไว้ใจสุธี ฉะนั้นทุกอย่างที่สุธีทำนั้นก็ทำเพื่อพรหรือทำแทนพร
ในสายตาของผมแล้วมันเป็นจริงทั้งสองอย่าง !
จากการที่รู้จักพรดีพอสมควรทำให้ผมรู้ว่าพรเป็นคนที่เชื่อในระบบ PROFIT
SHARING
มากคนหนึ่ง เพราะอย่างน้อยในช่วงที่ผมตั้งบริษัทแอ็ดวานซ์มีเดียขึ้นมานั้นผมก็ถือหุ้นอยู่
40% ถึงแม้ว่าผมอาจจะอ้างว่าหุ้นที่ผมถือนั้นความจริงก็มี GOOD WILL ของนิตยสารหลายเล่มที่ผมเคยทำอยู่ก่อนและก็เอามาร่วม
แต่ในบรรดานักบริหาร PSA หลายคนก็มีหุ้นที่พรให้อยู่ไม่น้อย เช่น หุ้นของสุรินทร์
ลิมปานนท์ ในบริษัทเงินทุนเครดิตการพาณิชย์ ฯลฯ
ฉะนั้น พร เมื่อเริ่มกับสุธีก็คงจะเริ่มด้วยข้อตกลงที่คงจะให้หุ้นกัน
อีกประการหนึ่งพรมีนิสัยชอบสัญญากับผู้บริหารในกลุ่มของตน บางครั้งเพียงเพื่อให้ลูกน้องตัวเองรับปากที่จะทำอะไรลงไป
พรก็จะสัญญาจนเปรอะไปหมด
และเป็นไปได้ว่าพรคงจะสัญญาสุธีไว้มากมายพอสมควร
อย่าลืมว่าองค์กรเช่น PSA นั้นก็เหมือนองค์กรใหญ่อื่นๆ ที่เมื่อก่อนตอนยังเล็กอยู่เจ้าของกับลูกน้องคนสนิทจะนั่งฝันเฟื่องเมืองแมนกันในห้องเล็กๆ
ทำงานกันดึกๆ หามรุ่งหามค่ำ แล้ววาดภาพอนาคตพร้อมกับให้คำมั่นสัญญากับผู้ก่อตั้งกัน
แต่พอองค์กรเริ่มโตขึ้นงานเริ่มใหญ่ขึ้น คนเก่งๆ ก็เริ่มเข้ามา เจ้าของก็อาจจะเริ่มเห็นคนใหม่ๆ
ที่เก่งกว่า ดีกว่า หรือเจ้าของก็อาจจะเริ่มเสียดายส่วนแบ่งที่ควรจะให้
ก็เลยเกิดเรื่องขึ้น
รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นสัจธรรมของการเกิดและการโตของทุกๆ องค์กรไม่ว่าจะเป็น
พรกับสุธี หรือชิน โสภณพนิช กับบุญชู โรจนเสถียร ในธนาคารกรุงเทพ ฯลฯ
ส่วนสาเหตุของการแตกแยกที่แท้จริงของ PSA นี้ เอาไว้อ่านตอนหน้าดีกว่าครับ
!