"การปรับค่าเงินบาทมีผลมากพอสมควรสำหรับการส่งออก แต่ปี 2528 ก็คงจะไม่ดีไปกว่าปี
2527 อีกทั้งปัญหาเก่า เรื่องต้นทุนสูง อำนาจต่อรองต่ำ และปัญหาตลาดก็จะยังแก้กันไม่ตก"
ย้อนหลังไปประมาณ 10 ปี ประเทศไทยมียอดขายดุลการค้าเฉลี่ยปีละ 60,000 ล้านบาท
และปีนี้ตัวเลขของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจฯ บอกว่าคงจะต้องขาดดุลีอกราวๆ 70,000
ล้านบาท
ถ้าประเทศไทยนี้เป็นบริษัท ก็คงเป็นบริษัทที่ล้มละลายไปแล้ว
เพราะฉะนั้นต่อปัญหาการขาดดุลการค้า รัฐบาลจึงต้องเต้นแร้งเต้นกามาก จะปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ
อีกไม่ได้แน่
ประเทศไทยเปิดประตูค้าขายกับต่างประเทศมานานนับเป็นร้อยๆ ปีแล้ว ซึ่งไม่เคยขาดดุลการค้าเลย
จะมีก็เพียงปีเดียว คือในปี 2463 นอกนั้นดุลการค้าเกินดุลโดยตลอด
ไทยเพิ่งจะเริ่มเสียดุลการค้าเมื่อราวๆ สัก 10 ปีมานี้เอง กล่าวคือ ในช่วงของแผนพัฒนาฉบับที่
4 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นปีที่สามของแผนพัฒนาฉบับที่ 5
แผนพัฒนาฉบับที่ 4 เป็นแผนที่เน้นเรื่องการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมมา และเน้นเรื่องส่งอกบ้าง
แต่ในที่สุดก็พบกันว่า มูลค่าการส่งออกถดถอยน้อยลงเป็นลำดับ
ส่วนแผนพัฒนาฉบับที่ 5 รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้นปีละอย่างน้อย
22.3 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2527 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจฯ ต้องออกแผนใหม่มีชื่อเรียกว่า
"แผนปฏิบัติการส่งเสริมการส่งออก" โดยแผนนี้ได้เปลี่ยนเป้าหมายเป็นให้มีการส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่า
22.3 เปอร์เซ็นต์
เหตุทั้งนี้ก็เพราะเป้าที่ตั้งไว้เดิมนั้นออกจะสูงเกินไป ก็ต้องลดเป้าลงเพื่อให้ใกล้กับข้อเท็จจริงมากขึ้น
นอกจากนี้รัฐบาลก็ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานและตั้งคณะกรรมการขึ้นหลายชุดเพื่อคลี่คลายอุปสรรคที่ขวางกั้นการส่งออก
หน่วยงานแรกก็คือสภาพัฒนาการเศรษฐกิจฯ ซึ่งเป็นผู้กำหนดแผนเศรษฐกิจของรัฐบาล
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจฯ ได้กำหนดแผนด้านการส่งออกไว้ว่า
1. จะชะลอการนำเข้า
2. แก้ไขอุปสรรคการส่งออก
3. ส่งเสริมการส่งออก
ส่วนหน่วยงานต่อมาก็คือ "คณะกรรมการพัฒนาการส่งออก" มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
พาณิชย์เป็นประธานและมีคนจากภาคเอกชนเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วยส่วนหนึ่ง
ถัดมาก็คือ "คณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก"
เพิ่งตั้งขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ และได้ว่าจ้างบุคคลภายนอกเข้ามาทำหน้าที่ศึกษาอุตสาหกรรมเป็นประเภทๆ
ไป
อีกรายหนึ่งซึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องส่งออกด้วย ก็คือสำนักงานคณะกรรมกรรมส่งเสริม
การลงทุน โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์กับ "เทรดดิ้ง คัมปะนี"
นอกจากจะมีคณะกรรมการหลายชุด รัฐบาลก็ยังได้ตั้งคณะกรรมการอีกมากมายไม่แพ้กัน
เป็นต้นว่า คณะอนุกรรมการด้านการปรับปรุงพิธีศุลกากร คณะอนุกรรมการปรับปรุงเศรษฐกิจสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทย
เป็นอาทิ
และรัฐบาลได้ดึงเจ้ากระทรวงต่างๆ เข้ามาร่วม ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์
กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน
และกระทรวงสุดท้ายคือสาธารณสุข
มีอีกหน่วยงานหนึ่งซึ่งให้ความสนใจปัญหาการส่งออกมาก คือ กรอ.
กรอ. ถือว่าการส่งออกเป็นภารกิจหนึ่ง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2527 และธันวาคมของปีเดียวกันนั้น ที่ประชุมของ
กรอ. ได้ประกาศออกมาเป็นนโยบายว่า ภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้ จะมีการรณรงค์ใหญ่โดยตั้งเป้าหมายไว้
3 ประการ ได้แก่
1. ให้ประชาชนซื้อสินค้าไทย
2. ลดการนำเข้า
3. ส่งเสริมการส่งออก
เป็นที่ยอมรับกันว่าขณะนี้รัฐบาลให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องส่งออกมากเป็นพิเศษดัง
ได้มอบหมายให้หลายหน่วยงานเข้ามารับผิดชอบในเรื่องนี้
แต่ถ้าจะต้องตั้งข้อสังเกตแล้ว ก็จะพบว่าแผนของรัฐบาลนั้นยังมุ่งอยู่ที่การแก้ไขอุปสรรค
ของการส่งออก เช่นการลดขั้นตอนทางพิธีศุลกากร หรือภาระด้านภาษี การคืนภาษี
เป็นต้น
ส่วนในเรื่องการส่งเสริมนั้นยังไม่ได้มุ่งกันจริงๆ จังๆ
บางคนอาจจะเห็นค้านว่า การแก้ไขอุปสรรคก็น่าจะเป็นการส่งเสริมไปแล้วในตัว ซึ่งก็คง
ไม่ใช่ทัศนะที่เป็นจริง 100 เปอร์เซ็นต์
ถ้าจะเป็นจริงทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ควรแก้ไขอุปสรรคและส่งเสริมไปพร้อมๆ
กัน
โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงปัญหาของภาคเอกชนแล้ว จะเห็นได้ชัดว่า ต้องการให้มีการส่งเสริมอย่างยิ่ง
มีการสรุปว่าปัญหาที่สำคัญซึ่งเผชิญหน้าวงการส่งออกในขณะนี้ก็คือ
1. ปัญหาต้นทุนของเราสูง
2. ปัญหาด้านการตลาด
ในเรื่องต้นทุนสูง ประการแรกก็คือ ต้นทุนด้านวัตถุดิบ ยกตัวอย่างเช่น
ข้าวโพด
สำหรับพันธุ์พื้นเมืองนั้นจะให้ผลผลิตประมาณ 300 กิโลกรัมต่อไร่ ถ้าใช้พันธุ์สุวรรณ
-1 หรือสุวรรณ-2 ของกระทรวงเกษตรฯ ก็จะเพิ่มผลผลิตได้สูงขึ้นเป็น 500 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ถ้าเป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างพันธุ์พื้นเมืองกับพันธุ์สุวรรณ
-1 ซึ่งภาคเอกชนรายหนึ่งได้ทดลองใช้ปลูก ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 กิโลกรัมต่อไร่
หากถัวเฉลี่ยออกมาก็จะเสียต้นทุนถูกลง
การให้การส่งเสริมเพื่อให้เกิดการพัฒนาเมล็ดพันธุ์จึงมีความสำคัญมาก
ส่วนวัตถุดิบที่ต้องนำเข้า เรื่องนี้ก็ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะต้องเปิดใจให้กว้าง
ถ้าวัตถุดิบตัวไหนมีความจำเป็นจะต้องนำเข้าก็ควรต้องหนุนให้ทำเช่นนั้น จะตั้งเป้าว่าต้องใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพียงอย่างเดียวนั้น
ถ้าคุณภาพไม่ถึงหรือต้นทุนสูงกว่าของต่างประเทศ ในที่สุดก็จะมีปัญหาเมื่อจะต้องส่งออกในที่สุด
นอกจากนี้ในเรื่องของการเก็บรักษา เรื่องการขนส่ง ความล่าช้าในการคืนภาษี ดอกเบี้ยสูง
ภาระภาษีที่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการจะต้องเสีย ก็ล้วนเป็นสาเหตุให้ต้นทุนการผลิตสูงทั้งสิ้น
แม้กระทั่งความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินตราต่างประเทศก็เช่นกัน
ต่อมาในเรื่องเกี่ยวกับการตลาด
ที่แล้วมาอาจจะพูดได้ว่าผู้ส่งออกไทยรู้ความต้องการของผู้ซื้อแบบงูๆ
ปลาๆ เนื่องจากไม่ได้ออกไปสัมผัสกับผู้ซื้อโดยตรง และข่ายการสื่อสารโทรคมนาคมก็ยังไม่มีประสิทธิภาพสูงเท่าที่ควร
การจะแก้ปัญหานี้จะต้องเริ่มด้วยการพัฒนาข่าวการสื่อสารให้มีขีดความสามารถไม่น้อยหน้ากว่าประเทศคู่แข่ง
ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ หรือเครื่องสื่อสารโทรคมนาคมทุกชนิด
และก็จะถึงยุคที่ผู้ส่งออกต้องบุกให้ถึงตัวผู้ซื้อกันแล้ว
เป็นที่คาดหมายกันว่า ปี 2528 นี้ การส่งออกจะไม่ดีไปกว่าปี 2527 คือจะไม่เพิ่มขึ้นถึง
15 เปอร์เซ็นต์ ดังที่ทางราชการประเมินไว้
ถ้าพูดถึงมูลค่าจริงๆ ของการส่งออก ไม่ใช่มูลค่าที่ถูกคำนวณออกมาเป็นเงินบาท
เพราะถ้าเป็นเงินบาทก็ต้องเพิ่มกว่า 15 เปอร์เซ็นต์แน่นอน เพราะได้มีการประกาศลดค่าเงินบาทไปแล้ว
ที่เชื่อว่าการส่งออกในปี 2528 จะไม่ดีเท่าที่ควรนั้น ตัวพิจารณาหลักก็คือ
ภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าใหญ่ๆ อย่างเช่น สหรัฐฯ และยุโรปตะวันตก
ยังซบเซา และจะมีการใช้มาตรการลดการนำเข้ากันอย่างรุนแรง
ส่วนในตลาดอื่นๆ อย่างเช่น ในย่านเอเชียแปซิฟิก แม้ภาวะเศรษฐกิจจะเริ่มกระเตื้องขึ้นบ้าง
แต่กำลังซื้อก็จะไม่สูงมาก
ในด้านตลาดใหม่ๆ อย่างตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก และแอฟริกา ก็ยังเป็นตลาดที่ใหม่มากสำหรับคนไทยและยังมีปัจจัยซึ่งเป็นข้อจำกัดอยู่มากมาย
โดยเฉพาะในเรื่องขีดความสามารถของการชำระเงิน
กล่าวโดยสรุป ปี 2528 จะยังเป็นปีที่ปัญหาพื้นฐานจะยังคงอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นทุนสูง
อำนาจต่อรองต่ำ หรือปัญหาด้านการตลาด
อย่างไรก็ตาม ถ้าดูนโยบายของรัฐบาลแล้ว สินค้าใดที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลักคุณภาพใช้ได้
จะเป็นสินค้าที่มีอนาคตพอสมควร
ส่วนสินค้าที่ต้องพึ่งการนำเข้าอยู่มากก็คงจะต้องพบปัญหามากกว่าทุกๆ
ปี