Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2528








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2528
สถานภาพทางการเงินการคลังของ 10 ประเทศในเอเชีย ปี 2528             
 

   
related stories

เศรษฐกิจเอเชียจะเฉื่อยช้าลงในปี 1985 ผู้เชี่ยวชาญต่างมองในแง่ร้าย คาดว่าความต้องการนำเข้าของสหรัฐฯ จะลดลง

   
search resources

Economics
Banking and Finance
International




ญี่ปุ่น: ธนาคารญี่ปุ่นหาคนมากู้เงินยาก

บริษัทต่างๆ ในญี่ปุ่นมิได้ขาดแคลนเงินเลย ปัญหาใหญ่สำหรับบางบริษัทมีอยู่แต่เพียงว่า จะบริหารเงินที่เขามีอยู่แล้วให้ดีได้อย่างไร

ในการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารแห่งญี่ปุ่นรายงานว่า ในระหว่างปีการเงินที่สิ้นสุดลงเมื่อ 31 มีนาคม 1984 บริษัทใหญ่ๆ ได้หาเงินมาใช้โดยผ่านทางเงินกู้เพิ่มขึ้น 14% ทั้งนี้นับเป็นการตกต่ำจากตัวเลขถัวเฉลี่ยในระยะ 5 ปีที่แล้วมา ซึ่งมีถึง 56% ส่วนบริษัทนอกจากนี้แสวงหาเงินมาโดยวิธีออกหุ้นใหม่เพิ่มขึ้น หรือไม่ก็ออกเป็นหุ้นกู้ที่ขึ้นเงินคืนได้

ในด้านการจัดการทางการเงิน หลายบริษัทได้ถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของบริษัทแล้วนำไปซื้อตราสารต่างๆ ที่ให้อัตราดอกเบี้ยตามตลาด เช่น สิทธิบัตรเงินฝากพันธบัตร หรือหุ้นกู้ และอื่นๆ ในปีการเงินที่สิ้นสุดลงเมื่อ 31 มีนาคม 1984 จากการสำรวจโดยธนาคารชาติของญี่ปุ่นปรากฏว่า บริษัทต่างๆ เก็บเงินสดไว้ในรูปเงินฝากเงินเยนถึง 21% ของเงินสดทั้งหมด เทียบกับระยะ 5 ปีก่อนที่มีเงินฝากถัวเฉลี่ยถึง 30% ของเงินสด

การที่รัฐบาลได้ค่อยๆ ผ่อนคลายระเบียบบังคับเกี่ยวกับระบบการเงิน ได้ก่อให้เกิดแนวโน้มดังกล่าวขึ้น

ตัวอย่างเช่น เมื่อตอนต้นปี 1984 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับการโอนเงินต่างประเทศ ซึ่งทำให้บริษัทญี่ปุ่นหลายบริษัทสามารถหาเงินกู้ในราคาที่ถูกกว่า โดยผ่านทางตลาดเงินทุนต่างประเทศ ดีกว่าผ่านทางเงินกู้ระยะยาวในญี่ปุ่น

การขยายตัวของปริมาณเงินออกสู่ตลาดยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 8% เล็กน้อยตลอดปี 1984 สถาบันวิจัยโนมูระพยากรณ์ว่า นโยบายการเงิน "จะยังคงรักษาไว้ซึ่งแนวโน้มในทางผ่อนคลาย" ไปจนถึงปีการคลังหน้า ถึงแม้ว่าเมื่อปีกลายนี้ธนาคารชาติจะได้ลดอัตราส่วนลดของทางการลงมาเหลือเพียง 5% ซึ่งยังคงอยู่ในระดับนี้เรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้ก็ตาม แต่ธนาคารญี่ปุ่นก็ยังหาผู้กู้ยืมเงินในประเทศได้ยากมาก

ในขณะเดียวกันก็มีการให้กู้ยืมและมีการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ในช่วงไตรมาสเมษายน-มิถุนายน ญี่ปุ่นส่งเงินออกนอกประเทศเพื่อกิจการดังกล่าว เป็นจำนวนถึง 14.3 พันล้านดอลลาร์

ส่วนตลาดหลักทรัพย์ก็เริ่มเข้มแข็งขึ้นมาอีกภายหลังจากเฉื่อยชาไปเสียหลายเดือน

สิงคโปร์: ไม่มีหนี้ต่างประเทศเลย

รัฐบาลยังคงเป็นตัวแสดงบทบาทสำคัญในตลาดเงินกู้ของสิงคโปร์ โดยเป็นผู้กู้รายใหญ่เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายตามโครงการสาธารณะ เช่น โครงการสร้างรถไฟใต้ดินมูลค่า 2.3 พันล้านดอลลาร์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลได้มาตักตวงเอาเงินไปเสียเป็นจำนวนมากเช่นนี้ ก็มิได้ก่อให้เกิดภาวะตึงตัวขึ้นในตลาดเงินกู้แต่อย่างใด

ส่วนสัดแห่งความต้องการเงินกู้ก้อนโตของรัฐบาล ได้รับการตอบสนองจากเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญกลาง อันเป็นระบบเงินบำนาญอเนกประสงค์ของประเทศ เนื่องจากส่วนใหญ่ในสิงคโปร์หวังพึ่งกองทุนการเงินในประเทศ

สิงคโปร์จึงไม่มีหนี้ต่างประเทศเลย

แต่เพียงสิ้นเดือนมีนาคม 1984 รัฐบาลสิงคโปร์มีหนี้ในประเทศเป็นจำนวนถึง 8.6 พันล้านดอลลาร์ และในปีนี้รัฐบาลจะต้องใช้หนี้เงินกู้คืนเป็นจำนวนถึง 860 ล้านดอลลาร์ อันเป็นรายจ่ายก้อนโตเป็นอันดับ 3 ในงบประมาณรายจ่าย รองจากการใช้จ่ายเพื่อป้องกันประเทศ การยุติธรรม การบริการสังคม และประชาคม

เงินให้กู้ของธนาคารซึ่งค้างอยู่กับลูกค้าที่มิใช่ธนาคาร ยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปจนถึงกลางปี 1984 เป็นจำนวนถึง 14.42 พันล้านดอลลาร์ มากกว่ายอดรวมเมื่อกลางปี 1983 ถึง 16%

เงินเหรียญสิงคโปร์มีค่าสูงขึ้น เมื่อเทียบกับเงินตราสกุลสำคัญๆ ของหลายประเทศ และอยู่ในระดับที่มั่นคงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ภาวะเช่นนี้ทำให้สิงคโปร์เป็นแหล่งที่น่าลงทุน สำหรับนักลงทุนต่างประเทศในภูมิภาคส่วนนี้

อย่างไรก็ดี บรรดาธนาคารทั้งหลายถูกบังคับให้หลีกเลี่ยงการให้เงินกู้แบบเสี่ยงในปีนี้เนื่องจากการจัดระเบียบที่เข้มงวดกวดขัน และการที่เจ้าหน้าที่การเงินคือ ธนาคารชาติบังคับให้มีเงินสดสำรองไว้ในอัตราสูง

ดอกเบี้ยอัตรากลางของสิงคโปร์ได้ตกต่ำลงจากอัตราระหว่าง 9% ถึง 9.5% ซึ่งใกล้เคียงกับระดับในตอนกลางปี 1983 และต้นปี 1984

ส่วนตลาดหลักทรัพย์อยู่ในสภาพซบเซา ราคาใบหุ้นได้ตกต่ำเรื่อยมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ นักวิเคราะห์เชื่อว่า ราคาหุ้นคงจะตกต่ำต่อไปจนกระทั่งสิ้นปี ตัวเลขดัชนีอุตสาหกรรมของหนังสือพิมพ์สเตรตไทม์ได้ตกต่ำจากสถิติเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 1984 ที่มีอยู่ถึง 1,071.91 ลงมาราว 940

นักวิเคราะห์บางคนคาดว่า ตัวเลขดัชนีนี้จะตกถึงก้นบึ้งในจำนวนที่ 750 ในปี 1985 ทั้งนี่เนื่องจากกิจการที่มีบทบาทสำคัญๆ ส่วนมากตกอยู่ในสภาพเป็นอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเติบโตช้ามาก หรือไม่ก็ไม่ขยายตัวเลย ดังเช่นกิจการโรงแรม สินค้าโภคภัณฑ์ การจัดการทรัพย์สินและการก่อสร้าง เป็นต้น

ประเทศไทย: โดนพิษเงินบาทเสียเปลี้ย

เมื่อปี 1983 ธนาคารในประเทศไทยปล่อยเงินให้กู้อย่างรวดเร็วมาก เป็นผลให้ในปีนั้นมีเงินให้กู้สูงขึ้นไปตั้ง 35% นี่เป็นการดีในการกระตุ้นให้มีการขยายตัวเติบโต แต่เป็นผลร้ายต่อเสถียรภาพทางการเงิน เพราะส่วนใหญ่ของเงินให้กู้นี้ถูกใช้จ่ายไปในทางนำสินค้าเข้าประเทศ อันเป็นการทำให้การขาดดุลในดุลการค้าต้องทรุดหนักลงไป

ในตอนสิ้นปี 1983 เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของรัฐบาลเริ่มใช้มาตรการห้ามล้อ โดยสั่งให้ธนาคารทั้งหลายจำกัดการให้สินเชื่อเพื่อการนำเข้าในปี 1984 ให้อยู่ในระดับเดียวกันกับปี 1983 พร้อมกันนั้นก็สั่งให้ธนาคารทั้งหลายจำกัดปริมาณเงินให้กู้ยืมสำหรับปี 1984 โดยให้มียอดเงินให้กู้รวมสูงกว่ายอดของปี 1983 ได้ไม่เกิน 18%

ผลก็คือ ธนาคารในประเทศไทยเริ่มตัดหรือไม่ก็บั่นทอนวงเงินให้กู้ยืมแก่ลูกค้าบางประเภทให้น้อยลง ในระยะ 8 เดือนแรกของปี 1984 ยอดเงินให้กู้ของธนาคารสูงขึ้น 11% และในไตรมาสที่ 2 ของปีธนาคารขยายวงเงินให้กู้ทั้งหมดเพียง 561 ล้านดอลลาร์ เทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 1983 ที่ธนาคารให้กู้ยืมถึง 1.7 พันล้านดอลลาร์

นโยบายทำให้เงินเครดิตตึงตัวเช่นนี้ ได้รับการคัดค้านจากนักธุรกิจเป็นอันมาก เพื่อตอบสนองการเรียกร้องดังกล่าวในเดือนสิงหาคม รัฐบาลได้ระงับการจำกัดสินเชื่อไว้เพียงแค่ 18% แต่กระนั้นบรรดานายธนาคารก็คาดว่า อัตราการขยายตัวของเครดิตในปี 1984 ก็คงจะต่ำกว่าระดับขยายตัวของปีกลาย ด้วยเหตุนี้ธนาคารจึงพิจารณาให้กู้ยืมเงินอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อปรากฏว่ามีหนี้สูญเพิ่มมากขึ้น

การหน่วงเหนี่ยวอัตราขยายตัวของสินเชื่อย่อมส่งผลทำให้ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนต้องเฉื่อยชาลง ในระยะ 7 เดือนแรกคำเสนอขอลงทุนซึ่งปรากฏอยู่ในแบบฟอร์มขอสิทธิพิเศษจากรัฐบาลในการดำเนินงานตามโครงการนั้น ได้ลดลงจากปีก่อนถึง 46%

ระบบการเงินของไทยต้องประสบกับความสูญเสียหลายประการด้วยกัน ในปีที่ล่วงมา มีบริษัทการเงินหลายบริษัทยังคงตกอยู่ในภาวะยุ่งยาก หลังจากเกิดการรุมกันมาถอนเงินคืน ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 1983 ในครึ่งแรกของปีนี้เงินฝากในบริษัทการเงินได้ตกต่ำลงไปถึง 6.6% ในเดือนสิงหาคม 1984 รัฐบาลได้เข้าควบคุมธนาคารและสถาบันการเงินที่ฐานะการเงินทรุดหนัก

ภายหลังจากการลดค่าเงินบาทเมื่อเร็วๆ นี้ความเจ็บปวดครั้งยิ่งใหญ่ก็จะบังเกิดขึ้นแก่ธนาคารและบริษัทของไทยที่ได้ขอกู้ยืมเงินมาจากต่างประเทศ และต้องชำระหนี้เงินกู้คืนเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้เพราะต้องใช้เงินบาทมากขึ้นเพื่อซื้อดอลลาร์สำหรับใช้คืนเงินกู้ดังกล่าว

แต่โดยทั้งหมดแล้ว ระบบการเงินของไทยต้องหยุดยั้งอยู่ด้วยความหมดแรง บรรดาธนาคารอาจจะยังต้องใช้ความระมัดระวังอยู่ในปี 1985 นี้แม้ว่าเจ้าหน้าที่การเงินจะยังมิได้กำหนดข้อจำกัดใหม่ เกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินก็ตาม

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งคึกคักอยู่เมื่อปี 1983 ต้องประสบกับความหงอยเหงาในปี 1984 นี้ บรรดาพวกนายหน้าค้าหุ้นหวังว่า การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์เมื่อเร็วๆ นี้ คงจะช่วยให้มีการลงทะเบียนขอซื้อขายหุ้น และมีการซื้อขายหุ้นจริงๆ กันมากขึ้น

ไต้หวัน: เหมือนญี่ปุ่นหาคนกู้ยาก

เงินกู้มีท่าว่าจะยังคงหาได้ง่ายในไต้หวันตลอดปี 1985 แต่นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่าความต้องการเงินกู้กำลังเฉื่อยช้าลง เพราะหลายบริษัทยังอิ่มตัวไปด้วยรายได้จากการส่งสินค้าออกและยังลังเลใจที่จะกู้ยืมเงินลงทุนก้อนใหญ่รายใหม่ๆ

ซู ฮั่น หมิง กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ของธนาคารพาณิชย์ระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน ประมาณว่า ในปี 1984 นี้ ปริมาณเงินให้กู้รวมได้เพิ่มขึ้น 14% ในขณะที่ปริมาณเงินฝากพุ่งขึ้นไปถึง 24% เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ธนาคารชาติได้แก่ตั๋วเงินคลังออกขายเป็นจำนวนตั๋วมากมายเพื่อดูดซับปริมาณเงินในประเทศที่ออกจะมีมากเกินไป

ส่วนอัตราดอกเบี้ยนั้นได้ลดต่ำลงเรื่อยมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 1983 ได้ลดลงมาเหลือเพียง 8.25% ตั้งแต่เดือนมีนาคม 1984 เป็นต้นมา อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวนี้เคยสูงถึง 15.25% เมื่อกลางปี 1981 มร.ซู คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนี้คงจะสูงขึ้นไปเล็กน้อยในปี 1985

นักเศรษฐศาสตร์เป็นอันมากแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไต้หวันที่มีมากเกินไป เนื่องจากมีรายได้จากการส่งสินค้าออกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมีมากจนเป็นจำนวนมาก 16 พันล้านดอลลาร์ จ้าว เจี้ย เฉียน นักเศรษฐศาสตร์ของรัฐบาล กล่าวว่า "ยังไม่มีช่องทางที่จะระบาย" รายได้จากการส่งออกเหล่านี้ทั้งหมดได้

รัฐบาลมีความวิตกว่า การมีเงินสำรองสูงมากเกินไปอาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อได้ ในไต้หวันบรรดาเงินตราต่างประเทศต้องแตกออกมาเป็นเงินตราในประเทศ ซึ่งยังผลให้ปริมาณเงินในประเทศต้องเพิ่มขึ้น และรวมเข้าไปอยู่ในแรงกดดันของภาวะเงินเฟ้อ รัฐ่บาลจึงหวังที่จะแก้ไขสถานการณ์โดยวิธีส่งเสริมการนำเข้า

ส่วนตลาดหลักทรัพย์ในไต้หวันยังคงก้าวรุดหน้าต่อไปหลังจากได้เริ่มกระเตื้องขึ้นเมื่อต้นปี 1983 ดัชนีราคาถ่วงน้ำหนักเมื่อวันปิดตลาดวันอังคารเป็น 792.24 เทียบกับตัวเลข 435 เมื่อตอนที่ตลาดเริ่มเบ่งตัว ตัวเลขดัชนีได้ไต่ถึงยอดสูงสุด 962.25 เมื่อเดือนพฤษภาคม 1984

เกาหลีใต้: เงินเฟ้อกับหนี้จะเป็นปัญหาหนัก

นักวางแผนเศรษฐกิจของเกาหลีใต้วางแผนสกัดกั้นปริมาณเงินในปี 1984 นี้เพื่อพยายามต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ต่างประเทศคาดว่าจะสูงถึง 4.2% ในปี 1985

นักเศรษฐศาสตร์ของรัฐบาลไม่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในตัวแบบแต่ประการใด อย่างน้อยก็ไปจนถึงต้นปี 1985 ส่วนนักวางนโยบายเศรษฐกิจก็ได้พยายามจำกัดการขยายตัวของการให้กู้ยืมของธนาคารแก่กลุ่มธุรกิจใหญ่ที่มีอยู่ถึง 30 กลุ่ม

ผลจากการดำเนินนโยบายดังกล่าวนี้ ทำให้บริษัทต้องหันไปหาตลาดเงินทุนแห่งอื่น เช่น การออกใบหุ้นกู้ และตราสารการพาณิชย์ เพื่อสนองความต้องการเงินกู้ของเขา

รัฐบาลใช้มาตรการควบคุมตลาดการเงินอย่างแข่งขัน เช่น กำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ในปี 1984 นี้ รัฐบาลใช้วิธีที่ให้ความยืดหยุ่นได้บ้าง เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารโดยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ให้กู้ยืมเงินแก่องค์การธุรกิจต่างๆ ได้ในอัตราดอกเบี้ยระหว่าง 10% ถึง 10.5% ต่อปี อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติกันแล้ว ปรากฏว่าเงินให้กู้ส่วนมากคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดกันทั้งนั้น ทั้งนี้เพราะเงินกู้จากธนาคารเป็นสิ่งหาได้ยากในเดือนพฤศจิกายน 1984 รัฐบาลได้เพิ่มเพดานอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปอีก 0.7% นักวางแผนยังมองไม่เห็นว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรในอนาคตอันใกล้นี้

โดยดำเนินการต่อไปจากแนวโน้มที่ได้เริ่มมาแล้วตั้งแต่ปีกลายในปี 1984 นักวางแผนเศรษฐกิจยังคงสกัดกั้นปริมาณเงินตราได้ขยายตัวโดยถัวเฉลี่ยเพียง 9.2% เทียบกับเมื่อเดือนมกราคมที่ขยายตัวถึง 15% นักวางแผนคาดว่าจะสามารถตรึงการขยายตัวของปริมาณเงินเอาไว้ได้ในระดับเดียวกันนี้ในอีกหลายเดือนข้างหน้า

ปี 1984 นี้ตลาดหลักทรัพย์ในกรุงโซลได้คึกคักมากขึ้น มีบริษัทใหม่จดทะเบียนเข้าเป็นสมาชิกในตลาดหลักทรัพย์อีกหลายๆ บริษัท ตัวเลขดัชนีผสมอันเป็นเครื่องวัดระดับใบหุ้นของบริษัทสมาชิกทั้ง 332 บริษัทได้ไต่ขึ้นไปสูงถึง 137.23 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม หลังจากได้ตกลงไปเหลือ 114.37 เมื่อ 7 มกราคม ดัชนีตอนปิดเมื่อวันอังคารเป็น 132.57 พวกโบรกเกอร์บางคนคาดว่า ลู่ทางของตลาดคงจะอยู่ในระดับปานกลางในระยะอนาคตใกล้ๆ นี้

หนี้แห่งชาติของรัฐบาลเกาหลี ยังคงเป็นสิ่งที่น่าวิตกมาก

ยอดหนี้รวมของประเทศยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่นักวางแผนทางเศรษฐกิจคาดว่า ความสามารถชำระหนี้ได้ของเกาหลี จะได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นในปี 1985 นี้ เกาหลีมีหนี้ต่างประเทศเป็นจำนวนถึง 42.1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นจำนวนมากที่สุดของประเทศในเอเชียด้วยกัน

ฟิลิปปินส์: มีแต่ตายลูกเดียว

หลายบริษัทที่พยายามหาเงินเพิ่มขึ้น ต้องประสบกับความยากลำบากตลอดปี 1984 นี้ บรรดาเจ้าหน้าที่การเงินของบริษัทและธนาคารต่างๆ ยังไม่คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น จนกว่าจะถึงกลางปี 1985

สินเชื่อก็ตึงตัว อัตราดอกเบี้ยก็สูง อัตราดอกเบี้ยการให้กู้ชั้นดีสูงขึ้นไปถึง 45% และจนถึง 50% ต่อปีในเร็วๆ นี้ ธนาคารยอมให้กู้ยืมเงินก็เฉพาะแก่บริษัทฟิลิปปินส์ที่มีฐานะดีที่สุด

โจเซ คุยเซีย กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารอินซูลาร์ แบงก์ออฟเอเชียแอนด์อเมริกา กล่าวว่า "ธนาคารคัดเลือกมากในการให้กู้ยืมจึงทำให้บริษัทส่วนมากประสบกับความลำบากมากที่จะได้รับการกู้ยืมเงิน เนื่องจากธนาคารมีความวิตกหวั่นเกรงในฐานะการเงินของบริษัทเหล่านั้น

ความพยายามของรัฐบาลที่จะสกัดกั้นปริมาณเงินตราได้ทำให้ปริมาณเงินสำหรับให้กู้ยืมแก่บริษัทต่างๆ ต้องลดน้อยลง นอกจากนั้นรัฐบาลยังได้นำตั๋วเงินคลังและตั๋วสัญญาใช้เงินของธนาคารชาติออกขาย โดยให้อัตราดอกเบี้ยรายปีสูงถึง 43.5% จนบริษัทบางบริษัทบอกว่า การทำแบบนี้ประสบกับความสำเร็จมาก แต่สำเร็จเร็วมากเกินไปพวกธนาคารบอกว่า "เมื่อรัฐบาลดูดเงินส่วนมากเอาไปเสียเช่นนี้ ภาคเอกชนก็เลยไม่ค่อยได้เห็นเงิน"

ส่วนตลาดหลักทรัพย์ในมะนิลานั้น มีแต่ความซบเซาตลอดปีตลอดชาติ เนื่องจากไม่มีใบหุ้นออกใหม่รายใหญ่ๆ มาขายกันเลย การซื้อขายหุ้นที่มีอยู่ประปรายก็เต็มไปด้วยความเหงาหงอย หลายบริษัทที่พยายามแก้ไขวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปหาเงินมาแก้ไขได้จากที่ไหน

จูลิโต โซเรียโน รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการเงิน ของบริษัทฟิลิปปินส์แอปไพลแอนซ์คอร์ป กล่าวว่า "พวกเรากำลังมองหาเงิน" เมื่อปี 1983 ที่ล่วงมานี้ การขายของบริษัทตกต่ำลงไปตั้ง 50% ผลก็คือ บริษัทต้องกลับไปพึ่งความช่วยเหลือทางการเงินจากผู้บริโภค เมื่อก่อนนี้ บริษัทเคยให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้บริโภคเป็นจำนวนถึง 70% ของจำนวนราคาที่เขาซื้อแต่ปัจจุบันนี้เขาจะต้องจ่ายเป็นเงินสดถึง 70%

สถานการณ์ยุ่งยากทางเศรษฐกิจนี้ มีมูลเหตุเนื่องมาจากวิกฤตในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศซึ่งได้เริ่มเกิดขึ้นหลังจากการฆาตกรรมเบนิโญ อาคิโน ผู้นำฝ่ายค้านของฟิลิปปินส์เมื่อปี 1983 โดยมีการตื่นตกใจแล้วเงินทุนจำนวนมากก็หนีออกนอกประเทศไป ทำให้รัฐบาลจำต้องขอผัดผ่อนชำระเงินต้นในยอดหนี้เงินกู้ต่างประเทศที่มีอยู่ถึง 26 พันล้านดอลลาร์ ในขณะเดียวกันธนาคารก็ระงับการให้กู้เงินดอลลาร์ ซึ่งกลายเป็นเงินที่หาได้ยากที่สุด มีหลายบริษัทไม่สามารถซื้อหาเงินดอลลาร์มาชำระค่าสินค้าเข้าได้

รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ลดค่าของเงินเปโซลงมาแล้วหลายครั้งหลายหน ซึ่งทำให้ภาวะเงินเฟ้อกลับยิ่งเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นรัฐบาลยังได้ยับยั้งปริมาณเงินตราออกสู่ตลาด เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศเกี่ยวกับเงินกู้เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ธนาคารทั้งหลายต่างหวั่นวิตก ไม่รู้ว่าลูกค้าของตนจะสามารถฟันฝ่ามรสุมร้ายไปได้หรือไม่ สินเชื่อที่ให้แก่บริษัทขนาดกลางเพิ่มขึ้นน้อยมาก แต่ที่ร้ายก็คือ บางธนาคารก็ต้องประสบกับผลร้ายจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเข้าเองด้วยเหมือนกัน จนต้องวิ่งหาเงินกู้มาหนุนเงินสด

อินโดนีเซีย: เจอดอกเบี้ยสูงหนี้มาก

การที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ สูงขึ้น ดอลลาร์แข็งตัวขึ้น และการที่สภาพคล่องได้คล่องตัวมากขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยของอินโดนีเซียสูงขึ้นในปี 1984 นี้มากกว่าเมื่อปีกลาย

แต่การให้กู้ยืมเงินก็ยังคงคึกคักดีอยู่ เมื่อวันสิ้นเดือนกรกฎาคม 1984 ยอดเงินให้กู้ยืมรวมของธนาคารมีจำนวน 16.4 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าเมื่อปีกลายนี้ 25% บริษัทที่มีฐานะการเงินอยู่ในเกณฑ์ดีจะสามารถหาเงินกู้ได้ไม่ยากนัก

นักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจวิตกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสุงอาจทำให้การฟื้นตัวของอินโดนีเซียช้าลง นักเศรษฐศาสตร์ผู้หนึ่งในจาการ์ตา กล่าวว่า "ถ้าหากสถานการณ์ยังคงดำเนินไปเช่นนี้ มันก็ต้องส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างแน่นอน"

ตลาดหลักทรัพย์ของอินโดนีเซียที่ผอมแห้งแรงน้อยลงทุกทีๆ นั้น ได้ย่างเข้าปี แห่งการติดหล่มอยู่ในบึงแห่งความตกต่ำ ปริมาณการซื้อขายหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนไว้ตั้ง 23 บริษัทมีอัตราถัวเฉลี่ยเพียงวันละ 1,000 หุ้นเท่านั้น ในช่วงระยะ 5 เดือนแรกของปี 1984 เทียบกับเมื่อปี 1983 ที่มีอัตราถัวเฉลี่ยถึงวันละ 14,000 หุ้น

ในขณะเดียวกันการขยายตัวของปริมาณเงินตราก็เป็นไปค่อนข้างเร็วขึ้นเมื่อวันสิ้นเดือนกันยายน 1984 ปริมาณเงินได้ขยายตัวมากขึ้นกว่าปริมาณเมื่อตอนสิ้นปี 1983 ถึง 12.5% ตลอดปี 1983 ปริมาณเงินได้ขยายตัวขึ้น 6.2%

นอกจากนั้นหนี้ต่างประเทศของอินโดนีเซียก็กำลังเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศประมาณว่า ในตอนสิ้นไตรมาสแรกของปี 1984 อินโดนีเซียมีหนี้ต่างประเทศรวม 25.74 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าระยะเดียวกันของปีก่อนราว 4.5 พันล้านดอลลาร์

มาเลเซีย: 76% ของ GDP คือหนี้

เงินมีราคาแพงในมาเลเซีย และสภาพคล่องอยู่ในระดับต่ำ นักเศรษฐศาสตร์มองว่า สินเชื่อจะยังคงตึงตัวต่อไปในปี 1985

การกู้ยืมเงินได้หดตัวน้อยลงมาตั้งแต่ปี 1984 อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินกำลังพุ่งตัวสูงขึ้น ทั้งๆ ที่อัตราดอกเบี้ยสำหรับผู้กู้ชั้นดีจะยังคงอยู่ในอัตรา 8.5% มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 1984

ตามรายงานของกระทรวงการคลังปรากฏว่าในครึ่งปีแรกปริมาณการให้กู้ยืมได้เพิ่มขึ้นกว่าระยะเดียวกันของปีก่อนถึง 21% อุตสาหกรรมที่ได้รับเงินกู้ส่วนใหญ่ได้แก่การก่อสร้าง การจัดสรรที่ดิน และการสร้างบ้านเรือน ส่วนเงินให้กู้ยืมกิจการเหมืองแร่ที่ประสบกับภาวะยุ่งยากขึ้น ได้ลดลงเป็นอันมาก

ในครึ่งแรกของปี 1984 ปริมาณเงินในตลาดได้ขยายตัวออกไปถึง 90% เทียบกับระยะเดียวกันของปีกลายที่ขยายตัวเพียง 7.7% กระทรวงการคลังกล่าวว่า ตลอดปีปริมาณเงินคาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 10% ถึง 11%

ส่วนตลาดหลักทรัพย์โดยทั่วไปปี 1984 ปริมาณเงินในตลาดได้ขยายตัวออกไปถึง 90% เทียบกับระยะเดียวกับของปีกลายที่ขยายตัวเพียง 7.7% กระทรวงการคลังกล่าวว่า ตลอดปีปริมาณเงินคาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 10% ถึง 11%

ส่วนตลาดหลักทรัพย์โดยทั่วไปปี 1984 นับว่าเป็นปีที่แย่หน่อย ตลาดหลักทรัพย์ได้คึกคักมาตั้งแต่ปีกลาย ตัวเลขดัชนีอุตสาหกรรมของหนังสือพิมพ์นิวสเตรตไทม์แสดงว่ามันได้ขึ้นถึงระดับสูงสุดเมื่อเดือนมกราคม 1984 แล้วหยุดนิ่งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา นอกจากกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยเมื่อเดือนกรกฎาคม

หนี้เงินกู้ต่างประเทศมาเลเซียก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังกล่าวว่า ในปี 1984 นี้หนี้ต่างประเทศของมาเลเซียจะขยายตัวขึ้นในอัตราที่ช้าลงกว่าเมื่อปีกลายคาดว่าหนี้ต่างประเทศทั้งสิ้นของมาเลเซียในปี 1984 นี้จะมีจำนวน 8.9 พันล้านดอลลาร์ สูงกว่าเมื่อปี 1983 รวม 25%

ส่วนหนี้ในประเทศในปีนี้ คาดว่าจะมีจำนวนรวม 15.36 พันล้านดอลลาร์ มากกว่าเมื่อปี 1983 ถึง 12% เมื่อรวมหนี้ต่างประเทศกับหนี้ภายในประเทศแล้ว ก็มีจำนวนทั้งสิ้น 76% ของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศของมาเลเซีย

ฮ่องกง: ดีวันดีคืนขึ้นเรื่อย

ดี.เค.ปาเตล ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง คอร์ป กล่าวว่า "ความเชื่อถือในเงินเหรียญฮ่องกงได้กลับฟื้นคืนมาแล้ว และภาวะเงินเฟ้อกำลังเบาบางลง ผมไม่คิดว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารจะสูงขึ้นอีกในปีหน้านี้"

แค่นี้ก็นับว่าเป็นผลสำเร็จดีแล้ว การที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเมื่อตอนกลางปี 1984 ก็เพราะเงินทุนหนีออกนอกประเทศ อันเป็นผลเนื่องมาจากความไม่แน่นอนในทางการเมือง ในปัจจุบันนี้ในขณะที่บรรยากาศทางการเมืองในเมืองอาณานิคมแห่งนี้ สงบนิ่งลงพอสมควรนั้น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าชั้นดีอยู่ในระดับ 12% ต่ำลงมากจาก 17% เมื่อเดือนกรกฎาคมที่แล้วมา

อุปสงค์เงินกู้ได้ลดต่ำลงเนื่องจากความซบเซาของตลาดหลักทรัพย์ตามตัวเลขของรัฐ่บาลเอง แสดงว่า ยอดเงินให้กู้ของธนาคารที่เป็นเงินเหรียญฮ่องกงในเดือนสิงหาคม 1984 ได้เพิ่มขึ้นเพียง 5.2% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ที่มีจำนวน 26.2 พันล้านดอลลาร์

นายธนาคารทั้งหลายคาดว่าในปี 1985 อุปสงค์เงินกู้จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักอุตสาหกรรมผลิตสินค้า เขากล่าวว่า ความไว้วางใจของนักลงทุนค่อยๆ ดีขึ้น ตั้งแต่เดือนกันยายน 1984 ที่แล้วมา เมื่อจีนกับอังกฤษได้บรรลุความตกลงเกี่ยวกับอนาคตของอาณานิคมฮ่องกง

การลงทุนด้านอุตสาหกรรมเริ่มกระเตื้องขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังของปี รัฐบาลคาดว่าตลอดปี 1984 การลงทุนในโรงงานและเครื่องจักรจะขยายตัวเติบโตขึ้น เมื่อปรับปรุงตัวเลขเงินเฟ้อออกแล้วราว 17% เป็นเงิน 2.05 พันล้านดอลลาร์ นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่าเขาเชื่อว่าการขยายตัวเติบโตทางอุตสาหกรรมและการลงทุน จะดำเนินต่อไปในปี 1985 นี้

มร.ปาเตลพยากรณ์ว่า อุปสงค์เงินกู้ในฮ่องกงจะขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็วหลังปี 1985 นี้ เมื่อรัฐบาลกำหนดว่า จะลงมือดำเนินงานตามโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่หลายโครงการ

เมื่อปลายปีกลายและต้นปี 1984 นี้ บริษัทผลิตเครื่องอิเล็กทรอนิคส์หลายบริษัทในฮ่องกงได้เพิ่มทุนโดยวิธีนำหุ้นออกขายในตลาดหุ้นฮ่องกง แต่อย่างไรก็ดี ตลาดได้ซาลงในไตรมาสที่ 2 เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมือง

ราคาหุ้นเพิ่งจะฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 1984 นี้ ตัวเลขดัชนีของฮั่งเช้ง ขึ้นสูงเลยหลัก 1,000 ไปในเดือนกันยายน หลังจากต่ำอยู่ในระดับ 700 เมื่อเดือนกรกฎาคม พวกนายหน้าค้าหุ้นคาดว่า ตลาดจะยังคงดีอยู่ในปี 1985 ลาร์รี่แทม ผู้จัดการฝ่ายวิจัยของบริษัทหลักทรัพย์ ซุนฮุง ไก่ เซคเคียวริตี้ จำกัด กล่าวว่า "ผมเล็งผลเลิศเอามากๆ"

จีน: ชักเริ่มรู้จักขาดดุล

ในการพยายามหาเงินมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ จีนได้ทดลองใช้เครื่องมือการเงินแบบใหม่ๆ หลายแบบด้วยกัน รวมทั้งการออกหลักทรัพย์สาธารณะด้วย

เป้าหมายของจีนอยู่ที่พยายามจะดึงดูดเงินออมของเอกชน ซึ่งได้เริ่มพองตัวขึ้น ตั้งแต่รัฐบาลปักกิ่งได้ใช้มาตรการให้เสรีภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้น ตั้งแต่หลายปีที่ล่วงมานี้ เงินออมเหล่านี้ส่วนมากถูกเก็บไว้เฉยๆ ในธนาคาร ในครึ่งแรกของปี 1984 เงินฝากประเภทออมทรัพย์ได้เพิ่มขึ้นกว่าปีกลายถึง 13% รวมเป็นเงินราว 40 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งถัวเฉลี่ยแล้วพลเมืองแต่ละคนมีเงินออมคนละ 40 ดอลลาร์

แต่ในขณะที่จีนพยายามหาเงินทุนในประเทศนั่นเอง เงินตราของจีนก็ค่อยๆ อ่อนตัวลง เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ การซื้อขายเงินหยวนมีอัตราราว 2.62 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์ ซึ่งนับว่าตกลงไปในปีนี้ราว 30%

จีนยังคงระมัดระวังอยู่เป็นอันมากในการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากๆ เพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการพัฒนาการต่างๆ หนี้ต่างประเทศของจีนปัจจุบันนี้มีจำนวนรวมเพียง 3.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนมากเป็นเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และเป็นเงินกู้ระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล นายธนาคารบอกว่า จีนยังสามารถกู้ยืมเงินได้อีกมาก เนื่องจากมีหลักทรัพย์สำรองจำนวนมากทั้งที่เป็นเงินตราต่างประเทศ และทองคำ ซึ่งในไตรมาสที่ 2 ของปี 1984 มีมูลค่ารวมถึง 20 พันล้านดอลลาร์

นายธนาคารหลายคนกล่าวว่า จีนคงจะหันมากู้ยืมเงินจากต่างประเทศในเร็วๆ นี้ ตัวอย่างเช่น คาดว่ารัฐบาลปักกิ่งจะขอกู้ยืมเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายในโคงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่วางแผนไว้แล้วถึง 4 โครงการ ซึ่งนายธนาคารประมาณว่าจะต้องใช้เงินเพื่อซื้อเครื่องอุปกรณ์จากต่างประเทศระหว่าง 10 พันล้านดอลลาร์ ถึง 20 พันล้านดอลลาร์

ตามตัวเลขล่าสุดของทางราชการ รัฐบาลกลางของจีนมีเงินงบประมาณขาดดุลในปี 1983 เป็นจำนวนถึง 2 พันล้านดอลลาร์ มากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 688 ล้านดอลลาร์ไปตั้งเกือบ 3 เท่าตัว

นักเศรษฐศาสตร์บางคนกล่าวว่า จำนวนงบประมาณขาดดุลนี้คงจะบรรเทาขึ้นโดยใช้นโยบายราคาลอยตัวอย่างเสรี ซึ่งได้เริ่มใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 1984 ที่ผ่านมา

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us