บรรดานักธุรกิจ, นายธนาคาร และข้าราชการทั้งหลายทั่วทั้งทวีปเอเชีย ต่างกำลังจบตามองเศรษฐกิจด้วยสายตาที่ระวังอะไร
เพราะในระยะเวลา 2 ปีที่แล้วมา ผู้ซื้อชาวอเมริกันซึ่งได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
และการแข็งตัวของเงินดอลลาร์ ได้สั่งซื้อสินค้าเข้าจากเอเชียเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก
ซึ่งเป็นคุณูปการอย่างสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต้องขึ้นอยู่กับการค้าของภูมิภาคส่วนนี้ตัวอย่างเช่น
ญี่ปุ่นมีเศรษฐกิจขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็วมากในช่วงระยะ 5 ปีที่แล้วมา
แต่ในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียมีความเห็นว่า การขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ซึ่งหมายความรวมไปถึงการขยายตัวของการนำเข้าด้วย จะเฉื่อยช้าลงในปีหน้านี้
ซึ่งก็ย่อมหมายถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเอเชียส่วนใหญ่ต้องลดลงด้วย
อิริค นิคเกอร์ซัน นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารแห่งอเมริกา สาขากรุงโตเกียว
กล่าวว่า "เศรษฐกิจภายในของภูมิภาคส่วนนี้ไม่มีตรงไหนเลยที่นับว่าแข็งแรงพอจะใกล้เคียงกับจุดที่สามารถจะชดเชยกับการตกต่ำของสินค้าส่งออกได้"
หนังสือพิมพ์ "เอเชียน วอลล์สตรีต เจอร์นัล" ได้สัมภาษณ์นักเศรษฐศาสตร์ใน
5 ภูมิภาค เพื่อขอให้คาดคะเนอัตราความเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะปี 1984 และ
1985 ของ 10 ประเทศในเอเชียตะวันออก
สำหรับปี 1984 โดยส่วนรวมแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ประมาณว่าอัตราความเติบโตทางเศรษฐกิจภายหลังจากการปรัปปรุงตัวเลขเงินเฟ้อออกแล้ว
จะอยู่ในอัตราระหว่าง 4.5% ถึง 11% สำหรับทั้งหมด นอกจากประเทศหนึ่งคือ ฟิลิปปินส์
ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศจะหดตัวลง (แทนที่จะขยายตัวขึ้น) ในปีนี้ (1984) เป็นจำนวนมากมายถึง
5.5%
ส่วนในปี 1985 นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า อัตราความเติบโตทางเศรษฐกิจของแทบทุกประเทศจะเฉื่อยช้าลง
การคาดการณ์ในแง่ร้ายเช่นนี้ ประเมินมาจากความเห็นสอดคล้องต้องกันที่ว่า
การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะลดลงระหว่าง 2.5%-3.5% ในปีหน้า (1985)
จากการขยายตัวของปี 1984 ที่คาดว่าจะอยู่ในระดับประมาณ 7% อันจะทำให้อุปสงค์เพื่อสินค้าออกของประเทศในเอเชีย
(ซึ่งส่วนมากเป็นวัตถุดิบและวัสดุหัตถกรรม) เหือดแล้งลง (อัตราความเติบโตทางเศรษฐกิจนี้วัดจากปริมาณผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ
หรือ GDP อันเป็นมูลค่ารวมของผลผลิตที่เป็นสินค้าและบริการ บวกด้วยรายได้จากต่างประเทศของชาติหนึ่งๆ
)
อย่างไรก็ดี มีสัญญาณแสดงว่าเศรษฐกิจของบางประเทศในเอเชียได้ขึ้นถึงยอดสูงสุดของมันแล้ว
เจ้าหน้าที่ราชการใน 3 ประเทศ คือ สิงคโปร์, ไต้หวัน และเกาหลีใต้ คาดว่า
อัตราความเติบโตจะตกต่ำลงในครึ่งหลังของปีมากกว่าในครึ่งแรกของปี เหตุผลคือ
สหรัฐอเมริกาจะสั่งซื้อสินค้าจากประเทศเหล่านี้น้อยลง
แต่กระนั้นก็ตาม อัตราความเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดต่ำลง ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเลวร้ายทั้งหมด
เพราะปริมาณการค้าขนาดใหญ่โตได้เคยผลักดันบางประเทศ อย่างเช่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้
ไปสู่ความเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับที่ยากจะบรรลุถึงได้ง่ายๆ
หลายประเทศในเอเชียต่างวางแผนเพื่อรักษาไว้ซึ่งระดับความเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตนได้บรรลุถึงแล้วนั้นเอาไว้
และเพื่อให้เศรษฐกิจของตนได้มีเสถียรภาพมากยิ่งๆ ขึ้นไป
ตัวอย่างเช่น ประเทศไทย ได้พยายามหน่วงเหนี่ยวความเติบโตทางเศรษฐกิจเอาไว้
โดยสกัดกั้นการขยายตัวของสินเชื่อ รัฐบาลไทยกำลังพยายามแก้ไขสถานการณ์ของปี
1983 ที่มีการให้กู้ยืมเงินมากเกินไป จนทำให้มีการสั่งซื้อสินค้าเข้ามากขึ้น
และดังนั้นจึงเกิดมีการขาดดุลทางการค้าอย่างน่าเป็นห่วง และทำให้บัญชีกระแสรายรับของประเทศจำต้องขาดดุลไปด้วย
ไม่มีใครคาดคะเนว่า เศรษฐกิจในทวีปเอเชียจะประสบกับภาวะหดตัวอย่างกว้างขวาง
นักเศรษฐศาสตร์บางคนในภูมิภาคทั้ง 5 ของเอเชีย คาดว่า บางประเทศที่จำเป็นต้องพึ่งพาโภคภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ
ดังเช่น ประเทศมาเลเซีย, อินโดนีเซีย และประเทศไทย อัตราความเติบโตทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
มร.นิคเกอร์ซัน นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารแห่งอเมริกา สาขากรุงโตเกียว กล่าวว่า
"เราคาดว่าในปีหน้านี้ ราคาสินค้าอุตสาหกรรมบางอย่างจะสูงขึ้นบ้างพอสมควร"
ทั้งนี้รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมบางอย่างของท้องถิ่นด้วย ดังเช่น น้ำมันพืช
และแร่บางอย่าง
และราคาที่มั่นคงยิ่งขึ้นนี้ อาจช่วยให้ฟิลิปปินส์สามารถกลับฟื้นคืนหลังมายืนหยัดอยู่บนขาของตนเองได้อีกก็ได้
วิลลาร์ด ชาร์พ นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร เชส แมนฮัตตัน ประจำภูมิภาคเอเชีย
กล่าวว่า "ถ้าราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกลับฟื้นคืนสู่ระดับที่สมบูรณ์ดีอีกครั้งหนึ่งแล้วเศรษฐกิจใหม่ภูมิภาคนี้จะไม่เลวเลย"
ต่อไปนี้ เป็นรายงานการสำรวจภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาคส่วนนี้ของโลก และลู่ทางที่อาจเป็นไปได้สำหรับปี
1985
เกาหลีใต้
พลังขับดันเบื้องแรกที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศนี้สามารถเจริญเติบโตขึ้นมานั้นก็คือการส่งสินค้าออก
แต่ปัจจุบันนี้ใบสั่งซื้อสินค้าส่งออกจากประเทศนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใบสั่งซื้อจากสหรัฐอเมริกา
ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่าเพียงราว 40% ของมูลค่าสินค้าส่งออกทั้งหมดของเกาหลีใต้เท่านั้น
ทั้งนี้จากการประมาณของนักเศรษฐศาสตร์
ผลก็คือ ภายหลังจากประสบความรุ่งเรืองในครึ่งแรกของปี 1984 แล้ว พอย่างเข้าครึ่งปีหลังความเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ก็เริ่มเฉื่อยช้าลง
และมีท่าว่าจะตกต่ำต่อไปในปี 1985
สถาบันพัฒนาเกาหลี อันเป็นแหล่งสติปัญญาทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้ประมาณว่า
ในปี 1984 การขยายตัวเติบโตของผลิตภัณฑ์รวมประชาชาติ (GNP) จะสูงถึง 7.7%
แต่ในปี 1985 จะตกลงมาเหลือ 7.4%
ตามตัวเลขสถิติของธนาคารแห่งประเทศเกาหลี ได้แสดงตัวเลขเปรียบเทียบการขยายตัวเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติไว้ว่า
เมื่อปี 1983 สูงขึ้นไปถึง 9.5% และในครึ่งแรกของปี 1984 ลดลงมาเหลือ 8.4%
ซู ซาง ม๊อก รองประธานสถาบันพัฒนาเกาหลี กล่าวว่า "เราคาดว่ามันจะเฉื่อยช้าลงบ้าง
แต่ความเติบโตทางเศรษฐกิจจะยังไม่ถึงกับต่ำไปกว่าระดับ 7%"
เมื่อการส่งออกของเกาหลีได้เริ่มเฉื่อยช้าลงเมื่อ 2 ปีก่อน นักวางแผนของเกาหลีได้พยายามปลุกปล้ำให้มีการขยายตัวด้วยการแผ่ขยายเศรษฐกิจภายในประเทศ
แต่บัดนี้ไม่มีแผนการดังกล่าววางอยู่บนโต๊ะเลย คาดว่ารัฐบาลคงจะใช้วิธีปิดกั้นในปีหน้านี้
โดยปิดกั้นทั้งปริมาณเงินตราและปริมาณสินเชื่อเพื่อการบริโภค ทั้งนี้เพื่อสกัดกั้นการนำเข้า
และปรับปรุงการขาดดุลในบัญชีกระแสรายวันของประเทศให้ลดน้อยลง
ปีนี้ (1984) การส่งออกโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากภาคอุตสาหกรรมการต่อเรือ
อันเป็นอุตสาหกรรมแขนงหนึ่งในจำนวนไม่กี่แขนงที่ประสบกับการตกต่ำ แต่ตรงข้าม
การซ่อมแซมเรือกลับเป็นกิจการที่เข้มแข็งดี
สิงคโปร์
การฟื้นคืนตัวสู่ความแข็งแรงทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากต่อการขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะครึ่งปีแรกของสิงคโปร์
แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์มีลักษณะเป็นหย่อมๆ ไม่สม่ำเสมอกัน
โดยมีภาคเศรษฐกิจใหญ่ๆ หลายภาคที่กลับล้าหลังลงไป
ในระยะครึ่งแรกของปี 1984 ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศที่ปรับปรุงตัวเลขเงินเฟ้อแล้วของสิงคโปร์ขยายตัวขึ้นอีก
9.7% เทียบกับการขยายตัวของปีก่อนที่มีเพียง 6.4%
นักเศรษฐศาสตร์ในภูมิภาคนี้ประมาณว่า การขยายตัวเติบโตของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศของสิงคโปร์
ในปี 1984 นี้ จะอยู่ในระหว่าง 8.7% ถึง 9.5% และในปี 1985 นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า
การขยายตัวเติบโตของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศจะอยู่ระหว่าง 7% ถึง 8%
บรรดาผู้นำของสิงคโปร์ต่างก็มองเห็นลู่ทางอนาคตอย่างเดียวกันนี้
ในการกล่าวคำปราศรัยเมื่อเร็วๆ นี้ นายกรัฐมนตรี ลี กวนยู กล่าวว่า เขาคาดว่า
ความเติบโตของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศในครึ่งหลังของปี 1984 "จะลงต่ำลงกว่าในครึ่งแรกของปี"
ส่วนในปี 1985 นั้น เขากล่าวว่า ลู่ทางยังคงไม่แน่นอน "ส่วนใหญ่เนื่องมาจากการขึ้นสูงอย่างไม่รู้จักหยุดยั้งของอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ
ประกอบกับความคิดในทางกีดกันสินค้าต่างประเทศในตลาดส่งออกรายใหญ่ๆ"
ในครึ่งแรกของปี การขนส่งและการคมนาคม มีส่วนขยายตัวขึ้นเกือบ 22% ของการขยายตัวของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ
สินค้าอุตสาหกรรมมีส่วน 21%, บริการทางการเงินและธุรกิจมีส่วน 21% และการก่อสร้าง
มีส่วน 16%
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่รัฐบาลคาดว่า แม้รัฐบาลจะมีโครงการสร้างรถไฟใต้ดินเป็นมูลค่าถึง
2.3 พันล้านดอลลาร์ก็ตาม แต่การขยายตัวของงานก่อสร้างก็จะเฉื่อยช้าลง เหตุที่ประเมินผลในทางลดลงเช่นนี้ก็เพราะ
สิงคโปร์กำลังอิ่มตัวในเรื่องสำนักงาน, ร้านค้า และที่พักอาศัย
อุตสาหกรรมทางทะเล เนื่องจากต้องประสบกับการแข่งขันอย่างหนักหน่วงจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
สิงคโปร์กำลังถูกตีจนต้องถอยร่น ลู่ทางที่อุตสาหกรรมด้านนี้จะต้องสงบเงียบไปอีกนาน
ทำให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติของสิงคโปร์ต้องรีบวางแผนเพื่อปรับปรุงโครงสร้างใหม่ของเศรษฐกิจภาคนี้
สำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งมีส่วนมากกว่า 40% ของสินค้าออกทั้งหมดนั้นก็คาดว่า
จะประสบกับปัญหายุ่งยากในอนาคตเช่นเดียวกัน ราคาน้ำมันในตลาดโลกกำลังลดต่ำลงในขณะที่การกลั่นน้ำมันภายในประเทศกำลังต้องเผชิญการแข่งขันกันมากขึ้นกับกลุ่มประเทศในอ่าวเปอร์เซีย
และประเทศเพื่อนบ้าน
ไต้หวัน
ไต้หวันเป็นประเทศเดียวที่คาดว่าจะบรรลุความเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราสูงที่สุดในทวีปเอเชีย
ในปี 1984 นี้
แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนกล่าวว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวันได้เริ่มเคลื่อนคล้อยถดถอยลงในครึ่งหลังของปี
และจะยังคงตกต่ำต่อไปในปี 1985
ตามความคาดหมายของสภาพัฒนาและวางแผนเศรษฐกิจของรัฐบาลไต้หวัน เศรษฐกิจของประเทศในปี
1984 จะขยายตัวเติบโตถึง 10% แต่ในปี 1985 นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า ความเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ในอัตราระหว่าง
5.7% ถึง 8.5%
การที่คาดคะเนว่าจะลดลงเช่นนี้ส่วนใหญ่ก็เนื่องมาจากการลดลงของสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา
มีรายงานข่าวว่า อุตสาหกรรมส่งออกบางประเภท เช่น รองเท้า, สิ่งทอ และแว่นตากันแดด กำลังได้รับใบสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงแล้ว
แม้กระนั้นก็ตาม ก็คาดว่าความเติบโตทางเศรษฐกิจของปีนี้ (1984) มีท่าว่าจะล้ำหน้าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้แต่เดิม
7.5% ออกไปมาก อุตสาหกรรมส่งออกส่วนใหญ่รวมทั้งเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอ
ทั้งหมดล้วนก้าวไปได้ไกล
อย่างไรก็ดี การขายและการลงทุนภายในประเทศได้ตกต่ำลง ธุรกิจหลายประเภทได้เริ่มถดถอยลง
ดังเช่น การทำไม้, ปูนซีเมนต์ และอุตสาหกรรมพื้นฐานอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่สนองความต้องการให้แก่เศรษฐกิจภายในประเทศ
ถึงแม้ว่าการขายสำหรับการส่งออกในปีนี้จะสูงขึ้นบ้าง แต่กำไรของบริษัทต่างๆ
ก็ถูกบีบคั้นจากต้นทุนที่สูงขึ้น และในอุตสาหกรรมหลายแขนงกำลังมีการตัดราคากันอย่างเอาจริงเอาจัง
ตามรายงานทางสถิติของรัฐบาลแสดงว่า อัตราส่วนของกำไรบริษัทต่อรายได้ของบริษัท
อยู่ในอัตรา 6% มาตั้งแต่ปี 1983
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ กรณีของบริษัท อาฟเนต อินเตอร์แนชนัล (ไต้หวัน"
จำกัด อันเป็นบริษัทผลิตเครื่องออดิโอ จอห์น เลน กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท
อาฟเนต ของสหรัฐฯ ในไต้หวัน กล่าวว่า ในปี 1984 สินค้าส่งออกของบริษัทนี้จะสูงกว่าปีก่อนถึง
35% แต่ตรงข้ามกำไรกลับต้องลดลงถึง 20%
เขากล่าวว่า "ปีนี้ (1984) เป็นปีแย่ที่สุดของเครื่องออดิโอในช่วง
7-8 ปีที่แล้วมา พวกเรายังไม่อาจรู้ได้ถึงจำนวนแน่นอนว่า เราจะสามารถขายให้ผู้สั่งซื้อได้เป็นจำนวนเท่าใด"
ฮ่องกง
ความหวั่นวิตกในอนาคตของฮ่องกงภายหลังจากจีนได้รับมอบไปแล้วในปี ค.ศ.1997
ได้ก่อให้เกิดความละเหี่ยเพลียใจเกี่ยวกับชะตากรรมของอาณานิคมแห่งนี้ตลอดเวลา
กว่า 2 ปีที่แล้วมา
แต่ความไม่แน่นอนในอนาคตทางการเมืองนี้ ก็ไม่อาจขัดขวางความคึกคักในการส่งออกที่กระตุ้นภาคอุตสาหกรรมของอาณานิคมให้กลับฟื้นคืนชีวิตชีวาขึ้นมาในปี
1984 อีกได้ไม่ และบัดนี้ โดยที่จีนกับอังกฤษได้เซ็นสัญญาความตกลงให้คำมั่นสัญญาที่จะรักษาสถานภาพของฮ่องกงให้คงอยู่ในกรอบของระบบทุนนิยมหลังปี
1997 นักธุรกิจและนักเศรษฐกิจคาดว่า เศรษฐกิจของฮ่องกงจะได้รับการปฏิรูปให้ดียิ่งขึ้น
เซอร์ จอห์น เบรมริดจ์ รัฐมนตรีฝ่ายการคลังของรัฐบาลอาณานิคม ซึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่แล้วมาได้คาดคะเนว่า
ความเติบโตของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศของฮ่องกงในปี 1984 จะเติบโตขึ้นเพียงราว
6.3% นั้น แต่แล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่แล้วมานี่เอง กลับบอกว่า ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศของฮ่องกงจะขยายตัวออกไปได้ถึง
8.1% เป็นมูลค่าถึง 31.77 พันล้านดอลลาร์ โปรดเทียบกับเมื่อปี 1983 ที่ขยายตัวได้เพียง
5.2% 1982 ขยายเพียง 2.4%
เซอร์ จอห์น ยังกล่าวต่อไปว่า "ตัวเลขสถิติของปีนี้ (1984) เป็นคุณอย่างมาก
โดยเฉพาะต่อสภาพแวดล้อม ภาวะเช่นนี้นับว่าเกิดขึ้นได้ยากมาก แม้ในสภาพสังคมที่ปรวนแปรได้ง่ายอย่างฮ่องกง"
อย่างไรก็ดี สำหรับปี 1985 การขยายตัวเติบโตคาดว่าจะเฉื่อยช้าลงมาอยู่ในระหว่าง
5% ถึง 7% ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ก็เนื่องมาจากการคาดคะเนว่าสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาจะลดลง ซึ่งคาดว่า
จะเป็นจำนวนถึงราว 40% ของสินค้าขายส่งออกโพ้นทะเลของอาณานิคมแห่งนี้
การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างทะมัดทะแมงของฮ่องกงในปี 1984 นี้ ที่ก้าวรุดหน้ามาได้ก็เนื่องจาก
การส่งออกของสินค้าประเภทเสื้อผ้า และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ชนิดต่างๆ ซึ่งส่วนมากส่งไปยังสหรัฐอเมริกา
แต่อย่างไรก็ดี
ลูกค้าที่ขยายปริมาณการซื้อผลิตภัณฑ์สินค้าจากฮ่องกงอย่างรวดเร็วมากที่สุดนั้น
ได้แก่ จีน และโอกาสส่งสินค้าออกไปขายให้แก่ผู้ปกครองในอนาคตของอาณานิคมแห่งนี้
จะยังคงขยายตัวต่อไป ไม่ว่าภาวะตลาดแห่งอื่นของฮ่องกงจะเป็นอย่างไรก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ นักอุตสาหกรรมผู้ส่งสินค้าออกจึงขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นในการตั้งโรงงาน
และการจัดซื้อเครื่องจักรกลต่างๆ ในช่วงระยะ 7 เดือนแรกของปี 1984 การลงทุนด้านอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้นราว
40% รวมเป็นจำนวนลงทุน 1.45 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับในปี 1983 ทั้งปี ที่นักธุรกิจในอาณานิคมได้ลงทุนในโรงงานใหม่ๆ
และเครื่องจักรกลถึงราว 1.92 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งก็ยังลดลงไปกว่าระดับของปี
1982 ตั้ง 1%
ความอ่อนแอที่เห็นได้ชัดในแขนงเศรษฐกิจของประเทศคงมีก็แต่ตลาดหลักทรัพย์อย่างเดียวเท่านั้น
ญี่ปุ่น
เศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่ปี 1979 นักเศรษฐศาสตร์ทั้งจากภาครัฐบาลและภาคเอกชนต่างคาดว่า
ในปีการเงินซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม 1985 นี้ ผลิตภัณฑ์รวมประชาชาติ
จะมีอัตราขยายเติบโตหลังจากปรับปรุงตัวเลขเงินเฟ้อออกแล้ว เป็นจำนวน 5.3%
ซึ่งเป็นการเติบโตที่รวดเร็วกว่าการขยายตัวของปีก่อนนี้ที่มี 3.7% อย่างเห็นได้ชัด
แรงผลักดันสำคัญของความเติบโตนี้ ก็ยังคงเป็นสินค้าออก การลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมและเครื่องจักรกลในประเทศ
ยังคงก้าวรุดหน้าต่อไป แต่ส่วนมากของการลงทุนนั้นเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรกลต่างๆ
นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารสุมิโตโม กล่าวว่า ในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวซึ่งได้ฟื้นขึ้นตั้งแต่เกือบ
2 ปีมาแล้ว อุตสาหกรรมเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ได้เพิ่มขึ้นถึง 40% ของสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด
สินค้าส่งออกทั้งหมดในครึ่งแรกของปีการเงินปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นกว่าเมื่อปีกลาย
18%
การลงทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ดังเช่น บริษัทฟูจิตสุ
จำกัด, บริษัทฮิตาชิ จำกัด และบริษัท โตชิบา คอร์ปอเรชั่น เหล่านี้ สำนักงานวางแผนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นคาดว่ากำลังนำที่จะทำให้เงินลงทุนของบริษัทที่ใช้ไปในปีการเงินที่จะสิ้นสุดลงในวันที่
31 มีนาคม 1985 นี้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 8.1% ของปีก่อน
อุปสงค์สำหรับบ้านพักอาศัย และการใช้จ่ายในการบริโภคได้ลดลง แต่นักวิเคราะห์บางคนคาดว่า
การใช้จ่ายเหล่านี้จะดีขึ้นในไม่ช้านี้
คาซุโอะ กีดะ หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารสุมิโตโม กล่าวว่า "นักเศรษฐศาสตร์ส่วนมากคาดว่า
การส่งออกจะเฉื่อยช้าลง และการบริโภคจะเพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ ในระหว่างครึ่งแรกของปีหน้า
เราจะได้เห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีสมดุลมากยิ่งขึ้น"
แต่ถึงแม้กระนั้นสำนักงานวางแผนเศรษฐกิจเห็นว่า ในปีหน้าการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียงราว
3.5% เท่านั้น ทัศนะดังกล่าวนี้ สถาบันวิจัยโนมูระ อันเป็นสถาบันของเอกชน
เห็นด้วย
นักเศรษฐศาสตร์บางคนอธิบายอัตราความเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้ว่า
เป็นเสมือนหนึ่งสัญญาณที่แสดงว่าญี่ปุ่นได้หลุดพ้นจากความเจ็บปวดอันเนื่องมาแต่วิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่
2 แล้ว แต่นักเศรษฐศาสตร์บางคนแสดงความวิตกเกี่ยวกับลู่ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยหวังว่า ความเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 1984 นี้ จะมีราว
6% หลังจากหักเงินเฟ้อแล้ว เทียบกับปี 1983 ที่ขยายตัวเพียง 5.8% แต่ข้ออ้างเช่นนี้ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า
เป็นการเล็งผลเลิศมากเกินไป เพราะการลดดิ่งลงมาแห่งอัตราการขยายตัวของสินเชื่อ
ซึ่งส่งผลให้การผลิตด้านอุตสาหกรรมต้องเฉลี่ยช้าลง มีท่าว่าจะยับยั้งความเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ให้มากไปกว่า
5.5% ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่ที่สุดของประเทศ ประมาณว่าการขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจจะมีอย่างมากเพียงราว
5% เท่านั้น แต่อาจเฉื่อยช้าลงต่ำกว่านี้จนเหลือเพียง 4.7% ก็ได้
แต่ทั้งๆ ที่มีการคาดหมายในทางที่ไม่ค่อยดีนักเช่นนี้ เจ้าหน้าที่รัฐบาลก็ยังเชื่อว่า
เสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจกำลังดีขึ้น โดยยอมเสียสละความเติบโตทางเศรษฐกิจบางส่วน
นักเศรษฐศาสตร์บางคนคาดคะเนว่า อัตราความเติบโตจะสูงขึ้นในปีหน้า ระหว่าง
6% ถึง 6.3% ธนาคารแห่งประเทศไทยอันเป็นธนาคารกลางของประเทศ กล่าวว่า การลดค่าของเงินที่กระทำไปเมื่อเร็วๆ
นี้ จะผลักดันให้ความเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 1985 สูงกว่าปีแล้วมาเล็กน้อย
คือ สูงขึ้นถึงราว 6.5%
นักเศรษฐศาสตร์ของไทยให้ข้อสังเกตว่า เมื่อปี 1983 ความเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยก็กะโผลกกะเผลกอยู่แล้ว
แต่ความเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นแทนที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการส่งสินค้าออกที่รัฐบาลก็สนับสนุนส่งเสริมอยู่แล้วเป็นประจำ
กลับปรากฏว่าการขยายตัวเติบโตของปี 1983 ส่วนใหญ่กลายเป็นเรื่องการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสินเชื่อภายในประเทศไทย
ซึ่งทำให้มีสินค้าเข้ากลับมายิ่งขึ้นไปอีก ผลก็คือ มีการค้าเพิ่มมากขึ้นก็จริง
แต่บัญชีกระแสรายรับของประเทศกลับต้องขาดดุลลงไปเป็นอันมาก ในขณะที่สินค้าส่งออกต้องลดลงถึง
10% ทั้งๆ ที่บรรยากาศทางการค้าของตลาดโลกอำนวยให้เป็นอันมาก
ในปี 1984 ประเทศไทยจำเป็นต้องมุ่งหน้าลดปริมาณการขยายตัวของสินเชื่อลงมา
ซึ่งจะส่งผลทำให้การขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจลดต่ำลง แม้ว่าการขาดดุลชำระเงินจะลดน้อยลงด้วยก็ตาม
สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยได้รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า การที่ความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต้องลดต่ำลงไปในปีนี้
"ถือว่าสอดคล้องกับความจำเป็นที่จะต้องเข้มงวดกวดขันในการจัดการทางการเงินและการคลัง
เพื่อลดปริมาณการขาดดุลทางการค้า, ลดการขาดดุลชำระเงิน และลดการขาดดุลทางการค้า
เพื่อรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย"
แม้การส่งออกในปี 1984 จะสูงขึ้นบ้างก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่ายังไม่สมหวังทีเดียว
เจ้าหน้าที่รัฐบาลคาดว่า การลดค่าของเงินบาทลง 14.8% เมื่อเร็วๆ นี้ คงจะช่วยให้การส่งออกดีขึ้นในปี
1985 ระหว่าง 15% ถึง 20%
ในปีนี้ (1984) นักอุตสาหกรรมและผู้ค้าปลีก ต้องประสบกับความยากลำบากอยู่บ้าง
ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากการจำกัดปริมาณสินเชื่อดังกล่าวแล้ว และส่วนหนึ่งจากภาวะการลดค่าเงินบาท
มาเลเซีย
ภายหลังจากความเติบโตทางเศรษฐกิจได้ตกต่ำมาเป็นเวลานานถึง 2 ปีแล้ว มาเลเซียก็เริ่มตีตื้นขึ้นมาได้อีก
ในปี 1984 คาดว่า เศรษฐกิจมาเลเซียจะขยายตัวเติบโตขึ้นราว 6.9% เทียบกับความเติบโตของปีก่อนที่อยู่ในระดับ
5.8% และปี 1982 มีเพียง 5.6% การขยายตัวที่เป็นพลังนำในปี 1984 นี้ได้แก่
การผลิตในภาคอุตสาหกรรม, ภาคเกษตรกรรม และภาคน้ำมัน ถึงแม้ว่าการส่งออกมีท่าว่าจะลดลงในครึ่งหลังของปี
แต่ก็คาดว่า ภาคเศรษฐกิจส่วนมากจะดีขึ้นในปี 1984 นี้ ยิ่งกว่าที่เป็นมาในปี
1983
ในปีนี้ มาเลเซียได้เพิ่มผลผลิตน้ำมันของตนขึ้นอีก 17% เป็นวันละ 440,000
บาร์เรล ส่วนการผลิตก๊าซธรรมชาติได้เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว การเกษตรกรรม
โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์, การประมง และการป่าไม้ ได้เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาจากการตกต่ำลงไปถึง
2.4% เมื่อปีก่อนนี้ และคาดว่าจะขยายตัวขึ้นราว 3.4% ในปีนี้ การผลิตทางเกษตรกรรมมีส่วนสัดราว
21% ของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศของมาเลเซีย
ตัน เสี่ยว สิน ประธานของกลุ่มบริษัท ไซม์ ดาร์บี้ กล่าวว่า แขนงงานกสิกรรมด้านต่างๆ
ของบริษัทในเครือของเขา "ช่วยให้กลุ่มบริษัทสามารถก้าวเดินไปได้ตลอดระยะเวลาแห่งภาวะเศรษฐกิจหดตัวของโลก
ที่เพิ่งผ่านพ้นมาเมื่อเร็วๆ นี้" อย่างไรก็ดี เขากล่าวว่า เนื่องจากเศรษฐกิจของโลกมีท่าว่าจะเฉื่อยช้าลงอีก
ทัศนะอนาคตของบริษัท "จึงยังดูไม่สู้จะแจ่มใสนัก"
การผลิตทางอุตสาหกรรมในระยะ 5 เดือนแรกของปี 1984 ได้เพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนถึง
8.7% การผลิตน่าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกหลายประเภทด้วยกัน
เช่น เครื่องจักรกลและเครื่องใช้ที่เดินด้วยไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์เคมี และผลิตภัณฑ์น้ำมันปิโตรเลียมในช่วง
5 เดือน อุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคนิคสูงได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 19% ผลิตภัณฑ์ที่สื่อไฟฟ้า
เพิ่มขึ้น 31%, เครื่องทรานซิสเตอร์ชนิดต่างๆ เพิ่มขึ้น 69%
แต่งานก่อสร้างยังคงอยู่ระดับเดิมในปีนี้ และมีสัญญาณชี้บอกว่าจะต้องประสบกับความยากลำบาก
ในกัวลาลัมเปอร์คาดว่า จะมีเนื้อที่สำหรับใช้เป็นสำนักงานที่เกินความต้องการถึง
4 ล้านตารางฟุต (372,000 ตารางเมตร) ในปี 1987 ดังนั้น จึงแสดงว่าความคึกคักในด้านงานก่อสร้างพาณิชย์
กำลังสิ้นสุดลง
ส่วนอุตสาหกรรมอย่างอื่นๆ เช่น การทำไม้, การทำสวนยาง และการผลิตเครื่องอุปกรณ์การขนส่ง
กำลังได้รับความกระทบกระเทือนจากการอ่อนตัวลงของความต้องการในประเทศ ประมาณ
1 ใน 3 ของบริษัทอุตสาหกรมผลิตสินค้าทั้งหมด เปิดเดินเครื่องจักรไม่ถึง 71%
ของสมรรถนะของเครื่องจักรที่มีอยู่ในระยะครึ่งแรกของปี
อินโดนีเซีย
อินโดนีเซียค่อยๆ โผล่ขึ้นมาอย่างช้าๆ จากปลักแห่งภาวะหดตัวทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี
1982 เมื่อความเติบโตของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศได้ตกต่ำลงไปจนเหลือเพียง 2.2%
ในปีถัดมาการขยายตัวของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศได้กระเถิบขึ้นมาเป็น 4.2% และในปี
1985 นี้ รัฐบาลอินโดนีเซียคาดว่า ความเติบโตทางเศรษฐกิจจะขยายขึ้นมาอยู่ระหว่าง
4.5% ถึง 5% ซึ่งส่วนใหญ่เนื่องมาจากการทำนาได้ผลดี และตลาดน้ำมันมีเสถียรภาพดีขึ้น
โดโน อิสกันดาร์ โจโชสุโบรโต หัวหน้าสำนักงานวางแผนของกระทรวงการคลัง กล่าวว่า
"เราคาดว่า ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศจะดีขึ้นในปีนี้ (1984) ดินฟ้าอากาศก็อำนวย
และการเก็บเกี่ยวก็ได้ผลดี" การผลิตทางเกษตรมีสัดส่วนราว 25% ของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ
แต่ใช้แรงงานได้เพียงราวครึ่งหนึ่งของพลังแรงงานทั้งหมด
ตามรายงานประจำปีของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ว่าด้วยภาคกิจการน้ำมัน ปรากฏว่าอินโดนีเซียมีรายได้จากการส่งน้ำมันและแก๊สออกนอกได้น้อยลงไปปี
1983 และในครึ่งแรกของปี 1984
สาเหตุสำคัญที่ทำให้รายได้ลดลงนี้เนื่องมาจากการตกต่ำของอุปสงค์น้ำมันโดยทั่วไป
และการที่กลุ่มประเทศองค์การผู้ส่งน้ำมันออก (โอเปก) ได้แข่งกันตัดราคาในช่วงปี
1983 น้ำมันและแก๊สมีสัดส่วนราว 21% ของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศของอินโดนีเซีย
แต่ทำรายได้ให้รัฐบาลได้ถึง 65% ของงบประมารรายได้ทั้งหมด
ปัญหาตลาดน้ำมันยังคงเป็น "ถ้าหาก" ตัวสำคัญอยู่ในแผนเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย
รายได้จากการส่งออกน้ำมันและแก๊สในปีการงานที่สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 มีนาคม
1984 ที่ล่วงมานี้ ปรากฏว่าตกต่ำไปกว่าปีก่อนถึง 3.9% คงเหลือเพียง 6.88
พันล้านดอลลาร์ และตามรายงานของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ คาดว่า รายได้สำหรับปีการเงินปัจจุบันยังจะตกต่ำลงไปอีกราว
1.9% เหลือเพียง 6.75 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น ส่วนรายได้สำหรับปีการเงินที่จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่
1 เมษายน 1985 คาดว่าจะสูงขึ้นถึง 13% เป็นจำนวนเงิน 7.64 พันล้านดอลลาร์
แต่ทั้งหมดนี้มีข้อแม้ว่า หากราคาน้ำมันอยู่ในระดับคงที่ นักเศรษฐศาสตร์ของรัฐบาลอินโดนีเซียประมาณว่า
ทุกๆ 1 ดอลลาร์แห่งความเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันต่อ 1 บาร์เรล ย่อมหมายความว่า
จะทำให้รายได้ของอินโดนีเซียเปลี่ยนแปลงไปด้วย เป็นมูลค่าถึง 300 ล้านดอลลาร์
สำหรับการผลิตทางอุตสาหกรรมภายในประเทศยังคงเฉื่อยช้าต่อไป ที่ปรึกษาทางธุรกิจผู้หนึ่งกล่าวว่า
"สำหรับบริษัทส่วนมากแล้ว ปี 1984 เป็นปีแห่งความยากแค้น ที่จะต้องตัดทอนรายจ่ายลงอย่างมาก
และจะต้องประเมินคิดหน้าคิดหลังให้รอบคอบ" คงมีแต่อุตสาหกรรมผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ
เช่น พวกสิ่งทอต่างๆ และพวกไม้อัด ที่มีภาษีดีกว่าอุตสาหกรรมอย่างอื่น
ส่วนตลาดในประเทศยังคงตกต่ำซบเซา และไม่มีท่าว่าจะกระเตื้องดีขึ้นในระยะใกล้ๆ
นี้
สุบากิโอ วีรโชตโมดจิโอ ผู้อำนวยการบริษัท ป.ท. แอสตรา อินเตอร์แนชนัล
ซึ่งเป็นผู้ประกอบและจำหน่ายรถยนต์, รถจักรยานยนต์ และเครื่องอุปกรณ์การก่อสร้าง
กล่าวว่า "ในตลาดไม่มีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้นเลย อาจจะในปี 1987 หรือ 1988
ที่การขายมีท่าว่าจะกระเตื้องขึ้นบ้าง"
ฟิลิปปินส์
ฟิลิปปินส์เป็นประเทศเดียวของชาติต่างๆ ในเอเชียตะวันออก ที่เศรษฐกิจจะหดตัวลงในปี
1984 ที่อาจเป็นประมาณมากกว่า 5%
วิเซนเต วัลเดเพนญัส รัฐมนตรีฝ่ายวางแผนเศรษฐกิจ กล่าวว่า "เราต้องฟันฝ่าพายุร้อนตลอดเวลา
15 เดือนที่แล้วมาเราไม่เคยพบเห็นกับภาวะเช่นนี้มาก่อนเลย"
ยังมองไม่เห็นหนทางแห่งการสิ้นสุดของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ตั้งแต่การฆาตกรรม
เบนิโญ อาคิโน ผู้นำฝ่ายค้าน เมื่อเดือนสิงหาคม 1983 เป็นต้นมา และสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก
เมื่อรัฐบาลฟิลิปปินส์ยอมรับในอีก 2 เดือนต่อมาว่า รัฐบาลไม่สามารถชำระหนี้ต่างประเทศที่มีอยู่ได้
เมื่อเดือนที่แล้วฟิลิปปินส์ได้ทำความตกลงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
ตามโครงการฟื้นฟูบูรณะเศรษฐกิจ ซึ่งในไม่ช้าก็ช่วยให้ได้เงินกู้ก้อนใหม่มาให้แก่เศรษฐกิจของประเทศที่หิวกระหายดอลลาร์
แต่เศรษฐกิจก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ เพราะมาตรการอดออมที่บงการมาให้โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
ย่อมหมายถึงการสร้างความเจ็บปวดให้แก่ประชาชนฟิลิปปินส์รุนแรงยิ่งขั้นไปอีก
โดยมีการเก็บภาษีใหม่ๆ และการขึ้นราคาสินค้าอีกหลายอย่างให้แพงหนักยิ่งขึ้นไปอีก
สภาพเช่นนี้จะเกิดขึ้นในปีถัดไป เมื่อรายได้ของแต่ละครอบครัวตกต่ำลงอย่างพรวดพราด
พร้อมกับภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงยิ่งขึ้นด้วย
รัฐบาลเองกล่าวว่า ในปี 1984 นี้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของประเทศจะหดตัวลงไปถึง
5.5% ซึ่งนักเศรษฐกิจอิสระกล่าวว่า การคาดคะเนเพียงแค่นี้ยังเป็นการมองเหตุการณ์ในแง่ดีเสียด้วยซ้ำไป
สำหรับในปีหน้า (1985) รัฐบาลคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติที่เป็นจริงจะขยายตัวขึ้นเพียงราว
1.5% เท่านั้น แต่นักวิเคราะห์เอกชนบางคนยังสงสัยในการคาดคะเนเช่นนั้น นักเศรษฐศาสตร์ฟิลิปปินส์คนหนึ่งกล่าวว่า
"ผมคิดว่าการขยายตัวเติบโตในปี 1985 หากจะมีก็เล็กน้อยมาก ในขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นถึง
2.5% ในแต่ละปี ผมรู้สึกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติโดยคิดถัวเฉลี่ยต่อพลเมือง
1 คน จะตกต่ำลงไปถึง 10% ตลอดระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า"
อุตสาหกรรมที่ประสบกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ได้แก่บริษัทผลิตสินค้าที่ต้องอาศัยส่วนประกอบที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
ในระหว่างที่ฟิลิปปินส์ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอันยาวนานนี้ สินเชื่อทางการค้าเพื่อการนำเข้าตามปกติ
ได้ถูกจำกัดพร้อมๆ กับการก่อหนี้ระยะปานกลางและระยะยาวของประเทศ เงินตราต่างประเทศจะซื้อหาได้บ้าง
ก็แต่เฉพาะเพื่อการนำเข้าของสิ่งจำเป็นเท่านั้น เช่น อาหาร และน้ำมัน
การขายยานพาหนะที่ติดเครื่องยนต์ ซึ่งประกอบขึ้นในฟิลิปปินส์ โดยใช้ส่วนประกอบเครื่องยนต์และเครื่องประกอบตัวถังที่ต้องสั่งเข้ามาจากประเทศนอก
ได้ตกต่ำลงไปถึง 75% ในช่วงเดือนแรกๆ ของปี 1984 เมื่อเทียบกับปีก่อน บริษัท
ฟอร์ด มอเตอร์ ถึงกับประกาศปิดกิจการและถอนตัวออกจากฟิลิปปินส์ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่แล้ว
ที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ดีอยู่พอสมควร ก็มีแต่งานเกษตรกรรมเท่านั้น รัฐบาลแถลงว่า
ในปี 1984 นี้ภาคเกษตรกรรมจะขยายตัวเติบโตขึ้นกว่าปี 1983 ราว 1.5% ในขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะตกต่ำลงไปราว
10% การก่อสร้างตกต่ำลงราว 17% เหมืองแร่และการย่อยหินตกต่ำลง 19% และอุตสาหกรรมผลิตสินค้าแปรรูปตกต่ำลง
8.3%
จีน
ภายหลังจากได้พัฒนาก้าวหน้ามาอย่างรวดเร็วเป็นเวลาหลายปีแล้ว ความเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนก็มีท่าว่าจะเฉื่อยช้าลงในปี
1985
นักเศรษฐศาสตร์ต่างประเทศส่วนมากพยากรณ์ว่า การขยายตัวเติบโตของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศของจีนจะถูกจำกัดอยู่ไม่ถึง
7% ในปี 1985 นี้ จากการขยายตัว 8% ในปี 1984 สาเหตุที่การขยายตัวเฉื่อยช้าลงนี้
ส่วนใหญ่เป็นผลเนื่องมาจากนโยบายใหม่ของจีน ที่มุ่งสร้างความเป็นปึกแผ่นทางเศรษฐกิจในแขนงต่างๆ
รวมทั้งการปิดกิจการที่สิ้นเปลืองเงินโดยใช่เหตุด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อการผลิตผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ
ในระยะ 8 เดือนแรกของปี 1984 ผลผลิตด้านอุตสาหกรรมของจีนได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง
11% เทียบกับเป้าหมายทางราชการของรัฐที่กำหนดความเติบโตไว้เพียง 5% เมื่อปีก่อน
ผลผลิตทางอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้นตั้ง 10% และในปี 1984 ทั้งอุตสาหกรรมเบาและอุตสาหกรรมหนักล้วนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อปี 1983 อุตสาหกรรมหนักได้พัฒนาก้าวหน้าไปรวดเร็วยิ่งกว่าอุตสาหกรรมเบาที่มุ่งหน้าผลิตเครื่องอุปโภคบริโภค
แต่ในปีนั้นต้องประสบกับการขาดแคลนพลังงาน, วัตถุดิบ และการขนส่งอย่างร้ายแรงมากทีเดียว
นักเศรษฐศาสตร์ต่างประเทศกล่าวว่า ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้
ขึ้นอยู่กับความสำเร็จหรือความล้มเหลวของนโยบายเศรษฐกิจอันกว้างขวางที่นำมาใช้เมื่อเดือนที่แล้ว
การปฏิรูปที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการตลาด ได้พุ่งเป้าหมายไปที่การลดการเข้าควบคุมธุรกิจโดยรัฐให้น้อยลง,
ปล่อยให้พลังตลาดเป็นผู้ควบคุมอุปทานและอุปสงค์มากขึ้น, ให้ผู้จัดการมีความรับผิดชอบในผลกำไรหรือการขาดทุนอย่างเต็มที่
และเน้นหนักที่ทรัพยากรทางสมองมากขึ้น
แคลร์ ซัมเมอร์หลิน นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเคมิกัล แบงก์ ในนิวยอร์ก
กล่าวว่าการให้สิ่งจูงใจต่างๆ เหล่านี้อาจส่งผลกระทบในทางที่เป็นคุณแก่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในเวลาอันรวดเร็วได้
เธอได้ให้ข้อสังเกตต่อไปว่า มาตรการให้สิ่งจูงใจทำนองเดียวกับที่ได้จัดให้มีขึ้นในบางเมืองและบางโรงงาน
ได้ช่วยให้เพิ่มผลผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
นโยบายใหม่ของจีนนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดกันมาก่อนเมื่อทศวรรษที่แล้ว
นักการทูตฝ่ายตะวันตกกล่าวว่า ถ้าจะว่ากันไปแล้ว การปฏิรูปเหล่านี้กระทำไปก็เพื่อเผชิญกับการต่อต้านคัดค้านจากพวกซ้ายจัดที่ยึดมั่นอยู่กับหลักนโยบายเสมอภาคเท่าเทียมกันในยุคของ
เหมา เจ๋อ ตุง
แต่ถึงกระนั้นนโยบายเศรษฐกิจใหม่ดังกล่าวนี้ ได้ก่อให้เกิดความหวั่นเกรงในหมู่พลเมืองจีนอยู่ไม่น้อยเหมือนกันว่า
การปล่อยให้ราคาลอยตัวอาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้ออย่างขนานใหญ่ได้ แต่สำหรับภาวะเงินเฟ้อเองนั้น
ทางการจีนยืนยันว่ามีอยู่เพียง 2% เท่านั้น แต่ ซัมเมอร์หลินบอกว่า "ยากที่จะเชื่อ"
ธนาคารเคมิกัล แบงก์ คาดว่าภาวะเงินเฟ้อของจีนในปีหน้า (1985) จะสูงขึ้นมากจนถึง
10% ทีเดียว