|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
องค์กรไหนที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจโดยอิงการตลาดกับสิ่งแวดล้อม ถ้าไม่ใช่เพราะวิสัยทัศน์ของผู้บริหารก็มักจะเริ่มต้นมาจากการประหยัดเงินในกระเป๋าขององค์กรก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อเห็นผลการดำเนินงานก็จะเริ่มขยายไปสู่ส่วนหน้าหรือการตลาดขององค์กรในการนำเสนอสินค้าและบริการสู่ลูกค้าอีกต่อหนึ่ง อย่างน้อยก็เป็นการยืนยันได้ว่า ตัวองค์กรทำแล้วได้ผลมาก่อน
เช่นเดียวกับแนวคิดของบริษัท เฟรเกรนท์ กรุ๊ป ซึ่งเริ่มต้นแนวคิดเรื่องการ จัดการทรัพยากรที่ใช้ในการก่อสร้างให้ลดการสูญเสียค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อนหรือไม่จำเป็น ลงจากขั้นตอนการก่อสร้าง โดยมีวิสัยทัศน์ ของประธานเจ้าหน้าที่บริหารอย่างเจมส์ ดูอัน เป็นผู้กำกับ
“เมื่อก่อนเมืองไทยไม่เคยมีแม้แต่ระบบที่ช่วยประหยัดการใช้วัสดุและต้นทุน ในการก่อสร้าง หรือมีแต่ก็แยกส่วนกันทำระหว่างแผนกต่างๆ ไม่เชื่อมโยงกัน ผมก็เริ่มจากมองปัญหาแล้วพัฒนาระบบขึ้นมาแก้จนมีระบบบริหารงานก่อสร้างที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายของผมเอง”
4-5 ปีหลังดำเนินธุรกิจประสบความสำเร็จมาแล้วจากโครงการไพร์ม ที่สุขุมวิท 71 และสุขุมวิท 11 เจมส์เริ่มวางโพสิชั่นขององค์กรว่า จะต้องมีความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด และเลือกที่จะหยิบ เรื่องกรีนมาทำเป็นแฟลกชิปโปรเจ็กต์เต็มตัวโครงการแรกที่เดอะเซอร์เคิลลิฟวิ่งโปรโตไทป์ บริเวณถนนเพชรบุรี 36
ถ้าถามว่าแนวคิดเรื่องกรีนของเจมส์ เริ่มต้นมาจากอะไร เขาตอบทีเล่นทีจริงว่า “ผมท่องได้ขึ้นใจเลย” นั่นเพราะเป็นคำถาม ที่ถูกถามบ่อยที่สุดในช่วงนี้ แต่ก็อธิบายอย่างจริงจังต่อท้ายว่า
“สิ่งที่ผมคิดจริงๆ เกิดจากสิ่งที่ได้ศึกษามาตลอด 6 ปี ในฐานะนักพัฒนา อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต้องใช้พลังงานและทรัพยากร โดยมีโจทย์ที่ผมเชื่อว่า ศตวรรษ นี้ธรรมชาติมีงานให้มนุษย์ต้องทำอย่างหนึ่ง คือ ทำอย่างไรที่จะหยุดยั้งการทำลายสิ่งแวดล้อม หรือใช้ให้น้อยลงและใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ไม่เช่นนั้นมนุษย์จะต้อง เจอกับต้นทุนที่ต้องสูญเสียมากกว่าการทำสงครามโลก 2 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งการเปลี่ยน แปลงของสภาวะอากาศก็แสดงให้เห็นผลของการทำลายธรรมชาติที่มนุษย์ไม่เคยเห็นได้ชัดเท่าที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมาก่อน”
ที่สำคัญกว่านั้น ดูเหมือนว่าเป็น ประโยคที่เขาท่องได้ขึ้นใจและเตือนตัวเองพร้อมการบอกเล่าเรื่องกรีนให้กับคนอื่นๆ ฟังทุกครั้งก็คือ
“การสร้างภาพเรื่องกรีนก็เท่ากับเอาหินทุบขาตัวเอง”
เพราะยุคนี้หมดยุคโฆษณาสร้างภาพ ถ้าไม่ใช่ตัวจริงผลเสียที่สะท้อนกลับจะรุนแรงยิ่งกว่าผลดี
คำว่ากรีนของเฟรเกรนท์ กรุ๊ป จึงมาจากการทำวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตลอด 6 ปีที่บริษัทก่อตั้งมา โครงการที่ผ่านมามีการนำไอเดียกรีนไปใช้ในบางจุด ส่วนใหญ่ผ่านตัววัสดุก่อสร้าง แต่โครงการนี้เป็นกรีนเต็มรูปแบบโครงการแรก
ตัวอย่าง กรณีระบบ 3D หรือระบบ ที่ใช้ในการบริหารการก่อสร้างที่เจมส์อ้างถึง ก่อนหน้านี้ เป็นการนำระบบดิจิตอลมาช่วย ในการบริหารการก่อสร้าง เรียกว่าระบบ Digital Project (DP) ปัญหาเกิดจากบริษัท ต้องสิ้นเปลืองซ้ำซ้อนจากการก่อสร้าง ทั้งจากการขนวัสดุเข้าไซต์งานและขนขยะจาก วัสดุเหลือทิ้งออกไป ทำให้ต้องเสียต้นทุนจ้างรถขนออกไปอีกเที่ยวละ 600 บาท
“โครงการสุขุมวิท 11 พื้นที่ก่อสร้าง ประมาณ 3 หมื่นกว่าตารางเมตร ทุบขยะทิ้ง 2 พันตัน สิ่งที่เสียคือวัตถุดิบธรรมชาติ ที่นำมาพัฒนาเป็นวัสดุและเงินที่ต้องเสียไปกับค่ากำจัดขยะส่วนเกิน ทำอย่างไรที่เราจะลดต้นทุนจากสิ่งเหล่านี้ได้ DP ที่ใช้ ทำให้เราได้ Building Information Model ผลที่ได้คือ หนึ่ง-คำนวณวัสดุก่อสร้างที่ต้องการได้พอดี สอง-ใช้วัสดุก่อสร้างแบบไหนอย่างไร เท่าไร โค้งอย่างไร เมื่อคำนวณ แล้วก็สั่งตัดมาจากโรงงานได้เลย ประหยัด เวลาไม่เสียของ เช่น ท่อ เหล็ก ไม่ต้องมาตัดที่ไซต์งาน ของเสียแทบไม่มี สาม-ประหยัดเวลา”
สิ่งที่เจมส์เล่าฟังดูไม่ยาก แต่เขาบอกว่า กว่าจะพัฒนาระบบให้สมบูรณ์จนมีทีมงาน DP ของตัวเอง ต้องเริ่มตั้งแต่พัฒนาบุคลากรแต่ละสาขาให้ทำงานร่วมกัน เป็นทีม สรุปแล้วระบบนี้ช่วยบริษัทประหยัด ต้นทุนที่เป็นค่าใช้จ่ายรวมกันลงได้ 30%
นั่นคือส่วนของกระเป๋าเงินโครงการ แต่เมื่อโครงการคอนโดมิเนียมของเฟรเกรนท์นำเสนอคอนเซ็ปต์กรีนต่อผู้บริโภค ภาคต่อของกรีนที่เจมส์คิดถึงคือหลังพัฒนา ที่อยู่อาศัยแล้วเสร็จ การดำเนินชีวิตของมนุษย์ในที่อยู่อาศัยนั้นควรจะดำเนินไปอย่างไร
“80% ของทรัพยากรที่มนุษย์ใช้ในที่พักอาศัยคือไฟฟ้า เราก็เริ่มคิดจากตรงนั้นว่าเราจะสร้าง จะประหยัด จะรีไซเคิลอะไรได้บ้าง เลยนำไปสู่การเอาพลังงานแสง อาทิตย์มาสร้างพลังงานทดแทน”
โครงการล่าสุดของเฟรเกรนท์ กรุ๊ป คือเดอะเซอร์เคิลลิฟวิ่งโปรโตไทป์ ที่ประกาศตัวเป็นกรีนคอนโดมิเนียม มีการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ ใช้ต้นทุนประมาณ 3 แสนบาทต่อการผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ โดยติดตั้งไว้ที่กระจกในส่วนไฮโซนของโครงการซึ่งสูง 53 ชั้น และใช้หลอดแอลอีดี ภายในตึกซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ลง 40% ส่วนนี้จะเป็นทรัพย์สินส่วนกลางซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อาศัยในโครงการที่จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว
“วันหนึ่งจะผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสง อาทิตย์ได้ 60 กิโลวัตต์ ต้นทุนดูแลปีละ 2 หมื่นบาทเท่ากับเดือนละ 2 พันกว่าบาท ที่ผู้พักอาศัยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าไฟส่วนนี้ทำให้โครงการเก็บค่าส่วนกลางได้ถูกลงเหลือประมาณ 45 บาทต่อตารางเมตร”
พลังงานไฟฟ้าที่ได้ยังนำมาใช้ในการ ผลิตน้ำอุ่นอุณหภูมิ 35 องศา ให้ทุกยูนิต น้ำเสียมีระบบบำบัดเพื่อนำมาใช้ในพื้นที่ส่วนกลาง มีระบบการผลิตน้ำดื่มให้ผู้อยู่ อาศัยจ่ายตามจริงโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อน้ำ ในราคาแพงและช่วยประหยัดขวดที่จะต้อง ทิ้งเป็นขยะปีละหลายล้านขวด มีส่วนพื้นที่ สีเขียวเพื่อผลิตออกซิเจน กระจกกันความร้อนและกรองเสียง ระบบควบคุมอุณหภูมิและกลิ่นในพื้นที่ส่วนกลาง รวมถึงระบบการรักษาทางการแพทย์ระยะไกลโดยไม่ต้อง เสียค่าใช้จ่ายเดินทางไปโรงพยาบาลภายใต้ การดูแลของโรงพยาบาลสมิติเวช
ถามว่าก่อนหน้านี้ทำไมเขาไม่คิดจะนำระบบเหล่านี้มาใช้ในโครงการเพื่อพัฒนาเป็นกรีนเต็มรูปแบบ แต่เลือกใช้เพียงบางส่วนเท่านั้น
เจมส์กล่าวโดยเปรียบงานก่อสร้างบ้านว่า เป็นเหมือนการพัฒนาไอโฟน (iPhone) ทุกคนรู้ว่ารุ่นหลังที่ออกมาจะดีกว่ารุ่นก่อนหน้าเสมอ ถ้าถามย้อนกลับว่า แล้วทำไมไอโฟนหรือมือถือต่างๆ ไม่สร้างรุ่นที่ดีกว่าออกมาเลยทีเดียว โจทย์สำคัญของการพัฒนาก็ไม่ต่างจากการสร้างบ้านนั่นคือ เทคโนโลยี และสำหรับบ้านยังมีองค์ประกอบที่มากกว่านั้น
“สำหรับบ้าน เราต้องเข้าใจทั้งสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีที่จะพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ เรารู้ว่าบ้านแบบไหนที่จะช่วย ประหยัดพลังงานได้ดีที่สุด แค่นั้นยังไม่พอ เพราะเรื่องความสวยงามก็เป็นประเด็นใหญ่ สำหรับคนซื้อบ้านด้วย ต่อให้ทำออกมาตาม โจทย์ที่จะประหยัดและรักสิ่งแวดล้อม แต่ก็ต้องได้ความสวยและความสบายด้วย”
ภาพบ้านที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการประหยัดพลังงาน หน้าตาที่ออกมาจะเป็นบ้านที่มีหน้าต่างน้อยๆ ปูนเยอะๆ เพื่อกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน แต่ถ้าใครทำออก มาขายก็คงไม่ต่างจากโบสถ์ที่พบเห็นได้ตามโบราณสถานยุคเก่า ขัดกับพฤติกรรม การอยู่อาศัยของมนุษย์ที่ต้องการเห็นวิวกว้างๆ และนั่นคือเหตุผลที่กระจกเข้ามามีบทบาทแทนผนังปูน
เมื่อใช้กระจก แสงและความร้อนก็ตามเข้ามา ซึ่งเจมส์บอกถ้าจะแก้อีก ก็ต้องทำกันสาดยาวเป็นเมตรแต่อาคารภายนอกก็จะดูไม่สวย ถ้าใช้ผ้าม่านเต็มที่ก็กันความร้อนได้ประมาณ 25%
เขายืนยันว่าการคิดโครงการเพื่อทำ กำไรนั้นไม่ยาก ฉาบปูนเสร็จเอากระเบื้อง หินอ่อน ไม้ มาแปะก็เพิ่มมูลค่าได้แล้ว แต่ ถ้าเป็นกรีน วัสดุที่เลือกใช้ต้องเป็นประโยชน์ ต่อวิถีชีวิตของคน
“คิดเพิ่มแวลูแล้วสร้างสตอรี่ขึ้นมามันง่าย แต่การจะวิจัยและพัฒนาออกมาเพื่อที่จะเป็นประโยชน์และสมบูรณ์ไม่ง่าย”
เจมส์ยืนยันว่า ณ ตอนนี้เขาคิดว่าโครงการเดอะเซอร์เคิลลิฟวิ่งโปรโตไทป์ มีการนำเสนอเรื่องกรีนที่ครบวงจรโครงการ หนึ่ง แตกต่างจากโครงการอื่นๆ ที่มีอยู่ใน ตลาด จะเป็นโครงการที่ทำให้ภาพของแบรนด์เฟรเกรนท์เกิดความแตกต่างจากผู้พัฒนาคอนโดมิเนียมรายอื่น ในฐานะผู้บุกเบิกเรื่องกรีนคอนโดมิเนียม
โดยสรุป 4 เรื่องหลักที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของที่อยู่อาศัยภายใต้แบรนด์ เฟรเกรนท์ ประกอบด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม พลังงาน การออกแบบที่เข้ากับวิถีชีวิต และสุขภาพ ทั้ง 4 เรื่องนี้จะได้รับการคำนึง ถึงภายใต้การวิจัยและพัฒนาโดยทีมงานทุกคน ที่จะมีส่วนช่วยคิดโดยให้จินตนาการ อยู่เสมอว่า ตัวเองคือผู้ซื้อเพื่อดูว่าสิ่งที่ผู้ซื้อ ต้องการภายใต้ 4 เรื่องนี้มีอะไรบ้าง
พนักงานของเฟรเกรนท์นั้น นับตั้งแต่บริษัทก่อตั้งมา เจมส์บอกว่าถ้าไม่รวมคนที่ลาออกไปแต่งงานหรือทำกิจการของ ตัวเอง บริษัทเขามีเทิร์นโอเวอร์เรตของพนักงานเป็นศูนย์ มีพนักงานแบ็กออฟฟิศ ที่ประจำอยู่ประมาณ 120 คนในปัจจุบัน
“เพราะฉะนั้นมาตรฐานในความหมายของผมไม่ใช่ราคา แต่คือคุณภาพในโครงการนี้หรือแม้แต่โครงการเก่าที่สุขุมวิท 11 เรามีระบบวิเคราะห์ไข้โดยหมอ จากโรงพยาบาลสมิติเวชผ่านทางไกล ซึ่งสามารถสั่งยาให้คุณได้โดยที่คุณไม่ต้องไปโรงพยาบาล นี่เป็นอีกตัวอย่างของเทคโน โลยีที่ทำให้ชีวิตสะดวกขึ้น ทั้งหมดนี้คือหน้าที่ที่เราต้องคิดเพื่อพัฒนาให้มนุษย์มีวิถีชีวิตดีขึ้น”
โครงการเดอะเซอร์เคิลลิฟวิ่งโปรโตไทป์ ขายพื้นที่เริ่มต้นตารางเมตรละ 120,000 บาท ลูกค้าส่วนใหญ่ของโครงการ ได้มาจากฐานลูกค้าเดิมของบริษัทและลูกค้า ที่ลูกค้าเดิมแนะนำมา ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของลูกค้าทั้งหมด
เจมส์ต้องการให้โครงการนี้เป็นแหล่งที่พักอาศัยของคนระดับแนวหน้าในอาเซียน ซึ่งเขามองว่าโอกาสจากการเปิดเสรีอาเซียนในปี 2558 ด้วยความพร้อมของ กรุงเทพฯ กรุงเทพฯ น่าจะเป็นบ้านหลังที่สองให้กับนักธุรกิจในภูมิภาคนี้ได้
ดังนั้นทุกวันนี้นอกจากทำตลาดในเมืองไทย เขายังออกไปทำตลาดยังประเทศ ต่างๆ ในอาเซียน ภายใต้รูปแบบการจัดสัมมนาแนะนำศักยภาพของการลงทุนในกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นรูปแบบการตลาดที่ค่อนข้างแตกต่างจากโครงการที่พักอาศัยทั่วไป ที่เน้นการจัดโรดโชว์ในงานตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก โดยเฉพาะโครงการระดับบนที่มักเลือกตลาดฮ่องกง ยุโรปเป็นพื้นที่ออกงานเสียส่วนใหญ่
“อาเซียนจะเปิดอีกไม่นาน เรามอง ว่านั่นเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ แต่ผมก็ยังไม่มีแผนไปลงทุนที่อื่น เพียงแต่เราต้องเริ่มวางแผนสร้างแบรนด์ของเราให้พร้อมตั้งแต่ วันนี้ สร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวเองแล้ว อีกไม่กี่ปีต่อจากนี้ ผมเชื่อว่าแบรนด์ เฟรเกรนท์น่าจะเป็นที่รู้จักในภูมิภาคนี้ และเป็นแบรนด์ที่คนนึกถึง”
ตั้งแต่เปิดดำเนินงานมา เฟรเกรนท์ กรุ๊ปพัฒนาโครงการไปแล้วมูลค่ากว่า 5 พันล้าน รวมโครงการที่คาดว่าจะเปิดเพิ่มในปีนี้ด้วยก็จะมีมูลค่าเป็น 7 พันล้านบาท
สำหรับโครงการเดอะเซอร์เคิลลิฟวิ่งโปรโตไทป์ใช้เวลาออกแบบ 9 เดือน เริ่มเปิดตัวโครงการเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2554 ปัจจุบันมียอดขาย 55% จากจำนวน ทั้งสิ้น 477 ยูนิต มูลค่าประมาณ 3,650 ล้านบาท
เจมส์กล่าวทิ้งท้ายว่า โดยส่วนตัวเขาก็มีพื้นฐานความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมเหมือนคนทั่วไป แต่การจะหยิบมาใช้หรือไม่นั้น อยู่ที่วิสัยทัศน์และความกล้า ซึ่งในความคิดเห็นของเขาเชื่อว่า “คนที่จนที่สุด คือคนที่ไม่มีวิสัยทัศน์และไม่กล้า” เมื่อเขามองเห็นแล้วว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมมีแต่จะรุนแรงมากขึ้น และประเทศที่อยู่ใกล้เขตศูนย์สูตรก็มักจะได้รับผลกระทบที่เร็วกว่า ถ้าไม่เริ่มนำความคิดและสิ่งที่รู้ออกมาใช้งานเสียแต่วันนี้ วันหนึ่งข้างหน้าอาจจะหมดโอกาสที่จะนำมาใช้ก็ได้
|
|
|
|
|