หลังปี 2517 หรือหลังจากที่โลกเริ่มซึมซาบถึงฤทธิ์เดชของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ซึ่งเรียกกันว่า
กลุ่มโอเปกนั้นนับว่าเป็นช่วงที่ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีการจัดทำแผนปรับตัวในเรื่องการใช้พลังงานกันคึกคักมากเป็นพิเศษ
เพียงแต่ความคึกคักนี้ ถ้ามองเฉพาะผู้ผลิตเป็นรายๆ ไปแล้ว ก็จะมีระดับสูงต่างๆ
กันออกไป
เพราะการจะปรับตัวตามใจปรารถนานั้นคงทำไม่ได้แน่ จะทำได้ก็เพียงอยู่ในขอบเขตที่ทรัพยากรขององค์กรจะมีให้เท่านั้น
ปูนซิเมนต์ไทยในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด มีศักยภาพมากที่สุด ก็ย่อมจะต้องมีการปรับตัวอย่างให้หลักประกันดีที่สุดเป็นธรรมดา
เพราะฉะนั้นจากกระบวนการผลิตที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงเพียงตัวเดียว
ขณะนี้และในอนาคตอันใกล้กระบวนการผลิตของปูนซิเมนต์ไทยจะมีความพร้อมในการเลือกใช้พลังงานถึง
4 ชนิดด้วยกันคือ น้ำมันเตา ก๊าซธรรมชาติ ลิกไนต์ และถ่านหิน
หลักประกันในเรื่องความเสี่ยงต่อการขาดแคลนพลังงานจึงมีอยู่สูง และการควบคุมต้นทุนการผลิตก็ดูว่าจะมีประสิทธิภาพน่าอบอุ่นใจ
ลองหันมาดูการปรับตัวของผู้ผลิตปูนซีเมนต์อีก 2 รายดูบ้าง
ปูนซีเมนต์นครหลวง แต่เดิมก็ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงหลักเช่นเดียวกัน
แต่ภายหลังจากวิกฤตการณ์น้ำมันนับตั้งแต่ปี 2517 เป็นต้นมา ปูนซีเมนต์นครหลวงได้จัดหาพลังงานทดแทนเข้ามาใช้อีกตัวหนึ่งได้แก่
ลิกไนต์
ปัจจุบันโรงงานผลิตที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นโรงงานเพียงแห่งเดียวของปูนซีเมนต์นครหลวง
ได้ทำการติดตั้งเครื่องจักรซึ่งจะทำให้สามารถใช้น้ำมันเตาและลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงในการผลิต
แล้วเสร็จไปเมื่อปลายปี 2526
ส่วนพลังงานในรูปอื่นๆ ยังไม่มีแผนที่จะพัฒนาขึ้นมาใช้
เช่นเดียวกันในปี 2524 โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ที่ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ของบริษัทชลประทานซีเมนต์ก็ได้ใช้ลิกไนต์ไปกับน้ำมันเตา
และในปี 2525 ก็ได้นำลิกไนต์ไปใช้กับโรงงงานที่ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
ลิกไนต์ที่ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศไทยทั้ง 3 รายใช้นี้ ผลิตได้ที่อำเภอลี้
จังหวัดลำพูน เป็นลิกไนต์คุณภาพดีที่สุดเท่าที่มีการขุดพบในบ้านเรา และรัฐบาลอนุญาตให้ใช้ในภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก
ยังมีลิกไนต์อีกส่วนหนึ่งที่ขุดค้นพบบริเวณเหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และที่อำเภอคลองท่อม
จังหวัดกระบี่ เพียงแต่เป็นลิกไนต์คุณภาพต่ำ หากต้องเสียค่าขนส่งด้วยแล้วจะไม่คุ้มกับการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงอย่างยิ่ง
ปัจจุบันจึงใช้ไปในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยได้ตั้งโรงงานไฟฟ้าขึ้นบริเวณปากเหมือง
เท่ากับเป็นการตัดต้นทุนด้านการขนส่งลงไป
อย่างไรก็ดี แม้ว่าลิกไนต์จากจังหวัดลำพูนจะได้ชื่อว่าเป็นลิกไนต์ที่ดีที่สุดเท่าที่มีการขุดพบแล้วก็ตาม
แต่ก็ปรากฏว่า เมื่อเทียบค่าความร้อนกับพลังงานตัวอื่นๆ ที่โรงงานปูนซิเมนต์ไทยใช้อยู่นั้น
ลิกไนต์มีค่าความร้อนที่ค่อนข้างจะต่ำกว่า และเพื่อให้ได้ค่าความร้อนที่พอๆ
กันก็อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามปริมาณการใช้ที่ต้องเพิ่มขึ้น อันจะมีผลไปถึงต้นทุนในการผลิตในท้ายสุด
ข้อนี้ดูจะเสียเปรียบการใช้ถ่านหิน ซึ่งบริษัทปูนซิเมนต์ไทยใช้เป็นเชื้อเพลิงตัวหนึ่ง
โดยได้นำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย เพราะให้ค่าความร้อนสูงกว่าลิกไนต์และราคายังถูกกว่าด้วย
แต่การใช้ลิกไนต์ก็อาจจะมีข้อดีตรงที่เป็นพลังงานผลิตได้ในประเทศ ไม่ต้องใช้เงินตราต่างประเทศไปซื้อหามา
ซึ่งจะต้องแบกความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินตราต่างประเทศเข้าไปอีก
ซึ่งเหตุการณ์จริงก็เพิ่งผ่านไปหมาดๆ เพราะผลจากการลดค่าเงินบาทในครั้งล่าสุดเมื่อปลายปี
2527 นั้น ปูนซิเมนต์ไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายจากการซื้อถ่านหินของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นทันตาเห็นเหมือนกัน
ปูนซิเมนต์ไทยอาจจะยังโชคดีที่การลดค่าเงินบาทครั้งนี้ต้นทุนของถ่านหินที่เพิ่มขึ้นไปเมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานตัวอื่นๆ
โดยเฉพาะน้ำมันเตาแล้วยังถูกกว่ากันอยู่ แต่ถ้ารัฐบาลจะต้องปรับค่าเงินอีกสักครั้งสองครั้ง
คราวนี้ก็อาจจะไม่โชคดีเหมือนเดิมก็เป็นได้
เพราะฉะนั้นก็คงพอจะสรุปได้ว่า เชื้อเพลิงที่ใช้กันอยู่ทุกตัวนั้นล้วนมีข้อดีและข้อจำกัดด้วยกันทั้งสิ้น
และบนพื้นฐานของข้อสรุปนี้ ใครที่มีทางเลือกได้มากกว่าก็คงจะได้เปรียบอย่างแน่นอนในระยะยาว