|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ปี 2553 ที่ผ่านมา ชาวไทยพบกับความขัดแย้งอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในสังคมไทย แม้ว่ารัฐธรรมนูญตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จะเขียนไว้ว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรเดียวกัน ไม่อาจแบ่งแยกได้ แต่สิ่งที่เราพบในปัจจุบันคือการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแยกออกมาตามภูมิศาสตร์คือเหนือ อีสาน ตะวันออก และใต้ กับกรุงเทพมหานคร ปรากฏการณ์ดังกล่าว ชาวไทยหลายคนอาจจะเป็นห่วง เพราะการเมืองไทยในช่วงห้าหกปีที่ผ่านมานั้นได้เจริญเติบโตไปแบบก้าวกระโดดในแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเลย เพื่อนนักรัฐศาสตร์ที่ผมรู้จักจำนวนไม่น้อยเริ่มจะมองว่าประเทศของเราจะแตกหรือไม่ โดยเอากรณีศึกษาของเกาหลี เวียดนาม หรือประเทศอื่นๆ มาพิจารณา ซึ่งสิ่งที่น่าคิดอีกอย่างหนึ่งคือ ประเทศที่แตกออกจากกันหรือเคยแยกจากกัน ฝั่งเหนือหรือตะวันออกเฉียงเหนือ มักจะเอียงซ้ายเช่น เยอรมันตะวันออก เวียดนามเหนือหรือเกาหลีเหนือ ยิ่งถ้าเอาบ้านเราทุกวันนี้มาพิจารณา ยิ่งน่าเป็นห่วง
ทุกครั้งที่อยู่นิวซีแลนด์ผมมักจะมีคำถามว่า ทำไมประเทศเขาไม่แตกออกจากกัน ทั้งๆ ที่ประเทศ ของเขานอกจากจะมีทะเลกั้นกลางทำให้แยกเหนือใต้ออก ตามหลักภูมิศาสตร์แล้ว การเมืองแบบเหนือ เอียงซ้าย ใต้หันขวา ก็ปรากฏอยู่ชัดเจนในประเทศ นิวซีแลนด์เหนือกับใต้ต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งบ้านเมือง การเมือง ผู้คน วัฒนธรรม ภูมิประเทศ เศรษฐกิจ และทรัพยากร ทำให้ผมคิดว่าแล้วทำไมเขายังอยู่ด้วยกันได้ หลายคนอาจจะถามว่าผมฟุ้งซ่านไปหรือ เปล่า แต่ที่จริงแล้วแม้แต่ศาสตราจารย์ชื่อดังของมหาวิทยาลัยวิกตอเรีย ที่กรุงเวลลิงตันถึงขั้นทำการวิจัยร่วมกับคณาจารย์ดังๆ เกี่ยวกับความน่าจะเป็นหากประวัติศาสตร์ได้เดินทางแตกต่างไปแม้แต่นิดเดียว เช่น ถ้านิวซีแลนด์ไม่ปฏิเสธการรวมตัวของสหพันธรัฐออสเตรเลียนิวซีแลนด์ในอดีต หรือการแยกเหนือใต้ รวมทั้งถ้าเมืองหลวงอยู่ที่เกาะใต้ ซึ่งกลายเป็นหนังสือเชิงวิชาการที่ได้รับความนิยม ผมเชื่อว่า คนที่ได้มาเที่ยวนิวซีแลนด์หลายคนอาจจะไม่ทันได้สังเกต แต่ถ้ากลับไปนึกจริงๆ แล้วจะพบว่า ทัวร์ส่วนมากที่พามานิวซีแลนด์จะบินเข้าไครส์เชิร์ชและพาท่องเกาะใต้ จากนั้นจะบินมาชมวัฒนธรรมเมารีที่โรตารัว และบินออกจากโอ๊กแลนด์ที่เกาะเหนือเลย
เกาะเหนือและเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ มีความ แตกต่างกันมากเพราะมาจากรากฐานทางสังคมที่ไม่เหมือนกัน ข้อแรกคือชาวพื้นเมืองที่เกาะเหนือกับใต้ก็มาจากเผ่าที่ต่างกัน โดยเกาะเหนือจะมาจาก เมารีนับสิบเผ่าและหลายเผ่าต่างกันบ้างแต่ก็ค่อนข้าง เป็นมิตร บางกลุ่มก็ค่อนข้างก้าวร้าว และเคยเป็นศัตรูกันเองก็มีไม่น้อย แต่เกาะใต้จะมีเมารีเพียงเผ่าเดียวเป็นหลักทำให้วัฒนธรรมเมารีของเกาะเหนือและใต้จะค่อนข้างต่างกัน และจำนวนเมารีในเกาะเหนือก็มีมากกว่าเกาะใต้ ทำให้เกาะใต้มีจำนวนของฝรั่ง ต่อหัวของประชากรมากกว่าของเกาะเหนือ ข้อต่อมาคือแม้แต่ฝรั่งก็เรียกว่าต่างกันไม่น้อย ถ้าใครไปนิวซีแลนด์ จะสังเกตว่า ฝรั่งเกาะเหนือจะตัวเตี้ยเล็ก สูงประมาณร้อยหกสิบ กลางๆ ถึงร้อยแปดสิบเท่านั้น แต่พอลงไปเกาะใต้ปุ๊บจะเป็นฝรั่งสูงใหญ่ ร้อยเจ็ดสิบถือว่าเป็นอย่าง เตี้ย เกือบๆ สองเมตรก็มีให้เห็นเป็นจำนวนมาก ทีนี้เมื่อความสูงแตกต่างกัน ก็สามารถสรุปได้ว่ากรรมพันธุ์ต้องต่างกันไม่มากก็น้อย ดังนั้นฝรั่งเหนือจะมาจากพวกเวลส์ และไอริช ในขณะที่ฝรั่งทางใต้จะเป็นอังกฤษ หรือสกอตติชเสียส่วนมาก ทั้งสองเกาะจะมีพวกเชื้อสาย ดัตช์และยุโรปต่างๆ อยู่ประปราย ขณะที่ชาวเอเชียก็จะอยู่เกาะเหนือมากกว่าใต้ ทำให้ทางเหนือมีความผสม ผสานทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติมากกว่าทางใต้ที่ยังเป็นฝรั่งล้วน ผลที่ตามมาคือความแตกต่างทั้งด้านแนวคิด วัฒนธรรมและการเมือง ถ้าผู้อ่านได้ไปเที่ยวนิวซีแลนด์ จะสังเกตเห็นข้อแตกต่างของบ้านเมืองในเกาะเหนือและ ใต้ได้อย่างชัดเจน สถาปัตยกรรมในเกาะใต้จะเป็นแบบยุโรปเช่นไครส์เชิร์ชจะมีตึกและอาคารที่สร้างจากอิฐขนาดใหญ่ในสไตล์อังกฤษ ดันเนดินก็จะเป็นลักษณะ บ้านเมืองของสกอตติช ส่วนควีนส์ทาวน์จะได้บรรยากาศ สกีรีสอร์ตแบบคอนติเนนทัลยุโรป เช่นเดียวกับเนลสันที่เป็นเมืองชายหาดแต่จะเน้นการสร้างท่าเรือยอชต์ในแบบ เมดิเตอร์เรเนียนเป็นหลัก ขณะที่เกาะเหนือจะมีรูปแบบเมืองที่แตกต่างออกไป ในเมืองใหญ่อย่างโอ๊กแลนด์หรือ เวลลิงตัน เมืองจะออกมาในรูปแบบเมืองสมัยใหม่ที่เน้น ตึกสูงแบบในอเมริกาหรือออสเตรเลีย เมืองริมทะเลอย่าง เนเปียร์ก็จะมาในแบบของ Art Deco ตามสไตล์ฟลอริดา ในอเมริกา
หันมามองด้านประชากร เกาะใต้มีประชากรล้านคน ขณะที่เกาะเหนือมีสามล้านคน ด้านทรัพยากร ธรรมชาติ เกาะใต้มีเนื้อที่เกินครึ่งหนึ่งของประเทศนิวซีแลนด์และมีทรัพยากรธรรมชาติมากกว่า 60% ของ ประเทศ อาชีพที่ชาวเหนือทำเป็นงานเกี่ยวกับอุตสาห-กรรม ขณะที่ชาวใต้จะเป็นด้านเกษตรกรรม ทำให้เกิดความแตกต่างทั้งรายได้หรือความต้องการจากรัฐบาล ในประเทศที่พัฒนาแล้ว อาชีพเกษตรกรรมต้องใช้พื้นที่มากทำให้ประชากรในเขตนั้นๆ น้อยแต่รายได้จะสูงเพราะชาวนาฝรั่งมักจะมีฐานะดีเพราะจะเป็นเจ้าของธุรกิจระดับ SMEs เป็นอย่างน้อย ทำให้พวกเขาหันมา สนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายขวาเชิงอนุรักษนิยมที่ให้ผล ประโยชน์กับผู้ประกอบการธุรกิจ ในขณะที่เกาะเหนือจะเป็นฝ่ายซ้ายมากกว่า เพราะลักษณะงานแบบอุตสาห-กรรมทำให้ประชาชนเลือกพรรคที่เกื้อหนุนชาวรากหญ้า เป็นหลัก แต่ในทางกลับกันชาวใต้ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของธุรกิจและต้องทำงานด้านการเกษตรหรืออุตสาหกรรมจะได้งานที่ไม่ดีนักหรือมีผลตอบแทนต่ำกว่าชาวเหนือทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ถ้ามองจากภูมิประเทศ วัฒนธรรม และแนวคิดทางการเมืองแล้ว เกาะเหนือกับเกาะใต้ก็เหมือนกับสอง ประเทศที่มาอยู่ร่วมกัน ชาวใต้มักจะไม่พอใจชาวเหนือเพราะพวกเขาอยู่ได้ด้วยตนเอง และทรัพยากรที่เขาผลิต ได้ ส่วนมากก็จะส่งไปเพื่อเกื้อกูลชาวเหนือ ไม่ว่าจะเป็น น้ำ พลังงานไฟฟ้า ไม้ ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ถ่านหิน อิฐที่แปรรูปจากหินเกรดดีทางเกาะใต้ แม้แต่อุตสาหกรรม ที่ทำเงิน เช่น การท่องเที่ยว ก็จะอยู่ที่เกาะใต้แทบทั้งหมด ถ้านักท่องเที่ยวแนวตาลีตาเหลือกทัวร์แบบไทยๆ มักจะ บินไปลงไครส์เชิร์ชและตะลุยเที่ยวแต่เกาะใต้ไปเลย แน่นอนครับชาวใต้กับชาวเหนือย่อมมีความขัดแย้งกันไม่น้อย ชาวใต้มักจะมองว่าพวกตนเป็นคนอุ้มชาวเหนือ เกาะใต้เป็นเขตที่เลี้ยงประเทศนิวซีแลนด์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นที่สร้างรายได้ ขณะที่ชาวเหนือมองชาวใต้ ว่าเป็นพวกอนุรักษนิยม ขาดศักยภาพทางเศรษฐกิจและขาดความเจริญทางวัตถุ แม้กระทั่งมีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อประกาศเอกราชให้เกาะใต้ทีเดียว
เมื่อมาถึงตรงนี้ผมพยายามศึกษาหาคำตอบว่าอะไรเป็นเหตุผลให้พวกเขายังอยู่ด้วยกันได้ ผมสรุปหลังจากที่หันไปมองประเทศ ต่างๆ ที่พัฒนาแล้วในโลก ปรากฏว่าไม่มีประเทศไหน เลยที่ไม่มีความแตกแยกทางการเมือง วัฒนธรรม แม้แต่ภาษา และไม่มีประเทศไหนที่คนคิดเหมือนกันหมด ในปัจจุบันสหรัฐอเมริกายังแบ่งรัฐสีแดงและรัฐสีน้ำเงิน ซึ่งถ้ามองจากภูมิประเทศ รัฐสีแดงคือรัฐทางใต้ในอดีตที่เรียกว่า คอนเฟเดอเรซี ในสงครามกลางเมืองอเมริกา ขณะที่รัฐสีน้ำเงินคือรัฐทางเหนือหรือยูเนียนในอดีต แน่นอนครับ ชาวเหนือกับใต้ในอเมริกาทำสงครามกลาง เมืองเพื่อแบ่งแยกประเทศกันมาแล้ว ในอังกฤษก็มีเขตแดงกับเขตน้ำเงิน คือพรรคอนุรักษนิยมจะเป็นที่นิยมในบรรดาเกษตรกรและบรรดาชนชั้นกลางถึงบนทั่วประเทศ เช่น ออกซฟอร์ด เคมบริดจ์ ส่วนสีแดง คือพรรคแรงงานจะมีอิทธิฤทธิ์ในเมืองเช่นกรุงลอนดอน เมืองนิวคาสเซิล กลาสโกว์ เบอร์มิ่งแฮม โคเวนทรี่ ลิเวอร์ พูล และแมนเชสเตอร์ เป็นต้น ในอิตาลีการแบ่งเหนือใต้ อย่างชัดเจน ในเยอรมนีกับออสเตรเลียเองความแตกต่าง ระหว่างตะวันตกกับตะวันออก ยังคงมีให้เห็นในปัจจุบัน หรือแม้แต่ประเทศที่การเมืองขาดความหลากหลายอย่างญี่ปุ่น ชาวคันโตกับชาวคันไซในเกาะฮอนชูยังแบ่งกัน หรือแม้แต่เอาอีกฝ่ายมาดูถูก ยิ่งไปทางเกาะชิโกกุ ฮอกไกโด คิวชู หรือโอกินาวา ยิ่งแตกต่างเข้าไปอีก
เมื่อมองความแตก แยกแล้ว ผมเชื่อว่าเราคงอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านั้นยังอยู่ร่วมกันได้ แม้ว่าอเมริกาจะเกิดสงครามกลางเมืองมาแล้วก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดในการอยู่ร่วมกันได้แม้จะคิดต่างกันสุดขั้วนั้นเกิดมาจากสองประเด็นสำคัญ สิ่งแรกคือความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย สองคือความอดทนอดกลั้นและการเคารพ สิทธิของผู้อื่น ผมเชื่อว่าความเชื่อมั่นในระบอบประชา ธิปไตยถือเป็นหัวใจของการอยู่ร่วมกันในสังคม สิ่งสำคัญที่สุดที่ทุกคน ต้องเข้าใจคือความหมายของคำว่า ประชาธิปไตย บรรดามวลชนที่ออกมามักจะมีคำว่าประชาธิปไตยตามหลังเสมอ แต่ถ้าถามว่าประชาธิปไตย แปลว่าอะไร คือการใช้มวลชนกดดันรัฐบาลหรือไม่ แปลว่าความเท่าเทียมหรือไม่ มวลชนแปลว่าอะไรสำคัญขนาดไหนในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เพราะเรานิยม ใช้คำว่าการเมืองภาคประชาชน หรือประชาสังคม (Civil Society) และคำนี้จริงๆ แล้วหมายถึงการเดินขบวนประท้วงหรือไม่
การเมืองภาคประชาชนแบบที่เราพูดกัน ถ้านำคำพูดเดียวกันไปใช้ในละตินอเมริกาหรือฟิลิปปินส์ เราจะพบว่าการเดินขบวนประท้วงหรือการกดดันรัฐบาลจะมาจากการนำของโบสถ์ พระในศาสนาคริสต์ไม่ใช่เอ็นจีโอหรือการเมือง แต่ถ้านำไปใช้ในประเทศที่พัฒนา แล้วจะหมายถึงสภากาแฟหรืออย่างมากก็ไม่เกินแรลลี่การกุศล การเมืองภาคประชาชนหมายถึงบรรดาผู้ร่วมอุดมการณ์ไปจัดกิจกรรมล่ารายชื่อ เช่น ตั้งโต๊ะในห้างสรรพสินค้าหรือบนท้องถนนโดยเอ็นจีโอ จัดแรลลี่ การกุศลและลงชื่อกัน แม้แต่นัดคุยกันในคลับ เช่น สปอร์ตคลับ สนามกอล์ฟ โบว์ลิ่งคลับ แล้วลงชื่อกันให้รัฐบาลพิจารณา อย่างนิวซีแลนด์การเปลี่ยนเพลงชาติก็เริ่มจาก การที่ชาวเมืองดันเนดินลงชื่อบนท้องถนนและกระจายไปทั่วประเทศ และนำรายชื่อไปยื่นต่อรัฐสภาเรียกว่าเป็นวาระของประชาชน
ดังนั้น การเมืองภาคประชาชนของประเทศพัฒนาแล้วจะไม่มีแนวคิดแบบที่เราได้ยินในบ้านเราว่า การเมืองภาคประชาชนอยู่เหนือการเมือง แต่เขามองว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำเสนอแนวคิดของพวกเขาสู่รัฐบาล หากรัฐไม่ตอบสนองก็ค่อยเปลี่ยนรัฐบาล เช่น กรณีกฎหมายห้ามตีลูก เมื่อบรรดาผู้ปกครองยื่นให้รัฐบาลออกกฎหมาย แต่รัฐบาลไม่ฟัง ก็มีการรณรงค์ไม่เอากฎหมายและรัฐบาล พอฝ่ายค้านชนะเลือกตั้งก็ยื่นญัตติ เข้าไปใหม่ ทำให้เกิดประชาพิจารณ์ สรุปว่าได้ยกเลิกกฎหมาย เป็นต้น ดังนั้นสิ่งที่เราชาวไทยได้ยินประจำว่า การเมืองภาคประชาชนอยู่เหนือการเมือง จริงๆ นั้นเป็น คำพูดสวยหรูของนักวิชาการ เอ็นจีโอ และนักประท้วง อาชีพบ้านเรา แต่ไม่เป็นที่ยอมรับในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะประเทศที่การเมืองภาคประชาชนเชื่อว่าตนเอง อยู่เหนือการเมืองคือประเทศที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ เช่น อียิปต์ ตูนีเซีย และพม่า ส่วนประเทศที่เป็นประชา ธิปไตย และยังเชื่อมั่นในระบบการเมืองภาคประชาชนก็เหลือแต่เนปาลเท่านั้น เพราะแม้แต่เกาหลีใต้ อาร์เจน ตินา ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ เขาก็เลิกกันแล้ว ดังนั้นผมต้องบอกว่าประเทศไทยตอนนี้ที่เชื่อว่า ออกไปประท้วงแล้วดูดีเป็นประชาธิปไตยนั้น ต้องขอเรียนตรงๆ ว่าตกรุ่นแล้ว ตอนนี้เราล้าหลังอาร์เจนตินากับฟิลิปปินส์ไปมากแล้ว
ส่วนที่สองคือความอดทนและเคารพในสิทธิของ ผู้อื่น ซึ่งถือเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย คนส่วน มากชอบตีความประชาธิปไตยผิดพลาด ในยุโรปตะวันออกช่วงที่ได้รับประชาธิปไตยใหม่ๆ ชอบตีความว่าเป็นทุนนิยม เมื่อเป็นประชาธิปไตยแล้วทุกคนจะร่ำรวย ตื่นมาตอนเช้าไปทำงานรถบุโรทั่งจากสมัยคอมมิวนิสต์ อย่างทราแบรนต์ หรือลาด้า จะกลายเป็นบีเอ็มดับบลิว บ้างก็ตีความหมายประชาธิปไตยเสียเริ่ดหรูว่าเป็นประชาธิปไตยแล้วจะเหมือนกับโจเซฟที่ได้เสื้อคลุมกายสิทธิ์ พอใส่แล้วจะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง บ้างก็มองว่ามีประชาธิปไตยจะได้รัฐบาลที่ดี ทำทุกอย่างเพื่อประชาชน ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่แท้จริงแล้วผมมองว่าประชาธิปไตยเป็นเพียงการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคม
สิ่งแรกก็คือ ความอดทน เพราะประชาธิปไตย มีข้อดีกว่าทุกระบอบ คือมีกำหนดเวลาของรัฐบาล แน่นอน และการเลือกตั้งนั้นใครๆ ก็มีสิทธิลงสมัคร ไม่ว่าแนวคิดจะแปลกขนาดไหนก็ตาม ประเด็นที่สองคือการเคารพในสิทธิของผู้อื่น ไม่ใช่มุ่งแต่จะใช้สิทธิของ ตนเอง สองอย่างนี้หลายท่านอาจจะมองว่าคล้ายกันแต่ที่จริงแล้วต่างกันสุดขั้วเลยทีเดียว ถ้าเป็นแนวคิดที่มุ่งแต่ใช้สิทธิย่อมจะหนีไม่พ้นซึ่งความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นเพราะสิทธิที่กำหนดในกฎบัตรของสิทธิมนุษยชน นั้นมีมากมาย และอยู่ที่การตีความ และมนุษย์เรานั้นนิยมตีความเข้าข้างตนเองเสมอ อย่างที่สารพัดม็อบ ที่อ้างสิทธิในปีที่ผ่านมา แต่ไม่ได้คิดถึงสิทธิของผู้อื่นในสังคมเลย ดังนั้น ในประเทศที่พัฒนาแล้วเขาไม่ถามถึงสิทธิของตนเองแต่จะระวังในการที่จะไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น เป็นสำคัญ เพราะเวลาที่มีเรื่องฟ้องร้องในชั้นศาลในต่างประเทศ เขาไม่ได้ให้ทนายถามว่าอีกฝ่ายมีสิทธิอะไร บ้าง แต่จะถามว่าอีกฝ่ายละเมิดสิทธิอะไรบ้าง ดังนั้นการรักษาสิทธิของผู้อื่นสำคัญกว่าการคิดถึงสิทธิของตนเอง
ความแตกแยก การล้อเลียนกันของชาวเหนือชาวใต้ และความขัดแย้งในบางครั้งก็มีการตั้งพรรคการ เมืองเพื่อชาวใต้ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าประชาชนทั้งหมดคิดแบบนั้น บ้านเมืองหรือการเมืองแตกแยกเพราะเกิดในสภาก็ควรที่จะแก้ไขในสภา เพราะการเมืองต้องแก้ด้วย การเมือง เมื่อใดก็ตามที่นักการเมืองออกมาเล่นการเมือง นอกสภาโดยร่วมกับม็อบหรือผู้หวังผลประโยชน์ ประเทศ ชาติก็จะวุ่นวาย ดังนั้นการที่ประเทศจะมีประชาชนหลากหลายความคิดหรือเชื้อชาตินั้นไม่ได้ปิดกั้นความสมานฉันท์หากว่าประชาชนเรียนรู้ที่จะยอมรับในสิทธิของผู้อื่นและเคารพการตัดสินใจของคนหมู่มาก ส่วนการเอาการศึกษา ความเชื่อทางการเมือง ที่อยู่อาศัย แม้แต่ที่ข้อว่านักการเมืองซื้อเสียงหรือโกงมาอ้างเพื่อไม่ยอมรับการตัดสินใจของคนหมู่มากนั้นก็เป็นการพายเรือ ในอ่าง เพราะท้ายที่สุดแล้วคนที่คิดแบบนี้ก็ยังขาดซึ่งการให้เกียรติผู้อื่น เพราะเมื่อเราไม่ให้เกียรติผู้อื่น ย่อมไม่มีใครให้เกียรติเรา นั่นนำมาซึ่งความขัดแย้งในสังคม อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในนิวซีแลนด์ เนื่องจากเขาเชื่อมั่นใน ระบบไม่ใช่ที่ตัวบุคคลเพราะไม่มีบุคคลใดที่สมบูรณ์แบบ ดังนั้นจึงไม่ยึดติดที่บุคคล แต่เชื่อมั่นในระบอบประชา ธิปไตยว่าถ้าบุคคลที่ได้มาไม่เหมาะสมก็รอให้เขาหมดวาระและเปลี่ยนใหม่ ความอดทน ความยอมรับในระบอบ การให้เกียรติผู้อื่นทำให้ประชาชนในประเทศที่แตกแยกสามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างสมานฉันท์ ไม่ใช่เพราะว่าชาวเหนือกับชาวใต้ในนิวซีแลนด์คิดเหมือนกัน แต่เพราะพวกเขาเคารพในความคิดของคนที่คิดต่างและไม่ไปทำให้เขาคิดเหมือนตนเอง เพราะถ้าทุกๆ คนคิดเหมือนกันโลกก็คงวุ่นวายเพราะเราจะมีการแก่งแย่งทรัพยากรชนิดเดียวกันอย่างรุนแรงกว่าในปัจจุบัน
ดังนั้นการที่เรามักจะถามว่าทำไมเขาคิดไม่เหมือนเรานั้น เราควรจะเลิกถามและหันมายอมรับความแตกต่างเพราะนั่นจะช่วยลดความแตกแยกในสังคม
|
|
|
|
|