|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
หลายเดือนมานี้เกิดเหตุการณ์เดินขบวน-ประท้วงรัฐบาลของประชาชนในตะวันออกกลาง-แอฟริกาเหนือหลายต่อหลายประเทศ ซึ่งในที่สุดนำมาสู่การเคลื่อนไหวเพื่อโค่นล้มการปกครองในหลายประเทศ เช่น ตูนิเซีย อียิปต์ บาห์เรน เยเมน จอร์แดน แอลจีเรีย และขณะที่กำลังเขียนบทความชิ้นนี้อยู่ สหประชาชาติก็กำลังเข้าแทรกแซงการเมืองในประเทศลิเบียด้วยการออกมาตรการคว่ำบาตรและให้สมาชิกชาติมหาอำนาจต่างๆ ใช้ปฏิบัติการทางทหารเข้าโจมตีกองทัพของลิเบีย เพื่อหวังโค่นล้มอำนาจของ พ.อ.โมอัมมาร์ กัดดาฟี
การประท้วงซึ่งนำมาสู่การปฏิวัติในตะวันออก กลาง-แอฟริกาเหนือ มีชื่อเรียกกันย่อๆ ว่า “การปฏิวัติดอกมะลิ (Jasmine Revolution)” เนื่องเพราะดอกมะลิคือดอกไม้ประจำชาติของประเทศตูนิเซีย
ขณะที่ในตะวันออกกลางกำลังวุ่นวายและยุ่งเหยิง ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2554 สื่อมวลชนตะวันตกก็เริ่มการประโคมข่าวว่า การปฏิวัติดอกมะลิกำลังลุกลามมายังประเทศจีน โดยสื่อตะวันตกตีข่าวว่าประชาชนชาวจีนเริ่มอดรนทนไม่ไหวกับระบบการปกครองโดยพรรคการเมือง พรรคเดียวนั่นคือ “พรรคคอมมิวนิสต์จีน” พร้อมกับเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพสื่อ การแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ การหางาน ที่อยู่อาศัย และความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ฯลฯ
รายงานจากสื่อตะวันตกและสำนักข่าวฝรั่งหลายแห่งพยายามชี้นำว่า การประท้วงที่ได้รับอิทธิพลมาจากตูนิเซีย ได้เริ่มต้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2554 บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์สาขาแรกของประเทศจีน ในย่านหวังฝูจิ่งของกรุงปักกิ่ง และขยายตัวไปในหลายเมืองใหญ่ทั่วประเทศ จีน เช่น เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน ฉงชิ่ง ฉางชุน เฉิงตู ฮ่องกง มาเก๊า รวมไปถึงไทเปและมหานครนิวยอร์ก ในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีการรายงานถึงการคุกคาม-ควบคุมตัว ผู้สื่อข่าวฝรั่งของสำนักข่าวหลาย สำนัก เช่น บลูมเบิร์ก บีบีซี โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจของจีน หลังผู้สื่อข่าวเหล่านี้พยายามเข้าไปรายงานข่าวในย่านที่มีการประท้วงด้วย หลังการประโคมข่าวการปฏิวัติดอกมะลิในจีนโดยสื่อตะวันตกก็มีสื่อมวลชนไทยจำนวนหนึ่งที่ไม่ประสีประสาในเรื่องการเมืองภายในจีนและการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาช่วยฝรั่งแพร่กระจายข่าวดังกล่าว โดยสื่อไทยบางส่วนถึงกับวิเคราะห์คล้อยตามสื่อตะวันตกไปว่า ในจีนกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่
กระนั้นในความเป็นจริงเป็นที่ทราบว่า ณ สถานการณ์ปัจจุบัน การปฏิวัติดอกมะลิในจีนนั้นเป็นได้อย่างมากก็เพียง “ประกายไฟ” ที่คนกลุ่มน้อยบางส่วนในจีนพยายามจุดขึ้นมา และเชื่อว่าในระยะเวลาอันใกล้ไม่ว่าพยายามเช่นไรก็มิอาจจุดติด เพราะเชื้อฟืนที่มีนั้นเป็นเพียงเชื้อฟืนที่นำมาจากกองไฟในต่างประเทศ อีกทั้งเชื้อฟืนภายในประเทศ ที่สามารถจะนำเข้ามาสุมเสริมกองไฟดังกล่าวก็มีจำนวนน้อยเสียจนมิอาจเขย่าคนในสังคมจีนให้ลุกขึ้นมาเอาอย่าง หรือขยายการสนับสนุนการเคลื่อน ไหวในวงกว้างได้
ขณะที่การเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันอย่างการปฏิวัติประชาชนในประเทศจีนมิได้เบ่งบานไปตามการปฏิวัติดอกมะลิในประเทศตูนิเซีย อียิปต์หรือตะวันออกกลาง แต่ก็มีผู้สังเกตว่า ณ เวลานี้มีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในสังคมจีนที่นับวันจะมีนัย สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ... การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่ว่า ก็คือ การเติบโตขึ้นของความนิยมในช่องทางการ สื่อสารผ่านสื่อเครือข่ายสังคมที่เรียกว่า “เวยป๋อ”
เวยป๋อ คือ บล็อกจิ๋ว หรือไมโครบล็อก ในภาษาจีน โดย “เวย” ในภาษาจีนนั้นแปลว่าจิ๋ว ส่วน “ป๋อ” ในภาษาจีนก็แปลว่าบล็อก ซึ่งมีรากศัพท์ มาจากคำว่า ป๋อเค่อ หรือ Blog นั่นเอง
10 มีนาคม 2554 หนังสือพิมพ์ไชน่า เดลีรายงานว่า จากกระแสความนิยมของทวิตเตอร์ ระบบไมโครบล็อกที่โด่งดังที่สุดในโลกทำให้ในช่วงสามปีที่ผ่านมามีผู้ให้บริการเวยป๋อ หรือไมโครบล็อก สัญชาติจีนผุดขึ้นแล้วกว่า 50 ราย โดยส่วนใหญ่เป็น ผู้ให้บริการเว็บท่า (Web Portal) เจ้าใหญ่ๆ ของจีน อย่างเช่น Sina.com, Sohu.com และ Tencent. com นั่นเอง[1]
อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบเซ็นเซอร์และกฎระเบียบที่เข้มงวดในอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตของรัฐบาลจีนที่ได้รับฉายาว่า Great Firewall of China หรือมหากำแพงไฟแห่งประเทศจีน ทำให้บริการไมโครบล็อกกิงในจีนเพิ่งได้รับความนิยมในช่วงปี 2553 ที่ผ่านมานี้เอง และแน่นอนว่าผู้ให้บริการ ไมโครบล็อกกิงที่ได้รับความนิยมที่สุดในหมู่ชาวจีนก็มิใช่ต้นตำรับอย่างทวิตเตอร์ แต่เป็นของผู้ให้บริการท้องถิ่นนั่นคือ ซินล่างเวยป๋อ (Sina Weibo) และเถิงซวิ่นเวยป๋อ (Tencent Weibo)
จากสถิติจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศจีนปัจจุบันที่มีมากที่สุดในโลกราว 457 ล้านคน ประกอบกับจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อเชื่อมต่อกับโลกอินเทอร์เน็ตอีก 303 ล้านคน ส่งผลให้เมื่อต้นปีที่ผ่านมาทั้งซีนา คอร์ปอเรชันเจ้าของเว็บไซต์ Sina.com และเทนเซ็นต์ โฮลดิงส์ เจ้าของเว็บไซต์ Tencent.com และบริการ Instant Messaging ชื่อดังอย่างคิวคิวต่างก็ออกมาป่าวประกาศว่าตนเอง มีสมาชิกเวยป๋อเกิน 100 ล้านบัญชีเรียบร้อยแล้ว โดยซีนาออกมาเผยตัวเลขดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2554 ขณะที่เทนเซ็นต์ชิงประกาศก่อนหน้านั้นราวหนึ่งเดือน เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2554
ขณะที่เมื่อช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา สถานีวิทยุซีอาร์ไอก็รายงานว่า วิธีการอวยพรปีใหม่ผ่านไมโคร บล็อกนั้นกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศจีน โดยระหว่างช่วงตรุษจีนปีกระต่ายมีการส่งคำว่า “อวยพรปีใหม่” ผ่านระบบเวยป๋อของซีนาถึงกว่า 1.8 ล้านข้อความ และข้อความ “สวัสดีปีใหม่” อีกประมาณ 2.9 แสนข้อความ โดยนอกจากประชาชน ธรรมดาแล้ว ข้าราชการและตำรวจจีนจำนวนหนึ่งก็เริ่มใช้เวยป๋อส่งคำอวยพรแก่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเมืองจีนด้วย[2]
ความนิยมของเวยป๋อที่พุ่งพรวดในหมู่ชาวจีน แผ่นดินใหญ่ส่งผลให้สื่อมวลชนทั่วประเทศจีน รวมไปถึงเกาะฮ่องกงและไต้หวันถึงกับตกตะลึงเป็นอย่างมาก โดยมีการสำรวจกันว่าในปี 2553 จำนวน ประชากรผู้ใช้เวยป๋อในประเทศจีนน่าจะมีมากถึง 120 ล้านคน หรือราวหนึ่งในสิบของประชากรจีนเลยทีเดียว ขณะที่ซีนาก็อ้างว่านอกจากสมาชิกคนจีน แผ่นดินใหญ่แล้วตนเองยังมีสมาชิกเป็นคนฮ่องกงและไต้หวันอีกนับล้านคนเลยทีเดียว
พัฒนาการอย่างรวดเร็วของเวยป๋อทำให้นิตยสารย่าโจวโจวคาน ของฮ่องกงถึงกับวิเคราะห์ว่า “เวยป๋อ” กำลังทำการปฏิวัติเครือข่ายข้อมูลข่าวสารของชาวจีนและชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลกและที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ “เวยป๋อ” กำลังเปลี่ยนแปลงดุล อำนาจในสังคมจีนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน[3]
จุดเด่นประการแรกที่ทำให้เวยป๋อของจีนแตกต่างจากไมโครบล็อกอื่นๆ ของโลก โดยเฉพาะทวิตเตอร์ก็คือ “ภาษาจีน” ด้วยลักษณะพิเศษของภาษาจีนเป็นภาษาที่ถ่ายทอดด้วยอักษรภาพ หนึ่งตัวอักษรเท่ากับหนึ่งคำ ทำให้อุปสรรคของการส่งข้อความผ่านไมโครบล็อกที่ถูกจำกัดจำนวนไว้ที่ 140 ตัวอักษรนั้นถูกชาวจีนมองผ่านไป ซึ่งแตกต่างจากการส่งข้อความผ่านไมโครบล็อกด้วยภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทยซึ่งเป็นอักษรเสียงอย่างเห็นได้ชัด
ประการต่อมาก็คือ พัฒนาการเวยป๋อของจีน นั้นมีความแตกต่างจากทวิตเตอร์อย่างชัดเจน ไม่ว่า จะมองจากคุณสมบัติพิเศษของบริการ, รูปแบบของ ธุรกิจ, ผลกระทบทางสังคม และทิศทางของการเติบโต
“ช่วงแรกๆ กลยุทธ์ของซินล่างเวยป๋อก็คือพวกเขาใช้ กลยุทธ์ดารา’ ที่พวกเขาถนัด ด้วยการเอาคนดังในแวดวงต่างๆ ไม่ว่าจะแวดวงบันเทิงธุรกิจ ปัญญาชน สื่อมวลชน ศิลปิน เข้ามาเปิดบัญชี เพื่อดึงให้ผู้คนเข้ามาสมัครสมาชิก และแทนที่จะใช้คำว่า Follower ก็ให้ใช้คำว่า “แฟน “ แทน ซึ่งการใช้ดารา-คนดังเป็นแกนกลางในการดึงคนเข้า มาสมัครสมาชิกนี้แตกต่างจากทวิตเตอร์อย่างเห็นได้ชัด เพราะผู้ใช้ทวิตเตอร์จะให้ความสนใจเกี่ยวกับ ประเด็นของการสนทนามากกว่าชื่อเสียงของผู้สนทนา” นิตยสารย่าโจวโจวคาน วิเคราะห์ พร้อมกัน นั้นยังระบุด้วยว่า จากพื้นฐานดังกล่าว ทำให้เหล่าคนดังที่ถูกประทับตราด้วยสัญลักษณ์พิเศษเป็นอักษร “V” จากเว็บไซต์ซีนา ถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสูงในการกำหนดทิศทางของข้อมูลข่าวสารในแต่ละวันบนโลกเวยป๋อว่า เรื่องใดจะฮอตฮิตติดกระแส
กระนั้นก็เป็นที่แน่นอนว่ารัฐบาลพรรคคอม มิวนิสต์จีนย่อมไม่ปล่อยให้การแสดงความเห็น หรือ การส่งข้อความผ่านเวยป๋อนั้นเป็นไปได้อย่างอิสรเสรี หรือเปิดกว้างเสียจนก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเมือง โดยข้อความที่ส่อแววว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง ขัดต่อแนวนโยบายแห่งรัฐ หรือกัดกร่อนเสถียรภาพของพรรคคอมมิวนิสต์จีนยกตัวอย่างเช่นการส่งข้อความเกี่ยวกับหลิว เสี่ยวโป เกี่ยวกับรางวัลโนเบลสันติภาพ หรือส่อแววว่าจะเป็น การปลุกระดมหรือนัดหมายเพื่อดำเนินการประท้วงรัฐบาลก็จะถูกดักสกัด จับตาอย่างใกล้ชิด และไม่มีวันที่จะถูกจัดอันดับขึ้นเป็นหัวข้อสนทนาที่น่าสนใจในแต่ละวันได้อย่างแน่นอน
แม้ว่าเวยป๋อจะไม่สามารถปลดพันธนาการทางความคิดของชาวจีนได้อย่างสมบูรณ์ ทว่า หากมองย้อนหลังกลับไป เปรียบเทียบกับในช่วง 50-60 ปีที่ผ่านมาที่ช่องทางในการสื่อสารระหว่างชาวจีนเกือบทั้งหมดถูกควบคุมและปิดกั้นด้วยมาตรการการล่ามโซ่สื่อกระแสหลัก ไม่ว่าโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร อินเทอร์เน็ต เอาไว้ด้วยปลอก คอของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน การถือกำเนิดขึ้นของ “เวยป๋อ” ก็นับว่าช่วยลดความตึงเครียดและ ช่วยระบายแรงกดดันภายในสังคมจีนได้ไม่น้อย
อย่างน้อยๆ ประเด็นทางสังคม และการตรวจสอบการทำงานของข้าราชการท้องถิ่นหลายประการในช่วงที่ผ่านมาก็ถูกจุดกระแสขึ้นผ่านเวยป๋อ
ยกตัวอย่างเช่น การนัดหมายผ่านเวยป๋อของ คนจีนหลายหมื่นคน (บางกระแสบอกว่าเหยียบแสน คน) ที่ออกมาแสดงความอาลัยต่อผู้เสียชีวิต 58 คน และได้รับบาดเจ็บอีกร่วมร้อยคนในเหตุการณ์เพลิงไหม้อพาร์ตเมนต์สูง 28 ชั้น ในเขตจิ้งอัน เมืองเซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 ทั้งๆ ที่สื่อกระแสหลักของจีนก็มิได้ประโคมข่าวดังกล่าวแต่อย่างใด โดยนัยของการแสดงพลังดังกล่าวก็คือ การประท้วงของชาวจีนอย่างเงียบๆ ต่อความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านการป้องกันสาธารณภัยและการทุจริตของเจ้าหน้าที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ที่ไปมีนอกมีในกับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง
การรวมพลังครั้งนั้นของประชาชนเรือนหมื่น เรือนแสนดังกล่าวบีบให้ในเวลาต่อมาคณะมุขมนตรี จีนต้องออกมาประกาศว่าจะมีการลงโทษขั้นรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่นทั่วประเทศที่ละเลยการตรวจตราดูแล และบังคับใช้มาตรการป้องกันอัคคีภัย เพื่อป้องกันและควบคุมเหตุเพลิงไหม้อย่างเฉียบขาด
ผมเชื่อว่า เครือข่ายสังคมออนไลน์กำลังเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่น่าสนใจ แม้จะไม่รวดเร็วปรู๊ดปร๊าดหรือเกิดผลอย่างเฉียบพลันเหมือนการปฏิวัติเฟซบุ๊กในโลกอาหรับ แต่ในที่สุดการเปลี่ยน แปลงทางสังคมก็จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างแน่นอน
ส่วนจะเป็นการเปลี่ยนผ่านที่เนิ่นช้าหรือรวดเร็ว จะเกิดขึ้นโดยสันติหรือรุนแรง เวลาเท่านั้นจะเป็นผู้ให้คำตอบ
|
|
|
|
|