แก้วเมื่อแตกแล้วถึงจะกาวประสานก็จะยังเห็นรอยร้าวอยู่
ผมยังจำได้ดี เมื่อสมัยที่ผมเพิ่งเข้าไปในพีเอสเอใหม่ๆ สมัยนั้นพีเอสเอยังเล็กอยู่
สำนักงานใหญ่ของพีเอสเออยู่บนตึกเชลล์ หรือที่เรียกว่าอาคารเคี่ยนหงวนในปัจจุบัน
มันเป็นห้องเล็กๆ เนื้อที่ไม่ถึง 150 ตารางเมตร พอเดินเข้าไปก็จะเป็นที่รับรองแขก
รวมทั้งพนักงานต้อนรับที่ทำหน้าที่รับโทรศัพท์ เดินผ่านเข้าไปทางขวามือห้องแรกก็จะเป็นห้องของสุธี
นพคุณ ติดกับห้องสุธี นพคุณ ก็จะเป็นห้องของพร สิทธิอำนวย
ในยุคนั้นพีเอสเอยังเล็กอยู่ มันเป็นยุคแห่งความฝันที่สุธีและพรต่างใฝ่ฝันว่าวันหนึ่งข้างหน้าบริษัทเล็กอย่างพีเอสเอนั้นจะเติบโตและกลายเป็นปลาหมึกยักษ์ที่มีหนวดออกมาหลายๆ
เส้น ครอบคลุมในธุรกิจหลายๆ แห่ง
ผมยังจำได้ในช่วงนั้น พรและสุธีมักจะเดินเข้าไปคุยในห้องซึ่งกันและกัน
และแต่ละคนก็จะพูดถึงสิ่งที่ท้าทายอยู่ข้างนอก มันเป็นความฝันของคนหนุ่มซึ่งในขณะนั้นทั้งสองเพิ่งจะอายุในวัย
40 ต้นๆ พรดูเหมือนจะอายุ 40 หรือ 41 ส่วนสุธีก็เช่นกัน
ผมยังจำแววตาของทั้งสองได้เมื่อสุธีพูดถึงโครงการบางโครงการและเมื่อพรพูดถึงการบริหารงานในรูปแบบทันสมัยที่จะทำให้โครงการนั้นเจริญก้าวหน้าไป
พรมีความเชื่อมั่นว่าในตัวเองมาก แต่ขณะเดียวกันสุธีเองกลับมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากกว่าพรเสียอีก
และนี่แหละคือนิยายของการเริ่มต้นของทุกๆ องค์กร ที่ผู้ที่ตั้งจะมองแต่อนาคตที่เห็นขอบฟ้าเป็นสีทองพร้อมที่จะฟันฝ่าอุปสรรคต่อสู้
ทำงานจนถึงดึกถึงดื่น เพียงพอที่จะพิชิตสิ่งที่ตัวเองใฝ่ฝัน
ทั้งสองคนยังเป็นคนหนุ่มอยู่ เขาทั้งสองคนอาจจะยังไม่มีเงินเป็นร้อยหรือพันล้านแต่ทั้งสองคนมีไฟ
จากวันนั้นต่อมาเพียงไม่กี่ปี ทั้งพรและสุธีดูเหมือนจะลืมเหตุการณ์ในสมัยที่ตนทั้งสองได้พำนักอาศัยและสร้างวิมานในความฝันด้วยกันที่ตึกอาคารเคี่ยนหงวน
เพราะจากวันนั้นไปพีเอสเอก็เปลี่ยนแปลงไปเสียแล้ว จากบริษัทเล็กๆ เพียงไม่กี่บริษัท
พีเอสเอเพิ่มจำนวนบริษัทขึ้นมาแทบจะเก็บรักษา Record ของตัวเองจนแทบจะไม่ทัน
ทั้งคนใหม่ก็ถูกนำเข้ามาตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเอ็มบีเอจากต่างประเทศหรือจะเป็นกลุ่มหนุ่มไฟแรงจากองค์กรซึ่งได้ทำงานจนประสบความสำเร็จและพิสูจน์ตัวเองมาแล้ว
หรือที่ยังไม่ได้พิสูจน์ตัวเองที่พรและสุธีให้ความเชื่อมั่นนำเข้ามา
มันเป็นนิยายขององค์กร ซึ่งผมเชื่อว่าหลายๆ องค์กรที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ในประเทศไทยจะประสบพบและผ่านความขมขื่นและความเจ็บปวดอันนี้มา
เมื่อองค์กรยังเล็กอยู่ผู้ก่อตั้งก็จะอยู่กันจนดึกจนดื่นคุยกันถึงอนาคต
แววตาก็จะฉายแสงสะท้อนแสดงถึงความทะเยอทะยานที่จะประกอบด้วยความเชื่อมั่นอย่างสูง
พรและสุธีก็ไม่มีข้อยกเว้น แต่เมื่อองค์กรเริ่มโตขึ้นและเมื่อมีคนเก่งเข้ามามากขึ้น
และที่สำคัญและร้ายที่สุดเมื่อองค์กรนั้นได้ผ่านช่วงวิกฤตการณ์ของความลำบากยากเย็นของการหมุนเงินหมุนทองขององค์กรที่จะต้องไปตายเอาดาบหน้า
หรือแม้แต่บางครั้งของการที่จะหมุนเงินเพียงเพื่อมาจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานในองค์กรนั้น
มาจนถึงจุดกระทั่งที่องค์กรนั้นประสบความร่ำรวย จะด้วยวิธีใดก็ตามจนมีเงินเหลือมหาศาล
และเมื่อนั้นแหละคือสัญญาณอันตรายที่เริ่มจะมีการแตกแยก
ในช่วงของการเริ่มต้นนั้นผมจำได้ดีว่า สุธี นพคุณ จะเป็นผู้บริหารและคุมบริษัทเงินทุนลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน
ส่วนพร ก็มอบให้สุรินทร์ ลิมปปานนท์ เป็นผู้คุมบริษัทเงินทุนเครดิตการพาณิชย์
ทั้งสองแห่งนี้จะเป็นแหล่งดึงดูดเงินจากประชาชน และทั้งสองแห่งจะต้องสรรหาเงินมาเพื่อสนับสนุนธุรกิจในเครือพีเอสเอ
ให้ดำเนินต่อไปให้ได้ผลดี
ในช่วงต้นของการดิ้นรนนั้นทุกคนจะไม่มีอะไรเกี่ยงงอนกันมากนักกับการที่จะต้องช่วยเหลือบริษัทในเครือ
ทุกคนมีความรักใคร่กัน บริษัทนี้อาจขาดเงิน 10 ล้าน บริษัทนั้นขาดเงิน 5 ล้าน
พัฒนาเงินทุนหรือเครดิตการพาณิชย์ก็จะช่วยกันออกตั๋วสัญญาใช้เงินและช่วยบริษัทนั้นๆ
ไป
เพราะทุกคนรู้ดีว่าในช่วงที่ตั้งไข่นั้น ทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจและรักใคร่สามัคคีกันแน่นแฟ้น
ในช่วงนั้นเราลำบากมากพอสมควร เพราะจากการที่เราขาดเงินทุนมาประกอบการทำให้บริษัทใดก็ตามที่เกิดขึ้นในเครือพีเอสเอในช่วงหลังจะกลายเป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนที่ต่ำ
แต่จะใช้วิธีการที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Debt Financing โดยหวังว่าสักวันหนึ่งที่องค์กรนั้นทำประสบความสำเร็จมีกำไรเข้ามามหาศาล
นอกเหนือจากจะยืนได้ด้วยเงินทุนจดทะเบียนที่ต่ำแล้วในขณะเดียวกันบริษัทเงินทุนที่หนุนหลังอยู่ก็จะได้รับเงินต้นคืนพร้อมทั้งดอกเบี้ย
เมื่อมาคิดดูหรือเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรือในปีที่แล้ว
เราจะเห็นได้ชัดว่าวิธีการของพีเอสเอนั้นก็ไม่ได้ต่างกับวิธีการของบริษัทไฟแนนซ์หรือบริษัทเงินทุนต่างๆ
ที่พากันล้มระเนระนาดกันในปีที่แล้วเลยแม้แต่น้อย
จุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ทั้งพรและสุธีเริ่มที่จะตั้งป้อมกันมาทีละนิดทีละนิด
มีอยู่ 2 จุดด้วยกัน
ในจุดแรกตามความเห็นของผมคือการที่คนใหม่ได้เข้ามามาร่วมในองค์กรพีเอสเอ
เราต้องอย่าลืมว่า ในยุคแรกของพีเอสเอนั้นมีอยู่ 3 คนเท่านั้น ที่เป็นตัวเด่น
คนแรกคือพร สิทธิอำนวย คนที่สองคือวนิดาหรือ เอด้า สิทธิอำนวย และคนที่สามคือ
สุธี นพคุณ
ทั้ง 3 คนนี้ร่วมกันเริ่มพีเอสเอมาในยุคแรก
ในตอนต้นๆ นั้น เอด้าจะไม่ค่อยได้ยุ่งเกี่ยวกับพีเอสเอมากนัก เพราะเธอมัวแต่ดูแลกิจการหนึ่งของเธอซึ่งเปรียบเสมือนลูกรักของเธอนั่นคือ
บริษัทสยามเครดิตในอดีต หรือที่ปัจจุบันเรียกว่าสยามราษฎร์ลิซซิ่ง เพราะฉะนั้นแล้วในพีเอสเอจริงๆ
แล้วก็มีเพียงพรและสุธีเท่านั้นเป็นผู้ดูแล จวบจนกระทั่งพรเริ่มขยายอาณาจักรพีเอสเอ
โดยไปซื้อบริษัทเงินทุนเครดิตการพาณิชย์โดยไป TAKE OVER บริษัททัวร์รอแยล
ขยายงานบริษัท ADVANCE PRODUCTS และทำอีกหลายต่อหลายกิจการ
การที่จะทำเช่นนั้นได้ก็ย่อมหมายถึงการตัดสินใจเอาคนวงการข้างนอกเข้ามา
และการที่มีคนนอกเข้ามานั้น ระบบการทำงานก็ย่อมเปลี่ยนไป เปลี่ยนไปจากการที่พรปรึกษากับสุธีเพียง
2 คน กลายเป็นพรจะต้องปรึกษากับกรรมการบริษัทให้มากขึ้น
อาจจะเป็นเหตุผลอันนี้แหละที่ทำให้พรเริ่มมองเห็นว่าความสามารถของสุธีมีอยู่ในบางส่วน
และยังมีอีกหลายส่วนที่ยังขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวางแผน และในด้านของศักยภาพทางการเงิน
เพราะสุธีไม่ได้เป็น FINANCE MAN สุธีเป็น OPERATION MAN
คนที่พรเอาเข้ามานั้น พรเองก็ได้สร้างลักษณะวัฒนธรรมขององค์กรที่ผิดอีกประการหนึ่ง
คือในกรณีที่เป็นคนของพรที่เอาเข้ามา พรก็จะดูแลคนนั้นอย่างใกล้ชิด หรือพรก็จะออกคำสั่งให้คนนั้นทำงานโดยตรง
โดยพรจะเป็นผู้สั่งให้ผู้บริหารที่พรนำเข้ามานั้นรายงานกับพรโดยตรง โดยไม่ต้องรายงานกับสุธี
เพราะฉะนั้นแล้วมันก็เลยเกิดการแบ่งเส้นพรมแดนกันขึ้นมาว่า คนนี้เป็นคนของพร
ที่พรเอาเข้ามา เพราะฉะนั้นแล้วเขามีหน้าที่อย่างเดียวคือทำตามคำสั่งพร
ส่วนด้านของสุธีนั้น ก็นำเอาคนของสุธีเข้ามาหลายคน และวิธีการมันก็คล้ายกัน
คือ คนที่เข้ามาในด้านของสุธีก็จะเชื่อฟังในคำสั่งของสุธี ส่วนคนที่พรเอาเข้ามาก็จะเชื่อฟังคำสั่งของพร
เพราะฉะนั้นในองค์กรๆ หนึ่งเราก็จะเห็นค่ายอยู่ 2 ค่าย อยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน
และอันนี้แหละเป็นจุดต่อเนื่องให้แตกหักในที่สุด
ความจริงแล้วสภาวการณ์แตกร้าวระหว่างพรและสุธีนั้น คงจะไม่ได้เกิดขึ้นถ้าปราศจากคนคนหนึ่ง
ซึ่งมาจากมาเลเซีย
คนคนนั้นชื่อนาย อึ้ง วาย ชอย
อึ้ง วาย ชอย เป็นที่ปรึกษาการลงทุนและเป็นทั้งนักเล่นหุ้น และนักปั่นหุ้นตัวฉกรรจ์ที่พรเอาเข้ามาจากมาเลเซีย
เอามาเพื่อเตรียมตัวที่จะรับกับสภาวการณ์ของการ Boom ของตลาดหุ้นในช่วงประมาณปี
2519-2520 ในขณะนั้นบริษัทรามาทาวเวอร์ซึ่งมีโรงแรมไฮแอทรามา (ในเวลานั้นโรงแรมยังอยู่ภายใต้การบริหารของเครือไฮแอท)
เป็นหลักทรัพย์ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวอะไรนัก
มูลค่าราคาหุ้นก็อยู่ในราคาประมาณ 80 กว่าบาท ต่อราคา Par Value 100 บาท
อาจจะเป็นเพราะมันถึงคราวตลาดหุ้นมันจะต้อง Boom และมันมีเค้าและมีวี่แวว
เพราะฉะนั้นแล้วหน้าที่ของนายอึ้ง วาย ชอย ที่สำคัญที่สุดหน้าที่หนึ่งก็คือ
การดูแลความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น และหาทางที่จะเก็งกำไรจากหุ้นในมือที่มีอยู่
เพื่อที่จะทำผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มอย่างสูงสุด
และการที่อึ้ง วาย ชอย จะทำเช่นนั้นได้ ก็ย่อมหมายถึงว่าเขาจะต้องเข้าไปรับทราบว่า
ในบรรดาผู้ถือหุ้นบริษัทรามาทาวเวอร์ เจ้าของโรงแรมไฮแอทรามามีผู้ใดบ้างที่เป็นเจ้าของหุ้น
และจากการที่จะต้องเข้าไปค้นคว้าอันนี้แหละทำให้วันหนึ่งพรพบว่ามีอยู่หลายบริษัทที่เป็นเจ้าของหุ้นของโรงแรมรามา
แต่หลายบริษัทนั้นแทนที่จะเป็นพรถือหุ้นใหญ่ กลับเป็นสุธีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไปในที่สุด
และอันนี้เป็นจุดเริ่มที่สร้างรอยร้าวและเป็นสาเหตุที่พรต้องให้นายอึ้ง
วาย ชอย เช็กอย่างลับๆ ตลอดเวลาว่าในบรรดาบริษัทในกลุ่ม พี เอส เอ จะเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์
หรือไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นั้น มีอันใดบ้างที่สุธีได้แอบเพิ่มทุนในบริษัทนั้น
และกลายเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ขึ้นมาบ้าง
นอกจากประเด็นนี้แล้วการเข้ามาของนายอึ้ง วาย ชอย ก็สร้างความไม่พอใจให้กับสุธีมากมายหลายประการ
คงจะเป็นเพราะการไม่เคยชินกับการเล่นหุ้นของคนไทย ทำให้บทบาทนายอึ้ง วาย
ชอย ในขณะนั้นดูสูง
พรเชื่อในฝีไม้ลายมือของนายอึ้ง วาย ชอย เป็นผู้ที่มีประสบการณ์สูงในการเล่นหุ้นในตลาดสิงคโปร์
มาเลเซียและฮ่องกงมาแล้ว แต่ตลาดหุ้นของไทยในตอนนั้นเพิ่งจะเริ่ม Boom
เป็นครั้งแรก ผลของการที่หุ้นได้ Boom ขึ้นและได้มีการซื้อมาขายไป ซื้อมาราคาต่ำขายไปราคาสูง
อะไรทำนองนั้นกับบริษัทรามาทาวเวอร์ และการที่บริษัทเงินทุนเครดิตการพาณิชย์ซึ่งอยู่ในกลุ่ม
พี เอส เอ ได้เข้าไปในตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทสยามเครดิตซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทสยามราษฎร์ลิซซิ่งได้เข้าไปในตลาดหลักทรัพย์
ตลอดจนมีการเพิ่มทุนกันเกือบทุกๆ เดือนหรือ 2 เดือนนั้น ทำให้กลุ่มพี เอส
เอ ได้มีกำไรจากการซื้อขายหุ้นนี้ เป็นกำไรถึงร้อยล้านบาท และสามารถพลิกสถานภาพของกลุ่ม
พี เอส เอ ซึ่งอยู่ในสถานภาพวิกฤตการณ์ทางการเงิน กลายเป็นผู้ที่มีเงินเหลืออยู่มากทีเดียว
จุดนี้แหละเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งที่ทำให้สุธี นพคุณ เริ่มคิดที่จะไปสร้างอาณาจักรของตัวเองอยู่
ซึ่งสุธีเองก็ทำอยู่ก่อนที่จะร่ำรวยจากการซื้อหุ้นโดยการขยายงานของสุธีหลายจุดนั้น
ที่สุธีได้ทำไปโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากพรเลย
ยกตัวอย่างเช่น การซื้อบริษัทอินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิต จากวิวิทย์ วิจิตรวาทการ
และการที่สุธี นพคุณ เอาบริษัทอินเตอร์ไลฟ์และบริษัททัวร์รอแยลและบริษัทพัฒนาเงินทุนเข้าไปเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัทสายการบินแอร์สยาม
โดยที่พรไม่รู้เรื่อง จนเป็นข่าวขึ้นมาในตลาดว่ากลุ่มพี เอส เอ กำลังจะเข้าไป
Take Over บริษัทแอร์สยาม ซึ่งกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก
วันหนึ่งขณะที่พรกำลังทานข้าวเย็นอยู่ที่ห้องอาหารโรติซซารี่ที่มีชื่อของโรงแรมไฮแอทรามา
พรก็ได้มีโอกาสเจอธรรมนูญ หวั่งหลี และฉัตรชัย บุญยอนันท์ เมื่อถูกถามว่า
พี เอส เอ จะเข้าไปซื้อแอร์สยามหรือ พร สิทธิอำนวยถึงกับงงเป็นไก่ตาแตก
การที่สุธีไปสร้างตึกดำที่ถนนศรีอยุธยานั้นก็ไม่ได้เป็นส่วนช่วยให้สถานการณ์ที่มันเลวร้ายให้ดีขึ้นไปกว่าเดิม
สุธี นพคุณ มักจะพูดอยู่เสมอว่า ตัวเขานั้นถูกพรและเอด้า หรือวนิดาบีบให้ออกมาจาก
พี เอส เอ
แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วทั้งพรและเอด้ามีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้สุธี
นพคุณนั้นคงอยู่ใน พี เอส เอ ตลอดไป เพียงแต่พรและเอด้าได้ขอร้องให้สุธีเข้าไปอยู่ในบริษัทแม่คือบริษัท
พี เอส เอ และพรและเอด้าก็จะจัดสรรหุ้นซึ่งอยู่ในบริษัทแม่นั้นให้กับ สุธี
นพคุณ (ผมยังประมาณไม่ได้ว่าเท่าไหร่ แต่คิดว่าประมาณ 25-33%) และพรก็ได้มอบตำแหน่ง
President ของพี เอส เอ เพียงแต่พรและเอด้าหวังว่าสุธีคงจะเดินอยู่ในกรอบที่ควรจะเป็น
นั่นคือการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้นและสุธีก็ยังไม่ได้ให้คำตอบ
ท่ามกลางคน 2 คน คือ สุธี นพคุณ และพร สิทธิอำนวย ก็มีคนยืนอยู่ตรงกลาง
และคนคนนั้นชื่อ บุญชู โรจนเสถียร
ถ้าเปรียบบุญชู โรจนเสถียร เป็นดอนคอลิออน หรือก๊อดฟาเธอร์ นิยายของมาริโอ
พูโซ ก็คงจะไม่ผิด
จะผิดก็ตรงที่ว่า ดอนคอลิออน ที่ชื่อบุญชู โรจนเสถียร นั้นไม่ใช่ดอนลิออนของมาริโอ
พูโซ ที่สั่งคนโน้นหรือทำลายคนนี้ แต่บุญชู โรจนเสถียรเป็นก๊อดฟาเธอร์ที่เป็นผู้สร้างทั้งพรและสุธี
อาจจะเป็นเพราะว่า ที่เป็นพร สิทธิอำนวย ทุกวันนี้ หรือ สุธี นพคุณ ที่สุธี
นพคุณ ที่ตกระกำลำบากทุกวันนี้ จะไม่เป็นเช่นทุกวันนี้ได้ ถ้าไม่มีคนชื่อบุญชู
โรจนเสถียร
"บุญชูเป็นคนที่ทำให้ผมเกิด ทุกวันนี้ที่ผมมีอะไร ที่ผมมีสายสัมพันธ์ที่มี
CONNECTION ก็เป็นเพราะคุณบุญชูเป็นคนให้ผมมา" พร สิทธิอำนวยมักจะพูดอยู่เสมอ
"คุณรู้ไหมว่าผมทำงานกับคุณบุญชูมา 10 กว่าปี 10 กว่าปีมานี้ผมทำงานทุกอย่างให้คุณบุญชู
ไม่ว่าคุณบุญชูจะต้องการอะไรผมจะรีบเร่งให้ คุณบุญชูสั่งงานเช้านี้และก็จะต้องการให้ได้งานภายในคืนนี้ผมก็จะอยู่ทำงานจนดึกจนดื่น
ผมทนทำเช่นนี้เพื่ออะไร ผมทำเช่นนี้ไปเพียงเพื่อผมจะได้เรียนรู้สายสัมพันธ์ที่คุณบุญชูมีอยู่นั้นก็คือสายสัมพันธ์ที่จะมาช่วยในอนาคตทางการงานของผม"
พร สิทธิอำนวยเคยเล่าให้ผมฟัง
และก็เป็นบุญชู โรจนเสถียร นี่เองแหละที่เป็นคนแนะนำสุธี นพคุณ ให้ทำงานกับพร
สิทธิอำนวย บุญชู โรจนเสถียร ไปพบสุธี นพคุณ ที่อเมริกาและก็ชวนสุธีกลับเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ
โดยกลับมาทำงานครั้งแรกก็มาคุมแผนกคอมพิวเตอร์ และก็ถูกบรรดาลูกน้องในแผนกคอมพิวเตอร์สไตร๊ค์ขับไล่จนกระทั่งบุญชูต้องย้ายสุธี
นพคุณ ไปอยู่กับพร สิทธิอำนวย ที่แผนกวางแผน และในที่สุดเมื่อพร สิทธิอำนวยลาออกจากธนาคารกรุงเทพออกมาตั้งตัวเอง
สุธี นพคุณ ก็ลาออกตามมาด้วยเ พื่อที่จะมาร่วมสร้างอาณาจักรกับพร สิทธิอำนวย
ความใกล้ชิดสนิทสนมที่สุธีมีต่อบุญชูและบุญชูให้ความไว้วางใจในตัวสุธีนั้น
ส่วนใหญ่มาจากการแนะนำของพร สิทธิอำนวย
บุญชูไว้ใจสุธีมากในระยะหลังจนถึงจุดจุดหนึ่ง สุธีจะเป็นผู้จัดสรรเกี่ยวกับการเงินการทองให้กับบุญชูในเรื่องเกี่ยวกับด้านการเมือง
สุธีจะเป็นตัวนายหน้าที่ติดต่อบรรดานักการเมืองทั้งหลาย หรือในช่วงการหาเสียงในช่วงที่บุญชูเป็นสมาชิกพรรคกิจสังคมและสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกจนได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น
สุธี นพคุณ มีหน้าที่อย่างหนึ่งซึ่งจะต้องทำตามที่บุญชูสั่ง คือเข้าไปรับใช้
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ไม่ค่อยชอบอกชอบใจคนที่ชื่อสุธี นพคุณ เท่าไหร่นัก
จึงไม่ได้ให้เป็นเลขานุการส่วนตัวอีกต่อไป
แต่ก็นั่นเถอะ สุธี นพคุณ นอกเหนือจากการทำธุรกิจในกลุ่มพีเอสเอหน้าที่หนึ่งก็คือการดูแลการใช้เงินส่วนตัวของบุญชู
โรจนเสถียร รวมทั้งการลงทุนบางประเภทของบุญชูด้วย
ความใกล้ชิดสนิทสนมอันนี้แหละที่ทำให้ทั้งสุธีและทั้งพรจะต้องฟังบุญชูไม่ว่าบุญชูจะพูดในเรื่องอะไร
เพราะฉะนั้นแล้วในเรื่องความขัดแย้งระหว่างสุธีกับพรนั้น ทั้งสองฝ่ายพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้เข้าหูบุญชู
(อย่างน้อยก็ทางด้านพรนั่นแหละไม่เคยนำเรื่องนี้ไปพูดกับบุญชูเลย ถ้าจะมีก็มีทางด้านสุธีนั่นแหละซึ่งเป็นผู้คาบข่าวไปเล่าให้บุญชูฟังว่าเขาอยู่ในกลุ่มพีเอสเอแล้วเขาอึดอัดใจเพราะเขาทำงานร่วมกับเมียของพรไม่ได้
จนกระทั่งถึงจุดจุดหนึ่งบุญชูเคยพูดให้คนฟังว่าพรนั้นเสียเพราะเมีย)
ข้อตกลงระหว่างพร สิทธิอำนวย สุธี นพคุณ และเอด้าหรือวนิดา สิทธิอำนวย ในการที่จะให้สุธี
นพคุณนั้นโอนหุ้นทุกอย่างเข้ามาอยู่ในบริษัทแม่และบริษัทแม่คือพีเอสเอก็จะโอนหุ้นให้กับสุธีประมาณ
25-33% นั้น เป็นข้อตกลงที่ทั้งพรและเอด้าขอร้องสุธีว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องภายใน เมื่อพูดกันแล้วก็ควรจะมีสัญญาลูกผู้ชายว่าจะไม่ไปพูดให้บุญชูฟัง
แต่สุธีก็เล่าให้บุญชูฟังถึงความแตกแยกอันนี้ในที่สุด !!
"วันหนึ่งบุญชูโทรมาหาผมและถามผมว่า Paul what's the matter with you
ทำให้ผมงงไปหมด ผมก็เลยถามบุญชูไปว่าไม่มีอะไรนี่ แต่ในที่สุดบุญชูก็ถามเรื่องสุธีที่มีความขัดแย้งกับผม"
พร สิทธิอำนวย เล่าเรื่องนี้ให้ผมฟังครั้งหนึ่ง และนี่แหละคือจุดที่สำคัญที่ใหญ่ที่สุดที่ทั้งพรและเอด้าถือว่าสุธีไม่รักษาคำมั่นสัญญา
เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ก็หมายถึงว่าทั้งสามคนจะอยู่ร่วมกันไม่ได้
และแล้วการแบ่งสมบัติก็ได้เริ่มเกิดขึ้น
ความจริงแล้วในแบ่งสมบัติในครั้งนั้น พร สิทธิอำนวย ปรารถนาอยู่อย่างเดียวเพียงเท่านั้น คือไม่ต้องการมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับสุธีอีกต่อไปแล้ว จึงให้สุธีนั้นเป็นผู้เลือกว่าสุธีต้องการจะเอาอะไรไป
เดิมทีนั้นนายอึ้ง วาย ชอย ได้แนะนำไม่ให้ปล่อยบริษัทรามาทาวเวอร์เจ้าของโรงแรมไฮแอทรามาไป
เพราะนายอึ้ง วาย ชอย เห็นว่าโรงแรมไฮแแอทรามามีทรัพย์สินคือที่ดินบนถนนสีลม ที่นับวันจะเพิ่มพูนมูลค่า
แต่ด้วยการที่พรต้องการจะตัดปัญหาไปให้หมดสิ้น ก็เลยปล่อยโรงแรมไฮแอทรามา โดยขายหุ้นส่วนที่เหลือของพรให้กับสุธีไป
รวมทั้งหุ้นหลายๆ อันที่อยู่ในบริษัท เช่น บริษัทพัฒนาเงินทุน บริษัทบ้านและที่ดินไทย
บริษัทประกันชีวิตอินเตอร์ไลฟ์ บริษัททัวร์รอแยล ฯลฯ ให้กับสุธี ซึ่งคนในวงการคนใกล้ชิดกับพรในขณะนั้นเล่าให้ฟังว่า
ราคาที่ซื้อขายกันนั้นราคาที่สุธีซื้อนั้นเป็นราคาที่ถูกมากๆ มิหนำซ้ำยังสามารถจะผ่อนได้โดยทำเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินโดยจ่ายให้เป็นงวดๆ
ถ้าจะนับถึงสถานภาพของสุธีในช่วงที่แยกออกจากพรนั้น จะต้องยอมรับว่าเป็นสถานภาพที่แข็งอย่างมากเลย
เพราะตัวบริษัทแม่คือบริษัทรามาทาวเวอร์นั้น เป็นบริษัทที่แข็งมากในขณะนั้น
นอกจากจำนวนหนี้ที่ลดลงน้อยมากแล้ว รามาทาวเวอร์เองก็เพิ่งจะมีฐานหมุนเงินซึ่งเพิ่งจะเพิ่มทุนขึ้นเป็น
1,200 ล้านบาท และยังสามารถจะเรียกระดมทุนได้เข้ามาทันที ส่วนตัวหนี้สินของบริษัทอื่นๆ
นั้นถ้าจะมีก็คงจะมีแต่เพียงบริษัททัวร์รอแยลอยู่บริษัทเดียวเท่านั้นเอง
แต่ปํญหาหนี้สินก็ไม่ใช่เป็นปัญหาที่ใหญ่เมื่อเทียบกับพื้นฐานทางการเงินที่รามาทาวเวอร์มีอยู่ในขณะนั้น
และในที่สุดสุธี นพคุณ และพร สิทธิอำนวย ก็ได้หย่าขาดจากกันในช่วงเวลาที่บุญชู
โรจนเสถียร เข้ามารับตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจในยุครัฐบาลเปรมหนึ่ง
เมื่อผมมองย้อนหลังถึงวันที่เขาแยกกันแล้ว มาคิดดูให้ลึกอีกทีมีหลายเสียงที่กล่าวหาว่า
เหตุผลใหญ่ที่สุดที่ทำให้สุธีต้องแยกออกจากพรนั้นเป็นเพราะภรรยาของพร
คือ วนิดา สิทธิอำนวย !
เพื่อความเป็นธรรมแล้วหลังจากที่วินิจวิเคราะห์อย่างละเอียด ผมไม่คิดว่าวนิดา
สิทธิอำนวย ด้วยข้อเท็จจริงแล้วในช่วงนั้นวนิดา สิทธิอำนวย ไม่ได้มีบทบาทอะไรอยู่ในพีเอสเอเลยแม้แต่นิดเดียว
เธอสนใจและก็ยุ่งอยู่อย่างเดียวและก็ไม่ให้ใครเข้ามายุ่งเลยนั้นคือบริษัทสยามเครดิต
หรือ ในปัจจุบันเรียกว่าบริษัทสยามราษฎร์ลิซซิ่ง
ผมจำได้ว่าเธอรักบริษัทสยามเครดิตหรือสยามราษฎร์ลิซซิ่งปานแก้วตา เธอจะไม่เข้าไปยุ่งเรื่องของคนอื่นและไม่ต้องการให้ใครก็ตามที่จะเดินเข้ามาในอาณาจักรของเธอคือบริษัทสยามราษฎร์ลิซซิ่งเป็นอันขาด
เพราะฉะนั้นแล้วคำกล่าวหาที่ว่าเธอเป็นสาเหตุใหญ่ทำให้พรและสุธีต้องแตกแยกจากกันไม่น่าจะเป็นไปได้
แต่เธออาจจะเป็นสาเหตุเพียงเล็กๆ เพียงสาเหตุหนึ่งเท่านั้นเอง
ในช่วงของการบริหารพีเอสเอในช่วงนั้น ตกอยู่ในเงื้อมมือของพรและสุธีเท่านั้นเอง
นอกเหนือจากนั้นแล้วจะไม่มีใครได้เข้าไปบริหารและตัดสินใจ ถ้าหากจะมีตัวการที่ทำให้พรและวนิดามองสุธีไปในรูปที่ไม่ค่อยจะสบอารมณ์นักก็คงจะเป็นนายอึ้ง
วาย ชอย นี่แหละ เพราะสองคนนั้นนอกจากศรศิลป์ไม่กินเส้นกันแล้ว ก็เป็นที่รู้กันอยู่ในกลุ่มพีเอสเอว่าไม่ถูกกันอีก นอกเหนือจากไม่ถูกกันในเรื่องอื่นแล้ว
ยังจะต้องมีการปลั๊ฟกันในเรื่องของผู้หญิงอีกด้วย
ในช่วงแรกของการแตกแยกนั้น ฝุ่นยังตลบอยู่ เพราะฉะนั้นแล้วอะไรต่ออะไรก็ยังเห็นไม่ชัด
แต่หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปได้สักพักทุกคนที่อยู่วงนอกก็เริ่มเห็นได้ชัดว่าสุธีและพรต่างฝ่ายต่างยืนอยู่ที่ใด
ถ้าในช่วงนั้นถามคนประมาณ 10 คนก็มีคนไม่ต่ำกว่า 8 คนที่จะตอบว่าสุธี นพคุณ
มีแบ็กที่แข็งกว่า อาจจะเป็นเพราะบุญชู โรจนเสถียร ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี
ก็มีสำนักงานและคณะอยู่บนตึกดำที่เดียวที่สุธี นพคุณ นั่งอยู่ และอาจเป็นเพราะในช่วงนั้นภาวะเศรษฐกิจยังไม่เลวร้าย
อัตราดอกเบี้ยยังไม่สูง และโรงแรมไฮแอทรามาและรามาทาวเวอร์ก็อยู่ในสภาวะเหมือนกับม้าเปรียวที่กำลังคึกคะนองมีพละกำลังและฐานทางการเงินที่เข้มแข็ง
ทุกคนมองไปว่าพร สิทธิอำนวย นั้นก็คงจะเล็กลงและก็คงจะเล็กลงไปเรื่อยๆ สำหรับพรนั้นสิ่งที่เขาเก็บเอาไว้อยู่นั่นคือบริษัทเงินทุน
2 บริษัท คือ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ปฐมสยามและบริษัทแอ็ดวานซ์โปร์ดักส์ รวมทั้งบริษัทสยามราษฎร์ลิซซิ่งเอาไว้อีก
ธุรกิจของพรในช่วงนั้นถ้าจำไม่ผิด ดูเหมือนจะเป็นธุรกิจที่พรพูดกับผู้ใกล้ชิดเสมอว่าอยากจะอยู่อย่างเงียบๆ
Low Profile
คำถามที่หลายๆ คนมักจะถามผมว่า พรเจ็บปวดหรือเปล่ากับการแตกแยกอันนี้?
คงจะตอบได้ยาก เพราะหลายต่อหลายครั้งพรมักจะพูดเสมอว่าการแตกแยกระหว่างสุธีกับเขานั้นเขาเจ็บปวดมาก
แต่ให้ตายเถอะ ถ้าให้ผมตอบตอนนี้ เวลานี้ ขณะนี้ หลังจากเหตุการณ์หลายๆ
อย่างที่เกิดขึ้นกับคนในอดีตที่เคยอยู่พีเอสเอหลายๆ คน ผมต้องขอโทษที่จะพูดว่าผมไม่ค่อยจะเชื่อหรอก
ว่าพร HURT !