"แนวทาง PRIVATIZATION ของไทยถูกวางไว้ 2 แนวใหญ่ๆ แนวแรกเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด
ส่วนแนวที่ 2 นั้น ก็คือ…ขายทอดตลาด หน่วยงานไหนจะถูกดำเนินการด้วยแนวทางใด
ลองฟัง ดร.พิสิษฐ์ ภัคเกษม แถลง…"
ดร.พิสิษฐ์ ภัคเกษม เพิ่งจะเดินทางกลับจากประชุมของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย
ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นการประชุมเรื่อง PRIVATIZATION โดยเฉพาะ
ดังนั้น ดร.พิสิษฐ์จึงมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็นเกี่ยวกับแนวความคิดเรื่อง
PRIVATIZATION หรือที่หลายคนพยายามถอดความเป็นภาษาไทยว่า "การแปรสภาพรัฐวิสาหกิจสู่ภาค
เอกชน"
PRIVATIZATION เป็นหัวข้อที่เกือบทุกประเทศในโลกกำลังให้ความสนใจ
ไม่เฉพาะแต่ประเทศไทย ดร. พิสิษฐ์ ได้ชี้ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้มีสาเหตุหรือที่มาอย่างน้อย
3 ประการด้วยกัน
ประการแรก กลุ่มประเทศที่ไม่ใช่สังคมนิยมเริ่มมีผู้ตั้งคำถามที่จะออกจะท้าทายมากว่าบทบาทของภาครัฐนั้นควรจะมีขอบเขตแค่ไหนในการบริหารงานเศรษฐกิจแบบผสม
มีทั้งบทบาทของภาครัฐและบทบาทของภาคเอกชน จึงถือกันว่าปัญหานี้มีความน่าสนใจมาก
ประการที่สอง ด้านการถือครองสินทรัพย์ ระหว่างการถือครองส่วนตัว ครอบครัว
มหาชนและรัฐ ควรจะมีสัดส่วนอย่างไรจึงจะเป็นธรรมที่สุด และก่อให้เกิดประสิทธิภาพด้านการบริหารสูงสุด
ในประเทศที่ครอบครัวเป็นผู้ถือครองสินทรัพย์ไว้เป็นจำนวนมาก ก็จะต้องมีนโยบายกระจายสินทรัพย์ที่ถือครองนี้ไปให้มหาชน
และในทำนองเดียวกันถ้ารัฐถือครองสินทรัพย์ไว้มากเกินไป การ PRIVATIZATION
ก็จะมีความจำเป็น
ประการที่สาม หลายๆ ประเทศเชื่อว่า PRIVATIZATION นั้นจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหาร
เพิ่มคุณภาพของสินค้าและบริการให้สามารถแข่งขันได้กับนานาชาติ
"ในข้อที่สามอาจจะเป็นผลทางอ้อมด้วย เช่น ถ้าค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ของเราแพงที่สุดในโลก
มันก็คงจะไม่เอื้อต่อภาคการผลิตอื่นๆ ในประเทศ ทำให้สินค้าและบริการของเราสู้ต่างประเทศเขาไม่ได้"
ดร.พิสิษฐ์ช่วยอธิบายเพิ่มเติม
สำหรับประเทศไทย กล่าวในแง่ของบทบาทที่เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจแล้ว ดร.พิสิษฐ์
มีความเห็นว่า ยังมีอยู่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ หรือแม้แต่กับกลุ่มอาเซียนด้วยกัน
ทั้งนี้ก็อาจจะดูได้จากรายได้ของรัฐในรูปภาษีอากร
"ประเทศไทยจัดเก็บภาษีได้เพียงประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ
ในขณะที่กลุ่มประเทศเอเซียนโดยเฉลี่ยแล้ว 18 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในย่านเอเชียนี้ก็จะประมาณ
23 เปอร์เซ็นต์" ดร.พิสิษฐ์รายงานให้ฟัง พร้อมกับพูดเชิงทีเล่นทีจริงว่า
สิ่งนี้อาจจะถือเป็นความโชคดีของประเทศไทยในปัจจุบันก็เป็นได้
ในแง่จำนวนรัฐวิสาหกิจก็คล้ายๆ กัน ประเทศไทยและประเทศฟิลิปปินส์มีรัฐวิสาหกิจเป็นจำนวนที่ยังน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ
อย่างเช่นมาเลเซีย ซึ่งมีอยู่กว่า 500 แห่ง อังกฤษกว่า 500 แห่ง และบราซิลซึ่งมีถึงเกือบ
800 รัฐวิสาหกิจ
แต่นั่นก็คงจะไม่ได้หมายความว่าการ PRIVATIZATION จะไม่มีความจำเป็นสำหรับประเทศไทย
"ผมเห็นว่าเมื่อพิจารณาจากภาพรวมแล้ว เรามีความจำเป็น เพียงแต่จะด้วยวิธีไหนเท่านั้น"
ดร.พิสิษฐ์แสดงความเห็น
รัฐวิสาหกิจไทยจำนวน 60 แห่ง ที่อยู่ในความดูแลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจฯ
ซึ่ง ดร.พิสิษฐ์ เป็นรองเลขาธิการนี้ ก่อนหน้าวิกฤตการณ์น้ำมันเมื่อปี 2514
กล่าวโดภาพรวมนั้น จัดว่ามีกำไรส่งเข้ารัฐเป็นจำนวนมาก และมีความสามารถในการใช้รายได้ของตนถึงเกือบ
50 เปอร์เซ็นต์ในการลงทุน
แต่หลังวิกฤตการณ์หรือหลังปี 2514 เป็นต้นมา ความสามารถในการช่วยตนเองเมื่อจะต้องลงทุนลดลงเหลือเพียง
17 เปอร์เซ็นต์ในปี 2523 และขยับดีขึ้นมาเป็น 29 เปอร์เซ็นต์ในปี 2526
เมื่อความสามารถในการช่วยตัวเองลดลงและขณะเดียวกันก็ถูกตัดทอนจากงบประมาณแผ่นดิน
เพราะรัฐบาลเองก็เริ่มจะยากจนลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดรัฐวิสาหกิจก็จำเป็นต้องหาทางออกด้วยการกู้เงินมาลงทุน
หนี้สินของรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะที่เป็นหนี้ต่างประเทศจึงเพิ่มพูนขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นจำนวนตัวเลขที่น่าตกใจยิ่งขึ้นทุกวัน
"ขณะนี้รัฐวิสาหกิจทั้ง 60 แห่งถือครองหนี้สินของประเทศไว้เป็นจำนวนสูงสุด
คือ ร้อยละ 90 ของหนี้รัฐบาลนั้นเป็นหนี้ของรัฐวิสหกิจ ซึ่งรัฐบาลต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ค้ำประกัน…"
ดร.พิสิษฐ์ สรุป
การทรุดตัวของรัฐวิสาหกิจภายหลังวิกฤตการณ์น้ำมันนั้น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจฯ
ได้แถลงถึงสาเหตุไว้ดังนี้
1. อัตราการลงทุนของรัฐวิสาหกิจได้เพิ่มสูงขึ้นมาก คือได้มีการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีระดับสูงและเป็นการลงทุนประเภทที่เรียกว่า
CAPITAL INTENSIVE หรือการลงทุนที่ต้องใช้ทุนจำนวนมหาศาลกันมากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่ผ่านๆ
มา
2. การปรับราคามักจะไม่ทันกับสถานการณ์และบ่อยครั้งที่ถูกการเมืองเข้าแทรกแซง
จนไม่สามารถจะปรับราคาขึ้นไปตามสภาพของต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นได้
3. ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้น เช่น ค่าพลังงาน ดอกเบี้ย การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
4. มีจำนวนพนักงานล้นงาน ทำให้ประสิทธิภาพต่อหน่วยค่อนข้างต่ำกว่ามาตรฐานอย่างเช่นที่
ขสมก. เป็นต้น
5. เปลี่ยนตัวผู้บริหารบ่อย จึงเกิดภาวะขาดความต่อเนื่องในการทำงานและคุณภาพของผู้บริหารก็ดูจะมีปัญหาเช่นกัน
ดร.พิสิษฐ์กล่าวต่อไปว่า ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมานี้ แม้จะมีการทรุดตัวเพราะสาเหตุดังที่ได้แจกแจงไปดังกล่าว
แต่โดยส่วนรวมรัฐวิสาหกิจไทยยังมีกำไรเรื่อยมา โดยในปี 2524 มี 42 แห่ง กำไรรวม
2,000 ล้านบาท 18 แห่ง ขาดทุนรวม 2,000 ล้านบาทเศษ เพราะฉะนั้นจึงมีกำไรสุทธิส่งเข้ารัฐเป็นจำนวนประมาณ
8,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเมื่อคิดกับรายรับจำนวนเป็นแสนกว่าล้านบาทแล้วจะมีอัตรากำไรอยู่ประมาณ
5 เปอร์เซ็นต์
"เรียกว่าไม่ได้เลวอะไรนักหนา"
ปี 2525 กำไร 48 แห่ง ขาดทุน 12 แห่ง
ปี 2525 กำไร 44 แห่ง ขาดทุน 16 แห่ง
และปี 2525 กำไร 46 แห่ง ขาดทุน 14 แห่ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดแล้วจะพบว่ามีรัฐวิสาหกิจอยู่
4 แห่งซึ่งขาดทุนติดต่อกันเรื่อยมา คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย ขสมก. การประปานครหลวง
และการประปาส่วนภูมิภาค ภาพโดยส่วนรวมจึงดูจะลดความสำคัญไป เพราะรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนเป็นประจำนี้
เป็นหน่วยงานขนาดใหญ่และได้รับความสนใจจากประชาชนมาก
"ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า รัฐวิสาหกิจที่มักจะขาดทุนอยู่เป็นประจำนี้
ส่วนใหญ่เป็นกิจการสาธารณูปโภคและให้บริการในเมือง พูดกันง่ายๆ คนในเมืองบ้านเรามักจะเป็นคนประเภทรสนิยมสูงแต่รายได้ต่ำ
ถ้าใครขอขยับขึ้นราคาจะต้องโวยไว้ก่อน…" ดร.พิสิษฐ์ ถือโอกาสเสียดสีพอหอมปากหอมคอ
ดร.พิสิษฐ์ได้ชี้ออกมาว่า ในปัจจุบันแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่อง PRIVATIZATION
ของไทยนั้น
มี 2 แนวใหญ่ๆ ซึ่งรัฐวิสาหกิจใดควรจุอยู่ในแนวไหนนั้นจะเป็นรายละเอียดที่จะต้องพิจารณาเป็นแห่งๆ
ไป
แนวแรก เป็นแนวที่รัฐพยายามจะส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจมีการบริหารแบบเอกชน
วางหลักไว้ 3 ประการด้วยกัน คือ
หนึ่ง-ปล่อยให้มีการกำหนดราคาเองมากขึ้น ให้คุ้มกับต้นทุนบวกดอกเบี้ยบวกกำไร
แต่จะมี
กฎเกณฑ์ไว้ควบคุมด้วย
สอง-ให้มีความสามารถในการแข่งขันกับเอกชน อย่างเช่นกิจการการบินในประเทศ
จะเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งด้วย
สาม-การระดมเงินของรัฐวิสาหกิจจะพยายามเข้าไประดมในภาคเอกชนมากขึ้น ขณะนี้ได้เริ่มมีการกู้เงินแบบซินดิเคทเต็ดโลน
โดยเข้าไปกู้จากเอกชนโดยตรง และเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะพยายามไม่เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้
แนวที่สอง โอนกิจการบางส่วนหรือทั้งหมดไปให้ภาคเอกชน แนวนี้จะมีหลายรูปแบบเช่นกัน
บางแห่งอาจจะเป็นการร่วมทุนกับภาคเอกชน เหมือนๆ กับโรงกลั่นน้ำมันไทย
บริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ โครงการปิโตรเคมีคัล
บางแห่งอาจจะให้รัฐวิสาหกิจตั้งบริษัทในเครือขึ้น และให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการบริษัทในเครือนี้
อาจจะต้องจ้างเอกชนเข้ามาบริหาร อย่างเช่น ท่าเรือน้ำลึกที่กำลังจะสร้าง
อาจจะเปิดให้เอกชนเข้ามาเช่า อย่างเช่น กิจการโรงแรมและสนามกอล์ฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว
และสุดท้าย อาจจะต้องใช้วิธีขายทอดตลาดเป็นทางออก ซึ่งวิธีนี้หากรัฐบาลจะปฏิบัติให้เกิดผลจริงๆ
ก็จะต้องใจกว้างพอที่จะขายกิจการดีๆ ออกไปด้วย เพราะถ้าเป็นกิจการที่ขาดทุนแล้วก็คงไม่มีเอกชนอยากจะซื้อเป็นแน่
ดร.พิสิษฐ์ได้จบลงด้วยการโยนคำถามกลับไปที่ภาคเอกชนว่า หากรัฐมีนโยบายจะขายทอดตลาดรัฐวิสาหกิจบางแห่งนั้น
ภาคเอกชนจะต้องทราบด้วยว่า ตนมีความพร้อมแค่ไหน
"ผมเชื่อว่าขีดความสามารถของตลาดหลักทรัพย์ในปัจจุบันไม่สามารถรองรับนโยบายนี้ได้แน่ๆ
และฉะนั้นอย่าเพิ่งมองว่ารัฐควรขายรัฐวิสาหกิจหรือไม่เพียงด้านเดียว แต่จะต้องมองด้วยว่าภาคเอกชนมีความพร้อมแค่ไหน…"