เราได้ผ่านสมัยของการมีทหาร ข้าราชการ พ่อค้า และนักการเมืองเข้ามาบริหารประเทศชาติมาจนหมดสิ้นแล้ว
ขาดแต่ก็เพียง TECHNOCRAT และ PROFESSIONAL เท่านั้นที่เรายังไม่เคยลอง
ถ้าเราเคยมีทหาร เช่น พลเอกกฤษณ์ สีวะรา เป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรม
หรือทนายความ เช่น มารุต บุนนาค เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข
หรือนักการเมืองอาชีพ เช่น โกศล ไกรฤกษ์ มาเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์
หรือพ่อค้าเต็มตัว เช่น อบ วสุรัตน์ มาเป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรม
ทำไมเราจะไม่ลองวางตัวนักบริหารมืออาชีพมาเป็นผู้บริหารประเทศชาติบ้างเล่า
?
อย่างน้อยที่สุด นักบริหารมืออาชีพนั้นก็ยังพอจะซื่อสัตย์ต่อสาขาวิชาชีพของเขา
คือ การบริหาร !
คนพวกนี้จะมีผลประโยชน์เกี่ยวพันน้อยที่สุด เพราะคนพวกนี้ไม่ได้มีผลประโยชน์ในรูปแบบของอำนาจสายเก่าที่ต้องคงรักษาไว้เช่นการจะต้องเอาอกเอาใจทหารด้วยกัน
หรือ
การต้องรักษาเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาล และรักษาสถานภาพของพรรคการเมืองที่ตัวสังกัดอยู่โดยหาเงินหาทองเข้าพรรคทุกวิถีทาง
หรือต้องตอบแทนบุญคุณกับนายทุนที่หนุนพรรคโดยการให้อภิสิทธิ์ และใช้อำนาจทางกฎหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์กับพรรคพวกตัวเองเท่านั้น
! หรือจากการที่เป็นพ่อค้าเก่าก็สามารถเห็นช่องท่างการกอบโกยเข้าตัวเองได้
โดยวิธีที่แยบยลที่สุด โดยเล่ห์กระเท่และความชำนาญในอาชีพเก่าของตนเอง
TECHNOCRAT และนักบริหารมืออาชีพนั้นมีอะไรหลาย ๆ อย่างคล้ายคลึงกัน และมีองค์ประกอบร่วมที่สำคัญๆ
ด้วยกันเช่น :-
1. ไม่มีความจงรักภักดีต่อผู้หนึ่งผู้ใดเป็นพิเศษนอกจากความจงรักภักดีต่ออาชีพและหน้าที่ที่ตัวเองได้รับมอบหมายในฐานะเป็นมืออาชีพ
2. ไม่ได้มีชาติตระกูลหรือเป็นเจ้าของกิจการที่จะต้องมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องเมื่ออยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจและให้คุณให้โทษได้
3. ไม่ได้มีความผูกพันกับบุคคลที่อยู่ในฐานะปูชนียบุคคลหรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่จะต้องเกรงอกเกรงใจ
เพราะความผูกพันและความเกรงใจที่มีอยู่ก็จะอยู่เพียงแค่เหตุผลข้อเท็จจริงและผลที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจเท่านั้น
4. คนพวกนี้จะมีขั้นตอนการตัดสินใจที่ค่อนข้างฉับไวและพร้อมเพรียงด้วยข้อมูล
ตลอดจนลักษณะของการวางแผนที่ดี พร้อมทั้งทางเลือกที่เตรียมเอาไว้พร้อม
5. รางวัลของคนพวกนี้จะอยู่ที่ผลสำเร็จของงานและการยอมรับว่าเขาเป็นนักบริหารมืออาชีพ
มากกว่าที่จะร่ำรวยอย่างผิดสังเกตในหน้าที่การงานของเขา
6. การยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดจนการพยายามจะหาวิธีการทำงานที่ดีกว่าเก่าจะมีอยู่ในคนพวกนี้มาก
7. การพัฒนาคนขึ้นมาตลอดจนการให้โอกาสคนที่มีความสามารถได้แสดงฝีมือจะเป็นปรัชญาประจำตัวของคนพวกนี้
โดยสรุปแล้ว ถ้าเรามองประเทศไทยว่าไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว
และถ้าเรามองถึงการแข่งขันพัฒนาตลอดจนการแข่งขันกันในเชิงพาณิชย์กับประเทศอื่นในโลกเพื่อ
ความกินดีอยู่ดีของประชาชนชาวไทยแล้ว พวก TECHNOCRAT และนักบริหารมืออาชีพคือความหวังที่เราน่าจะพึ่งพาได้ในการนำนาวาลำนี้ให้ไปได้ตลอดรอดฝั่งในจำนวนปีที่เหลือของทศวรรษนี้
ประเทศไทยกำลังค้นพบทรัพยากรธรรมชาติที่มีมูลค่าขึ้นมาได้ เช่น พลังงานในรูปของก๊าซ
ธรรมชาติและน้ำมันดิบ ฯลฯ
การค้นพบนี้ บางคนอาจจะพูดว่าเป็นเพราะบุญบารมีของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
ก็ได้
แต่ถ้าเราไม่สามารถจะบริหารผลที่เกิดจากทรัพยากรเหล่านี้ให้ประสานกับความอุตสาหะของคนไทย
และความสามารถในการแข่งขันในเชิงพาณิชย์กับนานาชาติ ตลอดจนเฉลี่ยผลประโยชน์เหล่านี้ให้คนไทยด้วยกันแล้ว
ก็อาจจะพูดได้ว่า "มีบุญแต่กรรมบัง" ก็ได้
ถึงเวลาแล้วที่เราต้องให้มืออาชีพจริงๆ เข้ามาบริหารทรัพยากรที่เราเพิ่งค้นพบได้ให้ไปในทางที่เกิดประโยชน์มากที่สุด
และการจะทำเช่นนี้ได้ก็ต้องใช้คนที่เหมาะที่สุด
สำหรับรัฐบาลในฝันของ "ผู้จัดการ" นั้น อาจจะมีข้อบกพร่อง แต่อย่างน้อยที่สุดในฐานะประชาชนและเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของประเทศไทย
ถ้ามีการประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่เราก็จะไม่รีรอที่จะเสนอคนดังต่อไปนี้เป็นผู้บริหารประเทศเสียใหม่
นายกรัฐมนตรี
เกษม จาติกวณิช
รองนายกฝ่ายความมั่นคง
พลโท ชวลิต ยงใจยุทธ
รองนายกฝ่ายพาณิชย์และการคลัง
ดร.อำนวย วีรวรรณ
รองนายกฝ่ายอุตสาหกรรม คมนาคม และการเกษตรฯ
จรัส ชูโต
รองนายกฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและพิธีการ
พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ณรงค์ ศรีสอ้าน
ปลัดกระทรวงการคลัง
นุกูล ประจวบเหมาะ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
วิโรจน์ ภู่ตระกูล
ดนัย ดุลยลัมพะ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ดร.อาชว์ เตาลานนท์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเลขาธิการ BOI
จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา
เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ดร.อาณัติ อาภาภิรม
สภาวิจัยแห่งชาติ
ดร.เสนาะ อูนากูล
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.ไพจิตร เอื้อทวีกุล
เลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี
ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกด้านการท่องเที่ยวและ อสมท
มีชัย วีระไวทยะ
ทั้งหมดนี้เป็นกระทรวงและหน่วยงานที่สำคัญด้านเศรษฐกิจการพาณิชย์และการคลัง
ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของประเทศชาติในขณะนี้และต่อไปในภายหน้า
สำหรับความเหมาะสมของแต่ละตำแหน่งนั้น "ผู้จัดการ" จะแถลงออกมาให้เห็นเป็นรายบุคคลในฉบับต่อไป
หากท่านผู้อ่านต้องการจะแสดงความคิดเห็น เรายินดีต้อนรับด้วยความเต็มใจเป็นอย่างยิ่งไม่ว่าจะ
โต้แย้งหรือเห็นด้วย
โปรดสังเกตว่าเราได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐบาลชุดในฝันนี้ โดยมีบางตำแหน่งเพิ่มขึ้น
เช่น รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และเราแยกรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจเป็นพาณิชยกรรมและการคลัง
กับนายกฯ ฝ่ายอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม นอกจากนั้นเรายังมีรองนายกฯ ฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและพิธีการอีกด้วย
เหตุผลของการเพิ่มตำแหน่งมีดังนี้:-
1. รองนายกฝ่ายความมั่นคง
ความมั่นคงนั้นเป็นความมั่นคงที่มีลักษณะของภายในและภายนอก ซึ่งทั้งสองด้านนี้จะมีความสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา
การให้ทหารมาคุมด้านความมั่นคงนี้เท่ากับมอบภาระความรับผิดชอบให้ทหารมี
JOB DESCRIPTION ที่แน่ชัดและทุ่มเททุกอย่างที่ตัวเองควรจะทำไปในด้านนี้โดยเพิ่มภาระของกระทรวงมหาดไทยเข้าไป
อีกประการหนึ่งในด้านการปกครอง เช่น กระทรวงมหาดไทยนั้น เรามีรากเหง้าของความไม่มีประสิทธิภาพและการฉ้อราษฎร์บังหลวง
การข่มเหงรังแกประชาชนของข้าราชการกระทรวงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกรมตำรวจมาเป็นเวลานานแล้ว
เมื่อเอากระทรวงนี้เข้ามาอยู่ใต้อาณัติของทหาร สิทธิเสรีภาพบางประการของประชาชนอาจจะลดน้อยลงเพราะธรรมชาติของทหารที่จะต้องมีวินัยที่เข้มแข็ง
แต่โดยทั่วๆ ไปแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ก็น่าจะดีขึ้นกว่าเก่าในด้านการถูกกดขี่ข่มเหงก็จะน้อยลง
2. รองนายกฝ่ายพาณิชย์และการคลัง/รองนายกฯ ฝ่ายอุตสาหกรรม คมนาคม และเกษตรฯ
ในการบริหารเศรษฐกิจของชาตินั้น ขอบข่ายจะกว้างใหญ่มากกว่าการให้คนใดคนหนึ่งมาดูแลทั้งหมดเหมือนที่เคยเป็นมา
:
โดยทั่วไปแล้วถ้ามองประเทศในลักษณะของบริษัทแห่งหนึ่ง ก็จะแบ่งออกเป็น
ก) การขาย - พาณิชย์
ข) การเงิน - คลัง
ค) การผลิต - อุตสาหกรรมและเกษตรกรรม
ง) บริการ - คมนาคมฯ
การจับกลุ่มการหารายได้เข้ากับการเงินก็จะเป็นการช่วยให้การวิเคราะห์สถานภาพทางการเงินได้
แม่นยำยิ่งขึ้น ตลอดจนสามารถจะใช้มาตรการการคลังเข้าช่วยได้ทันทีในการทำให้ราคาสินค้าสามารถจะแข่งขันกับต่างชาติได้
3. รองนายกฯ ฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและพิธีการ
หน้าที่นี้คือหน้าที่ของการออกงานอย่างเดียว ตลอดจนเป็นตัวแทนของชาติไปเยือนต่างประเทศ
ทั้งนี้เพราะถ้าเรามองตำแหน่งนายกฯ เป็นงานที่ต้องประสานงานกับทุกฝ่ายแล้วก็ย่อมหมายถึงว่า
นายกฯ เอง จะต้องไม่มีเวลาไปสนใจในเรื่องไร้สาระ ช่น การเปิดประชุม เปิดพิธี
หรือขึ้นร้องเพลง ฯลฯ ก็ควรที่จะมีคนคนหนึ่งมาทำหน้าที่นี้ให้เต็มที่ เพื่อนายกฯ
จะได้อุทิศเวลาให้เต็มที่กับการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ
สำหรับรายละเอียดของความเหมาะสมโปรดคอยอ่าน "ผู้จัดการ" ฉบับต่อไป