ภาพของธนาคารกรุงเทพในรอบปี 2527 เป็นภาพ 2 ภาพที่ติดต่อกันอย่างชัดเจน
ภาพหนึ่ง - ธนาคารกรุงเทพได้เป็นผู้นำในการสร้างสรรค์บริการใหม่ๆ หลายอย่าง
โดยเฉพาะบริการที่เปี่ยมด้วยเทคโนโลยีทันสมัย อาทิ บริการโอนเงินกรุงเทพ
- เชียงใหม่ในระบบไมโครเวฟ บริการเงินฝากบัวหลวง ทีซีดี บริการเพิ่มศูนย์คอมพิวเตอร์ระบบออนไลน์ในต่างจังหวัด
และล่าสุดซึ่งประกาศออกมาตอนช่วงใกล้จะสิ้นปี ก็คือบริการบัวหลวง เอทีเอ็ม
นอกจากนั้น ยังได้พยายามขยายบริการไปสู่ชุมชนใหญ่น้อย แม้ในท้องถิ่นทุรกันดารก็ยังมีนิมิแบงก์เปิดให้บริการไว้ถึง
14 สาขา
และยังมีนโยบายโดดเด่นในเรื่องสนับสนุนการส่งออก
ภาพเหล่านี้แสดงบทบาทในทางสร้างสรรค์ซึ่งก็เป็นไปตามนโยบาย "ปีแห่งคุณภาพ"
ที่ธนาคารกรุงเทพประกาศไว้
แต่อีกภาพหนึ่ง ดูจะไม่ช่วยในเรื่องการสร้างสรรค์เท่าไหร่ กลับจะเป็นตัวฉุดรั้งเสียด้วยซ้ำไป
นั่นก็คือข่าวลือระลอกแล้วระลอกเล่าที่โหมซัดเข้าใส่ธนาคารแห่งนี้อย่างหนักหน่วง
ที่รุนแรงที่สุดก็คือข่าวลือว่า ธนาคารกรุงเทพจะล้ม ซึ่งกว่าจะประคองตัวรอดจากลมปากมาได้ก็ทำเอาสูญเงินฝากไปกว่า
4,000 ล้านบาท และต้องสูญเสียภาพลักษณ์อย่างยับเยินชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อนใน
40 ปีที่ก่อตั้งกิจการขึ้นมา
คงจะตัดสินยากเหมือนกันว่าภาพ 2 ภาพนี้ภาพไหนจะมีน้ำหนักมากกว่า แม้จะพยายามมองด้วยสายตาที่เป็นกลางที่สุดแล้วก็ตาม
เพราะฉะนั้นผลการประกอบการจึงน่าจะเป็นตัวตัดสินที่ดีที่สุดตัวหนึ่ง เนื่องจากอย่างน้อยผลที่ออกมาก็คงพอจะมองกันออกว่า
ลูกค้าของธนาคารกรุงเทพซึ่งเป็นกลุ่มคนจำนวนมหาศาลนั้น คิดและรู้สึกอย่างไรทั้งต่อสิ่งที่ดีและทั้งต่อข่าวลือทั้งหลาย
จากคำแถลงของกรรมการผู้จัดการ - ชาตรี โสภณพณิช ก็ปรากฏว่าผลการประกอบการงวดครึ่งหลังของปี
2527 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์รวม ยอดเงินฝากหรือสินเชื่อ
เพียงแต่เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบ 2526
และปี 2525 และโดยเฉพาะยอดเงินฝากนั้นเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่ต่ำกว่าปี 2524
และ 2523 อีกด้วย
"เมื่อสิ้นงวด 31 ธันวาคม 2527 ยอดสินทรัพย์รวมของธนาคารมีจำนวน 257,744
ล้านบาท
เพิ่มขึ้นจากยอดสินทรัพย์รวมเมื่อปี 2526 เท่ากับ 40,096 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น
ร้อยละ 18.4 ยอดเงินฝากทั้งสิ้น 186,167 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 26,199
ล้านบาท หรือร้อยละ 16.4"
สินทรัพย์รวมเมื่อปี 2526 นี้เคยมีอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.0 ปี ร้อยละ
19.8 ปี 2524 ร้อยละ 21.0 ซึ่งล้วนสูงกว่าอัตราร้อยละ 18.4 ในปี 2527
ทางด้านเงินฝาก ปี 2526 เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.5 ปี 2525 เพิ่มขึ้นร้อยละ
23.5 ปี 2524 เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.0 และปี 2523 เพิ่มร้อยละ 25.6
ก็สูงกว่าอัตราร้อยละ 16.4 ในปี 2527 นี้อีกนั่นแหละ
อย่างไรก็ตาม ชาตรี โสภณพณิช กล่าวว่า"นับได้ว่าอัตราก้าวหน้าของเงินฝากยังอยู่ในระดับสูง…"
หันหาดูด้านสินเชื่อบ้าง
ปี 2527 ธนาคารกรุงเทพปล่อยสินเชื่อไป 194,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
ร้อยละ 14.3 ซึ่งอยู่ในกรอบที่ไม่เกิน 18 เปอร์เซ็นต์ ตามที่ทางราชการกำหนดไว้เป็นนโยบาย
อัตราการเพิ่มของสินเชื่อนี้ต่ำกว่าอัตราการเพิ่มในปี 2526 ซึ่งเพิ่มขึ้น
ร้อยละ 28.4 ต่ำกว่าปี 2525 และปี 2524 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6 และ 20.0
ตามลำดับ
จุดสำคัญอีกจุดหนึ่งที่จะช่วยบอกได้ว่าธนาคารกรุงเทพในรอบปี 2527 มีฐานะเป็นอย่างไรในตลาดนั้น
ก็คือส่วนแบ่งในตลาด ทั้งในด้านเงินฝาก (ในประเทศ) และสินเชื่อเมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารพาณิชย์ของไทยทั้งระบบ
ในปี 2527 ธนาคารกรุงเทพมีส่วนแบ่งตลาดด้านเงินฝากเท่ากับ 28.8 เปอร์เซ็นต์
และสินเชื่อเท่ากับ 32.2 เปอร์เซ็นต์ จัดเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีส่วนแบ่งสูงที่สุด
แต่ส่วนแบ่งตลาดไม่ว่าจะเป็นเงินฝากและสินเชื่อนี้กลับลดลงเมื่อเทียบกับปี
2526
ในปี 2526 ธนาคารกรุงเทพมีส่วนแบ่งตลาดด้านเงินฝาก 29.7 เปอร์เซ็นต์และทางด้านสินเชื่อเท่ากับ
33.3 เปอร์เซ็นต์
ชาตรี โสภณพณิช แถลงในตอนหนึ่งว่าภาวะการเงินและเศรษฐกิจของประเทศตลอดปีที่ผ่านมายังไม่กระเตื้องขึ้นตามที่ได้คาดหมายกันไว้
แม้จะได้นำมาตรการต่างๆ ทางเศรษฐกิจการเงินและการคลังมาปรับแก้ และบังคับใช้กับองค์กรทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนแล้วก็ตาม
ธุรกิจแขนงต่างๆ ต้องประสบกับปัญหาและอุปสรรคนานัปการ จนไม่สามารถประคับประคองฐานะให้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
โดยเฉพาะสถาบันการเงิน มีบางบริษัทต้องล้มเลิกกิจการไป และอีกหลายแห่งต้องอยู่ในความควบคุมของทางราชการ
เพื่อพยายามฟื้นฟูฐานะ การแข่งขันในระบบธนาคารพาณิชย์ก็ทวีความเข้มข้นขึ้นมาก
ชาตรีกล่าวตบท้ายว่า "สำหรับการประกอบการของธนาคารกรุงเทพนั้น แม้จะต้องตกอยู่ในความสับสนวุ่นวายของสถานการณ์…แต่ก็สามารถก้าวผ่านมรสุมมาด้วยดีอีกวาระหนึ่ง…"