บทบาทของบริษัทเครื่องมือสื่อสารและโทรคมนาคมของต่างชาติในเมืองไทยนั้นถูกผูกขาดอยู่โดยบริษัท
3 บริษัท ที่อยู่กันคนละซีกโลก บริษัทแรกคืออีริคสันของสวีเดน บริษัทที่ 2 คือไอทีแอนด์ทีของสหรัฐฯ
และเอ็นอีซีของญี่ปุ่น มานานแล้ว
จนกระทั่งวันหนึ่งบริษัท AT&T (AMERICAN TELEPHONE & TELEGRAPH)
ซึ่งเป็นยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแต่ค้าขายอยู่เฉพาะในบ้านตัวเอง เกิดถูกรัฐบาลตัวเองหาว่าผูกขาดจับแยกออกเป็นส่วนๆ
และในที่สุด AT&T หลังจากถูกจับแยกแล้วก็เลยเกิดความเบื่อหน่าย ประกอบกับความจำเป็นบีบบังคับให้ต้องขยายตัว
ก็เริ่มมองการออกสู่ตลาดต่างประเทศ
สำหรับบริษัทด้านสื่อสารและคมนาคมของประเทศอื่นนั้น การออกมาขอเล่นด้วยคนของ
AT&T เปรียบเสมือนเป็นข่าวร้ายชิ้นหนึ่งที่ทุกคนต้องหวาดหวั่นมาก เพราะ
"เราเชื่อว่าในด้าน TELECOMMUNICATION นั้น AT&T ทันสมัยและมีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าที่สุด
ยกตัวอย่างในด้านคอมพิวเตอร์นั้นเราชำนาญมากมานานแล้ว แต่เราไม่ได้ทำออกขายข้างนอกเพราะเราเอามาใช้กับระบบโทรศัพท์และโทรคมนาคมในเครือข่ายเราเท่านั้น"
เจมส์ โอลสัน (JAMES OLSON)
รองประธานกรรมการ AT&T INERNATIONAL กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
และสิ่งแรกที่ AT&T ได้ทำก่อนที่จะกระโดดออกนอกบ้านตัวเองคือการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาทั้งยุโรปและเอเชีย
นายโอลสันให้เหตุผลของการมีคณะกรรมการที่ปรึกษาว่า
"เราขอให้ BILL TURNER ซึ่งเป็นทูตอเมริกาในยุโรปช่วยแนะนำคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษา"
โอลสันคิดว่าการที่ AT&T เพิ่งจะออกมานอกประเทศ ค้าขายนี่มีความจำเป็นจะต้องรู้จักประเทศนั้นๆ และไม่มีวิธีใดที่จะดีไปกว่าการหาคนในประเทศนั้นมาแนะนำลู่ทางและวิธีการที่จะทำให้
AT&T เดินเข้าประตูบ้านได้อย่างมีวัฒนธรรม
พูดง่ายๆ ก็คือ มีคนคอยชี้แนะว่าจะเข้ามาค้าขายในประเทศนี้ ใครคือคนที่
AT&T ควรจะเข้าไปคารวะและประกบ
นับว่า AT&T ได้แหวกม่านประเพณีออกไปและวิธีการนี้ก็ค่อนข้างจะได้ผล
เพราะถ้าจะเข้ามาชนกับญี่ปุ่นหรือสวีเดนซึ่งอยู่ในภูมิภาคนี้มานานแล้วในสายของการสื่อสารคมนาคม
AT&T ก็ต้องไม่มาเสียเวลาคลำทาง
ก็คงจะเป็นเช่นนั้น เพราะกลุ่มที่AT&T ได้เข้ามาร่วมด้วย คือกลุ่มของ
สว่าง เลาหทัย หรือกลุ่มศรีกรุง แต่โอลสันก็บอกไว้ว่า
"เราคิดว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีขอบข่ายกว้างขวางและมีความสามารถมาก
แต่เรามีสินค้าอยู่มากมายหลายชนิด ตลอดจนเรากำลังมองดูความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานที่นี่ด้วย
ฉะนั้นเราเองก็เปิดตัวอยู่เสมอ
ให้คนอื่นที่สนใจเข้ามาคุยกับเราได้ เพื่อจะมีโอกาสได้ร่วมงานกัน"
แต่เราก็ต้องยอมรับนับถือการมองช่องทางของ AT&T ออก ที่เข้าร่วมกับเสี่ยสว่าง
เลาหทัย
ซึ่งเผอิญมีความสนิทชิดเชื้อกับพลเอกอาทิตย์กำลังเอก ประธานองค์การโทรศัพท์คนปัจจุบัน
และสิ่งแรกที่ AT&T ได้แผลงฤทธิ์ให้เจ้าเก่าที่เคยทำมาค้าขายกับองค์การโทรศัพท์ต้องอกสั่นขวัญหาย
คือ เจ้าเก่าที่เคยทำสมุดปกเหลือง (YELLOW PAGES) ขององค์การโทรศัพท์ที่ชื่อ
GTDC
เผอิญปีที่แล้วองค์การโทรศัพท์เปิดประมูลสมุดปกเหลืองใหม่ เพราะสัญญากับ
GTDC จะหมดแล้ว
AT&T ก็เสนอเข้าชิงด้วยคน พอหงายไพ่ออกมาก็เห็นชัดว่า AT&T ถือไพ่เหนือกว่ามากเพราะเสนอผลประโยชน์ให้กับองค์การโทรศัพท์อย่างชนิดมองไม่เห็นฝุ่นกันเลยเมื่อเทียบกับ
GTDC ("ผู้จัดการ" เป็นนิตยสารฉบับแรกที่สุดที่เจาะเอารายละเอียดเรื่องนี้มาลงในฉบับที่
15 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2527 หน้า 80-102)
"AT&T อาจจะถือว่างานนี้เป็นงานโชว์ฟอร์ม ฉะนั้นก็เลยไม่มีการเหยียบเบรก
เข้าเกียร์เหยียบคันเร่งลุยลูกเดียว" ผู้สังเกตการณ์คนหนึ่งออกความเห็น
พิษสงของ AT&T ก็คงจะน่าดูเพราะ GTDC ถึงกับยอมสละการแบ่งผลประโยชน์เป็นรายปีมาเป็นจะยกผลประโยชน์ทั้งหมดให้องค์การโทรศัพท์
ขอแค่ MANAGEMENT FEE แค่ปีละ 8% เท่านั้นเป็นพอ แต่แนวโน้มก็ยังคงเป็น AT&T
เหมือนเดิม จนล่าสุด GTDC ถึงกับถอดกางเกงสู้ประกาศว่าจะฟ้ององค์การโทรศัพท์ถ้า
GTDC ไม่ได้ เพราะหาว่าองค์การโทรศัพท์ไม่ยุติธรรม
"งานนี้ต้องยกให้ AT&T เพราะข้อเสนอเขาให้สูงมาก แล้วเขายืนยันว่าเขาทำได้
GTDC ตอนแรกก็นึกว่าหวานหมู ก็เสนอมาแบบเห็นคนไทยเป็นหมู พอเจอเพื่อนร่วมชาติของตัวเองไม่ยอมเล่นด้วย
ก็เลยเต้นแร้งเต้นกา" เจ้าหน้าที่องค์การโทรศัพท์คนหนึ่งพูดให้ฟัง
ทาง AT&T มีความมั่นใจในการประมูลครั้งนี้มาก ถึงกับประกาศโฆษณาลงในหนังสือพิมพ์เตรียมรับคนเข้ามาทำงานเรื่องสมุดปกเหลืองนี้
ฉะนั้นการเข้ามาเมืองไทยของ AT&T หรือการเข้ามาในเอเชียของยักษ์ใหญ่ในวงการสื่อสารคมนาคมนี้เป็นก้าวที่เดินเข้ามาอย่างตั้งใจและคงจะไม่ถอยไปง่าย
ๆ
การเลือกที่ปรึกษาของบริษัทนั้นก็เป็นการเลือกที่คัดแต่คนที่มีชื่อเสียงและก็มี
CONNECTION ในวงการจริงๆ ในประเทศไทย ก็คือ ดร.อำนวย วีรวรรณ ประธานกรรมการบริหารของธนาคารกรุงเทพ
ญี่ปุ่นก็มี โยชิโซ อิเคด้า ที่ปรึกษาอาวุโสของคณะกรรมการบริษัทมิดซุย
เป็นต้น
โรเบิร์ต อี เซจแมน (ROBERT E. SAGEMAN) เชื่อว่าบทบาทของ AT&T ในภูมิภาคนี้จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
การรวมลงทุนในประเทศต่างๆ นั้นได้ทำไปหลายแห่งแล้ว และเขามองที่ประเทศไทยว่ามีอนาคตดีมากๆ
"เราจะมี TECHNOLOGY TRANSFER ด้วย แต่คงเป็นเฉพาะบางอย่าง ไม่ทุกอย่าง"
เซจแมนเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง และจะเป็นอะไรบ้างที่จะ TRANSFER
ให้คนไทยนั้น เซจแมนบอกว่ายังไม่พร้อมที่
จะตอบให้เวลานี้
การมาเยือนเมืองไทยและมาประชุมกลุ่มที่ปรึกษาของ AT&T ในเมืองไทยโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ
AT&T ตั้งแต่รองประธานการวางแผน/พัฒนาการตลาด/และตัวประธานกรรมการของ
AT&T TECHNOLOGIES ตลอดจนกรรมการผู้จัดการ AT&T ในหลายประเทศภูมิภาคนี้
ย่อมแสดงให้เห็นถึงแนวรบด้านสื่อสารคมนาคมที่ AT&T ได้ร่างและวางแผนเอาไว้
งานนี้คงจะให้ความหมายกับ NEC และ ERICSON ได้บ้างไม่มากก็น้อยกระมัง !