ธนาคารกรุงไทย รับสภาพคล่องล้นไม่ไหว ประกาศลดดอกเบี้ยฝากลง 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ย
เงินฝากออมทรัพย์เท่ากับระบบที่ 0.75% พร้อมเปิดรับเงินฝากระยะยาว 24 เดือน 36
เดือนอีกรอบ ขณะที่แบงก์ไทยพาณิชย์-ดีบีเอส ไทยทนุ นำร่องประกาศผลงานไตรมาส 3 โดย
"ไทยพาณิชย์" โชว์กำไรสุทธิกว่า 3.2 พันล้าน เพิ่มขึ้น กว่า 800% ด้านดีบีเอส ไทยทนุ
ขาดทุนสุทธิ 2.5 พันล้านบาท หลังแบงก์ชาติสั่งให้กันสำรองเพิ่มอีก 2.7 พันล้านบาท
ธนาคารกรุงไทย รายงานว่า คณะกรรมการธนาคารได้มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะสั้นลงร้อยละ
0.25 เพื่อให้เท่า กับธนาคารพาณิชย์อื่น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ลดลงจากเดิมอยู่ที่อัตราร้อยละ
1 ต่อปี เหลือร้อยละ 0.75 ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 3 เดือน 6 เดือน
และ 1 ปี ปรับลดจากร้อยละ 1.25 เหลือร้อยละ 1.00
ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 24 เดือน และ 36 เดือน ขณะนี้ธนาคารจะเปิดรับเงินฝากอีกครั้ง
หลังจากที่หยุดรับฝากไประยะหนึ่ง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ฝากเงินที่ต้องการออมเงินระยะยาว
โดยให้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 และร้อยละ 2 ตามลำดับ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยังคงอัตราเดิม
คืออยู่ที่อัตราร้อยละ 5.75 ทั้ง 3 ประเภท (MRR, MOR และ MLR) โดยมีผลตั้งแต่วันนี้
(17 ต.ค.) เป็นต้นไป
"การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะตลาดเงิน และแนวโน้มในระยะปานกลางที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น
ขณะที่การคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เนื่องจากธนาคารคิดในอัตราดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้ว"
ไทยพาณิชย์กำไร Q3 พุ่ง 800%
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิยช์ (SCB) กล่าวถึง
ผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 3 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2546 ว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิ
3,232.22 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 2.45 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ
355.45 ล้านบาท กำไร สุทธิต่อหุ้น 0.36 บาท หรือกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 809.33%
ขณะที่ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน กำไรสุทธิ 9,203.62 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น
7.33 บาท เทียบกับปีก่อนกำไรสุทธิ 1,045.95 ล้านบาท กำไรสุทธิ ต่อหุ้น 1.10 บาท
หรือกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 779.93%
สำหรับกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น เกิดจากการเพิ่มขึ้น ของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเป็นหลัก
ขณะที่รายได้ดอก เบี้ยยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ ที่ธนาคารได้วางไว้
โดยในภาวะที่ความต้องการสินเชื่อ ยังไม่มากนัก ธนาคารได้เน้นเสนอบริการทางการเงิน
ที่หลากหลายและครบวงจรแก่ทั้งลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อย รวมทั้งการเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
เช่น การประกันภัยผ่านธนาคาร (Bancassurance) แก่ ลูกค้า ซึ่งส่งผลให้รายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารเพิ่มขึ้น
สัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียม 39%
ขณะเดียวกัน การเติบโตของธุรกิจในตลาดทุน ซึ่งธนาคารมีบริษัทลูกที่ทำธุรกิจทั้งด้านวาณิชธนกิจ
ที่ ปรึกษาการลงทุน นายหน้าค้าหลักทรัพย์และกองทุน รวมอย่างครบวงจร นอกจากจะทำกำไรให้กับธนาคาร
อย่างน่าพอใจแล้ว ยังทำให้ธนาคารอยู่ในสถานะที่ดีในการรุกธุรกิจได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
"ไตรมาส 3 ปีนี้ ธนาคารมีสัดส่วนรายได้ที่มิใช่ ดอกเบี้ยต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ
32 ในครึ่ง ปีแรก เป็นร้อยละ 39 ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายของธนาคารที่จะเพิ่มให้ได้ถึงร้อยละ
40 ในระยะเวลาอันใกล้นี้"
โดยธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิ จำนวน 4,659 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก
4,624 ล้าน บาท และ 4,588 ล้านบาท ในไตรมาสที่สองของปีนี้และไตรมาสที่สามของปีก่อน
โดยส่วนต่างอัตราดอก เบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin) ในไตรมาสนี้ยังทรงตัวที่อัตราร้อยละ
2.6
ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย มีจำนวน 2,921 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 743 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนซึ่งมีจำนวน
2,178 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 775 ล้านบาท หรือร้อยละ
36.1
สัดส่วนเงินฝากต่อสินเชื่อ 83%
ด้านฐานะการดำเนินงาน ณ วันที่ 30 กันยายน 2546 ธนาคารมียอดสินเชื่อ 491,271
ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2545 จำนวน 6,160 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.3 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน
3,418 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 0.7 โดยสินเชื่อขยายตัวดีขึ้นในกลุ่มลูกค้าบุคคล และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
(SMEs)
ส่วนยอดเงินฝากจำนวน 590,895 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 22,293 ล้านบาท และ 6,162
ล้านบาท จากสิ้นปี 2545 และไตรมาสก่อน โดยสัดส่วนเงินให้ สินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารในไตรมาสนี้
ยังทรง ตัวที่ร้อยละ 83 เท่ากับไตรมาสก่อน
ขณะที่เงินกองทุนตามกฎหมาย (ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2) ณ วันที่ 30 กันยายน 2546
มีจำนวน 63,531 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 13.3 ของสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งเป็นส่วนของเงินกองทุนชั้นที่
1 ประมาณร้อยละ 7.7 ของสินทรัพย์เสี่ยง แต่ยังไม่รวมกำไรของงวด 9 เดือนจำนวน 9,204
ล้านบาท
"ธนาคารมีสินเชื่อจัดชั้นมีปัญหาตั้งแต่ชั้นต่ำกว่า มาตรฐานลงมา ซึ่งรวมดอกเบี้ยค้างรับ
สินทรัพย์อื่น และเงินให้กู้ยืมแก่สถาบันการเงินจำนวนทั้งสิ้น 117,440 ล้านบาทหรือร้อยละ
23.4 ลดลงจากสิ้นไตรมาส 2 จำนวน 5,031 ล้านบาท จากจำนวน 122,471 ล้านบาท หรือร้อยละ
24.7 และมีสินเชื่อด้อย คุณภาพตามคำนิยามของธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวน 116,276
ล้านบาท หรือร้อยละ 23.3
ฝันเป็น "Universal Banking"
สำหรับนโยบายการดำเนินธุรกิจต่อไปนั้น ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร
กล่าวว่า ธนาคารได้วางนโยบายที่จะก้าวไปสู่การเป็นผู้นำบริการทางการเงินเต็มรูปแบบ
หรือ Universal Banking โดยการเชื่อมโยงธุรกิจภายในกลุ่มการเงิน ไทยพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้ธนาคารสามารถเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และสอดคล้องกับนโยบายการเงินที่เปิดเสรี
โดยธนาคารได้แปลงเป็นกลยุทธ์ และแผนการ ดำเนินงานตามโครงการปรับปรุงธนาคาร (Change
Program) ซึ่งได้เริ่มส่งผลบวกให้เห็นในงบการเงินของธนาคารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเชื่อว่าธนาคารจะสามารถก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ในระยะเวลาต่อไป
ไทยทนุกันสำรองเพิ่มตามกฎธปท.
ฉุดไตรมาส3ขาดทุน 2.5 พันล้าน
นายพรสนอง ตู้จินดา กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารดีบีเอส
ไทยทนุ (DTDB ) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ธนาคารมีผลขาดทุนสุทธิ 2,504.7
ล้านบาท และงวด 9 เดือนขาดทุนสุทธิ 2,320.4 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการ กันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในเชิงคุณภาพตามธนาคารแห่งประเทศไทย
(ธปท.) จำนวน 2,700 ล้านบาท
ทั้งนี้ ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาส 3 เท่ากับ 275.3 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจาก
ไตรมาสสอง 27.5% มีผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย 44.8% เนื่องจากกำไรจากการขายเงินลงทุนและรายได้จากฝ่ายบริหารเงินที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิลดลง 3.0% เป็นผลจากการแข่งขันด้านราคารวมทั้งในตลาดยังคง
มีสภาพคล่องที่สูงอยู่ ค่าใช้จ่ายดำเนินงานรายไตรมาส เพิ่มขึ้น 0.1% เป็น 564.3
ล้านบาท
ณ วันที่ 30 กันยายน 2546 ธนาคารมีสินเชื่อ (ไม่รวมสินเชื่อระหว่างธนาคาร) 80,063.4
ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 0.6% อัตราส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมเท่ากับ
10.3% ดีขึ้นจากงวดสิ้นเดือนมิถุนายน 2546 ซึ่งเท่ากับ 10.5% และอัตราส่วนของสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อ
NPL เท่ากับ 87.9% เงินฝาก (ไม่รวมเงินฝากระหว่างธนาคาร) ณ วันที่ 30 กันยายน 2546
มียอด 84,232.6 ล้านบาท ลดลง 2.4% จากงวดสิ้นเดือนมิถุนายน 2546 เนื่องจากการบริหารแหล่งเงินทุนของธนาคารอย่างต่อเนื่อง
"ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารปีนี้ ถูกกระทบจากการกันเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในเชิงคุณภาพตามธปท.
แต่ในการดำเนินงานปกติ ธนาคารยังคงมีกำไรเพิ่มขึ้น ปัจจุบันธนาคารเล็ง เห็นถึงการขยายตัวทางธุรกิจที่จะเพิ่มขึ้นในไม่กี่เดือน
ข้างหน้าว่าจะเป็นการทำให้ธนาคารขยายสินเชื่อและทำกำไรได้สูงขึ้น" นายพรสนอง กล่าว
ราคาหุ้น SCB พุ่งขานรับกำไรดี
หลังจากการประกาศผลการดำเนินงานของธนาคารไทยพาณิชย์ ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้
ปรับตัวเพิ่มขึ้นรับข่าวดังกล่าว ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ 40.25 บาท เพิ่มขึ้น 1
บาท หรือ 2.55% มูลค่าการซื้อขายรวม 334.70 ล้านบาท ขณะที่ DTDB กลับไม่ ค่อยมีการเคลื่อนไหว
และปิดที่ราคาเดิมคือ 5.35 บาท มูลค่าการซื้อขาย 6.91 ล้านบาท ส่วนดัชนีกลุ่มแบงก์
ปรับตัวเพิ่มมาปิดที่ 202.44 จุด เพิ่มขึ้น 1.46% หรือ คิดเป็น 0.73%