Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา มีนาคม 2554
ผ้าคลุมไหล่เจ้าสาว ภูมิปัญญาเครื่องเงินแห่งเผ่าเมี่ยน             
โดย สุภัทธา สุขชู
 


   
search resources

Crafts and Design
ศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคาและหัตถกรรมเมืองน่าน




ของทุกชิ้นบนโลกมีเรื่องราวและคุณค่าต่อบางคน แต่มีบางชิ้นที่มีคุณค่าต่อใครอีกหลายคน โดยเฉพาะหากของชิ้นนั้นแฝงไว้ซึ่งเรื่องราวประวัติศาสตร์ทางชาติพันธุ์ที่กำลังจะถูกลบเลือนจากความทรงจำของคนรุ่นหลัง ของสิ่งนั้นน่าจะมีคุณค่าเยี่ยง “มรดกทางวัฒนธรรม” ที่คู่ควรแก่การอนุรักษ์

สาวน้อยชาวเมี่ยนหน้าตาจิ้มลิ้มด้วยวัยเพียง 16 หย่อนๆ ยิ่งดูโดดเด่นและ สง่างามด้วยชุดคลุมไหล่เจ้าสาวเมี่ยนที่ประดับประดาด้วยเครื่องเงินลักษณะแปลกตา เธอก็คือธิดาดอยจังหวัดน่าน ประจำปี 2553 ซึ่งนำความภาคภูมิใจมาสู่ชาวเมี่ยนได้ไม่น้อย

โดยเฉพาะโสภา วรรณวิภูษิต กรรมการผู้จัดการศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคา เป็นเจ้าของ “ชุดคลุมไหล่เจ้าสาวเมี่ยน” ผืนงามผืนนั้น ที่มักถูกขอยืมไปใช้ในงานสำคัญของชาวเขาเผ่าเมี่ยน โดยเฉพาะงานแต่งและงานรับเสด็จฯ

ผ้าคลุมสีดำปักลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ ตามแบบฉบับชนเผ่าเมี่ยนเกือบทั่วผืนเต็มไปด้วยกระดุมเงินรูปร่างตะปุ่มตะป่ำลักษณะคล้าย “ขนเม่น” หรือ “หนังคางคก” หรือที่ภาษาเมี่ยน เรียกว่า “ย่านกบ” ประดับด้วยพู่เงินรูปกระดิ่งกระสวยดูงดงามตระการตา จัดโชว์ ไว้ในตู้กระจก ณ ศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคา จ.น่าน

“เมื่อก่อนชุดคลุมแบบนี้เคยมีกันหลายบ้าน แต่ตอนหลังมันเริ่มหายไปแล้ว พอมาตั้งศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคา ก็เลยคิดว่าน่าจะรื้อฟื้น ประจวบกับคุณยายเล่าเรื่องนี้ให้ฟังก็เลยคิดว่าน่าจะทำเก็บไว้อีกครั้ง จึงไปสืบหาข้อมูลและหาคนที่จะทำได้ ก็พบว่ามีคุณยายที่บ้านห้วยลี่เหลืออยู่คนเดียวที่พอจำได้และพอช่วยเราทำขึ้นมาใหม่ได้ ก็เลยสั่งช่างเงินทำตามคำบอกเล่าของคุณยาย จนได้มาสองผืน” โสภาเป็นหนึ่งในลูกหลานเผ่าเมี่ยน

ปัจจุบันชุดคลุมไหล่เจ้าสาวเมี่ยนอีกชิ้นหนึ่งถูกสภาวัฒนธรรมขอซื้อไปจากศูนย์ฯ แห่งนี้ ในราคาหลักแสน เพื่อนำไปเก็บไว้ที่ศูนย์วัฒนธรรมชาวเขาแห่งหนึ่ง

ตำนานผ้าคลุมไหล่เจ้าสาวเมี่ยน เริ่มจากเป็นเสื้อเกราะนักรบชาวเมี่ยนในสมัยโบราณ ซึ่งนักรบระดับอัศวินจำต้องมีเสื้อคลุมเพื่อบ่งบอกถึงตำแหน่งนักรบผู้กล้า ขณะเดียวกันเสื้อเกราะดังกล่าวยังเป็นอาวุธที่ใช้ทำอันตรายแก่ศัตรูที่แอบเข้ามาทำร้ายด้วยฝ่ามือที่ไหล่และด้านหลัง โดยกระดุมเงินรูปร่างตะปุ่มตะป่ำที่เรียกว่า “ย่านกบ” หรือ “เงิน คางคก” เหล่านี้จะอาบด้วยยาพิษที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

ส่วนเครื่องเงินประดับในส่วนอื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นเสมือนรูปโล่ ดาบ กระบอง กระดิ่ง กระสวย ฯลฯ เหล่านี้ถูกใช้เป็นเครื่องรางของขลังที่ประดับไว้เพื่อป้องกันอันตราย ขณะที่เครื่องเงินรูปปลาเป็นเครื่องหมายแสดงถึงการเป็นผู้มีความขยันขันแข็ง มีความอดทน สง่างาม มีความเจริญ รุ่งเรือง และเต็มไปด้วยอำนาจวาสนา

ในอดีต เมื่อนักรบได้รับพระราชทานตำแหน่งอัศวิน จะได้รับพระราชทานคู่ครองที่สมเกียรติ ซึ่งอาจเป็นพระราชธิดา หรือนางผู้เลอโฉมเป็นรางวัล ในพิธีแต่งงาน อัศวินจะนำเสื้อเกราะของตนสวมคลุมไหล่ให้กับเจ้าสาว โดยภรรยาของอัศวินจะเป็นผู้ดูแลรักษา และสวมใส่เสื้อเกราะนี้ให้แก่อัศวินในทุกครั้งที่ออกรบ

ต่อมาชาวเมี่ยนที่มีฐานะทางครอบครัวดี จึงคิดและจำลองเสื้ออัศวินมาไว้ประจำ ตระกูล เพื่อให้เจ้าสาวหรือลูกสาวใช้คลุมไหล่ในพิธีแต่งงาน เพื่อแสดงถึงความเป็นเจ้าสาว ที่มีความสง่างาม มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตแต่งงานและการมีคู่ครองที่มีอำนาจวาสนา

ต่อมาเมื่อชาวเมี่ยนรุ่นหลังเริ่มมีปัญหาการทำมาหากินและขัดสนเรื่องการเงิน ก็ทยอยหยิบเอาเครื่องประดับ เงินทีละชิ้นสองชิ้นบนเสื้อเกราะนี้มาแลกเป็นเงินหรือสินค้า จนแทบไม่เหลือชุดที่สมบูรณ์ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมแก่คนรุ่นหลัง เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชนเผ่าเมี่ยน

ชาวเมี่ยนจัดอยู่ในกลุ่มเชื้อชาติมองโกลอยด์ ปรากฏ ชื่อครั้งแรกในเอกสารบันทึกของจีนสมัยราชวงศ์ถังในชื่อ “ม่อเย้า” หมายถึง ไม่อยู่ใต้อำนาจของผู้ใด เล่ากันว่า กว่า 2,000 ปีมาแล้ว บรรพชนได้ตั้งถิ่นฐานรอบทะเลสาบตงถิง แถบแม่น้ำแยงซี แต่เพราะไม่ยินยอมอยู่ภายใต้การบังคับกดขี่ของรัฐ ชาวเมี่ยนจึงอพยพเข้าไปในป่าลึกบนภูเขาสูง และตั้งถิ่นฐานสร้างบ้านด้วยมือของตัวเอง ด้วยเหตุนี้จึงถูก ขนานนามว่า ม่อเย้า ต่อมาเหลือเพียงคำว่า “เย้า” แต่คนเย้าในเมืองไทย มักเรียกตัวเองว่า “เมี่ยน” ซึ่งแปลว่า มนุษย์

ชนเผ่าเมี่ยนในประเทศไทย พบอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดในจังหวัดเชียงราย น่าน พะเยา ลำปาง กำแพงเพชร เชียงใหม่ สุโขทัย ตาก และเพชรบูรณ์ คาดกันว่า ปัจจุบัน เมืองไทยน่าจะมีประชากรชาวเมี่ยนอยู่กว่า 8 หมื่นคน

นับแต่อดีต เครื่องประดับเงินถือเป็นวัตถุมงคลอันทรงคุณค่าและมีราคามากที่สุดของเผ่าเมี่ยน จึงมีผู้คิดค้นวิธีการนำโลหะเงินมาประดิษฐ์และขึ้นรูปเป็นเครื่องประดับตั้งแต่สมัยโบราณ โดยนำมาประดับร่วมกับเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายประจำเผ่าเพื่อใช้ในพิธีกรรมต่างๆ รวมทั้งใช้เป็นค่าสินสอดเงินหมั้น

ชาวเมี่ยนนิยมเครื่องประดับที่ทำด้วยเงินมาก ดังนั้น ตามประเพณี สาวชาวเมี่ยนจึงนิยมประดับเครื่องเงินกันอย่างเต็มที่ ขณะที่ฝีมือการทำเครื่องประดับเงินของชาวเมี่ยน นั้นก็นับว่าเลื่องลือในหมู่ชาวเขาเผ่าต่างๆ ว่างดงามนักหนา ในหมู่ชนชาวเมี่ยนมีช่างทำเครื่องประดับตามวัฒนธรรมและ ค่านิยมของชาวเมี่ยนเองด้วย

ในชุมชนเมี่ยนครั้งอดีต ตำแหน่งช่างเงินถือว่ามีความสำคัญติดอันดับ 5 รองจาก หัวหน้าหมู่บ้าน ผู้อาวุโส ประจำหมู่บ้าน ผู้ประกอบพิธีกรรม ช่างตีเหล็ก ชาวเมี่ยนให้ความสำคัญกับช่างเงินสูงกว่าหมอยาสมุนไพรและหมอตำแยเสียอีก

ทั้งนี้ เครื่องประดับเงินได้ก้าวผ่านการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นมาหลายยุคหลายสมัย นับเป็นงานหัตถกรรมที่ต้องใช้ฝีมือ ความประณีต และความอดทนสูง แม้ชาวเขาเผ่าเมี่ยนจะมีความสามารถในการทำเครื่องเงิน แต่ก็ไม่ได้นำมาประกอบเป็นอาชีพ หลัก กระทั่งปี 2515 เมื่อจังหวัดน่านประสบภัยแล้งและปัญหาพื้นที่ทำกินที่ไม่เพียงพอ ชาวเมี่ยนจึงหันมาทำหัตถกรรมฝีมือกันมากขึ้น โดยเฉพาะด้านเครื่องเงิน

เนื่องจากขาดความรู้และประสบ การณ์ทางการค้าและการจัดการ จึงมักถูก เอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางอยู่เสมอ ดังนั้น ในปี 2538 ผู้ประกอบการด้านเครื่องประดับเงินและช่างทำเครื่องเงินชาวเขาเผ่าเมี่ยนและเผ่าม้งในจังหวัดน่าน จำนวน 52 คน จึงรวมตัวกันภายใต้ ชื่อ “ศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคาและหัตถกรรมเมืองน่าน” เพื่อดำเนินกิจกรรม ในการผลิตและการตลาดเกี่ยวกับงานด้านหัตถกรรมฝีมือด้านเครื่องประดับเงินและงานเย็บปักประดิษฐ์ชาวเขา

ปัจจุบัน ศูนย์ฯ แห่งนี้กลายเป็นสถานที่ผลิต รับซื้อรับฝากขายสินค้างานด้านหัตถกรรมฝีมือต่างๆ จากชาวเขา และชาวบ้านทั่วทั้งจังหวัดน่าน โดยมีสมาชิกและช่างฝีมือที่มารับงานจากทางศูนย์ฯ ไปประกอบการกว่า 150 ครอบครัว (จำนวนช่าง 163 คน) ซึ่งจะมีรายได้เฉลี่ยครอบครัวละ 5,000 บาทต่อเดือน

อันที่จริง แหล่งเครื่องเงินที่โดดเด่นของเมืองไทย จะว่าไปแล้วก็มีอยู่ไม่กี่แห่ง ได้แก่ เครื่องเงินจากถนนวัวลาย จ.เชียงใหม่ เครื่องเงินเมืองนครศรีธรรมราช เครื่องเงินโบราณ สุโขทัย และเครื่องเงินจากเมืองน่าน

ความพิเศษของเครื่องเงินเมืองน่าน โดยเฉพาะของศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคาอยู่ที่เปอร์เซ็นต์ของธาตุเงินที่ใช้สูงถึง 98% มากกว่าแหล่งอื่นซึ่งผสมตามเกณฑ์สากลที่ 92.5% เครื่องประดับเงินของที่นี่จึงค่อนข้างอ่อนแต่มีคุณภาพสูง ขณะที่กรรมวิธีในการตีเงินและการออกแบบลวดลายที่มีความเฉพาะตัวตามแบบฉบับของชาวเมี่ยน ที่ผ่านการตกผลึกและสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ถือเป็นอีกเอกลักษณ์โดดเด่นของเครื่องเงินเมืองน่าน

ช่างทำเงินของศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคาเกือบทั้งหมดเป็นชาวเขา มีทั้งชนเผ่าเมี่ยนและเผ่าม้ง ส่วนใหญ่จะเป็นคนเมี่ยน ที่เป็นเสมือนญาติมิตรในหมู่บ้านเมี่ยนของโสภา โดยส่วนมากทำเครื่องเงินกันเป็นรายได้เสริมจากการทำไร่ทำสวน

“จุดเด่นของเครื่องประดับเงินของเราคือ เราสืบเชื้อสายความชำนาญด้านเครื่องเงินมาจากชาวเมี่ยน ที่นี่คนทำเครื่อง เงินเป็นคนเมี่ยนเสียเยอะ คนขายก็ยังเป็นสาวเมี่ยนเลย (หัวเราะ)” โสภากล่าวถึงชนชาติตัวเองอย่างภาคภูมิใจ

กว่าจะได้เครื่องเงินแต่ละชิ้นไม่ใช่เรื่องง่าย นับตั้งแต่กรรมวิธีหลอมเม็ดเงินบริสุทธิ์ ซึ่งนำเข้าจากประเทศจีนและออสเตรเลีย ด้วยความร้อนสูงกว่า 900 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานถึง 40 นาที จึงนำไปใส่บล็อก รอจนเงินแข็งตัวจึงนำออกจากบล็อกมาทุบเพื่อเตรียมไปสู่กระบวนการรีด โดยใช้เครื่องรีดออกมาเป็นแผ่นหรือเป็นเส้น ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องใช้ความแข็งแรงและความอดทนสูง เพราะต้องรีดไปเรื่อยๆ นานกว่าชั่วโมงครึ่ง

จากนั้นจึงนำแผ่นเงินที่ได้ไปดัดขึ้นรูปเป็นกำไล หรือนำเส้นเงินที่ได้ไปตัด แล้วเรียงร้อยประกอบกันจนเป็นสร้อย หรือนำไปเข้าสู่กระบวนการอื่นเพื่อขึ้นรูปเป็นเครื่องประดับอื่น สุดท้ายยังต้องนำเครื่องประดับเงินที่ได้ไปเผาอีกรอบเพื่อให้เครื่องเงินมีความมันเงา ตบท้ายด้วยการนำออยล์มาเช็ดทำความสะอาดเครื่องเงินเพื่อเตรียมออกจำหน่าย

เป็นเวลาเกือบ 20 ปี ที่ศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคาก่อตั้งขึ้น ปัญหาหนักที่สุดของโสภา ณ วันนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องราคาเม็ดเงินที่สูงขึ้นจากบาทละ 180 บาท ในปี 2552 ขึ้นมาเป็น 240 บาท และขยับขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึง 280 บาทเมื่อปีที่แล้ว มาถึงต้นปีนี้ราคาเงินขยับขึ้นมาสูงกว่าบาทละ 400 บาท

“เมื่อก่อนซื้อเม็ดเงิน 1 กิโลกรัม ใช้เงินไม่ถึง 7 พันบาท แต่ตอนนี้เราต้องใช้เงินสูง ถึง 2.8 หมื่นบาท แล้วโรงงานนี้ต้องใช้เม็ดเงินมาหมุนเวียนผลิตสินค้ากว่า 100 กก. บาง ช่วงก็เกือบ 200 กก. เราก็ต้องกู้เงินมากขึ้น เสียดอกเบี้ยมากขึ้น ก็ยังห่วงว่าเราจะอยู่รอด ไหม แต่ที่เป็นห่วงเพราะนี่คืองานหัตถกรรมเป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” โสภาเสียงอ่อน

ราคาเม็ดเงินที่แพงขึ้นยังนำมาซึ่งปัญหาร้ายแรงถัดมาคือ ปัญหาเครื่องประดับเงินปลอม ที่ดูเหมือนจะหนักหน่วงกว่าทุกครั้งในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ ขณะที่ราคาเครื่องเงินที่แพงตามต้นทุนก็ทำให้ลูกค้าซื้อเครื่องประดับเงินน้อยลงเรื่อยๆ

ความหวังของโสภาตอนนี้ เธอหวังเพียงความช่วยเหลือเล็กน้อยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสนับสนุนให้ศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคาได้บรรจุเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการส่งเสริมจากภาครัฐเพื่อทำให้เครื่องเงินที่ได้มาตรฐานกลายเป็นของฝากชั้นดีจากเมืองน่าน

ส่วนเรื่องฝีมือการผลิตเครื่องเงินนั้น เธอเชื่อว่า คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับช่างทำเงินที่สืบเชื้อสายชาวเมี่ยนของที่นี่ ...และเมื่อหันไปดูความประณีตและฝีมือในเครื่องประดับเงินแต่ละชิ้นบนชุดคลุมไหล่เจ้าสาวเมี่ยน ดูเหมือนว่าคำพูดของโสภาก็ยิ่งมีน้ำหนัก น่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นมากทีเดียว   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us