|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
“...ยามร้อนแสนร้อน ยามหนาวก็หนาวถึงใจ ไม่มีผ้าห่มคลุมกาย โรงเรียนมีครูอยู่หนึ่งคน ครูผู้เสียสละตน อดทนอยู่ห่างไกลความสบาย ใช่จะวอนให้เห็นใจ ความสำนึกต่อเพื่อนไทย ไทยกับไทยไยแตกต่างกัน โรงเรียนของหนู อยู่ไกลไกล๊ไกล อยากให้คุณคุณหันมอง...” บทเพลงนี้ของพงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ น่าจะยังพอสะท้อนภาพชีวิตชาวดอยในหลายจังหวัดได้ดี
ระหว่างเส้นทางคดโค้งขึ้นลงภูเขาลูกแล้วลูกเล่า เบื้องหน้าเห็นแต่ท้องฟ้าใสกับภูเขาหัวโล้นที่เหลือเพียงเศษซากต้นข้าวโพดแห้งกรอบ เป็นหลักฐานว่าผืนดินแห้งแล้งแห่งนี้เพิ่งมีการเก็บเกี่ยวเมื่อไม่นาน ขณะที่สุดปลายสายตา พอมีกลุ่มไม้ใหญ่ให้เห็นประปราย ชวนให้ใจหายว่า ป่าน้อย ผืนนั้นจะทานกระแสนายทุนผู้รับซื้อข้าวโพด ได้อีกนานเท่าไร...
ด้วยความที่ป่าไม้มีน้อยจนน่าใจหาย ในยามกลางวันที่ฟ้าใสแดดจัด การเดินอยู่กลางดอยที่เป็นเขาหัวโล้นจึงร้อนราวกับยืนอยู่กลางทะเลทราย ขณะที่ยามค่ำคืนของฤดูหนาวก็แสนหนาวจนยากที่คนกรุงจะบรรยาย
ระยะทางกว่า 130 กิโลเมตรจากเมืองเชียงใหม่ แต่ต้องใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง บนหนทางคดเคี้ยวและทุรกันดาร ทำให้เรื่องราวความเป็นอยู่ของผู้คนในหมู่บ้านแม่ขี้มูกน้อย จึงอยู่ห่างไกลจากการรับรู้และความสนใจของคนไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะชาวเมืองหลวง ไม่ต่างจากวิถีชีวิตของชาวเขาในอีกหลายพื้นที่
หมู่บ้านแม่ขี้มูกน้อยสร้างมานานกว่า 100 ปี จากจุดเริ่มต้นด้วยครอบครัวชาวกะเหรี่ยงเพียง 10 หลังคาเรือน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาเป็น 91 หลังคาเรือน มีประชากร 338 คน
“อยู่มาร้อยกว่าปี จนประชากรขนาดนี้ ยังไม่เคยมีใครเข้ามาสนับสนุน โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา” ภาษาไทยของผู้ใหญ่บ้านคาดี เมฆาปราโมทย์ แม้จะไม่ค่อยชัดแต่ก็นับว่าดีที่สุด เทียบกับลูกบ้าน ส่วนใหญ่ที่แทบสื่อสารภาษาไทยไม่ได้เลย
จริงๆ แล้วเด็กในหมู่บ้านแม่ขี้มูกน้อยยังพอมีสถานที่ให้ได้เล่าเรียนหนังสือภาษาไทยอยู่บ้าง ณ โรงเรียนบ้านสองธาร ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ใกล้ที่สุด ทว่าก็ต้องลงเขา ข้ามห้วยไปราว 7 กม.
ทั้งนี้ ทั้งตำบลบ้านทับ ซึ่งมีอยู่ 13 หมู่บ้าน มีโรงเรียนระดับประถมศึกษาของทางราชการเพียงแค่ 2 แห่ง
การสร้างศูนย์พัฒนาเด็กหรือโรงเรียนระดับประถมขึ้นที่หมู่บ้านแม่ขี้มูกน้อย จึงเป็นเหตุผลหลักในการออกเดินทาง ไกลกว่า 800 กม.ของกลุ่มพาร์ตเนอร์ (พนักงาน) สตาร์บัคส์ ประเทศไทย ครั้งนี้ โดยคณะนี้ไม่ใช่กลุ่มแรกที่เดินทางมาเพื่อสร้างศูนย์ฯ ที่นี่
กลุ่มพนักงานสตาร์บัคส์ทีมแรกที่เข้ามายังศูนย์พัฒนาเด็กแห่งนี้ เข้ามาทำหน้าที่สำรวจหาแหล่งน้ำและสร้างแท็งก์น้ำ ขณะที่ทีมต่อมาเริ่มก่อฉาบและวางรากฐาน โครงสร้างของอาคาร จากนั้นเริ่มก่อโครง สร้างและหลังคา สำหรับงานหลักของทีมสตาร์บัคส์กลุ่มใหม่นี้คือ การก่อฉาบผนังและทาสีแท็งก์น้ำ
แรงงานส่วนใหญ่ในการสร้างสิ่งก่อสร้างเพื่อชุมชนชาวไร่กาแฟ ส่วนหนึ่งมาจากชาวบ้านร่วมด้วยช่วยกัน และอีกส่วนหนึ่งมาจากแรงงานของพนักงานสตาร์บัคส์ที่ได้รับคัดเลือกให้เดินทางมาชมไร่กาแฟ โดยพาร์ตเนอร์หน้าร้านที่จะได้รับโอกาสร่วมทริป ต้องเป็นพนักงานจากร้านที่มีผลงานการขายเมล็ดกาแฟได้ดีที่สุด 4 ในไตรมาส
“กรวิชญ์ ผลภิญโญ” เป็นหนึ่งในพาร์ตเนอร์ที่ผ่านการคัดเลือกด้วยเกณฑ์ดังกล่าว โดยเขามาจากร้านที่เอ็มโพเรียม ซึ่งมียอดขายเมล็ดกาแฟสูงสุดอยู่ที่กว่า 520 ถุงต่อเดือน และมีอัตราเติบโตของการขายเทียบไตรมาสต่อไตรมาสสูงเป็นอันดับ 1 ในบรรดาสาขาทั่วประเทศ
“หลังจากทำงานที่สตาร์บัคส์มาเกือบ 10 ปี ก็อยากมาไร่กาแฟ มันคือความภาคภูมิใจของพาร์ตเนอร์ทุกคน ก็ดีใจที่บริษัทเราไม่ใช่แค่กาแฟถ้วยหนึ่งที่เสิร์ฟลูกค้า แต่เป็น ถ้วยหนึ่งที่เราเสิร์ฟแล้วผลที่กลับมามันมากกว่ากาแฟถ้วยเดียว ดีใจที่ได้มา และก็อยากมาในทริปต่อไป ก็คงต้องพยายามที่จะให้ได้มาอีก” กรวิชญ์เปิดใจในคืนสุดท้ายของทริป หลังจากตรากตรำฉาบปูน ทาสี และเหน็ดเหนื่อยกับการเยี่ยมชมไร่กาแฟมาตลอด 2 วัน
โอกาสที่ได้มาเรียนรู้เรื่องกาแฟ และสัมผัสชีวิตชาวไร่กาแฟไทย ดูเหมือนจะเป็นเพียงเหตุผลรองของการเดินทางครั้งนี้ แต่ผลที่ได้รับก็ยิ่งใหญ่พอที่จะทำให้พนักงานที่กลับจากทริปนี้มี “passion” ในการขายเมล็ดกาแฟมากขึ้น โดยเฉพาะเมล็ดกาแฟ “ม่วนใจ๋” จากชาวเขาบ้านเรา
“สตาร์บัคส์ ม่วนใจ๋” เป็นเมล็ดกาแฟพันธุ์อราบิก้าจากประเทศไทยผสมผสานกับกาแฟจากหมู่เกาะอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิก เปิดตัวครั้งแรกเฉพาะในประเทศไทย เมื่อเดือนกันยายน 2546 เริ่มวางขาย ในประเทศต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิก (เฉพาะ ฤดูกาล) มาตั้งแต่กลางปี 2547 และได้วางจำหน่ายในร้านสตาร์บัคส์ทั่วโลกครั้งแรก (เฉพาะฤดูกาล) ตั้งแต่ต้นปี 2551
จากปีแรกที่สตาร์บัคส์รับซื้อเมล็ดกาแฟจากประเทศไทยเพียง 2 ตัน จนทุกวันนี้เป็นเวลา 8 ปี สตาร์บัคส์ได้ซื้อเมล็ดกาแฟจากประเทศไทย รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 150 ตัน เพื่อผลิตเป็นกาแฟสตาร์บัคส์ ม่วนใจ๋
โดยพันธสัญญาของสตาร์บัคส์ต่อชาวไร่กาแฟไทยมีอยู่ว่า 5% ของรายได้จาก การขายกาแฟม่วนใจ๋จากทั้งในและต่าง ประเทศ จะถูกนำมาใช้เพื่อการปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไร่กาแฟไทยที่เป็นผู้ผลิตม่วนใจ๋ให้ดีขึ้น ...นี่จึงไม่ใช่ ครั้งแรกของสตาร์บัคส์ไทยที่พาพาร์ตเนอร์ มาเยี่ยมชมไร่กาแฟ และสร้างสิ่งก่อสร้างจำเป็นให้กับชุมชนชาวไร่กาแฟ
“จริงๆ ทริปนี้เป็นปีที่ 6 ของการเยี่ยมชมไร่กาแฟของเรา” สุมนพินท์ โชติกะพุกกะณะ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร บริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ ไทยแลนด์ ให้ข้อมูล
ไม่เพียงพาร์ตเนอร์หน้าร้าน เธอและผู้บริหารสตาร์บัคส์ ประเทศไทย เชื่อว่า พาร์ตเนอร์จากออฟฟิศก็ควรต้องผลัดกันมาเรียนรู้และเยี่ยมชมไร่กาแฟ เพื่อให้ “อิน” กับการทำงานในฐานะ “คนกาแฟ” ยิ่งขึ้น
นอกจากพาร์ตเนอร์คนไทยในทริปนี้ ยังมีพาร์ตเนอร์จากสตาร์บัคส์ ออสเตรเลียมาร่วมอีก 3 คน โดยทริปนี้ถือเป็นรางวัลที่สตาร์บัคส์ ออสเตรเลีย มอบให้ กับพนักงานที่มีผลงานดีที่สุดประจำปีที่ผ่านมา โดยบริษัทที่ออสเตรเลียออกตั๋วเครื่องบินไปกลับออสเตรเลีย-กรุงเทพฯ ค่าที่พักในกรุงเทพฯ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการร่วมทริปเยี่ยมชมไร่กาแฟ ที่ต้องจ่ายให้กับสตาร์บัคส์ ประเทศไทย ซึ่งจะมอบต่อให้กับ Integrated Tribal Development Program (ITDP) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาชาวเขาบนดอยแบบผสมผสาน เพื่อไปใช้ประโยชน์ในโครงการต่างๆ เกี่ยวกับชาวไร่กาแฟอีกทอดหนึ่ง
ทริปเยี่ยมชมไร่กาแฟครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ โดยปีนี้เป็นปีแรก ที่มีพาร์ตเนอร์จากออสเตรเลียและญี่ปุ่นเข้าร่วมการเดินทาง นอกจาก 2 ประเทศนี้ยังมีสตาร์บัคส์จากหลายประเทศที่ให้รางวัลแก่พนักงานเป็นการเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย และร่วมทริปเยี่ยมชมไร่กาแฟที่ผลิตม่วนใจ๋ อาทิ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น
“เมื่อเขามา แล้วเขาอินไปกับชาวไร่กาแฟที่นี่ เราก็หวังว่าเขาจะกลับไปคุยกับออฟฟิศเพื่อให้สั่งม่วนใจ๋ไปขายมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เราก็เลยพยายามหลอกล่อทุกประเทศให้มาอีก ยิ่งรับรู้ ยิ่งอินมาก เขาก็น่าจะพยายามช่วยกันมากขึ้น แต่เราก็ต้องเร่งให้ปลูกกาแฟมากขึ้นด้วย เพราะถ้าประเทศเหล่านี้เอาแน่ จะได้ไปพร้อมกันทั้งดีมานด์และซัปพลาย แต่ก็บอกไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ ตอนนี้เป็นช่วงสร้างโมเมนตัมให้ทุกคนเข้าใจกาแฟม่วนใจ๋ของเรา” สุมนพินท์อธิบาย
ตั้งแต่ 6 ปีก่อน จนถึงทริปล่าสุดนี้ มีพนักงานสตาร์บัคส์ ประเทศไทย ผลัดกันมาเยี่ยมชมไร่กาแฟและร่วมสร้างสิ่งก่อสร้างให้แก่ชุมชนผู้ปลูก กาแฟม่วนใจ๋แล้วทั้งสิ้น 350 คน จากทั้งหมด 1,000 กว่าคน ขณะที่จำนวน พาร์ตเนอร์จากต่างประเทศที่มาร่วมทริป รวมแล้วน่าจะไม่ต่ำกว่า 60 คน
ที่ผ่านมา สตาร์บัคส์ ประเทศไทยสร้างแท็งก์น้ำชุมชนและซ่อมแซม ศูนย์เด็กเล็กให้กับหมู่บ้านห้วยห้อม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน การสร้าง แทงก์น้ำและสถานีอนามัยให้กับหมู่บ้านห้วยส้มป่อย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และการสร้างแท็งก์น้ำให้กับหมู่บ้านห้วยขนุน อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
ทว่า การสร้างโรงเรียนที่หมู่บ้านแม่ขี้มูกน้อยครั้งนี้ไม่ใช่การสร้าง สิ่งก่อสร้างเพื่อตอบแทนให้กับชุมชนชาวไร่กาแฟผู้ปลูกกาแฟส่งสตาร์บัคส์ ทั้งนี้เพราะกาแฟจากบ้านแม่ขี้มูกน้อยยังไม่มีการส่งขายไปยังสตาร์บัคส์ หากแต่ในปีนี้อาจจะเป็นครั้งแรก ถ้าเมล็ดกาแฟจากหมู่บ้านนี้ผ่านการยอมรับจากบริษัทแม่ที่ซีแอตเติลเช่นเดียวกับกาแฟไทยจากดอยอื่น
ส่วนเงินทุนในการก่อสร้างเกือบทั้งหมดมาจากรายได้ 5% ของกาแฟม่วนใจ๋ตามพันธสัญญาดังกล่าว ยกเว้นคลินิกชุมชนที่ห้วยส้มป่อย ซึ่งเงินทุนส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมหาทุนที่สตาร์บัคส์ ประเทศไทย จัดขึ้น เพื่อให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วม
ทว่า ครั้งนี้ก็หาใช่เงินรายได้ 5% จากการขายกาแฟให้ลูกค้าสตาร์บัคส์ หรือเงินบริจาคจากลูกค้าคนไทย ไม่!! แต่เป็นเงินทุนจากมูลนิธิ สตาร์บัคส์ (Starbucks Foundation) ซึ่งแม้จะจัดตั้งมานานหลายปีแล้ว แต่ก็ไม่เคยแบ่งสรรเงินทุนตรงนี้มาใช้พัฒนาประเทศอื่น โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก
“ในฐานะคนไทยก็หวังเสมอว่าอยากจะทำสิ่งดีๆ ให้กับสังคมบ้าง ในแง่นี้ การทำงานที่สตาร์บัคส์ดูเหมือนจะไม่ตรงกับที่ตั้งใจไว้ เพราะเป็น การทำงานให้กับบริษัทกาแฟต่างชาติ แต่เพราะรู้ว่าสตาร์บัคส์มีนโยบายที่จะมอบสิ่งดีๆ คืนสู่สังคมที่บริษัททำธุรกิจอยู่ คิดว่าความสำเร็จสูงสุดในชีวิตการทำงานที่นี่ อย่างหนึ่งคือ การได้นำเงินจากการขายเมล็ดกาแฟมาช่วย ผู้ผลิตเมล็ดกาแฟในเมืองไทย แต่มากกว่านั้น คือปีนี้ พวกเรานำเงินทุนจาก อเมริกา จากบริษัทแม่ กลับมาช่วยคนไทยได้สำเร็จ โดยไม่ต้องอาศัยเงินจากลูกค้าคนไทยเลยสักบาท” สุมนพินท์เปิดใจด้วยเสียงสั่นเครือ
ศูนย์พัฒนาเด็กหมู่บ้านแม่ขี้มูกน้อย ถือเป็นโครงการแรกของประเทศ ไทยที่ได้รับเงินทุนทั้งหมดในการก่อสร้างและบริหารศูนย์ (ค่าจ้างคุณครูและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่นๆ) จากมูลนิธิสตาร์บัคส์ ภายใต้ชื่อทุน “Starbucks Youth Action Grant” ที่เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน
ทั้งนี้ Starbucks Youth Action Grant ไม่ได้จำกัดเฉพาะโครงการ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตเมล็ดกาแฟเท่านั้น แต่เป็นทุนที่เปิดกว้างให้กับมูลนิธิ หรือโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ตามหลัก CSR ของสตาร์บัคส์ ที่ว่าด้วย “Share Plane” โดยหน่วยงานที่สนใจสามารถเขียน proposal ยื่นผ่านสตาร์บัคส์ ประเทศไทยได้
“เหตุผลที่เราเลือกมาที่นี่ เพราะที่นี่มีหลายหมู่บ้านที่ยากจน เด็กไม่มีโอกาสเรียนโรงเรียนไทย และพื้นที่เขตนี้ยังมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ต้นไม้บนภูเขาถูกตัดหมดแล้ว เราคิดว่าน่าจะส่งเสริมอะไรที่จะช่วยรักษาป่าที่มีอยู่ แล้วได้” Michael Mann หรือ อ.ไมค์ ผู้อำนวยการโครงการ Integrated Tribal Development Program (ITDP) เป็นผู้เขียนขอทุนในครั้งนี้
ศูนย์พัฒนาเด็กภายใต้ทุนของสตาร์บัคส์ ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างหมู่บ้านแม่ขี้มูกน้อยและบ้านกองกาย ซึ่งเด็กจากบ้านกองกายก็ต้องลงไปไกลถึง 6 กม. ที่โรงเรียนบ้านสองธาร เช่นกัน โดยในเบื้องต้นศูนย์แห่งนี้เปิดบริการในระดับอนุบาลและ ป.1 ก่อน ซึ่งคาดว่าจะมีเด็กเล็กที่ได้ใช้ประโยชน์มากกว่า 50 คน จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายไปสู่ ป.6
โรงเรียนอาจถือเป็นความจำเป็น แต่ทว่า ความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเข้ามาพัฒนาชุมชน แห่งนี้ สำหรับ อ.ไมค์ นั่นก็คือ การรุกคืบของนายทุนผู้สนับสนุนให้ปลูกไร่ข้าวโพด ซึ่งกำลังคุกคามพื้นที่ป่าไม้บนเทือกเขาแถบนี้ให้ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยใช้ชาวเขาเป็นแรงงานถางทำลายป่าและปลูกข้าวโพดส่ง อันเป็นที่มาของภาพทิวเขาหัวโล้นตลอดเส้นทางการเดินทางมาสู่หมู่บ้านแห่งนี้
โรงเรียนอาจไม่ได้ช่วยรักษาป่าได้โดยตรงในทันที แต่เบื้องต้นโรงเรียนจากทุนสตาร์บัคส์ จะทำให้ชาวเขาบ้านแม่ขี้มูกน้อยและบ้านกองกาย เริ่มมีความรู้สึกดีและมั่นใจต่อสตาร์บัคส์ในฐานะว่าที่คู่ค้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ชาวเขาหันมาปลูกกาแฟแทนข้าวโพด เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านรู้สึกว่า เมื่อปลูกข้าวโพดแล้วมีผู้มารับซื้อแน่นอน แต่สำหรับกาแฟยังไม่มีใครในหมู่บ้านปลูก ชาวบ้านจึงยังไม่เคยเห็นรายได้จากการขายกาแฟ และไม่มั่นใจว่าจะมี ตลาดรองรับ
ข้อเสียของการปลูกข้าวโพดคือการถางป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว เมื่อเก็บเกี่ยวก็มีการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ ปลูกใหม่ ใส่ปุ๋ยเคมีแล้วลงข้าวโพด ทำเช่นนี้จนเมื่อแร่ธาตุในดินหมดไป ชาวบ้านก็ยิ่งใช้ปุ๋ยเคมี เมื่อที่ดินผืนนั้น เริ่มให้ผลผลิตไม่มากพอ ก็จะถางป่าที่อื่นแล้วทำซ้ำเป็นวัฏจักร ตราบใดที่ข้าวโพดยังมีราคาดีและมีผู้รับซื้อ
“สำหรับกาแฟที่จะปลูกให้ได้คุณภาพ ต้องปลูกในป่า หรือปลูกภายใต้ร่มเงาต้นไม้อื่นและไม่ขัดแย้งกับสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้ปุ๋ย ไม่ใช้ยา” เป็นคำตอบของไมค์ต่อคำถามว่าเหตุใดกาแฟจึงช่วยรักษาป่าได้
อ.ไมค์เริ่มรณรงค์การปลูกกาแฟรักษาป่าจากการกลุ่มเล็กๆ เพียง 15 ครอบครัวใน 3 หมู่บ้าน ตั้งแต่ 12 ปีก่อน โดยใช้เวลาเพาะปลูก 3 ปี จึงเก็บเกี่ยวและเริ่มส่งขายให้กับสตาร์บัคส์ได้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว อันเป็นจุดเริ่มต้นความเชื่อมั่นในคุณภาพและความมี ชื่อเสียงของกาแฟจากดอยทางภาคเหนือของไทย ซึ่งไมค์เชื่อว่าเป็นผลมาจาก “Starbucks Effect”
ความมีชื่อเสียงที่ได้รับทำให้กาแฟจากแหล่งเหล่านี้ ได้รับความสนใจจากผู้ค้ากาแฟทั้งในและต่างประเทศเข้ามาติดต่อขอซื้อในราคาที่สูง นอกจากสตาร์บัคส์ กาแฟจากแหล่งปลูกเหล่านี้ยังได้ส่งไปผลิตเป็นกาแฟอีกหลายแบรนด์
ตามความเชื่อของไมค์ การนำเงินรายได้ 5% จากม่วนใจ๋กลับเข้าไปแหล่งผลิตเมล็ด กาแฟม่วนใจ๋ ก็ยิ่งทำให้กาแฟจากแหล่งผลิตนั้นๆ มีชื่อเสียงและราคาดีขึ้น เมื่อชาวบ้านเห็นว่าได้ราคาดี ก็จะหันมาปลูกกาแฟคุณภาพดีเพิ่มขึ้นๆ หากคิดอย่างแย่สุดคือป่าไม้ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่อย่างน้อยที่สุด ป่าไม้ก็จะไม่ลดลงในหมู่บ้านเหล่านั้น
สำหรับการพาคณะสตาร์บัคส์มายังหมู่บ้านแม่ขี้มูกน้อยครั้งนี้ เขาก็คาดหวังว่า จะนำมาซึ่งชื่อเสียงของเมล็ดกาแฟที่ผลิตจาก อ.แม่แจ่ม และเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับชาวเขาในหมู่บ้านนี้ว่าจะมีผู้รับเมล็ดกาแฟซื้อแน่นอน เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาหันมาปลูกกาแฟเพิ่มขึ้นและเร็วขึ้น เพื่อเป็นการรักษาป่า
“ถ้าส่งเสริมพวกเขาให้ปลูกกาแฟ เขาก็จะไม่ทำลายป่า แต่เราคงต้องรีบ” อ.ไมค์ พูดอย่างเป็นห่วงขณะพาคณะสตาร์บัคส์สำรวจพื้นที่ป่ารอบหมู่บ้าน
ทั้งนี้ กาแฟชุดแรกจากหมู่บ้านแม่ขี้มูกน้อย ราว 30 ไร่ ที่กำลังจะส่งไปให้บริษัทแม่ของสตาร์บัคส์ นับเป็นผลมาจากความพยายามของไมค์ในการรณรงค์การปลูกกาแฟที่นี่ ตั้งแต่เมื่อ 3-4 ปีก่อน หากกาแฟชุดแรกขายได้ราคาดี ก็เชื่อได้ว่า น่าจะมีชาวบ้านอีกหลายคนหันมาปลูกตาม
ยิ่งปัจจุบันราคาข้าวโพดอยู่ที่ กก.ละประมาณ 8 บาท แต่ต้องมีการรื้อแปลงดินและปลูกใหม่ทุก 3 เดือน ขณะที่ราคากาแฟ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2554 ถีบตัวสูงถึง 18-20 บาทต่อ กก. แต่ปลูกเพียงครั้งเดียว ในพื้นที่ที่มีป่าไม้หรือมีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม ก็จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานถึง 20-50 ปี แล้วแต่สภาพความสมบูรณ์ของดิน
“อ.แม่แจ่ม สมัยก่อนมีต้นไม้เยอะมาก ปัจจุบันเหลือไม่มาก ถ้าเรายังปล่อยให้ปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้นทุกๆ ปีก็จะไม่มีต้นไม้ แต่ถ้าปลูกกาแฟก็จะไม่มีการตัดป่าไม้เพิ่มขึ้น วันหน้าถ้าขายสตาร์บัคส์ได้ ที่นี่ก็จะมีชื่อเสียง ก็จะมีคนหันปลูกกาแฟมากขึ้น” อ.ไมค์ย้ำถึงความหวังของตนอีกครั้ง
สำหรับคณะสตาร์บัคส์ โรงเรียนไม่เพียงเป็น “สื่อ” ที่จะช่วยทำให้ชาวเขามั่นใจแล้วหันมาปลูกกาแฟเพิ่มขึ้น พวกเขา หวังว่า ในระยะยาว ที่นี่จะเป็นแหล่งพัฒนา องค์ความรู้เรื่องการปลูกกาแฟให้แก่ เยาวชน เพื่อที่วันหน้าภาคเหนือของไทยอาจจะกลายเป็นแหล่งผลิตกาแฟที่มีชื่อเสียง และมีสเกลใหญ่ เหมือนกับหลายประเทศ
วันนี้ ทั้งชาวเขาและชาวสตาร์บัคส์ กำลังเร่งมือเพื่อให้ศูนย์พัฒนาเด็กที่บ้านแม่ขี้มูกน้อยเปิดทันเดือนพฤษภาคมนี้ ทว่า โรงเรียนแห่งนี้ยังขาดเงื่อนไขสำคัญตัวสุดท้ายของการเป็นโรงเรียน คือ “คุณครู” ผู้มีคุณวุฒิและอุดมการณ์ พร้อมที่จะอุทิศตนมาอยู่บนดอยอันห่างไกลและทุรกันดาร ซึ่งปัจจัยตัวนี้ดูจะยากกว่าการขอทุนมาสร้างอาคารเป็นไหนๆ...
|
|
|
|
|