Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา มีนาคม 2554
Greener Enterprise มีอยู่จริงหรือ             
โดย ดร. เมธาคุณ ตุงคะสมิต
 


   
search resources

Environment




เมื่อ 10 ปีก่อนตอนนำเสนองานวิจัย ผมเคยถูกตั้งคำถามโดยศาสตราจารย์ผู้มีชื่อเสียงทางเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาท่านหนึ่งว่า “คุณเชื่อจริงๆ หรือว่าการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องจริง?” ท่านยักคิ้วหลิ่วตาทำนองเย้ยหยัน ว่าแล้วท่านก็ฟันธงเลย โดยไม่ปล่อยให้ผมได้ตอบคำถามว่า “ทุกๆ อย่างที่ธุรกิจทำ ไม่ว่าเรื่องสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ก็เพื่อกำไรสูงสุดของธุรกิจเท่านั้น”

คำพูดของศาสตราจารย์ท่านนั้นยังคงก้องอยู่ในความคิดของผมจนบัดนี้ แน่นอนว่า ภารกิจหลักของธุรกิจคือการทำมาหากินและเติบโต แต่หากผลของธุรกิจ นำมาซึ่งประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยตรง เช่นการทำธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โดยใช้แสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนพื้นที่ห่างไกลในชนบท ก็น่าจะนับรวมเป็นหนึ่งในธุรกิจสีเขียวได้อย่างไม่ต้องสงสัย

แต่เมื่อนึกถึงบริบทของสังคมวัตถุนิยมที่ต้องการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อัตราการเจริญเติบโต (Growth rate) จึงเป็นเรื่องที่ทุกองค์กรธุรกิจให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ซึ่งไม่มีแนวโน้มว่าประชาคม ธุรกิจจะหยุดยั้งวิธีคิดซึ่งอิงอัตราการเจริญเติบโตเป็นสรณะลงได้ นอกเสียจากว่าปัจจัย ของการเจริญเติบโตจะขาดแคลนหรือหมดไปเอง อันหมายถึงการที่ทรัพยากร ธรรมชาติ แร่ธาตุ และพลังงานที่เป็นปัจจัยหลักในการผลิตและบริการเริ่มหายากขึ้นและมีราคาแพง

ในโลกยุควัตถุนิยม นอกเหนือจากสินค้าและบริการที่มีความหลากหลายและมีคุณภาพสูงขึ้นแล้ว ผลพลอยได้ในทางลบ อันเกิดจากการผลิตและการบริโภคซึ่งอิงอัตราการเจริญเติบโตในปัจจุบัน ก็ได้ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาสังคม ที่ซับซ้อนและรุนแรงขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือ มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงกายภาพของโลกและสังคมของมนุษย์อย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน เช่น สภาวะโลกร้อน ภูมิอากาศแปรปรวน ความแห้งแล้ง และภัยพิบัติทาง ธรรมชาติที่มีความรุนแรงมากขึ้น ช่องว่างระหว่างรายได้ ความรุนแรงทางสังคม ความแออัด และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็น กระบวนการที่เกี่ยวข้องกันเป็นโยงใยที่ซับซ้อนยากที่จะทำนายและวินิจฉัย

ในมุมมองของผม ปัญหาสิ่งแวด ล้อมจึงเป็นเพียง “อาการ” อันป็นผลจากกระบวนทัศน์ (Paradigm) ของความ พยายามที่จะคงตัวเลขการเจริญเติบโตทาง เศรษฐกิจไว้นั่นเอง ซึ่งหากจะต้องก้าวเดินกันบนโลกใบนี้ต่อไป จำเป็นที่จะต้องหยุดทบทวนเพื่อทำความเข้าใจและ เรียนรู้สังเกต “บทเรียนจาก ธรรมชาติ” ซึ่งสอนเราว่าทุกสิ่ง ที่เกิดขึ้นมาในธรรมชาติล้วนแต่ มีประโยชน์ (Intrinsic Value) ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง กล่าวคือธรรมชาติเป็นห่วงโซ่อันยิ่งใหญ่ ที่ไม่เคยมีส่วนเกินหรือ waste หลงเหลือให้เป็นภาระ

ธุรกิจจำเป็นจะต้องเข้าใจความละเอียดอ่อนของโยงใยอันสลับซับซ้อนในธรรมชาติ ซึ่งพัฒนาการมาเป็นเวลายาว นานกว่าเมื่อเทียบเคียงกับช่วงเวลาของพัฒนาการทาง การผลิตและการบริโภคของสังคมมนุษย์ อุปมาเหมือนระยะเวลาเพียงชั่วเสี้ยววินาทีในหนึ่งวันที่มี 24 ชั่วโมง กล่าวคือ เรายังคงเข้าใจธรรมชาติน้อยมาก องค์ความรู้เพื่อที่จะก้าวต่อไปไม่เพียงแต่เป็นไป เพื่อการ “เติบโต” เท่านั้น หากแต่ต้องเป็นองค์ ความรู้ที่เอื้ออำนวยต่อสภาวะ “สมดุล” ในเงื่อนไขที่ธรรมชาติมอบให้อีกด้วย

ผมได้คำตอบเบื้องต้นว่า ธุรกิจเพื่อ สิ่งแวดล้อมและสังคมโดยตรงที่สามารถทำ กำไรเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืนอาจเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจสี “เขียวแก่” และสีเขียวนั้นจะ ค่อยๆ จืดจางลง ตามความสอดคล้องกับธรรมชาติที่ถูกลดทอนลงในทุกๆ ขั้นตอนของธุรกิจ หรืออีกนัยหนึ่ง การทำธุรกิจที่ก่อ มลภาวะ ถึงแม้จะได้กำไรและปันกำไรนั้น ไปบริจาคช่วยเหลือคนยากจน ย่อมไม่อาจ เรียกว่าเป็นธุรกิจสีเขียวได้ หรือถึงแม้จะอนุโลม ก็คงเข้าข่ายธุรกิจที่มีสีเขียวเจือจาง เต็มทน ซึ่งในแง่นี้อาจต้องมีการทบทวนกระแส CSR ที่มาแรงในปัจจุบันกันใหม่ว่า เรื่องใดจริงเรื่องใดเป็นเพียงภาพลวงตา

ฟริตจอฟ คาปร้า (Fritjof Capra) ศาสตราจารย์และนักฟิสิกส์แห่งมหาวิทยา-ลัยแคลิฟอร์เนีย-เบิร์กเลย์ ผู้มีชื่อเสียงจากการเชื่อมโยงทฤษฎีด้านฟิสิกส์กับปรากฏ การณ์ทางสังคม โดยสะท้อนจากหนังสือและบทความวิชาการที่มีการแปลเป็นภาษา ต่างประเทศรวมทั้งภาษาไทยมากมาย กล่าวถึงบริบทของความคิดเชิงระบบไว้ในหนังสือ The Hidden Connection หรือชื่อฉบับภาษาไทยว่า “โยงใยที่ซ่อนเร้น” ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

“...เมื่อเรามองดูโลกรอบๆ ตัว เราพบว่า เราไม่ได้ถูกโยนเข้ามาในความไร้ระเบียบอย่างสะเปะสะปะ แต่เราเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบอันยิ่งใหญ่ เป็นเพลงซิมโฟนีของชีวิตที่ยิ่งใหญ่ ทุกๆ โมเลกุลของร่างกายเรา ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายอื่นๆ ที่มีมาก่อนหน้านี้ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตและจะกลายเป็นส่วนหนึ่ง ของร่างกายอื่นๆ ในอนาคตต่อไป ในแง่นี้ร่างกายของเราจะไม่ตาย แต่จะมีชีวิตต่อไป ครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งนี้เพราะว่าชีวิตจะดำรง อยู่ต่อไป...เราเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล เรา อยู่กับจักรวาลเช่นเดียวกับอยู่บ้าน ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งนี้ทำให้ชีวิตของเรามีความหมายอันลึกซึ้ง...”

ที่จริง มุมมองของคาปร้าเป็นการจุดประกายความคิดที่ว่า ทุกๆ สิ่งในระบบธรรมชาติล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันไม่ ทางใดก็ทางหนึ่ง นอกจากนี้ การกระทำใดๆ ก็ตามของมนุษย์ย่อมส่งผลย้อนกลับมาสู่มนุษย์เองอีกด้วย ที่เป็นเช่นนี้เพราะระบบของธรรมชาติได้สร้าง “กลไกการหมุน เวียนของสสารและพลังงาน” ที่สมบูรณ์แบบไว้เรียบร้อยแล้ว หากแต่เรายังไม่มีองค์ความรู้เพียงพอที่จะทำความเข้าใจกับโยงใยที่ซ่อนเร้นในธรรมชาตินี้ได้

จะเห็นได้ว่า ทางวิทยาศาสตร์นั้น เรามักมองทุกๆ อย่างรอบตัวเราแบบแยกส่วน เช่น ระบบการผลิตของเรา เครื่อง จักรของเรา ธุรกิจของเรา เป็นต้น โดยไม่ได้คำนึงถึงความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนระหว่างสสารและระบบต่างๆ ถึงแม้จะให้ความสนใจบ้าง เราก็จะมองเพียงสิ่งที่ชั่ง ตวง วัด และจับต้องได้ เรามักละเลยตัว แปรใดๆ ก็ตามที่สลับซับซ้อนเกินไปและตีกรอบความคิดในวงจำกัด เป็นต้นว่า หากเราได้รับมอบหมายให้ควบคุมโครงการก่อสร้าง เรามักจะลงมือทำตามแบบที่มีวิศวกรผู้ออกแบบไว้ให้แล้ว ซึ่งหลายครั้งเราพบว่า สิ่งที่ปรากฏในแบบกับความเป็นจริงนั้นขัดแย้งกัน แน่นอน นั่นเป็นผลจากการที่ผู้ออกแบบสร้างสมมุติฐานขึ้นมาเพื่อให้ง่ายต่อการคำนวณ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อโครงการสร้างเสร็จ เรามักจะพบว่าสิ่งก่อสร้างที่เราสร้างขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาที่ซับซ้อนกว่าตามมา เช่น สร้างอุโมงค์แก้ปัญหาจราจรที่สี่แยกหนึ่ง กลับทำให้การจราจรอีกแยกหนึ่งติดมากขึ้น หรืออาจกระทบต่อคนเดินเท้าที่จะข้ามถนนมากขึ้นกว่าเดิม

สรุปง่ายๆ ว่า “ความคิดเชิงระบบ” นั้นต้องเริ่มจากการย้ายมุมมองจาก “องค์ประกอบ” ไปสู่ “องค์รวม”

เป็นที่ทราบกันดีว่าองค์รวมเป็นมาก กว่าผลรวมขององค์ประกอบของมัน (The whole is more than the sum of its components) และสิ่งที่มากกว่านั้นก็คือ “สัมพันธภาพ” ซึ่งชั่งตวงวัดไม่ได้ แต่เขียน เป็นแผนผัง (Mapping) ได้ แต่ก็ยากที่จะทำความเข้าใจเนื่องด้วยเป็นการวิเคราะห์ ในเชิงคุณภาพ อย่างไรก็ตาม เวลานี้คณิต ศาสตร์ที่ว่าด้วยความสลับซับซ้อน (Com-plexity) ระบุให้คำว่า “การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ” เป็นศัพท์เทคนิคแล้ว ดังนั้นในเบื้องต้นผู้นำธุรกิจจะต้องเข้าใจบทบาทของ ธุรกิจในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และสามารถขยายกรอบจากปริมาณสู่คุณภาพได้อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ เรื่องของ “Greener Enterprise” จึงให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อคุณค่า (Value) และคุณภาพ (Quality) ของธุรกิจเป็นพิเศษ

แน่นอนว่า Greener Enterprise จะมีอยู่จริงหรือไม่ เราคงต้องยึดถือความสอดคล้องต่อธรรมชาติของกระบวนการธุรกิจเป็นเกณฑ์พื้นฐานครับ   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us