|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ทุกวันนี้หลายๆ คนหลายๆ ฝ่ายเริ่มตระหนักแล้วว่า สถานการณ์พลังงานที่จำกัดเร่งรัดให้เราต้องหันมาพิจารณาพลังงานนิวเคลียร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งๆ ที่รู้กันอยู่เต็มอกว่า การใช้นิวเคลียร์เป็นความเสี่ยงมากที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ แต่เราก็ไม่มีทางเลือก เมื่อมนุษย์ต้องเผชิญกับความเสี่ยงอยู่เสมอมาตลอดช่วงวิวัฒนาการหลายพันหลายหมื่นปีมนุษย์ก็ต้องเผชิญกับสิ่งท้าทายต่อไปตราบเท่าที่เผ่าพันธุ์มนุษย์ยังคงดำรงอยู่
ในการทำความเข้าใจกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่อยู่ในแผนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ อีก 10 ปีข้างหน้า ผู้เขียนในนาม คอลัมนิสต์ของนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ มีโอกาสเข้ารับฟังความคิดเห็นของคุณรัตนชัย นามวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในบรรยากาศสบายๆ วันหนึ่งของ เดือนกุมภาพันธ์ ท่านกรุณาให้ความกระจ่าง ชี้ข้อมูลที่เป็นเหตุและผลในประเด็นที่สำคัญหลายด้าน ด้วยความหวังที่จะสร้างความเข้าใจให้ลึกซึ้งถึงความจำเป็นของประเทศที่จะต้องรักษาความสมดุลของพลังงาน และความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทำให้บทความนี้ต้องเน้นหนักไปที่ความจำเป็นที่จะต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระหว่างคุณรัตนชัยและผู้เขียนมีประเด็นที่น่าสนใจ พอจะสรุปได้ดังนี้
ความจำเป็นที่จะนำไปสู่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ด้วยความที่การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทยยังต้องดำเนินต่อไป ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ มารองรับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าปัจจุบันเราใช้เชื้อเพลิงหลาย ประเภทในการผลิตไฟฟ้าเท่าที่จะจัดหาได้ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ลิกไนต์ น้ำมัน พลังน้ำ และพลังงานทดแทนรูปแบบ อื่นๆ แต่พลังงานทั้งหมดนี้มีข้อจำกัดด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบัน เรานำมาใช้ผลิตไฟฟ้าถึง 72% ของพลังงาน ทั้งหมด ก๊าซส่วนหนึ่งจากอ่าวไทย อีกส่วน หนึ่งเรานำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านและจากประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งมีแนวโน้มจะหมดไปและขาดแคลน ประเทศจึงจำเป็นที่จะต้องหาแหล่งพลังงานรูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพมารองรับวิกฤติพลังงาน และความต้องการที่เพิ่มขึ้น
คุณรัตนชัยให้ความเห็นเริ่มต้นว่า “เป็นที่ตระหนักกันอยู่ว่า วิกฤติการขาด แคลนพลังงานกำลังคืบคลานเข้ามา น้ำมัน ราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างยากที่จะประเมินได้ ล่าสุดสถานการณ์ความวุ่นวายในอียิปต์ อาจส่งผลดันราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงขึ้น ส่วน ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานที่สะอาด จึงเป็นที่ต้องการของทุกๆ ประเทศ ก๊าซในอ่าวไทยก็กำลังจะหมด และก๊าซที่นำเข้าก็ตกลงกันยากขึ้น เพราะประเทศต่างๆ ก็ต้องการก๊าซด้วยกันทั้งนั้น ใครใหญ่ใครมีอำนาจก็มักจะได้ไป ถ่านหินลิกไนต์ที่เรามีมากอยู่ในประเทศ ก็อย่างที่รู้ๆ กันว่า มีข้อจำกัดสูง”
คุณรัตนชัยอธิบายต่อไปว่า “ตามแผนการพัฒนาประเทศ ในปี 2562 ประเทศไทยเราจะมีความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 1,200 MW (แค่รถไฟฟ้าสายใหม่ ก็ต้องการกำลังไฟฟ้าถึง 1 โรงเต็มๆ) เพื่อ ความเข้าใจจริง จะต้องอธิบายถึง base load (ปริมาณไฟฟ้าที่ใช้อยู่เป็นหลัก อันเป็นภาระพื้นฐานในแต่ละวัน) และ peak load (ปริมาณไฟฟ้าเพิ่มเติมในช่วงที่ความ ต้องการพุ่งสูงขึ้นในแต่ละวัน เช่น ตอนกลางคืนช่วง 1 ทุ่มถึง 3 ทุ่ม) ปัจจุบันการผลิต base load เป็นพื้นฐานใช้ก๊าซธรรมชาติ ลิกไนต์ น้ำมัน เป็นเชื้อเพลิง เพื่อความแน่นอนมิให้ไฟฟ้าดับ ไทยยังต้อง ซื้อไฟจากลาวและมาเลเซียด้วย ส่วน peak load ในเวลาหัวค่ำ เป็นไฟที่ผลิตได้จากพลังน้ำในเขื่อน การผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับทั้ง base load และ peak load นั้น มีปริมาณสูงขึ้นประมาณ 10% ทุกปี ส่วนในประเทศพัฒนาเช่นฝรั่งเศส ใช้พลังงานนิวเคลียร์ผลิต base load ถึง 80-90%”
“ความจำเป็นอีกด้านหนึ่งคือปัญหา การก่อก๊าซเรือนกระจก ทุกวันนี้ปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก เรียกร้องให้ทุกๆ ประเทศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเทศไทยก็มีพันธะต่อประชาคมโลกในเรื่องนี้เหมือนกัน จึงต้องหันมาใช้พลังงานสะอาด ลดการใช้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมันและถ่านหินลง”
ประโยชน์ที่ได้จากพลังงานนิวเคลียร์ จะคุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือไม่
ประโยชน์ที่ได้จากพลังนิวเคลียร์ในทางสันตินั้นเห็นชัดกันอยู่ นิวเคลียร์เป็น พลังงานที่ผลิตขึ้นมาได้มหาศาลในปริมาณ เชื้อเพลิงที่น้อยนัก จึงเป็นพลังงานที่สะอาด มีประสิทธิภาพ ถ้าคิดโดยรวมเปรียบเทียบ กับเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ ก็ยังนับว่าถูกกว่า แต่ความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่สิ ที่น่าคิด!
คุณรัตนชัยให้ความเห็นต่อไปว่า “แผนปฏิบัติการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กฟผ. กำลังดำเนินการอยู่อย่างรอบคอบ มีการ เตรียมบุคลากรด้านผู้ปฏิบัติการและผู้เชี่ยว ชาญ มีการศึกษาเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานของโรงไฟฟ้าและกระบวนการผลิตการป้องกันอุบัติภัยและวางแผนให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน กฟผ.และหน่วย งานที่เกี่ยวข้องกำลังศึกษากันอย่างรอบคอบ ทุกด้าน เพื่อให้ได้รูปแบบและเทคโนโลยีที่เหมาะสมและปลอดภัยที่สุดสำหรับประเทศ ไทย บรรดาอุปสรรคปัญหาทั้งหมด ประเด็นที่ยากยิ่งที่สุดเห็นจะเป็นการทำความเข้าใจ กับประชาชน รองลงมาคือ การนำเสนอแผนต่อนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจบริหารปกครองให้ตัดสินใจทั้งส่วนดีและส่วนเสีย บนความจำเป็นและผลประโยชน์ของประเทศชาติจริงๆ มิใช่การเมือง ข้อเท็จจริงที่นำเสนอจึงต้องมีทั้งสองด้าน”
ศักยภาพในการควบคุมและป้องกันการรั่วไหลของกัมมันตรังสีและอุบัติภัย มีพร้อมแค่ไหน
ประเด็นนี้น่าจะเป็นสิ่งที่เรากลัวกันมากที่สุด และแน่นอนคุณรัตนชัยพยายาม ที่จะเน้นย้ำในประเด็นนี้
“การควบคุมการใช้นิวเคลียร์ มีมาตรการแน่นหนา แม้ว่าจะเป็นไปเพื่อสันติ ตั้งแต่เริ่มต้นวางแผน IAEA (International Atomic Energy Agency) ซึ่งเป็นองค์กร ของโลกก็จะเข้ามาให้คำแนะนำ ให้การศึกษาอบรม ทุกขั้นตอนเราจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของ IAEA ส่วนในประเทศเราก็มีสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเป็นหน่วยงานที่คอยควบคุมระดับชาติ
“ในช่วงวางแผนและศึกษาความเหมาะสม เราก็จะต้องจัดทำทั้ง EIA (environmental impact assessment), HIA (health impact assessment), SIA (safety assessment report) และเราจะต้องขอ construction license และ operation license จาก IAEA ส่วนผู้เดิน เครื่องก็ต้องผ่านการรับรองเป็น certified operators ในทุกขั้นตอนจะต้องมีการตรวจสอบติดตามผลจาก IAEA อย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี หากมีสิ่งผิดปกติใดๆ แม้แต่เพียงสงสัย IAEA ก็สามารถจะสั่ง shut down ได้ทันที
“อุบัติภัยที่เคยเกิดขึ้นที่ Chernobyl และ Three Miles Island ไม่น่าเกิดขึ้นได้แล้ว เป็นเรื่องของความร้อนที่ทำให้เชื้อเพลิง หลอมละลาย มาถึงสมัยนี้มีการป้องกันไว้หมดแล้ว หากความร้อนในเตาสูงเกินไป เครื่องจะหยุดเดินโดยอัตโนมัติ ข่าวร้ายใน หลายๆ กรณีเป็นข่าวลือ เมื่อได้พิสูจน์แล้ว ก็ไม่เป็นความจริง”
คุณรัตนชัยให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “มาเลเซียประเทศเพื่อนบ้านของเรา แม้จะ เป็นมิตรประเทศ แต่ก็เป็นคู่แข่งทางการค้าทางเศรษฐกิจที่น่าครั่นคร้าม ถ้าจะว่าไป เขาก็ล้ำหน้าเราอยู่สองสามก้าว และเขาก็ยังมีแหล่งก๊าซแหล่งน้ำมันมากกว่าเรา กระนั้นมาเลเซียก็ยังวางแผนจะติดตั้งนิวเคลียร์ในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ก่อนหน้าเราเสียอีก ทั้งนี้เพื่อให้ความก้าวหน้าของประเทศไม่ต้องหยุดชะงักหรือมีอุปสรรคด้วยปัญหาน้ำมัน”
แล้วการก่อการร้าย หรือภัยธรรมชาติที่คาดไม่ถึงมีไหม?
“ในเรื่องการป้องกันการก่อการร้าย ก็มีการป้องกันไว้หลายชั้นหลายซับหลายซ้อนด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ทั้งจากระบบอัตโนมัติในเครื่องและจากเครื่องตรวจจับภายนอก ถ้าจะมีการก่อร้ายจริง ต้องเป็นคนในเท่านั้น ซึ่งคนในจะมีการตรวจสอบจับตาดูอยู่ตลอดเวลา ในเรื่องภัยธรรมชาติ ญี่ปุ่นมีประสบการณ์สูงที่สุด โรงไฟฟ้าของญี่ปุ่น มีการออกแบบไว้ปลอดภัยสุดๆ เพราะเขามีภัยจากแผ่นดินไหวเสมอ โรงไฟฟ้าที่ฟินแลนด์มีระบบ Safety สูงมาก จนทำให้การเดินเครื่องช้าและค่าใช้จ่ายสูงเกินไป โรงไฟฟ้านิวเคลียร์สมัยใหม่เน้นที่ความปลอดภัยอยู่แล้ว”
ในเมืองไทยมีการวางแผนไว้อย่างไร และจะเริ่มเมื่อไร
คุณรัตนชัยเผยว่า “แผนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของเมืองไทยกะไว้ว่าจะมีถึง 5 โรง กำลังการผลิตโรงละ 1000-1350 MW มี อายุการใช้งาน 40 ปี ตามแผนจะเริ่มในปี 2563 โดยคาดว่าจะเลือกเตาปฏิกรณ์แบบ Light Water Reactor ซึ่งใช้แท่งยูเรเนียม (U 235) เป็นเชื้อเพลิง U 235 เป็นเชื้อเพลิง ยูเรเนียมที่มีความเข้มข้นเพียง 2-3% ไม่มีทางระเบิดเหมือนลูกระเบิดปรมาณูได้เลย และยังใช้น้อยมาก สามารถนำมาสลับเปลี่ยนที่หมุนเวียนใช้อยู่ใน reactor ได้ด้วย cycle หนึ่งของเชื้อเพลิงจะใช้เวลาประมาณ ปีครึ่ง เมื่อใช้จนครบ complete cycle แล้ว จะกลายเป็นกากปรมาณูที่มีกัมมัน ตรังสี แต่จะมีการเก็บไว้ภายในโรงไฟฟ้า โดยใส่ไว้ใน dry caste หรือปลอกเหล็กหนาปิดสนิท ฝังไว้ใต้ดินในที่ที่ลึกและแห้ง และแน่นอนต้องมีการตรวจจับรังสีอยู่เสมอ ห้ามเกินปริมาณที่อนุญาตจาก IAEA เตาปฏิกรณ์จะมีเครื่องห่อหุ้มหลายชั้น การควบ คุมอุบัติภัยและการรั่วไหลของกัมมันตรังสีนั้นมีการตรวจจับอยู่ตลอดเวลาหลายชั้น”
“สำหรับพื้นที่การก่อตั้งโรงไฟฟ้า กฟผ.ยังไม่ได้กำหนด site แน่นอนลงไป กำลังจะทำการศึกษาเลือกสถานที่ และต้องขึ้นอยู่กับประชาชน จึงต้องชี้ให้เห็นว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็มีข้อดีหลายอย่าง มิใช่ มีแต่ข้อเสียไปหมด ไม่เลวร้ายอย่างที่คิด โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทำให้สิ่งแวดล้อมยังเป็น green อยู่ ทำให้ประเทศมีความมั่นคงในการเจริญเติบโตและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประเทศที่พัฒนาแล้วเกือบทุกประเทศจำเป็นต้องยอมรับนิวเคลียร์และด้วยความรู้และระบบที่ดี เขาก็มีความมั่นคง ณ วันนี้ เมื่อรวมทั้งข้อดีข้อเสียและผลกระทบทุกอย่างเข้าด้วยกันแล้ว ก็นับได้ว่า นิวเคลียร์เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด มีต้นทุนการผลิตถูกที่สุด ปัจจุบันทั่วโลกมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์อยู่แล้วประมาณ 11% ของพลังงานทั้งหมด
“ณ วันนี้ กฟผ.ก็ยังต้องดำเนินการ และขออนุมัติอีกหลายขั้นตอน ตอนนี้ภารกิจที่สำคัญที่สุดคือการเตรียมบุคลากร และการให้ความรู้กับประชาชน ตลอดจนมีการร่วมกับสถาบันการศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรนิวเคลียร์สู่นักเรียนนักศึกษาให้ทันสมัยขึ้น”
ในแง่ของต้นทุนการผลิต จะถูกกว่าโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆ หรือไม่
“หากยกเว้นพลังน้ำแล้ว ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์โดยรวมทุกอย่างแล้ว จะมีราคาถูกกว่าการผลิตจากพลังงานประเภทอื่นๆ โรงไฟฟ้าแบบอื่นอาจมีต้นทุนก่อสร้างถูกกว่า ระบบป้องกันต่างๆ น้อยกว่า แต่จะต้องเสียค่าเชื้อเพลิง ในการผลิตสูง ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แม้ว่า จะลงทุนสูงกว่า ซับซ้อนกว่า แต่ค่าเชื้อเพลิง ต่ำ
แล้วพลังงานทดแทนหรือพลังงานคืนรูป เช่น ลม แสงอาทิตย์จะมิดีกว่านิวเคลียร์ หรือ?
พลังงานลม แสงอาทิตย์ ในปัจจุบัน ยังมีข้อจำกัดมาก ยังไม่สามารถพัฒนาในสเกลใหญ่ได้ ทำได้แต่เป็นพลังงานเสริม เป็นขนาดเล็กที่กระจายไปหลายๆ แห่งได้ ถ้าทำใหญ่หน่อยก็ต้องใช้พื้นที่มาก ค่าบำรุงรักษาสูงและพลังที่ได้ก็ไม่สม่ำเสมอ เราสั่งธรรมชาติไม่ได้ ส่วน Bio-fuel หรือเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชผลก็ผลิตได้ปริมาณ ไม่สม่ำเสมอนัก และยังต้องเป็นความต้อง การด้านอาหารก่อน
ข้อคิดเห็นทั้งหมดที่ได้รับมานี้ แม้เป็นเพียงหนึ่งในสิบของประเด็นคำถามที่เรามีต่อพลังงานนิวเคลียร์และศักยภาพของประเทศไทย แต่คุณรัตนชัย นามวงศ์ ก็ได้ทำให้เกิดความกระจ่างขึ้นเป็นอย่างมาก ช่วยให้เราวางใจในความมุ่งมั่นของ กฟผ. และหน่วยงานทุกๆ ฝ่าย ที่จะจัดสรรพลังงานในอนาคตมาให้พวกเราอย่างมั่นคงปลอดภัย และด้วยเหตุผลที่พิจารณาโดยรวมแล้วทั้งส่วนดีและส่วนเสีย พลังงานจากนิวเคลียร์ก็ดูจะเป็นทางเลือกในอนาคตที่ดีที่สุดในวันนี้ เพราะมีประสิทธิภาพมากที่สุด ปล่อยมลพิษน้อยที่สุด และมีราคาต้นทุนถูกที่สุด
|
|
|
|
|