Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา มีนาคม 2554
แผ่นดินที่หายไป             
โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
 

 
Charts & Figures

มาตรการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในภาพรวม
ข้อดีข้อเสียของแนวป้องกันชายฝั่งรูปแบบต่างๆ

   
related stories

“เสียดินแดน” และ “แนวป้องกัน” กรณีศึกษา: “โคกขาม” “บางขุนเทียน” และ “ขุนสมุทรจีน”
คนเฝ้าแผ่นดินที่โคกขาม
บางขุนเทียน: ด่านหน้ารักษาดินแดน
คิดแบบชาวบ้าน...ทำได้ทำเลย
แผ่นดินที่หายไปที่ “ขุนสมุทรจีน”
การแก้ไขต้องเริ่มต้นจากความรู้และปัญหาที่แท้จริง

   
search resources

Environment




ในสมัยสุโขทัยมีตำนานเรื่องพระร่วง หรือเรื่องราวของขุนศรีอินทราทิตย์ ผู้ก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งเป็นนิทานปรัมปรา หรือ Mythology ที่คนอายุ 60 ปีขึ้นไป อาจจะเคยได้ยินคนเฒ่าคนแก่เล่าปากเปล่าให้ฟัง ต่อมาคนรุ่นอายุ 30-40 ปีก็เริ่มได้เรียนจากบทเรียนหรือจากการอ่านพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 เรื่องตำนานพระร่วง แต่คนรุ่นปัจจุบันดูเหมือนจะโชคร้ายไปหน่อยที่นิทานปรัมปราไม่ได้รับความสำคัญให้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาประวัติศาสตร์เสียแล้ว

ความสำคัญจากตำนานพระร่วงที่น่าจะหยิบยกมาเป็นข้อคิดให้กับวิธีการแก้ปัญหาการเสียดินแดน ณ บริเวณชายฝั่งของประเทศไทย มาจากความสำคัญตอนหนึ่งของเรื่องราวในตำนานที่เล่ากันว่าพระร่วงเป็นคนฉลาด มีวาจาสิทธิ์ และรู้จักแก้ปัญหาที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้กับคนจำนวนมาก

ในยุคนั้นไทยต้องส่งส่วยให้ขอมในสมัยก่อน เป็นส่วยที่แปลกมากคือ “ส่วยน้ำ” ที่ต้องขนจากลพบุรีไปเมืองขอม ด้วยการบรรทุกใส่โอ่งขนเดินเท้าไป เมื่อต้องใส่โอ่งระยะทางไกล กว่าจะไปถึงก็ลำบาก หนักก็หนัก เจอปัญหาโอ่งแตกก็ต้องเสียเวลามาเอาน้ำใหม่

จากปัญหาที่คนในชุมชนต้องเจอ ทำให้นายร่วงผู้ฉลาด คิดประดิษฐ์ไม้ไผ่สาน รูปทรงเหมือนตะกร้าใบใหญ่เท่าโอ่งแล้วเอาชันมายาไม่ให้น้ำรั่ว แต่สมัยโบราณอาจจะไม่รู้จัก ก็เล่าไปว่าเป็นวาจาสิทธิ์ของ พระร่วงที่บอกไม่ให้น้ำรั่ว ไม้ไผ่สานเลยบรรทุกน้ำได้ ก็บรรทุกไปส่งขอมที่นครธม คราวนี้การบรรทุกน้ำก็สะดวกขึ้นเพราะเบากว่าโอ่ง ขอมเห็นก็ทึ่งว่าคิดได้อย่างไร และคิดไปถึงว่าผู้นำไทยอาจจะฉลาดเกินไป ถ้าขืนปล่อยไว้อาจจะเป็นปัญหาในภายหลัง ควรจะรีบกำจัดเสีย

พระร่วงรู้ข่าวก็หนีภัยไปบวช ขอมก็ส่งพระยาเดโชมาตาม แต่ก็โดนวาจาสิทธิ์ ของพระร่วงที่ออกอุบายให้นั่งรอว่าจะไปตามพระร่วงมาให้ตอนเจอหน้ากันโดยที่พระยาเดโชไม่รู้ว่าคือพระร่วง จนเกิดเป็นตำนานขอมดำดินกลายเป็นหินอยู่ที่สุโขทัย

การหยิบยกตำนานพระร่วงมาบอกเล่าครั้งนี้ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือกรณีพิพาทชายแดน แต่สิ่งที่ต้องการชี้ให้เห็นคือ การแก้ปัญหาที่ดีจากตัวอย่างของภาชนะบรรจุน้ำ ซึ่งไม่ต่างจากเทคนิควิธีการแก้ปัญหาการเสียแผ่นดินจากการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของหลายชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่ง

สิ่งที่ชาวบ้านคิดและทำแล้วในหลายพื้นที่ อาจจะเป็นแค่เรื่องเล็กๆ ไม่ใช่ระดับนโยบายที่ยกขึ้นเป็นความสำคัญระดับประเทศ แต่พวกเขาทำได้อย่างมีประสิทธิภาพจาก การปฏิบัติจริง จนบางเรื่องพัฒนาไปสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ เช่น นำไปสู่การสร้างและฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนที่จะให้ประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศ ไม่ต่าง จากกรณีของพระร่วงที่เริ่มต้นจากนำความสามารถที่มีมาใช้แก้ปัญหาเล็กๆ จนพัฒนาไปสู่การกอบกู้อิสรภาพจากขอม และก่อตั้งเป็นอาณาจักรสุโขทัยขึ้นมาได้ในที่สุด

การเสียดินแดนของไทยในทุกวันนี้นั้น ไม่ได้มีเพียงพื้นที่ทับซ้อนบริเวณชายแดนไทยกัมพูชา 4.6 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น และข้อแตกต่างอีกประเด็นก็คือพื้นที่พิพาทตลอด ชายแดนไทยกัมพูชาความยาว 798 กิโลเมตร แม้จะยังตกลงกันไม่ได้ แต่ก็ยังคงเป็นพื้นที่ที่ยังคงอยู่ไม่สูญหายไปไหน

แต่พื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศไทยความยาว 2,815 กิโลเมตร มีเนื้อที่ถึง 20.54 ล้านไร่ กินพื้นที่ 807 ตำบล 136 อำเภอ 24 จังหวัด มีประชากรอาศัยมากกว่า 13 ล้านคน และพวกเขามีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ต้องพึ่งพาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชายฝั่งและทะเลโดยตรง

พื้นที่ตรงนี้กำลังวิกฤติ ทุกปีประเทศไทยต้องเสียพื้นดินไปเพราะการกัดเซาะชายฝั่ง ทะเลตลอดแนวนี้ โดยมีอัตราเฉลี่ยของการกัดเซาะชายฝั่งประมาณ 5-6 เมตรต่อปี บางพื้นที่ถูกกัดเซาะไม่ถึงเมตร แต่บางพื้นที่ถูกกัดเซาะเกินค่าเฉลี่ยและมีอัตราการกัดเซาะสูงกว่า 10 เมตรต่อปีก็มี

แต่ถ้าอ้างอิงตัวเลขจากโครงการการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแบบบูรณาการ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทำไว้ในการประชุมโครงการด้านวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อปี 2551 บางพื้นที่มีอัตราการกัดเซาะสูงจนน่ากลัวถึง 25 เมตรต่อปีก็ยังมี ปัญหาการ กัดเซาะชายฝั่งทะเลในหลายพื้นที่มีแนวโน้มความถี่และทวีความรุนแรงมากขึ้น ปัจจุบัน ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลจึงถูกบรรจุให้เป็นปัญหาภัยพิบัติระดับชาติ

ตัวอย่างอัตราการกัดเซาะที่ผ่านมา จากพื้นที่ชายฝั่งบริเวณคลองด่าน สมุทรปราการ ที่โด่งดังจากโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ถูกกัดเซาะเฉลี่ยมากกว่าปีละ 10 เมตร เช่นเดียวกับที่บ้านขุนสมุทรจีน อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดเดียวกัน ที่ยกมาเป็นกรณีศึกษาในครั้งนี้ เขตบางขุนเทียนทะเลกรุงเทพฯ ก็มีอัตราการกัดเซาะมากกว่า 10 เมตรต่อปีเช่นกัน ขณะที่บ้านโคกขาม สมุทรสาคร บางพื้นที่มีการกัดเซาะ บางพื้นที่มีดินงอก แต่อัตราการ งอกของแผ่นดินก็ต่ำลงทุกปีจนตัวเลขแทบจะเป็นศูนย์ ซึ่งชุมชนเหล่านี้เริ่มหาวิธีป้องกันการกัดเซาะ และสร้างแนวป้องกันด้วยตัวเองแล้ว (อ่าน “เสียดินแดน” และ “แนวป้องกัน” กรณีศึกษา: “โคกขาม” “บางขุนเทียน” และ “ขุนสมุทรจีน”)

แต่ที่สรุปปัญหาได้ตรงกันสำหรับภาพรวมของชายฝั่งทะเลก็คือเรากำลังเสียดินแดนทุกนาที และหากไม่มีมาตรการหยุดยั้งหรือหันมาใส่ใจ อัตราการสูญเสียก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สรุปข้อมูลไว้ว่า ในช่วง 100 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2449-2549 พื้นที่ชายฝั่งทะเลสูญหายไปทั้งสิ้น 16,760 ไร่ และในพื้นที่ 5 จังหวัดที่อยู่ในบริเวณอ่าวไทยตอนบนหรืออ่าว ก.ไก่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา เป็นจุดที่อยู่ใกล้เขตเมืองและเป็นจุดวิกฤติในด้านนี้

กรมทรัพยากรฯ ยังคาดการณ์ด้วยว่า หากไม่มีมาตรการป้องกันใดๆ อีก 20 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะต้องสูญเสียพื้นที่ ชายฝั่งอีกอย่างน้อย 5,290 ไร่ ซึ่งเป็น ตัวเลขที่สูงถึง 1 ใน 3 ของสถิติ 100 ปีที่ผ่านมาทีเดียว

ในฝั่งประชาชนที่อยู่ตามชายฝั่งจึงรอความช่วยเหลือไม่ไหว อะไรที่คิดว่าจะป้องกันแผ่นดินตัวเองได้ ชาวบ้านก็ลงมือทำไปก่อนตามกำลัง ความคิด และความสามารถที่มี ขณะที่หน่วยงานรัฐแม้จะเล็งเห็นแล้วว่า ปัญหาการกัดเซาะคือภัยพิบัติระดับชาติ แต่ในเมื่อยังไม่มีเหตุการณ์กัดเซาะรุนแรง เว้นเสียแต่เป็นเหตุการณ์จากพายุซึ่งก็ผ่านไปหลายปีจนลืมกันไปแล้ว นั้น ก็มีเพียงหน่วยงานอย่างกรมทรัพยากร ธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ลำดับ ความสำคัญของปัญหาการกัดเซาะไว้ ซึ่งเป็นแง่มุมจากหน่วยงานรัฐที่จะว่ากันจริงๆ แล้วก็ไม่มีผลต่อความหวังของชาวบ้านเท่าไรนัก เพราะข้อมูลเหล่านี้จะมีบทบาทต่อการตัดสินใจในการจัดสรรงบประมาณเสียมากกว่าและเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ ของการตัดสินใจเท่านั้น

การลำดับความสำคัญของปัญหาในส่วนของภาครัฐโดยกรมทรัพยากรฯ ซึ่งได้จากการพิจารณาความสำคัญของปัญหาการกัดเซาะร่วมกับพื้นที่ที่ประสบปัญหาขึ้นกับองค์ประกอบ 7 ประการ ดังนี้

หนึ่ง-อัตราเฉลี่ยของการกัดเซาะ หรืออัตราการถดถอยของเส้นขอบชายฝั่งขึ้นไปบนฝั่งเนื่องจากการกัดเซาะ พื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะในอัตราเฉลี่ยสูง จะสูญเสียพื้นที่มาก กว่าพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะในอัตราเฉลี่ยต่ำกว่า ในระยะเวลาที่เท่ากัน สอง-ระยะทางของการกัดเซาะ ซึ่งมีลักษณะ ใกล้เคียงกับข้อแรก แต่แตกต่างกันคือขณะที่ข้อแรกพิจารณาการกัดเซาะตามความลึก แต่ข้อนี้พิจารณาการสูญเสียพื้นที่ตาม แนวชายฝั่ง

สาม-การประเมินค่าทรัพยากรสิ่งแวดล้อม จะประเมินคุณค่าของทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่พบอยู่ในพื้นที่ที่ประสบปัญหา การกัดเซาะ ส่วนการจัดลำดับความสำคัญจะประเมินผลเสียหายต่อทรัพยากรดังกล่าว หากพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไข สี่-ผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งจะพิจารณาถึงจำนวนของประชาชนหรือครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อน

ห้า-การร้องเรียนหรือร้องขอ ให้มีการแก้ไขปัญหาของประชาชน แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานของรัฐ ในข้อนี้แสดงให้เห็นถึงความเร่งด่วนของปัญหาในแต่ละพื้นที่ หก-โครง สร้างป้องกันชายฝั่งที่พบอยู่ในปัจจุบัน การจัดลำดับความสำคัญ ของการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จะต้องขึ้นอยู่กับสภาพของชายฝั่งในปัจจุบัน และแผนพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวในอนาคต พื้นที่ที่มีการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งไปแล้ว ไม่ว่า จะเป็นการลงทุนโดยภาคเอกชนหรือรัฐบาลก็ตาม หากโครงสร้าง ที่สร้างไว้ทำงานได้ผลดีแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณาก่อสร้างอีก ฯลฯ และเจ็ด-มูลค่าความเสียหายขั้นต่ำที่เกิดขึ้น

สุดท้ายนี้ หากจะถามว่าแล้วปัญหาการกัดเซาะมีผลอะไร ต่อคนเมืองที่เป็นพื้นที่ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมมากกว่าหรือคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อื่นๆ ตอบแบบไม่ต้องคิดได้ว่า ไม่ใช่แค่คนที่อาศัยในประเทศไทยด้วยกัน แต่ทุกคนและทุกสิ่งที่อยู่บนโลกใบเดียวกันนี้ล้วนโยงใยถึงกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่งไม่ก็เร็วก็ช้า เหมือนกับที่น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายคนอยู่เกาะแถวทะเลใต้ก็ได้รับผลกระทบ เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมอาจจะถมที่ดินก่อสร้างโรงงานไว้สูงเพื่อหนีน้ำท่วม ต่อท่อปล่อยน้ำเสียออกไปไกลจากโรงงาน ไหลเรื่อยไปสู่ทะเล แล้ววันหนึ่งกุ้งหอยปูปลาที่เขาสั่งมารับประทาน บนโต๊ะในเหลาชั้นดีก็ซ่อนเอาสารพิษที่เขาเป็นต้นเหตุผสมมาด้วย เป็นสิ่งยืนยันว่าทุกคน ในโลกอยู่ในวัฏจักรเดียวกันนี้เอง

ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจึงเป็นเพียงแค่ภาพสะท้อนหนึ่งของปัญหาการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นรูปธรรมเห็นได้ชัด คนนอกพื้นที่ที่เห็นอาจจะคิดว่าไกลตัวเพราะยังไม่ได้รับความเดือดร้อน แต่ถ้าบอกว่าสิ่งที่คุณเห็นอยู่นี้คือจุดเริ่มต้นเป็นส่วนหนึ่ง ของภาพสะท้อนของพื้นที่กรุงเทพฯ มากกว่า 55% ที่จะต้องเจอกับภาวะน้ำท่วมหากน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอีกแค่ 50 เซนติเมตร หรือจะท่วมถึง 72% ถ้าระดับน้ำทะเลเพิ่มถึง 100 เซนติเมตร การทรุดตัวของแผ่นดินผสมด้วยการกัดเซาะที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องไม่หยุดนี้ คือสัญญาณเตือนว่ากรุงเทพฯ อาจจะตกอยู่ใต้น้ำ 50-100 เซนติเมตร ภายในปี 2568 (2025) ไม่รวมถึงภัยพิบัติจากอุทกภัยฉับพลันที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นก็ได้

โดยสรุปแล้ว ภาพปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จึงเป็นหลักฐานที่ยืนยันให้ทุกคนตระหนักร่วมกันว่า ประเทศไทยจัดอยู่ใน กลุ่มเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากสภาวะ อากาศโลกเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง และจงใช้ปัญหาเล็กๆ ที่เกิดขึ้นนี้ เริ่มต้นวางแผนรับมืออย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us