|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
วันที่ 8 มีนาคมของทุกๆ ปีถือว่าเป็นวันสตรีสากล (International Women’s Day หรือเรียกย่อๆ ว่า IWD) เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้เป็นวันที่ทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับผู้หญิงและสันติภาพเป็นพิเศษ (United Nations Day for Women’s Rights and International Peace) วันนี้เป็นวันที่ผู้คนจะระลึกถึงผู้หญิงที่มีบทบาทสำคัญในอดีตในทุกๆ ด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจและการเมือง เป็นต้น ในปีนี้ก็ครบรอบปีที่ 100 ของวันสตรีสากลพอดี
ประเทศส่วนใหญ่จะจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงเนื่องในวันสตรีสากลประมาณ 1 สัปดาห์ เช่น มีการจัดสัมมนาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่อง ของผู้หญิง โดยเชิญผู้หญิงจากอาชีพต่างๆ เช่น นักการเมือง นักธุรกิจ และอาจารย์มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การจัดกิจกรรมระลึกถึงบุคคลสำคัญที่เป็นผู้หญิง นอกจากนี้ผู้หญิงก็จะรวมกลุ่มกัน ออกมาเดินบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสนใจ เรื่องของสิทธิผู้หญิงในด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้น อย่างในประเทศอังกฤษที่ผู้หญิงออกมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ผู้ชายหยุดใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง
นอกจากนี้องค์กรต่างๆ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนก็จัดกิจกรรมภายในองค์กรของตัวเองเพื่อสนับสนุนวันสตรีสากล เช่น Google ได้จัดทำโลโกของ Google สำหรับวันสตรีสากลขึ้นมาโดยเฉพาะ จะปรากฏอยู่ในหน้าแรกของ Google หรือที่ประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐบาลประกาศให้เดือนมีนาคม เป็นเดือนประวัติศาสตร์ของผู้หญิง (Women’s History Month)
วันสตรีสากลยังถือว่าเป็นวันหยุดราชการในอีก 15 ประเทศด้วย เช่น ประเทศจีน รัสเซีย บัลแกเรีย ยูเครน และเวียดนาม เป็นต้น หรือในบาง ประเทศก็ให้วันสตรีสากลเป็นวันแม่แห่งชาติไปเลย เพราะว่าตามธรรมเนียมของบางประเทศนั้น ในวันสตรีสากลผู้ชายจะต้องนำดอกไม้หรือของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ไปให้กับผู้ที่เป็นแม่ ภรรยา แฟน และเพื่อนที่เป็นผู้หญิง จึงถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้รวมเอาสองเทศกาลเข้าด้วยกัน
วันสตรีสากลนั้นมีต้นกำเนิดจากเมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อผู้หญิงที่ทำงานในโรงงาน ทอผ้าจำนวน 15,000 คนได้รวมกลุ่มกันและออกมา เรียกร้องสิทธิของตนเองในวันที่ 8 มีนาคม 2451 ซึ่งนี่ถือว่าเป็นการเดินขบวนครั้งแรกของกลุ่มผู้หญิงที่ออกมาเรียกร้องถึงสิทธิที่ตัวเองควรจะได้รับ โดยมีข้อเรียกร้อง 2 ข้อด้วยกันคือ (1) ต้องการให้มีการ ลดชั่วโมงการทำงานสำหรับผู้หญิงลง จากที่ต้องทำงานวันละ 12-15 ชั่วโมง ให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมง เท่ากับผู้ชาย พร้อมกับค่าจ้างที่เพิ่มมากขึ้น และ (2) ต้องการได้รับสิทธิในการเลือกตั้ง
การออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุน จากทั่วโลก และในปีถัดมา พรรคสังคมนิยม (Socialist Party) ของประเทศอเมริกาได้ประกาศให้วันที่ 28 กุมภาพันธ์ เป็นวันสตรีแห่งชาติ ซึ่งนี่ถือว่าเป็นครั้งแรกของโลกเลยที่มีวันสตรีแห่งชาติและการจัดงานนี้ก็มีมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2456 จึงได้มีการเปลี่ยนวันสตรีแห่งชาติไปเป็นวันที่ 19 มีนาคมแทน
สาเหตุที่มีการเปลี่ยนวันสตรีแห่งชาติก็เพราะว่าในปี 2453 องค์การสหประชาชาติได้จัดการประชุมสตรีโลก (World Conference on Women) ครั้งที่ 2 ขึ้นที่เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ Clara Zetkin หัวหน้าของฝ่ายผู้หญิงพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic Party) ประเทศเยอรมนี ได้เสนอในที่ประชุมว่า ในทุกๆ ปีน่าจะมีการเฉลิมฉลองวันสตรีสากลซึ่งเป็นวันเดียวกันในทุกประเทศ และทุกคนในที่ประชุมซึ่งเป็นตัวแทนผู้หญิง จากสายงานด้านต่างๆ จากทั้งหมด 17 ประเทศได้ลงความเห็นเป็นเอกฉันท์สนับสนุนความคิดเรื่องวันสตรีสากลของ Clara
หลังจากข้อเสนอเรื่องวันสตรีสากลได้ผ่านที่ประชุม ทำให้ในปี 2454 มีการเฉลิมฉลองวันสตรีสากลเป็นครั้งแรกในวันที่ 19 มีนาคมที่ประเทศออสเตรีย เดนมาร์ก เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ สาเหตุที่เลือกวันที่ 19 ก็เพราะว่าในวันนี้เมื่อปี 2391 กษัตริย์ปรัสเซียได้สัญญาว่าจะให้สิทธิกับผู้หญิงในการเลือกตั้ง การให้สัญญาในครั้งนี้ทำให้ผู้หญิงเกิดความหวังขึ้นว่าจะได้รับความเท่าเทียมกันในสังคม แต่ว่าสุดท้ายแล้วกษัตริย์ปรัสเซียก็ไม่สามารถทำตามที่สัญญาไว้ได้
ในการจัดงานวันสตรีสากลครั้งแรกนี้มีผู้หญิง และผู้ชายมากกว่า 1 ล้านคนเข้าร่วมการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสิทธิสำหรับผู้หญิงในการมีสิทธิในการเลือกตั้ง การเข้าอบรมวิชาชีพ การเข้าทำงานในหน่วยงานราชการ และเรียกร้องให้ยุติความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชายในที่ทำงาน
แต่ว่าเพียงไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์หลังการเฉลิมฉลองก็ได้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมขึ้น เมื่อเกิดไฟไหม้ที่โรงงานแห่งหนึ่งในเมืองนิวยอร์ก มีคนงานผู้หญิงเสียชีวิตมากกว่า 140 คน ซึ่งผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนยิวและอิตาเลียนที่อพยพเข้ามาทำงานที่สหรัฐอเมริกา เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ทั่วโลกหันมา ให้ความสนใจเรื่องของสภาพแวดล้อมในที่ทำงานและกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ดังนั้นวันสตรีสากลปี 2454 จึงมีการออกมาเดินขบวนในคำขวัญที่ว่า ขนมปังกับดอกกุหลาบ (Bread and Roses) ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่เพียงพอไปพร้อมๆ กับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ต่อมาในปี 2456 มีการเปลี่ยนวันสตรีสากล จากเดิมที่เป็นวันที่ 19 มีนาคมมาเป็นวันที่ 8 มีนาคม แทน เพราะว่าวันที่ 8 มีนาคมของปีนี้เป็นช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ประชาชนในทวีปยุโรปจึงออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้มีสันติภาพเกิดขึ้น ดังนั้นหลายๆ ประเทศจึงตกลงร่วมกันว่าจะเปลี่ยนวันสตรี สากลมาเป็นวันที่ 8 มีนาคมแทน เพื่อระลึกถึงการเดินขบวนเรียกร้องให้เกิดสันติภาพและการเรียกร้อง สิทธิครั้งแรกของกลุ่มผู้หญิงในโรงงานทอผ้า(1)
จากการเริ่มฉลองครั้งแรกในปี 2454 จนมาถึงปีนี้ 2554 ก็นับได้เป็นเวลา 100 ปีแล้วที่ผู้หญิงออกมาเรียกร้องสิทธิต่างๆ มากมาย เพื่อลดความ เหลื่อมล้ำในสังคมลง ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ผู้หญิงจะได้รับสิทธิและโอกาสต่างๆ มากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีประเทศ ไหนในโลกที่ผู้หญิงและผู้ชายมีความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในประเทศด้อยพัฒนาที่สามารถเห็นถึงความเหลื่อมล้ำได้อย่างชัดเจน องค์การสหประชาชาติได้เปิดเผยว่า คนยากจนในโลกมีประมาณ 1.3 ล้านคนนั้นเป็นผู้หญิง และเป็นผู้หญิงที่มีรายได้น้อยกว่าผู้ชายที่ทำงานประเภทเดียวกัน ถึงประมาณ 30-40% และต้องเป็นเหยื่อของความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการถูกข่มขืน ความรุนแรงในครอบครัวที่ผู้ชายหรือคนใกล้ตัวเป็นคนลงมือทำร้ายผู้หญิง ซึ่งสาเหตุ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ผู้หญิงจากทั่วทุกมุมโลกต้องกลายเป็นคนพิการหรือเสียชีวิตลง
ในปีที่ 100 นี้ 176 ประเทศ และ 10 เมืองใหญ่ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีการจัดงานและกิจกรรมต่างๆ ในวันสตรีสากล โดยมีหัวข้อการจัดงานคือ สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่จะนำความเท่าเทียมกันและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานสำหรับผู้หญิงและเด็กมาสู่ทุกๆ สังคม ซึ่งรายละเอียดของกิจกรรมจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ
เช่น องค์กรวันสตรีสากลได้ขอให้ผู้หญิงที่เป็นศิลปินและนักเขียนไม่ว่าจะเป็นมืออาชีพหรือมือสมัครเล่นจากทุกประเทศ ส่งผลงานเข้าไปเพื่อนำไปจัดแสดงในวันสตรีสากล ซึ่งสามารถเข้าไปชมผลงานเหล่านี้ได้ที่ http://www.internationalwomensday.com/global_iwd_arts.asp
ที่เมือง San Francisco ประเทศอเมริกา ก็มีการจัดงานนิทรรศการและคอนเสิร์ตจากศิลปินผู้หญิงจากทั่วทุกมุมโลก การประชุมและสัมมนาเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม การศึกษา และการเมืองที่เกี่ยวกับผู้หญิง และยังมีการมอบรางวัลสตรีสากลประจำปีให้กับผู้หญิงที่ทำงานให้กับสังคมมากที่สุดในปีที่ผ่านมาด้วย
เมือง Denver รัฐ Colorado ประเทศอเมริกา ก็จะมีการจัดงานคอนเสิร์ต และมีคนดังในสังคมมาร่วม เป็นแขกรับเชิญในการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องของผู้หญิงและประสบการณ์ต่างๆ ที่ผู้หญิงมักจะเจอในสังคม นอกจากนี้ยังมีการแสดงงานฝีมือหัตถกรรมของผู้หญิงในรัฐ Colorado ซึ่งในงานจะมีการนำอาหารและเครื่องดื่มจากชาติต่างๆ ทั่วทุกมุมโลกมาให้ชิม
ที่รัฐ New South Wales (NSW) ประเทศออสเตรเลีย ทางรัฐบาล NSW ได้จัดการประกวดการออกแบบภาพโปสเตอร์ในระดับชั้นมัธยมปลาย โดยมีหัวข้อคือการเฉลิมฉลอง 100 ปีของวันสตรีสากล โดยนักเรียนผู้ชนะเลิศจะได้เงินรางวัล 500 เหรียญออสเตรเลีย (ประมาณ 14,270 บาท) และทางโรงเรียนจะได้รับเงินสนับสนุน 1,000 เหรียญออสเตรเลีย (ประมาณ 28,540 บาท) นอกจากนี้ผลงานของผู้ที่ชนะเลิศ 5 อันดับแรกจะถูกนำขึ้นจัด แสดงในหน้าเว็บไซต์ www.women.nsw.gov.au ของสำนักงานนโยบายเกี่ยวกับผู้หญิง (Office for Women’s Policy) ของรัฐ NSW อีกด้วย
ในขณะที่ประเทศไทยเราเองก็มีการจัดงานวันสตรีสากลเช่นกัน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.) จะจัดงานนิทรรศการเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จัก และเล็งเห็นความสำคัญของวันสตรีสากล นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลและประกาศเกียรติคุณให้กับสตรีดีเด่นประจำปีที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคมในสาขาอาชีพต่างๆ เช่น ปวีณา หงสกุล สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ และคุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ซึ่งเป็นผู้ที่เคยได้รับรางวัลนี้มาแล้วในปี ก่อนๆ
ข้อมูลอ้างอิง
(1) International Women’s Day, (2011) www.internationalwomensday.com
|
|
|
|
|