|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

การรวมเงินสกุลเดียวของยุโรปมีเป้าหมายเพื่อสกัดกั้นอำนาจของเยอรมนี แต่การณ์กลับตรงกันข้าม ไม่มีใครนึกยินดี แม้กระทั่งเยอรมนีเอง
สหภาพยุโรป (European Union: EU) เป็นโครงการอันยิ่งใหญ่ที่มีแนวคิดว่า การทำให้ประเทศที่เคยจงเกลียดจงชังกันใน ประวัติศาสตร์ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมัครสมาน เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เงินยูโรถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อให้เป็นสกุลเงินที่สามารถรวมทวีปยุโรปให้เป็นหนึ่งเดียว แต่การณ์กลับเป็นตรงกันข้ามและยุโรปกำลังถูกผลักให้ลงเหว
เมื่อ EU ยอมให้ความช่วยเหลือทางการเงินมหาศาล 110,000 ล้านยูโรแก่กรีซ ซึ่งใกล้ล้มละลายในเดือนพฤษภาคมปีที่ แล้วนั้น เงื่อนไขโหดหินที่พ่วงไปด้วยคือ กรีซจะต้องตัดลดการใช้จ่ายงบประมาณลงอย่างมาก และต้องขึ้นภาษี สร้างความโกรธแค้นให้แก่กรีซเป็นหนักหนา
รองนายกรัฐมนตรี Theodoros Pangalos ของกรีซกล่าวด้วยความโกรธแค้นว่า ลูกหลานของพวกนาซี ไม่มีสิทธิ์จะมาชี้นิ้ว สั่งให้กรีซทำโน่นทำนี่
ขณะที่หนังสือพิมพ์ปีกซ้ายในกรุงเอเธนส์บริภาษเยอรมนีว่า พยายามจะทำให้ชาติลูกหนี้อย่างกรีซ ต้องตกเป็นอาณานิคมของ “อาณาจักร Reich ที่ 4” และต้องการทำให้ยุโรปทั้งทวีปกลายเป็น “ค่ายกักกันทางการเงิน”
การเปรียบเทียบความช่วยเหลือทางการเงินที่ได้รับจากเยอรมนีว่า เป็นเหมือนค่ายกักกันนาซี อาจฟังดูร้ายกาจและอยุติธรรมกับเยอรมนี
แต่เป็นความจริงที่ว่า วิกฤตการณ์หนี้สาธารณะในยุโรปที่ยังคงเลวร้ายลงเรื่อยๆ ผู้ที่เดือดร้อนที่สุดคือประชาชนตาดำๆ ในชาติลูกหนี้ และเนื่องจากนายกรัฐมนตรี Angela Merkel ของ เยอรมนี คือผู้ที่ตั้งเงื่อนไขสุดโหด อันประกบติดไปกับความช่วยเหลือทางการเงินนั้น ความโกรธแค้นทั้งหมดจึงพุ่งไปที่เยอรมนีอย่างช่วยไม่ได้
ประชาชนในไอร์แลนด์ สเปน และโปรตุเกสต่างก่นด่าผู้นำหญิงของเยอรมนีว่า เป็นผู้ซ้ำเติมวิกฤติหนี้สาธารณะของยุโรป ให้หนักยิ่งขึ้น เมื่อเธอกล่าวเตือนในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วว่า ชาติยุโรปที่กำลังล้มละลายนั้น อาจไม่มีวันมีความสามารถชำระหนี้ทั้งหมดคืนได้ แม้จะเป็นการประเมินที่ชอบด้วยเหตุผล แต่ก็ทำให้ตลาดตื่นตกใจโดยใช่เหตุ
“เยอรมนีไม่เคยเปลี่ยน” ประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy แห่งฝรั่งเศส ปรารภกับที่ปรึกษาของเขาเมื่อไม่นานมานี้ในระหว่าง การประชุมครั้งหนึ่งของ EU ที่กรุงบรัสเซลส์ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ EU หลังจากที่ผิดหวังที่ Merkel ไม่ยอมปล่อยเงินช่วยเหลือง่ายๆ
มีหลายเรื่องที่ทำให้เยอรมนีตกเป็นเป้าความจงเกลียดจงชังในยุโรป แต่ประเด็นเรื่องเงินยูโรคืออันดับหนึ่งในจำนวนเรื่อง เหล่านั้น เหตุผลก็คือ ยิ่งเงินยูโรอ่อนแอลงเท่าใด เยอรมนีก็ยิ่งเข้ม แข็งมากขึ้น ไม่มีชาติใดอีกแล้วในยุโรปที่สามารถกลับมาทรงอำนาจ อิทธิพล และฟื้นคืนความเชื่อมั่นในตนเองอย่างเปี่ยมล้นได้เหมือน อย่างเยอรมนี
หลังจากที่ต้องเผชิญกับวิกฤติการเงินโลกกันอย่างถ้วนหน้า แต่ปีที่แล้ว (2010) เศรษฐกิจของเยอรมนีโตถึง 3.7% เร็วที่สุดในบรรดาชาติตะวันตกทั้งหมด อัตราการว่างงานลดลง 10 เดือนติดต่อกัน และลงมาอยู่ในระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1992
“คนเยอรมันโดยทั่วไป แทบไม่รู้สึกด้วยซ้ำว่าเกิดวิกฤติการ เงิน” Thomas Petersen แห่งสถาบันสำรวจความคิดเห็นประชาชน Allensbach ในเยอรมนีกล่าว นักวิเคราะห์จาก UniCredit ธนาคาร ใหญ่ที่สุดของอิตาลีชี้ว่า การฟื้นตัวของเยอรมนี นับเป็นการฟื้นตัว ทางเศรษฐกิจที่น่าพิศวงงงงวยที่สุดในประวัติศาสตร์
นักวิเคราะห์จาก Berenberg Bank ถึงกับพยากรณ์อย่าง มั่นใจว่า ทศวรรษนี้จะเป็น “ทศวรรษทองของเยอรมนี” ทั้งๆ ที่ส่วนอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมดของโลกตะวันตก ยังคงต้องดิ้นรนอย่างหนักกับการพยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่การทำนายที่เกินจริงเลย เมื่อพิจารณายอดขาดดุลงบประมาณของเยอรมนีที่กำลัง จะลดลงเหลือระดับศูนย์ภายในปี 2014 และคาดว่าจะคงอยู่ในระดับต่อไปอีก
การเติบโตที่แข็งแกร่ง การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และการขาดดุลงบประมาณที่กำลังจะมลายหายไป ประธานาธิบดี Obama ของสหรัฐฯ คงจะยอมแลกได้ทุกอย่าง เพียงเพื่อจะประสบความสำเร็จ แม้เพียงแค่หนึ่งในสามอย่างข้างต้น
สาเหตุแท้จริงที่ทำให้เยอรมนีทรงอำนาจทางการเงิน เป็น เพราะเยอรมนีคือแมงมุมที่อยู่ใจกลางของเส้นใย เป็นเพียงผู้เดียว ที่สามารถพยุงเงินสกุลเดียวของยุโรปให้เป็นหนึ่งเดียวต่อไปได้
การตัดสินว่าเศรษฐกิจของกรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกสหรือสเปนจะรอดหรือจะล่ม ซึ่งก็คือการตัดสินอนาคตของเงินยูโรด้วยนั้น ล้วนมาจากเบอร์ลิน หาใช่บรัสเซลส์ไม่ Charles Grant ผู้อำนวยการ Centre for European Reform ในลอนดอนชี้ว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเยอรมนีแล้วในขณะนี้ ยุโรปกำลังเต้นตามจังหวะ ของเยอรมนี
เยอรมนีมีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดและแข็งแรงที่สุด มีเงินมาก ที่สุด มี credit rating ระดับ AAA ซึ่งแข็งแกร่งที่สุดในบรรดาประเทศยุโรปทั้งหมด แม้กระทั่งประเทศอันดับ 2 ในยุโรปอย่างฝรั่งเศส ยังถูกตลาดพันธบัตรมองว่า อาจเป็นประเทศที่จะมีปัญหา ในอนาคต
นั่นหมายความว่า เยอรมนีเป็นประเทศเดียวที่ไม่มีใครสงสัย ในความสามารถในการชำระคืนหนี้ จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า เหตุใดเยอรมนีจึงลังเลที่จะเข้าอุ้มประเทศที่กำลังล้มละลายอย่างกรีซหรือ ไอร์แลนด์ นอกจากว่าประเทศเหล่านั้นจะยอมตกลงตัดลดยอดขาดดุลและเริ่มจ่ายคืนหนี้ เหมือนอย่างที่เยอรมนีตั้งเงื่อนไขสุดโหดเอากับกรีซ
เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว Herman Van Rompuy ประธาน EU แถลงนโยบายประจำปีของ EU ในสไตล์เดียวกับประธานาธิบดี สหรัฐฯ เป็นครั้งแรก
แต่สถานที่แถลงกลับไม่ใช่บรัสเซลส์ อันถือเป็นเมืองหลวง ของ 27 ชาติ EU แต่เขากลับไปแถลงที่พิพิธภัณฑ์ Pergamon Museum ในเบอร์ลินแทน สารที่ส่งออกมา ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ชัดเจนยิ่งว่า วิกฤติเงินยูโรกำลังทำให้เบอร์ลินกลายเป็น เมืองหลวงใหม่ของ EU ไปโดยพฤตินัย
นั่นเป็นสิ่งที่ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับเป้าหมายการจัดตั้งเงินยูโรสกุลเดียว การสร้างเงินยูโรขึ้นมาก็เพื่อหวังจะลดอิทธิพลของเยอรมนี และผูกมัดเยอรมนีไว้กับการรวมยุโรปให้แน่นยิ่งขึ้น
ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ผลักดันการจัดตั้งเงินสกุลเดียวแห่งยุโรปมากที่สุด โดยหวังจะให้เป็นเครื่องมือในการควบคุมเยอรมนี ซึ่งขณะนั้นเพิ่งรวมประเทศสำเร็จ เปรียบเสมือนกับเชือกที่เหล่าบรรดาคนตัวจิ๋วพยายามจะมัด Gulliver ในภาพยนตร์เรื่องกัลลิเวอร์ผจญภัย
ในปี 1990 Fran”ois Metterrand ผู้นำฝรั่งเศสในขณะนั้น ถึงกับยื่นคำขาดต่อเยอรมนีว่า ฝรั่งเศส ในฐานะประเทศชนะ สงครามโลกครั้งที่ 2 และมีอำนาจใช้สิทธิยับยั้งการรวมเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศแพ้สงคราม จะยอมรับรองการรวมประเทศของเยอรมนี ก็ต่อเมื่อ Helmut Kohl ผู้นำเยอรมนีในขณะนั้นต้องยอม สละสกุลเงิน Deutsche mark ของเยอรมนีอันแข็งแกร่งให้สิ้นชื่อไปและเยอรมนีต้องยอมเข้าร่วมเงินยูโรสกุลเดียว
เมื่อเงินยูโรเริ่มใช้เป็นครั้งแรกในปี 1999 สกุลเงินเดียวของยุโรปก็สามารถทำให้เยอรมนีอ่อนแอลงได้จริงๆ ท่ามกลางความอ้วนพีขึ้นของประเทศเพื่อนบ้านเยอรมนี
Hans-Werner Sinn ผู้อำนวยการสถาบัน Ifo Institute ในมิวนิก เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับยกย่องสูงสุดในเยอรมนี อธิบายว่าการเกิดขึ้นของเงินยูโรทำให้ประเทศอย่างสเปน ไอร์แลนด์ และกรีซ สามารถกู้เงินได้อย่างง่ายดาย เพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำเท่ากับอัตราดอกเบี้ยในเยอรมนี แต่ความแตกต่างคือ เยอรมนีมีเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพแข็งแกร่งกว่ามาก
ด้วยเหตุนั้นการลงทุนจึงขยายตัวอย่างรวดเร็วในประเทศ เหล่านั้น ในขณะที่เศรษฐกิจในเยอรมนีกลับชะงักงัน
เศรษฐกิจของไอร์แลนด์เติบโตแบบก้าวกระโดดถึง 105% ตั้งแต่ปี 1995-2009 และเมื่อธนาคารและผู้ออมเงินในเยอรมนีเอง ยังหันไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในสเปนและซื้อพันธบัตรรัฐบาลกรีซ แทนที่จะลงทุนในประเทศตัวเอง ก็ยิ่งทำให้การลงทุนในเยอรมนีตกลงอย่างฮวบฮาบ จนมีการลงทุนต่ำที่สุดในยุโรป
การเติบโตทางเศรษฐกิจก็ลดลงจนเกือบต่ำสุดรองจากอิตาลีเท่านั้น เยอรมนีถูกปล่อยให้เลือดไหลจนแทบแห้งตายเพราะการเกิดขึ้นของเงินยูโร ในขณะที่ประเทศอื่นๆ สุขสำราญกับงานปาร์ตี้ยูโร
เยอรมนีจึงปฏิรูปเศรษฐกิจและต้องอดทนกับค่าจ้างแรงงาน ที่คงที่มานานถึง 10 ปี Sinn บอกว่า ความยากลำบากแทบเลือดตากระเด็นนั้น เกือบทำให้สังคมเยอรมนีต้องแตกเป็นเสี่ยงๆ แต่แล้วในที่สุด ความทุกข์ทรมานที่เยอรมนีต้องเผชิญตลอด 10 ปี กลับทำให้บริษัทของเยอรมนีมีความสามารถในการแข่งขันมากที่สุดในยุโรป และการใช้เงินยูโรร่วมกัน กลับทำให้ฝรั่งเศสและอิตาลีไม่อาจจะต้านทานการแข่งขันจากบริษัทของเยอรมนี ด้วยวิธีการง่ายๆ อย่างลดค่าเงินฟรังก์หรือเงินลีร่าได้เหมือนในอดีตอีกต่อไป
เมื่อวิกฤติการเงินโลกเริ่มต้นขึ้นในปี 2008 บริษัทเยอรมันแข็งแกร่งที่สุดในยุโรป แม้ว่าการส่งออกจะตกลงในระยะแรก แต่ก็ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว การส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์หนัก และสินค้า อุปโภคบริโภคจากเยอรมนีไปยังตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้น เห็นได้อย่าง ชัดเจนว่า เยอรมนีเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่สามารถแข่งขันในระดับโลกได้อย่างแท้จริงกับคู่แข่งตัวฉกาจอย่างจีนและสหรัฐฯ
เยอรมนีในขณะนี้ทรงพลังทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างมาก จนกำลังทำให้ EU ต้องเปลี่ยนแปลง เยอรมนียังมั่นใจ มากยิ่งขึ้นที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม คนเยอรมันกลับไม่ได้รู้สึกว่ากำลังได้รับชัยชนะแต่อย่างใด ตรงข้าม พวกเขากลับรู้สึกว่า กำลังถูกลากลง เหวลึกที่มองไม่เห็นก้น พวกเขารู้สึกว่า นี่ไม่ใช่สิ่งที่นักการเมืองเยอรมนีเคยสัญญาไว้ เมื่อครั้งที่ขอให้เยอรมนีสละเงิน Deutsche mark ของตัวเอง เพื่อไปใช้เงินยูโร และกำลังรู้สึกขุ่นเคืองที่ต้องไปดับไฟให้บ้านคนอื่น
เพราะการยืนกรานอันหนักแน่นของเยอรมนี ทำให้สนธิสัญญาการจัดตั้งเงินยูโรมีข้อกำหนดไว้ว่า ห้ามการเข้าอุ้มประเทศ ที่ประสบปัญหาการเงิน และทุกๆ ประเทศควรรับผิดชอบหนี้สินของตัวเอง คนเยอรมันเห็นว่า ประเทศที่พยายามรักษาสมดุลงบประมาณและปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างยากลำบากอย่างเยอรมนี ไม่ควร จะต้องจ่ายเงินเพื่อไปช่วยคนอื่นที่ชอบใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปฏิกิริยาของคนเยอรมันต่อการ เข้าอุ้มกรีซ ก็แรงไม่แพ้ปฏิกิริยาของชาวกรีซเช่นกัน Bild หนังสือ พิมพ์เยอรมันที่ขายดีที่สุดในยุโรป พาดหัวตัวเป้งว่ากรีซกำลังทำลาย เงินยูโร
“ถึงชาวกรีก เราก็มีหนี้สินเช่นเดียวกัน แต่เรามีความสามารถพอที่จะชดใช้หนี้ เพราะเราตื่นแต่เช้าและทำงานหนักตลอด ทั้งวัน” Bild ยังสั่งสอนให้กรีซขายทิ้งเกาะแก่งมากมายที่มีอยู่ออก ไปเสียบ้าง รวมถึงอนุสรณ์สถานแห่งชาติอย่าง Acropolis ด้วย ก่อนที่จะเที่ยวแบมือขอเงินแม้แต่เซ็นต์เดียวจากเยอรมนี
เมื่อ Elena Salgado รัฐมนตรีคลังสเปนกล่าวโทษเยอรมนี ที่พูดเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ว่า ทำลายบรรยากาศการลงทุน ทำให้ผู้ซื้อตกใจกลัวจนไม่กล้าซื้อพันธบัตรของสเปน Bild ตอกกลับ ว่า “เราให้เงินช่วย แต่กลับถูกดูหมิ่น”
อนาคตของยุโรปเป็นประเด็นปัญหาที่ชาวเยอรมันถกกันมา นาน ก่อนที่จะเกิดวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปเสียอีก John Kornblum อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเยอรมนีชี้ว่า คนเยอรมันรู้สึกว่า ความเจริญรุ่งเรืองของพวกเขากำลังถูกคุกคามใน ทุกๆ ด้าน
ประชากรของเยอรมนีเองกำลังลดลง มีคนแก่มากขึ้นและ อำนาจของยุโรปในโลกกำลังลดลง ที่แย่ที่สุดในความรู้สึกของคนเยอรมันคือ สกุลเงินที่คนเยอรมนีปกป้องอย่างสุดชีวิต ราวกับมันเป็นสกุลเงินของตัวเองอย่างเงินยูโร อาจกำลังจะล่มสลาย
“คนเยอรมันกำลังปกป้องความสำเร็จ ที่พวกเขาสู้อุตส่าห์ สร้างมาอย่างยากลำบากอย่างสุดกำลัง และเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า วิธีการของพวกเขานั้นถูกต้องที่สุดที่จะป้องกันหายนะได้” Kornblum กล่าว
ดังนั้น Merkel จึงยืนยันว่า เงินยูโรจะต้องได้รับการปกป้อง ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไร Merkel ประกาศว่า “ถ้ายูโรล่ม ยุโรป ก็ล่มด้วย”
แต่ขณะเดียวกันนั้น ประชาชนของเธอกลับเริ่มพูดถึงการแยกตัวออกจาก euro zone กลุ่มประเทศยุโรปที่ใช้เงินยูโรสกุลเดียว
Frank Schaffler ส.ส.ของเยอรมนีและผู้เชี่ยวชาญด้านการ เงินแน่ใจว่า การถกเถียงเกี่ยวกับการแบ่งแยกเขต euro zone จะ ต้องระเบิดขึ้นอย่างแน่นอน เมื่อใดที่เยอรมนีและชาติเจ้าหนี้อื่นๆ ในยุโรปเหนือ รู้สึกเหลือทนกับความเบื่อหน่ายที่ต้องช่วยอุ้มชาติอื่นๆ หรือเมื่อชาติลูกหนี้ในยุโรปใต้ทนไม่ไหวและลุกฮือขึ้นต่อต้าน มาตรการรัดเข็มขัดและการปฏิรูปที่ทุกข์ทรมาน
Hans-Olaf Henkel อดีตประธานสมาพันธ์อุตสาหกรรมเยอรมนี และเคยเป็นผู้ที่สนับสนุนเงินยูโรอย่างแข็งขัน แต่บัดนี้กลับหันมารณรงค์อย่างเปิดเผย ให้แบ่งแยกเขต euro zone ออก เป็นยุโรปเหนือ ซึ่งมีเยอรมนีที่ค่าเงินแข็งแกร่งเป็นศูนย์กลางกับยุโรปใต้ ซึ่งมีค่าเงินอ่อนแอ อันรวมถึงอิตาลีและสเปน
Henkel ซึ่งเพิ่งออกหนังสือชื่อ Save Our Money ระบุว่า ยุโรปมีโมเดลสังคม 2 แบบ ยุโรปเหนือ รังเกียจเงินเฟ้อและความ ไร้เสถียรภาพ แต่ยุโรปใต้ชอบโตเร็วๆ และไม่เอาใจใส่เงินเฟ้อ
“ตอนนี้เรากำลังบังคับโปรตุเกส กรีซ สเปนและอิตาลี ให้ทำเศรษฐกิจให้หดตัว เพียงเพื่อจะรักษาเงินยูโร ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็น ไปไม่ได้สำหรับประเทศเหล่านั้น” Henkel กล่าว
บทบาทการเป็นผู้นำของเยอรมนีเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้นและ เป็นบทบาทที่เยอรมนีไม่คุ้นเคยนับตั้งแต่หลังสงครามโลกเป็นต้นมา ส่วนวิกฤติเงินยูโรก็นับเป็นวิกฤติแรกของยุโรป นับตั้งแต่ปี 1945 ที่ยุโรปต้องเผชิญหน้าและแก้ไขด้วยตนเอง ภายใต้การนำของเยอรมนี ซึ่งกำลังมั่นใจในตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ หลังผ่านร้อนผ่าน หนาวฝ่าวิกฤติมาครั้งแล้วครั้งเล่าและโดยปราศจากการเป็นพี่เลี้ยง ของสหรัฐฯ ซึ่งยุโรปเคยได้อาศัยพึ่งพามาตลอดหลายทศวรรษ
ก็ไม่แน่ว่า ผลของการแก้ปัญหาด้วยตัวเองครั้งนี้ อาจทำให้เราได้ยุโรปที่มีการเมืองมีเสถียรภาพ มีฐานะการเงินของรัฐบาลที่มั่นคง และมีบริษัทที่แข็งแกร่ง สามารถผลิตสินค้าที่ประเทศอื่นต้องการซื้อ กลายเป็นยุโรปที่ปั้นแต่งขึ้นได้ดังใจตามที่เยอรมนีต้องการเห็น ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ปัญหาวิกฤติของยุโรปครั้งนี้ก็คงจบลงอย่างไม่เลวนัก
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค
|
|
 |
|
|