เมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้วสองตระกูลการค้าหันมาจับเรื่องที่ดินเพื่อสร้างศูนย์การค้าครั้งแรก
มาปีนี้หลังจากที่ต้องเคี่ยวกรำกับปัญหาต่างๆ อมรินทร์พลาซ่าก็กำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
และพร้อมจะเปิดตัวในเดือนธันวาคมนี้ ข้อผิดพลาดและปัญหาต่างๆ เป็นบทเรียนกับคนทำโครงการใหญ่ๆ
น่าจะเรียนรู้เอาไว้ ส่วนข้อดีและไหวพริบการแก้ปัญหาตลอดจนความสำเร็จคือสิ่งที่ควรจะ
รับทราบและจดจำไปใช้ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ความจริงใจ ที่มีต่อการค้าการขาย
กลับจะเป็นหัวใจในการทำโครงการ
" การทำงานครั้งนี้ให้บทเรียนเรา การที่จะทำอะไรขึ้นมาสักอย่างในสังคมถ้ามีคนให้ความเชื่อถือและมีทัศนคติที่ดีต่อเรา
ก็จะทำให้งานไปได้ดี"
อิสสระ ว่องกุศลกิจ
กรรมการผู้จัดการอมรินรินทร์ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด โครงการอมรินทร์พลาซา
" ในการทำงานใหญ่ๆ เราต้องอาศัยที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาเข้ามา
ร่วมด้วย และเราไม่ควรเอาความพอใจส่วนตัวเข้ามาเป็นใหญ่ เราควรเคารพในความคิดของบรรดาที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญนั้น"
สุพล วัธนเวคิน
กรรมการบริหารอมรินทร์ดีเวลล้อปเม้นท์ จำกัด
ปรัชญาของอิสสระ ว่องกุศลกิจ และสุพล วัธนเวคิน เป็นกุญแจที่นำไปสู่ความสำเร็จของโครงการ
อมรินทร์ พลาซา ซึ่งต้องใช้ความเชื่อมั่นจากภายนอกและความเชี่ยวชาญจากผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย
ความเชื่อมั่นจากภายนอกถูกทดสอบไปแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อโครงการนี้ประสบปัญหาเรื่องการตอกเสาเข็มเมื่อประมาณกันยายน
2526
" ถ้าเป็นกลุ่มอื่นทำ ก็คงจะพังพาบไปแล้ว แต่เผอิญพวกนี้เขามี credibility
ในวงการค้าสูงมาก ก็เลยทำให้ทุกคนรู้ว่าโครงการนี้ต้องไปได้แน่ๆ และก็ไปได้ดี"
ลูกค้าอมรินทร์พลาซาคนหนึ่งที่จองพื้นที่ไว้พูดให้ " ผู้จัดการ"
ฟัง
ปัญหาเรื่องเสาเข็มนั้นเป็นปัญหาที่ตามมาทีหลังจากปัญหาอื่นได้ถูกแก้ไปแล้วจนหมดสิ้น
" เรื่องเสาเข็มนี่เฉพาะการลงทุนด้านนี้ เพื่อให้ดีที่สุดทำให้เราเสียเงินเพิ่มจากการประมาณอีก
30 กว่าล้านบาท เพียงเพื่อให้ลูกค้าได้โครงสร้างที่ดี" สุพล วัธนเวคิน
กล่าวกับ " ผู้จัดการ"
ปัญหาด้านเทคนิคเริ่มต้นหลังจากที่ขายไปแล้ว 80% และนี่คือปัญหาใหญ่ของการบริหารโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้
" ตอนนั้นผมเองก็ไม่แน่ใจเพราะผมจองเอาไว้ตอนปลายปี 2525 แล้วมากันยายน
2526 หนังสือพิมพ์ก็ลงข่าวว่ามีปัญหาเรื่องการตอกเสาเข็ม ผมลังเลใจมากว่าผมควรจะจ่ายเงินงวดต่อไปหรือไม่
แต่เพื่อนฝูงในวงการเชื่อว่าพวกเจ้าของโครงการไม่ใช่ประเภทตีหัวเข้าบ้าน"
ลูกค้ารายเก่า พูดต่อ
" เรายอมรับว่ามีลูกค้า Panic มาก มีหลายส่วนติดว่าเราขึ้นไม่ได้
และมีคนข้างนอกช่วยพูดว่า อมรินทร์พลาซาขึ้นไม่ได้แน่นอน แต่เรามั่นใจว่า
เราต้องแก้ปัญหาได้แน่ๆ" สุพล วัธนเวคิน พูดให้ฟังด้วยเสียงที่ราบเรียบแต่แฝงด้วยความเด็ดเดี่ยว
เดิมทีอัมรินทร์พลาซา เริ่มด้วยการคิดที่จะใช้เสาปูนซีแพค ซึ่งมีปัญหาในเรื่องความสั่นสะเทือนมากๆ
และปัญหาเรื่องที่ดินเคลื่อนตัว ก็เลยต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบเข็มเจาะ ซึ่งระบบนี้ในขณะนั้น
มีแต่การก่อสร้างของโรงแรมรอยัลออร์คิดเท่านั้นที่ทำอยู่ ระบบเข็มเจาะนี้ในฮ่องกงนิยมมาก
การใช้ระบบนี้ทำให้ต้องเพิ่มทุนอีก 10 กว่าล้านบาท" แต่ไม่ได้ผลเพราะดินข้างล่างเหนียวมาก
ลงไปได้ 43 เมตร เจอดินเหนียวเป็นพิเศษ เราใช้เวลา 3 เดือน เพิ่งจะลงได้10
กว่าต้น ซึ่งโครงการทั้งหมดต้องใช้ 600 กว่าต้น ทำให้เกิดปัญหาเรื่องเวลา"
สุพล วัธนเวคิน พูดต่อ
ในที่สุดผู้เชี่ยวชาญ ก็แนะนำให้ใช้เข็มเหล็กมาตอก เพราะเหล็กบางกว่า และทำให้ดินไม่เคลื่อนย้าย
ซึ่งการใช้เข็มเหล็กต้องใช้ทั้งหมดจำนวน 1,600 ต้น
แต่การใช้เสาเหล็กตอกก็เกิดปัญหาอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งทำให้โครงการอมรินทร์พลาซา
ต้องเผชิญกับมรสุมที่หนักพอสมควรในช่วงนั้น
ก่อนที่เสาต้นแรกจะตอกลงในโครงการนี้ ได้ขายไปร่วม 80% " เราขายโครงการนี้
บนแบบเท่านั้น มีคนเชื่อใจเรา และคิดว่าสถานที่ตั้งเป็นทำเลที่ดีก็เลยจองไว้"
อิสสระ ว่องกุศลกิจ กรรมการผู้จัดการอัมรินทร์พลาซา พูดกับ " ผู้จัดการ"
พอเริ่มตอกเสาเข็มเหล็กซึ่งใช้เครื่องจักรดีเซลตอกทำให้เกิดปัญหาการฟ้องร้องขึ้นมา
จนศาลต้องออกคำสั่งระงับการทำงานชั่วคราวก็ทำให้เกิดความวุ่นวายกับผู้สั่งจองมาก
"ผมตอนนั้นคิดหนัก เพราะการลงทุนที่ผมมาจองครั้งนี้แล้วไม่แน่ใจว่า
โครงการเขาจะขึ้นต่อไปหรือไม่ แต่ผมเช็กกับเพื่อนๆ ดูแล้ว เพื่อนๆ ในวงการเขาบอกว่า
กลุ่มพวกมิตรผลกับพวกเกียรตินาคิน ไม่เป็นคนซี้ซั้ว ผมก็เลยตัดสินใจคิดว่าคงไม่มีปัญหา"
เจ้าของร้านเครื่องหนังแห่งหนึ่งพูดกับ " ผู้จัดการ"
ข่าวลือภายนอกจากคู่แข่งก็ไม่ได้ช่วยให้เหตุการณ์ดีขึ้น ประกอบกับการเงียบของกลุ่มอัมรินทร์
ทำให้คนคิดว่าโครงการนี้อาจจะเริ่มขึ้นไม่ได้
" แต่เรามั่นใจเราแก้ได้ เพราะนี่คือปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน ซึ่งต้องเผชิญกับมัน"
สุพล วัธนเวคิน กรรมการบริหาร เล่าให้ฟัง
ทีมงานอัมรินทร์พลาซาก็พยายามแก้ไขจนผ่านพ้นวิกฤตการณ์นั้นไปได้ด้วยดี
"การแก้ไขบางประการของเราก็ทำโดยการสั่งเครื่องจักรใหม่เอี่ยมเข้ามาเพื่อไม่ให้มันมีควัน
แล้วยังทำปลอกหุ้มเครื่องตอกเสาเข็มให้เหมือนท่อไอเสียที่เก็บเสียง ฯลฯ"
ที่ปรึกษาของโครงการคนหนึ่งพูดให้ฟัง
เป็นของธรรมดาในการทำโครงการใหญ่ขนาดเกือบพันล้านมีความจำเป็นจะต้องทำทุก
อย่างด้วยความรอบคอบ
ความรอบคอบในสายตาของนักลงทุนนั้น จะมองได้สองแง่สองมุม มุมหนึ่งนักลงทุนจะมองว่าจะรอบคอบกับการลงทุนอย่างไรเพื่อให้ได้ผลกำไรมากที่สุด
และนั่นหมายถึงการสร้าง margin กำไรให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อีกมุมหนึ่งคือ
จะทำอย่างไรเพื่อให้โครงการไปได้ดี โครงสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อสินค้าว่า
เขาได้ของที่ดีจริงๆ ไป และยังพอจะมีกำไรเหลือให้กับนักลงทุนในโครงการเป็นค่าเหนื่อยบ้าง
ในการที่จะทำประการหลังได้นักลงทุนจะต้องเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าและนำ
ความต้องการมาผสมกับความปรารถนาของผู้ลงทุนเพื่อให้ได้สูตรสำเร็จสูตรหนึ่งที่เป็นไปได้สำหรับทั้งสองฝ่าย
ในกรณีของอมรินทร์พลาซา นั้น " เราให้ลูกค้าแบบหมดตัว โดยไม่ขยักไว้เลย
เดิมทีเราถกเถียงกันมากว่า จะให้ลูกค้าเซ้ง 20 หรือ 30 ปี ในลักษณะหนึ่งเซ้ง
20 ปีก็ดีกับเรามากๆ เพราะเรายังมีอีก 10 ปี หลังไว้ฟาดเงินอีกก้อนหนึ่ง
แต่พอเรามองถึงความต้องการของลูกค้าแล้วการที่เขาจะเข้ามาถ้ามีเวลาให้เขาค้าขายและกอบกำไร
เต็มที่เมื่อศูนย์การค้าเจริญขึ้นมาในอนาคต เขาจะรู้สึกว่าเขาไม่ได้ถูกเอาเปรียบ"
ไพฑูรย์ สายสว่าง ที่ปรึกษาชี้แจงให้ " ผู้จัดการ" ฟัง
ก็คงจะเป็นเช่นนั้น เพราะตัวโครงการถูกตั้งห่างไปข้างหลังเกือบ 15 เมตร
และยังมีถนนกว้างอีก 6 เมตร ให้รถสองคันวิ่งออกมา ในพื้นที่ที่เว้นไว้มาก
แบบนี้ถ้าเป็นโครงการอื่นเจ้าของโครงการก็คงจะน้ำตาร่วงด้วยความเสียดาย
" เวลาขายพื้นที่ผมพยายามชี้แจงเสมอว่า เวลาทำโครงการขึ้นมาเพื่อให้เขาขายของได้
คุณอย่าลืมว่าพวกพ่อค้าที่เขามาจองพื้นที่ที่นี่นั้น ส่วนใหญ่เป็นพวกที่มีประสบการณ์
ค้าขายในศูนย์การค้าเท่านั้น ปัญหาต่างๆ ที่เขาประสบมาเขาจำได้หมด และเขาก็ไม่อยากจะเจอมันอีก"
อิสสระ ว่องกุศลลกิจ พูดเสริม
หนึ่งในหลายปัญหาที่พ่อค้าซึ่งมาจองพื้นที่ในอัมรินทร์พลาซา ไม่ต้องการเจอคือการตั้งแผงลอย
" พวกที่มาจองทุกคนถามผมว่าจะมีแผงลอยไหม เพราะพวกเขากลัวมากเนื่องจากพวกเขาเห็นว่าถ้าเขาจองพื้นที่ขายเปิดเป็นห้องต้องลงทุนทั้งหมดหลายล้าน
แล้ว จู่ๆ เจ้าของโครงการให้แผงลอยมาตั้งแถวๆ ร้านเขาได้ มันไม่ยุติธรรม
ผมบอกเขาไปว่า เราไม่มีนโยบายให้แผงลอยตั้งที่ทางเดิน และเพื่อให้เขาสบายใจเราถึงกับใส่ลงไปในสัญญาระบุไว้ชัดเจนว่า
อมรินทร์พลาซาจะไม่มีการตั้งแผงลอยที่ทางเดินขึ้นมาในอนาคตเด็ดขาด"
อิสสระพูดต่อ
การทำศูนย์การค้า เหมือนการสร้างเพราะ " ศูนย์การค้าที่สมบูรณ์แบบเหมือนการสร้างตลาดสด
เมื่อสร้างอาคารเสร็จแล้วก็ต้องมีคนเข้าไปค้าขาย และเมื่อมีการค้าขายแล้วก็ต้องมีเข้าไปซื้อ"
สุพล วัธนเวคิน พูดให้ฟัง
และการจะให้คนเข้าไปซื้อ คือหัวใจสำคัญที่ทำให้คนเข้าไปค้าขาย และในที่สุดก็เป็นความสำเร็จของศูนย์การค้านั้น
หนึ่งในวิธีการทำให้คนเข้าไป คือการหาสินค้าที่จะล่อใจคนซึ่งไม่มีอะไรดีไปกว่าห้าสรรพสินค้าและร้านค้าดีๆ
มีชื่อเสียง
" ห้างสรรพสินค้าโซโก้ของญี่ปุ่น เขาต้องการเข้ามาเมืองไทยนานแล้ว
แต่ยังหาที่ดีๆ ไม่ได้ พอเขาเจอเราก็เลยเป็นการร่วมกันที่ถูกความต้องการของทั้งสองฝ่าย"
สุพล พูดต่อ
ก็ต้องยอมรับกันว่า ห้างสรรพสินค้าที่บริหารกันแบบมืออาชีพจริงๆ ก็คงจะหนีไม่พ้นของญี่ปุ่น
และโซโก้เองก็เป็นห้างสรรพสินค้าที่ติดอันดับโลก
พอข่าวคราวของโซโก้จะเข้ามาร่วมทุนกับกลุ่มอัมรินทร์พลาซาออกมาได้สักพัก
มาบุญครองก็รีบประกาศตัวเองว่าจะเอาโตคิวเข้ามาและหลังจากนั้นไม่นาน สุทธิเกียรติ
จิราธิวัฒน์ แห่งเซ็นทรัลก็โวยวายออกมาทันทีว่า การขายปลีกควรจะเป็นอาชีพที่เก็บไว้ให้คนไทยทำ
จะอย่างไรก็ตามโซโก้ก็เข้ามาสร้างเสริมให้อัมรินทร์พลาซาเด่นชัดขึ้นมามากกว่า
เดิมเป็นแหล่งการซื้อของที่มีคุณภาพ "ของเราต้องมีคุณภาพ เดี๋ยวนี้ห้างสรรพสินค้าเหมือนกันหมด
และ ณ จุดนัดของเรา จะต้องมีสินค้าที่ต่างกับเขาและผมเชื่อว่าอันนี้แหละ
จะเป็นเอกลักษณ์ของเราเอง" ไพทูรย์ สายสว่าง พูดให้ " ผู้จัดการ"
ฟัง
ปัจจุบันอมรินทร์พลาซา มีเนื้อที่บนชั้น 3-4 เหลือเพียงไม่กี่ห้อง ที่จะว่างให้คนเข้าไปทำการค้าขาย
" เราจะเปิดอาคารนี้สำหรับโพเดียมส์ชั่นส่วนตัว อาคารสำนักงานเราจะเปิดปีหน้า
ผู้บริหารคนหนึ่งพูดให้ฟัง
ในส่วนของสำนักงาน 15 ชั้น เนื้อที่ 24,000 ตารางเมตร ซึ่งในราคาที่ผู้บริหารตั้งไว้
215-225 บาทต่อตารางเมตร โดยระบุว่าไม่ขึ้นค่าเช่าเป็นเวลา 3 ปี ถ้ามีคนจองเข้ามาอยู่หมดก็จะเป็นรายได้รวมเดือนละ
5 ล้านบาท
" แต่ต้นทุนเราตก 200 บาทต่อตารางเมตรไปแล้ว เราไม่ได้หวังว่าจะต้องกำไรมากมายจากรายการนี้
เราเพียงแต่ต้องการให้มีอาคารสำนักงานที่ดีมีมาตรฐานสูงในอัมรินทร์พลาซา
เพราะย่านนี้พูดไปแล้ว เหมาะสมที่สุด มีรถเมล์ผ่าน 44 สาย เป็นศูนย์กลางทุกๆ
อย่าง" ไพทูรย์ สายสว่าง พูดต่อ
ราคาเฉลี่ยปัจจุบันของค่าเช่าสำนักงานในย่านสำคัญของกรุงเทพฯ ก็ตกในราว
200-250 บาทต่อตารางเมตร
ถึงแม้ปัจจุบันพื้นที่เช่าสำนักงานในกรุงเทพฯ จะมีเหลือมาก แต่ผู้บริหารอัมรินทร์พลาซา
ก็เชื่อว่าไม่น่าวิตกเพราะ
" ที่นี่เป็นสำนักงานและศูนย์การค้าไปในตัว ประกอบกับรูปแบบสถาปัตยกรรมซึ่งผสมผสานกันอย่างเหมาะเจาะ
รวมถึงการเป็นศูนย์กลางจะทำให้ผู้เช่าสำนักงานเห็นชัดทันทีเลยว่า เป็นอาคารสำนักงานที่เหมาะสมมาก"
ไพทูรย์ สายสว่าง ยืนยันความเชื่อมั่นของตัวเอง
" เรายอมรับว่าออฟฟิศบิลดิ้งกับศูนย์การค้ามีสภาพใช้สอยคนละประเภทกัน
แต่ต้องมาผนวกกันเพื่อคุณค่าประโยชน์สูงสุดด้านการใช้สอยที่ดิน และเป็นการเสริมกันและกัน
เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมาพิจารณา สร้างออฟฟิศบิลดิ้งให้มีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเขาเป็นลูกเมียน้อย เราเลยใช้ด้านหน้าเป็นทางเข้าออกต่างหากเป็นเอกลักษณ์เหมือนโรงแรมชั้นนำ
มีล็อบบี้ที่โอ่อ่า ส่วนรอบด้านอาคารสำนักงาน บางคนก็อยากสร้างเป็นกระจกหมดหรือไม่หมด
บางคนก็ให้ทำเป็นแผงกันแดด แต่ผมคิดว่า การทำแผงกันแดดมันรกและค่าก่อสร้างมันไม่ถูกกว่ากันมากมาย
เราก็เลยใช้กระจกสะท้อนแสงตัดความร้อนออกไปจากตัวตึก และยัง
ดูเกลี้ยงเกลา ทำให้เป็นอาคารที่มีสถาปัตยกรรมที่เด่นกว่าอาคารรอบข้างเคียง
เนื่องจากตึกรอบข้างเราเป็นตึกคอนกรีต อย่างน้อยผมก็เชื่อว่าคนที่อยู่บนอาคารหลังนี้จะทำงานด้วยความสบายใจ
เปรียบแล้วก็เหมือนกับเขาใส่เสื้อผ้าดีๆ จิตใจบริสุทธิ์ และเรามีบันไดหนีไฟ
ที่ใหญ่พอและถูกต้อง ทุกชั้นเรามีสปริงเกอร์สำหรับดับเพลิง ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นสามารถแก้ไขปัญหาอัคคีภัยได้เป็นอย่างดี
กลุ่มผู้ลงทุนเขาต้องการลงทุนจริงๆ ไม่ต้องการทำฉาบฉวย กลุ่มผู้ลงทุนต่างเป็นคนที่มีอายุน้อย
ประมาณ 30 กว่าเท่านั้นเอง อนาคตยังอีกไกล อันนี้จะเป็นผลงานสร้างชื่อเสียงเขา
เขาจึงลงทุนสร้างระบบป้องกันไฟอย่างดี" รังสรรค์ ต่อสุวรรณ พูด
700 ล้านบาท คือตัวเลขที่ตั้งเอาไว้สำหรับโครงการ " แต่ตัวเลขจริงผิดไปร่วม
10%" ผู้บริหารอัมรินทร์พลาซา อธิบายถึง
เกือบ 100% จด100 ล้านบาท โดยมิตรผลลง 60% และที่เหลือเป็นของกลุ่ม
เกียรตินาคิน
จากเงินลงทุนและเงินที่เก็บจากลูกค้ามาและจากเงินกู้ที่เตรียมไว้ 300
ล้านบาทจากธนาคารไทยพาณิชย์ ทำให้โครงการนี้ไม่ประสบปัญหาด้านการเงินเลย
" ธนาคารไทยพาณิชย์เขากล้าตัดสินใจ มากๆ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเราไม่มีอะไรให้เขาดูแลเลย
เขาเพียงแต่บอกว่า ถ้าเล่นแบบนี้ เขาเล่นด้วย" อิสสระพูดถึงการเงินให้ฟัง
" โครงการนี้ ดีมาก เพราะวงเงินที่เขาได้จากธนาคารมาใช้ยังเหลือในที่สุด
และยังได้รายได้จากการเช่าสำนักงานส่วนหนึ่งเป็นการจ่ายคืนอีกส่วนหนึ่งเป็นกำไรที่ปันผลออกมา"
อดีตผู้เขียนแผนงานการเงินเล่าให้ " ผู้จัดการ" ฟัง
ในส่วนของผู้ที่เข้ามาซื้อนั้น ต้องจ่ายทั้งหมดโดยวางเงินดาวน์ 50% อีก
50% ใช้เงินกู้โดยคิดดอกเบี้ย 1.5% เหนือไพร์ม
จากการสำรวจของ" ผู้จัดการ" ถึงการจองพบว่า แทบจะไม่มีการจองไว้เพื่อขายต่อเก็บกำไร
" เราระวังมากเรื่องนี้มีอยู่รายหนึ่งมาจอง 20 ห้อง เราต้องปฏิเสธไป
เพราะส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงการนี้สำเร็จอยู่ตรงที่เราต้องกำกับว่าชั้นนี้ห้องนี้ควรจะเป็นร้านขายอะไร
และไม่ยอมให้จองเพื่อการเก็งกำไร ขนาดกรรมการโครงการด้วยกันเรายังไม่ให้สิทธิในการสั่งจองเลย"
อิสสระ ว่องกุศลกิจ พูดกับ" ผู้จัดการ"
ซึ่งต่างกับบางแห่งที่ในช่วงแรกห้อง
ดีๆ ทำเลดีๆ จะถูกวงศ์วานเครือญาติของตระกูลเจ้าของจับจองเอาไว้เต็มที่
ทั้งเจ้าของโครงการเองก็มาเปิดร้านขายแข่งกับชาวบ้านก็เลยทำให้โครงการนั้นต้อง
ประสบปัญหาอยู่กระทั่งทุกวันนี้
ทั้ง อิสสระ ว่องกุศลกิจ ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มมิตรผลที่ค้าน้ำตาลมา
และสุพล วัธนเวคิน ตัวแทนของกลุ่มเกียรตินาคิน ก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะกระโดดเข้ามาใน
เรียลเอสเตท
เพียงแค่ 4 ปีกว่าที่แล้ว ที่ดูเหมือนเป็นวันวานที่กลุ่มเข้าไปคุยกับเจ้าของที่ซึ่งเป็นพวกสกุลศรีวิกรม์
เพื่อโครงการอัมรินทร์พลาซา มาวันนี้ เมื่อย้อนหลังไปสองกลุ่มก็เชื่อว่า
การทำโครงการใหญ่ๆ แบบนี้ไม่ใช่เรื่องของความฟลุ้ค แต่เป็นเรื่องของการทำงานอย่างจริงจัง
ด้วยความรู้ความสามารถ และที่สำคัญที่สุดคือความจริงใจ ต่อคนที่จะเข้ามาจับจองพื้นที่เพื่อการค้าขาย
"แต่ในที่สุดแล้วเขาจะมองว่า คุณเคยมีผลงานอะไรมาหรือเปล่า และถ้าในชีวิตคุณเคยทำงานแบบตรงไปตรงมาไม่มีลูกเล่น
และสร้างความเชื่อมั่นมาตลอดนั่นแหละ คือความสำเร็จของคุณ" พ่อค้าคนหนึ่งสรุปให้ฟัง
และก็คงเป็นสิ่งนี้กระมังที่ทำให้อมรินทร์พลาซาสำเร็จลงได้ เพราะความเชื่อมั่นที่มีต่อผู้
ทำโครงการ
" พวกผมทำงานชิ้นนี้ กำไรไม่ใช่เป้าหมายที่สำคัญที่สุด เราต้องการอย่างมากที่จะทำผลงานดีๆ
ออกไป และต่อไปถ้าทำโครงการใหม่เราก็หวังว่าคงจะมีคนที่เคยเห็นว่าเราทำงานจริงมีคุณภาพ
และจริงใจกับเขา จะติดตามเราไปเรื่อยๆ" อิสสระ ว่องกุศลกิจ สรุปให้
" ผู้จัดการ" ฟังในที่สุด