เรื่องนี้เป็นข้อคิดเห็นจาก “ผู้จัดการ” ที่พยายามมองกรณีของสุธี นพคุณ
สุพจน์ เดชสกุลธร และสุระ จันทร์ศรีชวาลา ให้เป็นส่วนหนึ่งของภาพรวมของสังคมธุรกิจเมืองไทย
สุธี/สุระ/สุพจน์ เป็นตัวอย่างของคนที่ไม่มีอะไรมากมายแต่พยายามจะเข้ามาในวงการที่ถูกผูกขาดโดยกลุ่มธุรกิจและสายสัมพันธ์เดิม
“ผู้จัดการ” เสียใจที่สุธี/สุพจน์ ไม่สามารถจะทำได้เพราะถ้าพวกเขาทำได้โดยไม่ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน
พวกเขาก็จะเป็นผู้กรุยทางให้กับคนหนุ่มคนสาวที่มีความสามารถแต่ไม่มีใครหนุนหลัง
พอจะมีความหวังว่าถึงแม้จะไม่มีนามสกุลใหญ่ๆ หรือเชื้อสายศักดินาเก่าๆ แต่โอกาสของการสร้างตัวให้เติบโตยังมีอยู่
ความจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าไปเสียแล้ว เดี๋ยวนี้ใครพูดถึงสุธี สุระ
และสุพจน์ (สามสุที่ดังในอดีต) ก็อาจจะไม่มีใครสนใจเลยก็ได้ เพราะสุแรกกับสุหลังกลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว
ในขณะที่สุคนกลางกำลังดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดอย่างสุดชีวิต
แต่ถ้าหยุดคิดสักนิดแล้วมองสามสุกันอีกสักครั้งในแง่มุมหนึ่งซึ่งไม่เคยมีใครมองมาก่อน
“ผู้จัดการ” เชื่อว่าจะเป็นแง่มุมที่น่าสนใจอย่างมากเลยทีเดียว
เราจะเริ่มด้วยทั้งสามสุเป็นตัวแทนของคนที่ไม่มีชาติตระกูลเก่าแก่ที่มีหลักมีฐานพอจะเป็นเครื่องส่งเสริมให้สูงเด่นขึ้นมาได้
พูดภาษาชาวบ้านก็คือ ทั้งสามสุเป็นคนนอกที่จะกระโดดขึ้นเวทีเพื่อชิงแชมป์
ในการต่อสู้บนเวทีใหญ่นั้น ถ้าเป็นคนที่มีตระกูลเก่าแก่และร่ำรวยมาก่อน จะเป็นพ่อค้าเก่าหรือศักดินาเก่าการทำงานก็ย่อมจะง่ายขึ้น
ทั้งสามสุเป็นคนอยู่ในวัยใกล้เคียงกันมาก และทั้งสามมีคุณสมบัติที่คล้ายกันอยู่ข้อหนึ่ง คือมีบุคลิกของผู้ประกอบการหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า
Entreperneur
สุธีออกจากธนาคารกรุงเทพมาประกอบธุรกิจโดยมาเป็นมือขวาของพร สิทธิอำนวย
แล้วแยกมาทำเอง
สุพจน์ปากกัดตีนถีบมาตลอด จนกระทั่งเริ่มมีกิจการใหญ่ครั้งแรกในชีวิตหนุ่มนั่นก็คือปั๊มน้ำมันมิตรรำลึกพระประแดง
สุระอาจโชคดีกว่าเพื่อนที่วงศาคณาญาติพอจะมีทรัพย์สินเป็นที่ดินบ้าง ก็เริ่มมาอย่างธรรมดาจนเริ่มเข้าไปจัดสรรที่ดินกับสุขุม
นวพันธ์ เป็นครั้งแรกในนามบริษัทนวจันทร์
คุณลักษณะประการที่สองที่ทั้งสามมีเหมือนกัน คือความทะเยอทะยาน!
ถ้าปราศจากความทะเยอทะยานแล้ว
สุธียังอาจยังทำงาน 9 โมงเช้าที่ธนาคารกรุงเทพ พอ 5 โมงเย็นก็กลับบ้าน
สิ้นเดือนรับเงินเดือน และสิ้นปีก็รับโบนัส
สุพจน์เองก็คงจะขยับขยายปั๊มน้ำมัน และก็อยู่เพียงแค่นี้
สุระก็คงจะซื้อขายที่ดินในระดับเล็กๆ อยู่และทำโรงเรียนสยามวิทยาต่อไป
ทั้งสามคนไม่ผิดที่มีความทะเยอทะยานเพราะการสร้างสรรค์ต่างๆ ในโลกนี้ทั้งในอดีตจากประวัติศาสตร์อันยาวนานและในปัจจุบันนั้นก็ล้วนมาจากความทะเยอทะยานทั้งสิ้น
เพียงแต่ความทะเยอทะยานนั้นควรมีแค่ไหนและควรจะทะเยอทะยานอย่างไร?
ความทะเยอทะยานของสามสุเป็นความทะเยอทะยานที่ผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนในสังคมต้องมี เพียงแต่บางคนอาจจะแฝงซ่อนเร้นในจิตใต้สำนึกโดยไม่กล้าแสดงออก
สุธี นพคุณ เคยพูดกับคนสนิทว่าเขาใฝ่ฝันที่จะเป็นเจ้าพ่อด้านโรงแรม ที่มีโรงแรมอยู่ในมือหลายแห่ง
สมัยที่เขาเป็นกรรมการผู้จัดการอยู่รามา ในสมัยที่ยังอยู่ในเครือไฮแอท สุธีจะไปโรงแรมทุกวัน และเขามีความสุขมากที่มีพนักงานสาวๆ
สวยๆ ยกมือไหว้เขาอย่างนอบน้อม จึงไม่น่าประหลาดใจเลยที่เมื่อสุธีแยกกับพร
สิ่งแรกที่ทำทันทีที่แยกออกมา คือการขยายโรงแรมที่รามาการ์เด้นและการไปบริหารโรงแรมต่างจังหวัดที่พัทยา
หาดใหญ่ และกาญจนบุรี
ทั้งหมดนี้เป็นเพราะสุธีมีความทะเยอทะยานจะเป็นเจ้าของโรงแรมหลายๆ แห่ง
สุระเองก็มีความทะเยอทะยานเช่นกัน สุระเคยประสบผลสำเร็จในการซื้อขายที่ดิน
และจากการเป็นนายหน้าระดับท้องถิ่น พอเริ่มเข้าสังคมชั้นสูงที่มีแต่ระดับมังกร
สุระก็เห็นว่าตัวเองก็ทำได้ ประกอบกับการเป็นแขกทำให้สุระต้องการให้มีคนยอมรับในตัวเขามากขึ้น
และในสังคมไทยการยอมรับจะมาได้เพียงรูปเดียวแบบเดียวเท่านั้น นั่นคือต้องเป็น
Tycoon เพราะ Tycoon จะเป็นแขก จีน ไทย หรือฝรั่ง มันก็คือ Tycoon นั่นเอง
อย่าลืมว่าคนอินเดียที่มีเงินมากก็มีอยู่ไม่น้อย แต่คนอินเดียที่สามารถออกมากระโดดโลดเต้นในวงการ
จนเป็นที่เลื่องลือกันในสังคมนั้น มีเพียงแค่สุระ จันทร์ศรีชวาลา ในสายตาของคนอินเดียบางกลุ่มสุระอาจจะเป็นความภูมิใจของเขา
เหมือนบุญชูเป็นความภูมิใจของคนไหหลำ หรือเกียรติ วัธนเวคิน เป็นความภูมิใจของคนจีนแคะ
นี่ก็เรียกได้เหมือนกันว่าเป็นความทะเยอทะยานประการหนึ่ง
กรณีของสุพจน์ เดชสกุลธร ยิ่งกว่ากรณีของสุธี และสุระมารวมกันเสียอีก ในขณะที่สุธี
นพคุณ มีการศึกษา มี connection และสุระ จันทร์ศรีชวาลา มีทรัพย์สินแต่ขาด
connection สุพจน์ เดชสกุลธร ไม่มีทั้งการศึกษา ทรัพย์สิน และ connection
เป็นเค้าหน้าตักในการเดิมพันเลย
เพราะฉะนั้นไฟทะเยอทะยานของสุพจน์จะเผาไหม้ยิ่งกว่าทั้งสองคนรวมกัน
สุพจน์ เดชสกุลธร ครั้งหนึ่งเคยยกย่องสุธี นพคุณ ราวเทพเจ้า ทั้งนี้สุธีคือตัวอย่างที่สุพจน์ต้องการเป็นมากที่สุด
ทั้งต่อหน้าและลับหลังสุพจน์จะยกสุธีไว้เหนือสิ่งอื่นใด
เมื่อพูดถึงพร สิทธิอำนวย สุพจน์จะบอกว่าไม่มีความหมาย สู้สุธีไม่ได้ สำหรับสุพจน์แล้วสุธีคือ
connection ที่เขาหมายมั่นปั้นมือไว้และเขาก็ไม่รู้ว่า connection ของเขาคนนี้ก็ไม่มีของจริงเหมือนที่อ้างไว้จนช่วงสุดท้ายของความรุ่งเรืองที่เขาเพิ่งจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร
ความทะเยอทะยานของสุพจน์เนื่องจากมีปมด้อยมาตั้งแต่เริ่มต้น ก็ทำให้ความทะเยอทะยานเพิ่มทวีคูณขึ้นไปโดยไม่รู้จักพอ
จากคนเข็นผัก มาเป็นคนขับแท็กซี่ มาเป็นเจ้าของรถ และมาเป็นเจ้าของปั๊มน้ำมัน
ในที่สุดสุพจน์ก็ยอมรับสัจธรรมว่าการเป็น Tycoon เท่านั้นที่จะมีคนยอมรับทั่วหน้าและจะเป็น
Tycoon ได้เขาต้องมีฐานทางการเงิน และชื่อเตียบักฮ้งนั้นคงไม่มีโสภณพนิชหรือล่ำซำหรือเตชะไพบูลย์คนไหนจะคุยด้วยแน่
ฉะนั้นไม่มีอะไรจะดีกว่าการเล่นกับประชาชน
ทั้งสามคนนี้ถ้าเป็นภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่านักเสี่ยงโชค เพราะมาจากพื้นฐานที่ไม่มีอะไรเลย
แล้วขอเข้ามาเล่นด้วยคนโดยไม่มีเค้าหน้าตัก
แต่เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ ชิน โสภณพนิช อุเทน เตชะไพบูลย์ วัลลภ ธารวณิชกุล
(จอห์นนี่ มาร์) แห่งธนาคารเอเชียทรัสต์ ชวน รัตนรักษ์ (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา)
ฯลฯ ก็เป็นคนที่ไม่มีเค้าบนหน้าตักเหมือนกันมิใช่หรือ?
เพียงแต่คู่ท้าชิงในสมัยนั้นไม่หนาแน่นเหมือนสมัยนี้!
ในการสร้างตัวขึ้นมาเองนั้นนอกจากคุณสมบัติของ
1. ผู้ประกอบการ
2. ความทะเยอทะยาน
ยังต้องมีอีกประการหนึ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งนั่นคือ :-
สายสัมพันธ์ หรือ connection
connection ในทศวรรษที่มีการแข่งขันกันมากเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดในไม่กี่เงื่อนไขที่ทำให้งานประสบความสำเร็จได้
พร สิทธิอำนวย เคยพูดว่า “การทำงานให้คุณบุญชูถึงสิบกว่าปีนั่นคือการสร้างสายสัมพันธ์ขึ้นโดยใช้บารมีของผู้ใหญ่เพื่องานในอนาคต”
สิบกว่าปีการทำงานของพรให้กับบุญชู เป็น 10 กว่าปีที่พรได้ก้าวไปสู่วงการโดยไม่รู้ตัว
หรือใครจะปฏิเสธว่า สว่าง เลาหทัย แห่งศรีกรุงสามารถสร้างตัวขึ้นมาได้โดยไม่ต้องใช้สายสัมพันธ์กับชาตรี
โสภณพนิช
หรือเถลิง เหล่าจินดา เกิดขึ้นจากสายสัมพันธ์ของสหัส มหาคุณ ที่มอบสายสัมพันธ์ของทหารให้
หรือเติมศักดิ์ ตุลวัฒนจิต ก็มาจากสายสัมพันธ์ที่ทำงานให้เกียรติ วัธนเวคิน
แล้วค่อยแยกตัวออกมา
หรือตามใจ ขำภโต ซึ่งใช้สายสัมพันธ์ของตระกูลศรีเฟื่องฟุ้งที่ผูกพันกับพรรคชาติไทยเข้ามาทางสายบุญชูจนถึงปัจจุบัน
และยังมีอีกมาก
สายสัมพันธ์จึงเป็นสะพานที่เชื่อมฝั่งน้ำสองฟากเพื่อให้ผู้ประกอบการเดินจากฝั่งตนเองไปอีกฝั่งหนึ่ง
เพียงแต่สายสัมพันธ์นั้นมีอยู่ 2-3 ลักษณะ
ลักษณะแรกคือสายสัมพันธ์ตรงหรือดั้งเดิม
สายสัมพันธ์นี้เป็นสายสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือสายการเป็นลูกน้องบริวารกันมานาน
เช่น ธุรกิจของล็อกซเล่ย์ คือสายสัมพันธ์ตรงกับกลุ่มการเงินของกสิกรไทย หรือโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์คือสายสัมพันธ์ทางสายเลือดระหว่างชัย
โสภณพนิช กับกลุ่มธนาคารกรุงเทพ
หรือยอดยิ่ง เชื้อวัฒนสกุล แห่งพาราวินเซอร์ คือสายสัมพันธ์รุ่นพ่อคืออื้อจือเหลียงซึ่งมีบุญคุณกับอุเทน
เตชะไพบูลย์
หรือมหาดำรงค์กุลที่มีสายสัมพันธ์ดั้งเดิมมากับเสี่ยเม้งหรือมงคล กาญจนพาสน์
ฯลฯ
ลักษณะที่สองคือสายสัมพันธ์ทางอ้อม
สายสัมพันธ์ทางอ้อมจะออกมาหลากหลายแบบ ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทตามกระแสน้ำ
มีน้อยรายมากที่จะออกนำหน้าเจ้าของสายสัมพันธ์ และก็จะเป็นสายสัมพันธ์ที่ผูกพันกันหลายฝ่ายเพื่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการซึ่งไม่สามารถจะมีสายสัมพันธ์ตรงเป็นผู้หนุนหลังได้
สุระ จันทร์ศรีชวาลา เป็นตัวอย่างที่ดี!
สุระเริ่มสายสัมพันธ์ครั้งแรกกับสุขุม นวพันธุ์ แต่เริ่มในลักษณะที่ไม่ใช่สายสัมพันธ์ตรง
กลับเป็นในรูปของสุระต้องพึ่งบารมีของสุขุมในธนาคารทหารไทย ซึ่งสุขุมเองก็ไม่ใช่เจ้าของ!
ฉะนั้นข้อแตกต่างระหว่างสุระกับสว่าง เลาหทัย จึงอยู่ที่นี่!
เพราะสว่างสามารถจะจับชาตรี โสภณพนิช อย่างเต็มที่ได้ เพราะสว่างรู้ว่าถ้าชาตรีโดดลงมาเล่นด้วยก็เท่ากับไม่มีใครในธนาคารกรุงเทพจะกล้าเข้ามาขวาง
เพราะโดยพฤตินัยชาตรีคือธนาคารกรุงเทพและธนาคารกรุงเทพคือชาตรี
แต่สุระกับสุขุมต่างกัน
และกาลเวลาพิสูจน์แล้วว่าสุขุมต้องระเห็จออกจากธนาคารทหารไทยไปในที่สุด
ฉะนั้นผู้ประกอบการอย่างสุระจึงต้องระเหเร่ร่อนหาสายสัมพันธ์เพื่อเป็นกำลังหนุนหลังตัวเอง
สุระเริ่มจับภิวัฒน์แห่งธนาคารแหลมทองก็เกือบจะสำเร็จเพียงแต่สายสัมพันธ์ที่กำลังสร้างจนเกือบจะเป็นสายสัมพันธ์ตรงก็พลันขาดวงจรจากการเสียชีวิตของภิวัฒน์
สุระเลยต้องร่อนเร่ต่อไปเพื่อขวนขวายหาสายสัมพันธ์ของสุธีกับบุญชู ที่เขาคิดว่าเขาอาจจะพึ่งได้
แต่อยู่กันสักพักสุระต้องเปลืองตัวแทนที่จะได้ดีขึ้นมา สุระจึงเฉออกไป
และก็ได้เจอตามใจ ขำภโต แต่เหตุการณ์ในเดือนสองเดือนที่ผ่านมานี้พิสูจน์แล้วว่าตามใจกับสุขุมคือสายสัมพันธ์ลักษณะเดียวกัน คือไม่ได้เป็นเจ้าของโดยตรงเพียงแต่เป็นมือปืนรับจ้างเท่านั้น
จะเห็นว่าถ้าสุระมีสายสัมพันธ์ตรงเช่นชาตรี โสภณพนิช รับรองได้ว่าภายในไม่กี่ปีสุระจะต้องขึ้นมาในชั้นแนวหน้าแน่ๆ
คราวนี้ในเมื่อทั้ง 3 มีคุณสมบัติของคนที่จะเป็น Tycoon ได้แล้วคือ :-
1. เป็นผู้ประกอบการ
2. มีความทะเยอทะยาน
3. มีสายสัมพันธ์พอสมควร
แล้วทำไมจึงพลาด? และพลาดอย่างหนักด้วย!
ธนดี โสภณศิริ เคยพูดกับนิตยสาร ข่าวจตุรัส ว่าในสมัยนี้คนที่ไม่มีพื้นฐานเดิมมาอาจจะรวยได้ถ้าเป็น
Innovator หรือผู้ริเริ่มใหม่
ก็พอจะพูดได้ว่าทั้ง 3 คนก็เป็น Innovators เหมือนกัน
แต่ในรอบทศวรรษที่ผ่านมานี้ คนที่เป็น Innovator จริงๆ ที่เริ่มโดยไม่มีเค้าของตัวเองก็ต้องยกให้พร
สิทธิอำนวย
พร สิทธิอำนวย เป็น Innovator คนแรกที่ไม่มีทุนอะไรมาก แต่สามารถริเริ่ม
concept ของธุรกิจการใช้หลักธุรกิจแบบใหม่ที่ใช้ฐานเงินของประชาชนโดยการมี
Finance เป็นของตัวเอง แล้วสร้างสรรค์งานใหม่ที่คนไทยไม่เคยคิด (ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ของสยามเครดิตเมื่อ
10 ปีที่แล้วพอจะพูดได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกในวงการนี้ และปัจจุบันเป็นบริษัทเช่าซื้อรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย)
รู้จักระดมเงินจากประชาชนเข้ามาในบริษัทของตัวเองโดยที่ตัวเองยังคุมอำนาจการบริหารอยู่
(ในยุคแรกก่อนที่จะแยกกับสุธีนั้น บริษัทในเครือของพร สิทธิอำนวย เข้าตลาดหลักทรัพย์ถึง
3 บริษัท คือรามาทาวเวอร์ เงินทุนหลักทรัพย์เครดิตการพาณิชย์ และสยามเครดิต)
ในขณะที่เจ้าของบริษัทคนอื่นแทบจะไม่สนใจวิธีการนี้เลย
การที่สุธีทำงานกับพรมาตลอดก็พอจะทำให้เขาเรียนรู้วิธีการของพรมากพอสมควร
พรเคยพูดเสมอหลังจากที่เคยต้องลำบากยากเย็นกับการหาเงินหาทองมา Finance
กิจการของตัวเองว่าอะไรๆ ก็ไม่ดีเท่ามีฐานการเงินของตัวเอง
และสุธีก็เจริญรอยตามพร
และสุพจน์ก็เจริญรอยตามสุธี
และสุระก็เจริญรอยตาสุธีเช่นกัน
ลักษณะของ Innovation ของสุธี ที่อีก 2 สุ เจริญรอยตาม คือการมีฐานทางการเงินซึ่งไม่จำกัดเฉพาะบริษัทเงินทุน
แต่จะรวมไปถึงบริษัทประกันชีวิต ซึ่งเป็นสถาบันการเงินประเภทหนึ่งเหมือนกัน
แล้วใช้ฐานการเงินนี้ไปดันธุรกิจซึ่งแยกออกเป็น 2 ประเภทคือ ธุรกิจค้าของหนักเช่น
ที่ดิน กับการพัฒนาที่ดิน และธุรกิจบริการ
ธุรกิจของทั้งสามสุมีประเภทคล้ายคลึงกันมากจนดูเหมือนว่าจะเรียนมาจากโรงเรียนเดียวกัน
ความจริงแล้วทุกคนก็เรียนมาจากโรงเรียนเดียวกันนั่นแหละ โดยมีสุธี นพคุณ
เป็นอาจารย์ใหญ่ “ความจริงสิ่งที่ทั้งสามสุทำนั้นเป็นเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญในวงการธุรกิจบ้านเราก็จะทำเหมือนกันและก็เป็นสามัญสำนึก
คุณอย่าลืมว่าถ้าฐานะการเงินสามารถระดมเงินประชาชนมาแล้ว เอาเงินประชาชนเหล่านี้มาหมุนเวียนในธุรกิจที่แตกแขนงไป
เมื่อธุรกิจมีกำไรก็สามารถคืนเงินประชาชนได้ แต่ถ้าขาดทุนก็ตัวใครตัวมัน”
MBA เก่าจากเมืองนอกคนหนึ่งสาธยายให้ฟัง
หรือสรุปง่ายๆ ก็คือ พวกนี้อยากเป็น Tycoon ตามความทะเยอทะยานของตน
แต่การทำโครงการมันต้องมี Financing ซึ่งดูตามสกุลรุนชาติและความเป็นมาแล้วคงหา
Financing เป็นร้อยล้านจากธนาคารไม่ได้ ก็เลยขอยืมเงินจากประชาชนมาใช้ โดยใช้ในลักษณะนิติบุคคลกับนิติบุคคลเพื่อปัดความรับผิดชอบออกจากตัวเองถ้าเกิดมีปัญหาขึ้นมา
แต่ถ้าสุธีกับสุพจน์และสุระเกิดทำได้ขึ้นมาล่ะ?
แน่นอนถ้าเป็นเช่นนั้นก็อาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็ได้เพราะสุธี สุพจน์ และสุระ
จะเป็นตัวอย่างของคนหนุ่มนอกวงการที่มีลักษณะ “ข้ามาคนเดียว” และสามารถเข้าได้ในนิวเคลียสของกลุ่ม
Tycoon ทั้งหลายได้ มิหนำซ้ำยังจะภาคภุมิใจกว่าพวกเก่าเสียด้วยซ้ำเพราะเข้ามาด้วยฝีมือจริงๆ
ไม่ใช่เพราะมีสายสัมพันธ์ของตระกูล
แต่เผอิญเกิดทำไม่ได้!! ไปสะดุดขาตัวเองแล้วเหยียบกบาลชาวบ้าน!
ข้อผิดพลาดที่ทำไม่ได้นั้นเมื่อมามองดูแล้วก็มีหลักใหญ่ๆ อยู่หลายประการดังนี้
:-
1. รู้ซึ้งไม่ถึงแก่น
ทุกวันนี้ถ้าคนพูดถึงมือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแล้วทุกวันนี้ก็ยังยอมรับว่า
ชิน โสภณพนิช คือมือหนึ่ง และชินก็ใช้ความเชี่ยวชาญของตนอันนี้แหละในการขยับขยายกำไรของธนาคารมาตั้งแต่อดีต
หรือถ้าจะพูดถึงเหล้ากับโรงรับจำนำก็ต้องเป็นอุเทนและสุเมธ เตชะไพบูลย์
ที่รวยขึ้นมาเพราะตัวเองชำนาญด้านนี้เป็นพิเศษ
หรือเชาว์ เชาว์ขวัญยืน ก็ไม่เล่นเรื่องอะไรเลยนอกจากเรื่องน้ำมันเรื่องเดียวที่ตัวเองเล่นมาตั้งแต่หนุ่มจนถึงปัจจุบันนี้
จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จนั้นต้องเป็นคนที่รู้ซึ้งถึงเรื่องที่ตัวเองทำ
การรู้จักแต่หมุนเงินอย่างเดียวนั้นไม่พอเพียงที่จะทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จไปได้
ฉะนั้นก็ไม่น่าประหลาดใจอะไรที่สุธี นพคุณ จะพลาดเพราะในบรรดาธุรกิจที่ตัวเองทำตั้งแต่โรงแรม ขายข้าวแกง
ตลอดจนประกันชีวิตนั้น ไม่มีอะไรที่ตนเข้าใจจริงๆ
สุพจน์ก็เช่นกัน บ่อยครั้งที่สุพจน์รับฝากเงินให้ดอกเบี้ย 18% แต่ก็ปล่อยออกไปในหมู่คนรู้จักเพียง
16%
ส่วนสุระนั้นเป็นนักเก็งกำไรอย่างเดียว ฉะนั้นในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำการเก็งกำไรจึงเก็งไม่ออกเพราะหาคนมาจ่ายกำไรให้ตัวเองไม่ได้
2. ใจร้อนอยากให้คนยอมรับเร็วเกินไป
คนพวกนี้จะขาดความอดกลั้น ทั้งสามเพิ่งจะโลดแล่นเข้ามาในวงการเมื่อ 5-6
ปีมานี่เอง แต่ทั้งสามก็อยากจะทำในสิ่งที่คนอื่นเขาทำกันมาเป็นสิบปีขึ้นไป
ทั้งสามขาดความอดกลั้นและขันติ
ถ้าแต่ละคนตั้งใจทำในงานแต่ละอย่าง และรอคอยให้งานนั้นสำเร็จเสียก่อนและขยายฐานของงานนั้นเป็นแนวตั้ง
ก็จะประสบความสำเร็จเพราะทั้งสามคนมีคุณสมบัติของผู้ประกอบการอยู่แล้ว จะขาดก็เพียงระยะเวลาเท่านั้น
เมื่อ 5 ปีที่แล้วรามาทาวเวอร์เป็นบริษัทมหาชนที่กำไรมากและแทบจะไม่มีหนี้สิน
ถ้าสุธี นพคุณ เพียงอดทนอยู่กับรามาทาวเวอร์และขายทุกสิ่งออกไป ขยายแต่รามาทาวเวอร์
มาวันนี้สุธี นพคุณ ก็คงจะนั่งอย่างมีความสุขบนทรัพย์สิน 14 ไร่ เฉพาะราคาที่ดินอย่างเดียวก็ร่วม
100 ล้านแล้ว ยังไม่นับสิ่งปลูกสร้างที่พัฒนาบนที่ดินนั้นอีก “เดิมทีเมื่อ
6 ปีที่แล้วรามาทาวเวอร์มีโครงการจะสร้างโรงแรมใหม่บนลานจอดรถว่างเปล่ามาแทนโรงแรมเก่า
และดัดแปลงโรงแรมเก่าเป็นอาคารสำนักงาน และเชื่อมโรงแรมใหม่กับโรงแรมเก่าด้วยชอปปิ้งคอมเพล็กซ์
ทั้งหมดนั้นก็จะเป็นคอมเพล็กซ์ที่ทันสมัยและเสร็จหมดภายใน 2 ปี (2523) คุณคิดดูซิ
เสร็จก่อนอมรินทร์พลาซา ก่อนทุกๆ คน และถึงวันนี้อย่างน้อยก็ได้เปรียบกว่าทุกๆ
คนไป 4 ปีล่วงหน้าแล้ว” อดีตผู้ร่างโครงการของรามาทาวเวอร์เมื่อ 7 ปีที่แล้วเล่าให้
“ผู้จัดการ” ฟัง
“ในตอนนั้นเราแนะนำคุณสุธีให้ขายทุกอย่างทิ้งไป หรือไม่ก็ตกลงกับพร สิทธิอำนวย
เวลาแยกกันว่าไม่เอาอะไรขอรามาทาวเวอร์อย่างเดียว แต่แกไม่เอา แกต้องการแยกออกจากพรแล้วต้องใหญ่กว่าพร”
แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว
และก็เป็นเมื่อ 5 ปีที่แล้วเช่นกันที่เยาวราชไฟแนนซ์ของสุพจน์ทำกำไรให้กับผู้ถือหุ้นเพียงแค่ปีที่
2 ของการดำเนินการ
“ผู้ถือหุ้นตอนนั้นรักสุพจน์มาก ถ้าสุพจน์จะจับด้านไฟแนนซ์อย่างเดียว ขอเพิ่มทุนเป็น
100-300 ล้าน รับรองว่าทุกคนเล่นด้วยแล้ว แต่สุพจน์ค้าขายกับคนจีนแถวๆ นั้นอย่างเดียวก็เหลือจะกินแล้ว”
อดีตเจ้าหน้าที่เยาวราชไฟแนนซ์พูดให้ฟัง
“ความจริงแล้วฐานของคุณสุระจริงๆ อยู่ที่มิดแลนด์ไฟแนนซ์กับไทยประสิทธิประกัน
ถ้าคุณสุระจับสองอย่างนี้พัฒนามันขึ้นมา ทุ่มเทกับมันเต็มที่อย่าไปเล่นอย่างอื่น
ผมเชื่อว่าแกต้องอยู่ในขั้นแนวหน้าและไม่ต้องลำบากเหมือนวันนี้ ยิ่งแกมีที่ดินเป็นทุนอยู่แล้ว
พวกนี้กลับเป็นเครื่องเสริมแกอีก” คนที่รู้จักสุระดีให้เหตุผล
3. ชอบทำตัวให้เด่นแล้วเป็นภัย
สังคมไทยเป็นสังคมที่น่าเกลียดตรงที่ไม่มีใครอยากเห็นใครประสบความสำเร็จ
และนี่คือสัจธรรมที่ยั่งยืนมาตลอดทุกยุคทุกสมัย
“คนที่เขามีของจริงคือคนประเภทซุ่มเงียบๆ อย่างวานิช ไชยวรรณ แห่งไทยประกัน
หรือวิญญู คุวานนท์ แห่งโค้วยู่ฮะ นี่เป็นต้น พวกนี้มีของจริงและมาแบบงูเหลือม”
ผู้รู้เรื่องในวงการดีเล่าให้ฟัง
จากการที่เป็นคนนอกแล้วเข้ามาในวงการมาขยายงานอยู่ตลอดเวลานั้นย่อมเป็นการทำให้พวกที่มีสถานภาพอยู่เดิมมองสามคนนี้อย่างไม่ไว้วางใจ
(Threatening the Old Status Quo) และยิ่งพยายามทำตนให้เป็นข่าวอยู่เสมอยิ่งเอาตัวเองไปผูกพันกับบุญชู
โรจนเสถียร ซึ่งขณะนั้นเป็นรองนายกฯ ก็ยิ่งทำให้คนข้างนอกมองว่าเป็นกลุ่มธุรกิจการเมืองที่มีอิทธิพล
การถูกจ้องทำลายก็เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
“คนเราเวลาทำงานถึงแม้จะไม่ได้สร้างเพื่อนขึ้นมาเลยก็ตามแต่ขอเพียงว่าอย่าสร้างศัตรูขึ้นมาก็ถือว่าใช้ได้แล้ว”
นักธุรกิจที่คร่ำหวอดกับวงการสั่งสอน “ผู้จัดการ”
“ก็ต้องยอมรับว่าในยุคที่พวกนี้เฟื่องมากๆ พวกนี้จะกลายเป็นคนที่มีนัยน์ตาอยู่บนศีรษะมองไม่เห็นความสำคัญของคนอื่น
ในการประชุมอะไรร่วมกันบางครั้งการพูดจาโดยเฉพาะจากคุณสุพจน์จะออกมาในลักษณะก้าวร้าว”
นักธุรกิจที่เคยเกี่ยวพันกับทั้งสามคนเล่าให้ฟัง
แม้แต่ธนดี โสภณศิริ เองยังเคยโดนสุพจน์ เดชสกุลธร ลุกขึ้นชี้หน้าว่ากลางที่ประชุมสมัยที่ธนดีเป็นนายกสมาคมเงินทุนหลักทรัพย์ว่าธนดีเป็นคนไม่มีน้ำยา!
“อย่างกรณีของสุระเป็นอีกแบบหนึ่ง เขาเป็นคนนิ่มแต่เวลาเขาไป take over
อะไรมันจะเป็นข่าวใหญ่และทำให้คนไม่พอใจ บางคนถึงกับพูดว่าแขกคนนี้ต้องระวังเอาไว้”
แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว
และการต่อต้านสุระโดยกลุ่มสมบูรณ์และอภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์ ก็พอจะเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า
“โรคกลัวแขก” ระบาดจริงๆ
4. ขาดคุณธรรมกำกับวิธีการดำรงชีวิต
ในข้อนี้คือบทพิสูจน์สุดท้ายของความล้มเหลว “ถ้าคุณใช้ประชาชนเป็นฐานหนุนคุณขึ้นมา
คุณต้องทำงานโดยตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดีเพียบพร้อมด้วยสัจธรรม
ไม่เอารัดเอาเปรียบ หรือเห็นแก่ได้ โดยไม่นึกถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น”
นักธุรกิจคนหนึ่งที่ไม่ประสงค์จะออกนามวิจารณ์ให้เราฟัง
ดร.อำนวย วีรวรรณ เคยเขียนในบัญญัติ 7 ประการ แห่งความสำเร็จว่า “ผมใคร่ขอย้ำว่า
อย่าพึงหวังสร้างความสำเร็จด้วยทางลัด เพราะยากที่จะเป็นไปได้ และถึงเป็นไปได้ก็ไม่จีรังยั่งยืน
ขอให้ทุกคนจำไว้ว่าหนทางสู่ความสำเร็จที่ถาวรนั้นยาวไกลและไม่มีทางลัดใดๆ
ด้วย”
จนทุกวันนี้ก็ยังมีคำถามที่เกี่ยวพันกับทั้งสามที่ยังหาคำตอบไม่ได้อีกมากและคำถามนี้สะท้อนกลับไปถึงคุณธรรมของผู้ประกอบการแต่ละคนเช่น
:-
...ทำไมที่ดินโรงแรมรามาการ์เด้นถึงซื้อมาแพงนักเปลี่ยนมือกันอยู่ไม่กี่คนในกลุ่มภายในระยะเวลาสั้นๆ
และราคาสุดท้ายแพงกว่าราคามือแรกที่ซื้อเกือบ 300%?
...ทำไมค่าก่อสร้างโรงแรมรามาการ์เด้นต่อห้องยังแพงกว่าค่าก่อสร้างโรงแรมรอยัลออร์คิด?
...ทำไมโรงแรมรามาทาวเวอร์จึงถูกงุบงิบขายไปในวงเงิน 700 ล้านบาท?
...ทำไม SN Intertrade ซึ่งเป็นบริษัทส่วนตัวของสุธี นพคุณ ถึงมีเงินมีทองมาดำเนินกิจการต่อไปได้?
...ทำไมเงินผู้ฝากที่พัฒนาเงินทุนถึงหายไปหมด แล้วหายไปไหน?
...ทำไมเยาวราชไฟแนนซ์ถึงมีทรัพย์สินเหลือเพียงไม่เท่าไรแล้ว เงินหายไปไหนหมด?
...ทำไมถึงมีรายงานว่าสุพจน์มีเงินเสียการพนันเป็นหลายสิบล้าน ...และยังมีอีกมาก!
ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาเรื่องคุณธรรมของผู้ประกอบการ
ความจริงแล้วเราปรารถนาจะเห็นผู้ประกอบการที่เข้ามาในวงการโดยไม่มีสายสัมพันธ์แต่มีความสามารถและความมานะพยายามประสบความสำเร็จมากๆ
เพราะจะได้เป็นเครื่องแสดงและให้กำลังใจแก่คนรุ่นใหม่ที่ไม่มีสกุลรุนชาติได้เห็นว่ามีคนประสบความสำเร็จแล้วเพียงแต่ขอให้มีความสามารถ
มีความมานะพยายาม และมีคุณธรรมโดยไม่จำเป็นต้องมีนามสกุลใหญ่ๆ โตๆ หนุนหลัง
และถ้าสังคมเรามีผู้ประกอบการแบบนี้มากๆ ขึ้นก็คงจะไม่มีใครปฏิเสธว่าสังคมธุรกิจเช่นว่านี้จะให้ประโยชน์มากกว่าให้โทษ
ฉะนั้นเราน่าจะมีคนอย่างสุธี สุพจน์ และสุระมากๆ ขึ้นเพียงแต่เป็นสุธี
สุพจน์และสุระ ที่ไม่ได้ทำผิดพลาดเหมือนที่ว่าไว้
บางทีเราอาจจะเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนกลับมาได้อีก!