ภายหลังจากการเจรจายืดเยื้อกันมาเป็นเวลานานถึง 2 ปี ในที่สุด เมื่อวันที่
26 กันยายน ที่ล่วงมานี้ ณ ศาลาประชาชน ในกรุงปักกิ่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
โซว หนัน รองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน กับเซอร์ริชาร์ด อีแวนส์
เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงปักกิ่ง ในฐานะผู้แทนของรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร
ก็ได้ร่วมกันลงนามเป็น "คำประกาศร่วม" ซึ่งเป็นกติกาสัญญาเกี่ยวกับอนาคตของฮ่องกง
ที่ชาวฮ่องกงและใครต่อใครต่างพากันรอคอยเงี่ยหูฟังด้วยความเอาใจใส่
สาระสำคัญมีว่า อังกฤษจะให้หลักประกันในความเจริญรุ่งเรืองของเกาะฮ่องกงแห่งระบอบทุนนิยมไปจนกระทั่งถึงวันที่
30 มิถุนายน ค.ศ.1997 (2540) ต่อจากนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 1997 (2540)
เป็นต้นไป เกาะฮ่องกงจะถูกผนวกเข้าเป็นดินแดนในกรรมสิทธิ์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
ที่ในอดีตเคยเป็นรัฐคอมมิวนิสต์ ที่ถือลัทธิชาตินิยม และเกลียดชังคนต่างชาติอย่างรุนแรง
การโอนอธิปไตยของฮ่องกงในคราวนี้ นักเศรษฐศาสตร์มองในแง่ที่ว่า ในกาลเวลาดังกล่าวนั้นฮ่องกงอันเป็นดินแดนที่มีรายได้ประชาชาติคิดถัวเฉลี่ยต่อประชากร
1 คน มากกว่าปีละ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ จะถูกโอนไปให้แก่จีนอันเป็นประเทศซึ่งมีรายได้ประชาชาติถัวเฉลี่ยต่อประชากร
1 คน เพียงปีละ 300 ดอลลาร์สหรัฐ อันเท่ากับเป็นเสมือนหนึ่งเอาดินแดนของพวกคนมั่งมี
ไปมอบให้แก่พวกกระยาจก
จีนให้หลักประกันในอนาคต
คำประกาศดังกล่าวนี้ มีผลเท่ากับว่าแหล่งสำคัญแห่งสุดท้ายของระบอบการปกครองแบบอาณานิคมต่างชาติของอังกฤษ
ซึ่งเคยมีอำนาจอิทธิพลเหนือดินแดนจีนมานานเป็นเวลาถึง 155 ปี กำลังจะสิ้นสุดลง
โดยเฉพาะสำหรับคนอังกฤษเอง เป็นการแสดงให้เห็นถึงการถอยก้าวสุดท้ายในทวีปเอเชีย
อันเป็นการปิดศักราชแห่งระบอบการปกครองแบบอาณานิคมที่อังกฤษได้ประสบกับความสำเร็จอย่างดียิ่ง
และได้รับความมั่งคั่งร่ำรวยอย่างมหาศาลที่สุดจากดินแดนในทวีปนี้
สำหรับชาวฮ่องกง ซึ่งมีประชากรทั้งสิ้นราว 5.5 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นคนจีนนั้น
ก็ได้ใช้ชีวิตอยู่กันมาเป็นเวลานานกว่า 3 ทศวรรษ ภายใต้ร่มเงาแห่งแผ่นดินแม่ที่มีอำนาจเติบใหญ่ยิ่งขึ้นทุกวันนั้น
คำประกาศร่วมกันดังกล่าว เป็นเสมือนหนึ่งการบอกกล่าวให้รู้ถึงการมาของศักราชใหม่ที่ไม่แน่นอนมั่นคง
ที่ประชาชนชาวฮ่องกงเองไม่ได้มีโอกาสแสดงบทบาทร่วมกับการตกลงในชะตากรรมของตนเอง
ที่ถูกชี้ขาดโดยจีนกับอังกฤษ แต่ไม่ว่าอนาคตจะดี-ชั่วอย่างไรก็ตาม เวทีแห่งการทดลองก็ได้ปูลงแล้วสำหรับชาวเกาะแห่งระบอบทุนนิยมที่กำลังเติบโต
ที่จะต้องตกอยู่ในอ้อมกอดของรัฐคอมมิวนิสต์ที่มีพลเมืองมากที่สุดในโลก
เพื่อเป็นหลักประกันว่า สภาพของ 2 สิ่งที่แตกต่างกันนี้สามารถอยู่ร่วมกันได้
ฝ่ายจีนจึงได้ให้หลักประกันแก่พลเมืองฮ่องกงว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม
ค.ศ.1997 ที่ฮ่องกงจะกลับคืนสู่อธิปไตยของสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้นไปนั้น
ฮ่องกงจะเป็น "เขตปกครองพิเศษ" ของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสมัชชาประชาชนแห่งชาติของจีน
(คือ รัฐสภา) จะได้ออกกฎหมายมารับรองสถานภาพดังกล่าวนั้นเป็นพิเศษ ซึ่งโดยสถานภาพดังกล่าวนี้
บรรดากฎหมายทั้งหลายของฮ่องกง รวมทั้งกฎหมายที่จะประกาศออกใช้ภายหลังวันที่
1 กรกฎาคม 1997 ด้วย จะมีผลใช้บังคับได้ต่อไป เว้นแต่กฎหมายที่ไปขัดหรือแย้งกับกฎหมายพื้นฐาน
(อันได้แก่กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายหลักอย่างอื่นๆ) จะไม่อาจเป็นไปตามเงื่อนไขในคำประกาศร่วม
และภาคผนวกของคำประกาศดังกล่าว (ซึ่งจะได้นำไปบัญญัติไว้ในกฎหมายพื้นฐานของจีน)
ได้
ในกรณีเช่นนั้น องค์การเขตปกครองพิเศษของฮ่องกงก็อาจจะออกกฎหมายใหม่มาแก้ไขกฎหมายเก่าฉบับก่อนปี
1997 นั้นเสีย เพื่อไม่ให้ขัดแย้งกับกฎหมายพื้นฐานของจีน เพราะมิฉะนั้นแล้ว
กฎหมายนั้นก็จะตกเป็นโมฆะ เมื่อมีการแก้ไขกันเรียบร้อยแล้ว สภาพของเขตปกครองพิเศษฮ่องกง
ก็จะต้องรายงานต่อสมัชชาประชาชนแห่งชาติของจีน (รัฐสภาของสาธารณรัฐ) ต่อไปสถานภาพเช่นนี้ของฮ่องกงจะดำรงอยู่เป็นเวลา
50 ปี คือ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 1997 ไปจนถึง 30 มิถุนายน ค.ศ.2047 (พ.ศ.
2590) หลังจากนั้นก็ปล่อยให้อนุชนรุ่นใหม่เขาว่ากันต่อไป
สถานภาพพิเศษดังกล่าวนี้ จะทำให้ฮ่องกงเป็นเขตปกครองตนเองในทุกด้าน นอกจากด้านกิจการต่าง
ประเทศ และด้านกลาโหม และเพื่อให้มีอำนาจปกครองตนเองดังกล่าวได้ ฮ่องกงจะได้รับมอบอำนาจนิติบัญญัติ
อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ อย่างเป็นอิสระ รวมทั้งศาลต่างๆ ตั้งแต่ศาลชั้นต้นไปจนถึงศาลฎีกา
โดยบรรดากฎหมายต่างๆ ที่ใช้บังคับอยู่ในฮ่องกงเวลานี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
รัฐบาลของเขตปกครองตนเองฮ่องกง จะประกอบด้วยบุคคลที่เป็นพลเมืองของเกาะฮ่องกงโดยมีมุขมนตรีที่เป็นพลเมืองของเกาะฮ่องกง
โดยมีมุขมนตรีที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลปักกิ่ง ทั้งนี้จากผลการเลือกตั้ง หรือการคัดเลือกในท้องถิ่นมุขมนตรีจะเป็นผู้เสนอชื่อข้าราชการชั้นอาวุโส
เพื่อให้รัฐบาลปักกิ่งเป็นผู้แต่งตั้งข้าราชการทั้งที่เป็นคนจีนและชาวต่างประเทศ
(รวมทั้งตำรวจด้วย) จะยังคงอยู่ในหน้าที่การงานเดิมต่อไป ในขณะที่คนสัญชาติอังกฤษและสัญชาติต่างประเทศอื่นๆ
อาจได้รับการบรรจุเป็นที่ปรึกษาในหน้าที่บางอย่างของรัฐบาลฮ่องกง
ระบบเศรษฐกิจและสังคมของฮ่องกงดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ จะยังคงดำรงอยู่ต่อไปอย่างไม่เปลี่ยนแปลง
รวมทั้งแบบอย่างแห่งการดำรงชีวิตของชาวฮ่องกงด้วย บรรดาสิทธิและเสรีภาพของชาวฮ่องกงจะได้รับหลักประกันตามกฎหมาย
นอกจากนั้น ฮ่องกงจะยังคงดำรงสภาพเป็นเมืองท่าเสรี (ฟรีปอร์ต) และเป็นเขตศุลกากรที่แยกออกไปต่างหากจากจีน
รวมทั้งยังคงเป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศต่อไป พร้อมกับมีตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ,
ตลาดทองคำ, ตลาดหลักทรัพย์ และตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้า เงินทุนยังคงสามารถไหลเข้า-ออกได้อย่างเสรี
และเงินเหรียญฮ่องกงยังคงเป็นเงินที่แลกเปลี่ยนขึ้นค่าได้อย่างเสรีเหมือนเดิม
ฮ่องกงจะบริหารการเงินและกิจการอย่างอื่นๆ ของตนได้อย่างเป็นอิสระต่อไป โดยรัฐบาลปักกิ่งจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว
หรือเรียกเก็บภาษีแต่อย่างใด
องค์การบริหารของฮ่องกงอาจสร้างความสัมพันธ์เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของฮ่องกงและในฐานะเป็น
"ฮ่องกงแห่งประเทศจีน" องค์การบริหารของฮ่องกงอาจดำรงไว้ หรือขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์อย่างอื่นๆ
กับต่างประเทศได้และอาจทำสัญญาความตกลงกับองค์การเอกชนของประเทศอื่นหรือกับองค์การเอกชนระหว่างประเทศ
รวมทั้งจะออกเอกสารการท่องเที่ยวของตนเองได้ด้วย
องค์การบริหารฮ่องกงจะเป็นผู้รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในของสาธารณชน
รวมทั้งการวางระบบกับกระบวนการยุติธรรม และการดำเนินนโยบายทางการเมืองของตนเองด้วย
บรรดาหลักประกันและนโยบายต่างๆ ตามข้อผนวกต่อท้ายคำประกาศร่วมนี้ รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนจะนำไปบัญญัติไว้ในกฎหมายพื้นฐานที่จะออกโดยสมัชชาประชาชนแห่งชาติของจีน
และจะมีผลใช้บังคับไปนานถึง 50 ตั้งแต่ปี 1997 ถึงปี 2047
หลักการพื้นฐาน 12 ประการในคำประกาศร่วมนี้ กำหนดขึ้นโดยฝ่ายรัฐบาลปักกิ่ง
ในภาคผนวกที่ 1 ซึ่งยืนยันอนาคตว่า ตลอดเวลา 50 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม
1997 ไปจนถึง 30 มิถุนายน 2047 รัฐบาลจีนจะไม่นำ "ระบบสังคมนิยมและนโยบายสังคมนิยม
มาใช้แก่ฮ่องกง" อย่างแน่นอน รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนจะรับผิดชอบต่อฮ่องกงโดยเฉพาะ
ในด้านกิจการต่างประเทศ และกิจการด้านกลาโหมเท่านั้น นอกจากนี้แล้วจะปล่อยให้อยู่ในอำนาจนิติบัญญัติ,
อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการของฮ่องกง แม้กระนั้นกิจการด้านต่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ,
การค้า, การคลังและการเงิน, และการติดต่อสัมพันธ์กันในทางคมนาคม, การท่องเที่ยว,
การวัฒนธรรม และการกีฬา ตลอดจนมีอำนาจบริหารในด้านกิจการเดินอากาศนอกจากกิจการที่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ
จึงจะให้อยู่ในอำนาจของสาธารณรัฐประชาชนจีน
สถานภาพของฮ่องกงก็คือกำไรของจีนเอง
อันที่จริง การที่จีนยินยอมรักษาสถานภาพเดิมของฮ่องกงเอาไว้นั้น นักวิชาการของฝ่ายตะวันตก
และฮ่องกงเองกล่าวว่า โดยแท้จริงแล้วก็เท่ากับจีนรักษาสถานภาพแห่งผลกำไรทางเศรษฐกิจของตนเอาไว้นั่นเอง
ดูตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในปี 1983 ฮ่องกงเป็นผู้ซื้อสินค้าจากจีนแผ่นดินใหญ่เป็นมูลค่าถึง
5.3 พันล้านดอลลาร์ทำให้ประเทศจีนได้รับเงินข็งเป็นจำนวนถึง 40% ของเงินแข็งที่หาได้ทั้งปี
นอกจากนั้น ฮ่องกงยังเป็นที่ตั้งของสาขาธนาคารกลางของจีนอยู่แล้ว คือ ธนาคารแห่งประเทศจีน
(สาขาฮ่องกง) กับยังมีธนาคารพาณิชย์ในความควบคุมดูแลของธนาคารกลางอีกถึง
14 ธนาคาร, มีสหภาพแรงงานที่เชียร์รัฐบาลปักกิ่งอยู่ตั้งมากมายหลายสหภาพ กับยังมีหน่วยธุรกิจต่างๆ
อีกราว 80 แห่ง นับตั้งแต่ห้างสรรพสินค้าลงไปจนกระทั่งสำนักงานนายหน้า ที่หนุนหลังโดยทางการจีนแผ่นดินใหญ่และที่สำคัญก็คือ
มีสำนักพิมพ์และวารสารซึ่งดำเนินการโดยชาวคอมมิวนิสต์จีนถึง 6 แห่ง ในขณะเดียวกับที่ฮ่องกงก็กำลังจะเป็นของจีนแผ่นดินใหญ่มากยิ่งขึ้นทุกที
อย่างไรก็ดี เนื่องจากสถานการณ์อันไม่แน่นอน ตั้งแต่แรกเริ่มเปิดการเจรจาปัญหาฮ่องกงระหว่างฝ่ายรัฐบาลอังกฤษ
กับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ตลอดเวลา 2 ปีที่ล่วงมา ด้วยเหตุนี้นักธุรกิจส่วนมากของฮ่องกงจึงยังรีรอในการที่จะลงทุนภายในประเทศของฮ่องกงเอง
แถมมีนักธุรกิจอีกเป็นจำนวนไม่น้อยที่ได้เริ่มโอนเงินทุนออกนอกประเทศ เพื่อไปหาแหล่งลงทุนในที่อื่น
ที่อนาคตมิได้ผูกพันอยู่กับรัฐบาลจีนปักกิ่งที่เป็นคอมมิวนิสต์ แต่ในขณะเดียวกัน
รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ได้อนุมัติเงินลงทุนจากฮ่องกงที่ส่งมาลงในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่จำนวน
4 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งปรากฏว่า มีจำนวนเงินเพียงราว 1 ใน 4 ของจำนวนดังกล่าวเท่านั้น
ที่ได้ทำการเบิกถอนไปแล้ว นอกจากนั้นฮ่องกงยังเป็นผู้ควบคุมดูแลเงินลงทุนต่างประเทศของจีนราว
30 - 40 % ของจำนวนเงินลงทุนทั้งหมด เซอร์ จอห์น เบรมริดจ์ รัฐมนตรีว่าการคลังของฮ่องกงเปิดเผยว่า
ในชั่วระยะเพียงครึ่งแรกของปีนี้ สินค้าเข้าที่ส่งผ่านฮ่องกงไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ได้เพิ่มขึ้นกว่าระยะเดียวกันของปีกลายถึง
139 %
นอกจากนั้น ทั้งรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน และรัฐบาลอาณานิคมฮ่องกง ยังได้ร่วมมือกันยกระดับความสัมพันธ์ทางโทรคมนาคมและการขนส่งให้สูงขึ้นไปอีก
อันเป็นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของฮ่องกงให้ดีขึ้น โดยได้วางผังสร้างทางหลวงเชื่อมติดต่อระหว่างเขตดินแดนใหม่ของฮ่องกง
กับมณฑลกวางตุ้งบนผืนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งกำหนดจะแล้วเสร็จในปี ค.ศ.1986 โดยคาดหมายว่า
ในชั่วเวลาเพียง 5 ปี คือในปี 1990 ปริมาณการจราจรบนถนนสายนี้จะเพิ่มขึ้นอีก
5 เท่าตัว โดยมียานพาหนะแล่นผ่านไปมาไม่น้อยกว่าวันละ 25,000 คัน
คาดหมายอนาคต
บรรดานักสังเกตการณ์ส่วนมาก คาดกันว่า บทบาทตามประเพณีเดิมของฮ่องกงในฐานะเป็นประตูทางเข้า-ออกสำคัญ
ที่นำไปสู่จีนผืนแผ่นดินใหญ่นั้น คงจะเสื่อมทรามลงในอนาคตโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนเร่งขยายความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศตะวันตกมากยิ่งขึ้น
แต่ในขณะเดียวกันจีนก็อาจใช้ฮ่องกงเป็นที่ทดลองระบอบทุนนิยม ดังเช่น ตลาดหุ้น
ที่จะดำเนินกิจการงานซื้อขายโดยเจ้าหน้าที่รัฐบาล หรือตลาดเสรีอย่างอื่นๆ
เช่น ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ, ตลาดทองคำ, ตลาดซื้อ-ขายสินค้าล่วงหน้า
ซึ่งไม่อาจดำเนินไปได้ด้วยดีในสภาพบรรยากาศแบบสังคมนิยมในกรณีเช่นนี้ จีนก็อาจจะต้องอดทน
ยอมให้ตลาดเหล่านั้นดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างเสรี เพื่อเอาไว้ต้อนรับลูกค้าจากต่างประเทศที่มักเดินทางมาทำธุรกิจที่ตลาดเหล่านี้เป็นประจำ
เนื่องจากความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตของฮ่องกง มีความแตกต่างกันมากมายหลายกลุ่มหลายประเภท
อังกฤษซึ่งประสงค์จะทำการวิเคราะห์ความคิดเห็นต่างๆ เหล่านี้ จึงได้โฆษณาข้อตกลงใน
"คำประกาศร่วม" โดยผ่านสื่อมวลชนต่างๆ และยังได้แจกจ่ายฉบับคำแปลภาษาอังกฤษไปยังสถาบันต่างๆ
เป็นจำนวนมากกว่า 250,000 ฉบับ พร้อมกันนั้น ภายใน 2 เดือนข้างหน้า รัฐบาลฮ่องกงจะจัดตั้งสำนักงานพิเศษขึ้น
เพื่อประเมินปฏิกิริยา และวิเคราะห์ความคิดเห็นต่างๆ ของมหาชนฮ่องกง กระทั่งรัฐสภาของฮ่องกงเอง
ที่แม้จะไม่มีอำนาจลงมติอะไรออกมาใช้บังคับได้แต่ก็จะได้เปิดอภิปรายคำประกาศร่วมของอังกฤษจีน
พร้อมกับลงมติ เพื่อแสดงถึงน้ำหนักแห่งความคิดเห็นของตน
อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการแผ้วถางทางไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในอนาคต เซอร์
เอดเวอร์ด ยูด ข้าหลวงใหญ่ฮ่องกง ซึ่งเคยเป็นเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน
และพูดภาษาจีนกลางได้อย่างคล่องแคล่ว กำลังยกร่าง "หนังสือปกเขียว"
ขึ้นเพื่อเป็นแผนใหญ่ทำฮ่องกงให้เป็นดินแดนแห่งระบอบประชาธิปไตยที่หลุดพ้นจากสภาพอาณานิคมของอังกฤษ
ก่อนที่จะส่งมอบฮ่องกงคืนให้แก่จีนในวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ.1997
เป็นการสร้างประชาธิปไตยให้ฮ่องกงก่อนที่จะตกเป็นของคอมมิวนิสต์จีน