เมื่อปี 2526 ยอดขายทั่วโลกของบริษัท DEC (DIGITAL EQUIPMENT CORPORATION)
เท่ากับ 4,826 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ถ้านำไปเปรียบเทียบกับยอดขายในปี
2525 และก็มีกำไรสุทธิเท่ากับ 262 ล้านเหรียญ
ด้วยยอดขาย 4,826 ล้านเหรียญ นี่เองได้ทำให้บริษัท DEC ยังคงรักษาตำแหน่งที่
2 รองจากบริษัท IBM ไว้ได้อีกปีหนึ่ง
และ DEC ค่อนข้างจะภาคภูมิใจมากที่ผลิตภัณฑ์ประเภทมินิคอมพิวเตอร์สามารถแซง
IBM ขึ้นไปยืนอยู่ในอันดับ 1 คือ DEC มียอดขายเฉพาะเครื่องมินิเท่ากับ 2.700
ล้านเหรียญ ส่วน IBM ตามติดๆ ด้วยยอดขาย 2,627 ล้านเหรียญ
ในสายตาของวงการคอมพิวเตอร์ทั่วโลกจึงมองว่า DEC เป็นกิจการและผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นขึ้นมารวดเร็วมากที่สุดแห่งหนึ่ง
โดยเฉพาะในช่วงตลอด 4 - 5 ปีมานี้
"DEC ทุ่มเรื่อง R & D (RESEARCH AND DEVELOPMENT) มาก ซึ่งถ้าคิดเป็นอัตราส่วนกับรายได้แล้วจะต้องอยู่ในอันดับสูงสุด
สูงกว่า IBM เสียอีก เพราะฉะนั้นปี 2526 แม้จะมียอดขายมาอันดับ 2 แต่กำไรกลับลดลง
คือ จาก 347 ล้านเหรียญ ก็เหลือเพียง 262 ล้านเหรียญ" คนในวงการคอมพิวเตอร์บ้านเราพูดกัน
และก็เชื่อว่าผลจาก R & D ที่ DEC ได้ทุ่มเทลงไปนั้น คงจะทำให้ DEC ยังคงมีสถานะที่ดียิ่งๆ
ขึ้นไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์ ยอดขายหรือผลกำไร
สำหรับตลาดประเทศไทย DEC มีบริษัทบางกอกดาต้าเซนเตอร์ หรือ BDC (BANGKOK
DATA CENTER) เป็นตัวแทนจำหน่ายในฐานะ EXCLUSIVE DISTRIBUTOR ซึ่ง BDC ก็ได้ทำหน้าที่นี้มาแล้ว
3 ปี ถึงปัจจุบัน
เป็นที่ทราบกันทั่วไปในวงการคอมพิวเตอร์บ้านเราว่า กว่าที่ BDC จะได้เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยนั้น
ก็ทำเอาเหนื่อยชนิดหืดขึ้นคอทีเดียว
"DEC เขาถือว่าเขามีชื่อเสียงขึ้นมารวดเร็วมาก ใครๆ ต่างก็อยากเป็นตัวแทนจำหน่ายให้เขา
เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่ค่อยง้อตัวแทนจำหน่ายว่าจะแต่งตั้งใคร เขาจะตั้งเงื่อนไขไว้สูงมาก
ถ้าใครมีทุกอย่างครบตามเงื่อนไขก็โอเค แต่ถ้าไม่ครบเขาก็ไม่ยอมให้เป็นตัวแทนจำหน่ายเหมือนกัน"
อนุวัฒน์ วนานุเวชพงศ์ รองผู้จัดการทั่วไปของบางกอกดาต้าเซนเตอร์บอกกับ "ผู้จัดการ"
เงื่อนไขการตั้งตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ของ DEC แหล่งข่าวระดับสูงคนหนึ่งเปิดเผยให้ฟังว่า
มีอยู่ 3 ข้อใหญ่ๆ คือ
1. เงินทุนของบริษัทที่จะขอรับเป็นตัวแทนจำหน่าย DEC จะพิจารณาว่า ผู้ที่เสนอตัวเข้ามานั้นจะมีเงินทุนและฐานะทางการเงินเข้มแข็งพอที่จะทำธุรกิจขายและให้บริการไปได้อย่างมั่นคง
หรือไม่ในระยะยาว
2. ผู้เสนอตัวขอเป็นตัวแทนจำหน่ายทำธุรกิจอะไรอยู่ในปัจจุบัน จุดมุ่งหมายของ
DEC ต้องการผู้ที่ทำธุรกิจขายและให้บริการด้านคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ ไม่ใช่ผู้ที่มีกิจการด้านนี้เป็นเพียงแขนงหนึ่งในหลายๆ
แขนงของบริษัท DEC มีเหตุผลที่เชื่อว่า ผู้ที่ทำธุรกิจคอมพิวเตอร์อย่างเดียวเท่านั้นที่จะทุ่มเทความสามารถได้อย่างเต็มที่
และเฉพาะตัว DEC เองก็ทำธุรกิจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อย่างเดียว เพราะฉะนั้นตัวแทนจำหน่ายก็ควรจะมีสถานภาพที่เหมือนๆ
กับ DEC ด้วย
3. บุคลากรเป็นอย่างไร โดยเฉพาะด้านเจ้าหน้าที่เทคนิคทั้ง HARDWARE และ
SOFTWARE DEC จะพิจารณาอย่างละเอียดเกี่ยวกับความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ด้านนี้ทุกคน
"เราต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าครึ่งปี เพื่อแสดงว่าเรามีทุกอย่างสมบูรณ์ตามเงื่อนไข
โดยเราเสนอตัวไปที่ DEC ฮ่องกง ซึ่งเขาคุมภูมิภาคเอเชียด้านนี้ และสำนักงานใหญ่ที่สหรัฐฯ
ก็ส่งคนมาสืบเราเงียบๆ แล้วในที่สุดเขาก็อนุมัติให้เราเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย..."
รองผู้จัดการทั่วไปของบางกอกดาต้าเซนเตอร์ กล่าวในตอนหนึ่ง
การเสนอตัวไปให้ DEC พิจารณานั้น นอกจากบางกอกดาต้าเซนเตอร์จะต้องพิสูจน์ความพร้อมของตัวเองกับเงื่อนไขทั้ง
3 ข้อใหญ่ๆ ที่ DEC วางไว้แล้ว ก็ยังจะต้องแข่งขันกันอีก 3 บริษัทในประเทศไทยที่เสนอตัวไปเหมือนกัน
ทั้ง 3 บริษัทนี้ก็คือ ล็อกซเล่ย์ ของคุณหญิงชัชนี จาติกวณิช บริษัท อี๊สต์เอเชียติ๊ก
แห่งประเทศไทย และก็บริษัท อินโนเวชั่น ตัวแทนจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อ
WANG ในปัจจุบัน
ล็อกซเล่ย์ดูเหมือนจะมาแรงที่สุดในระยะแรก เนื่องจากได้ลูกค้าใหญ่ที่การทางพิเศษ
(ใช้คอมพิวเตอร์เมนเหรมของ DEC และแพ็กเกจพิเศษของซอฟต์แวร์เฮ้าส์ที่มีชื่อในประเทศอังกฤษ
ควบคุมระบบทางด่วน ระบบคอมพิวเตอร์ทั้งชุดซึ่งรวมฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์นี้ซื้อโดยตรงจากต่างประเทศ
โดยล็อกซเล่ย์เป็นผู้ให้บริการหลังติดตั้ง ปัจจุบันโอนการให้บริการไปที่บางกอกดาต้าเซนเตอร์เรียบร้อยแล้ว)
แต่ในช่วงต่อๆ มาก่อนที่ DEC จะมอบสิทธิการเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับบางกอกดาต้าเซนเตอร์ล็อกซเล่ย์ก็ค่อยๆ
ถอนตัวออกไปด้วยเหตุผลบางอย่าง หลังจากนั้นล็อกซเล่ย์ก็หันไปเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับเครื่องคอมพิวเตอร์
PERKIN ELMER จนถึงปัจจุบัน
ส่วนอีสต์เอเชียติ๊กประเทศไทยกับอินโนเวชั่น ก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันกับล็อกซเล่ย์
บางกอกดาต้าเซนเตอร์ จึงได้รับหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายให้ DEC ตั้งแต่ปี
2524 เป็นต้นมา
"ยอดขายในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ดีมาก อยู่ระหว่าง 70-90 ล้านบาท และปีนี้บางกอกดาต้าเซนเตอร์เชื่อว่าจะทำยอดขายเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า
70 เปอร์เซ็นต์ คือจะต้องมียอดขายไม่น้อยกว่า 120 ล้านบาท" แหล่งข่าวในแวดวงคอมพิวเตอร์เล่าให้ฟัง
ซึ่งอนุวัฒน์ วนานุเวชพงศ์ ก็ได้แสดงความเห็นยอมรับ
"เราจะต้องเพิ่มยอดขายขึ้นไปขนาดนั้น เพราะในย่านเอเชียอัตราการเจริญเติบโตของ
DEC อยู่ในอัตรา 70 เปอร์เซ็นต์ เราก็คงจะต้องทำให้ได้เหมือนๆ ประเทศในย่านเดียวกัน..."
บางกอกดาต้าเซนเตอร์ แม้จะเพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็น EXCLUSIVE DISTRIBUTOR
หรือตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยของ DEC แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า
บริษัทนี้จะมีประสบการณ์ในตลาดคอมพิวเตอร์เพียงช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา
เปรียบเทียบกับบริษัทขายคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันนี้แล้ว บางกอกดาต้าเซนเตอร์ต้องนับให้เป็นบริษัทเก่าแก่แห่งหนึ่ง
คือ ได้ริเริ่มก่อตั้งกิจการขึ้นเมื่อปี 2514 หรือประมาณ 13 ปีล่วงมาแล้ว
ปูมหลังของบริษัทเริ่มต้นขึ้นก่อนหน้านั้นประมาณปีเศษ ในครั้งที่สนามม้านางเลิ้งหรือราชตฤณมัยสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์
จัดซื้อและติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อซีดีซีของบริษัท คอนโทรลดาต้า
(ประเทศไทย) เพื่อใช้ในการแข่งม้า
และเนื่องจากเครื่องคอมพิวเตอร์จะถูกใช้งานก็เพียงในวันเสาร์และอาทิตย์หรือช่วงที่มีการแข่งขันม้าเท่านั้น
ทางคณะกรรมการของสนามม้านางเลิ้งก็ลงความเห็นว่า น่าจะใช้เวลาที่เหลืออีก
5 วัน ให้เป็นประโยชน์ เพราะไม่เช่นนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์ก็จะถูกตั้งโชว์เฉยๆ
คิดในแง่การลงทุนกับผลตอบแทนที่กลับคืนมาแล้วก็ออกจะไม่คุ้มค่า
"กรรมการสนามม้าตอนนั้น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ยังมียศแค่พันเอกคุมกรมทหารม้า
แล้วก็มี พลเอกสม ขัดพันธ์ ท.ส. จอมพลประภาส ส่วนคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีหลักให้ตั้งบริษัทบางกอกดาต้าเซนเตอร์ขึ้นมาก็คือ
บุญวงศ์ อมาตยกุล เจ้าของโรงแรมวงศ์อมาตย์ ที่พัทยา ซึ่งปัจจุบันคุณบุญวงศ์ก็ยังเป็นกรรมการสนามม้านางเลิ้ง
และเป็นคีย์แมนคนสำคัญของบริษัทมาโดยตลอดจนถึงขณะนี้..." คนเก่าคนแก่เล่าถึงกำเนิดบริษัทนี้ให้ฟัง
ในช่วงแรกบางกอกดาต้าเซนเตอร์ยังไม่กระโจนเข้ามาเป็นผู้ขายคอมพิวเตอร์โดยตรง
หากแต่ได้เริ่มต้นด้วยการเป็นซอฟต์แวร์เฮ้าส์ และ SERVICE BUREAU ไปก่อน
หรือพูดกันง่ายๆ ก็คือเป็นผู้ขายบริการ หน่วยงานใดที่ยังไม่พร้อมจะติดตั้งคอมพิวเตอร์
แต่ต้องการจะ COMPUTERIZE ระบบงานบางส่วนก็จะนำงานส่วนนั้นมาดำเนินการกับเครื่องซีดีซีของสนามม้าฯ
"ช่วงนั้นก็ประมาณเกือบ 10 ปีมาแล้ว ในวงการ SERVICE BUREAU ก็มีกันอยู่
3 แห่งคือ ไทยแลนด์คอมพิวเตอร์เซนเตอร์ ของกลุ่ม ยิบอินซอย ซึ่งมีเครื่องเบอร์โร่ห์
แล้วก็บริษัท ดาต้าแมท ของมนู อรดีดลเชษฐ์ ซึ่งปัจจุบันนี้ขายเครื่องเอ็นอีซี
ของญี่ปุ่น ตอนนั้นดาต้าแมทติดตั้งเครื่องสเปอรียูนิแวคที่เช่ามาจากซัมมิทคอมพิวเตอร์
สุดท้ายก็คือ บางกอกดาต้าเซนเตอร์ เขาก็แข่งกันอยู่ 3 แห่ง ฟัดกันค่อนข้างจะหนักหน่วงมาก
บางกอกดาต้าเซนเตอร์นั้นน่ะดูจะมาแรงหน่อย เพราะหั่นราคาค่าบริการเต็มเหยียด"
คนเก่าคนแก่อีกเหมือนกันที่ช่วยพลิกปูมหลังตรงนี้ให้ฟัง
บางกอกดาต้าเซนเตอร์เริ่มเปลี่ยนโฉมมาเป็นผู้ขายคอมพิวเตอร์โดยเริ่มต้นจากเครื่องซิงเกอร์
(SINGER)
ซิงเกอร์มีชื่อเสียงมากในเรื่องจักรเย็บผ้า และขณะนั้นพยายามจะเพิ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์เข้าไปอีกแขนงหนึ่ง
"แต่ซิงเกอร์ก็พลาดอย่างแรง เพราะเริ่มได้ไม่นานเขาก็ขาดทุนกับเรื่องคอมพิวเตอร์มาก
อันนี้ก็คงเป็นบทเรียนสำหรับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ และพยายามจะฉีกแนวการทำธุรกิจชนิด
180 องศา" แหล่งข่าวคนหนึ่งกล่าว
เพราะฉะนั้นหลังจากที่บางกอกดาต้าเซนเตอร์ขายเครื่องคอมพิวเตอร์ซิงเกอร์ซีสเต็ม
10 ไปได้ไม่เท่าไหร่ ก็ต้องกลายเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ให้กับ
ICL (INTERNATIONAL COMPUTER LIMITED) โดยอัตโนมัติ เพราะแผนกคอมพิวเตอร์ของซิงเกอร์ต้องถูก
TAKE OVER ไปที่บริษัท ICL ของอังกฤษ
บางกอกดาต้าเซนเตอร์เริ่มต้นค่อนข้างจะฮือฮามาก เมื่อเป็น SERVICE BUREAU
แต่พอเปลี่ยนฐานะมาเป็นผู้ขายและต้องเจอเข้ากับสถานการณ์ไม่คาดฝันเช่นนี้
ก็รู้สึกเสียเส้นบ้างเป็นธรรมดา
และก็ต้องเสียเส้นหนักเข้าไปอีกเมื่อขายเครื่อง ICL
"ICL รับโอนกิจการจากซิงเกอร์มาในช่วงปี 2516-2517 ซึ่งวิกฤตการณ์พลังงานเริ่มก่อตัวในประเทศอังกฤษเองก็เจอเข้าจังเบอร์
เงินเฟ้อสูงมาก ปัญหาแรงงานก็ประดังเข้ามา ผลิตภัณฑ์ของ ICL ที่ออกมาจึงค่อนข้างจะมีราคาสูงไม่
COMPETETIVE สู้ของอเมริกันและญี่ปุ่นไม่ไหวในปี 2522 บางกอกดาต้าเซนเตอร์ก็เลยขอยกเลิกการเป็นตัวแทนจำหน่าย"
คนวงในกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
"ดูเหมือนผลงานล่าสุดบางกอกดาต้าเซนเตอร์เขาพยายามนำเครื่อง ICL 2900
เข้าตลาดบังเอิญเครื่องรุ่นนี้ต้องประกบกับ IBM SYSTEM 34 ซึ่งเครื่องของ
IBM กินขาด เขาก็เลยตัดสินใจระงับการเป็นตัวแทนจำหน่ายและเขาเสียเวลาไปอีกกว่าปี
จึงได้เป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับ DEC" คนวงในอีกคนหนึ่งเล่าเสริมในแง่รายละเอียด
บางกอกดาต้าเซนเตอร์ เริ่มต้นด้วยพนักงาน 7 คน และกลายเป็น 141 คนในปัจจุบัน
ได้ผ่านสถานการณ์ที่เจ็บปวดมาแล้วด้วยบาดแผลอย่างน้อยก็ 2 มีดดังกล่าว
แต่บาดแผลก็เริ่มสมานตัวอย่างรวดเร็วหลังจากเป็นตัวแทนจำหน่ายให้ DEC
บางกอกดาต้าเซนเตอร์เป็นบริษัทที่มีความพร้อมมาก ไม่ว่าจะมองทางด้านฐานการเงินที่สนับสนุนอยู่ข้างหลังหรือตัวบุคลากร
แต่ค่อนข้างจะอับโชคด้านผลิตภัณฑ์ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายอยู่ไม่น้อย
การได้เครื่องคอมพิวเตอร์อย่าง DEC มาจึงน่าจะเป็นโชค และก็คงเป็นจุดสนใจของตลาดอย่างมาก
แน่นอน...ยิ่งสำหรับคู่แข่งแล้วก็คงต้องให้ความสนใจความเคลื่อนไหวทุกอย่างของบางกอกดาต้าเซนเตอร์เป็นพิเศษ
"ผมยอมรับว่า เราถูกปล่อยข่าวลือมากว่า เรากำลังจะถูกถอนสิทธิการเป็นตัวแทนจำหน่ายบ้างว่า
มีการเลื่อนขาเก้าอี้กันวุ่นวายไปหมดบ้าง ข่าวลือเหล่านี้สำหรับผมและพนักงานทุกคนได้ฟังแล้วก็สลดใจ
แต่เราก็คงทำได้เพียงอย่าไปใส่ใจกับมันให้มาก พยายามสร้างผลงานของเราออกมาให้ดีที่สุด
แล้วความจริงมันก็จะต้องเป็นความจริงอยู่วันยังค่ำ..." รองผู้จัดการทั่วไปของบางกอกดาต้าเซนเตอร์กล่าวตบท้ายกับ
"ผู้จัดการ"