“ตอนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ผมเป็นลูกค้าของห้างโอเรียนเต็ล ทำสัญญาซื้อขาย โดยเหลือสินค้าประเภทนม
แป้งหมี่ น้ำตาล ซึ่งยังไม่ได้รับเอามาจากเขาเป็นจำนวนมาก วันหนึ่งชาวเดนมาร์กซึ่งเป็นนายห้างโอเรียนเต็ลเรียกผมไปบอกว่า
สินค้าซึ่งยังเหลืออยู่ที่เขาให้ผมมาจัดการรับไปให้หมดภายใน 3 วัน ไม่เช่นนั้นเขาจะยกเลิกสัญญา
เมื่อเขาสั่งการมาดังนั้นก็เกิดปัญหาขึ้นกับเราว่า
ถ้าเราไปออกสินค้ามาทั้งหมด เราจะนำสินค้าไปเก็บไว้ที่ไหน และจะมีเงินจากไหนไปชำระให้กับเขา
การจะปล่อยให้เขายกเลิกสัญญาง่ายๆ ไม่มีทางเป็นไปได้ เราทราบว่าต่อไปนี้จะไม่มีสินค้าเหล่านั้นเข้ามาอีก
เพราะอยู่ในระหว่างสงคราม การยอมให้เขายกเลิกสัญญา เราจะต้องสูญเสียผลประโยชน์อย่างมาก
"การที่เขามีคำสั่งเช่นนั้น แสดงให้เห็นว่า เขาไม่เห็นแก่เราซึ่งเป็นลูกค้าเก่าแก่แม้เราพยายามขอร้องเพียงใด
เขาก็ไม่ยอมฟัง ช่วงเวลา 3 วันที่เขากำหนดให้เรา วันสุดท้ายตรงกับวันเสาร์ซึ่งห้างทำงานเพียงครึ่งวันเท่านั้น
เมื่อไม่มีทางเลี่ยง ผมก็ดำเนินงานดังนี้ ในวันพฤหัส และ วันศุกร์ เรานำเงินสดจำนวนเล็กน้อยไปเอาของออกมาเหลือสินค้าล็อตใหญ่ไว้จัดการในวันเสาร์”
“วันเสาร์ผมว่าจ้างรถกระบะไปที่โกดังของเขากว่า 10 คัน ออกบิลทั้งหมดโดยเขียนเช็คให้กับเขา
โดยจ้างกุลีให้ขึ้นสินค้า ความจริงแล้วเช็คนั้นไม่มีเงิน เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมริอ่านออกเช็คไม่มีเงิน
เมื่อได้ของมาแล้ว ผมก็ได้ไปหาเพื่อนกู้ยืมเงินมา รวมกับสินค้าที่ขายไปได้บ้างได้เงินสดประมาณ
30% ของราคาสินค้าทั้งหมด พอถึงเช้าวันจันทร์ผมรีบไปหานายห้าง ถามเขาว่า
เขานำเช็คเข้าธนาคารแล้วหรือยัง เขาตอบว่ากำลังนำเข้าพอดี ผมห้ามเขาไว้บอกว่าอย่าได้นำเช็คไปเข้าธนาคารเลย
เพราะเช็คนั้นไม่มีเงิน เขาโมโหมาก ผมบอกกับเขาว่า
เราคบกันมากว่า 10 ปี เขามายื่นคำขาดเหมือนจะตัดคอกันอย่างนี้ ซึ่งไม่เห็นใจกันบ้างเลย
ผมไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากจะใช้วิธีนี้ เพราะเขาบังคับให้ผมทำ บังคับให้ผมโกหก
ถ้าเขาให้เวลาผมสัก 20 วัน ผมก็คงไม่ต้องโกหกสามารถเอาสินค้าไปขายนำเงินมาให้เขาได้ครบถ้วน
นายห้างมาบังคับผมให้เห็นแก่ตัวจนเกินไป เขาถามผมว่าออกเช็คไม่มีเงินไม่กลัวติดตะรางหรืออย่างไร
ผมตอบไปว่าออกไปแล้วก็ไม่กลัวจะทำอย่างไรก็เชิญ แต่ทางที่ดีแล้วเขาควรทำอย่างอื่น
ผมมีเงินสดมา 30% จะขอแลกเช็คคืน แล้วออกเช็คใบใหม่ชำระเงินอีก 15 วันข้างหน้า
ซึ่งเขาก็ยอม”