Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2527








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2527
เทียม โชควัฒนา             
 

   
related stories

ความเห็น “ผู้จัดการ” เทียม โชควัฒนา เงยหน้าไม่อายฟ้า ก้มหน้าไม่อายดิน
เบื้องหลังการเสนอชื่อเทียม โชควัฒนา เพื่อรับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

   
www resources

โฮมเพจ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)

   
search resources

สหพัฒนพิบูล, บมจ.
เทียม โชควัฒนา
International




คุณภาพซื่อสัตย์ราคายุติธรรม

ในทุกยุคทุกสมัยของประวัติศาสตร์โลก

มักจะต้องมีผู้รุกรานที่มีอำนาจมีกองทัพมหาศาลบุกเข้าวยึดครองขอบขัณฑสีมาต่างๆ ที่อ่อนแอกว่าและในประเทศที่อ่อนแอกว่านั้นก็จะมีวีบุรุษผู้กล้าที่ด้อยกว่าในเรื่องกำลังแต่มีความใจสู้ ลุกขึ้นมาต่อสู้การครอบครองนั้น

ถ้าเราจะมองเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์แล้วประยุกต์เข้าสู่ปัจจุบัน เราจะก็เห็นลักษณะที่คล้ายๆ กัน แต่มาอีกรูปแบบหนึ่ง

แทนที่เราจะพบกับกองทัพมหึมามโหฬารของต่างชาติ เราก็จะพบกับบรรดาบริษัทข้ามชาติ (Multinationals ) เข้ามาค้าขายในประเทศใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ สร้างสินค้าที่มีคุณภาพกว่าแล้วขายในตลาดของเรา

ส่วนวีรบุรุษผู้กล้านั้นก็คือ คนพื้นเมืองที่ลุกขึ้นมาสู้แบบมวยวัด แต่สู้เพราะใจสู้ สู้อย่างชนิดที่เรียกว่า เริ่มมาจากไม่เป็นมวยจนเป็นมวยมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นก็มีมากหลาย เช่น ธานินทร์อุตสาหกรรม สหพัฒนพิบูล และอีกหลาย

และหนึ่งในวีรบุรุษผู้กล้านั้น คือ เทียม โชควัฒนา หรือ "เฮงเทียม" เด็กแถวๆ ตรอกอาเนียเก็ง ย่านทรงวาด เมื่อ 60 กว่าปีที่แล้วมา

ชีวิตนายห้างเทียมเป็นชีวิตตัวอย่างของคนทำงานหนักมาตลอดชีวิต และก็ไม่ได้มุ่งหวังจากการทำงานหนักว่า จะต้องแสดงออกในรูปแบบของความฟุ่มเฟือย หรือไร้สาระดังเช่นเศรษฐีบางคน พอประสบความสำเร็จก็แสดงออกถึงความโออ่าฟู่ฟ่า ทั้งในรูปแบบวัตถุนิยม หรือในกิริยามารยาทที่พอจะเห็นกันได้อีก

ในทางตรงกันข้าม เทียม โชควัฒนา ในปี 2527 ก็ไม่ได้ต่างกว่า เทียม โชควัฒนา เมื่อ 50 กว่าปีก่อน แถวๆ ตรอกอาเนียเก็ง ในย่านทรงวาด เท่าไรนัก

ทุกวันนี้นายห้างเทียมก็ยังคงตัดผมสั้นเกรียนทรงมหาดไทยอยู่ เสื้อผ้าที่ใส่ก็คือเสื้อผ้าทั่วๆ ไป นอกเหนือจากนาฬิกาโรเล็กซ์ที่ลูกซื้อให้ และรถเบนซ์ที่บรรดาลุกๆ ลงขันซื้อให้ (แต่ไม่กล้าบอกราคาพ่อ) นายห้างเทียมจะดูไม่ต่างไปกว่าเถ้าแก่ร้านขายข้าวสาร หรือหลงจู๊โรงจำนำคนหนึ่งเลย

ความบ้างานของนายห้างแทบจะเป็นตำนานเลยก็ว่าได้ "นายห้างมาทำงานทุกวันไม่เว้นวันอาทิตย์ และก็ทำงานแบบนี้มาตั้งแต่หนุ่มจนปีนี้ 69 แล้วยังไม่หยุด เวลามาที่ทำงานวันหยุดนายห้างชอบเรียกพนักงานมาสอบถามถึงปัญหางาน ความคืบหน้าของคนงาน ฯลฯ" คนในเครือสหพัฒน์ เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ความบ้างานและมุ่งแต่งานนี้ทำให้นายห้างเทียม ใช้หัวคิดแต่เรื่องงาน "รถเบนซ์คันเก่าสีขาวของนายห้างตรงด้านคนนั่งข้างหลัง คุณจะเห็นรอยบุ๋มเป็นรูปก้นคนนั่ง เพราะนายห้างนั่งรถจะไม่เคยใช้หลังพิง แต่จะนั่งตัวตรงเอามือซ้ายเกาะที่แขวนเสื้อ เหนือหน้าต่างแล้วตามองไปข้างหน้า ปากจะขมุบขมิบคิดแต่ตัวเลขตลอดเวลา" คนในสหพัฒน์ พูด

ว่ากันว่า ความที่ไม่สนใจอะไรกับสิ่งรอบตัว นอกจากเรื่องงานในหัวทำให้พวกลูกๆ นายห้างต้องคอยสั่งคนขับรถให้รอนายห้างเวลางานที่นายห้างไปตามโรงแรมเลิก เพราะ "สมัยใช้รถเบนซ์สีขาว คุณพ่อเวลาเห็นรถสีขาววิ่งเข้ามาหรือจอดที่ไหนก็จะไม่สนใจเปิดประตูเข้าไปนั่งเลย และก็เคยเข้าไปนั่งรถผิดคัน" ลูกชายคนหนึ่งของเทียม โชควัฒนาเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

การทำงานหนักของนายห้างเทียมนั้นเป็นสิ่งที่นายห้างทำมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยเด็กที่เริ่มงานกับคุณพ่อนายห้างเทียมโดยมีร้านขายของชื่อ "เปียวฮะ" คุณพ่อนายห้างเทียมได้ให้คุณอาเป็นหลงจู๊ ส่วนนายห้างเทียมนั้นพอเสร็จจากเรียนหนังสือ ก็จะมาทำงานที่ร้าน

งานที่ทำเริ่มแรกก็เป็นงานคอยเป็นธุรการ หรือเรียกกันสมัยนั้นว่า "จับกัง"

นายห้างเทียมมีหน้าที่ต้องแบกขนวิ่งซื้อของรินน้ำชาต้อนรับแขก สรุปแล้วงานอะไรที่หนักๆ นายห้างเทียมจะถูกสั่งทำหมด ส่วนงานสบายๆ ลูกๆ ของอาก็จะทำกัน ฟังดูแล้วเหมือนนิยายสมัยโบราณของ ป.อินทรปาลิต ไม่มีผิดเลย

และก็เป็นช่วงนี้แหละที่นายห้างเทียม ได้เริ่มฉายแววของการเป็นพ่อค้าขึ้นมา "ในฐานะของเด็กรับใช้ภายในร้านก็เป็นโอกาสให้ผมได้ผึกการค้าไป
เมื่อมีแขกมาซื้อของผมก็คอยวิ่งซื้อกาแฟ บุหรี่มาบริการแขก ถือโอกาสทำความรู้จักสนิทสนมกับเขา ผมคอยสังเกตการค้าอยู่เสมอ เช่น การตั้งราคาขาย บางทีพี่เขาขายของอย่างหนึ่งในราคาหนึ่ง แต่ก็ขายของอย่างเดียวกันในอีกราคา ผมก็ถามพี่ พี่ก็บอกว่า การตั้งราคาขายแตกต่างกัน ก็เพราะฐานะของลูกค้าแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนการเงินดี บางคนย่ำแย่ ในบางครั้งเงินหมุนเวียนของเราขาดแคลน เราก็ต้องบอกขายไปในราคาต่ำ เพื่อหาเงินเข้าร้าน แต่บางคราวที่สินค้าเหลือสต็อกน้อย เราไม่จำเป็นต้องขายถูกก็ได้ ผมหมั่นเอาอกเอาใจลูกค้า เพื่อเป็นที่ชอบใจของพี่ เขาจะได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ และตัวเองก็แอบคาดคะเนตั้งราคาขายสินค้า" นายห้างเทียมพูดให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

แววการตลาดของนายห้างได้เริ่มจากการรับมาเป็นรุกต่อจากนั้นอีก 1 ปี นายห้างเทียมก็เริ่มบุกตลาดโดยออกไปหาลูกค้าแทนที่จะรอให้ลูกค้าเข้ามาที่ร้าน และก็ทำได้สำเร็จจนพี่น้องทึ่งเอาอย่างมากๆ

ความมุมานะในการทำงานของนายห้างเทียม นั้นแท้ที่จริงแล้วเกิดมาจากความรักพ่อ และรักครอบครัวอย่างแท้จริง

ในสมัยที่นายห้างเทียมมีอายุเพียง 10 กว่าขวบ ร้านค้าของพ่อนั้นอยู่ในมือของอา คนเก่าๆ เล่าให้ฟังว่า พ่อนายห้างเทียมเป็นคนซื่อ อำนาจการขายในร้านอยู่ในมือของอา สมัยเด็กๆ นายห้างเทียมต้องทำงานหนักในขณะที่ลูกๆ ของอาได้เรียนสูง บางคนก็ได้ไปเมืองนอก นายห้างเทียมเองก็จะถูกใช้งานเหมือนจับกัง และถูกบรรดาอาและลูกๆ ของอาดูถูกรังแกมาตลอด พลังในการมุมานะสู้งานก็เลยมาจากจุดนี้
เพราะนายห้างเทียมต้องการดับความแค้นด้วยการทำงานให้หนัก

ถ้าไม่มีความแค้นของนายห้างเทียมครั้งนั้น ก็อาจจะไม่มีเครือสหพัฒน์ ที่มีกลุ่มบริษัทถึง 70 กว่าบริษัทในปัจจุบันก็ได้

ความที่ไม่ใช้ความแค้นให้กลายเป็นความอาฆาตนั้น เป็นนิสัยใจคอของนายห้างเทียมมาตั้งแต่เด็ก และนิสัยนั้นก็ถูกปลูกฝังโดยแม่ของนายห้างเทียมเอง

"ผมจำได้ว่าตอนที่ตัวเองอายุ 12-13 ขวบนั้นแม่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อกลับจากโรงเรียนตอน 4 โมงเย็น งานประจำที่ผมจะต้องทำคือ การไปรับยาเส้นจากบริษัทจำหน่ายบุหรี่มาให้แม่ที่บ้าน หลังจากนั้นก็ต้องช่วยแม่นั่งมวนบุหรี่ไปจนถึงหกโมงเย็นถึงจะได้กินข้าว บางครั้งยังต้องทำไปถึงตอนกลางคืน เมื่อเราไปรับค่าแรงจากบริษัทตอนสิ้นปีเป็นเงินประมาณ 300 บาท แม่จะเอาเงินที่ได้นี้ไปช่วยบำรุงการกุศลตามวัดวาอารามต่างๆ ตอนเป็นเด็กจำได้ว่า ผมไม่เห็นด้วย เพราะเราต้องทนเหน็ดเหนื่อยกันมาทั้งปี ได้เงินมาแล้วแทนที่จะนำมาใช้หาความสุขกลับนำไปบริจาคเสียหมด แต่แม่ชี้แจงให้ฟังว่า ที่แม่ทำอย่างนั้นก็เพื่อที่สั่งสมบุญกุศลไว้ให้ลูกหลานในวันหน้า บุญกุศลของแม่จะเป็นจริงหรือไม่เพียงใดออกจะเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ แต่มีแง่คิดหนึ่งว่า การที่แม่อบรมผมเช่นนั้นมันเป็นอิทธิพลต่อทัศนคติ และฝังอยู่ในสามัญสำนึกของผมเสมอมา มันช่วยให้นิสัยของผมดีขึ้น และสอนให้ผมตระหนักว่า คนเราเมื่อจะเจือจานผลประโยชน์ให้กับคนอื่น ให้กับส่วนรวมบ้างอุปมาเหมือนคนปลูกต้นไม้
หากต้นไม้ออกลูกออกผลแล้วเราเก็บผลนั้นกินคนเดียวโดยไม่แบ่งปันให้ใคร ใครจะรู้ว่าผลไม้นั้นสุกงอมหอมหวานเพียงไหน
ต้นไม้ของเราเป็นผลประโยชน์เต็มที่ก็ต่อเมื่อมันได้ให้ร่มเงาแก่สัตว์เล็กสัตว์น้อย ให้คนยากไร้หิวโหย ได้มีโอกาสเก็บผลสุกงอมซึ่งร่วงหล่นมาประทังต่อชีวิตบ้าง


อุปนิสัยอันนี้เองมีผลทำให้ผมทำตนเป็นคนจิตใจกว้างขวาง มีความสุจริตใจ และประสบความสำเร็จในวงการค้าอยู่ในปัจจุบัน ผลอีกประการหนึ่งก็คือ ตอนแรกเริ่มนั้นสหพัฒน์ เป็นเพียงบริษัทเล็กๆ ลูกน้องแต่ละคนซึ่งทำงานกับผม แม้จะได้เงินเดือนน้อย แต่เขามีความรักตัวผม ทำงานด้วความขยันขันแข็ง ด้วยความตั้งใจที่จะฝากชีวิต และอนาคตเขาไว้กับบริษัทกับผมตลอดไป มันทำให้ผมอยากที่จะตอบแทนเขา การตอบแทนนั้นก็คือ
ผมจะต้องทำทุกวิถีทางด้วยความพากเพียรต่อสู้กับอุปสรรคทุกอย่าง ให้บริษัทมีอนาคตที่มั่นคง เขาและครอบครัวจะได้มีอนาคตที่มั่นคงไปด้วย" นายห้างเทียมพูดถึงชีวิตในอดีตให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

นายห้างเทียมเป็นคนรักพ่อมากๆ และมักจะพูดถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เกี่ยวพันกับพ่อ และกลายเป็นปรัชญาชีวิตที่ใช้มาในการทำงานจนทุกวันนี้ เช่น

"ผมมีนิสัยติดมาจากพ่อ ตอนสมัยที่ผมเป็นนักเรียนเคยขอเงินจากพ่อ เพื่อไปซื้อกระดาษวาดเขียน พ่อตอบด้วยถ้อยคำซึ่งผมจำอยู่ทุกวันนี้ว่า "การเขียนรูปไม่สามารถทำให้ท้องอิ่มได้ เขียนทำไม" หรือเวลาที่มีวิชาขับร้องเพลงในโรงเรียน เป็นสิ่งที่ทำให้ผมไม่มีความรู้ในด้านดนตรีและศิลปะ แต่ผมก็มีบางส่วนที่พ่อให้มาทดแทน ครั้งหนึ่งซึ่งเพื่อนชวนไปเล่นกีฬา พ่อบอกกับผมว่า ถ้าหากต้องการจะออกกำลังกายแล้วในโกดังของเรามีนม และแป้งหมี่จำนวนมาก ออกแรงขนนมและแป้งหมี่เหล่านั้นดีกว่า ได้ทั้งออกกำลังกายและไม่ต้องเสียเงินด้วย เมื่อผมช่วยขนของในโกดังพ่อก็ดีใจบอกกับผมว่า คนเราถ้ามีร่างกายแข็งแรง ก็ไม่ต้องกลัวอดตาย อย่างผมก็สามารถเป็นกุลีได้ ได้เงินค่าจ้าง 22 บาทต่อเดือน ผมเชื่อฟังพ่อช่วยขนของเมื่อมีโอกาสเวลาว่างอยู่ถึง 3 ปี หลังจากนั้นก็ออกมาขี่จักรยานขายสินค้า ส่งของ การที่ผมมีสุขภาพสมบูรณ์อยู่ในปัจจุบัน สามารถเผชิญกับงานหนักได้ตลอดเวลา เพราะการเคยทำงานหนักในวัยเด็กมีส่วนช่วยสนับสนุนอย่างมาก เครือสหพัฒน์ของเรา พนักงานที่แต่งงานมีครอบครัวไปแล้วก็มาก
หากผู้ที่แต่งงานแล้วเหล่านี้ทำงานเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี นอกจากจะเป็นตัวอย่างที่ดีของลูกหลานแล้ว ถ้าในเครือบริษัทของเรามีคนประพฤติตนดีสัก 90% มีคนประพฤติตัวไม่สมควร 10% พวกที่ประพฤติตัวดีก็มีโอกาสที่จะชักนำผู้ที่ประพฤติไม่ดีให้กลับกลายเป็นคนดีได้ ผมปรารถนาที่จะให้ทุกคนประพฤติตนดีเป็นแบบอย่าง เพื่อสร้างฐานะของตนเอง ความดีที่ทำให้กับตัวเองจะมีโอกาสสะท้อนไปถึงบริษัทซึ่งเป็นส่วนรวมได้"

การที่นายห้างเทียมเป็นคนที่รักษาเรื่องเครดิตได้อย่างดีเลิศนั้น ก็เป็นผลพวงมาจากพ่อเหมือนกัน

"ผมคิดถึงสมัยวัยเยาว์ เมื่อตอนอายุ 12 ขวบ พ่อเคยพูดเสมอๆ ว่า ธรรมดาวิสัยของการค้าย่อมมีขึ้นๆ ลงๆ ไม่แน่นอน การค้าอาจจะดีอยู่ 2-3 ปี เมื่อมีเงินดีก็ส่งไปซื้อที่นา และทรัพย์สินไว้ในทางจีน อีก 2 ปีต่อมาการค้าขาดทุน ก็ต้องขายที่นาทรัพย์สินมาใช้หนี้การค้า และเงินเป็นเรื่องปวดหัวที่สุด บางทีเราเปิดบัญชีให้กับลูกค้า เมื่อถึงเวลาจะเก็บเงินไปเป็นทุนหมุนเวียนและลูกค้าไม่มีเงินจะให้ ทำให้เราขาดเงินทุนไป เป็นสิ่งที่จะต้องคิดมาก ทำให้นอนไม่หลับหลายคืน หากรับปากกับใครแล้วต้องทำให้ดีตามที่พูด หากเป็นว่าเราทำไม่ได้แล้ว ก็อย่าไปรับปากเขา ซึ่งผมจำอยู่เสมอมา"

"ตอนนั้นผมแปลกใจ และไม่เข้าใจถึงเรื่องเงินทองเป็นสิ่งที่ทำให้คนต้องนอนไม่หลับ หลังจากต้องมาประกอบการค้าด้วยตนเองแล้ว จึงได้เชื่อว่าเป็นความจริง พ่อมีนิสัยแปลกอยู่อย่างหนึ่ง เวลาที่มีใครมาชำระหนี้หรือเก็บเงินหน้าร้านได้ 1,000-2,000 บาท ก็จะรีบนำไปเข้าธนาคาร หรือเรียกให้เจ้าหนี้มาชำระหนี้ หากเป็นวันเสาร์เมื่อมีลูกค้าบ้านนอกนำเงินมาชำระบัญชี เป็นจำนวนมาก เกิน 5,000 บาทขึ้นไปนำเข้าธนาคารไม่ได้ เพราะธนาคารปิด พ่อมีความหวาดกลัวต่างๆ นานา ต้องนอนเฝ้าเซฟกลัวคนขโมย ยิ่งเป็นเงินจำนวนหมื่นก็ถึงขนาดกินไม่ได้นอนไม่หลับ สั่งเด็กๆ ทั้งร้านไม่ให้นอน เพื่อเป็นเพื่อนคอยเฝ้าเงิน ผมเองถูกเรียกไปเฝ้าเงินอยู่ทั้งคืนเสมอ จนกว่าธนาคารจะเปิดวันจันทร์และนำเงินไปเก็บเรียบร้อย พ่อถึงจะสบายใจไปได้"

"นิสัยทำการค้าของพ่อ การรับผิดชอบในคำพูดที่เมื่อถึงกำหนดจะจ่ายเงินให้ใครแล้ว ไม่มีเงินให้เขาเกิดวิตกกังวลต่างๆ นานา เป็นสิ่งที่ซึมซาบอยู่ในตัวผมเหมือนกับเป็นมรดกตกทอดโดยที่ผมไม่รู้ตัว" 20 ปีที่นายห้างเทียมได้อยู่ใกล้ชิดพ่อ
ทำให้นายห้างติดนิสัยและการกระทำของพ่อที่หล่อหลอมเป็นตัวตนอยู่ในใจตลอดมา แม้แต่การอาบน้ำ โดยตักน้ำราดศีรษะซึ่งพ่อนายห้างเทียมทำ นายห้างเทียมก็ทำตามด้วย นายห้างเทียมเพิ่งมารู้จักใช้น้ำมันใส่ผม และเลิกอาบน้ำรดศีรษะเมื่ออายุย่างเข้า 40 ปี

และเมื่อนายห้างเทียมอายุเริ่มจะ 20 พ่อนายห้างก็ยกร้านเก่าให้น้องชายทำ ส่วนตัวเองก็มาเปิดร้านใหม่แถวๆ เจ็ดชั้นชื่อ "เฮียบฮะ" ขายน้ำตาล ขายนม เหมือนเก่า

การแยกตัวออกจากอาของนายห้างนั้น คนที่รู้เรื่องดีเล่าใหัฟังว่า นอกเหนือจากการที่ต้องถูกรัดเอาเปรียบมาตั้งแต่เด็กแล้ว ยังเป็นเรื่องของการทวงบุญทวงคุณซึ่งนายห้างเทียมเกลียดที่สุด

"อาของนายห้างมักจะเรียกนายห้างไปพูดให้ฟังว่า กิจการของพ่อนายห้างนั้นอาเป็นผู้ก่อตั้ง และทุกวันนี้ที่ทุกคนไม่ต้องลำบาก ก็เนื่องจากการทำงานของอานายห้างเอง นายห้างเมื่อถูกเรียกไปย้ำอยู่เรื่อยๆ บางทีก็ต่อหน้าคนอื่น บางทีนายห้างถูกด่าแล้วถูกทวงบุญคุณอย่างรุนแรงว่า ถ้าไม่ได้อาก็คงจะเป็นขอทาน คงไม่มีปัญญากินอะไรได้ สิ่งนี้แหละเป็นแรงดลใจให้ต้องแยกกิจการออกมาจากอา แล้วนายห้างก็แยกกิจการจากพ่ออีกที"

เรื่องการทวงบุญคุณจึงเป็นเรื่องที่นายห้างเทียมไม่สบอารมณ์เป็นอย่างยิ่ง ถึงปัจจุบัน เพราะโดยส่วนตัวแล้ว นายห้างเทียมจะไม่ทวงบุญคุณใครเลย เพราะนายห้างเทียมคิดว่า ใครมีบุญคุณคนนั้นก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจ

เรื่องทวงบุญคุณนี่นายห้างเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังเพิ่มเติมว่า

"สมัยก่อนสงครามซึ่งผมยังเป็นเจ้าของกิจการบริษัทเล็กๆ อยู่นั้น เพื่อนแซ่เล้าคนหนึ่งช่วยเหลือผมทั้งในด้านการค้าและการเงิน บุญคุณของเขาทำให้ผมต้องคอยประจบเอาใจเขา เขาชวนไปเที่ยวเตร่ เต้นรำ ดึกดื่นเที่ยงคืนอย่างไรก็เอากับเขาด้วย บางคืนเขาเมาด่าว่าผมเพียงใดก็ต้องยอมทน วันหนึ่งเขาโมโหอะไรที่ไหนมาก็ไม่ทราบ เขาด่าว่าผมต่อหน้าคนอื่นว่า ผมเป็นคนอกตัญ ู ลืมบุญคุณที่เขาเคยช่วยผมมา ผมอดใจไว้ไม่ไหวเลยพูดกับเขาว่า ผมรู้ว่าเขามีบุญคุณต่อผมมาก บุญคุณนี้อยากจะจดจำไว้ให้ลึกซึ้งตราบวันตาย แต่เขาทำตนเป็นคนชอบทวงบุญคุณหลายครั้งหลายหนแบบนี้ก็ระอาใจ จึงอยากจะถามว่า บุญคุณที่เขามีต่อผมนั้นจะทดแทนชดใช้กันได้อย่างไรจึงจะหมดสิ้นกันเสียที จะให้ทำอะไรก็บอกมา หรือจะให้ใช้เป็นเงินก็ได้ แม้ไม่มีจะให้ก็จะไปกู้ยืมมาผ่อนชำระกันเป็นงวดๆ ก็เอา บุญคุณจะได้หมดกัน ว่าไปอย่างนั้นก็รู้สึกว่าเขาคิดขึ้นมาได้ ตัวผมเองนั้นโกรธเขาเป็นที่สุด มีอะไรก็เอาไปถวายให้เขาเป็นการทดแทนบุญคุณอยู่เสมอ และจำได้ตราบทุกวันนี้"

ความที่นายห้างเทียมเป็นคนก้าวหน้า และหมั่นศึกษาความรู้ และมองอะไรไกลออกไปก็พอจะเห็นว่า ถ้ามัวแต่แบกน้ำตาลกระสอบส่งนมหีบให้ลูกค้าแล้ว อนาคตลูกหลานคงไม่ดีแน่ๆ นายห้างเทียมก็ตัดสินใจแยกร้านออกมาส่งสินค้าประเภทเสื้อยืด

ร้านใหม่นั้นชื่อ "เฮียบเซ่งเชียง"

ความจริงการเปลี่ยนแนวการค้าของนายห้างเทียมนั้น คนใกล้ชิดบอกว่าจุดสำคัญอยู่ที่ นายห้างเทียมเคยแบกน้ำตาล กระสอบ 100 กิโล ไปส่งลูกค้าได้กำไรกระสอบละ 0.20 บาท แต่เสื้อยืดนั้นแขนสองแขนหิ้วได้ครั้งละ 10 โหล และขายได้กำไร 1.50 บาท นายห้างเทียมจึงเริ่มคิดค้าขายสินค้าเบ็ดเตล็ด ทั้งๆ ที่พ่อนายห้างไม่เห็นด้วย

"สิ่งใดก็ตามซึ่งพ่อเราทำเคยถูก และเราเลียนแบบทำตามสิ่งนั้นย่อมหาความเจริญได้ยาก เพราะขาดความคิดริเริ่ม ขาดความเจริญงอกงาม ทุกสิ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลงต้องมีการพัฒนา ต้องการความคิดสร้างสรรค์"

ห้าง "เฮียบเซ่งเชียง" ก็เกิดขึ้นมาในปี 2485 ด้วยเงินทุน 10,000 บาท ที่ตั้งของห้างเลขที่ 227-229 ตรอกอาเนียเก็ง ทรงวาด สินค้าที่ขายคือ สินค้าเบ็ดเตล็ดประเภทเสื้อผ้า ยารักษาโรค เครื่องกระป๋อง

การตั้งห้างขายสินค้าเบ็ดเตล็ดเป็นครั้งแรกของนายห้างเทียมจำเป็นต้องหาหลงจู๊ที่ชำนาญด้านนี้มาดูแลกิจการ และจากที่ได้หลงจู๊ที่ชำนาญด้านนี้มาช่วย ทำให้เทียม โชควัฒนา คิดว่ากิจการคงจะไปได้ดี ซึ่งความจริงกิจการที่ไปได้ดีพอสมควรแต่ด้วยอุปนิสัยส่วนตัว เทียม โชควัฒนา เป็นคนหัวก้าวหน้า และชอบพัฒนาความคิด ตลอดจนสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น และหมั่นสังเกตสังกามาจนกระทั่งเพียง 3 ปีให้หลัง หลงจู๊ที่เก่งกาจคนนั้นในสายตาของเทียมก็กลายเป็นคนที่ล้าหลังอย่างมากๆ

เทียม โชควัฒนา

ถึงจะมีการศึกษาต่ำมากแต่ก็เป็นคนที่เรียนรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว หนำซ้ำยังเป็นคนที่สามารถพัฒนาตัวเอง จากเรื่องที่ไม่รู้มาเป็นเรื่องที่รู้อย่างชำนาญ

ความสามารถอันนี้เคยถูกแสดงออกมาหลายต่อหลายหน แม้กระทั่งในยุคหลังสงครามโลกใหม่ๆ ซึ่งเทียมได้สั่งผ้าเช็ดตัว แปรงสีฟัน ผ้าขนหนู จากฮ่องกงเข้ามาขาย คุณพ่อเทียมไม่เห็นด้วย บอกว่า ขายไม่ได้อย่างแน่นอน แต่นายห้างเทียมพูดให้ฟังว่า

"ตัวผมก็ไม่ได้ไปโต้เถียงอะไรท่าน ที่ท่านบอกว่าขายไม่ได้นั้น เพราะตัวท่านไม่เคยใช้แปรงฟัน แต่ใช้นิ้วมือถูฟัน ยิ่งผ้าเช็ดตัว ผ้าขนหนูแล้วแทบจะไม่เคยแตะเลยตลอดชีวิต ความเป็นอยู่ของท่านเป็นแบบนั้น ก็เลยมองว่าสินค้านั้นไม่ใช่ของจำเป็น จะขายใครที่ไหนได้"

จากการที่เป็นคนชอบศึกษาและช่างสังเกต เทียม โชควัฒนา สามารถนำเอาความรู้ที่ตนได้เรียนรู้จากฝรั่งซึ่งขายของให้มาประยุกต์ใช้ในการบุกเบิกขยายตลาดอย่างมากในช่วงแรก และก็เป็นช่วงการขยายตลาดนี่เองแหละที่เป็นการสร้างฐานให้กับสหพัฒน์ ต่อมาในภายหลัง

สมัยก่อนและหลังสงครามนั้น การค้าขายสั่งของจะเป็นเรื่องของการที่ลูกค้าจะต้องวิ่งเข้ามาในสำเพ็ง และซื้อของด้วยเงินสด การส่งของไปต่างจังหวัดแล้วเปิดบัญชีให้ 15 วันบ้าง หรือ 1 เดือนบ้างนั้น ไม่มีใครทำกัน แต่ เทียม โชควัฒนา กล้าเสี่ยง เพราะ

"หลังสงครามใหม่ๆ เรา Imported สินค้าจากฮ่องกงเข้ามาขาย ในตอนแรกที่สินค้าขายดี เราก็ขายด้วยเงินสด ต่อมาก็ต้องเปิดบัญชีให้กับร้านค้า 15 วันบ้าง 1 เดือนบ้าง ตามความเหมาะสม คู่แข่งก็แอบนินทาวิจารณ์ว่า สหพัฒน์ เปิดบัญชีแบบซี้ซั้ว หาหลักการอะไรไม่ได้ ต่อไปคงล้มละลายอย่างไม่มีปัญหา ผมเอาคำวิจารณ์นั้นมาวิเคราะห์ดู สินค้าเหล่านั้นเราขายได้กำไร 10-20% ค่าใช้จ่ายในการขายให้กับ wholesaler ก็มีน้อยเพียง 3-4% เปิดบัญชีให้กับร้านค้า 1 เดือน เรายังได้กำไรอีกกว่า 10% หมุนเพียง 6-7 เดือน เราก็ได้ทุนคืนแล้ว จะมามัวกลัวหนี้สูญอยู่ทำไม หนี้สูญนั้นสิ้นปีทีก็ค่อยคิดกันทีว่ามีจำนวนเท่าไร ซึ่งเมื่อคิดแล้วก็ไม่เคยเกิน 0.25-0.5% ของยอดขาย ผมถือหลักการอันนี้และเกิดความมั่นใจ เพราะได้ศึกษามาจากห้างฝรั่งว่า เขาดำเนินการเผื่อขาดเผื่อเหลือไว้เช่นนี้เหมือนกัน ไม่สนใจว่าใครจะติฉินนินทาอย่างไร เมื่อคนอื่นไม่กล้า แต่เรากล้าอย่างมีเหตุผล แนวทางการค้าของเราจึงกว้างขวางกว่า สามารถสั่งสินค้าเข้ามาขายได้หลายประเภท ครั้งละมากๆ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญอย่างหนึ่งของสหพัฒน์ ยุคต้น ที่มีส่วนทำให้เรามั่นคงอยู่ในปัจจุบัน

หลังจากที่หลงจู๊คนเก่าออกไปแล้ว ร้านเฮียบเซ่งเชียง ก็เริ่มพัฒนาและปรับปรุง เพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงทางการค้า

ใน พ.ศ.2495 บริษัทสหพัฒนพิบูล ก็เกิดขึ้นมาแทน "เฮียบเซ่งเชียง" และเทียม โชควัฒนา ก็ได้ทำให้วงการสำเพ็งตกตะลึงด้วยการตั้งหลงจู๊หนุ่มน้อยคนหนึ่งขึ้นเป็นหลงจู๊ใหม่ของบริษัทสหพัฒนพิบูล

ในเวลานั้น เถ้าแก่รุ่นเก่าๆ ในสำเพ็งประมาทหน้าสหพัฒน์ ทั้งต่อหน้าและลับหลังว่าเอาอาตี๋หน้าอ่อนมาเป็นหลงจู๊ บริษัทคงล่มจม อาจจะจะเป็นเพราะเถ้าแก่เหล่านั้นคงจะไม่เคยเห็นคนหนุ่มทำงานใหญ่

แต่ความที่นายห้างเทียมมีความเชื่อว่าคนหนุ่มมีความคิดทันสมัย และในภาวะของการเปลี่ยนแปลงทางตลาดสินค้าที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากภายหลังสงคราม การใช้คนหนุ่มจะเป็นนโยบายที่ถูกที่สุด เพราะความคิดจะไม่คร่ำครึ

อีกประการหนึ่ง นายห้างเทียมเชื่อว่า คนหนุ่มอยู่ในวัยเริ่มต้นของชีวิตหวังความก้าวหน้าในอนาคต ฉะนั้นจะต้องทำงานหนักกว่าคนแก่ที่อยู่รอความตายไปวันหนึ่งๆ และคนหนุ่มที่เป็นหลงจู๊คนนั้นคือ ดำหริ ดารกานนท์ กรรมการอำนวยการของกลุ่มสหยูเนี่ยนในปัจจุบัน และก็เผอิญที่ดำหริเองก็เป็นน้องเขยของนายห้างเทียมด้วย นายห้างเทียมพูดถึง ดำหริ ว่า

"ผมศึกษาลักษณะนิสัยใจคอของเขาว่าเป็นคนรักงาน และรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเป็นอย่างยิ่ง เมื่อทำอะไรผิดพลาดลงไปจะแสดงความวิตกกังวลออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด ซึ่งคนประเภทนี้หากไปตำหนิหนักๆ ด้วยถ้อยคำรุนแรงจะทำให้เสียน้ำใจถึงขนาดไม่กล้าตัดสินใจในหน้าที่การงานคราวต่อๆ ไปเช่นว่า เขาตัดสินใจสั่งสินค้ามาจำหน่ายแต่ด้วยความผิดพลาดบางประการทำให้การจำหน่ายสินค้านั้นต้องขาดทุนไปหลายพันบาท
ผมทำเฉยเสียรอไว้เมื่อมีโอกาสหลายวันต่อมาได้สนทนาพูดคุยกับเขาสองต่อสองก็พูดให้กำลังใจกับเขาว่า การที่ต้องขาดทุนไปครั้งนี้ไม่ต้องเสียใจ ความผิดพลาดที่ทำให้สินค้าขายไม่ออกก็คือ สีของสินค้าที่สั่งเข้ามาไม่ถูกความต้องการของตลาดเราจะต้องจำไว้ จะได้ไม่มีความผิดพลาดครั้งที่ 2 ถือเสียว่า เป็นการซื้อความรู้ซึ่งนับว่าถูกมาก และถ้าหากว่าเราไม่จดจำเอาไว้ ปล่อยปละละเลยก็ย่อมมีโอกาสย่อยยับกว่านี้"

คุณดำหรินั้นความจริงก็เล่าเรียนมาน้อยเพียงชั้นมัธยมหก แต่การได้อยู่ในวงการค้ามานานหมั่นศึกษาจดจำกลายเป็นคนเก่งที่หาตัวจับยาก จำได้ว่าเมื่อกว่า 10 ปีก่อน กระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งศูนย์อบรมเพิ่มผลผลิตขึ้น โดยมีฝรั่งเป็นผู้อบรมบรรยาย สอนวิธีการบริหารโรงงาน การลดต้นทุนการผลิต คุณดำหริก็ไปเข้าอบรมด้วย เมื่อกลับมาโรงงานมีปัญหาอะไรไม่เข้าใจแก้ไขไม่ได้ ก็เชิญฝรั่งผู้เชี่ยวชาญมาที่โรงงาน เอาปัญหาทั้งหมดชี้แจงให้เขาฟัง เพื่อหาจุดบกพร่องและวางแผนแก้ไขอีก 3-6 เดือนต่อมาก็รู้สึกว่าสภาพการณ์ต่างๆ ดีขึ้น แสดงว่า ทั้งหมดนั้นเกิดเพราะคุณดำหริชอบเรียนรู้เรียนแล้วทดสอบ ทดสอบแล้วก็มีความรู้"

จากปี 2495 ปีที่ดำหริ ดารกานนท์ ได้เริ่มมาเป็นหลงจู๊ให้นายห้างเทียม ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่บริษัทสหพัฒน์ ได้เจริญเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วมาก

ดำหริช่วยงานสหพัฒน์อยู่ร่วมสิบปี จึงถูกนายห้างเทียมส่งออกไปบริหารงานร่วมทุนกับญี่ปุ่น คือ ซิปวีนัส ในปี 2505 ซึ่งเป็นการร่วมทุนครั้งแรกระหว่างสหพัฒน์กับต่างประเทศ

จุดหนึ่งที่ทำให้สหพัฒน์เจริญเติบโตขึ้นมาในแง่ของการกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภค คือ การเริ่มรู้จักใช้โฆษณาให้เป็นประโยชน์

การโฆษณาในช่วงปี 2498 นั้นไม่ค่อยมีใครรู้จัก พอสหพัฒน์เริ่มกระจายโฆษณาอย่างหนักหน่วง ก็ถูกหาว่า ใกล้จะเจ๊งแล้ว นายห้างเทียมพูดถึงตอนนั้นว่า

"ในปี 2498 มีข่าวลือกันทั่วไปในวงการค้าว่า สหพัฒน์จะล้มละลาย ทั้งนี้เป็นเพราะทั่วๆ ไปเห็นค่าใช้จ่ายของเราสูง ซึ่งรวมค่าโฆษณาแล้วตกเดือนละหลายแสนบาท ร้านค้าคู่แข่งของเราเสียค่าใช้จ่ายต่อเดือนอย่างมากเพียง 3-4 หมื่นบาทเท่านั้น แม้กระนั้นก็ยังไม่มีกำไร ความเข้าใจของคนทั่วไปคิดว่า เราจะเอากำไรมาจากไหนได้จึงสรุปเอาว่า เราคงล่มจมเพราะสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว แม้แต่ธนาคารกรุงเทพยังพลอยวิตกตาม ถึงกับสั่งเจ้าหน้าที่มาสอบถาม ผมตอบกับพนักงานของธนาคารไปว่า กิจการของสหพัฒน์ดุจเดียวกับธนาคารกรุงเทพ โสหุ้ยของเรามากเราจึงมีรายได้มาก คู่แข่งของเราเปรียบไปแล้วก็เหมือนกับธนาคารตั้งเปงชุน กิจการน้อย โสหุ้ยน้อย ไม่ค่อยมีกำไร เขาได้ฟังคำนี้ จึงเข้าใจสภาพทางการค้าการลงทุนของเรา การค้านั้นต้องมีการลงทุนหมุนเวียน กล้าได้กล้าเสีย หากมีทุนน้อยไม่กล้ากู้ยืมเพื่อลงทุน ก็อาจไม่มีโอกาสรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบัน นับได้ว่าการที่เราทำเช่นนี้ เป็นการกล้าเสี่ยงที่มีเหตุผล ประการสำคัญ เรามีความรอบคอบระมัดระวังในการลงทุน และควบคุมการใช้จ่ายอย่างถูกต้องตามวิธีการ จึงเจริญรุ่งเรืองมาได้ตลอด"

การจะทำเช่นนั้นได้ ก็ต้องยอมรับว่า ได้รับการคัดค้านอย่างมากพอสมควร แสดงให้เห็นว่า กิจการใดก็ตามที่เริ่มก่อตั้ง ผู้ก่อตั้งจะต้องมี Strong Personality และการบริหารงานในช่วงแรกนั้น ต้องอยู่ในระดับที่จำเป็นต้องเผด็จการพอสมควร นายห้างเทียมก็เห็นด้วย เพราะการโฆษณาของสหพัฒน์ นี้เกิดขึ้นเพราะสหพัฒน์ เบื่อหน่ายที่จะต้องหาสินค้าใหม่ๆ เข้ามาเรื่อย ขายได้สักพักก็ต้องหยุด เพราะมีคนอื่นสั่งเข้ามามากมายจนล้นตลาด สหพัฒน์ จึงคิดสร้างสินค้าที่เป็นของตัวเอง ถ้าเจอปัญหาการขายก็อาศัยโฆษณาช่วย

"ตอนนั้นในสำเพ็งไม่เคยมีใครใช้การโฆษณาส่งเสริมการขายกันเลย เมื่อสหพัฒน์ ทำไปก็ถูกมองในแง่ต่างๆ คู่แข่งคิดว่า กิจการเราแย่ต้องอาศัยโฆษณาตบตาประชาชน และเจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้นก็หาว่าเราใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ลูกน้องบางคนก็มองว่าไม่จำเป็น เพราะไม่เข้าใจจุดหมาย แต่ผมเห็นว่า โฆษณาเป็นสิ่งสำคัญ และเราต้องยอมลงทุน นี่คือการวิจัยอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเมื่อเข้าตรงจุด เราดำเนินแผนงานที่มุ่งจุดนั้น ความสำเร็จก็เกิดขึ้นอีกแผนงานที่ส่งผลให้เกิดความสำเร็จนั้นบางครั้งมาจากไอเดียริเริ่มเพียงจุดเดียว ตอนนั้นการทำงานเป็นแบบ one man's show ข้าพเจ้าถืออำนาจเผด็จการ แม้ใครจะไม่เห็นด้วยก็สั่งการให้ทำได้ หากต้องการใช้การวางแผน ประชุมลงความเห็นเหมือนปัจจุบัน คงไม่มีทางทำได้คงจะถูกคัดค้านไปในที่สุด ความคิดดีๆ ในบางครั้งก็ไม่อาจเป็นผลขึ้นมาได้ หากคนมองไม่เห็นประโยชน์จากความคิดนั้น การที่มองไม่เห็นเป็นเพราะความรู้ของคนเราไม่เท่าเทียมกันทุกเรื่อง เราจึงต้องศึกษาให้ความรู้ความคิดตามทันกัน การทำงานจึงเป็นไปด้วยดีสอดประสานกันอย่างเป็นผล"

ในต้นปีพุทธศตวรรษที่ 25 ในขณะที่จอมพลสฤษดิ์ล้มจอมพลป.พิบูลสงครามแล้วเข้ามาใช้ระบบ "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว" นั้นก็เป็นระยะเวลาของชายร่างใหญ่ผมทรงมหาดไทย อายุ 42 ปี กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของชีวิต

การตัดสินใจของเขาในช่วงนั้น ถ้าตัดสินใจผิดก็คงจะไม่มีเครือสหพัฒน์อย่างทุกวันนี้ สหพัฒน์อาจจะยังคงอยู่แถวๆ ทรงวาดเป็นเอเย่นต์ขายส่งสินค้าตลอดมาหรืออาจจะล้มหายตายจากไปแล้วก็ได้

สิบห้าเต็มที่ เทียม โชควัฒนา ต้องวุ่นวายกับการค้าขายของเบ็ดเตล็ดที่ต้องสั่งจากฮ่องกง จากญี่ปุ่น ตั้งแต่เสื้อกล้ามตราลูกไก่ไปจนถึงกระติกน้ำตรานกยูง พอจะทำให้นายห้างเทียมเข้าใจถึงสัจธรรมของการเป็นเอเย่นต์ได้ดีว่า แท้ที่จริงแล้วก็คือ การยืมจมูกคนอื่นหายใจนั่นเองแหละ

ในต้นปี 2502 นับได้ว่า เป็นระยะเวลาของแตกหน่อในเครือสหพัฒน์อย่างจริงจัง

หรือจะพูดได้ว่า ตั้งแต่ปี 2500-2516 เป็นจังหวะการขยายตัวอย่างเต็มที่ของสหพัฒน์

การที่สหพัฒน์ ยืนหยัดอยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะนโยบายการตลาดและการขายที่เป็นนโยบายบุก

จากการแข่งขันกันมากในตลาด เทียม โชควัฒนา ได้วางแผนให้สหพัฒน์ เองก็ต้องแข่งขันกันเองด้วย โดยการแบ่งแยกคนที่มีความสามารถออกไปสร้างอาณาจักรใหม่เพื่อเป็นการขยายกิจการโดยให้นำทีมที่สนิทสนมกันออกไป พร้อมกับการออกไปของทีมใหม่ เทียม โชควัฒนา ก็ยกสินค้าบางชนิดที่ยืนอยู่ในตลาดได้แล้วให้นำไปเลี้ยงตัวด้วยก่อนที่จะมีการเพิ่มสินค้าเข้ามาอีก

ภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็ผลักให้สหพัฒน์ และสหพัฒน์เองก็ต้องสร้างกำลังคนขึ้นมาทดแทนคนเก่งๆ ที่ขาดไปรวมทั้งต้องหาสินค้าตัวใหม่เข้ามาทดแทนตัวเก่าด้วย

ตัวอย่างของการแข่งขันซึ่งกันและกันที่เห็นได้ชัด คือ สินค้าประเภทเครื่องสำอาง

สหพัฒน์ เริ่มเพี้ยซ ในปี 2506 และปัจจุบันนี้มีเครื่องสำอางอยู่ในมือเกือบ 10 ยี่ห้อ ที่ต้องแข่งขันกัน เทียม โชควัฒนา พูดถึงนโยบายด้านนี้ว่า

"ผมจำได้ว่า สหพัฒน์ เริ่มกิจการเครื่องสำอาง ในปี 2506 จนถึงปัจจุบันนี้ เรามีเครื่องสำอางเกือบ 10 ตรา แต่ละบริษัทก็มีฝ่ายจัดการของตัวเอง มีการแข่งขันกันเอง จนกระทั่งบางคนเคยบ่นว่า ผมลำเอียงกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ส่งเสริมสนับสนุนให้เท่าเทียมกัน บางครั้งเมื่อบริษัทหนึ่งจะมีแผนงานอะไรก็ไม่กล้าที่จะให้ผมรู้ บางทีก็พูดเลยไปถึงว่า ผมควรจะใช้อำนาจของประธานกรรมการสหพัฒน์ ยับยั้งการตั้งบริษัทผลิตเครื่องสำอางในเครือเสีย ไม่ควรให้ตั้งขึ้นมามากๆ เพื่อแข่งขันกัน ผู้ที่พูดยังได้ตำหนิว่า ผมได้วางแผนงานเกี่ยวกับการผลิตการขายเครื่องสำอางผิดพลาด

ในการเปิดเครือบริษัทเครื่องสำอางขึ้นหลายบริษัทนั้น ผมมีนโยบายและเหตุผลอยู่หลายประการ เครื่องสำอางในไทยนั้นถ้าจะนับทบทวนกันแล้วจะเห็นได้ว่า ตราเรฟลอน หรือเอลิซาเบทอาร์เดน เป็นตราเก่าแก่มีมาก่อนคนอื่น แต่การขายของเขาเป็นแบบขายกันตามสบาย ไม่มีนโยบายแข่งขัน ที่ขายแบบแข่งขันแย่งตลาดกันอย่างหนักก็ดูจะเป็นสินค้าของบริษัทในเครือสหพัฒน์ ซึ่งทุ่มเทกันทุกด้าน ไม่ว่าจะด้วยด้านบริการลูกค้า โฆษณา หรือของแถม ทั้งสืบเสาะหาไอเดียทั้งที่คิดขึ้นเอง เลียนแบบดัดแปลงจากผู้อื่นเพื่อให้ก้าวหน้ากว่าคู่แข่งขัน สภาพการแข่งขันแบบกระตือรือร้นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากผมใช้ อำนาจประธานกรรมการยับยั้ง การตั้งบริษัทเครื่องสำอางไม่ให้มีเพิ่มขึ้น การตั้งบริษัทเครือบริษัทขึ้นมาแข่งขันกันเองก็นับว่าเป็นหลักการข้อหนึ่งที่ถูกต้องในการบริหารธุรกิจ ที่มีการแข่งขันการค้ากันโดยเสรี หากขาดการแข่งขันเสียแล้ว ความคิดสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าก็เกิดขึ้นได้ยาก และเป็นหลักที่ยึดปฏิบัติกันอยู่ในสหรัฐฯ ปัจจุบัน

ผมดีใจอยู่อย่างที่ว่า การแข่งขันแย่งตลาดและลูกค้าของบริษัทในเครือสหพัฒน์ นั้น เราแข่งขันกันในด้านถูกวิธี คือในด้านพยายามให้บริการแทนที่จะเป็นการแข่งขันตัดราคากันเองแบบเชือดเชือนตัวเอง ทำให้เรามีผลกำไรมาขยับขยายกิจการของเราให้มั่นคงกว้างขวางยิ่งขึ้น ถ้าเราแข่งขันกันแบบตัดราคาซึ่งกันและกันแล้ว กิจการเราคงไม่เจริญมั่นคงเหมือนปัจจุบัน มีแต่จะลดน้อยถอยลงจนพังไปในที่สุด ก็อาจจะเป็นได้" เป็นผลงานของ one man's show มาตลอด

ก็ยังนับว่า โชคดีทั้ง one man's show ที่ชื่อ เทียม โชควัฒนา นั้นเป็นคนที่แก่แต่อายุ สติปัญญามันสมองมิได้แก่ลงไปด้วยเลย การยอมรับความเปลี่ยนแปลง และการมองหาความคิดใหม่ๆ ของนายห้างเทียมเป็นขบวนการที่ไม่ได้หยุดนิ่งแม้กระทั่งในวันนี้ที่นายห้างเทียมอายุได้ 69 ปีแล้ว

เทียม โชควัฒนา ยอมรับการเป็น one man's show ว่า

"กิจการของสหพัฒน์ก็คล้ายคลึงกับกลุ่ม Mitsubishi หรือกลุ่ม Mitsui เพราะเครือของสหพัฒน์ ประกอบด้วยโรงงานหลายโรงงาน หลายบริษัท ทำให้กู๊ดวิลล์ของเราในวงการค้าเป็นที่เชื่อถือและยอมรับ ทุกบริษัทในเครือของเราต่างก็ประกอบกิจการของตนเองได้อย่างราบรื่นเพราะอาศัยกู๊ดวิลล์ซึ่งเราต่างก็มีส่วนในการสร้างสรรค์ขึ้นมา ผมเป็นห่วงอยู่แต่ว่า ในทางที่กลับกัน หากกิจการของบริษัทใดในเครือของเราต้องเสื่อมลง อันเนื่องมาจากการบริหารไม่ดี การปกครองควบคุมย่อหย่อน ก็จะเป็นเหตุหนึ่งที่จะทำให้เกียรติคุณของเครือสหพัฒน์ ต้องตกต่ำ หรือเสื่อมทรามลงไป ความห่วงใยอันนี้ทำให้ผมต้องยื่นมือเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการของบางบริษัทอยู่เสมอ"

พ.ศ.2515 ก็เกิดบริษัทสหพัฒนาอินเวสเมนท์ ขึ้นมาเป็น concept ของ Holding Company และก็เริ่มเป็นจุดที่นายห้างเทียมจะค่อยๆ ปล่อยมือในเรื่องการบริหาร day to day operation ให้กับคนอื่น อีกประการหนึ่งบรรดาลูกๆ ของเทียม โชควัฒนา ก็ปีกกล้าขาแข็งพอที่จะนำเรือด้วยตัวเองมาหลายปีพอสมควรแล้ว

ถ้าจะนับปี 2500-2501 เป็นช่วงแห่งการร่วมลงทุน และสร้างฐานทางอุตสาหกรรมของเครือสหพัฒน์ แล้ว 2510-2519 คือ การพัฒนาเทคโนโลยี ส่วนการมุ่งพัฒนาคุณภาพจริงๆ นั้น เริ่มเอาช่วงประมาณปี 2516

ในทศวรรษนี้เป็นทศวรรษของการ consolidation ในเครือสหพัฒน์ จากการไปลงทุนสร้างสวนอุตสาหกรรมที่ศรีราชา บนเนื้อที่ 800 ไร่ โดยที่สวนอุตสาหกรรมนี้จะเป็นที่รวมของการผลิตของเครือสหพัฒน์ ในที่สุด ซึ่งจะมีอุปกรณ์ที่ทันสมัย เช่นcomputer ระบบ on-line มีเทเล็กซ์ และโทรศัพท์สายตรง 60 เลขหมาย มีคลังสินค้า อ่างเก็บน้ำ สวนสาธารณะ ฯลฯ

ส่วน ดำหริ ดารกานนท์ น้องเขยนายห้างเทียมนั้นหลังจากที่แยกไปตั้งโรงงานซิปวีนัส ก็เจริญเติบโตไปตามวิถีทางของตน ได้ไปสร้างกลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยนขึ้นมาโดยมีนายห้างเทียมเป็นผู้ร่วมลงทุนด้วย ในระยะแรกจนล่าสุดเมื่อสหยูเนี่ยนเข้าสู่ตลาดหุ้น สัดส่วนของ เทียม โชควัฒนา ในกลุ่มสหยูเนี่ยนก็ลดน้อยลงเหลือเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์

กลุ่มบริษัทของสหยูเนี่ยนก็มีอยู่ด้วยกัน 23 บริษัท ดังนี้ :-

SAHA-UNION INTERNATIONAL (SINGAPORE)

บริษัท สหยูเนี่ยน จำกัด

บริษัท ยูเนี่ยนแคปปิทอลอินเวสเม้นท์ จำกัด

บริษัท ยูเนี่ยนอุตสาหกรรมสิ่งทอ จำกัด

บริษัท ยูเนี่ยนการ์เม้นท์ จำกัด

บริษัท ยูเนี่ยนอุตสาหกรรมด้าย จำกัด

บริษัท โรงงานรวมอุตสาหกรรม จำกัด

บริษัท ยูเนี่ยนไพโอเนียร์ จำกัด

บริษัท ยูเนี่ยนเสรี จำกัด

บริษัท วิสาหกิจฝ้ายไทย จำกัด

บริษัท แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด

บริษัท ยูเนี่ยนไทย-นิจิบัน จำกัด

บริษัท ยูเนี่ยนพลาสติก จำกัด

บริษัท ยูเนี่ยนการพิมพ์ จำกัด

บริษัท เท็กซ์ปอร์ตอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

บริษัท คอมพิวเตอร์ยูเนี่ยน จำกัด

บริษัท ยูเนี่ยนยูนิเวิร์ส จำกัด

บริษัท บางกอกแอธเลติก จำกัด

Saha-Union Internatinal (U.S.A.) inc

Saha-Union International ltd. (Hong Kong)

Saha-Union International (Singapore) Pte.,ltd.

บริษัท หลักทรัพย์ ยูเนี่ยน จำกัด

บริษัท ยูนิเวสท์ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด

ทั้งหมดมีสินทรัพย์รวมสิ้นสุด ณ ปี 2526 เป็นเงิน 2,642 ล้านบาท

ถ้าจะรวมกลุ่มของสหพัฒน์และสหยูเนี่ยนเข้าไปแล้ว ก็จะเป็นกลุ่มบริษัทที่มีจำนวนบริษัทประมาณ 100 บริษัท สร้างงานให้คนร่วม 2-3 หมื่นคน มีสมาชิกครอบครัวที่ต้องพึ่งพาอีกเป็นแสน ส่งสินค้าออกไปสู่ต่างประเทศ นำเงินตราต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมาก

และก็คงไม่ใช่ เทียม โชควัฒนา คนเดียวหรอกที่สามารถสร้างขึ้นมาได้ถึง 100 บริษัทเช่นนี้

แต่ถ้าไม่มีเทียม โชควัฒนา ที่กล้าบุกตลาด กล้าลงทุนในอุตสาหกรรม มองการณ์ไกลและซื่อสัตย์ยุติธรรมกับคนอื่นทุกคนแล้ว วันนี้สหพัฒน์และสหยูเนี่ยนก็คงจะไม่ใช่สหพัฒน์ และสหยูเนี่ยน อย่างทุกวันนี้

และให้ตายซิครับ! ผมยังไม่เคยได้ยิน เทียม โชควัฒนา ทวงบุญคุณเลยแม้แต่แอะเดียวว่า ถ้าไม่มีตัวท่าน สหพัฒน์ คงไม่เป็นอย่างนี้ มีแต่นั่งพบคนโน้นคนนี้ พูดคุยหาความรู้เพิ่มเติมอย่างไม่รู้จักหมดจักสิ้น

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us