|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เสน่ห์อย่างหนึ่งของหมู่บ้านในเมือง Carmel-by-the-Sea หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า Carmel รัฐแคลิฟอร์เนีย คือ ประเพณีที่คนในหมู่บ้านช่วยกันทำให้บ้านของตนเองมีเอกลักษณ์เฉพาะ ด้วยการตั้งชื่อบ้านเป็นกิจจะลักษณะและต่างก็รู้จักบ้านแต่ละหลังตามชื่อที่ตั้งมากกว่าตามเลขที่บ้านตามปกติ
สำหรับคู่สามีภรรยาผู้ซึ่งต่างเป็น “ม่าย” มาก่อน พรหมลิขิตชักนำให้ได้พบกันจนครองคู่กันในที่สุด ต่างช่วยกันสร้างรังรักบนคาบสมุทรมอนเทอเรย์ และตั้งชื่อบ้านหลังน้อยว่า An Tearmann ซึ่งเป็นภาษาไอร์แลนด์หมายถึง “ที่หลบภัย”
บ้านหลังงามกะทัดรัดนี้ออกแบบโดย Dirk Denison สถาปนิกจากชิคาโก โดยให้ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางต้นไซปรัสหนาทึบที่ปกคลุมด้วยหมอก และหันหน้าออกสู่ชายหาดขาวสะอาดตาและเจิดจ้าเมื่อต้องแสงแดด
หากพูดว่าบ้านหลังนี้ตั้งบนทำเลทองก็ไม่ผิด เพราะอยู่บน “จุดชมวิวของ Carmel” ตั้งบนที่ดินแปลงแคบๆ บนเนินเตี้ยของ หาดเพ็บเบิล ทำให้เห็นวิวมหาสมุทรแปซิฟิกได้เต็มตา จุดนี้เจ้าของบ้านถือเป็นเรื่องดีอย่างที่สุด แต่การอยู่บนทำเลทองก็มีข้อเสียตรงที่ทุกคนอยากสร้างบ้านแถบนี้กันทั้งนั้น พวกเขาจึงรู้สึก ถึงความไม่เป็นส่วนตัวเท่าไรนัก เพราะทั้งสองด้านมีบ้านพักอื่นๆ ขนาบข้าง จึงไม่ต้องสงสัยที่ต้องมีนักท่องเที่ยวหมุนเวียนเข้าพักและป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ๆ นับพันคน
Denison จึงต้องแก้ปัญหาให้ด้วยการออกแบบบ้านให้ส่วนหน้ายกพื้นสูงกว่าระดับพื้นถนน ทำให้คนอยู่ในบ้านมีความเป็น ส่วนตัวมากขึ้น ทั้งยังเห็นทิวทัศน์ของมหาสมุทรตรงหน้าได้ชัดเจน ไม่มีอะไรบังแม้แต่น้อย
เดิมที เจ้าของบ้านผู้เป็นเจ้าของธุรกิจประกันสุขภาพกับภรรยาซื้อที่ดินแปลงนี้ไว้เพื่อสร้างบ้านพักสำหรับวันสุดสัปดาห์ แต่ภรรยาของเขาเสียชีวิตไปก่อน ในเวลาเดียวกัน คู่ชีวิตคนปัจจุบันของเขาซึ่งทำธุรกิจประกันสุขภาพเหมือนกัน ก็กำลังสร้าง บ้านพักแถบเทือกเขาบลูริดจ์ไว้พักผ่อนในบั้นปลายของชีวิต และเธอก็เสียสามีไปเช่นกัน
ดูเหมือนโชคชะตาตั้งใจล้มแผนของคนทั้งสอง ฝ่ายภรรยา เล่าว่า
“ชีวิตเราได้พบเห็นเรื่องราวต่างๆ มาแล้วมากมาย เราจึงแสวงหาความสงบ แสวงหาที่ที่ปลอดภัยสำหรับตัวเรา เพื่อนๆ และคนในครอบครัว นั่นคือ ความสงบนิ่งอย่างเซน”
Denison ได้ชื่อว่าเป็นสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญการก่อสร้างงานไม้สไตล์ญี่ปุ่นรูปแบบทันสมัย ผลงานออกแบบสำหรับคู่สมรส ใหม่จึงเป็นบ้านสองชั้นพร้อมระเบียงและห้องทำสมาธิบนหลังคา เขาเน้นไม้สัก ไม้ซีดาร์ และไม้มะฮอกกานี ส่วนผนังและประตูสวนใช้ทองสัมฤทธิ์ ส่วนหลักการเลือกใช้วัสดุอยู่ที่นอกจากต้องตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่ต้องรับลมทะเลตลอดเวลาและอยู่ติดกับมหาสมุทรแล้ว ยังต้องทนทานต่อแรงลมพายุฤดูหนาวและเกลือจากทะเลด้วย
Carmel เป็นเมืองที่ภาคภูมิใจในตนเอง เพราะบังคับใช้กฎหมายการแบ่งเขตเมืองอย่างได้ผล สามารถบังคับใช้ลงไปในรายละเอียดจนทำให้คู่สามีภรรยาต้องสร้างบ้านตามรอยเท้าบ้านหลังที่มีอยู่เดิม โครงสร้างบ้านหลังใหม่จึงมีเนื้อที่ขนาดเล็กกะทัดรัด เพียง 1,950 ตารางฟุต
Denison เล่าว่า “เรารู้ดีว่ามีเนื้อที่ไม่มากนัก เราต้องวางแผน สร้างบ้านพักอย่างละเอียดลออ”
หลังจากทั้งคู่ให้โจทย์ว่า ต้องการบ้านที่ให้ความรู้สึกเหมือน อยู่ในเรือที่ต่อด้วยฝีมือช่างผู้ชำนาญการอย่างสุดแสนประณีต ห้องนั่งเล่นใหญ่ในบ้านจึงแลดูกลมกลืนเป็นกันเองอย่างสบายๆ โดย Denison ออกแบบบังตาทำด้วยแผ่นกระดานและเหล็กวางเรียงต่อเนื่องกันในแนวตั้งมองดูเหมือนเครื่องดนตรีสำหรับเคาะให้จังหวะ บังตาที่ว่านี้ทำให้ฝ่ายสามีนั่งดูทีวีในห้องนั่งเล่นได้อย่างสบายใจ ขณะเดียวกันก็คุยกับคู่ชีวิตที่กำลังง่วนอยู่กับการปรุงอาหารรสเลิศ อยู่ในครัวได้ด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อไปยืนมองจากปลายด้านหนึ่ง ของบ้าน จะเห็นบังตามีรูปแบบเป็นทางการ แลดูแข็งแกร่ง และในเชิงสถาปัตยกรรมจะเป็นเหมือนป่าที่สามารถกรองแสงจ้าจากชายหาดได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ลานบ้านสไตล์ญี่ปุ่นถือเป็นบริเวณหรูหราที่สุดของบ้าน ได้รับการออกแบบเป็นพื้นที่ปิดในแนวยาว มีประตูกระจกทั้งสองด้าน ประตูด้านหนึ่งเปิดออกสู่ห้องนอนใหญ่ ขณะที่อีกด้านหนึ่งเปิดสู่ห้องนั่งเล่น หลังคาบริเวณนี้เป็นกระจก พยุงด้วยเคเบิลที่ยืด หยุ่นได้ หลังคากระจกทำหน้าที่นำความอบอุ่นเข้ามา แม้ในวันอากาศชื้น Denison จึงติดตั้งอ่างสำหรับแช่ตัวไว้ใกล้กับห้องนอน
เจ้าของผู้เป็นสามีเล่าว่า
“เราทำทุกวิถีทางไปสู่ความเรียบง่าย”
บ้านหลังใหม่นี้นอกจากจะเป็นผลงานสถาปัตยกรรมชิ้นเยี่ยม ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งรางวัลชีวิตที่ได้จากการทำงานหนักของคนทั้งคู่ด้วย ผู้เป็นภรรยายอมรับว่า
“มันดูดีกว่าที่ดิฉันคิดไว้เสียอีก คงไม่มีอะไรวิเศษกว่าประสบการณ์ที่ได้อยู่ในบ้านที่ออกแบบอย่างประณีตทุกตารางนิ้ว”
สถาปนิกจอมเนี้ยบอย่าง Denison คลั่งไคล้เฟอร์นิเจอร์ built-in มาก เพราะนอกจากจะสวยงามแล้วยังประหยัดเนื้อที่ด้วย แม้แต่โซฟาในห้องนั่งเล่นและเฮดบอร์ดไม้ในห้องนอนใหญ่ก็ยังเป็นแบบ built-in
ความน่าทึ่งอีกอย่างหนึ่งอยู่ที่ห้องทำสมาธิบนหลังคา ซึ่งเวลาจะขึ้นไปต้องใช้บันไดนอกบ้านที่ทำด้วยกระจก ไม้สัก และเหล็ก ภายในห้องปูเสื่อตาตามิทอด้วยฝีมือประณีตเพื่อซ่อนที่นอน เอาไว้ Denison อธิบายความพิเศษตรงนี้ว่า “คุณสามารถนอนใต้ช่องวงกลมแล้วมองขึ้นไปบนท้องฟ้า มันให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในเกสต์เฮาส์เล็กๆ ก็ไม่ปาน”
เขายังตบท้ายด้วยปรัชญาว่า
“แนวคิดการสร้างสรรค์พื้นที่ขนาดเล็กลงและมีส่วนเชื่อมต่อนี้ถือเป็นงานหลักของเรา มันดีมากที่ได้อยู่กับของน้อยสิ่งลงแต่ มีคุณภาพสูงสุด”
|
|
|
|
|