Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2527








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2527
เมื่อผมไปดูผู้ใหญ่เรียนหนังสือ             
โดย สนธิ ลิ้มทองกุล
 

   
related stories

เครือซิเมนต์ไทย มหาวิทยาลัยนักบริหาร

   
www resources

โฮมเพจ เครือซิเมนต์ไทย

   
search resources

เครือซิเมนต์ไทย
Education
Consultants and Professional Services




ผมเคยเห็นการอบรมและสัมมนามามากแล้วจากอาชีพสื่อมวลชนที่ต้องมีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้องเสมอ

แต่ผมยังไม่เคยเห็นนักเรียนโข่งที่ไหนที่ตั้งอกตั้งใจเรียนหนังสือกันเหมือนกับบรรดาพวกนักเรียนเครือซิเมนต์ไทย ที่เข้าเรียนโครงการ MOP (Managemrnt Development Program) ที่โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำ เมื่อประมาณกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

3 ล้าน 5 แสนบาทคือเงินที่เครือซิเมนต์ไทยยอมทุ่มเทให้กับนักเรียนโข่ง 33 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 53 ปีจนต่ำสุด31 ปี เฉลี่ยแล้วคนละแสนกว่าบาท!

ถ้าเป็นองค์กรอื่นที่มีเจ้าสัวเป็นเจ้าของ น้ำตาก็อาจจะไหลออกมาด้วยความเสียดายก็ได้!

การเรียนหนังสือของทุกๆ โครงการ MOP คือการเข้าไปกินอยู่เหมือนโรงเรียนประจำ

ทุกคนมีตารางที่ตายตัว และเข้มงวด เข้าห้องเรียนตั้งแต่ 08.30 น.เช้า แล้วก็เรียนจนถึงเย็นบางวันก็ต้องเรียนกันถึง 3 ทุ่ม วันเสาร์อาทิตย์ไม่หยุด เรียกได้ว่า 21 วันที่อยู่ชะอำ เป็น 21 วัน ของการกลับเข้าไปเป็นนักเรียนอย่างเต็มที่

นอกจากคณาจารย์ที่เอามาจาก J.L.Kellogg Graduate School of Management จาก Nort Western University แล้วยังมีทีมงานจากศูนย์ฝึกอบรมทั้งทีมเข้ามา back up ด้วย ซึ่งมีทั้งวิดีโอเทป เครื่องถ่ายเอกสาร พิมพ์ดีด พร้อมด้วย IBM PC อีกเกือบ 10 เครื่อง

ด้วยความมุ่งมั่นในความเป็นเลิศของเครือซิเมนต์ไทย

บรรดานักเรียนทั้งหลายก็เลยอยู่กินอย่างเป็นเลิศทีเดียว

“บริษัททุ่มเทให้พวกเราอย่างมากๆ อยู่โรงแรมอย่างดี กินกันให้เต็มที่จะกี่มื้อก็ได้ไม่จำกัด มิหนำซ้ำยังมีบรรดาผู้ใหญ่ของบริษัทแวะเวียนกันมาให้กำลังใจ และแนะนำ” ธีรชัย เชมนะสิริ ประชาสัมพันธ์อาวุโสและหนึ่งในนักเรียนโข่ง 33 คนนั้นพูดกับ “ผู้จัดการ”

ทั้ง 33 คนที่เข้ามาเรียนอยู่ในระดับหัวหน้าส่วนทั้งสิ้น มีผู้หญิงอยู่เพียงคนเดียว และเป็นคนแรกของโครงการ MOP ตั้งแต่มีมา 4 รุ่น

คัทลียา แสงศาสตรา หัวหน้าส่วนงบประมาณ จบบัญชีจุฬาฯ และเข้าปูนฯ เมื่อประมาณปี 2515 คัทลียา หรือ “Caterpillar” ที่เพื่อนๆ ร่วมชั้นตั้งฉายาในฐานะที่เป็นบุปผาเดียวในหมู่ก้อนหินพูดกับผมว่า “ได้เรียนรู้มาก และซึ้งที่บริษัททุ่มเททุกอย่างเพื่อการพัฒนาพนักงาน”

ทั้ง 33 คนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นความดีของบริษัทที่เห็นคุณค่าของการพัฒนาพนักงาน

เรือเอกชัยชาย ภิญญาวัชน์ หัวหน้าส่วนผลิต 2 ฝ่ายกิจการคอนกรีตผสมเสร็จ จบวิศวกรรมศาสตร์ทั้งปริญญาตรีและโทจาก MIT (Massachusetts Institute of Technology) ทางสายเทคนิคคิดว่า “ได้เปิดหูเปิดตากว้างมากๆ หลังจากการเรียนครั้งนี้ เพราะทำให้เรารู้ลึกซึ้งถึงธุรกิจในด้านต่างๆ”

ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะแต่ละวิชาที่อาจารย์จากต่างประเทศถมเข้าใส่นักเรียน ไม่ใช่วิชาจะมานั่งฟังกันเพียงชั่วโมงเดียวจะเข้าใจ

ผมได้มีโอกาสไปสังเกตการณ์ในวันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม และได้ทันเข้าไปนั่งฟัง Robert J. Weber, Professor of Managerial Economics/Anddecision Science พูดเรื่อง “Production and Operations Management”

สิ่งที่ Weber สอนนั้นเป็นการสอนแบบ Macro เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจสถานการณ์กว้างๆ และรู้สึกประยุกต์เหตุการณ์ต่างๆ เข้ามากับสิ่งที่เรียน

Weber บอกว่า “As you leave this program and look forward in your careers, you'll find many opportunities for you. I ask that you always keep your eyes open for the opportunities and apply the knowledge and have the courage to challenge the methods ifyou tought that there's a better way”

จบแล้วนายช่างทวี บุตรสุนทร ก็เป็นผู้กล่าวสรุปในตอนบ่ายด้วยลีลาและวิธีการที่วิเศษซึ่งสามารถจะทำเรื่องยากให้เข้าใจกันอย่างง่ายๆ

ผมฟังนายช่างทวีพูดด้วยความประหลาดใจที่คนซึ่งจบมาสายเทคนิคเช่นนายช่างแต่สามารถพูดเรื่องการเงินการตลาดได้อย่างทะลุปรุโปร่ง และผู้ฟังก็ฟังอย่างสนุกสนานได้ทั้งความรู้และความบันเทิง

ถ้าจะเรียกนายช่างทวีว่าเป็น Prolific Speaker ก็คงจะไม่ผิดหรอก

และนี่ก็คืออีก depth หนึ่งของผู้บริหารเครือซิเมนต์ไทย

“He's supposed to be one of the best operation man in Asia” ฝรั่งคนหนึ่งเคยบอกผมไว้นานแล้ว

และผมก็เชื่ออย่างนั้นจริงๆ!

ผมได้มีโอกาสร่วมสังสรรค์กับบรรดาผู้ที่เข้ามาอบรมที่โรงแรมสายลม หัวหิน ก็รู้สึกประทับใจพอสมควร

ประทับใจตรงที่พอเข้าในงานเราก็รู้สึกว่ามันมี norm ของปูนฯ อยู่ มันบอกไม่ถูก มันต่างกับการสังสรรค์ขององค์กรอื่นที่อาจจะเอะอะเฮฮามึงวาพาโวยมากเป็นพิเศษ แต่วันนั้นเป็นบรรยากาศที่สุภาพเรียบร้อยและคงลักษณะของการมีสัมมาคารวะ

พวกปูนฯ นี่จะบ้างาน จะเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มใหญ่ จะคุยกันบนวิสกี้ออนเดอะร็อก หรือระหว่างปิ้งหมูสะเต๊ะบนเตาต่างก็พากันพูดถึงเรื่องงาน เรื่อง production เรื่องต้นทุน ฯลฯ

ผมได้มีโอกาสสัมผัสนายช่างทวี บุตรสุนทร เป็นครั้งแรกในคืนวันนั้น นายช่างทวีเป็นคนสูง น่าจะสูงถึง 180-185 เซนติเมตร ตัดผมทรงมหาดไทย คือข้างหลังเกรียนไว้ผมข้างบน

แต่ทุกสิ่งที่นายช่างพูดและแสดงออกมาไม่มีวี่แววของบุคลิกที่อนุรักษนิยมเลยแม้แต่น้อย

นายช่างทวีเป็นคนมีความคิดทันสมัยมากในเรื่องการจัดการ และเป็นคนที่สามารถใช้ตรรกวิทยา และสามัญสำนึกในการแก้ไขปัญหาได้ดีทีเดียว

คุยกับนายช่างทวีวันนั้น ผมรู้สึกว่าใครก็ตามถ้าซื้อหุ้นปูนซิเมนต์ไทยไว้เป็นการลงทุนระยะยาวสำหรับตัวเองและครอบครัว ก็คงจะเป็นการตัดสินใจที่ไม่ผิดและน่าอบอุ่นใจ เพราะนายช่างทวีพูดแต่ละเรื่องเป็นเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ให้บริษัททั้งสิ้น

สามวันสองคืนที่ชะอำกับพวกที่ไปเรียน MOP-4 ทำให้ผมเข้าใจปูนฯ มากขึ้นอีก

ผมเจอนักบริหารมาแล้วหลายระดั และหลายองค์กร แต่ละองค์กรก็ผลิตนักบริหารคนละแบบสุดแล้วแต่วัฒนธรรมขององค์กรนั้นจะเป็นเช่นไร บางองค์กรมีผลผลิตที่ค่อนข้างจะหยิ่งยโสโอหัง นัยน์ตาอยู่บนศีรษะ บางองค์กรก็ผลิตผู้บริหารที่เปิดเผยตรงไปตรงมาแบบฝรั่ง ฯลฯ

แต่สำหรับเครือซิเมนต์ไทยนั้น ผมยอมรับว่าเป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสเข้ามารู้จักกับพวกเขาจริงๆ และเป็นครั้งแรกที่ผมได้พบผู้บริหารขององค์กรตั้งแต่ระดับกลางจนสูงที่ทุกคนรู้ว่านโยบายองค์กรอยู่ที่ใด และการฝึกอบรมการดำเนินชีวิตทั้งธุรกิจและส่วนตัวของเขาก็เป็นในแนวเดียวกัน

บางองค์กรที่ผมรู้จักมีผู้บริหารระดับกลางน้อยรายที่จะเข้าใจถึง Corporate Policy แม้แต่ผู้บริหารระดับสูงเองบางแห่งก็ยังไม่รู้แม้แต่ว่า Corporate Philosophy ของตัวเองอยู่ที่ใด นอกจากกำไรที่ต้องหามาให้ได้อย่างสูงสุด

อีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้านับจากวันนี้ไป 33 คนที่ผมได้มีส่วนไปใช้ชีวิตกับพวกเขาที่ชะอำเมื่อเดือนสิงหาคม 2527 ก็อาจจะเจริญก้าวหน้าต่อไป หลายคนอาจจะมีความสามารถและได้โอกาสไปนั่งบนตำแหน่งสูงในเครือ เป็นผู้ร่างนโยบายและกำหนดความเป็นอยู่วิถีการทำงานของพนักงาน และมีส่วนผูกพันกับสังคมในรูปแบบการผลิตสินค้าให้กับสมาชิกสังคม

ผมเพียงแต่หวังว่าถึงวันนั้น Social Responsibility ควรจะมาก่อน Company's responsibility และนอกเหนือจากวิชาความรู้ที่ได้จาก MOP ที่ต้องใช้เงินเป็นล้านๆ จัดทำ ถ้าผู้บริหารขาดซึ่งคุณธรรมแล้ว จะกี่ MOP ก็คงจะไม่มีความหมายเลยแม้แต่น้อย

ถึงวันนั้นผมก็ยังคงจะเป็นบรรณาธิการนั่งเขียนหนังสือบันทึกเหตุการณ์และแปลความหมายมันออกไปให้สังคมได้รับรู้ และผมก็คิดว่าผมก็ยังคงจำคำพูดที่คุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา พูดกับผมได้ว่า “เครือซิเมนต์ไทยถือว่าผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและสังคมย่อมอยู่เหนือผลประโยชน์อันจะพึงได้จากการค้าทั้งปวง”

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us