|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
นาน นานเท่าใด กว่าจะเดินทางไกลออกไปพบเจอ เมืองที่มีหมอกมัวสลัวๆ และสายฝนพรำ จำ จำขึ้นใจ เส้นทางอันห่างไกลผ่านไพรพนา ข้ามภูผา ข้ามฟ้า มาพบ มาเจอ...
บทแรกของเพลง “น่านน่ะสิ” ประพันธ์โดย ศุ บุญเลี้ยง ที่มีเนื้อหาพูดถึงเสน่ห์ของเมืองน่าน ทำนองและคำร้องที่น่ารักทำให้เพลงนี้กลายเป็นบทเพลงประจำเมืองน่านและประจำใจคนรักเมืองน่านอย่างรวดเร็ว
เสียงเพลง “น่านน่ะสิ” ถูกขับขานสลับกับเพลงคำเมือง ยิ่งช่วยเพิ่มกลิ่นอายความเป็นลานนาให้กับบรรยากาศ งานเปิดใหม่ของโรงแรมไม้อายุเกือบ 80 ปี เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา หรือเพียง 3 วันหลังวันคล้ายวันเกิดของ เจ้าของโรงแรมคนใหม่ ทั้งงานเต็มไปด้วยโคมและตุงสีชมพู ดั่งดอกชมพูภูคา ดอกไม้ประจำถิ่นที่หาดูได้ที่ จ.น่าน เท่านั้น สลับกับสีเงินซึ่งเป็นสีถูกโฉลกกับเจ้าของโรงแรมแห่งนี้
“...พิธีเกิดใหม่ของอาคารไม้แห่งนี้ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของเมืองน่าน เป็นความภูมิใจของชาวเมืองน่านมาเป็นเวลานาน จากโรงแรมไม้ 2 ชั้น “นั่ม เส่ง เฮ็ง” มาเป็นโรงแรมไม้ 3 ชั้น โรงแรม “น่านฟ้า” เป็นเวลามาถึงวันนี้ 80 ปีแล้ว บัดนี้ได้มีการปรับปรุงใหม่ แต่ยังรักษา สถาปัตยกรรมและบรรยากาศของความเป็นล้านนาไว้อย่างเดิม ในวันนี้มาเป็นโรงแรม “พูคาน่านฟ้า”...
...ในวันนี้ฤกษ์งามยามดี ข้าพเจ้าขออัญเชิญพลังอันศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุภูเพียงแช่แห้ง อีกทั้งกฤษฎาภินิหาริย์แห่ง พญาพูคาจากอดีตอันไกลโพ้น มาเป็นสักขีพยาน เพื่อเป็นความปลาบปลื้มความภูมิใจของเมืองน่านสืบต่อไป”
แถลงการณ์เปิดโรงแรมพูคาน่านฟ้าถูกอ่านต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานในพิธี โดยเจ้าของโรงแรมที่มีชื่อว่า “บัณฑูร ล่ำซำ” ซึ่งมาในชุดเถ้าแก่สีน้ำเงินเข้ม โดย ณ วันนั้น เขาเอ่ยอ้างฐานะของตัวเอง ด้วยตำแหน่งประธานกรรมการบริหารบริษัท เครือพูคา จำกัด หาใช่ผู้บริหารระดับสูงแห่งธนาคารกสิกรไทย
ไม่เพียงแถลงการณ์ สูจิบัตรเล่าเรื่องประวัติโรงแรมเก่าหลังนี้ (อ่านรายละเอียดใน “เสน่หามนตราแห่งลานนา”) ที่แจกให้กับแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน ก็เรียบเรียงโดยบัณฑูร
โรงแรมพูคาน่านฟ้า ขนาด 14 ห้อง ดีไซน์ให้เป็นโรงแรมบูติกค่อนข้างหรู หรืออาจจะเรียกได้ว่าหรูสุดในตัวเมืองน่าน ตั้งอยู่บน ถ.สุมนเทวราช ถนนธุรกิจสายสำคัญ ใจกลางเมืองน่าน ด้านหนึ่งติดกับโรงแรมเทวราช โรงแรมเก่าที่ใหญ่ที่สุดของเมือง ขณะที่ อีกด้านติดกับธนาคารกสิกรไทย
บัณฑูรยืนยันว่า ทำเลที่ติดกับธนาคารกสิกรไม่มีส่วนในการตัดสินใจซื้อโรงแรมแห่งนี้เลย โดยเขาเรียกว่า นี่เป็นความบังเอิญที่พอดีราวกับ “ฟ้าประทาน” มากกว่า
“ธุรกิจโรงแรมไม่ใช่ประเด็น โรงแรมไม้เก่าก็ไม่ถึงกับเป็นประเด็น ประเด็นหลักของการตัดสินใจซื้อที่นี่ คือชอบเมืองน่าน ก็อยากมาอยู่ที่น่าน ก็เลยคิดว่าอย่างนั้นก็น่าจะทำอะไรสักอย่าง มันก็บังเอิญที่มีโรงแรมเล็กๆ ลูกหลานกำลังจะขายเพราะทำต่อไปไม่ไหว ก็แปลกที่ผมเกิดความคิดในจังหวะนั้นพอดี” บัณฑูรเล่าที่มาของตำแหน่งเถ้าแก่โรงแรมเล็กๆ
บุพเพที่ทำให้เจ้าสัวกสิกรไทยได้มาเจอกับเมืองน่าน เกิดขึ้นมากว่าปีครึ่งแล้ว เมื่อครั้งบัณฑูรมาเป็นประธานเปิดห้องสมุดแห่งแรกในโครงการ “ธนาคารความรู้คู่ธนาคาร กสิกรไทย” ที่บ้านน้ำพาง จ.น่าน ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกหลังจากที่เขาไม่ได้มาน่านนานมาก แล้ว หลังจากที่พระอาจารย์ที่เขานับถือทักว่าจะได้มาอยู่และทำนุบำรุงเมืองน่าน
หากไม่พูดถึงความผูกพันข้ามภพ แรงบันดาลใจที่ทำให้บัณฑูร อยากมาใช้ชีวิตหลังเกษียณที่น่าน คือบรรยากาศที่เงียบสงบ ถนนหนทางที่สะอาดตา บ้านเมืองเต็มไปด้วยศิลปวัฒนธรรม ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และวัดวาอารามที่สงบและมีพระปฏิบัติดี
สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาจัดให้เมืองน่านเป็นเมืองน่าอยู่อันดับที่ 3 จาก 124 แห่งทั่วประเทศ อันหมายถึง เทศบาลที่น่าอยู่สำหรับผู้อยู่อาศัยและนักท่องเที่ยว ทั้งมิติด้านความปลอดภัย ความสะอาด คุณภาพชีวิตที่ดี การบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล และความเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม
เมืองน่านถูกจัดให้เป็น “เมืองเก่าที่มีชีวิต” และเป็นเมืองเก่าที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ซึ่งมีเพียง 2 แห่งในประเทศไทย อีกแห่งคือเกาะรัตนโกสินทร์ และภายในอีก 2 ปี เมืองน่านจะเป็นเมืองแรกของไทย ที่เอาสายไฟบนถนนลงดินได้ทั้งเมือง
ปลายปี 2552 บัณฑูรซื้อโรงแรมน่านฟ้าในราคา 24 ล้านบาท โดย “แมว มอง” ที่ช่วยหาโรงแรมนี้มาให้ รวมถึงที่ดิน ปลูกบ้านที่เมืองน่าน อาจหมายถึงที่ดินที่ อ.บ่อเกลือ และ อ.แม่จริม ไม่ใช่ใครที่ไหน...
ลักษมันตร์ บุนนาค อดีตประธานกรรมการบริษัท ภัทร เรียลเอสเตทฯ บริษัทอสังหาฯ เครือแบงก์กสิกรไทย เป็นลูกน้อง คนสนิทผู้รับหน้าที่ดูแลเรื่องอสังหาฯ ให้บัณฑูรด้วยประสบการณ์บริหารโรงแรมบูติกของตัวเองที่ปายและเชียงใหม่ เขาจึงเป็นผู้ช่วยคนสำคัญในการบริหารงานโรงแรมพูคาน่านฟ้า ในตำแหน่งกรรมการ ผู้จัดการเครือพูคา
หลังข่าวการซื้อโรงแรมน่านฟ้าแพร่ไป ชาวเมืองน่านและนักท่องเที่ยวที่เคยมาพักโรงแรมน่านฟ้า หลายคนเริ่มกังวลว่าโรงแรมไม้แห่งนี้อาจถูกทุบไปทำอาคารพาณิชย์ หรือที่จอดรถของธนาคารกสิกรไทย
นับจากปิดโรงแรมตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2553 ก็เป็นเวลาราว 1 ปี ในการบูรณะ โรงแรมเดิมที่ทรุดโทรมมาก โดยบัณฑูรตั้งกรอบเอาไว้ ดังนี้คือ พยายามรักษาโครงสร้างและรูปแบบสถาปัตย์เดิมไว้, ปรับปรุงระบบน้ำ-ไฟ ระบบแอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศให้ทันสมัย และที่สำคัญคือถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ย
นับตั้งแต่ความหมายของโลโกโรงแรม ที่เป็นต้นชมพูภูคาสีชมพู 8 ช่อ บนเนินดิน ภายใต้กรอบสีแดง โดยทั้งหมดเป็นไอเดียของบัณฑูรที่มอบหมายให้ลูกน้องในแบงก์กสิกร ไทยช่วยวาดให้ และให้ซินแสช่วยดูกำกับอีกครั้งว่า โลโกนี้ “เฮง”
เพราะต้นชมพูภูคาเป็นสัญลักษณ์ที่หาได้ที่น่านที่เดียว อาจเหลือเพียงต้นเดียวบนทางไปอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ติดกับ ศาลพญาพูคา ส่วนที่เป็น 8 ช่อเพราะเลข 8 เป็นเลขเฮงของเจ้าสัวปั้น ใต้เนินดินมีคำลานนา อ่านว่า “พูคา” ซึ่งก็คือราชวงศ์ แรกของเมืองน่านในอดีต ที่อาจจะเคยผูกพันกันมาแต่อดีตชาติ ส่วนกรอบสีแดง มีความหมายเพื่อป้องกันสิ่งไม่ดี
ขณะที่ชื่อภาษาจีน อ่านว่า “หวู่-ฮวา-หนาน-ขวา” หรือ “หวู่-ฮวา-น่าน-ฟ้า” เลียนเสียงจากชื่อโรงแรมในภาษาไทย
โดย “หวู่” เป็นแซ่ของบัณฑูร ส่วน “ฮวา” แปลว่าดอกไม้ หนาน-ขวา แปลว่า ชาวจีน โพ้นทะเลที่อยู่ทางใต้ของจีน หรือน่านฟ้า ซึ่งบัณฑูรบรรยายไว้ว่า “นามนี้มีความหมายอันไพศาล”
สำหรับการตกแต่งภายใน บัณฑูรได้อาจารย์สถาปัตย์จากเชียงใหม่มาเป็นผู้ดูแล และสรรหาเฟอร์นิเจอร์ไม้และของตกแต่งสไตล์ลานนามาประดับ คลอกับเพลงบรรเลงสไตล์ลานนาที่บัณฑูรเลือกเอง ยิ่งช่วยส่งเสริมบรรยากาศลานนาให้คละคลุ้งทั่วโรงแรม
วันนี้ โรงแรมไม้อายุเกือบ 80 ปีกลับมาดูสดใสอีกครั้ง ด้วยกระถางดอกไม้ เรียงรายเป็นแนวตามขอบหน้าต่าง ระเบียง และประตู ให้อารมณ์คล้ายกับ “สวิสชาเลต์” แต่ทันทีที่เดินเข้าไปด้านในจะได้กลิ่นอายความเป็นลานนาเต็มๆ ด้วยตุง โคม และธงผ้าของเมืองเหนือ รวมถึงโคมไฟเงินฉลุลายฝีมืออ่อนช้อยสไตล์ลานนา
ล็อบบี้โดดเด่นด้วยภาพเขียนขนาดใหญ่ที่บัณฑูรบอกว่า ซื้อมาจากแกลเลอรี่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ก่อนจะมีโรงแรมนี้ เพราะประทับใจสไตล์ลานนาของภาพที่มีความเป็นน่านอยู่มาก โดยที่เรวัต วงษ์ลา ผู้วาดเป็นศิลปินชาวอีสาน ผู้หลงใหลวัฒนธรรมลานนาอย่างมากจนย้ายตัวเองมาอยู่เชียงใหม่ คล้ายกับเขา
แต่สำหรับบัณฑูร ความบังเอิญยิ่งกว่าการได้ภาพนี้มาก็คือ 4 สาวในชุดพื้นเมืองทางเหนือที่อยู่ในภาพ เสมือนว่าปรากฏออกมาเป็นพนักงานโรงแรมสาวทั้ง 4 คนผู้ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เพราะล้วนมีใบหน้าละม้ายคล้ายคลึงกับนางในภาพเขียนราวกับ “สวรรค์จะส่งสัญญาณว่าที่นี่ใช่”
หลังเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ไม้ประดับด้วยภาพเขียนเลียนแบบจิตรกรรมฝาผนังจากวัดภูมินทร์ ขณะที่อีกด้านของล็อบบี้เป็นมุมจำหน่ายสินค้าของร้าน “ภูฟ้า” ส่วนประตูอีกด้านเชื่อมไปยังห้องทานอาหารเช้าสำหรับแขก และเป็นคาเฟ่บริการเครื่องดื่มทั้งกาแฟ ไวน์ และ “น้ำ มะไฟจีน” น้ำหวานประจำเมืองน่าน ซึ่งมีพื้นที่ย่อมๆ สำหรับเล่นดนตรีสบายๆ อย่างกีตาร์โปร่ง ขลุ่ย หรือเครื่องสายลานนา
ทางเดินอีกด้านเป็น “ผนังประวัติศาสตร์” ประดับด้วยป้ายโรงแรมเดิมและภาพเก่าของโรงแรมน่านฟ้าและเจ้าของเดิม เชื่อมไปห้องสมุดที่เต็มไปด้วย หนังสือหายากที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมไทย และตกแต่งด้วยเรือยาว 52 ฝีพายจำลอง เพื่อแสดงถึงกีฬาที่เป็นเอกลักษณ์และประเพณีขึ้นชื่อของน่าน
ห้องพักทั้ง 14 ห้อง ภายในถูกประดับด้วยภาพเขียนเลียนแบบจิตรกรรมฝาผนังของวัดในภาคเหนือ เครื่องใช้สไตล์ลานนา และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน แต่งเติม ความหรูด้วยผ้าปู “พาซาย่า” ส่วนห้องน้ำก็มีลูกเล่นเป็นหน้าต่างไม้เลื่อนให้คนข้างนอกเห็นได้ และเพิ่มความหรูและ “เฮง” ด้วยผลิตภัณฑ์จาก “มาดามเฮง”
เสียงกระดิ่งเงินดังมาจากระเบียงทางเดินชั้นสาม ถือเป็นอีกส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาเพื่อเสริมฮวงจุ้ย ขณะที่ช่องแสงบนเพดานเป็นดีไซน์เดิมที่มีมาตั้งแต่โรงแรมน่านฟ้ายุค 50 ปีก่อน เพื่อเป็นการใช้แสงอาทิตย์ให้เป็นประโยชน์ ทว่า เจ้าของคนใหม่ได้เพิ่มแผงโซลาร์เซลล์เข้าไป เพื่อนำพลังงานความ ร้อนจากแสงอาทิตย์ไปต้มน้ำร้อนใช้ในโรงแรม
จากราคาเดิมตั้งแต่ 250-600 บาท ราคาหลังปรับปรุง บัณฑูรตั้งไว้ที่ 2-4 พันบาท และขยับขึ้นในฤดูท่องเที่ยว นับว่าเป็นราคาห้องพักที่แพงที่สุดในเมืองน่านขณะนี้ (และอาจแพงสุดใน จ.น่านก็ได้)
ขณะที่ลักษมันตร์มองว่ากลุ่มเป้าหมายของโรงแรมไม้แห่งนี้ น่าจะเป็น ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติที่นิยมการทัวร์วัฒนธรรมและทัวร์เชิงนิเวศ เถ้าแก่ปั้นพูดทีเล่นทีจริงว่า ลูกค้าที่นี่อาจเป็นใครก็ได้ที่อยากสัมผัสบรรยากาศลานนาและสามารถจองได้ บัณฑูรเชื่อว่าทันทีที่เปิดให้จองผ่านอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นเพียงช่องทางเดียว ลูกค้าจะจองคิวจนแน่น โดยพูคาน่านฟ้าจะเริ่มเปิดรับแขกได้ราวเมษายนนี้
เพื่อแยกกระเป๋าของกิจการส่วนตัวกับธนาคารกสิกรไทยให้ชัดเจน บริการทางธนาคารของโรงแรมพูคาน่านฟ้าและบริษัทเครือพูคา บัณฑูรจึงเลือกใช้ธนาคารกรุงเทพสาขาเมืองน่าน ซึ่งอยู่บนถนนเดียวกัน
หากรวมเงินก้อนที่ใช้ซื้อโรงแรมและเม็ดเงินในการรีโนเวตทั้งหมด ครั้งนี้เจ้าสัวปั้นควักทุนส่วนตัวไปกว่า 50 ล้านบาท โดยยืนยันว่า ครั้งนี้ไม่ใช่การลงทุนเพื่อหวังผลกำไร เพียงแต่ขอให้โรงแรมมีกระแสเงินสดสำหรับดำเนินกิจการไปได้ ไม่ขาดทุนในแต่ละเดือน ก็พอ
“ขอแค่อย่ามาเจ๊งใส่ ส่วนเงินที่ลงไปแล้วคงเอามาคิดไม่ได้ เพราะนั่นเป็นความพอใจที่จะสร้างอะไรที่เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรม สร้างอะไรที่คนน่านพอใจ เพื่อรักษาของเก่าที่เป็นเอกลักษณ์และความภูมิใจของชาวน่านให้ดำรงอยู่ต่อไปในความเป็นน่าน” คำกล่าวของเถ้าแก่ปั้นประหนึ่งการฝากตัวกับคนน่าน
สำหรับบัณฑูร การเปิดโรงแรมพูคาน่านฟ้าจึงเป็นภาพสะท้อนความรู้สึกที่ดีต่อเมืองน่าน ไม่ใช่ประเด็นทางธุรกิจและไม่ใช่จุดเปลี่ยนทิศทางชีวิตจากนายแบงก์สู่นักการโรงแรม หากเป็นประเด็นทางจิตวิญญาณ และนับเป็น “จุดเริ่มต้นที่น่ารัก” ของการเป็นคนน่านมากกว่า
แม้จะมีโอกาสมาดูงานโรงแรมเพียงเดือนละครั้ง และแม้ว่าบ้านที่น่านจะยังไม่แล้ว เสร็จ แต่ทางนิตินัย บัณฑูรนับเป็นชาวน่านโดยสมบูรณ์ เขาย้ายสำมะโนครัวจากชลบุรีมาอยู่ที่น่านนานกว่าครึ่งปีแล้ว และมีบัตรประชาชนและใบขับขี่ของเมืองน่านเรียบร้อยแล้ว
สำหรับเครือพูคา นอกจากพูคาน่านฟ้า โรงแรมแห่งแรก ณ วันนี้ ก็ยังไม่มีโรงแรมหรือธุรกิจที่อื่น แต่สิ่งหนึ่งที่เถ้าแก่โรงแรมคนนี้ยืนยันคือ “เครือพูคาจะอยู่ที่น่านเป็นหลัก เพราะที่นี่คือบ้านผม”
ขณะที่บัณฑูรปรารถนาจะเห็นน่านเป็นเมืองสงบเช่นที่เขาคุ้นเคยไปอีกนาน แต่ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา น่านทุกวันนี้ จึงไม่ใช่จังหวัดเงียบๆ อีกต่อไป
“มันเป็นความท้าทายของมนุษย์ ที่จะรักษาคุณค่าในอดีต แต่ยังสามารถพัฒนาต่อไปได้ เมืองน่านควรเติบโตไปโดยไม่ทำลายของเดิม และไม่ควรอยากได้ ใคร่จะเป็นเมืองมหานคร เท่าที่ได้สัมผัสดู คนน่านก็คงจะรักษาความเป็นน่านไว้ คงไม่ปล่อยให้น่านเป็นสมัยใหม่จนเสียบรรยากาศ” บัณฑูรกล่าวในฐานะคนน่าน
ความห่วงใยในเมืองน่านไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่คนน่าน เชื่อว่าคนที่เคยไปเที่ยวน่านหลายคนล้วนหลงรักและหวงแหนเมืองน่าน ไม่แพ้กัน... เหมือนกับศุ บุญเลี้ยง ที่ทิ้งท้ายไว้ในบทเพลงน่านน่ะสิ ด้วยประโยคที่ว่า ...เก็บน่านให้ดีๆ ให้ นาน น้าน น่าน!
|
|
|
|
|