Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา กุมภาพันธ์ 2554
“ไม่แน่นอน” และ “แตกต่าง” Keyword จากโลกร้อน             
โดย พัชรพิมพ์ เสถบุตร
 


   
search resources

Environment




ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหลายๆ แห่งในโลกทุกวันนี้ ถูกอ้างว่าเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน อันเนื่องมาจากการสะสมของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ มาถึงบัดนี้ เป็นที่แน่นอนแล้วว่า กิจกรรมการเผาไหม้เชื้อเพลิงของมนุษย์นั้นคือตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากในเวลาที่รวดเร็ว จนทำให้เกิดความร้อนระอุสะสมอยู่ในบรรยากาศโลก แต่ยังมีความไม่แน่นอนให้สงสัยกันต่อไปว่า ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจะก่อตัวขึ้นในรูปแบบใด และมีความรุนแรงขนาดไหน ซึ่งขณะนี้ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยกำลังพยายามเก็บข้อมูลและวิจัยกันอย่างขนานใหญ่ เพื่อจะคาดการณ์เหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อเตรียมการตั้งรับกับสภาวการณ์ใหม่ที่คาดว่าจะหนักหน่วงไม่น้อย สังคมใดที่สามารถปรับตัวได้ดีหรือปรับตัวได้เร็ว ก็อยู่รอดได้ และสังคมที่ปรับตัวได้ช้าหรือปรับตัวตามไม่ได้ ก็อาจต้องสูญสลายไป

ความไม่แน่นอน (Uncertainty) และ ความแตกต่าง (variation)

จากการสังเกตการณ์สภาวะภูมิอากาศ ที่ปรวนแปรอยู่ในปัจจุบัน ก็เห็นได้ชัดแล้วว่า อุณหภูมิของโลกเราร้อนขึ้นๆ จริง และส่งผลกระทบไปทั่ว แต่ในความแน่นอนก็มีความ แตกต่าง (Variation) และความไม่แน่นอน (uncertainty) ประกอบอยู่ด้วยหลายปัจจัย เช่น พื้นที่แห่งหนึ่งเกิดความแห้งแล้ง พื้นที่อีก แห่งหนึ่งของโลกจะเกิดฝนตกมากผิดปกติ โดยมีความไม่แน่นอนคือ เราไม่สามารถคาดการณ์ ได้แน่ชัด แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ของ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ก็ยังไม่สามารถชี้ชัดไปได้ว่า ความ แตกต่างและความไม่แน่นอนนี้จะเกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร และเมื่อใด

ความแตกต่างจากผลกระทบภาวะโลกร้อน จะต่างกันทั้งรูปแบบและความรุนแรง แต่ละท้องถิ่นจึงต้องศึกษาและสังเกตความเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นของตน เพื่อปรับตัวตั้งรับด้วยตัวเอง

ส่วนความไม่แน่นอนคือ การที่เราไม่อาจบอกได้แน่ชัดว่า อุณหภูมิบรรยากาศโลกจะสูงขึ้นเท่าใดและจะให้ผลกระทบอย่างไร เช่น การละลายของน้ำแข็งจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเท่าใด เพราะในขณะที่มีการละลาย ของน้ำแข็งก็มีการเกิดขึ้นใหม่เป็นบางส่วนด้วย เช่นกัน กระแสน้ำในมหาสมุทรจะปรวนแปรไป ในลักษณะอย่างไร ระบบนิเวศและความหลาก หลายทางชีวภาพจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ความไม่แน่นอนนี้สืบเนื่องมาจากตัวแปรที่เรา มองไม่เห็น และเป็นผลจากระดับกิจกรรมการพัฒนาของมนุษย์ การพัฒนาที่เร่งรัดก็มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงตามไปด้วย ประชาคมโลกจะควบคุมการลดก๊าซได้มากแค่ไหน ส่วนปัจจัยที่มองไม่เห็นและสืบหาหลักฐานได้เป็นบางส่วน ได้แก่ สิ่งที่เป็นสาเหตุ ให้เกิดการเปลี่ยนจากยุคน้ำแข็งเป็นยุคอบอุ่น ข้อมูลแม่เหล็กโลก ข้อมูลการเกิดจุดดับของดวงอาทิตย์และลมสุริยะ (แม้เราจะมีข้อมูลเหล่านี้ในทางดาราศาสตร์และฟิสิกส์ แต่เราก็ ยังหาความสัมพันธ์ร่วมกับภูมิอากาศไม่ได้แน่ชัด) อันมีผลต่อวัฏจักรภูมิอากาศของโลกในอดีต

แม้ความเข้าใจในอดีตสามารถนำไปสู่การคาดการณ์ที่ถูกต้องในอนาคต แต่ทุกวันนี้ เราเพียงแต่คาดการณ์ได้จากหลักฐานข้อมูลที่มีอยู่จำกัด ยังมีข้อมูลสำคัญอีกหลายๆ อย่างที่มีผลต่อภูมิอากาศโลก ซึ่งเรายังต่อไม่ติดตรวจจับค้นหาได้ไม่สมบูรณ์ จึงทำให้การคาด การณ์สภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศล่วงหน้าของนักวิทยาศาสตร์ต้องอาศัยแบบจำลอง ทางคณิตศาสตร์เพื่อวางแผนตั้งรับและอาจจะ มีความคลาดเคลื่อนจากความจริงที่เกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ในความไม่แน่นอนของ ภาวะโลกร้อน ก็มีความแน่นอนอยู่ กล่าวคือ ไม่ว่าอย่างไรก็จะมีภัยพิบัติเกิดขึ้นแน่ๆ แต่จะเกิดในรูปแบบไหน ที่ไหน ยังไม่อาจคาดการณ์และอธิบายได้

กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การเกิดน้ำท่วมฉับพลันขึ้นในออสเตรเลีย เพียงชั่วข้าม คืน น้ำท่วมก็แผ่ขยายเข้าครอบคลุมอาณาบริเวณเท่ากับประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนีรวมกัน (บางแหล่งข่าวบอกว่าเป็นบริเวณกว้าง ถึง 1/3 ของรัฐควีนส์แลนด์) เป็นเรื่องที่เหนือ ความคาดหมาย น้ำท่วมครั้งนี้รวดเร็วมากจนมีผู้เปรียบเทียบไว้ว่าราวกับการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิขึ้นบนบก แต่หากเช็กข้อมูลย้อนหลังกลับไปเพียงไม่กี่ปี รัฐควีนส์แลนด์แห่งนี้ เพิ่งจะเกิดภัยแล้งอย่างรุนแรงเป็นเวลาต่อเนื่อง นานถึงสองปี

ในขณะเดียวกันที่ประเทศบราซิลก็เกิด ฝนตกน้ำท่วมเช่นกัน ความเสียหายที่บราซิลอยู่ที่แผ่นดินถล่มแล้วไหลลงมาคร่าชีวิตผู้คนไปเป็นร้อย

ย้อนมาดูที่เมืองไทย ก็มีภัยพิบัติเกิดขึ้นในทำนองเดียวกัน เมื่อราวๆ เดือนตุลาคม ปี 2010 ได้เกิดอุทกภัยเกือบทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน น้ำจากแม่น้ำ ทุกสายเอ่อท่วมพร้อมๆ กัน ในหน้ามรสุมที่ฝนตกหนักคราวเดียวกัน น้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ทั้งที่ราบสูงโคราชและที่ราบลุ่มภาคกลาง

ส่วนภาคใต้ก็ไม่น้อยหน้า เกิดฝนตกพรำๆ ยืดเยื้อ จนเกิดน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้างหลายจังหวัด นักวิชาการหลายคนอ้างว่า เป็นผลพวงมาจากปรากฏการณ์ลานินญา ที่มีอิทธิพลครอบคลุมมหาสมุทรแปซิฟิกและภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในเวลานี้ จึงส่งผลกระทบโดยตรงกับประเทศในแถบอาเซียน ออสเตรเลีย และบราซิล ซึ่งตั้งอยู่ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก

ลานินญาครั้งนี้มิใช่ธรรมดา มีความรุนแรงมากกว่าปกติ เพราะได้รับอานิสงส์จาก ภาวะโลกร้อนมาเสริมเพิ่มขึ้นด้วย อุณหภูมิอากาศเหนือท้องทะเลสูงขึ้น กระแสน้ำ กระแส ลมในท้องมหาสมุทรก็ปรวนแปรมากขึ้นตามไปด้วย

ลักษณะภูมิอากาศในอดีตของประเทศไทย

ด้วยพิจารณาว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันมีความเกี่ยวพันกับในอดีตทั้งใกล้และไกล จึงมีการรวบรวมงานวิจัยจากสถาบันต่างๆ พบว่า ประเทศไทย มีงานศึกษาเรื่องนี้มาพอสมควร โดยดูหลักฐาน จากวงปีของไม้และละอองเรณู ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้ องค์ประกอบของสังคมพืชที่เคยเจริญเติบโต ในพื้นที่นั้น ประมวลแล้วพอจะอนุมานได้ว่า

เมื่อ 40,000 ปีก่อน สภาพภูมิอากาศ โดยรวมของแผ่นดินอันเป็นที่ตั้งของประเทศไทย เย็นและแห้งแล้งกว่าในปัจจุบัน มีป่าสน กระจายครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ และบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เมื่อ 20,000 ปีก่อน ภูมิอากาศเปลี่ยน แปลงไป โดยมีความชื้นสูงขึ้นและอุณหภูมิสูงขึ้น ปริมาณฝนจึงเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการกระจายตัวของพื้นที่ป่ากึ่งร้อนชื้น (ป่าผสมผลัดใบ) และป่าร้อนชื้น (ป่าไม่ผลัดใบ)

8,000-10,000 ปีก่อน อุณหภูมิและความชื้นสูงขึ้น ทำให้ป่าร้อนชื้นอุดมสมบูรณ์ มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และการใช้ ทรัพยากรป่าไม้เพิ่มขึ้น

ตั้งแต่ประมาณ 4,000 ปีที่ผ่านมา บริเวณภาคเหนือของไทยมีสภาพอากาศแบบเขตอบอุ่นคือมีอากาศหนาวเย็นกว่าในปัจจุบัน เรื่อยมา สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงน้อยมาก จนกระทั่งเมื่อประมาณ 160 ปีที่ผ่านมา ที่ภูมิอากาศเริ่มเปลี่ยนแปลงและปรวนแปรส่งผล ให้พืชพรรณและสัตว์ป่าเปลี่ยนแปลงไปด้วย

ในช่วง พ.ศ.2413-2454 ปริมาณน้ำฝน และอุณหภูมิต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปัจจุบัน แต่ข้อมูลในช่วงปัจจุบัน (พ.ศ.2454-2533) มีความแปรปรวนมาก โดยอุณหภูมิในช่วงเดือน กุมภาพันธ์-เมษายนมีแนวโน้มสูงขึ้น และปริมาณฝนในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมต่ำกว่าในอดีต

ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในปัจจุบัน

เนื่องจากเทคโนโลยีในอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพภูมิอากาศและดาวเทียม สำรวจพื้นผิวโลกก้าวหน้าขึ้นมาก ในปัจจุบัน จึงช่วยให้หน่วยงานและนักวิชาการของไทยศึกษาพยากรณ์ถูกต้องแม่นยำขึ้น จากสถานีตรวจวัดอากาศทั้งหมดในประเทศ พบว่า อุณหภูมิอากาศได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอุณหภูมิสูงสุด อุณหภูมิเฉลี่ย และ อุณหภูมิต่ำสุด เพิ่มขึ้น 0.57 ํC, 0.81 ํC และ 0.89 ํC ตามลำดับ

ในระหว่าง พ.ศ.2508-2549 จำนวนวันที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศา เพิ่มขึ้น 21.3 วัน และจำนวนคืนที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 25 องศา เพิ่มขึ้น 43 วัน การเพิ่มขึ้นพบมากในช่วงหลัง ปี พ.ศ.2533

ปริมาณฝนรวมรายปีมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออก

ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณฝนรวมรายปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ตั้งแต่ พ.ศ.2494-2549 จำนวนพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย โดยเฉลี่ยมีประมาณ 3 ลูกต่อปี มีแนวโน้มของจำนวนพายุลดลง แต่ความรุนแรงของพายุยังไม่ชัดเจน

ส่วนการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลเกิดจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ การพองตัวของน้ำทะเล อันเนื่องมาจากอุณหภูมิของน้ำสูงขึ้น การละลายตัวของน้ำแข็งบนยอดเขาสูงและขั้วโลก (ในขณะที่น้ำแข็งบางส่วนละลาย ก็มีน้ำแข็งเกิดขึ้นใหม่ด้วย) การเคลื่อนตัวของเปลือกโลก อาจยกระดับให้น้ำทะเลเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ และที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาสาธารณูปโภค สิ่งก่อสร้าง และการใช้ที่ดินของมนุษย์

ปัจจัยข้างท้ายนี้แหละที่เป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ชายฝั่ง โดยมากเป็นการทรุดตัวของแผ่นดิน บางแห่งเกิดการเคลื่อนไหลของดิน หรือการตกตะกอนบริเวณชายฝั่ง เป็นผลต่อเนื่องให้เกิดการรุกล้ำของน้ำทะเล การกัดเซาะชายฝั่ง ขึ้นในหลายแห่งของประเทศไทย โดยที่ในความเป็นจริงอาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลเลยก็ได้

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามเอกสาร งานวิจัยต่างๆ พบว่า ยังไม่มีงานวิจัยและการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลมากนัก อีกทั้งข้อมูลก็ยังขัดแย้ง กันอยู่ จึงยังไม่สามารถกล่าวได้ว่าการเปลี่ยน แปลงของชายฝั่งมีสาเหตุมาจากการพัฒนาหรือภาวะโลกร้อน

เมืองไทยจะมีศักยภาพรับมือกับภาวะโลกร้อนได้แค่ไหน

ภัยพิบัติและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในเมืองไทย จะโทษภาวะโลกร้อนอย่างเดียวได้หรือ เมื่อสืบสาวราวเรื่องกันไปจริงๆ แล้ว ภัยพิบัติหลายๆ อย่างในเมืองไทย มีสาเหตุต้นทางมาจากการพัฒนาที่ผิดพลาด เมื่อผนวกกับภาวะโลกร้อนด้วย ก็ทำให้ทวีความรุนแรงมากขึ้นและฉับพลันขึ้น แม้ว่าเมืองไทยจะมีนโยบายระดับชาติในเรื่องโลกร้อนและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ แต่เราก็มีจุดอ่อนที่ไม่สามารถนำนโยบายและแผนหลัก ไปปฏิบัติให้เป็นผลได้ ช่องว่างและอุปสรรคอยู่ตรงไหน เป็นเรื่องที่เมืองไทยจะต้องค้นหา และปรับปรุงกันอย่างจริงจัง

ก่อนอื่นใด ประชาชนคนไทยทั้งหลาย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้วางแผนผู้ปฏิบัติ นักธุรกิจ สื่อมวลชน ตลอดจนนักการเมือง จะต้องเริ่มต้นด้วยการเปิดใจกว้าง มีจิตสำนึกในสิ่งแวดล้อม ศึกษาเข้าใจในสภาพธรรมชาติ จริงๆ มิใช่เพียงแต่การสร้างภาพและโฆษณา กันอย่างเอิกเกริก

*อ้างอิง:
อำนาจ ซิดไธสง ศูนย์ประสานงานและพัฒนางานวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย มีนาคม 2553   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us