|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
วงล้อมของหาดทรายที่ทอดตัวยาว งอกเป็นแหลมจากแผ่นดิน เกิดเป็นอ่าวปัตตานีมายาวนาน ดูเหมือนวงแขนที่ยังยืดไม่สุดและกำลังขยายวงโอบล้อมพื้นน้ำในอ่าวเพิ่มขึ้น ทั้งยังกำลังเปลี่ยนสภาพอ่าวแห่งนี้ให้กลายเป็นทะเลสาบน้ำตื้นขนาดใหญ่
แม้ว่าพื้นทะเลขนาด 74 ตารางกิโลเมตรในอ่าวปัตตานีจะดูกว้างใหญ่ เหมือนจะกลืนให้ใครสักคนจมหายไปต่อหน้าต่อตาได้เลย แต่แท้จริงแล้วกลับมีสภาพไม่ต่างจากสระว่ายน้ำที่มีความลึกสูงสุดแค่ 120 เซนติเมตร เดินถึงกันได้ตั้งแต่ชายหาดจรดปลายแหลม ไม่มีความแตก ต่างของชั้นความลึกที่มากพอจะจัดเป็นสระว่ายน้ำระดับมาตรฐานเสียด้วยซ้ำ
นี่คือสภาพ “ความตื้นเขิน” ของอ่าว ปัตตานี ที่กำลังนำไปสู่ “ปัญหาอันตีบตัน” และ “ความหวังริบหรี่” ว่าจะสามารถหาทางเยียวยาให้อ่าวแห่งนี้กลับมาเป็นแหล่งทำกินที่จะเลี้ยงชีวิตคนเหนืออ่าวได้ดังเดิมอีกต่อไปได้นานแค่ไหน
หน้าตาของอ่าวปัตตานีเป็นอย่างไร คนที่พอมีความรู้คงสามารถหาแผนที่หรือค้นหาดูภาพจากกูเกิลเอิร์ธในอินเทอร์เน็ตได้ ทันที แต่สำหรับคนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ น้อยคนนักที่เคยมีโอกาสเห็นหน้าตาของแผ่นดินที่ตัวเองอาศัยอยู่มาช้านานว่ามันมีหน้าตาและสภาพที่เป็นอยู่และเปลี่ยน ไปอย่างไร
ภาพประกอบแผนที่บริเวณแหลมโพธิ์ (แหลมตาชี) ของอ่าวปัตตานี ฝีมือของดอเลาะ เจ๊ะแต ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ “ความทรงจำในอ่าวปัตตานี” จึงกลายเป็น งานเขียนที่ทำให้คนในชุมชนและเด็กรุ่นใหม่ ในอ่าว มีโอกาสได้รู้จักภูมินิเวศที่ตัวเองอาศัยอยู่เป็นครั้งแรก เช่นเดียวกับที่ดอเลาะ เจ๊ะแต หรือ “แบเลาะ” (แบ เป็นภาษามลายูถิ่นแปลว่า พี่ชาย) ในฐานะนักวิจัยท้องถิ่นก็เพิ่งมีผลงานเขียนและภาพวาดในชีวิตของตัวเองเป็นครั้งแรกเช่นกัน
ความทรงจำในอ่าวปัตตานี เป็นผลผลิตของโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบ มีส่วนร่วมเพื่อศึกษาท้องถิ่นในสามจังหวัดภาคใต้ของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยโดยสำนักงาน กองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เกิดเป็นรูปเล่มขึ้นมาด้วยฝีมือของนักวิจัยท้องถิ่น ดอเลาะ เจ๊ะแต และมะรอนิง สาและ โดย มีวลัยลักษณ์ ทรงศิริ นักวิจัยตัวจริงเป็น พี่เลี้ยงมาร่วม 7-8 ปีก่อนจะสำเร็จออกมาเป็นรูปเล่ม
ดอเลาะ เจ๊ะแต เป็นคนบ้านดาโต๊ะ ซึ่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งบนแหลมโพธิ์โดยกำเนิด ปัจจุบันอายุ 47 ปี มีภรรยาและลูก 4 คน ทำงานร่วมกับชุมชนมาเกือบ 20 ปี ทั้งคณะกรรมการมัสยิดและอาสาสมัครหมู่บ้าน ก่อนจะร่วมเป็นทีมนักวิจัยท้องถิ่น ซึ่งทำ ให้เขากลายเป็นตัวแทนของชุมชนที่ต้องเรียนรู้เพื่อเก็บรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้น
ปัญหาในอ่าวปัตตานีที่ดอเลาะได้สัมผัส ไม่สามารถชี้ได้ชัดว่า มีจุดเริ่มต้นมา จากเรื่องอะไร ระหว่างการเปลี่ยนแปลงและเสื่อมโทรมลงของภูมิประเทศอันหลาก หลายของอ่าวปัตตานี ตั้งแต่สภาพอ่าว ป่าชายเลน พื้นที่ชายฝั่ง ชุมชน การเปลี่ยน แปลงรูปแบบของเครื่องมือการทำมาหากิน ที่เน้นลงทุนเวลาน้อยลง แต่จับสัตว์น้ำได้มากขึ้นหรือแม้กระทั่งความถี่ของอวนที่เล็ก ลงๆ เพื่อให้เหมาะกับทรัพยากรชายฝั่งที่ลดน้อยลงทั้งปริมาณและขนาด การปรับ เปลี่ยนวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อตามช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป หรือเกิดเพราะผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงชุมชนทั้งภายในและภายนอกหมู่บ้าน
แต่สิ่งเดียวที่ระบุได้ชัดเจนคือ ทุกปัญหาล้วนเกี่ยวโยงผูกพันกันจนต้องตั้งสติ เพื่อแก้ไขไปทีละขั้น และวาดวัฏจักรไว้แค่ปัญหาธรรมชาติล้วนๆ เหล่านี้ โดยไม่ต้อง โยงใยกับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ให้เข้ามาเพิ่มเติมด้วยซ้ำ
สิ่งที่ดอเลาะศึกษาและรวบรวมไว้ ทำให้ครั้งหนึ่งเขาเคยได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องปัญหาอ่าวปัตตานี ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์
เป็นการถ่ายทอดความรู้จากคนในที่คนนอกไม่มีทางรู้ได้ลึกซึ้งเท่า แม้ว่าโดยสถานะทุกวันนี้ เขาจะเป็นเพียงผู้รับจ้างทั่วไปตั้งแต่ในชุมชน ไปจนบางครั้งยอมขึ้น ไปรับงานถึงกรุงเทพฯ เพื่อหาเงินมาเลี้ยงภรรยาและลูกๆ ที่ยังอยู่ในวัยเรียน เพราะรายได้จากทะเลที่เคยเลี้ยงชีวิตเขาในวัยหนุ่ม ไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงเขาและครอบครัวได้เหมือนในอดีต
“หนูเพิ่งเคยเห็นว่าบ้านหนูเป็นอย่างไร เมื่อก่อนพ่อหนูทำประมง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้ทำแล้ว หนูเพิ่งรู้ว่าทำไมพ่อต้องเลิกทำประมง” เด็กหญิงฟาตีฮะห์
ดาโอะ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านดาโอะ พูดถึงสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากผลงานของดอเลาะ
เธอเป็นตัวแทนของเด็กที่ยอมรับว่า ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าพื้นที่ที่ตัวเองเติบโตมาเป็นอย่างไร และเพิ่งจะรู้ว่าสาเหตุที่พ่อต้องเลิกทำประมงเพราะเป็นอาชีพที่ไม่พอเลี้ยงครอบครัวอีกแล้ว ขณะที่แม่ต้องรับหน้าที่เพิ่มด้วยการทำข้าวเกรียบปลาขายจนแทบจะกลายเป็นรายได้หลักของครอบครัว ขณะที่พ่อแม่เพื่อนบางรายยังสู้ทนออกทะเลเพราะยังไม่มีทางเปลี่ยนอาชีพ ไปทำอย่างอื่น แต่ต้องเลิกจ้างคนและหันมาใช้แรงงานจากแม่บ้านในครอบครัวซึ่งไม่เคยต้องเหนื่อยออกทะเล ให้ออกไปช่วย กันแทนการจ้างลูกเรือ
แต่บางครอบครัวก็ลดความเสี่ยงจำยอมให้แม่บ้านออกไปเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ท่าเรือตรงปากอ่าว ทั้งที่บทบัญญัติทางศาสนาไม่เอื้อให้เกิดประสิทธิภาพในการรับจ้างได้เต็มที่โดยเฉพาะในช่วงเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม
ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือเธอยังไม่รู้ว่า อนาคตของตัวเองจะเป็นอย่างไร เพราะความแร้นแค้นของทรัพยากรที่ทำให้คนในหมู่บ้านขาดแคลนอาชีพและรายได้ลงทุกวันแบบนี้ ทำให้เด็กวัยเดียวกับเธอทั้งหญิงและชาย พอจบ ป.6 เมื่อไร พ่อแม่จำนวน ไม่น้อยก็ตัดใจส่งไปทำงานร้านต้มยำกุ้งหรือไม่ก็รับจ้างกรีดยางที่มาเลเซียกันแล้ว บางรายถึงกับยอมเสี่ยงไปตายเอาดาบหน้า โดยยกกันไปทั้งครอบครัวก็มี
“สิ่งที่เราเห็นบ่อยมากในพื้นที่คือภาพของพ่อแม่ที่จูงลูกไปเซ็นหนังสือยินยอม เพื่อทำพาสปอร์ตส่งไปทำงาน” วลัยลักษณ์ เล่าถึงภาพที่เกิดขึ้นเป็นประจำของคนในพื้นที่ จนทุกวันนี้ประชากรหนุ่มสาวแทบจะไม่เหลือติดหมู่บ้านบนแหลมโพธิ์นี้แล้ว
ส่วนฟาตีฮะห์ได้แต่หวังว่าพ่อแม่ของเธอจะเป็นพ่อแม่กลุ่มน้อยที่ยอมสู้อดทน ทำงานส่งลูกเรียน ซึ่งเธอยังมีความหวังว่าจะได้เรียนต่อเพื่อสานฝันเป็นครูในโรงเรียน ตาดีกา (โรงเรียนสอนศาสนาวันเสาร์อาทิตย์สำหรับเด็กชาวมุสลิม) เมื่อโตขึ้น
ร้านต้มยำกุ้ง เป็นศัพท์เฉพาะที่เกิด ขึ้นในพื้นที่ชุมชนรอบอ่าวปัตตานีหรืออาจจะรวมถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หมายถึงร้านอาหารไทยในมาเลเซีย ซึ่งต้องการแรงงานราคาถูก ทำงานหนัก หลบเลี่ยงกฎหมายเข้าเมือง ฉะนั้นแล้วจินตนาการได้ไม่ยากเลยว่า อนาคตของเด็กที่ถูกส่งไปร้านต้มยำกุ้งแต่ละคน อนาคตแต่ละวันต้องหมดไปกับการใช้แรงงาน อย่าได้คิดถึงการเรียนรู้ทักษะชีวิตเพิ่มเติม โอกาส จะได้เห็นเดือนเห็นตะวันก็แทบจะไม่มีด้วยซ้ำ
ความหวังริบหรี่ที่ฝากไว้กับลูกหลานที่ส่งไปใช้แรงงาน มีทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว มีเด็กเพียงไม่กี่คนที่สามารถเก็บเงินจากการทำงาน เปิดร้านต้มยำกุ้งเป็นของตัวเองได้
คนที่สำเร็จจะเห็นได้ชัดมาก พวกเขาจะขับรถจากฝั่งมาเลเซียกลับมาเยี่ยมบ้าน โดยเฉพาะในช่วงวันฮารีราญอ เอาเงิน มาปลูกบ้านให้พ่อแม่ ขณะที่คนที่ล้มเหลวเมื่อปลดระวางก็จะมีสภาพที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง
“ไม่ใช่แค่วัตถุที่มาพร้อมความสำเร็จ แต่มันทำให้วิถีชีวิตของคนในชุมชนเปลี่ยน ไปด้วย เด็กที่ประสบความสำเร็จจะกลายเป็นใหญ่ในบ้าน เพราะเขาเป็นคนหารายได้ มาเลี้ยงครอบครัว พ่อแม่จะไม่มีบทบาท พวกเขาไม่เชื่อฟังพ่อแม่อีกต่อไป” วลัยลักษณ์ให้ข้อมูล
“แต่ถ้าเด็กที่ไม่ประสบความสำเร็จก็จะมาพร้อมกับปัญหายาเสพติด เพราะส่วนมากการทำงานหนักไม่มีเวลาพักผ่อน ยาเสพติดจึงกลายเป็นการแก้ปัญหาที่ทำให้อนาคตดับมืด พอกลับมาก็กลายเป็นปัญหายาเสพติดในพื้นที่” เจ๊ะกู หรือ มะรอนิง สาและ หนึ่งในทีมนักวิจัยท้องถิ่น ให้ข้อมูล
มะรอนิงเป็นเขยชาวเล อายุ 44 ปี บ้านเดิมอยู่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา
เดิมมีอาชีพทำนาซึ่งไม่ใช่อาชีพหลักอันดับหนึ่งของชาวใต้ แม่ของเขาเลยสอนว่า ถ้าจะเลือกตั้งถิ่นฐานหรือทำอาชีพอะไรก็ให้เลือกไปเลยระหว่างอยู่ในเขาหรือไม่ก็อยู่ชายทะเล เพราะอยู่ภูเขาก็ได้ทำสวนยาง แต่ถ้าอยู่ชายทะเลก็จะได้ทำประมงเลี้ยงตัว
“สมัยเป็นชาวนา ชาวสวน ก็อยากอยู่ทะเล เพราะมองว่าอาหารการกินสมบูรณ์ แต่เดี๋ยวนี้สวนยางราคาดี คนในแหลมโพธิ์พอมีปัญหาจับปลาไม่ได้ ที่พอมีก็หันไปซื้อที่ดินที่นราธิวาสทำสวนกันเยอะ ที่ต้องไปเพราะสภาพมันเปลี่ยน ทรัพยากร ในทะเลมันไม่มี”
ในอดีตคนในชุมชนที่อาศัยอยู่ตรงแผ่นดินงอก เวลาแต่งงาน ฝ่ายชายจะต้อง ต่อเรือกอและเป็นค่าสินสอด ถ้าแต่งกันแล้ว ไม่มีเรือก็ต้องเอาค่าสินสอดไปซื้อเรือกับอวนผืนหนึ่ง
“เวลาสามีหรือลูกเรือไปหาปลา ได้ปลามาเยอะแล้วจะปักธงที่หัวเรือ พอมาถึงชายฝั่งก็เป่าตูแว (เครื่องเป่าที่ทำจากเขาควายใช้ส่งสัญญาณ คนกรีดยางก็ใช้) แม่บ้านก็จะมารอ สมัยก่อนแม่บ้านไม่ต้องทำอะไรเลย รอสามีอย่างเดียวมาแกะปลา แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว ต้องออกกันเองเป็นคู่เลย ถ้าสามีออกคนเดียวแม่บ้านก็ต้องไปทำงานโรงงาน” เจ๊ะกูยืนยันภาพปัญหาชีวิต ที่เปลี่ยนไปของคนปลายแหลมอีกครั้ง
แล้วเดี๋ยวนี้หนุ่มสาวส่วนใหญ่ ต้องใช้ทุนแต่งงานไปเผชิญโชคที่อื่น ซึ่งส่วนมากหนีไม่พ้นไปทำงานร้านต้มยำกุ้ง
“เพื่อนผมมีรถตู้รับส่งวิ่งระหว่างไทยกับมาเลเซีย เวลาคนไทยกลับบ้าน เขาบอกว่ารถตู้คันหนึ่งจะเป็นคนปัตตานี 8 คน ที่เหลือเป็นคนยะลา นี่ก็แสดงให้เห็น ว่าคนปัตตานีไม่ค่อยมีงานในท้องที่แต่คน ยะลา นราฯ เขายังมีสวนยาง สวนลองกอง”
เจ๊ะกูยังเล่าว่า สมัยก่อนพื้นที่ปัตตานีมีความหลากหลายมาก ถ้าไม่ทำประมงก็ยังมีส่วนที่ทำนาน้ำฝน ทำสวนยาง ในบริเวณที่ลึกเข้าไปในเขตเขาฝั่งทิศตะวันตก
ที่นาคือตัวแรกที่พ่ายแพ้ให้กับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เมื่อน้ำฝนที่เคย ไหลจากแม่น้ำหลายสายในฤดูฝนเปลี่ยนเส้นทางเพราะฝีมือมนุษย์ ขุดคลองเปลี่ยนเส้นทางไปจนถึงการสร้าง เขื่อน นาข้าวจึงต้องกลายเป็นนาร้างเพราะดินเปรี้ยว
พื้นที่ชายทะเลบางส่วนก็ทำนาเกลือ มีประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าแม้แต่คนจากตรังกานู พื้นที่ในเขตมาเลเซียปัจจุบันก็มารับเกลือถึงที่นี่ แต่เมื่อกุ้งราคาดีคนก็หันไปเลี้ยงกุ้ง เมื่อนากุ้งปล่อยของเสียทำลาย สัตว์น้ำชายฝั่งจนตัวเองขาดทุนเจ๊งกัน ไปก็กลายเป็นนากุ้งร้าง ตอนนี้บางพื้นที่ ถ้าไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรก็กลายเป็นเพียงบ่อเลี้ยงสาหร่าย เพราะแม้แต่สาหร่ายที่มีประโยชน์ในพื้นที่ชายฝั่งก็ยังทนรับสภาพไม่ได้ตายกันไปหมดแล้ว
“ช่วงนากุ้งขยายตัวอย่างรวดเร็วเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ทำให้แถวริมชายหาดที่มีไส้เดือนทะเลเป็นอาหารปลาดุกตายหมด ปลาดุกก็ตายหมด หญ้าทะเลก็ตายหมดเพราะน้ำเสียและสารเคมีจากนากุ้ง ทิ้งสภาพนาร้างไว้อย่างนี้มา 5 ปีแล้ว ส่วนที่ เอามาทำบ่อสาหร่ายก็ไม่เยอะ” เจ๊ะกูเล่า
ทุกวันนี้เจ๊ะกูประเมินว่า ที่ดาโต๊ะบ้านของเขาน่าจะใช้ต้นทุนในการหาปลาหมุนเวียนถึงประมาณ 8 แสนบาทต่อวัน ได้ทุนจากเถ้าแก่ ส่วนใหญ่เป็นหญิงมุสลิมมีฐานะให้ยืมค่าน้ำมัน เป็นระบบ แบบอุปถัมภ์โดยรู้กันว่าเมื่อใช้ของใคร ก็จะต้องนำปลาที่หาได้ไปส่งที่แพปลา ของเถ้าแก่รายนั้น โดยชาวประมงจะมีรายได้ประมาณลำละ 2,000 บาท
นี่คืออัตราสูงสุด สำหรับแบ่งกัน 2-3 คน ต่อจำนวนชาวประมงหนึ่ง ลำ และจากเดิมที่ใช้เวลาเพียง 5-6 ชั่วโมงหรือเต็มที่ 12 ชั่วโมง ก็ต้องใช้เวลาวางลอบถึง 1 วันเต็มหรือรอบวัน รอบคืนกว่าจะได้เงินจำนวนนี้ เมื่อประมงต้นทุนสูง จะออกทุกคืนก็ไม่คุ้มค่าน้ำมันมันแพง เพราะบวกลบก็อาจจะไม่ได้อะไรเลย
ปัญหาสำคัญที่ชาวประมงต้องพยายามให้ได้เงินพอเลี้ยงตัว ทำให้จากเดิมที่เคยใช้อวนตากว้าง เมื่อปลาเล็กลงน้อยลง อวนตาถี่ก็มาแทนที่ อวน 3 ชั้น ที่จับปลากระบอกในอ่าว รอบในสุดปรับเล็กเหลือแค่ 3 เซนติเมตร ทีนี้แม้แต่ลูก ปลาดุกหรือปลาขนาดเล็กที่แทบจะไม่เหลือ แล้วก็ยังติดอวนและค่อยๆ หายไปจาก ทะเล
วลัยลักษณ์ นักวิจัยหลักซึ่งเป็นทั้งพี่เลี้ยงและผู้วิจัยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สภาพอ่าวจากเดิมที่เคยมีกุ้ง หอย ปู ปลาเยอะมาก เพราะอ่าวปัตตานีอยู่ใกล้กับป่าชายเลนผืนใหญ่ที่เป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำยังมีสภาพสมบูรณ์ แต่ระบบและความไม่สมดุลของการนำทรัพยากรไปใช้บวกกับการทำลายธรรมชาติ ในหลายรูปแบบ ทำให้ความสมบูรณ์ของทรัพยากรเริ่มส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้านอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
“ผลกระทบจากปัญหาทรัพยากรมันเปลี่ยนโครงสร้างชุมชนไปหมด ผู้หญิงที่เคยอยู่บ้านรอปลาก็ต้องมองหาอาชีพอื่น ไปคัดปลา ทำโรงงาน คราวนี้ด้วยความเป็น มุสลิมแบบเข้มข้นของคนในพื้นที่ ผู้หญิงที่เข้าสู่ระบบโรงงานมักจะพบปัญหา เช่น ช่วงเดือนบวช เขาทำงานเหนื่อย กลางคืน ถึงจะทานอาหารได้ มีปัญหาที่สุดคือเป็นโรคกระเพาะ ถ้าเป็นเจ้าของที่เป็นมุสลิมก็จะเข้าใจ ถ้าเกิดเป็นโรงงานพุทธเขาไม่เข้าใจ แค่เวลาเขานั่งรถออกจากหมู่บ้านก็ถูกมอง เขาถูกบีบ แต่เขาต้องทำเพื่อความ อยู่รอด”
วลัยลักษณ์เล่าว่า การปรับตัวมีให้เห็นหลากหลาย บางคนขุดบ่อเลี้ยงปลาดุก ในหมู่บ้าน แต่ก็สร้างรายได้ไม่พอ ที่นิยมมากในพื้นที่คืออาชีพทำข้าวเกรียบ ซึ่งมีบ้านดาโต๊ะเป็นหมู่บ้านแรกๆ ที่เริ่มเอาวิชา ทำข้าวเกรียบเข้ามา
แต่นั่นกลายเป็นว่าสุดท้ายชาวบ้าน ที่เคยต่อต้านโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการทำลายสิ่งแวดล้อมต้องยอมรับและพึ่งพาประโยชน์จากโรงงาน เหล่านี้เพื่อยังชีพตัวเองในที่สุด
ในสายตาชาวบ้านโรงงานเหล่านี้เป็นตัวจุดชนวนให้ต้องมีการสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ สร้างเขื่อนกั้นน้ำเพื่อหวังกันร่อง น้ำลึกให้เรือพาณิชย์แล่นเข้าออกได้สะดวก แต่ผลลัพธ์กลับทำให้สภาพอ่าวตื้นเขิน ดิน ทรายทับถม น้ำในอ่าวไหลออกทะเลไม่สะดวกจนอ่าวจืด ปลาบางชนิดตาย
เรื่องที่คิดจะอำนวยความสะดวกให้กับประมงชาวบ้านกลับกลายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน เมื่อสัตว์น้ำหน้าดินที่ชาวบ้านพึ่งพาสูญหาย นายทุนก็อาศัยพื้นที่ส่วนรวมยึดครองมาเป็นที่ทำกินของตัวเอง ทั้งวางซั้ง ปักโพงพาง หรือทำเป็นพื้นที่เลี้ยงหอยที่มีการปักปันเขตแดนกลายเป็นการสร้างปัญหาความขัดแย้ง ที่เกิดจากการรักษาผลประโยชน์จากเงินลงทุนในพื้นที่ขึ้นมาซ้ำเติมกันเองเพิ่มขึ้น
“กั้นเขื่อนประมาณ 10 ปีก่อนเหตุผลไม่ให้ตะกอนไปทับถมร่องน้ำ แต่ก่อนตรงหาดทรายที่ปลายแหลมตาโพธิ์เป็นน้ำหมดเลย แต่หลังจากกั้นปุ๊บสังเกตหลายพื้นที่ก็เกิดการกัดเซาะร่องน้ำขึ้นมา แล้วทรายตรงนี้ก็ขึ้นมาใหม่” เจ๊ะกูบรรยาย สภาพที่ปลายแหลมโพธิ์
เขาคาดการณ์ว่า ดินงอกที่ปลายแหลมซึ่งมีสภาพไม่ต่างจากการงอกของของแหลมบริเวณอ่าวปัตตานีจะกลายเป็นพื้นทรายหมดในอีกไม่เกิน 10 ปีต่อจากนี้
“ตอนเขาทำเขื่อนเพราะต้องการทำให้ปากแม่น้ำปัตตานีเป็นท่าเรือน้ำลึก แต่ทำไม่ได้เพราะการแก้ปัญหาต่างๆ ในอ่าวก็ยังยากอยู่ บางจุดก่อนถึงปลายแหลม แผ่นดินก็จะขาดอยู่แล้ว ก็เป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นอีก” วลัยลักษณ์เสริม
เจ๊ะกูบอกว่า ชาวบ้านเคยเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยที่พวกเขาต้อง เปลี่ยนหรือหาอาชีพใหม่ ทั้งที่ส่วนใหญ่คิด เปลี่ยนแปลงเพราะภาคบังคับทั้งนั้น ไม่ว่า จะเรื่องขาดทุนจากการทำอาชีพประมงหรือเพราะไม่มีทรัพยากรให้หา
“แต่ทำแบบนั้นผมว่าไม่ยั่งยืน ชาวบ้านก็ยังหาทางออกไม่ได้ว่าจะทำอะไร แล้วก็ไม่ได้เลิกเพราะจิตสำนึก ปัญหาก็จะไม่ได้รับการแก้ไข”
สิ่งที่เจ๊ะกูอยากเสนอให้แก้ เขาคิดว่า ที่ถูกควรจะคืนสภาพ “ธรรมชาติ” ให้กับ “ธรรมชาติ” อีกครั้งจะดีกว่า ซึ่งมีชาวบ้านส่วนไม่น้อยที่เห็นด้วยในแนวทางนี้
นั่นคือ การแก้ด้วยการรื้อถอนสิ่งกีดขวางต่างๆ นานาในอ่าวออกไปให้หมด ไม่ว่าจะเป็นโพงพาง ขนำ หลักเขต
เพราะพวกเขาเชื่อว่าเมื่อธรรมชาติถูกปลดปล่อย กระแสน้ำจะไหลได้เองอย่าง อิสระ ที่สำคัญพวกเขาเชื่อเต็มร้อยว่า ธรรมชาติสร้างตัวเองได้ ถ้าไม่มีอะไรมากีดขวาง
ความหวังของพวกเขาจะถูกทำให้เป็นจริงหรือไม่ ต้องใช้เวลาเจรจาและรอมติของจากสภาอ่าวที่เพิ่งตั้งกันขึ้นมาเพื่อถกปัญหาต่างๆ และความพร้อมใจของ ชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งคงต้องเร่งตัดสินใจและ เร่งมือทำกันอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้
เพราะสำหรับธรรมชาติคงไม่มีเวลามาหยุดทบทวน หากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงจนแผ่นดินขาด นั่นก็เท่ากับธรรมชาติตัดสินใจให้พวกเขาแล้ว และพวกเขามีหน้าที่เดียวคือต้องรับมือและปรับตัวให้ได้
|
|
|
|
|