|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ภูมิภาคอินโดจีน ในความรับรู้และความเข้าใจของผู้คนจำนวนมาก อาจผูกพันอยู่กับภาพอดีตแห่งความขมขื่นที่เกิดขึ้นจากภาวะสงครามและความขัดแย้ง หากสำหรับผู้คนอีกจำนวนหนึ่ง ภูมิภาคอินโดจีนกำลังเปียมด้วยโอกาสและความท้าทายอย่างยิ่ง
งานสัมมนา “Indochina Vision: The Region of Opportunities and Challenges” ซึ่งจัดโดย นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ เมื่อเดือนมกราคม 2011 ที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งในประจักษ์พยานของข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น
แม้กิจกรรมสาธารณะดังกล่าวจะเกิดขึ้นในห้วงจังหวะเวลาของวิกฤติว่าด้วยการกล่าวหาและจับกุมคนไทยในโทษฐานรุกล้ำดินแดนของทาง การกัมพูชา หากแต่เมื่อพิจารณาด้วยทัศนะที่เปิดกว้างและอย่างปราศจากมายาคติ นี่คือจังหวะก้าวสำคัญที่ประเทศไทยจะได้แสดงออกซึ่งบทบาทนำในการเสริมสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและความมั่งคงทางสังคมให้เกิดมีขึ้นในภูมิภาคแห่งนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากข้อเท็จจริงที่ว่า ดัชนีชี้วัดความสำเร็จในโลกธุรกิจปัจจุบัน มิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะการมีศักยภาพและสรรพกำลังจากฐานอำนาจทางการเงินที่มั่งคั่ง หรือเครือข่ายสายสัมพันธ์ของผู้คนที่มีบทบาทอิทธิพลในเชิงสังคมเท่านั้น หากแต่โอกาสแห่งความสำเร็จที่ผู้คนไขว่คว้าและแสวงหา เกิดขึ้นจากผลของกระบวนการเรียนรู้ ที่พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารที่ไหลรินท่วมทับให้กลายเป็นพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์และการนำไปผลิตสร้างให้เกิดเป็นมูลค่าทางธุรกิจที่จับต้องได้
สุนทรพจน์ที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย ให้เกียรติมากล่าวเปิดงานสัมมนาในครั้งนี้ ในด้านหนึ่งอาจพิจารณาในฐานะที่เป็นเพียงวาทกรรมตามแบบพิธีทั่วไป หากแต่นัยความหมายที่สอดแทรกอยู่ในสุนทรพจน์ดังกล่าวย่อมเป็นประหนึ่งจุดยืนและแนวนโยบายของรัฐไทยที่มีต่อภูมิภาคอินโดจีนอย่างมิอาจปฏิเสธ
“ด้วยสถานะทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศไทย ที่เป็นประหนึ่งจุดเชื่อมโยงประเทศต่างๆ บนผืนแผ่นดินใหญ่ในเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยและเพื่อนบ้านในภูมิภาคอินโดจีนต่างมีประสบการณ์ ร่วมกันทั้งในมิติของความคาดหวัง และการจำเริญเติบโตภายใต้จุดมุ่งหมายเดียวกัน”
จุดใหญ่ใจความที่นายกรัฐมนตรีไทยพยายามชี้ให้ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาได้ตระหนักก็คือ ความพยายามที่จะกำหนดนิยาม ภูมิภาคอินโดจีน ให้แตกต่างไปจาก กรอบความคิดเดิมที่อาจประเมินภูมิภาคแห่งนี้เป็นดินแดนแห่งความขัดแย้งและสงคราม ไปสู่ “อินโดจีนใหม่” ซึ่งหมายรวม ถึงทั้งเวียดนาม ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ และจีนตอนใต้ ที่เปี่ยมไปด้วยความร่วมมือและศักยภาพที่แข็งแกร่งในการเติบโตมั่งคั่ง
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ ประการหนึ่งก็คือ การเจริญ เติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคอินโดจีน ในช่วงปี 2005-2009 ที่ผ่านมา ดำเนินไปท่ามกลางอัตราเร่งอย่างต่อเนื่อง โดยเวียดนามมีอัตราการเติบโต สูงถึงร้อยละ 7.8 ขณะที่ลาว เติบโตขึ้นร้อยละ 7.1 ส่วนกัมพูชาก็สามารถรังสรรค์พัฒนาการทางเศรษฐกิจได้ในระดับที่สูงถึงร้อยละ 8.2
“วิสัยทัศน์ว่าด้วยอินโดจีนใหม่ในห้วงเวลาและบรรยากาศที่เปลี่ยนไปนี้ ก็คือการเสริมสร้างให้ภูมิภาค นี้เป็นดินแดนของการจำเริญ เติบโตที่ยิ่งใหญ่และความมั่งคั่งที่ดำเนินไป สำหรับทุกๆ ประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งย่อมหมายรวมถึงการขจัดความแตกต่างในมิติของลำดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจระหว่าง กันด้วย”
วิสัยทัศน์ดังกล่าวดูจะสอดรับกับ ความพยายามที่จะเพิ่มช่องทางในการเชื่อมโยงและบูรณาการประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนให้เข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน ที่ดำเนินไปภายใต้คำขวัญ “Enhancing Connectivity, Empowering People” หรือ “เชื่อมโยงประชาคม สร้างเสริมประชาชน” ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ASEAN มิได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องการเชื่อมโยงทางกายภาพของเส้นทางคมนาคมและระบบ logistics ระหว่างกันในเชิง hardware เท่านั้น
หากยังมีมิติของการเชื่อมโยงองค์ความรู้ (Knowledge Connectivity) รวมถึงการเสริมสร้างให้เกิดปฏิสัมพันธ์ของผู้คนและการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมให้ใกล้ชิดมากขึ้นในอนาคตด้วย
“อินโดจีนใหม่ ในทัศนะที่ว่านี้ ไม่ได้ มีความสำคัญหรือนัยความหมายที่จำกัดอยู่เฉพาะการเติบโตก้าวหน้าของประเทศภายในภูมิภาคอินโดจีนเท่านั้น หากยังหมายรวมไปถึงอนาคตของอาเซียนโดยองค์รวม ซึ่งจะก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าด้วย”
แม้นายกรัฐมนตรีไทยจะพยายามกำหนดนิยามและวางเค้าโครงความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอินโดจีนขึ้นใหม่ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเพียงวาทกรรมที่ยังไม่ปรากฏรูปธรรมให้จับต้องได้ในขณะปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่าง ยิ่งเมื่อมีการกล่าวถึงอินโดจีนใหม่ในฐานะที่เป็นแหล่งทรัพยากร วัตถุดิบและแรงงาน
ภาพฝันว่าด้วยประชาคมอาเซียนที่มีประชากรรวมกว่า 700 ล้านคน และมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 2.69 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เสริมด้วยเขตการค้าเสรีอาเซียนและข้อตกลงทางการค้า และการลงทุนที่สมาชิกของอาเซียนมีต่อพันธมิตรอื่นๆ ที่จะทำให้อาเซียนมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ อาจเป็นเพียงมายา ภาพที่ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อประเทศไทยนัก
เพราะในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยเหล่านี้กำลังเร่งระดมเสริมสร้างพัฒนาการต่างๆ อย่างหนักแน่นจริงจัง ประเทศไทยกลับตกอยู่ในอาการหยุดนิ่งและในหลายกรณีกลายเป็นการพัฒนาย้อนกลับ ที่ส่งให้ตำแหน่งแห่งที่ของไทยในเวทีระดับนานาชาติ มีลักษณะถอยหลังไปอย่างน่าเสียดาย
ขณะที่ศักยภาพในการแข่งขันด้วยการอาศัยข้อได้เปรียบ ในเรื่องแรงงานราคา ต่ำที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยใน อดีต กำลังถูกประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงใช้เป็นจุดขาย เพื่อเชื้อเชิญให้ผู้ประกอบการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปสู่พื้นที่ใหม่ ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่ากระบวนการผลิต สมัยใหม่ได้พัฒนาก้าวหน้าไปจากเดิมมาก ควบคู่กับการแสวงหาบริการที่มีคุณภาพ ซึ่งย่อมมิได้เกิดขึ้นอย่างบังเอิญ หากเป็นผลจากกระบวนการที่ต้องอาศัยการวางแผน และเพิ่มพูนศักยภาพการแข่งขันในมิติของความสามารถในการผลิตอย่างจริงจังด้วย
บางทีสถานภาพของไทยในการเป็น ประเทศที่มีบทบาทนำในกลุ่มอาเซียน อาจ กำลังถูกบดบังด้วยความเคลื่อนไหวจากจีน ซึ่งกำลังจะเป็นมหาอำนาจที่พร้อมขยายบทบาทและอิทธิพลเข้าสู่ภูมิภาคอินโดจีน อาเซียน และเวทีโลกอย่างกว้างขวาง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจาก บทบาทของจีนในเรื่อง Connectivity ซึ่งเป็นวาระสำคัญของประชาคมอาเซียน ตาม เป้าหมายที่กำหนดไว้ที่การมุ่งสู่การเป็น ASEAN Economic Community (AEC) ภายในปี 2015 ดูจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดเรื่องหนึ่ง และกำลังส่งผลกระเทือนที่พร้อมจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ การ เมือง และสังคมอย่างเป็นรูปธรรมให้เกิดขึ้น ในภูมิภาคอินโดจีนและอาเซียนโดยรวมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
นัยความหมายจากถ้อยแถลงของ ก่วน มู่ เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ในหัวข้อ “Connectivity: Key to Prosperity” ในงานสัมมนาเดียวกันนี้เป็นประหนึ่งการประกาศจุดยืน ท่าที และนโยบายครั้งสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการเชื่อมโยงภูมิภาคอินโดจีนและอาเซียนด้วยโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจีนมีส่วนร่วมทั้งในฐานะที่เป็นผู้ผลักดันและให้การสนับ สนุนทางการเงินในโครงการดังกล่าว
จีนเร่งพัฒนาระบบการขนส่งด้วยระบบรางอย่างต่อเนื่องและพยายามก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้ส่งออกเทคโนโลยีในด้านดังกล่าว ซึ่งสอดรับกับความต้องการของประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีนและอาเซียนอย่างยากจะปฏิเสธ
“การเชื่อมโยงภูมิภาคอินโดจีนเข้าด้วยกัน ภายใต้ระบบรถไฟความเร็วสูง นอกจากจะทำให้การเดินทางระหว่างผู้คนและสินค้าจากประเทศต่างๆ ทำได้อย่างสะดวก ปลอดภัยและรวดเร็ว ซึ่งหมายถึงการประหยัดเวลาแล้ว ก็ย่อมหมายถึงเงิน เพราะเวลาก็คือเงิน หากเส้นทางเหล่านี้สร้างเสร็จ เศรษฐกิจของทั้งภูมิภาคโดยรวมก็จะดีขึ้นด้วย”
แผนที่ที่ก่วน มู่นำมาแสดงประกอบ การสัมมนาในวันนั้น ได้ชี้ให้เห็นโครงข่ายของเส้นทางที่เชื่อมโยงภูมิภาคอินโดจีนในมิติที่พร้อมจะก้าวข้ามและพ้นไปจากกรอบความคิดเดิมว่าด้วยอาณาเขตและดินแดนไปอย่างเด่นชัด หากแต่สอดรับกับยุทธศาสตร์หลักของจีนอย่างแนบแน่น
ก่อนหน้านี้ ยุทธศาสตร์ของจีนอาจได้รับการประเมินเป็นเพียงความพยายามที่จะแสวงหาหนทางที่จะเชื่อมโยงเส้นทางออกสู่ทะเลทางด้านอันดามัน และ มหาสมุทรอินเดีย ควบคู่กับการเร่งพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศให้มีระดับใกล้เคียงกับเขตเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองทางภาค ตะวันออก
กรณีดังกล่าวสอดรับกับบริบทที่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองบนเวทีโลก ทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป ต่างมีความจำเป็นที่จะต้องหันกลับไปแก้ไข ปัญหาวิกฤตการณ์ที่ต้องเผชิญ และกลายเป็นการเปิดโอกาสให้จีนสามารถแสดงบทบาทนำได้อย่างไร้แรงเสียดทานที่หนักหน่วงจากคู่แข่งขัน ขณะที่อินเดีย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมหาอำนาจในเอเชียก็ยังเผชิญกับปัญหาด้านความมั่นคง เกินกว่าที่จะแทรกตัวหรือขยายบทบาทครอบคลุมเข้าสู่สุญญากาศแห่งอำนาจนี้ได้
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือภายใต้ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่บ่งชี้ความสำคัญของ จีน ในฐานะที่เป็นจักรกลหลักในการหนุนนำพัฒนาการทางเศรษฐกิจระดับนานาชาติ ในหลายๆ ด้านนั้น จีนมิได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทบนเวทีโลกเพียงเพราะมีประชากรจำนวนมาก ซึ่งอาจประเมินมูลค่าในฐานะที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ หรือแหล่งแรงงานที่ล้นเหลือเท่านั้น
หากบทบาทของจีนบนเวทีโลกเกิดขึ้นจากยุทธศาสตร์ที่ต่อเนื่องมายาวนานหลายทศวรรษ นับตั้งแต่ครั้งที่บรรยากาศการเมืองโลกยังอยู่ภายใต้กรอบความคิดแบบสงครามเย็นเลยทีเดียว โดยจีนพยายาม กำหนดตำแหน่งของตัวเองไว้ในฐานะที่เป็นผู้นำของหมู่ประเทศกำลังพัฒนาที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก และพร้อมจะให้ การสนับสนุนร่วมมือกับประเทศเหล่านั้นในการหลบเลี่ยงจากอิทธิพลของทั้งสหรัฐ อเมริกาและสหภาพโซเวียต ซึ่งกำลังขับเคี่ยวช่วงชิงการเป็นผู้นำของโลกในขณะนั้น
จีนได้พัฒนาตัวเองจากการเป็นผู้นำระดับ 3 ในระบบการเมืองโลก มาสู่การเป็นขั้วอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงยามที่นานาประเทศเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางการเงินทั้งในช่วงปี 2540 และในปี 2551 พร้อมๆ กับการเก็บเกี่ยวประโยชน์จากสายสัมพันธ์ดั้งเดิมที่ได้สร้างไว้ในช่วงก่อนหน้า และการบุกเบิกความสัมพันธ์ใหม่ๆ อย่างกว้างขวาง ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่มีการกำหนดทิศทางและเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน
เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย อาจระบุถึงประเทศไทยและโดยเฉพาะ กรุงเทพมหานคร ว่าเป็นศูนย์กลางของการขนส่งในภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ Connectivity ในมิติมุมมองของจีน ซึ่งค่อนข้างจะสอดรับกับความทะเยอทะยานและเข็มมุ่งของทั้งภาครัฐและเอกชนไทยที่มองเห็นความสำคัญดังกล่าว
แต่ประเทศไทยและผู้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายจะยินดีรับข้อเสนอที่พร้อมจะเป็นเป็นเพียงภาพฝันนี้ไว้ เพียงเพราะคนอื่นกำหนดให้เป็น หรือจะพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถให้บรรลุสู่เป้าหมายดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมและปรากฏผลจริงจังจากพื้นฐานภายในที่มั่นคงแข็งแรงอย่างไร
เพราะปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับสมาชิกในประชาคม ASEAN ไปพร้อมกัน และในความเป็นจริง วิวัฒนาการของ ASEAN ที่กำลังดำเนินไปนี้ มิได้เกิดขึ้นท่ามกลางความหมายที่ทุกประเทศหรือทุกคนใน ASEAN จะได้ประโยชน์ หากแต่เป็นกรณีที่ผู้มีความสามารถ ในการปรับตัวและประเมินศักยภาพการแข่งขันเท่านั้นที่จะแสวงประโยชน์จากบริบทที่เปลี่ยนไปนี้
ประดาป พิบูลสงคราม ผู้แทนไทยในคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการเชื่อมโยง ระหว่างกันใน ASEAN และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งให้เกียรติเข้าร่วมงานสัมมนา ภายใต้หัวข้อ “Toward the Vivid Future” พยายามชี้ให้เห็นมิติของการเปลี่ยนผ่านในเชิงกายภาพและความพยายามที่จะจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ จากกรอบ ความร่วมมือที่มีอยู่อย่างหลากหลาย
“อนาคตที่เรืองรองรอคอยอยู่เบื้องหน้า หากแต่เราจะต้องร่วมมือกันเพื่อก้าวไปสู่การเชื่อมประสานแบบ “ไร้รอยต่อ” (seamless) ซึ่งย่อมไม่ได้เป็นเพียงการเชื่อมประสานเฉพาะภายในภูมิภาคอินโดจีน หรืออาเซียนเท่านั้น แต่เป็นการเชื่อมประสานในบริบทที่กว้างขวางออกไปสู่สากล ทั้งในมิติของทวีปเอเชียโดยรวมและของโลกด้วย”
มิติความคิดว่าด้วยการเชื่อมประสานอย่าง “ไร้รอยต่อ” ดังกล่าวเป็นแนวความคิดที่สอดรับกับวิถีของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียหรือ ADB ซึ่งได้เผยแพร่เอกสารภายใต้ชื่อ “Infrastructure for a Seamless Asia” เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา
แต่การเชื่อมประสานอย่างไร้รอยต่อที่ว่าย่อมไม่สามารถบังเกิดขึ้นได้ หากปราศจากซึ่งพัฒนาการ ที่ย่อมต้องมีราก ฐานมาจากความมั่นคงทางการเมือง และอาจรวมถึงความสามารถในเชิงเศรษฐกิจของประเทศที่แวดล้อมอยู่ภายใต้กรอบแห่งความเชื่อมประสานเหล่านี้
ขณะเดียวกัน การเสริมสร้างและการแสวงหาความร่วมมือจากพันธมิตรที่อยู่ภายนอกกลุ่ม เพื่อให้ทั้งอินโดจีนและอาเซียนสามารถบรรลุสู่เป้าหมายที่วางไว้ก็เป็นเรื่องที่มิอาจมองข้าม
“บทบาทของหน่วยงานระดับนานา ชาติ รวมถึงสถาบันการเงินทั้งหลายจะมีส่วนอย่างสำคัญในการสนับสนุนพัฒนาการ และความเจริญมั่งคั่งของประเทศในภูมิภาค อินโดจีน ซึ่งจะช่วยกระชับช่องห่างของการพัฒนาให้แคบลงและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคให้แข็ง แกร่งขึ้น ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้การก้าว สู่เป้าหมายการเป็นประชาคมเศรษฐกิจ อาเซียนในปี 2015 เป็นจริงยิ่งขึ้น”
อนาคตของอินโดจีนนับจากนี้ ไม่ได้ดำเนินไปอย่างโดดเดี่ยวและเลื่อนลอย หากกำลังเป็นดินแดนแห่งประโยชน์และโอกาสที่ท้าทาย ซึ่งต้องอาศัยวิสัยทัศน์และแนวนโยบายที่ชัดเจนรอบด้านในการบริหารจัดการอย่างยิ่ง
|
|
|
|
|