|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
อาจเป็นเรื่องบังเอิญที่กำหนดการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ลาวกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดให้มีขึ้นในวันที่ 20 ตุลาคม 2553 (2010) หลังตลาดหลักทรัพย์ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้ว 10 วัน
เพราะถ้ามองแบบคนที่เชื่อในเรื่องของตัวเลขแล้ว วันดังกล่าวจัดเป็นวันดีอีกวันหนึ่ง
ตลาดหลักทรัพย์ลาวกำหนดให้เปิดตัวอย่างเป็นทางการตามฤกษ์ในตัวเลข 10-10-10 หมายถึงวันที่ 10 เดือน 10 (ตุลาคม) ปี 2010
ส่วนการเปิดการซื้อขายหุ้นวันแรกกำหนดเอาไว้ตามฤกษ์ในตัวเลข 11-1-11 ซึ่งก็คือวันที่ 11 เดือน 1 (มกราคม) ปี 2011
วันที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปลงนามใน MOU ก็จะตรงฤกษ์ตามตัวเลข 2010-2010
“ผมมองแบบเป็นวิศวกร วันเปิดตัวตลาดคือ 10-10-10 คือ 10 ยกกำลัง 3 แต่วันที่ผมไปเซ็น MOU คือ 20 ตุลาคมนั้น ถ้าเป็นตัวเลขคือ 20-10-2010 เท่ากับ 2010 ยกกำลัง 2” เป็นมุกที่ชนิตร ชาญชัยณรงค์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยกขึ้นมาเปรียบเทียบให้ผู้จัดการ 360 ํ เห็นภาพ
MOU ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปลงนามในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2
ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2551 ตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทยเคยลงนามใน MOU กับธนาคารแห่ง สปป.ลาว ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นเจ้าภาพในการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ลาว
บทบาทของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตาม MOU ฉบับนั้น เป็นเหมือนพี่เลี้ยงในการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรที่จะถูกส่งลงมาเป็นพนักงานของคณะกรรมการคุ้มครองหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ค.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์ลาว
ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากรเหล่านี้ไปแล้ว 4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 2 สัปดาห์ เนื้อหาในการฝึกอบรม เน้นให้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์ ขั้นตอนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การกำกับดูแลโบรกเกอร์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการประสานงานงาน โทรศัพท์พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน รวมถึงการพาคนเหล่านี้มาดูงานยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นระยะ
(อ่าน “รหัส 10-10-10 ตลาดการเงินลาวเปิดเต็มรูปแบบ” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนมีนาคม 2553 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
ส่วน MOU ฉบับที่ 2 ที่เพิ่งลงนามกันเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เป็นการลงนามกันระหว่างตลาดหลักทรัพย์ของทั้ง 2 ประเทศ ในเนื้อหาที่เข้มข้นกว่าที่กำหนดไว้ใน MOU ฉบับแรก
เนื้อหาหลักใน MOU ฉบับที่ 2 มีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรก คือความร่วมมือในการจัดตั้งสถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุนให้กับตลาดหลักทรัพย์ลาว (LSI) โดยอาศัยแนวทางของสถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (TSI) มาเป็นต้นแบบ
TSI เป็นหน่วยงานหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ให้ความรู้ด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคล และการลงทุนกับเยาวชน นิสิต นักศึกษา รวมทั้งประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังให้ความรู้ควบคู่จรรยาบรรณกับผู้ประกอบวิชาชีพในธุรกิจหลักทรัพย์
ส่วนเรื่องที่ 2 คือการวางแนวทางสำหรับการที่จะให้บริษัทสามารถจดทะเบียนได้พร้อมกันทั้ง 2 ตลาด (Duo Listing)
ความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กับตลาดหลักทรัพย์ลาวจะแตกต่างจากรูปแบบการร่วมทุนของตลาดหลักทรัพย์ลาวกับตลาดหลักทรัพย์เกาหลี เพราะตลาด หลักทรัพย์เกาหลีจะเน้นในเรื่องฮาร์ดแวร์ คือการนำระบบเข้ามาใช้ในการซื้อขาย แต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเน้นเรื่องซอฟต์แวร์คือการให้ความรู้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก
“การสนับสนุนเรื่องคนเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าคนของเขาเก่ง ต่อไปเขากับเราก็จะทำธุรกิจร่วมกันง่ายขึ้น” ชนิตรอธิบาย
การวางบทบาทเป็นพี่เลี้ยงของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้กับตลาดหลักทรัพย์ลาวนั้น มองในระดับหนึ่ง ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีต่อการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรในตลาดทุนของทั้ง 2 ประเทศ
แต่หากมองให้ลึกลงไปกว่านั้น ผลที่ภาคเอกชนของทั้ง 2 ประเทศจะได้รับนั้นกลับมีมากกว่า
โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคธุรกิจของทั้ง 2 ฝั่ง
ในอดีต ความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างคนไทยกับคนลาว แม้จะมีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน แต่ก็อยู่บนพื้นฐานของความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ทั้งๆ ที่คนของทั้ง 2 ประเทศมีความใกล้ชิดกันและวัฒนธรรมของ 2 ประเทศก็ใกล้เคียงกัน
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะมีนักธุรกิจไทยหลายรายที่ได้เข้าไปทำธุรกิจในลาวแบบไม่จริงใจ หวังเพียงผลกำไรเฉพาะหน้า โดยไม่มองถึงความสัมพันธ์ในอนาคต
ที่หนักกว่านั้นคือหลายคนเข้าไปในลักษณะ “ตีหัวเข้าบ้าน” ได้สัมปทานโครงการบางอย่างไว้แล้ว แต่ไม่ยอมทำ หรือทำแบบทิ้งขยะเอาไว้ตามหลัง
และหนักที่สุดคือ เข้าไปหลอกลวงหุ้นส่วนที่เป็นคนลาว
ทำให้นักธุรกิจไทยอีกหลายรายที่ต้องการเข้าไปลงทุนในลาวแบบจริงใจ ต้องเสียโอกาสไปมาก โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจของลาวกำลังเดินหน้าขยายตัว
(อ่าน “โอกาสที่เปิดรออยู่ในลาว” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํฉบับเดือนสิงหาคม 2552 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
บทบาทของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยครั้งนี้ นอกจากจะเพื่อเป็นการแสดงความจริงใจที่หน่วยงานหลักของตลาดทุนไทยมีต่อภาคธุรกิจของลาวแล้ว ยังเป็นการรับรองถึงธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องจากความสัมพันธ์อันดีเช่นนี้จะต้องเป็นธุรกรรมที่อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและจริงใจ ลดความระแวงระหว่างกัน
“ตลาดหลักทรัพย์เป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่ต่อไปนักธุรกิจไทยที่ไปที่นั่นจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน เพราะเขา friendly เพราะเขาดีใจ เพราะต่อไปถ้าเขาเห็นชื่อว่าเป็นบริษัทมหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็ไม่มีปัญหา คุยธุรกิจก็ง่าย รัฐมนตรีทุกคนรู้จักหมด อธิบดีทุกคนรู้จักหมด คนในกระทรวงที่จะเป็นคนอนุมัติก็รู้จักหมด เพราะเราเดินเข้าไป 2-3 ปีนี้ ไปสร้างความสบายใจ ให้เขารู้จักว่าการที่จะ deal กับบริษัทจดทะเบียนนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะข้อมูลทุกอย่างโปร่งใส เปิดเผยหมด แล้วก็ไม่มีใครกล้าที่จะไปหลอก ไปโกง การทำธุรกิจทุกอย่าง ต้อง on paper เพราะว่ามีที่มา ที่ไปทั้งหมด” ชนิตรตอกย้ำ
วันที่ 20 ตุลาคม นอกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ไปลงนามใน MOU กับตลาดหลักทรัพย์ลาวแล้ว ยังได้ไปจัดสัมมนาให้ความรู้ในเรื่องขั้นตอนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แก่ผู้ประกอบการของลาวที่สนใจจะเข้ามาจดทะเบียน โดยได้มีวิทูร สุริยวนากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสยามโกลบอลเฮ้าส์ และบุญชัย ปัณฑุรอัมพร กรรมการผู้จัดการ บริษัทซาบีน่า ไปเป็นวิทยากร
ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการลาวเข้าร่วมรับฟังถึงกว่า 400 คน
การจัดกิจกรรมประเภทนี้ อย่างน้อยก็ได้สร้างสายสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นระหว่างนักธุรกิจลาวกับเจ้าของกิจการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
แต่ที่มากไปกว่านั้น คือมีธุรกิจเกิดขึ้นตามมาในภายหลังอีกด้วย
“แค่คุณบุญชัยพูดบนเวทีว่า เขาอยากได้ distributor ในลาว เท่านั้นแหละ ห้องประชุมแทบแตก” ชนิตรยกตัวอย่างให้เห็นภาพ
กรณีของสยามโกลบอลเฮ้าส์กับซาบีน่า เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าตลาดหลักทรัพย์ลาวเปิดการซื้อขาย
แต่หลังจากนี้ไป กรณีเช่นนี้จะต้องเกิดตามมาอีกหลายครั้ง ขึ้นอยู่ว่านักธุรกิจลาวและไทยจะสามารถจับโอกาสที่ลอยอยู่ตรงหน้าได้มากน้อยแค่ไหน เท่านั้น
|
|
|
|
|