Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา กุมภาพันธ์ 2554
LSX: จุดเชื่อมต่อลาวกับตลาดทุนโลก             
โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
 

   
related stories

ลาวในทศวรรษแห่งความท้าทาย
LHSE: ว่าที่กระเป๋าเงินใบใหญ่ของรัฐบาลลาว
Lao Bond ประตูเปิด สปป.ลาว สู่ตลาดการเงินสากล
นโยบายส่งเสริมการลงทุนของ สปป.ลาว
บทสนทนา

   
search resources

Investment
International
Laos
ตลาดหลักทรัพย์ลาว




ผู้ประกอบการใน สปป.ลาว จะพบกับประสบการณ์ใหม่หลังตลาดหลักทรัพย์ลาวเริ่มเปิดซื้อขายอย่างเป็นทางการตามกำหนด 11-1-11 ปรากฏการณ์นี้เปรียบเสมือนการเปิดข้อต่อของตลาดทุนลาวให้สามารถเชื่อมไปยังตลาดทุนอื่นๆ ทั่วโลก

“5...4...3...2...1...หม่ง...”

ทันทีที่เสียงนับถอยหลังจบลง เสียงลั่นฆ้องด้วยมือของสมสะหวาด เล่งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรี ผู้ประจำการ รัฐบาล สปป.ลาวในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครอง หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ค.ล.ต.) ก็ดังกังวานขึ้น

ตัวเลขราคาหุ้นที่วิ่งอยู่บนกระดานอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่บนผนังห้องโถงชั้น 2 ของอาคารตลาดหลักทรัพย์ลาว (LSX) เกิดการเปลี่ยนแปลงทันที

ราคาหุ้น BCEL และ EDL-GEN จากตัวเลขที่วิ่งอยู่ก่อนหน้านั้นไม่กี่วินาที เป็น 0 กีบทั้งคู่

หุ้น BCEL เปลี่ยนเป็น 8,000 กีบ และ EDL-GEN เปลี่ยนเป็น 4,700 กีบ

เสียงปรบมือระคนเสียงฮือฮาของผู้คนที่อยู่ในห้องโถงดังต่อเนื่องถึงกว่า 10 นาที หลังสิ้นเสียงฆ้อง หลายคนจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ราคาหุ้นของทั้ง 2 บริษัทที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าราคาที่นำออกมากระจายขายให้กับประชาชนทั่วไป ตอนที่ทั้ง 2 บริษัททำ IPO (Initial Public Offering)

สีหน้าของผู้คนล้วนมีแววปีติ เพราะทุกคนที่ได้ซื้อหุ้นของทั้ง 2 บริษัทเอาไว้ ต่างได้รับกำไรกันถ้วนหน้า...อย่างน้อย 15%

ธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (BCEL) และบริษัทผลิตไฟฟ้าลาว (EDL-GEN) เป็น 2 บริษัทนำร่องที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาว ซึ่งเริ่มเปิดซื้อขายอย่างเป็น ทางการเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 ตามฤกษ์ 11-1-11 หมายถึงวันที่ 11 เดือน 1 ปี 2011

ก่อนหน้านั้นมีการเปิดตัวตลาดหลักทรัพย์อย่างเป็นทางการไปครั้งหนึ่งแล้ว ตามฤกษ์ 10-10-10 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2553 (2010) แต่การซื้อขายจริงยังไม่เริ่ม เพราะระบบการซื้อขายยังไม่พร้อม จึงขยับเวลาเปิดการซื้อขายให้มาเริ่มต้นในวันที่ 11 มกราคมดังกล่าว

(อ่าน “ตลาดทุนแห่ง สปป.ลาว เมื่อทุนลาว คนลาว เป็นเจ้า” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2553 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

ทั้ง 2 บริษัท เป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลลาว โดย BCEL เป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐทำหน้าที่ให้สินเชื่อสนับสนุนธุรกรรมที่เกี่ยวพันกับการค้าการลงทุน ระหว่างประเทศ ส่วน EDL-GEN เป็นส่วน หนึ่งของธุรกิจที่เคยอยู่ภายใต้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) แต่เมื่อจะต้องนำ EDL เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จำเป็นต้องแยกธุรกิจเฉพาะส่วนที่ทำกำไร คือเขื่อนและโรงไฟฟ้า 3 แห่งออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุนในการซื้อหุ้นที่นำออกมา IPO

EDL-GEN มีทุนจดทะเบียน 2,600 พันล้านกีบ นำหุ้นออกมากระจายขายให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกจำนวน 217 พันล้านหุ้น ระหว่างวันที่ 16-27 ธันวาคม 2553 ในราคาหุ้นละ 4,000 กีบ

ส่วน BCEL มีทุนจดทะเบียน 682 พันล้านกีบ นำหุ้นจำนวน 15% ของทุนจดทะเบียนมาทำ IPO โดยใช้วิธีการประมูลจากราคาตั้งต้นที่หุ้นละ 5,000 กีบ ได้ราคาล่าสุดก่อนการซื้อขายจริงที่หุ้นละ 5,910 กีบ

เมื่อตลาดหลักทรัพย์ลาวเปิดการซื้อขายอย่างเป็นทางการ ผู้ที่ซื้อหุ้น IPO ของ EDL-GEN เอาไว้ ได้กำไร (ทางบัญชี) ทันที 17.5% ในขณะที่ผู้ที่ซื้อหุ้น IPO ของ BCEL ได้กำไรถึง 35.4%

การจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์เป็นดำริของรัฐบาล สปป.ลาวมาตั้งแต่ปี 2540 แต่มาเริ่มเป็นรูปเป็นร่างอย่างจริงจัง เมื่อสภาแห่งชาติได้รับรองแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม 5 ปี ครั้งที่ 6 ระหว่างปี 2549-2553 โดยในแผนนี้ระบุชัดว่าจะต้องจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2553 ซึ่ง สปป.ลาวก็ได้ดำเนินการมาเป็นขั้นตอน จนกระทั่งสามารถเปิดตัวตลาดหลักทรัพย์ลาวได้ตามกำหนด

เหตุผลที่ต้องกำหนดระยะเวลาการเปิดตลาดหลักทรัพย์เอาไว้ค่อนข้างตายตัว เนื่องจากในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม 5 ปี ครั้งที่ 7 ระหว่างปี 2554-2558 ได้ตั้งเป้าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของ สปป.ลาวไว้ว่าต้องไม่ต่ำกว่า 8% ต่อปี ดังนั้นการลงทุนในช่วง 5 ปี ตามแผนฉบับนี้ต้องมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการ เงินทุนในช่วงนี้ต้องมีมากขึ้น จึงจำเป็นต้องตั้งตลาดหลักทรัพย์ขึ้นมาให้ทันใช้เป็นกลไกในการจัดหาเงินทุนระยะยาวให้กับผู้ลงทุน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจ

“ที่ผ่านมา การลงทุนใน สปป.ลาวต้องอาศัยตลาดเงิน ซึ่งก็คือการกู้จากธนาคารพาณิชย์แต่เพียงอย่างเดียว ระยะเวลาการกู้ก็สั้นเพียงแค่ 3 ปีเป็นส่วนใหญ่ กลายเป็นว่าเรานำตลาดเงินมาใช้เป็นตลาดทุน รัฐบาลจึงมีแผนว่าต้องตั้งตลาดทุนให้ได้ในปี 2010 เพื่อรองรับกับเป้าหมายในแผน 5 ปี ครั้งที่ 7” เดชพูวัง มูลรัตน์ ประธาน และผู้อำนวยการใหญ่ ตลาดหลักทรัพย์ลาว บอกกับผู้จัดการ 360 ํ

อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อเป็นการส่วนตัวว่า หลังจากตลาดหลักทรัพย์ได้เปิดการ ซื้อขายอย่างเป็นทางการ และนักลงทุนเริ่ม เข้าใจกลไกการระดมทุนโดยอาศัยตลาด หลักทรัพย์แล้ว ความเป็นไปได้ที่ตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่กำหนดไว้ในแผนที่จะให้ GDP โตขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 8% นั้นจะต้องทำได้มากกว่าเป้า

“เพราะว่าเรามีแหล่งเงินทุนระยะยาวแล้ว นักธุรกิจหรือกิจการต่างๆ ก็จะมีความสะดวกในการระดมทุน ความมั่นคงก็จะมีเพิ่มขึ้น” เขาให้เหตุผล

แม้ว่าตลาดหลักทรัพย์ลาวเพิ่งเปิด และมีสินค้าที่เป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่เพียง 2 บริษัท แต่เดชพูวังก็ได้วางแผนในการเพิ่มบริษัทจดทะเบียนเอาไว้แล้ว โดยเขาตั้งเป้าหมายแบบอนุรักษนิยมไว้ว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า เมื่อถึงปี 2020 (พ.ศ.2563) จะต้องมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาวไม่น้อยกว่า 10 บริษัทจากสถานการณ์ปัจจุบัน ตัวเลขเป้าหมายที่เขาตั้งไว้อาจจะน้อยเกินไป เพราะขณะนี้ ผู้ประกอบการหลายรายใน สปป.ลาว ต่างหันมาให้ความสนใจในการเข้ามาใช้กลไกของตลาดหลักทรัพย์ในการระดมเงินทุน

โดยเฉพาะกิจการขนาดใหญ่ในภาคเอกชน อย่างเช่น

- กลุ่มดาวเรือง เจ้าของธุรกิจร้านค้าปลอดภาษี และกาแฟ

- บริษัทเทรดเวิลด์ เจ้าของศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ ไอเต็ค

- บริษัทอนุก่อสร้าง ผู้รับเหมาก่อสร้าง และติดตั้งระบบโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ

- บริษัทผลิตสายไฟฟ้าขนาดใหญ่ในแขวงสะหวันนะเขต

- ผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่ใน สปป.ลาว ที่มีอยู่ประมาณ 4 แห่ง

“กลุ่มธุรกิจเหล่านี้เราก็ได้เคยพูดคุยกับเขา ก็มีการเชิญชวนเขาให้เข้ามาเป็นบริษัท จดทะเบียน เพราะเรามองว่าถ้าเขาเข้ามาแล้วทำธุรกิจให้ดีขึ้น เขาก็จะกลายเป็นผู้ที่มีบทบาทอยู่ในมหาชน”

เดชพูวังย้ำว่า “คำว่ามหาชน ไม่ใช่เพียงแค่ในสังคม แต่มหาชน หมายรวมถึงคน ทั้งภายในและต่างประเทศ”

ตลาดหลักทรัพย์ลาวเกิดขึ้นจากความร่วมมือของรัฐบาล สปป.ลาว และตลาดหลักทรัพย์เกาหลี โดยร่วมลงทุนกันในสัดส่วน 51% ต่อ 49% โดยทางฝั่งเกาหลีเป็นผู้วาง ระบบเทคโนโลยีสำหรับการซื้อขายหุ้น

ความสามารถของระบบการซื้อขายที่บริษัทคอสคอมจากเกาหลีนำเข้ามาติดตั้งไว้ที่ตลาดหลักทรัพย์ลาวนั้นสามารถรองรับคำสั่งซื้อขายหุ้นที่มีเข้ามาในเวลาเดียวกันสูงถึง 1 แสนรายการ

แต่เนื่องจากปัจจุบันเป็นช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์เพิ่งเริ่มเปิดการซื้อขาย คนส่วนใหญ่ ยังมีความเข้าใจเรื่องการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไม่มากนัก ตลาดหลักทรัพย์ลาวจึงยังไม่นำการซื้อขายแบบ real-time เข้ามาใช้ แต่ใช้วิธีการจับคู่คำสั่งวันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้า และช่วงบ่าย

เมื่อมีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ก็ต้องมีการให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ แต่เนื่องจากสภาพของตลาดที่ยังใหม่ มีขนาดไม่ใหญ่ ใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ใน สปป.ลาว ทุกวันนี้ เป็นการให้แบบเป็นแพ็กเกจ คือ 1 ใบอนุญาตสามารถทำได้ทั้งการเป็นนายหน้า ซื้อขายหลักทรัพย์ การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน ตลอดจนการจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่ายหุ้น

“ตลาดเรายังเล็กอยู่ เราให้ในลักษณะ 1 ใบอนุญาตสามารถทำได้ทุกฟังก์ชัน แต่ในอนาคต เมื่อขนาดของตลาด ขยายตัวขึ้นก็คงต้องมีการแยกแต่ละฟังก์ชัน ออกมาเป็นใบอนุญาตเฉพาะ”

ปัจจุบันใน สปป.ลาวมีบริษัทหลักทรัพย์ที่เปิดดำเนินกิจการอย่างจริงจัง 3 แห่ง

แห่งแรกคือ บริษัทหลักทรัพย์ BKT เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จากประเทศไทย กับธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (BCEL) ซึ่งมีผลงาน ที่ผ่านมาคือการเป็นที่ปรึกษา จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นให้กับบริษัทผลิตไฟฟ้าลาว (EDL-GEN)

แห่งที่ 2 คือ บริษัทหลักทรัพย์ล้านช้าง ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Sacom Bank จากเวียดนามกับธนาคารพัฒนาลาว (ธนาคารของรัฐ) ผลงานที่ผ่านมาคือการเป็นที่ปรึกษา จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นให้กับ BCEL

แห่งที่ 3 บริษัทหลักทรัพย์เอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารส่งเสริมกสิกรรม (ธนาคารของรัฐ) กับบริษัทข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นบริษัทของคนลาว

นอกจากนี้ยังมีผู้ที่สนใจแสดงความจำนงจะเข้ามาประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ใน สปป. ลาวอีก 2 ราย ได้แก่ ธนาคารอินโดไชน่าของเกาหลี ที่จะร่วมทุนกับบริษัทหลักทรัพย์ IBKS จากเกาหลีเช่นกัน จัดตั้งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ IBK และธนาคารพงสะหวัน ซึ่งเคยลงนาม ในบันทึกความเข้าใจในการร่วมกันทำธุรกิจหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ของไทย

แต่ 2 รายหลังนี้ยังไม่ได้เริ่มต้นทำธุรกิจหลักทรัพย์อย่างจริงจัง

“วันแรกที่เปิดตัวตลาดหลักทรัพย์มีคนโทรศัพท์มาหาจากสหรัฐอเมริกา มาแสดงความยินดีแล้วบอกว่าอยากจะเข้ามาลงทุนในลาว ผมบอกเขาว่าให้เข้ามาได้เลย” เดชพูวัง เล่าด้วยความภาคภูมิใจ

มาถึงวันนี้ องค์ประกอบในตลาดทุนของ สปป.ลาวถือว่าครบวงจรแล้ว

ตลาดหลักทรัพย์ลาวเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบ มีสินค้าซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียน มีบริษัทหลักทรัพย์ มีนักลงทุน ธุรกรรมในตลาดทุนของ สปป.ลาว เริ่มก้าวเดินไปข้างหน้า

จากวันแรกที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market capitalization) ยังมีไม่มากนัก ในอนาคต เมื่อธุรกิจขนาด ใหญ่ซึ่งเป็นสัมปทานของรัฐเข้าจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ และสามารถดึงดูดเงินลงทุนทางอ้อมจำนวนมหาศาลเข้ามาสู่ สปป.ลาวได้แล้ว

คงต้องรอดูว่าตลาดเกิดใหม่ (จริงๆ) อย่างตลาดหลักทรัพย์ลาวจะใช้เวลาเท่าใดที่จะถูกจัดให้อยู่ใน list ของ Fund Manager ทั่วโลก ในฐานะ Emerging Markets ที่ต้องนำเงินเข้าไปลงทุน   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us