หาก สปป.ลาวที่วางตำแหน่งให้ประเทศเป็นแบตเตอรี่ของเอเชีย รัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาวก็กำลังจะเป็นแบตเตอรี่ของรัฐบาลลาว ทำหน้าที่เก็บเกี่ยวรายได้จากการขายไฟฟ้าให้ไทย เพื่อนำเงินก้อนใหญ่ไปให้รัฐบาลใช้พัฒนาประเทศ
“อย่างน้ำเทิน 2 โดยรวมแล้ว ผมจะได้เงินปันผลเกือบ 700 ล้านเหรียญในช่วง 25 ปีสัมปทาน แต่งบประมาณค่าใช้จ่ายของผมในโครงการนี้ 4-5 แสนเหรียญต่อปี ไม่ถึงล้านเหรียญ ถ้า 25 ปี ก็ไม่ถึง 25 ล้านเหรียญ แล้ว 700 ล้านมา หักออก 25 ล้าน ก็เกิน 650 ล้านเหรียญ ที่รัฐบาลจะได้รับ”
สมบูน มะโนลม ผู้อำนวยการรัฐ วิสาหกิจถือหุ้นลาว หรือ Lao Holding State Enterprise (LHSE) บอกกับ ผู้จัดการ 360 ํ ถึงตัวเลขรายรับของ LHSE จากโครงการน้ำเทิน 2 โครงการเขื่อนและ โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดกำลังการผลิต 1,088 เมกะวัตต์ ใหญ่ที่สุดของ สปป.ลาวในขณะนี้ ซึ่ง LHSE ร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย 25%
เป็นการยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมให้ เห็นบทบาทของ LHSE ในฐานะ Investment Arm ของรัฐบาล สปป.ลาวที่จะเป็นตัวแทน เข้าไปลงทุนถือหุ้นในโครงการสัมปทานต่างๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อนำผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุน กลับไปเป็นเม็ดเงินงบประมาณสำหรับการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
น้ำเทิน 2 เป็นโครงการลงทุนแรกของ LHSE ที่เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 โดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย เพิ่งเดินทางไป ที่แขวงคำม่วน เพื่อทำพิธีเปิดโครงการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา
นอกจากรายได้จากเงินปันผลที่ถูกส่งผ่านมาจาก LHSE กว่า 650 ล้านดอลลาร์ ตลอดระยะเวลา 25 ปีสัมปทานในโครงการนี้แล้ว รัฐบาลลาวยังจะมีรายได้จากค่าสัมปทาน และภาษีจากโครงการน้ำเทิน 2 อีกปีละ 80 ล้านดอลลาร์ ตลอดระยะเวลาเดียวกันอีกด้วย
รัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว หรือ LHSE เป็นองค์กรที่รัฐบาล สปป.ลาวถือหุ้น 100%ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลในการเข้าไปลงทุนถือหุ้นในโครงการสัมปทานต่างๆ
โดยเบื้องต้นรัฐบาล สปป.ลาวกำหนดบทบาทให้ LHSE เข้าไปถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าที่ผลิตเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะ
ภายใต้บทบาทนี้ ปัจจุบัน LHSE จึงถูกนิยามให้เป็นรัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้าแห่งที่ 3 ของ สปป.ลาว โดย 2 แห่งแรกได้แก่ บริษัท ก่อสร้างและติดตั้งไฟฟ้า และรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) ซึ่งรายหลังนี้เป็นที่รู้จักกัน ของคนไทยค่อนข้างดี เพราะมีภารกิจคล้าย คลึงกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คือการจัดหาและผลิตไฟฟ้าเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ
นอกจากโครงการน้ำเทิน 2 แล้ว LHSE ยังมีการลงทุนอีก 8 โครงการที่กำลัง มีความคืบหน้า ซึ่งเมื่อรวมทั้ง 9 โครงการ จะมีกำลังการผลิตรวมถึง 5,820 เมกะวัตต์
ทั้ง 9 โครงการล้วนเป็นโรงไฟฟ้าที่ขายไฟให้กับประเทศไทยเป็นหลัก (ดูรายละเอียดจาก “โครงการลงทุนของ LHSE”)
รัฐบาลไทยมีบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับรัฐบาล สปป.ลาวเอาไว้ว่า จะซื้อไฟฟ้าจากลาวถึง 7,000 เมกะวัตต์ โดยจะซื้อ 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี ค.ศ.2015 และจะซื้อเพิ่มขึ้นอีก 2,000 เมกะวัตต์ หลังจากนั้น
หากดูจากตัวเลขกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าที่ LHSE ได้เข้าไปถือหุ้นแล้ว LHSE ถือเป็นองค์กรที่กำลังเพิ่มบทบาทสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ต่อประเทศไทย โดยเฉพาะการนำเข้าไฟฟ้า จาก สปป.ลาวเข้ามาใช้ในไทย เพราะร่วมถือหุ้นอยู่ในโรงไฟฟ้า ส่วนใหญ่ที่ไทยต้องซื้อไฟฟ้าเข้ามา
“ที่คิดหวังเอาไว้ ผมก็อยากให้รัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาวนั้นสืบต่อ เติบโตอย่างต่อเนื่อง แล้วก็อยากให้เป็นบริษัทที่มีผลกำไรแบบยืนยงไป แล้วก็สร้างรายรับให้รัฐบาลลาวเป็นก้อนโตๆ เพื่อว่ารัฐบาลจะได้มีเงินพอในการสนองให้แก่แผน งานพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ของประเทศแต่ละปี” เป็นความ ตั้งใจของสมบูนที่ได้วางไว้ให้กับองค์กรแห่งนี้
LHSE จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี สปป.ลาว เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2547 เริ่มจากการแต่งตั้งสมบูน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการ LHSE ทำหน้าที่จัดตั้งองค์กร LHSE ขึ้นมาโดยเฉพาะ
หลังจากนั้นในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2548 กระทรวงการเงินของลาว จึงได้ประกาศการจัดตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ
“ตอนแรกรัฐบาลตั้งผมขึ้นมาคนเดียว แล้วมอบหมายให้ผมไปเตรียมงานด้านเอกสารให้เป็นตามกฎหมายของลาว ว่าการตั้งรัฐวิสาหกิจต้องมีเอกสารอะไรบ้าง แล้วการสรรหาบุคลากรต่างๆ นี่ ผมต้องดำเนินการเอง คือผมต้องไปหาเองแล้วผม ก็บริหาร ในคณะอำนวยการนี่มีผมคนเดียวประมาณเกือบปีครึ่ง” สมบูนเล่า
ธนาคารโลกเป็นองค์กรที่เสนอแนวคิดให้มีการจัดตั้ง LHSE ขึ้นมา เพื่อแบ่งบทบาทความรับผิดชอบในการจัดหา และผลิตพลังงานไฟฟ้าของ สปป.ลาว ระหว่าง EDL กับ LHSE โดยมีหลักการว่า หากการลงทุนผลิตไฟฟ้าเพื่อป้อนความต้องการใช้ภายในประเทศ ให้เป็นบทบาทของ EDL แต่หากเป็นการลงทุนผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งออกขายให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ให้เป็นหน้าที่ของ LHSE
เหตุผลที่ต้องแยกบทบาทเช่นนี้ เนื่องจากการลงทุนผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนความต้องการใช้ภายในประเทศนั้น ถือเป็นภารกิจเพื่อสังคม ดังนั้นจึงมีการลงทุนหลายอย่างที่ไม่สามารถสร้างผลกำไรได้ บทบาทนี้จึงถูกมอบหมายให้อยู่กับ EDL เป็นหลัก
“ทั้งโครงการภายในประเทศต้องรับผิดชอบ generation, transmission, distribution และ customer service แถมยังไปร่วมทุนใน IPP เพื่อการส่งออกอีก แล้วเดี๋ยวนี้ธุรกิจ ของ EDL ก็มีส่วนที่ได้กำไรดี กับส่วนที่ต้องยอมขาดทุน เช่น การขยายไฟฟ้าไปสู่ชนบทไม่ค่อยมีผลกำไร แล้วภาคเอกชนไม่ค่อยมีใครอยากทำ แต่หน้าที่ทางด้านการเมือง สังคม พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รัฐต้อง ทำ คือให้ EDL ทำ แล้วเรื่องการชดเชยนั้น ก็ยังไม่มีกลไกที่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะชดเชยอย่างไร ก็ทำให้ EDL มี cash flow ที่ไม่ดี ทีนี้ ตอนที่จะไปกู้เงินมาพัฒนาหรือร่วมทุน ใน IPP เป็นก้อนเงินค่อนข้างใหญ่ บรรดาแบงก์ทั้งหลายก็มองไปที่ cash flow ของ EDL ก็ทำให้ EDL กู้เงินลำบาก แต่รัฐบาลมีกฎหมายว่าด้วยไฟฟ้า ระบุว่ารัฐบาลจะต้องลงทุนถือหุ้นในทุกๆ โครงการ IPP เพื่อให้มีสภาพคล่องใน power sector รัฐบาลเลยตัดสินใจตั้ง LHSE ขึ้นมาเพื่อแบ่งเบาภาระของ EDL” เขาอธิบาย
ตัวอย่างในกรณีนี้เห็นได้จากความ พยายามในการนำ EDL เข้าจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์ลาว รัฐบาลลาวจำเป็นต้องแยกธุรกิจที่สร้างผลกำไรโดยเฉพาะออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ที่ชื่อว่าบริษัทผลิตไฟฟ้าลาว (EDL-GEN) เพื่อสร้างแรงจูงใจในการซื้อหุ้นของนักลงทุน ก่อนนำเข้าไปจดทะเบียน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนโยบายที่จะให้ สปป.ลาวเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าป้อน ให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้มีมาก่อนการจัดตั้ง LHSE ดังนั้น จึงมีโรงไฟฟ้าเพื่อการ ส่งออกของลาวหลายแห่งที่รัฐบาลลาวได้เข้าไปถือหุ้นในนามของ EDL อาทิ โครง การเทินหินบุน โครงการน้ำงึม 2 โครงการไชยะบุรีที่จะขายไฟให้กับประเทศไทย นอกจากนี้ สายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่าง EDL กับการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) โครงการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้กับเวียดนาม จึงมี EDL เข้าไปร่วมถือหุ้นด้วย รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าที่จะขายไฟให้กับจีน
บทบาทของ EDL จึงแตกต่างจาก LHSE เพราะ LHSE ถูกกำหนดไว้ชัดเจนว่าโครงการลงทุนที่ LHSE จะนำเงินเข้าไปใส่ ทุกโครงการต้องเป็นโครงการที่มีกำไรเท่านั้น
ปัจจุบัน บุคลากรของ LHSE มีประมาณ 55 คน ส่วนใหญ่จบการศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ บัญชี และกฎหมาย จะมีบุคลากรทางด้านเทคนิค พวกวิศวกร ในสัดส่วนที่น้อยกว่า โดยในจำนวนนี้มีวิศวกรประมาณ 11 คน ที่ถูกส่งเข้าไปร่วมอยู่ในทีมงานบริหารโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 เพื่อเรียน รู้และหาประสบการณ์ในการบริหารโครงการขนาดใหญ่
“เราไม่จำเป็นต้องมีโครงสร้างองค์กรที่ใหญ่โตแต่เน้นหาคนที่จะมาบริหาร ธุรกิจที่เข้าใจทางด้านธุรกิจ เรื่องกฎหมาย ของสัญญาต่างๆ ที่ผูกพันกับ LHSE กับผู้ร่วมทุนกับผู้ให้เงินกู้ หรือผู้รับเหมา ผมจะเน้นไปทางด้านธุรกิจมากกว่าทางด้านเทคนิค หรือ operation แบบเทคนิคมันจะต่างจาก EDL เพราะว่าการบริหาร ธุรกิจของผม มันต่างกับ EDL แล้วเรื่องประสิทธิผล หรือผลตอบแทนจากการลงทุนนี่สูงมาก”
ว่ากันว่ากระทรวงการเงินของลาว ได้กำหนดเป้าหมายผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ของ LHSE เอาไว้สูงถึงปีละ 10% ทั้งนี้เพื่อให้ LHSE เป็นองค์กรที่ได้รับความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะจากสถาบันการเงิน เพื่อให้ง่ายต่อการระดมเงินทุนมาใช้ในการลงทุน ไม่ว่าจะผ่านทางตลาดเงิน หรือตลาดทุน
LHSE จึงถือเป็นองค์กรต้นแบบสำหรับ สปป.ลาวที่ก้าวเข้ามาทำธุรกิจตามแบบสากล ซึ่งต้องอาศัยตลาดการเงินทั่วโลก ในการระดมเงินทุน ไม่ใช่เฉพาะตลาดการเงินภายในประเทศ
“แต่ละขั้นตอนของการพัฒนานิติกรรมต้องรัดกุม เพื่อรับประกันว่าโครงการของเราต้องไม่มีการขาดทุน เราต้องสร้างความน่าเชื่อถือของ LHSE ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ สร้าง credit ratingให้ดีที่สุด ทั้งต่อ lender และต่อผู้ร่วม ทุนต่างประเทศ ผมจะทำให้ดีกว่าวิสาหกิจอื่นของรัฐ คือผลตอบแทนการ ลงทุนนี่ เป็น 2 digit ที่คุยกัน IRRเป็น 2 digit ขึ้นไป” สมบูนย้ำ
“แล้วหนึ่งในวิสัยทัศน์ที่ผมเคย กล่าวในหลายเวทีคือ LHSE จะไม่ขอ รับการเกื้อกูลจากรัฐบาล แบบว่ารัฐบาลต้องเอาทุนให้ฟรีๆ อะไรทำนองนั้น ไม่เอา”
โครงการน้ำเทิน 2 เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในวิสัยทัศน์ที่สมบูนกล่าวถึง
โครงการนี้ รัฐบาลลาวได้รับความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากสถาบันการเงินต่างประเทศ 4 แห่งคือ Agence Fran”aise de Developpement (AFD) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) European Investment Bank และธนาคารโลก
แต่กระทรวงการเงินของลาว นำเงินดังกล่าวมาปล่อยกู้ให้กับ LHSE เพื่อนำไปใช้ในการลงทุนในโครงการนี้ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยตามมาตรฐานของสถาบันการเงินทั้ง 4 แห่ง
“เราทำธุรกิจได้เงินฟรีมาทำธุรกิจ donor ก็ไม่พอใจ ไม่แฮปปี้ บรรดาประเทศสมาชิก IFI (International financial institutions ในเครือธนาคารโลก) ADB หรือธนาคารโลก เขาก็ตำหนิ วิจารณ์ได้ว่า ทำไมธนาคารโลก หรือ ADB ต้องเอาเงินมาให้เปล่ากับบริษัทที่ทำกำไร มันผิดคอนเซ็ปต์ของเขา”
ตามประมาณการทางการเงิน ทั้ง 9 โครงการที่ LHSE จะเข้าไปถือหุ้นนั้นจำเป็น ต้องใช้เงินทุนสูงถึง 650 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 28,000 ล้านบาท) ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ LHSE ต้องเข้ามาอาศัยกลไกการระดมทุนผ่านตลาดเงินและตลาดทุน
“น้ำเทิน 2 นี่ ผมใส่ไป 25% ก็ประมาณ 87-88 ล้านเหรียญ ในหงสา ผมก็ต้องใส่ ประมาณ 185-186 ล้านเหรียญ ซึ่งก็สามารถระดมทุนมาได้แล้ว ส่วนโครงการอื่นก็ไปตามสัดส่วน มีทั้งประมาณ 70-80 ล้าน หรือ 60 ล้าน ขึ้นกับขนาดของโครงการ”
นอกจากการที่ถูกกำหนดผลตอบแทนจากการลงทุนไว้ในอัตราที่สูงแล้ว เครดิตของ LHSE ยังได้รับการยอมรับตั้งแต่เพิ่งจัดตั้งองค์กรได้เพียง 1 ปี โดยได้รับรางวัล PFI Awards 2005 จากนิตยสาร PROJECT FINANCE INTERNATIONAL ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จากโครงการน้ำเทิน 2 เป็นรางวัลประเภท Asia Pacific Power Deal of the Year
ความน่าเชื่อถือเหล่านี้ น่าจะทำให้ LHSE สามารถเข้ามาใช้กลไกในตลาดการเงินได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
แต่ LHSE เลือกที่จะให้รัฐบาล โดยกระทรวงการเงินเป็นผู้ออกหน้าในการกู้เงินจาก สถาบันการเงิน เพื่อนำเงินมาปล่อยกู้ให้กับ LHSE อีกต่อหนึ่งไปก่อน
“เมื่อก่อน ตอนที่ยังไม่มีกฏหมายว่าด้วยธุรกิจฉบับปรับปรุงที่รับรองโดยสภา แห่งชาตินั้น รัฐวิสาหกิจไม่มีสิทธิ์ที่จะกู้เงิน โดยตรง ต้องเป็นกระทรวงการเงินอย่างเดียว กู้มาแล้วค่อยปล่อยกู้ต่อ แต่หลังๆ มานี่ ก็มีกฏหมายว่าด้วยธุรกิจฉบับปรับปรุง ซึ่งอนุญาตให้รัฐวิสาหกิจสามารถกู้เงินโดย ตรงได้ แต่ยังต้องได้รับการค้ำประกันจากกระทรวงการเงินจากรัฐบาลอยู่ดี ผมเลยเลือกให้กระทรวงการเงินเป็นผู้กู้โดยตรงก่อน เพราะคิดว่าทางผู้ให้กู้จะมีความสบายใจมากกว่า ความสามารถในการใช้หนี้จะมีความคล่องตัวกว่า เพราะว่ามันเป็นถุงเงินใหญ่ของรัฐบาล เทียบกับของผมที่เพิ่งมีรายรับจากโครงการเดียวคือ น้ำเทิน 2”
อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เงื่อนไขที่รัฐบาลลาวได้ให้ไว้กับ AFD ธนาคารโลก และ ADB ในฐานะผู้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินในโครงการน้ำเทิน 2 นั้น เงินรายได้ของรัฐบาลจากโครงการนี้จะต้องถูกนำไปใส่ไว้ในกองทุนลบล้างความยากจน ตามแผนลบล้างความ ยากจนแห่งชาติ ที่ตั้งเป้าให้ สปป.ลาวหลุดพ้นจากความเป็นประเทศยากจนในปี 2020 (พ.ศ.2563) ดังนั้น เงินรายได้จากโครงการน้ำเทิน 2 สำหรับ LHSE แล้ว จึงไม่สะดวกในการนำไปใช้ลงทุนต่อเนื่อง
แต่อีกไม่เกิน 5 ปี นับจากนี้ การทำธุรกิจของ LHSE จะมีความคล่องตัวขึ้น เมื่อโครงการโรงไฟฟ้าหงสา เริ่มเปิดดำเนินการ
โครงการหงสา เป็นโรงไฟฟ้าจากถ่านหิน กำลังการผลิต 1,878 เมกะวัตต์ วงเงิน ลงทุน 3,710 ล้านดอลลาร์ โดย LHSE ร่วมถือหุ้นด้วย 20%
หากเริ่มเปิดดำเนินการ โรงไฟฟ้าหงสาจะเป็นโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุดของ สปป.ลาว และเป็นโรงไฟฟ้าที่มีความเสถียรมากที่สุด เพราะใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน ที่มีแหล่งถ่านหินรายล้อมอยู่รอบโรงไฟฟ้า จึงไม่มีตัวแปรเรื่องปริมาณน้ำที่จะนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าเหมือนกับโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ใน สปป.ลาวที่เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ
(รายละเอียดของโครงการหงสา อ่าน “A villager on an international milestone” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนกันยายน 2553 หรือใน www.gotomanager.com)
การระดมทุนของ LHSE ในโครงการนี้มีขึ้นเมื่อวันที่ 24 กันยายนปีที่แล้ว (2553) โดยมีพิธีลงนามในสัญญาเงินกู้ วงเงิน 220 ล้านดอลลาร์ ระหว่างสมดี ดวงดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเงิน สปป.ลาว กับอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย และเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์
เงินกู้ก้อนนี้ กระทรวงการเงินของ สปป.ลาวได้นำไปปล่อยกู้ต่อให้กับ LHSE เพื่อใช้ลงทุนในโครงการหงสา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก Lao Bond ประตูเปิด สปป.ลาว สู่ตลาดการเงินสากล)
การก่อสร้างของโครงการหงสาได้เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2553 ตามกำหนดการ จะสร้างเสร็จและสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้า ได้ในปี 2558
“หงสานี่ ผมจะได้เงินปันผลมากกว่าน้ำเทิน 2 อีก แล้วก็ไม่มีข้อผูกพัน ข้อผูกมัดเหมือนกับน้ำเทิน 2 เป็นรูปแบบการทำธุรกิจเต็มตัว รายได้ที่ผมได้รับ ผมมีสิทธิ์ที่จะนำไปลงทุนอย่างอื่นได้”
หลังจากโครงการหงสา ก็ยังมีน้ำงึม 3 ที่ได้มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.แล้ว จะเริ่มการก่อสร้างในปลายปีนี้เป็นโครงการถัดไป
โครงการนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องเงินกู้ระหว่างรัฐบาล สปป.ลาวกับสถาบัน การเงินผู้ให้กู้ โดย LHSE คาดว่าต้องใช้เงินในการเข้าไปลงทุนประมาณ 70 ล้านดอลลาร์ โดยครึ่งหนึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ADB คาดว่าการเจรจาเรื่องเงินกู้จะเสร็จสิ้นประมาณ กลางปีนี้ เพื่อเริ่มต้นการก่อสร้างได้ในช่วงปลายปี
โรงไฟฟ้าน้ำงึม 3 มีกำหนดเปิดดำเนินการ และเริ่มจ่ายไฟได้ในปี 2560
โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย เป็นอีกโครงการหนึ่งที่มีความคืบหน้า เพราะได้มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.ไปแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบโครงการ
อีก 5 โครงการที่เหลือ อยู่ระหว่างการเจรจาซื้อ-ขายไฟฟ้ากับ กฟผ.ซึ่งผู้รับซื้อหลัก
“ตอนที่ค่าไฟยังตกลงกันไม่ได้ ผู้ลงทุนก็เดินหน้าศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม แล้วก็เตรียมผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการให้ดี เพื่อเจรจากับสถาบันการเงิน”
สมบูนบอกกับผู้จัดการ 360 ํ แบบค่อนข้างจะอนุรักษนิยมว่า คาดว่าหลังจากโครงการหงสาเริ่มดำเนินการไปได้แล้วประมาณ 10 ปี หรือในปี 2568 (ค.ศ.2025) LHSE น่าจะได้รับความเชื่อถือเพียงพอที่จะกู้เงินจากสถาบันการเงินโดยตรงด้วยตัวเองได้ รวมถึงการเข้าไปใช้กลไกในตลาดการเงินประเภทอื่นเพื่อระดมเงินทุน รวมถึงการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น
“ในเรื่องอนาคตนี่ก็คิดว่าจะต้องเป็น ธุรกิจเต็มตัว จะต้องเรียนรู้จากบรรดาประเทศที่เจริญแล้วว่า รัฐวิสาหกิจที่เติบโต ได้ดี เขาทำอย่างไรกัน ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องโลกาภิวัตน์นี่แหละ ซึ่งธนาคารโลกก็ได้ ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคกับเราว่าให้ศึกษาการเข้าตลาดหลักทรัพย์ จะมีขั้นตอนอย่างไร จะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไร ก็ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกามาช่วยดูให้ แต่ว่าน่าเสียดายที่งบมีจำกัด ต่อไปก็อาจจะพึ่ง ADB หรือ donor อื่นมาช่วยว่า LHSE จะเตรียมตัวอย่างไร เพื่อว่าเมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว จะใช้ตลาดหลักทรัพย์ให้เป็นผลดีที่สุดต่อการลงทุน ในการระดมทุนต่างๆ รวมไปถึงการออกบอนด์ จะออกได้หรือไม่ อะไรต่างๆ เหล่านี้”
แม้ปัจจุบัน LHSE จะเป็น Investment Arm แห่งเดียวของรัฐบาล สปป.ลาว ในพอร์ตของ LHSE มีการเข้าไปถือหุ้นในโครงการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้กับประเทศไทยเพียง 9 โครงการ
แต่เมื่อองค์ประกอบในตลาดการเงินของ สปป.ลาวครบถ้วนเต็มรูปแบบ ตั้งแต่เริ่มมีการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ลาว เมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมาแล้ว ก็มีความ คาดหมายกันว่าบทบาทของ LHSE นับจากนี้ น่าจะถูกยกระดับให้เพิ่มสูงขึ้น
เพราะ สปป.ลาว นอกจากสัมปทานที่ให้กับผู้ลงทุนมาสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ตามวิสัยทัศน์ที่ต้องการเป็นแบตเตอรี่ของเอเชียแล้ว
ประเทศที่มีประชากรเพียง 6 ล้านกว่าคนแห่งนี้ ยังมีทรัพยากรธรรมชาติอีกเป็นจำนวนมากที่เปิดให้สัมปทานแก่ผู้ลงทุนเข้ามาขุดสำรวจและผลิต
โดยเงื่อนไขหลักในการให้สัมปทานแก่นักลงทุนแทบทุกราย คือรัฐบาลจะต้องเข้า ไปมีส่วนร่วมถือหุ้นอยู่ในโครงการเหล่านั้นด้วย
ปัจจุบันโครงการเหมืองทองคำและเหมืองทองแดง ซึ่งเป็นกิจการที่สร้างรายได้ให้กับ สปป.ลาวเป็นจำนวนมากไม่แพ้โครงการผลิตไฟฟ้า รวมถึงโครงการเหมืองแร่ประเภทอื่น มีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการเงิน เป็นตัวแทนในการถือหุ้น
ภายในรัฐบาล สปป.ลาวก็กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะมีการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจใหม่ ในลักษณะเดียวกับ LHSE ขึ้นมา เพื่อ เข้าไปลงทุนถือหุ้นในกิจการเหล่านี้แทนที่หน่วยงานของรัฐ หรือจะใช้ LHSE เข้าไปลงทุนเองเสียเลย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ สมบูนกล่าวเพียงสั้นๆ ว่าเป็นเรื่องของอนาคต เพราะกฎระเบียบขององค์กรในปัจจุบัน ที่ผ่านการรับรองโดยรัฐบาลแล้ว LHSE มีสิทธิ์ลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว
รัฐบาล สปป.ลาวจะมีนโยบายที่ชัดเจนต่อบทบาทในอนาคตของ LHSE อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม
|