Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา กุมภาพันธ์ 2554
ปักกิ่งที่หายไป             
โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
 





“ความเปลี่ยนแปลงที่ประเทศจีนกำลังประสบอยู่นี้เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดที่ประเทศจีนและประชาชนชาวจีนเคยประสบมาในรอบหลายพันปี” หลี่ หยวนเฉา กรรมการกรมการเมืองและผู้ว่าการฝ่ายการจัดตั้งแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน หนึ่งในกลุ่มผู้นำจีนรุ่นปัจจุบัน

ช่วงต้นปี 2554 ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้นั่งพูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นค่ายใหญ่ยักษ์ค่ายหนึ่งในเมืองไทย บรรยากาศการพูดคุยบนโต๊ะเป็นไปอย่างชื่นมื่นเพราะในปี 2553 ยอดขายรถยนต์ในเมืองไทยถือว่าทะลุเป้ากันทุกค่าย ขณะที่ในภาพรวมของตลาดโลก อุตสาหกรรมรถยนต์ก็กำลังสดใส โดยเฉพาะอุปสงค์จากประเทศจีนที่พุ่งพรวด

ล่าสุด มีรายงานข่าวจากหลายสำนักเผยแพร่ ออกมาว่าในปี 2553 (ค.ศ.2010) ที่เพิ่งผ่านพ้นไป คนจีนถือเป็นชาติที่ซื้อรถใหม่มากที่สุดในโลก หรือมากถึง 18.06 ล้านคัน (โดยในจำนวนนี้เป็นรถเก๋ง 13.8 ล้านคัน) เปรียบเทียบกับชาวอเมริกันที่ห้วงเวลาเดียวกันซื้อรถใหม่ 11.6 ล้านคัน หรือทิ้งห่างกันมากถึง 6 ล้านกว่าคัน[1]

จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ในประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้นถึง 10 เท่า และด้วยแนวโน้มของการเติบโตเช่นนี้ทำให้มีการคาดหมายกันว่าในปี 2554 ยอดขาย รถยนต์ในประเทศจีนน่าจะทะลุ 20 ล้านคันอย่างแน่นอน

ย้อนหลังไปเมื่อเกือบสิบปีก่อน ตอนที่ผมเดินทางไปถึงกรุงปักกิ่งครั้งแรก เมื่อครั้งที่มหานครแห่งนี้ยังได้ชื่อว่าเป็น “นครหลวงแห่งจักรยาน” ผมจำได้ว่าตอนนั้นการเดินทางไปไหนมาไหนล้วนแล้วแต่พึ่งพาพาหนะสองล้อเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การขี่จักรยานเป็นไปด้วยความรวดเร็วและสะดวกสบาย เนื่องด้วยการออกแบบโครงสร้างและการวางผังเมือง ปักกิ่งนั้นถูกสร้างมาเพื่อเอื้ออำนวยสำหรับการเดินทางด้วยรถสองล้อ ไม่ว่าจะเป็นเลนบนถนนที่มีการจัดสรรให้กับจักรยานโดยเฉพาะ, ทางขึ้น-ลงสะพานลอยที่อำนวยความสะดวกให้กับคนเข็นจักรยาน, จุดจอดรถจักรยานตามสถานที่ต่างๆ ฯลฯ

ทั้งนี้ ในบริเวณชุมชนของมหาวิทยาลัยที่ผมไปศึกษาอยู่ (รวมถึงหน่วยงานภาครัฐต่างๆ) ได้ถูกวางผัง ออกแบบและก่อสร้างให้อาคารและสิ่งอำนวย ความสะดวกที่จำเป็นทุกอย่างอยู่ในบริเวณเดียวกัน สามารถที่จะเดินถึงกันด้วยเท้าหรือขี่จักรยานถึงกันได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ไม่ว่าจะเป็นที่พักอาศัยสำหรับครอบครัว ที่ทำงานสำหรับพ่อแม่ โรงเรียนสำหรับลูก ตลาดสด-ซูเปอร์มาร์เก็ตสำหรับการจับจ่ายใช้สอยและซื้อของใช้จำเป็น ธนาคารสำหรับการฝาก-ถอน-แลกเงิน สนามกีฬา-โรงยิม-สระว่ายน้ำ สำหรับกิจกรรมสันทนาการและออกกำลังกาย โรงอาหาร-ร้านอาหารสำหรับรับประทานอาหารและการเลี้ยงสังสรรค์ สถานพยาบาลที่ได้ใช้บริการเมื่อเจ็บป่วย เป็นต้น

ด้วยการวางผังและการออกแบบโครงสร้างชุมชนเช่นนี้เองทำให้ทุกๆ วันอาจารย์และลูกศิษย์ไม่ต้องตื่นแต่เช้ามืด เพื่อไปเข้าชั้นเรียนในตอนเช้า, พอตกเที่ยงอาจารย์-บุคลากร-นักเรียน สามารถขี่จักรยาน กลับมาหาอาหารทานและพักผ่อน

ณ ที่พักได้โดยไม่ต้องไปเตร็ดเตร่ตามโรงอาหารหรือร้านอาหาร (ปกติช่วงพักกลางวันของคนจีนกินเวลา 2 ชั่วโมง), พอตกเย็นทุกคนสามารถ ไปประกอบกิจกรรมต่างๆ ที่ตัวเองได้อย่างสะดวกภายในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการไปซื้อกับข้าวกับปลา ซื้อของใช้จำเป็น ออกกำลังกาย สังสรรค์ตามร้านอาหารหรือร้านคาราโอเกะ ฯลฯ

ส่วนเมื่อมีความจำเป็นต้องเข้าไปในย่านใจกลางเมืองในช่วงสุดสัปดาห์ ประชาชนก็สามารถใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่างรถประจำทาง รถไฟใต้ดิน หรือรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวก (ตอนนั้นปักกิ่งมีรถไฟใต้ดิน-รถไฟลอยฟ้ารวมแล้วเพียงสามสายเท่านั้น) ส่วนบรรดานักเรียนต่างชาติพอถึงเสาร์-อาทิตย์ที่ไม่มีตารางเรียนก็มักจะชักชวนกันขี่จักรยาน จากมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเขตวงแหวนรอบที่ 4 ของกรุงปักกิ่ง เข้าไปชมพระราชวังต้องห้าม จัตุรัสเทียนอันเหมิน สวนสาธารณะเป๋ยไห่ แหล่งชอปปิ้ง หรือสถานที่สำคัญต่างๆ ฯลฯ กันเป็นกลุ่มๆ

เวลานั้นอาจเรียกได้ว่า จักรยานถือเป็นปัจจัยที่ 5 ของคนปักกิ่ง ขณะที่ในหมู่ชาวต่างชาติที่อยู่ในเมืองจีนก็มีเรื่องเล่ากันต่อๆ มาว่า เด็กๆ ชาวปักกิ่งขี่จักรยานเป็นก่อนหัดเดินเสียอีก ส่วนหนุ่มๆ สาวๆ ชาวปักกิ่งที่ทรวดทรงองค์เอวสมส่วนกันทุกคนก็เป็นเพราะต้องออกกำลังกายด้วยการขี่จักรยาน ไปไหนมาไหนอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง

ในปี 2544 (ค.ศ.2001) มีตัวเลขระบุว่า จำนวนจักรยานต่อหัวประชากรกรุงปักกิ่งนั้นอยู่ที่เกือบ 1 ต่อ 1 คือมีประชากรราว 13 ล้านคน มีจำนวนจักรยานราว 10.2 ล้านคัน ขณะที่จำนวนรถยนต์มีเพียงล้านกว่าคัน โดยส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ ของทางราชการ องค์กรและของบริษัทเอกชนต่างๆ เสียมาก รถยนต์ส่วนบุคคลยังมีน้อย

ช่วงปลายทศวรรษ 1990 ต้นทศวรรษ 2000 ด้วยนโยบายของรัฐบาลกลางจีนในการแปรรูปหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงหน่วยงานที่เดิมอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐอย่างเต็มที่ให้สามารถปรับตัว เข้ากับระบบเศรษฐกิจแบบตลาดได้มากขึ้นทำให้เกิดนโยบายการเพิ่มค่าตอบแทนแก่บุคลากรให้มากขึ้น แต่ก็ปรับลดสวัสดิการต่างๆ ลงไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล โรงเรียนบุตร ที่อยู่อาศัย ฯลฯ ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่ผมไปเรียนนั้น ระบบค่าตอบแทนและสวัสดิการแบบใหม่ถูกปรับใช้กับอาจารย์รุ่นหนุ่ม-สาวที่เพิ่งเข้ามาสอน โดยจากเดิมที่ทางสถาบันจะจัดอพาร์ตเมนต์อย่างดีให้กับอาจารย์ ทุกคน ก็ปรับเปลี่ยนเป็นมีอพาร์ตเมนต์ให้อยู่เพียงชั่วคราวช่วง 3-5 ปีแรกที่เข้าทำงาน โดยหลังจากนั้นบรรดาอาจารย์ใหม่ทั้งหลายก็ต้องไปหาซื้อที่อยู่อาศัยกันเอาเอง

เมื่อต้องไปหาที่อยู่เอง อาจารย์ใหม่ที่มีเงินเดือนยังไม่มากเท่าไหร่ก็จำต้องไปจับจองและหาซื้อ อพาร์ตเมนต์ที่อยู่ในย่านชานเมืองที่มีราคาถูกกว่าแต่ห่างไกลที่ทำงานออกไป ซึ่งนี่เองเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่บ่งชี้ว่าทำไมความต้องการรถยนต์ในประเทศจีนถึงเพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราดในช่วงสิบปีที่ผ่านมา นอกเหนือปัจจัยเรื่องระดับรายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่า และจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจากราว 13 ล้านคนทะลุ 20 ล้านคนในปี 2553 (ตัวเลข นี้รวมชาวปักกิ่งและคนต่างเมืองที่อพยพเข้ามาอยู่ในกรุงปักกิ่งด้วย)

การปรับเปลี่ยนนโยบายและโครงสร้างของชุมชนดังกล่าว ทางหนึ่งรัฐบาลจีนนอกจากมีจุดประสงค์ในการลดภาระงบประมาณของภาครัฐแล้ว ในอีกทางหนึ่งก็มีจุดมุ่งหมายในการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคของประชาชนให้เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายปี 2551 (ค.ศ. 2008) เมื่อเศรษฐกิจโลกประสบกับปัญหาวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่รัฐบาลจีนก็ยิ่งใส่ยากระตุ้นเข้าไปในอุตสาหกรรมรถยนต์มากขึ้นไปอีก อย่างเช่น การให้เงินอุดหนุนหลายพันหยวนให้กับคนที่ต้องการซื้อรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์เล็กกว่า 1,600 ซีซี หรือการลด ภาษีซื้อรถยนต์เล็กให้อยู่ในระดับร้อยละ 5 เท่านั้น[2]

ด้วยเหตุผลข้างต้นทำให้นับตั้งแต่ปี 2544 ที่กรุงปักกิ่งมีจำนวนรถยนต์เพียงล้านกว่าคัน พอปี 2547 (ค.ศ.2004) หรือสามปีถัดมาปักกิ่งก็มีรถยนต์ครบ 2 ล้านคัน ถัดจากนั้นอีกสามปี ในปี 2550 (ค.ศ.2007) บนถนนในปักกิ่งก็มีรถยนต์เพิ่มมาเป็น 3 ล้านคัน พอสิ้นปี 2552 (ค.ศ.2009) จำนวนรถยนต์ในปักกิ่งก็ทะลุ 4 ล้านคัน และในปีที่แล้วจำนวนรถยนต์ในปักกิ่งก็แตะระดับ 5 ล้านคันเป็นที่เรียบร้อย

จากตัวเลขดังกล่าวทำให้สำนักข่าวซินหัวของจีนถึงกับยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ ถึงอุปสงค์ ต่อรถยนต์ของชาวปักกิ่งที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลไว้ว่า กรุงปักกิ่งใช้เวลาถึง 48 ปีกว่าจะมีรถยนต์ครบหนึ่งล้านคัน ใช้เวลาเพียง 6 ปีเพื่อมีรถยนต์ครบสองล้าน คัน ขณะที่ล้านที่ 3, ล้านที่ 4 และ ล้านที่ 5 กลับใช้เวลาลดลงเรื่อยๆ

จำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในกรุงปักกิ่งและเมืองจีน แม้จะเป็นข่าวดีของบรรดาบริษัทรถยนต์และตัวเลขทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค แต่กลับถือเป็นข่าวร้ายสำหรับประชาชนและเทศบาลกรุงปักกิ่งเพราะปัญหาการจราจรและปัญหามลพิษจากรถยนต์กลายเป็นปัญหาใหญ่ยักษ์ที่แก้ไม่ตกของมหานครแห่งนี้

ขณะที่รายงานการศึกษาโมเดลการพัฒนาเมืองฉบับใหม่ที่บัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์จีน (CAS) เผยแพร่ออกมาเมื่อปีที่แล้วก็บ่งชี้ว่าปัจจุบันชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ซึ่งมีประชากรมากกว่าหนึ่งล้านคนใช้เวลาในการเดินทางไปทำงาน (ขาเดียวไม่รวมขากลับ) เฉลี่ยระหว่าง 39-41 นาที ซึ่งถือว่านานกว่าเมืองใหญ่ๆ ในยุโรปที่อยู่ที่ประมาณ 27 นาที เท่านั้น และมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากปัญหาการจราจรใน 15 เมืองใหญ่ที่สุดของจีนนั้นหากคิดเป็นตัวเลขแล้วก็มากถึง 1.2 พันล้านหยวนต่อวันเลยทีเดียว[2]

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการจราจรข้างต้น ทำให้เมื่อปลายปีที่แล้วผู้บริหารกรุงปักกิ่งต้องออกประกาศิตด้วยการจำกัดโควตาการลงทะเบียนรถใหม่ในปี 2554 นี้ให้เหลือเดือนละ 20,000 คัน หรือ เพียงปีละ 240,000 คัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2553 ที่มีรถจดทะเบียนใหม่ในกรุงปักกิ่งราว 8 แสนคันแล้วก็ถือว่าลดลงมากกว่า 1 ใน 3

นอกจากนี้ยังมีการยกเลิกมาตรการเงินอุดหนุนการซื้อรถเล็ก, การเพิ่มภาษีซื้อรถยนต์ และการสร้างระบบขนส่งสาธารณะใหม่ๆ, ห้ามรถที่จดทะเบียนต่างเมือง/ต่างมณฑล เข้ามาวิ่งในถนนกรุงปักกิ่ง, เพิ่มอัตราค่าจอดรถ ฯลฯ เข้ามาประกอบ โดยทั้งหมดนี้ก็เพื่อการแก้ไขปัญหาการจราจรซึ่งเป็นผลพวงมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่รวดเร็วเกินไป

ล่าสุด เริ่มมีนักธุรกิจจีนชื่อดังได้เริ่มออกมาเสนอความคิดต่อสภาผู้แทนประชาชนแห่งนครปักกิ่งว่าน่าจะนำจักรยานกลับมาใช้เพื่อแก้ปัญหาการจราจร!

นักธุรกิจผู้นั้นคือ พาน สืออี้ ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังของเมืองจีน SOHO China โดยประธานของ SOHO เสนอว่ากรุงปักกิ่งควรจะแก้ปัญหาการจราจรด้วยการรณรงค์ให้คนปักกิ่งหันกลับมาใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทางเหมือนเดิม, ส่วนเทศบาลก็ควรสร้างระบบทางด่วนจักรยาน และสร้างระบบและสาธารณูปโภคของจักรยานเช่าที่กำลังเป็นที่นิยมในเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง รวมไปถึงเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

ผมคิดว่าการฟื้นฟูวัฒนธรรมและพฤติกรรมการขี่จักรยานที่ค่อยๆ เลือนหายไปจากกรุงปักกิ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาดูจะเป็นทางออกที่เป็นไปได้มากที่สุดสำหรับกรุงปักกิ่งและคนปักกิ่ง ณ วันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยจักรยานไม่เพียงส่งผลดีต่อการจราจร แต่ยังส่งผลดีอีกมากมายอย่างคาดไม่ถึง นั่นคือส่งผลดีด้วยการเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในเมือง, ลดระดับมลพิษในอากาศของกรุงปักกิ่ง, ลดการใช้พลังงานที่สูญเปล่า, ลดการออกไปล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจเพื่อแสวงหาแหล่งพลังงานของประเทศจีน, ลดการสะสมแสนยานุภาพทางการทหารในการปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเองในต่างแดน ฯลฯ

หลายคนอาจบอกว่าพูดยังไงก็ง่ายกว่าทำ แต่ผมกลับเชื่อว่าจีนจำต้องเปลี่ยนแนวความคิดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มิเช่นนั้นความเหน็ดเหนื่อยเพื่อผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในห้วง 30 ปีที่ผ่านมาก็จะดูด้อยค่าลงไปถนัดตา

หมายเหตุ:
[1] China 2010 Auto Sales Reach 18 Million, Extend Lead, Bloomberg News, 10 Jan 2011.
[2] Olivia Chung, China auto curbs snarl car stocks, Asia Times Online, 5 Jan 2011.

อ่านเพิ่มเติม :
- “ปักกิ่ง” น่าอยู่หรือไม่? นิตยสารผู้จัดการฉบับเดือนพฤษภาคม 2548
- 2 ล้อ-4 ล้อ นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2546   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us