เมื่อๆ เร็วนี้ หนังสือพิมพ์หลายฉบับพาดหัวเรื่องตำรวจจับสินค้าเครื่องหนังปลอมยี่ห้อ" คาเทียร์" แล้วนำไป
เผาทิ้งที่ดินแดงถึง 1,500 ชิ้น แถมยังลงรูปนายห้างฝรั่ง
" คาเทียร์" ยืนยิ้มหรา ดูเปลวเพลิงที่กำลังเผาเครื่องหนังปลอมอย่างสะใจ
บริษัท " คาเทียร์" เป็นบริษัทใหญ่โตแห่งหนึ่งของฝรั่งเศส ผลิตแต่สินค้าสำหรับพวกเศรษฐี
มีสตังค์โดยเฉพาะ เช่นเครื่องเพชร นาฬิกา เครื่องหนัง ผ้าพันคอ แว่นตา ปากกา
ไฟแช็ก น้ำหอม กรอบรูป เป็นต้น
แล้วทำไมยักษ์ใหญ่ เช่น " คาเทียร์" ซึ่งสามารถขายสินค้า ไปได้ทั่วโลก
จึงต้องออกมาเสียเวลาส่ง Mr. Ceoffroy de drous ผู้จัดการภาคพื้นมาจับพ่อค้าเล็กๆ
อย่างคนไทย ที่ผลิตสินค้ายี่ห้อ " คาเทียร์" ปลอมด้วย ทั้งๆ
ที่ญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือสิงคโปร์ ก็ทำของปลอม เหมือนกัน?
" เราพบว่า สินค้าลอกเลียนแบบคาเทียร์ที่เข้ามาอยู่ในสิงคโปร์ มาเลเซีย
และฮ่องกง ถูกส่งมาจากประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว เราต้องเสียค่าใช้จ่ายเพราะสินค้าปลอมเหล่านี้ถึง
50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ" Mr. Drouas กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องมา เมืองไทยครั้งนี้
ถึงพ่อค้าไทยทำให้พ่อค้าฝรั่งเสียเงินถึง 50 ล้านดอลลาร์ หรือถ้าคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ
พันล้านบาทจริง เรื่องนี้เห็นจะไม่ใช่เรื่องเล็กเสียแล้ว!!
และอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นายห้างฝรั่งต้องมาเต้นเร่าๆ ก็คือพ่อค้าไทยดันเลียนแบบได้เหมือนเกินไป
ชนิดที่เจ้าของฝรั่งมาดูแล้วยังต้องยอมรับ
" เขาทำได้เหมือน ถ้าไม่สังเกตแล้วจะดูไม่ออกเลย ถ้าดูกันจริงๆ แล้วฝีมือจะหยาบกว่าหน่อย
แล้วตัวหนังสือใช้นานๆ แล้วจะไม่ค่อยชัด ฝรั่งนายห้างเคยไปดูแถวราชดำริ
คนขายของปลอมพอเห็นฝรั่งมาซื้อก็โฆษณาสรรพคุณใหญ่เลย นายห้างก็เลยบอกว่า
ฉันเป็นเจ้าของจริงๆ นะ คุณรีบเก็บก่อนที่ฉันจะเอาตำรวจมาจับ" แหล่งข่าวผู้หนึ่งเล่าให้
" ผู้จัดการ" ฟัง
กระเป๋า 2 ใบ ทำด้วยหนังแท้เหมือนกัน ติดยี่ห้อนอกเหมือนกัน แต่ใบหนึ่งขายราคาเป็นพัน
ส่วนอีกใบราคาเพียงร้อยกว่าบาท เป็นคุณ จะเลือกซื้ออย่างไหน?
จากการสอบถามหลายๆ คนก็พอจะสรุปได้ว่า ถ้าซื้อใช้เองก็เอาแค่ร้อยกว่าบาทก็พอ
แต่ถ้าเป็นของกำนัลเป็นค่าน้ำร้อนน้ำชา ก็คงต้องลงทุนหน่อย ใบละพันก็ไม่น่าเสียดาย
อย่างนั้นของปลอมก็ซื้อเอาไว้ใช้
ส่วนของจริงคนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ
ไม่ใช่เฉพาะแต่ " คาเทียร์" เท่านั้น ที่พ่อค้าหัวใสของคนไทย
จะให้ความสนใจเลียนแบบ ขณะนี้เรียกได้ว่าทุกยี่ห้อในตลาดถูกเลียนแบบกันทั้งนั้น
ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า นาฬิกา ปากกา ก็ตาม ขนาดสินค้าบางตัว ยังไม่ถึงเมืองไทย
ด้วยซ้ำ พ่อค้าคนไทยก็เลียนแบบวางขายของจริงกันแล้ว
เรื่องนี้จะว่าใครผิดใครถูกนั้นก็ตัดสินใจกันยาก
พวกฝรั่งเจ้าของสินค้าก็ต้องรักษาผลประโยชน์ของตัวเองในฐานะเจ้าของความคิด
พวกพ่อค้าไทยทำสินค้าเลียนแบบก็เพื่อปากท้อง
ส่วนตำรวจก็รักษากฏหมายตามหน้าที่
แต่ผลออกมา ถ้าสินค้าโดนจับหมดแล้ว คนไทยประเภทรายได้สูงรสนิยมสูง หรือ
รายได้ต่ำรสนิยมสูง ก็คงต้องยอมควักกระเป๋าซื้อของจริงมาใช้กัน แล้วผลก็จะทำให้ตัวเลขการสั่งสินค้าเข้าเพิ่มขึ้น
และทำให้ดุลการค้าที่ติดลบแล้วยิ่งติดลบเพิ่มขึ้น แล้วผลที่ออกมาก็ทำให้คนไทยเป็นหนี้เป็นสินเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
จากตารางดุลการค้าของไทยตั้งแต่ปี 2520-2526 ( ตาราง1) จะเห็นว่า ไทยขาดดุลเรื่อย
มา
เพราะแต่เดิมนั้นอาศัยผลิตผลทางการเกษตรเป็นหลักในการส่งออก ส่วนภาคอุตสาหกรรมมุ่งผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า
ซึ่งจำเป็นต้องสั่งวัตถุดิบจากต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมยังไม่ได้ผลดี
ที่จะทำให้สามารถลดการนำเข้าหรือเพิ่มความสามารถในการส่งออกได้มากพอที่จะทำรายได้ของชาติสูงเท่ากับรายจ่าย
โดยเฉพาะในปี 2526 จะเห็นว่าตัวเลขการขาดดุลนั้นสูงมากกว่าที่ควรจะเป็น
ความจริงแล้วไทยเริ่มขาดดุลการค้ามาตั้งแต่ปี 2516 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มวิกฤตการณ์น้ำมัน กลุ่มโอเปกเริ่
มขึ้นราคาน้ำมัน มีผลทำให้ไทยซึ่งต้องพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศ จำเป็นต้องรับสภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มูลค่าการนำเข้าของเราจึงเริ่มสูงมาเรื่อยๆ
นอกจากน้ำมันแล้วยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นสาเหตุทำให้การค้าไทยต้องติดลบเพิ่ม
ขึ้น นั่นก็คือการสั่งสินค้าฟุ่มเฟือยเข้ามากมาเกินไป ตั้งแต่เครื่องสำอาง
เสื้อผ้า เครื่องหนัง นาฬิกา เครื่องไฟฟ้า รองเท้า อาหาร เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้คนไทยเราก็มีความสามารถผลิตได้เอง แต่เพราะความเห่อของนอกเพราะคนไทยเอง
ทำให้ยอดนำเข้าต้องสูงขึ้นทุกปี
คนที่ถูกยกยอ่งว่า แต่งตัวมีระดับจะต้องคาดนาฬิกา " คาเทียร์"
หิ้วประเป๋าหนัง " กุชชี่" สวมรองเท้าหนัง " ชาร์ล จูดอง"
เสียบปากกา " คาเทียร์" ฯลฯ
ทั้งนี้ถ้าเดินสำรวจตลาดกันแล้ว แบ่งตลาดเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ตลาดบน
หมายถึงห้างสรรพสินค้าทั้งหลายที่เกิดขึ้นราวดอกเห็ด
ส่วนนอกเหนือจากนั้น ถือเป็นตลาดล่างหรือที่เรียกกันว่า แผงลอย และแบกะดิน
สินค้าฟุ่มเฟือยตั้งแต่เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องหนัง นาฬิกา ถ้าเป็นของแท้แล้วมักจะโชว์อยู่ตามห้างสรรพสินค้าชื่อดัง
แต่บางห้างก็เอาของเลียนแบบขายเลหลังเหมือนกัน
อย่าได้คิดว่าเป็นของห้างแล้วจะต้องเป็นของแท้เสมอไป!!
ส่วนที่ขายแบกะดิน หรือแผงลอยนั้น รับรองได้ว่าเป็นของปลอมร้อยเปอร์เซ็นต์ ขนาดของปลอมอย่างนี้ฝรั่งนักท่องเที่ยวก็ยังมุงกันเลือกซื้อเลย
ถ้าจะจัดอันดับทอปเท็นของสินค้าที่ถูกเลียนแบบกันเกลื่อนตลาดขณะนี้ อันดับต้นๆ
เห็นจะเป็นพวกเสื้อผ้ายี่ห้อ " ดิออร์" "โปโล" ล็อตโต"
"โดมอน" เรียกว่า ติดป้ายชื่อกันหราเลย บางแบบทั้งเนื้อและลายผ้าเหมือนกับที่วางขายในห้างไม่มีผิด
ส่วนเสื้อยืดตราจระเข้ นั้นเคยฮิตติดอันดับอยู่พักหนึ่ง แต่ถูกกวาดล้างครั้งใหญ่แถวโบ๊เบ๊และสำเพ็งจนคนผลิตของปลอมเจ๊งกันเป็นแถวตอนนี้จึงซาๆ ลงไป แต่ก็ยังไม่หมดจากตลาดเลยทีเดียว
อันดับต่อมา ก็เป็นเครื่องหนังจำพวกกระเป๋า ที่เห็นๆ ก็มี " กุชชี่"
" พิวมา" "ล็อตโต" มีให้เลือกทั้งหนังแท้และหนังเทียม สนนราคาก็ตกราว
250 บาทขึ้นไป
ส่วน" คาเทียร์" นั้นหลังจากที่นายห้างพาตำรวจมากวาดล้างแล้ว
พวกพ่อค้าก็ขยาดลงไปบ้าง แต่ก็ยังพอมีให้พวกนิยมของปลอมได้เลือกซื้อกันแถว
สำเพ็ง คลองถม และถนนเสือป่า
อีกประเภทหนึ่งของเครื่องหนัง ก็คือเข็มขัด ซึ่งก็ตามติดอันดับต้นๆ เหมือนกัน
ขายกันทุกซอกทุกมุมของกรุงเทพฯ แต่แหล่งจริงๆ อยู่แถวเสือป่า หัวเข็มขัดขณะนี้นิยมเลียนแบบ"
ฮัลดิล" "กุชชี่" "คาเทียร์" สนนราคาตั้งแต่ 30
บาทขึ้นไป ส่วนหนังเข็มขัดก็มีหนังแท้และหนังเทียม
สำหรับรองเท้านั้น ตอนนี้นิยมปลอมรองเท้าผ้าใบกันมากกว่ารองเท้าหนัง เพราะตลาดรองเท้าเป็นของวัยรุ่นเสียส่วนมาก
ยี่ห้อดังๆ ที่ถูกปลอมก็มี " อาดิดาส" " คอนเวิร์ส"
อันดับสุดท้ายเห็นจะเป็นไฟแช็ก จากการสำรวจก็มียี่ห้อดังๆ คือ "
ดันฮิล" อยู่เพียงยี่ห้อเดียวที่ถูกปลอม
ส่วนนาฬิกาก็มี " คาเทียร์" และ "ดันฮิล" ที่ถูกปลอมขายในถนนราคา
650-800 บาท ในขณะที่ของจริงขายกันในราคาหมื่นจนถึงแสน
วิธีการเลียนแบบสินค้าพวกนี้มีสารพัดอย่างขึ้นชื่อว่าพ่อค้าแล้วไม่ว่าชาติใดก็หัวเซ็งลี้กันทั้งนั้น
ไม่ใช่แต่เฉพาะคนไทยเท่านั้นที่ปลอมสินค้าดังๆ
ในญี่ปุ่นเองก็ยังโดนจับเรื่องปลอมนาฬิกา " คาเทียร์" มาแล้ว
ส่วนไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ ก็มีการทำของปลอมกับเขาเหมือนกัน แต่ของคนไทยจะดีกว่าเพราะพ่อค้าปลอมได้เหมือนมากจนส่งไปตีตลาดแข่งกับเจ้าของเลย
พ่อค้าที่ยึดอาชีพปลอมสินค้าพวกนี้ บางคนเดินทางไปดูงานต่างประเทศบ่อยมาก
เพื่อไปสำรวจตลาดต่างประเทศว่าตอนนี้มีสินค้าอะไรที่น่าสนใจบ้าง? แล้วหิ้วตัวอย่างเข้ามาสัก
1-2 ชิ้น ทำการก๊อบปี้เสร็จแล้วเดินเครื่องจักรผลิตได้เลย
ตัวแทนจำหน่ายบางรายก็ทำแสบเสียยิ่งกว่าพ่อค้าของปลอมเสียอีก" ตัวแทนบางรายเซ็นสัญญาสั่งสินค้าเข้ามาขายที่ห้างของตัวเองประเดิมก่อน
200 ชิ้น เสร็จแล้วก็ส่งแบบขึ้นไปชั้นเก้าของห้าง ทำการก๊อบปี้ออกมาเป็นพันๆ
ชิ้นวางขายทั่วทั้งห้าง และตามแผง ขายจนฝรั่งที่เป็นเจ้าของสงสัยว่า สั่งไปแค่นิดหน่อยขายมาตั้ง
2 ปี แล้วยังขายไม่หมด" พ่อค้าของปลอมตามแผงลอยผู้หนึ่งเล่าให้ฟัง
ส่วนตัวแทนบางรายก็ถูกหลอกโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์เหมือนกัน " บางเจ้าเช่ายี่ห้อต่างประเทศมาแล้ว
มาผลิตเมืองไทยเอง แต่ต้องผลิตเท่าที่ขออนุญาตไว้ สมมุติงวดนี้ขอมาผลิต 500
ชิ้น ได้แบบและยี่ห้อทุกอย่างมาพร้อมแล้วก็ไปจ้างโรงงานผลิต พอตัดเสร็จติดยี่ห้อของให้เรียบร้อยเจ้าของโรงงานก็กลับมาเดินเครื่องเย็บกันต่อไปอีก
หลายพันชิ้น แถมยังวางตลาดพร้อมกันกับห้างด้วย" แหล่งข่าวผู้หนึ่งเปิดเผย
บางคนนั้นก็ยึดอาชีพเป็นนักลอกเลียนแบบเลย
งานประจำของพวกนี้ก็คือ เดินดูตาห้างใหญ่ๆ คอยดูว่าตอนนี้มีสินค้าอะไรแปลกๆ
ใหม่ๆ น่าสนใจบ้างไหม?
พวกนี้อาศัยความชำนาญและพรสวรรค์เพียงแค่จับตัวสินค้าก็รู้ได้เลยว่า ใช้วัสดุอะไรมาประกอบบ้าง?
แล้วก็วาดแบบออกมาส่งไปขายให้พวกโรงงานที่ซื้อแบบอีกต่อหนึ่ง
แหล่งข่าวผู้หนึ่งเล่าให้ " ผู้จัดการ" ฟังว่า " คนพวกนี้
ต้อง
มีความรู้และประสบการณ์มากเช่น พวกที่จะเลียนแบบเสื้อผ้านั้น จับดูเนื้อผ้าก็สามารถสั่งแบบให้สำเพ็งทอได้เลย
แถมยังดูกันละเอียดถึงด้ายและกระดุม ส่วนเรื่องป้าย ยี่ห้อ และป้ายคอเสื้อนั้นก็ไม่มีปัญหา
ไปแถวประตูน้ำ เขาจะมีแค็ตตาล็อกซึ่งมีตัวอย่างทุกยี่ห้อในท้องตลาดให้เลือกกันเลยว่าต้องการยี่ห้อ
ไหน เลือกเสร็จก็ใส่เครื่องคอมพิวเตอร์รันเครื่องคอมพิเตอร์เดี๋ยวเดียวก็เสร็จ"
ยี่ห้อบางอย่างของต่างประเทศผู้ผลิตกลัวจะโดนลอกเลียนแบบ อุตส่าห์ไปใช้เทคโนโลยีทันสมัยเข้าช่วย
แต่ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น พ่อค้าคนไทยดูพลิกแพลงไปมาใช้วิธีลูกทุ่งแบบไทยๆ
ก็ปลอมกันออกมาเหมือนของจริง เล่นเอาเจ้าของวิ่งหายาแก้ปวดหัวให้วุ่น
อย่างเช่นตัวหนังสือ DOMON, LOTTO, PUMA เป็นต้น เลียนแบบปลอมได้เหมือนของจริงจนจับไม่ได้
" ก็ลอกมาจากตัวจริงเลยนี่ครับ ใช้หัวนิดหน่อยถ่ายเพลท ทำสกรีนนิดหน่อย
ก็ออกมาเหมือน จะเลือกทำกระเป๋าหรือเสื้อยืดก็ได้ บางอย่างถ้ายากหน่อยก็ต้องวาดรูปออกมาก่อน
แล้วมาย่อบ้างขยายบ้างเสร็จแล้วก็มาทำบล็อก รับรองเหมือนของจริงทุกประการเลย"
พ่อค้าคนหนึ่งเล่าให้ฟัง
พ่อค้าบางคนปลอมจนได้ดีเปลี่ยนฐานะเป็นเศรษฐีไปเลย แหล่งข่าวอีกคนหนึ่งเล่าให้ฟังถึงต้นกำเนิดของสินค้าชื่อดังยี่ห้อหนึ่งของญี่ปุ่นที่มาขายในเมืองไทยว่า
" แต่ก่อนเจ้าของซาปั๊วส่งข้าวสารอยู่แถวบางลำพู ขายของมาเกือบ 20 ปี
ก็มีโอกาสไปชอปปิ้งที่ญี่ปุ่น ตอนนั้นห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นกำลังลดราคาเสื้อผ้ากันอยู่
เขาก็เลยสั่งตัดล็อตแล้วส่งมากรุงเทพฯ เสร็จแล้วก็ไปเสนอขายตามห้างสรรพสินค้า
ปรากฏว่าวัยรุ่นแย่งกันซื้อจนเกลี้ยงเลย เถ้าแก่คนเดิมก็บินไปญี่ปุ่นอีกครั้ง
คราวนี้ไม่ซื้อตัดล็อตแล้ว ซื้อมาแค่ 500ชิ้นก็พอ พอมาถึงกรุงเทพฯ ก็ส่งเข้าโรงงานก๊อบปี้ออกมาเป็นพันๆ
ตัวขายกันจนเกร่อไปหมด เดี๋ยวนี้เถ้าแก่คนนี้รวยไม่รู้เรื่อง
ดูๆ กันแล้ว ฝีมือของคนไทยก็นับได้ว่าขึ้นจริงๆ พวกที่ไม่ได้ปลอมเขาก็มีเหมือนกัน
อย่างสูทยี่ห้อดังๆ ของฝรั่งเศสก็มาจ้างร้านแถวๆ บางลำพูตัดส่งไปให้ หรือรองเท้าบางยี่ห้อของฝรั่งก็มาจ้างโรงงานแถวสาธุประดิษฐ์ตัด
โรงงานตัดเสื้อหลายแห่งก็ออกแบบเสื้อผ้าใช้วัสดุผลิตภายในประเทศ แล้วส่งไปขายต่างประเทศแถวยุโรปหรือซาอุฯ กวาดเอาเงินตราต่างประเทศมาแล้วหลายร้อยล้านบาท
ถึงจะเป็นของปลอมก็เถอะ ยังทำยุทธจักรของจริงสั่นสะเทือนกันมาแล้ว แล้วทำไมคนไทยไม่ผลิตสินค้าขึ้นมาเองล่ะ
ดีไซน์แบบกันเอง ตัดเย็บกันเอง ติดชื่อเมดอินไทยแลนด์ แล้วรัฐก็ช่วยส่งเสริมให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก
เพื่อจะได้ช่วยลดการขาดทุนที่เราประสบกันอยู่
" พี่ไม่ทำของจริงก็เพราะปลอมเขาง่ายกว่ามาก ไม่ต้องเสียเวลาออกแบบหรือดูตลาดเลย
ใครทำอะไรออกมาแล้วดังเราก็ปลอม
ขายลูกเดียว ค่าลิขสิทธิ์ก็ไม่ต้องเสีย คนทำของปลอมนี่เงินดีกว่าคนขายของจริงตั้งเยอะ"
พ่อค้าคนหนึ่งคุยให้ " ผู้จัดการ" ฟัง
บางคนที่หัวหมอหน่อยก็ให้เหตุผลว่า " โรงงานของเราตั้งแบบผิดกฎหมาย
แต่ก็สบายไม่ต้องเสียภาษีรายได้ ภาษีโรงงาน หรือภาษีอะไรอีกจิปาถะ ที่รัฐบาลตั้งหน้าตั้งตาแต่จะคอยเก็บ
ถ้าเราเปลี่ยนแบบของเขา เราก็ไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ ผลิตแต่ละครั้งเราก็ส่งขายตลาดให้หมดไปเลย
ไม่มีหลักฐานเหลืออยู่ในโรงงาน ตำรวจก็มาจับไม่ได้"
แต่อีกคนให้เหตุผลแบบจิตวิทยาว่า " ถ้าผมผลิตแล้วใช้ชื่อที่ผมตั้งเอง
แล้วใส่เมดอินไทยแลนด์ คุณว่าผมจะขายแข่งกับดิออร์ กุชชี่ หรือชาร์ล จูดอง
ได้ไหม จะมีคนไทยกี่คนที่มาซื้อของผม ตราบใดที่คนไทยยังเห่อของนอกอยู่ผมขายของปลอมก็ดีอยู่แล้วครับ"
เหล่านี้คือเหตุผลของพ่อค้าเลียนแบบ!!
แล้วตอนนี้รัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่
สิ่งแรกที่เราได้ทราบกันแล้ว ก็คือการจับกุมกวาดล้างแหล่งผลิตของปลอม
การปลอมสินค้าเหล่านี้เข้าข่ายผิดกฎหมายเครื่องหมายการค้า ซึ่งมีบัญญัติไว้ในมาตรา3
วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า ความว่า"เป็นเครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เครื่องหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้านั้นๆ
เป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้า โดยได้ทำขึ้นโดยการเลือก โดยให้คำรับรอง
โดยการทำการค้าขายสินค้านั้น หรือโดยเป็นผู้เสนอขาย" ผู้ใดทำการปลอมแปลงเครื่องหมายการค้ามีความผิดกฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่งฯ
ประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติในมาตรา 273 ความว่า " ผู้ใดลอก แปลง เครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว
ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนภายในหรือนอกอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
หรือปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำหรือปรับ" นอกจากนี้ ก็ยังผิดในมาตรา
274 และ 275 ด้วย ซึ่งมีโทษจำคุกและปรับเหมือนกัน
ส่วนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เข้าข่ายลักษณะละเมิดมาตรา 420 และ 421
ซึ่งจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ศาลสั่ง
บทบาทของรัฐอีกประการหนึ่งคือส่งเสริมการส่งออก โดยเน้นการใช้แรงงานและวัตถุดิบในประเทศเป็นสำคัญ
ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ( 2525-2529) ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก
โดยมุ่งจะนำประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศกึ่งอุตสาหกรรมและมุ่งเน้นการส่งเสริม
อุตสาหกรรมส่งออก โดยใช้มาตรการต่างๆ หลายประการ
ทางการคลังนั้นรัฐได้กำหนดนโยบายภาษีส่งออกและภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับ
ภาวการณ์ปัจจุบันมากขึ้นรวมทั้งลดระยะเวลาคืนเงินภาษีวัตถุดิบนำเข้าที่เรียกเก็บไว้ก่อน
เพื่อเพิ่มพูนขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศด้านต้นทุนการผลิต
นอกจากนี้ยังลดขั้นตอนการขออนุญาตส่งออกเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ส่ง
ออกได้รวดเร็วขึ้น และยังได้ควบคุมมาตรฐานสินค้าส่งออกให้มีคุณภาพมากขึ้น
อีกรูปแบบหนึ่งในการช่วยเหลือของรัฐก็คือ การตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
หรือเรียกสั้นๆ บีโอไอ หน่วยงานนี้จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศ
เพื่อนำผลผลิตไปขายยังต่างประเทศ เป็นการช่วยลดดุลการค้าที่ยังขาดอยู่
ในเรื่องอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปนั้น ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ
ตั้งแต่ปี 2510 จนถึงปัจจุบัน มีจำนวน 22 ราย และได้เปิดดำเนินการไปแล้ว
15 ราย สามารถทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายพันล้าน เช่นในปี 2525 เสื้อผ้าสำเร็จรูปนำรายได้เข้าประเทศเป็นเงิน
7,391,979,673 บาท พอปี 2526 มูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 7,880,829,0206 บาท
ประเทศที่สั่งเข้าสินค้าสำเร็จรูปของไทย ก็มีพวกยุโรป สหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลางและเอเชีย อนาคตการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยนั้นขึ้นอยู่กับ
โควตานำเข้าของประเทศผู้ซื้อเป็นสำคัญ และปัจจุบันไทยก็ยังได้โควตาจากประเทศนำ
เข้าน้อยเมื่อเทียบกับฮ่องกงและไต้หวัน
สินค้าอีกอย่างหนึ่งที่ทำชื่อเสียงให้แก่ประเทศไม่แพ้เสื้อผ้าสำเร็จรูปก็คือ
เครื่องหนัง อาทิ กระเป๋าชนิดต่างๆ เข็มขัด รองเท้า ถุงมือ เป็นต้น ตั้งแต่ปี
2516
นับตั้งแต่นั้นมาอุตสาหกรรมนี้ก็เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจนกลายมาเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญอีกประเภทหนึ่ง
ตลาดเครื่องหนังของไทยปัจจุบันมีอยู่แทบทุกภาคของโลก เช่น ในทวีปอเมริกา
ยุโรป ออสเตรเลีย และขณะนี้กำลังได้รับความสนใจจากพวกแขกซาอุ เป็นอย่างมาก
ถ้าสังเกตจากตารางแล้วจะเห็นว่ามูลค่าการส่งออกอยู่ในจำนวนที่สูงเกือบเท่าเสื้อผ้าสำเร็จรูปเลย
ดังนั้นถ้าพิจารณาตารางที่ 2 ทั้งหมดแล้ว สินค้าประเภทเครื่องหนัง เสื้อผ้าสำเร็จรูป
รองเท้า นาฬิกา เปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกและนำเข้า จะเห็นได้ชัดว่าสินค้าเหล่านี้ของไทยเป็นที่นิยมมากในต่างประเทศ
แต่แทนที่การนำเข้าสินค้าพวกนี้จะลดลง เนื่องจากสาเหตุข้างต้น กลับปรากฏว่าการสั่งเข้าก็ยังเพิ่มพูนขึ้นทุกปี
จึงทำให้เรายังขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นทุกปีไปด้วย
สาเหตุมันเกิดจากอะไรกันแน่!!
คำตอบก็คงต้องมาจากคำถามที่ว่า รัฐแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าได้ตรงเป้าแค่ไหน?
ทำกันอย่างไร จึงได้ปล่อยให้สินค้าพวกนี้มีมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปี
ในขณะเดียวกันการส่งเสริมการส่งออก เช่นตั้งบีโอไอขึ้นมา เพื่อส่งเสริมการผลิตให้มีประสิทธิภาพนั้น
ได้ผลมากน้อยแค่ไหน?
ตั้งแต่ปี 2516 ที่เริ่มมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมการส่งออกเครื่องหนังจนถึงปัจจุบัน
มีเพียง 3 โรงงานเท่านั้นที่ได้รับการส่งเสิรมอย่างแท้จริง แม้ว่ามูลค่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นทุกปี
แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่สามารถทำให้ตัวเลขสูงกว่านี้ไม่ได้
แล้วทำไมไม่คิดที่จะดึงพวกพ่อค้าทำสินค้าเลียนแบบซึ่งสามารถส่งสินค้าเลียนแบบไปตีตลาดของจริงกระจุยมาเล้ว
ให้หันมาทำการผลิตอย่างถูกกฎหมายเสียที เพื่อมิให้พวกฝรั่งมาถ่ายรูปตอนเผาสินค้าไทยแล้วไปประจานทั่วโลก
เสียงครวญจากพ่อค้าเหล่านี้ถึงกฎเกณท์ต่างๆ ของรัฐที่ตั้งขึ้นมาแล้วทำให้เกิดความยุ่งยาก
ซ้ำซ้อนนั้น รัฐสามารถแก้ไขได้ไหม? อย่างน้อยรัฐและพ่อค้าเหล่านี้ก็ควรมาพบกันครึ่งทางก็ยังดี
ถ้ารัฐเกลี้ยกล่อมพวกพ่อค้าเลียนแบบได้สำเร็จ กำลังการผลิตของประเทศในการส่งออกคงมีเพิ่มขึ้นอีกมาก
สิ่งที่รัฐจะต้องเร่งดำเนินการตามมาก็คือการหาตลาดให้พวกเขา
แม้ว่าการส่งสินค้าออกไปขายต่างประเทศจะต้องผจญกับอุปสรรคการตั้งกำแพงภาษีบ้าง มาตรการนำเข้าบ้าง
หรือคุณภาพของสินค้ายังไม่ตรงกับความต้องการของตลาดก็ตาม ต่อไปนี้ รัฐควรจะต้องทำตัวเป็นพ่อค้าให้มากขึ้น
กว่าเดิม เหมือนญี่ปุ่นที่ได้ฉายาว่าขายลูกเดียวเพราะพวกข้าราชการญี่ปุ่นไปประเทศไหนก็ตาม
ถ้าคุยธุระกันเสร็จแล้ว เป็นต้องงัดเอาสินค้าของตัวเองมาเสนอขายทั่วไปหมด
ไม่ซื้อไม่ว่าชมดูก่อนได้
ดังนั้นพวกข้าราชการไทยที่ไปเจรจากู้เงินต่างประเทศบ่อยๆ นั้น กู้ได้หรือไม่ได้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ถ้าคุยจบเราก็เสนอขายสินค้าเราต่อไปเลย เพื่อไม่ให้เสียเที่ยว!!
ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันประสานงานทำกันทั้งภาครัฐบาลและเอกชนแล้ว เชื่อว่าตัวเลขการส่งออกของไทย
จะต้องเพิ่มขึ้นมากอย่างผิดหูผิดตาไปเลย แล้วก็จะมีผลทำให้ดุลการค้าของเราลดลงได้
ต่อไปในอนาคตลูกหลานของเราจะได้เป็นหนี้ต่างชาติน้อยลง...