Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2527








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2527
การธนาคารโลกกำลังพังทลาย             
 


   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารโลก

   
search resources

World Bank
Banking and Finance
International




กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ตลาดการเงินของฝ่ายตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและเยอรมนี ประสบกับความวุ่นวายมากยิ่งขึ้นอันเป็นผลจากความตึงเครียดทางการเงินและการคลังระหว่างปี 1980-1981

ความตึงเครียดที่ว่านี้คงจะเนื่องมาจากมูลเหตุสำคัญ 2 ประการด้วยกันคือ ประการแรก ได้แก่ การดำเนินนโยบายเงินตึงอย่างรุนแรงของรัฐบาลประธานาธิบดี เรแกน จึงทำให้อัตราดอกเบี้ยของเงินดอลลาร์สูงขึ้นไปอย่างน่าดูทีเดียว เลยทำให้ปัญหากระแสเงินสดของบริษัทที่มีหนี้สินมาก ต้องยุ่งยากลำบากมายิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันเป็นการคุกคามต่อความสามารถชำระหนี้ของบริษัทออมทรัพย์ และเงินกู้ในสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก เนื่องจากสินทรัพย์ส่วนใหญ่ประกอบด้วยสินเชื่อระยะยาว พร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราต่ำที่กำหนดไว้แน่นอน

นอกจากนั้น การขึ้นสูงของอัตราดอกเบี้ยทั่วไปทำให้ตลาดพันธบัตรอันเป็นแหล่งการเงินสำคัญในสหรัฐอเมริกา ต้องเป็นอัมพาตไป ปี 1983 เริ่มต้นขึ้นด้วยการล้มละลายของบริษัทเงินออมและเงินกู้ ฟิเดลลิตี้ อันเป็นบริษัทใหญ่ที่สุดบริษัทหนึ่งในนครซานฟรานซิสโก และสิ้นปีลงด้วยการเกือบพังทลายของธนาคาร ซีแอตเติลเฟอร์สต์ แนชนัลแบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 26 ของประเทศ ที่รอดตัวมาได้ก็ด้วยการที่ธนาคารต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ได้ช่วยกันออกเงินฉุกเฉินเข้าไปโอบอุ้มเอาไว้ รวมทั้งคอนติเนนตัลอิลลินอยส์ ซึ่งเป็นรายล่าสุด

มูลเหตุของความตึงเครียดประการที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตึงเครียดที่ส่งผลกระทบต่อธนาคารเยอรมัน ได้แก่หนี้สินรายใหญ่ของโปแลนด์ เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทรุดตัวในช่วงปี 1980-81 และการผลิตถ่านหิน (ซึ่งเป็นสินค้าออกที่สำคัญของประเทศ) ต้องตกต่ำลงไปอย่างมาก โปแลนด์จึงไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ตามระยะเวลาที่กำหนดได้ ธนาคารของเยอรมันตะวันตก ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างแรงจากการที่เงินดอลลาร์มีราคาแพงขึ้นในปี 1981 อยู่แล้วเมื่อมากระทบกับเหตุการณ์ไปแลนด์ ก็เลยทำให้ผลกำไรตกต่ำไป

ในตอนต้นปี 1983 เมื่อโรมาเนียขอเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ก็เกิดภัยคุกคามว่าบรรดาลูกหนี้ในยุโรปตะวันออกจะพากันรุมขอยืดเวลาการชำระหนี้ออกไปบ้าง

เยอรมนีตะวันตก ซึ่งเป็นคู่ค้าตะวันตกรายใหญ่ของสหภาพโซเวียต และยุโรปตะวันออก ซึ่งได้รับผลกระทบจากการนี้ ย่อมจะต้องเสียหายร้ายแรงอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

และแล้วในปี 1981 นั้นเอง ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของเยอรมนี ซึ่งประสบกับความยุ่งยากอย่างร้ายแรงอยู่แล้ว ก็ต้องซวนเซ จนรัฐบาลกรุงบอนน์ต้องรีบเข้าช่วยเหลือ ให้บริษัทใหญ่ๆ บางบริษัท ที่ระบบธนาคารเองก็เกือบจะช่วยค้ำไม่ไหวอยู่แล้ว รอดพ้นจากความหายนะออกมาได้ ดังเช่น บริษัท อาเอเก-เทเลฟุงเกน, อารเบด สตาร์สตาล และเมื่อต้นปี 1983 นี่เอง บริษัท คอร์ฟอินดัสตรี อุ๊นด์ ฮันเดล ก็หวิดไปเหมือนกัน

แม้ในระยะก่อนสิ้นทศวรรษ 1970 บริษัทใหญ่ๆ ของสหรัฐอเมริกาหลายบริษัท ก็คงจะล้มครืนถ้าหากรัฐบาลของสหพันธรัฐไม่เข้าไปช่วยค้ำประกันเงินกู้เอาไว้ให้ ดังกรณีตัวอย่าง บริษัท ไครสเลอร์และบริษัทผู้ผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตรอีกหลายบริษัท เช่น บริษัท แมสเล่ย์ เฟอร์กูสัน และบริษัท อินเตอร์ แนชั่นนัล ฮาร์เวสเตอร์ เป็นต้น

ในปี 1982 เกือบทุกวิสาหกิจอุตสาหกรรมและวิสาหกิจการเงินต้องประสบกับปัญหายุ่งยากไม่ระดับใดก็ระดับหนึ่ง บริษัท โดม ปิโตรเลียม อันเป็นบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่บริษัทหนึ่งของสหรัฐก็ต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากราคาน้ำมันตกต่ำ กับวิกฤตการณ์ผลิตน้ำมันมากเกินไป ในขณะที่เพราะเหตุให้กู้ยืมเงินในกิจการน้ำมันที่ไม่ค่อยได้กำไร มากเกินไป เป็นมูลเหตุเบื้องหลังที่ทำให้ธนาคาร โอคลาโฮม่า ซิตี, ธนาคาร เพนน์สแควร์ แบงก์ ต้องล้มละลายไป และธนาคารคอนติเนนตัล อิลลินอยส์ ในนครชิคาโก อันเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับความยากลำบาก กรณีล้มละลายอันฉาวโฉ่ของบริษัทหลักทรัพย์ของรัฐบาลดรีสเดล ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้าผู้ชำนาญพิเศษในเรื่องพันธบัตรเงินกู้ของรัฐบาลยังก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อธนาคาร เชส แมนฮัตตัน อันเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกา

ในขณะเดียวกันการล้มละลายของธนาคารบังโค อัมโบรเซียโน ในอิตาลี อันเป็นกรณีฉาวโฉ่ระหว่างประเทศที่สั่นสะเทือนสำนักวาติกัน และกรณีฉ้อโกงอันฉาวโฉ่อื่นๆ อีกหลายเรื่องที่ได้ไปบ่อนทำลายเกียรติภูมิของธนาคาร เวสต์ ดอยท์ เช่ ลันเดสบังค์ อันเป็นธนาคารใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเยอรมนี

สายฟิวส์ที่เชื่อมต่อยุโรปตะวันออกกับละตินอเมริกา

ในขณะที่ปี 1892 อันเป็นปีแห่งความเงียบเหงาของตลาดในประเทศกลุ่มเศรษฐกิจ ทุนนิยมใหญ่ๆ นั่นเอง ประเทศที่มีหนี้สินมาก อย่างเช่นโปแลนด์ (ซึ่งมีหนี้ถึง 27 พันล้านดอลลาร์) และโรมาเนีย (ซึ่งมีหนี้สิน 10 พันล้านดอลลาร์) ก็ต้องประสบกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มโซเวียต อย่างไม่เคยมีมาก่อนเลย แม้กระทั่งประเทศฮังการี ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่รักใคร่ของธนาคารระหว่างประเทศก็มีหนี้สินรุงรังมากยิ่งขึ้น ถึง 8 พันล้านดอลลาร์ และเพิ่งจะรอดพ้นจากการผิดนัดชำระหนี้เมื่อฤดูใบไม้ผลิ ปี 1982 มาได้ด้วยความช่วยเหลือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF.) และธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS.)

กระทั่งสหภาพโซเวียตซึ่งจำต้องขายทองคำเป็นจำนวนมากเพื่อนำเงินไปใช้หนี้ ก็ยังชำระเงินทางการค้าล่าช้ากว่าปกติในช่วงระยะเดียวกันนั้นด้วย

ยูโกสลาเวีย ซึ่งมีปัญหาหนี้ต่างประเทศอยู่เป็นจำนวนเงินถึง 18 พันล้านดอลลาร์ ก็ยังคงมีปัญหาต่อไปในปี 1982 จนกระทั่งในที่สุดต้องขอทำความตกลงผัดหนี้ต่อออกไปอีกในตอนปลายปี และในฤดูร้อนของปี 1982 คิวบา ซึ่งเมื่อก่อนนี้เคยเป็นผู้ชำระหนี้ที่ดีมาก ครั้นมาในระยะหลังๆ ก็ไม่สามารถปฏิบัติเคร่งครัดตามสัญญาความตกลงได้

นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 60 เป็นต้นมา โลกทุนนิยมได้ให้กลุ่มโซเวียตกู้ยืมเงินไปทั้งหมดมากกว่า 100 พันล้านดอลลาร์ ทั้งๆ ที่ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างฝ่ายตะวันออก-ตะวันตกได้เขม็งเกลียวขึ้นอีกก็ตาม แต่การต้องยอมรับให้มีหนี้สินจำนวนมาก และความจำเป็นที่จะต้องรักษาไว้ซึ่งตลาดในยุโรปตะวันออกให้คงเปิดประตูอยู่เสมอ ทำให้ธนาคารและรัฐบาลของฝ่ายตะวันตกแทบจะไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น นอกจากต้องยอมตกลงผ่อนผันการชำระหนี้ออกไป

อย่างไรก็ดี ในฤดูร้อนปี 1982 นั่นเองสถานการณ์ทางการเงินระหว่างประเทศเกิดทรุดหนักลงไปอย่างกะทันหัน โดยกลุ่มประเทศในละตินอเมริกาได้พร้อมใจกันขอร้องหยุดพักชำระหนี้ กระแสลูกโซ่แห่งการผิดนัดชำระหนี้ได้เริ่มขึ้นในเม็กซิโกก่อน โดยกลุ่มทุนนิยมอัลฟ่าไม่สามารถชำระหนี้ต่างประเทศของตนจำนวน 2.3 พันล้านดอลลาร์ ได้จนเลยฤดูหนาวปี 1982 เมื่อรู้ว่าความรุ่งเรืองที่ตั้งอยู่บนทรัพยากรน้ำมันกำลังจะหมดสิ้นไป

บรรดาเงินทุนของเม็กซิโกก็พากันหลั่งไหลออกนอกประเทศไปอย่างสะดวกด้วย เนื่องจากรัฐบาลได้ยกเลิกระบบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

การหนีหายของเงินเปโซทำให้รัฐบาลจำต้องนำเอาระบบควบคุมการแลกเปลี่ยนมาใช้อีก พร้อมกับโอนกิจการธนาคารเป็นของชาติ เช่นเดียวกับกรณีของฮังการี ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ และกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้เข้ามาประกันการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศสำหรับการโอนเงินกระแสรายวัน ในขณะที่การเจรจาอันยาวนานเพื่อการผ่อนชำระหนี้กำลังดำเนินอยู่กับธนาคารต่างๆ หลายร้อยธนาคารทั่วโลก ซึ่งเป็นผู้ออกเงินกู้ต่างประเทศให้แก่เม็กซิโกเป็นส่วนมาก

เงื่อนไขของอาร์เจนตินา ซึ่งมีหนี้ต่างประเทศสะสมอยู่จนถึงสิ้นปี 1982 เป็นจำนวนถึง 32 พันล้านดอลลาร์ได้เบิกทางไปสู่ความโกลาหลแห่งหนี้สินของกลุ่มละตินอเมริกา

แต่ลางบอกเหตุที่แท้จริงได้ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อฤดูร้อน ปี 1981 เมื่อเป็นที่ปรากฏชัดว่าคอสตาริกาผู้เป็นแบบอย่างของนักกู้ยืมเงินที่ดี จนได้รับรางวัลจากธนาคารทั่วโลกในช่วงทศวรรษ 1970 กลับต้องมาประสบกับปัญหายุ่งยากในการชำระหนี้

สงครามในแอตแลนติกภาคใต้ (สงครามชิงเกาะฟอล์กแลนด์) และการอายัดสินทรัพย์ของอาร์เจนตินาในอังกฤษ ซึ่งชวนให้รำลึกนึกถึงพฤติกรรมของสหรัฐอเมริกาที่กระทำแก่อิหร่านเมื่อ 2 ปีก่อน เหล่านี้ทำให้สถานะทางการเงินในบูโนสเอเรสต้องเขม็งเกลียวยิ่งขึ้นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

เมื่อเม็กซิโกผสมโรงกับอาร์เจนตินาในฐานะลูกหนี้ที่มีปัญหา เลยทำให้นายธนาคารทั้งหลายต่างพากันจับตามองประเทศใน ละตินอเมริกาทั้งหมด ซึ่งมีหนี้สินราว 40% ของหนี้สินรวมของโลกที่สามทั้งหมด การจัดระบบการเงินอย่างเสรีเต็มที่ของลิลี่ก็ไม่อาจช่วยให้ระบบการธนาคารรอดพ้นจากการล้มละลายได้ในปี 1982

ส่วนโบลิเวีย ต้องระงับการชำระหนี้ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน

แม้กระทั่งเวเนซุเอลา ซึ่งร่ำรวยด้วยน้ำมันก็ยังมีภาระหนี้สินเกินตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้เงินกู้ระยะสั้น

ครั้นแล้วเหตุการณ์ที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ ก็ได้เกิดขึ้นในตอนสิ้นปี คือ ธนาคารแห่งบราซิล (ธนาคารชาติ) ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 1 ของบราซิล และเป็นธนาคารในอันดับที่ 17 ของธนาคารโลกไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้กระแสรายวันในตลาดการเงินในนครนิวยอร์กได้

ผลสะท้อนที่เกิดขึ้นในทันที ได้แก่การที่รัฐบาลบราซิลไม่สามารถหาเงินมา ชำระหนี้ส่วนหนึ่งที่กำหนด ในจำนวนหนี้สินทั้งหมด 84 พันล้านดอลลาร์ได้ และในวันที่ 31ธันวาคม 1982 กรุงบราซิเลียก็ได้ประกาศว่า รัฐบาลไม่สามารถชำระหนี้ตามข้อผูกพันทางการธนาคารและการเงินสำหรับปี 1983 ได้ด้วย ครั้นแล้วชิลี ซึ่งมีหนี้สินอยู่ตั้ง 16.5 พันล้านดอลลาร์ ก็ทำตามอย่างบ้างในเดือนมกราคม ในเดือนมิถุนายน 1983 เนื่องจากบราซิลมีอัตราเงินเฟ้อรายปีถึง 180%

กองทุนการเงินระหว่างประเทศจึงได้ประกาศระงับการให้เงินกู้เพื่อช่วยเหลือรวมพร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลบราซิล ดำเนินมาตรการอดออมต่อไป

ในตอนต้นปี 1983 กลุ่มประเทศในโลกที่สามที่มีหนี้สินรวมกันมากกว่า 300 พันล้านดอลลาร์ ในจำนวนหนี้ทั้งหมด 700 พันล้านดอลลาร์กับกลุ่มประเทศลูกหนี้ในค่ายโซเวียตได้ประกาศระงับชำระหนี้ชั่วคราว และเจรจาขอยืดเวลาในการชำระหนี้

อย่างไรก็ดี ยอดหนี้สอนรวมของโลกที่สามนั้นมีไม่มากไปกว่าราวๆ 7-10% ของสินทรัพย์รวมของธนาคารระหว่างประเทศขนาดใหญ่ๆ เท่านั้น แม้นี่จะนับเป็นอัตราส่วนที่สูงมากอยู่ก็ตาม แต่มันก็ยังไม่ถึงกับคุกคามความสามารถชำระหนี้ของระบบธนาคารระหว่างประเทศได้ ตราบเท่าที่มาตรการอันสอดคล้องเหมาะสม (ดังเช่นการค้ำประกันเครดิตโดยองค์กรมหาชน เช่น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของสหรัฐฯ, องค์การอีซีจีดี ของอังกฤษ หรือองค์การ ซีโอเอฟเอซีอี ของฝรั่งเศส ความตกลงยืดเวลาชำระหนี้ การใช้บริการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ การเพิ่มสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารกลาง) ได้ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือทางการเงินแก้หนี้สินที่ถึงกำหนดแล้ว แต่ยังมิได้รับการชำระหนี้

ยิ่งกว่านั้น วงการเงินระหว่างประเทศยังมีความปริวิตกยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อได้ตระหนักว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ได้กระหน่ำเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศทุนนิยม รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศในโลกที่สาม และในกลุ่มโซเวียตด้วย

สัญญาณที่เปิดเผยเรื่องนี้ให้เห็นอย่างเด่นชัดที่สุด ได้แก่ ภาวะน้ำมันล้นตลาดและความตกต่ำของราคาน้ำมัน การที่ราคาสินค้าวัตถุดิบอืดนิ่งอยู่กับที่ ภาวะเงินเฟ้อโดยทั่วไปได้ลดต่ำลง และความเติบโตทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปแทบจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ทั้งหมด

ทุกสิ่งทุกอย่างต่างชี้ตรงไปยังภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งภารกิจประการเดียวที่เหลืออยู่อันได้แก่การพยายามฉุดรั้งเอาไว้ไม่ให้มันจมน้ำดำดิ่งลงไป กำลังเป็นเรื่องยากลำบากยิ่งขึ้นทุกทีสำหรับวิสาหกิจและรัฐบาลของประเทศต่างๆ ที่ได้สะสมหนี้สินเอาไว้มากมายในระยะก่อนหน้าที่จะเกิดภาวะเงินเฟ้อ ที่ถึงขั้นร้อนจัดเต็มที่ หรือการขยายการค้าต่างประเทศออกไปจนบานทะโรค

ความเพิกเฉยของสหรัฐอเมริกา

รัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งมีสิทธิ์มีเสียงอย่างสำคัญในองค์กรใหญ่ๆ ระหว่างประเทศ ได้ทำงานน้อยมากในการช่วยหลีกเลี่ยงความเลวร้ายของสถานการณ์ทางการเงินในตลาดเงินระหว่างประเทศ และในตลาดเงินของประเทศทุนนิยมใหญ่ๆ ด้วยการกักขังตนเองอยู่ในระบบการเงินที่คับแคบและเข้มงวดกวดขัน รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเอาแต่จะลดเงินให้กู้เพื่อช่วยเหลือโลกที่สาม ด้วยการคอยกดดันธนาคารโลกและองค์การในสังกัด เช่น องค์การเพื่อพัฒนาการระหว่างประเทศ และองค์การที่เกี่ยวข้อง ดังเช่น ธนาคารพัฒนาแอฟริกา, ธนาคารพัฒนาเอเชีย, ธนาคารพัฒนาประเทศในทวีปอเมริกา และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เป็นต้น

โดยทำนองเดียวกัน นโยบายอัตราดอกเบี้ยเงินดอลลาร์สูง ยังคงดำเนินต่อไปตลอดครึ่งแรกของปี 1982 พร้อมกับบีบคั้นอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตระกูลอื่นๆ เป็นครั้งคราวแล้วยังสร้างอุปสรรคมากยิ่งขึ้นแก่การชำระหนี้ของบริษัทและรัฐบาลประเทศต่างๆที่มีหนี้สินมาก (ซึ่งเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา เพียงสิ้นปี 1982 ก็มีหนี้อยู่แล้วถึง 131.3 พันล้านดอลลาร์)

เพิ่งจะภายหลังฤดูร้อนเมื่อภาวะเศรษฐกิจหดตัวและภาวการณ์ว่างงานได้มีอัตราสูงจนถึงขีดที่น่ากลัวอันตรายในสหรัฐอเมริกา และเมื่อคำวิจารณ์อันเผ็ดร้อนได้พุ่งเข้าใส่นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเรแกน มากยิ่งขึ้นทุกที เจ้าหน้าที่การเงินของรัฐบาลสหรัฐฯ จึงเพิ่งจะดำเนินการเพื่อดึงอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ให้ลดต่ำลงมาบ้างในที่สุด

แม้กระทั่งเกือบจะสิ้นปี 1982 อยู่แล้ว กรุงวอชิงตันก็ยังเพิกเฉยต่อคำเรียกร้องของรัฐบาลประเทศสมาชิกองค์การร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนาการ ที่ขอให้ใช้ความพยายามอย่างพร้อมเพรียงกันเพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และเร่งส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ในที่ประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก ซึ่งจัดให้มีขึ้นที่นครโทรอนโต ประเทศแคนาดา เมื่อเดือนกันยายน ในขณะที่วิกฤตการณ์ทางการเงินของเม็กซิโกกำลังขึ้นสูง ผู้แทนของสหรัฐอเมริกายังทำหูทวนลมต่อข้อเสนอของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป และของโลกที่สาม ที่ขอให้เพิ่มทรัพยากรในกองทุนการเงินระหว่างประเทศขึ้นอีก 50% เพื่อให้คุ้มกับการที่จะต้องช่วยเหลือทางการเงินสำหรับหนี้สินระหว่างประเทศที่มีอยู่มากมาย และทั้งๆ ที่สัญญาณบอกอันตรายกำลังแจ่มชัดมากขึ้นทุกที รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ก็ยังคงกล่าวอย่างหน้าเฉยตาเฉยว่า ระบบการเงินระหว่างประเทศยังเข้มแข็งและคึกคักดี และว่า อันตรายที่แท้จริงนั้นอยู่ที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างผิดกาละ ต่างหาก

ท่าทีของสหรัฐอเมริกาเพิ่งมาเปลี่ยนเอาในที่สุด เมื่อเป็นที่แจ้งชัดว่า บราซิลจะต้องล้มละลายตามคราวของตน และภาพแห่งความไม่สามารถชำระหนี้ของประเทศในละตินอเมริกา ได้ปรากฏอย่างชัดเจนแล้ว

ในวันที่ 10 ธันวาคม รัฐมนตรีว่าการคลังของประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 5 ประเทศ มีสหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส, เยอรมนีตะวันตกและอังกฤษ) ได้ตกลงกันให้เพิ่มโควตาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศขึ้นไปอีก 50% กับให้เพิ่มวงเงินให้กู้ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศขึ้นอีกจาก 6.5 พันล้านดอลลาร์ เป็น 20 พันล้านดอลลาร์ เพราะเมื่อก่อนนี้เงินให้กู้เหล่านี้ใช้งานเพียงเพื่อประโยชน์ของ 10 มหาอำนาจเท่านั้น

ในขณะเดียวกันธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศซึ่งตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1930 เพื่อปรับปรุงระบบการเงินระหว่างประเทศให้มีระเบียบขึ้นมาใหม่ ภายหลังจากได้รับความเสียหายเนื่องจากภัยของสงคราม และวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ติดตามมาจนสามารถแสดงบทบาทได้อย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ประเทศที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน จนกว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศจะสามารถดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือที่กว้างขวางยิ่งกว่า และในระยะเวลาที่ยาวนานกว่ากันได้ ทั้งนี้เป็นการทำให้องค์กรซึ่งเกือบจะถูกลืมไปเสียแล้วตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา ได้กลับฟื้นคืนชีวาโดดเด่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ในบรรดาประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้นจากธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศนี้ ได้แก่ ฮังการี เม็กซิโก ยูโกสลาเวีย และบราซิล

ปฏิบัติการณ์แบบตัวใครตัวมัน

ฝรั่งเศสก็เช่นกัน ต้องประสบกับความยุ่งยากทางการเงินในปี 1982 ถึงแม้ว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจภายในประเทศจะไม่ร้ายแรงไปกว่าประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็ตาม แต่การที่มีรัฐบาลสังคมนิยมขึ้นมาสู่อำนาจ ก็อดที่จะส่งผลกระทบต่อค่าของเงินฟรังก์ในตลาดแลกเปลี่ยนเงินไม่ได้เหมือนกัน ภายหลังจากปีต่อมา ทั้งๆ ที่ฝรั่งเศสมีหนี้เงินกู้อยู่แล้วเป็นจำนวนรวมถึง 25 พันล้านดอลลาร์ก็ตาม รัฐบาลซาอุดีอารเบียก็ยังได้ให้กู้ยืมเงินต่อไปอีกถึง 6 พันล้านดอลลาร์ ในรูปแบบต่างๆ กัน ดังนั้น ในที่สุดฝรั่งเศสก็กลายเป็นประเทศผู้กู้ยืมเงินรายใหญ่ไปในตลาดการเงินระหว่างประเทศ เลยเข้าไปเป็นพวกเดียวกันกับประเทศลูกหนี้รายใหญ่อื่นๆ ดังเช่น เดนมาร์ก, สวีเดน ฟินแลนด์ เบลเยียม ออสเตรีย สเปน ปอร์ตุเกส และอิตาลี

ปัจจัยใหม่อีกประการหนึ่ง ได้แก่การหายหน้าไปของเงินเหลือใช้จากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปก ซึ่งเงินเหล่านี้เคยถูกส่งกลับเข้าไปหมุนเวียนอยู่ตลาดการเงินใหญ่ไม่โดยทางทรง ก็ทางอ้อม และส่วนหนึ่งยังได้ถูกส่งเข้าไปในโลกที่สาม อันเป็นการก่อให้เกิดภาวะอุ่นหนาฝาคั่งในวงการเงินและวงการธนาคารในกลางปี 1983 สถานการณ์ทางการเงินได้เลวลงอย่างผิดสังเกตในทุกประเทศผู้ผลิตน้ำมันในโลกที่สาม แม้แต่ผลผลิตของซาอุดีอารเบียเองก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้เงินในประเทศรัฐบาลที่นครริยาด จำเป็นต้องใช้เงินสำรองของตนต่อไป เพื่อใช้จ่ายในการพยุงภาวะเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในนครคูเวต ตลาดหุ้นขนาดใหญ่ถึงกับต้องล้มคว่ำอันเนื่องมาจากการเก็งกำไร จากเช็คลงวันที่ล่วงหน้า ที่ใช้ไปในการซื้อขายหุ้นของบริษัทที่ไม่มีตัวจริง ได้ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเงินทุนสำรองของรัฐบาล

จากสถานการณ์รอบด้านดังกล่าวเช่นนี้เอง แรงกดดันที่มีต่อระบบการคลังและการเงินระหว่างประเทศและต่อตลาดภายในของแหล่งศูนย์กลางอุตสาหกรรม ก็ค่อยๆ หนักหน่วงรุนแรงยิ่งขึ้นทุกที นอกจากนั้นภาวะเงินฟุบโดยทั่วไปในเศรษฐกิจโลก พร้อมกับภาวะหยุดนิ่งอย่างสิ้นเชิงของการค้าระหว่างประเทศมาตั้งแต่ปี 1981 ได้ทำให้ภาระของหนี้สิน ซึ่งได้หดตัวลงอย่างน่าชื่นชมในช่วงระยะที่มีภาวะเงินเฟ้อ กลับรุนแรงขึ้นมาอีก

การใช้นโยบายเงินแข็งในช่วงปลายทศวรรษ 70 ซึ่งปฏิบัติกันอย่างเหลือเฟือในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีเรแกน ก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ช่วยกันผลักไสสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ, การเงิน และการธนาคารของโลก ให้เฉียดใกล้เข้าสู่ความหายนะ

และสถานการณ์อันนี้ยิ่งทรุดหนักลงไปอีกเมื่อมีการปฏิเสธที่จะปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งการปฏิเสธนี้ไม่ใช่จะเกิดขึ้นเฉพาะระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้เท่านั้น แต่ยังได้เกิดขึ้นระหว่างประเทศมหาอำนาจอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ด้วยกันอีกด้วย

มาตรการต่างๆ ที่นำมาใช้ปฏิบัติในตอนปลายปี 1982 และตอนต้นปี 1983 จึงเหินห่างจากการสอดคล้องกับความต้องการของเศรษฐกิจโลกไปอย่างมาก

จึงเป็นอันว่าเศรษฐกิจโลกยังคงถูกปล่อยปละให้อยู่ในภาวะอันตรายตั้งแต่ต้นทศวรรษ 70 เป็นต้นมาทีเดียว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us