Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2527








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2527
ไต้หวันจะเปลี่ยนจากจอมลอกเลี่ยนมาเป็นสร้างสรรค์             
 


   
www resources

โฮมเพจ ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย)

   
search resources

ไอบีเอ็ม ประเทศไทย, บจก.
Computer
International




ไต้หวันมีชื่อเสียงด้านการลอกเลียนแบบมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ลอกเลียนแบบสินค้าของประเทศอื่นๆ ที่ขายดีแล้วผลิตขึ้นใหม่ด้วยราคาที่ถูกกว่าอย่างหน้าตาเฉย ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาข้อมือโรเลกซ์ เครื่องหนังกุชชี กล้องถ่ายภาพแคนนอน หรือเครื่องประดับจากคาเทียร์ เป็นต้น ผลิตของปลอมออกมาแล้วก็ขนใส่เรือไปขายในตลาดสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ เสมอมา

แม้แต่คอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นสินค้าเทคโนโลยีสมัยใหม่ไต้หวันก็ผลิตของปลอมออกมาหลอกชาวบ้านขาย เช่น คอมพิวเตอร์ชื่อแอปเปิลของอเมริกา ก็มีคอมพิวเตอร์ชื่อคล้ายๆ กันผลิตจากไต้หวันออกมา เช่น ไพน์แอปเปิลและไอเรนจ์ เป็นต้น ปีนี้มีข่าวว่าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของไอบีเอ็มที่ผลิตในไต้หวันและเหมือนกับของแท้ทุกส่วนกำลังขายดิบขายดี

แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลหรือนักธุรกิจชาวไต้หวันส่วนหนึ่งไม่ยอมรับความสำเร็จในการผลิตของเทียมเช่นนี้เพราะเชื่อว่าจะเป็นผลเสียในระยะยาวมากกว่า อย่างน้อยจะทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐฯ หรือญี่ปุ่นที่ไต้หวันลอกเลียนแบบสินค้ามากที่สุดเสียหายได้

อีกทั้งของเทียมที่ผลิตออกมานั้นทำอย่างไรก็ตามราคาก็สูงขึ้นมากแล้วในเมื่อค่าแรงของไต้หวันสูงกว่า สู้ค่าแรงประเทศอื่นๆ เช่นอินโดนีเซีย หรือศรีลังกาไม่ได้

ประธานคณะกรรมการวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจของไต้หวัน เชา เยาตุง กล่าวว่า "เรากำลังถูกบีบหนักตอนนี้ ไหนจะมีคู่แข่งขันใหม่ๆ เกิดขึ้นมาแล้วสินค้าของเรา ยังถูกมาตรการกีดกันสินค้าเข้าของสหรัฐฯ และญี่ปุ่นกดอยู่อีกด้วย"

เมื่อพบปัญหาเช่นนี้รัฐบาลไต้หวันจึงมีหน้าที่จะต้องหาทางแก้ไขด้วยการเปลี่ยนจากลอกเลียนมาเป็นด้านสร้างสรรค์ด้วยตนเองเสียบ้าง เพื่อว่าอนาคตเศรษฐกิจของประเทศจะได้มั่นคง รายได้ไม่ตกต่ำ มีการรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ในปัจจุบันจากฝ่ายรัฐบาลให้เน้นการผลิตสินค้าเทคโนโลยีระดับสูงมากขึ้น จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลอีกคนหนึ่งคุยไว้เกี่ยวกับมาตรฐานความก้าวหน้าในด้านสร้างสรรค์การผลิตสินค้าใหม่ๆ นี้ว่า "ตอนนี้เราอยู่ในสมัยของญี่ปุ่นเมื่อสิบห้าปีก่อนนี้แล้ว" และพร้อมกันนี้ก็ยกเอาตัวอย่างการพัฒนาเช่นนี้ขึ้นมาอ้างให้ดู เช่น

กลุ่มฟอร์โมซา พลาสติก ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจเอกชนที่ใหญ่โตที่สุดของไต้หวัน มีรายได้ปีละถึง 2.6 พันล้านดอลลาร์ ทนต่อเสียงออดอ้อนจากรัฐบาลไม่ไหวควักกระเป๋าสร้าง "โรงงานสำหรับอนาคต" มูลค่า 20 ล้านดอลลาร์ขึ้นมาเพื่อผลิตแผ่นวงจรแผงเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นมาโดยมี บริษัทฮิวเลตต์-แพคการ์ดของอเมริกาให้ความสนับสนุนอยู่

กลุ่มคอนติเนนตัล เอ็นจิเนียริ่ง ซึ่งมีอาชีพหลักเป็นการก่อสร้าง ตัดสินใจจ่ายเงิน 1.75 ล้านดอลลาร์ สร้างโรงงานผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นมาและจะมีโครงการก่อตั้งกิจการเงินทุนร่วมขึ้นอีกแห่งหนึ่งด้วย

กลุ่มนิวเดวีลอปเมนท์ซึ่งเพิ่งรวมตัวกันได้เมื่อต้นปีนี้รับสัญญาผลิตชิ้นส่วนบางชิ้นของคอมพิวเตอร์จากไอบีเอ็ม

กลุ่มเอทีแอนด์ที อินเตอร์เนชั่นแนล ได้รับทำโครงการร่วมกับโรงงานผลิตนาฬิกาแบบตัวเลข มูลค่า 40 ล้านดอลลาร์จากบริษัทเทเลโฟนแอนด์เทเลกราฟ สหรัฐฯ

นอกจากนี้กิจการผลิตเซมิคอนดักเตอร์จากแคลิฟอร์เนียสามแห่งได้เข้ามาร่วมสร้างโรงงานการผลิตแผงวงจรคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ขึ้นที่ไต้หวันอีกเช่นกัน

ความจริงแล้วไต้หวันก็เป็นดินแดนแห่งการผลิตสินค้าเทคโนโลยีระดับสูงอยู่แล้ว แปดเดือนแรกของปีกลายมียอดสินค้าออกดังกล่าว 3.3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึง 4.4%

คอมพิวเตอร์อย่างเดียวไต้หวันผลิตส่งเป็นสินค้าออกเพิ่มขึ้นถึงสี่เท่า และเฉพาะยอดซื้อชิ้นส่วนของไอบีเอ็มอเมริกาจากไต้หวันคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกสามเท่าในปีนี้รัฐบาลไต้หวันประมาณว่าเมื่อถึงสิ้นปี ค.ศ.1989 จะสามารถส่งคอมพิวเตอร์เป็นสินค้าออกได้ในปีนั้นถึง 6.8 พันล้านดอลลาร์

ใช่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่รัฐบาลไต้หวันตั้งใจจะพัฒนาจะดีเด่นไปเสียหมดในเมื่อเป็นการพัฒนาที่ล่าช้าเอามากๆ ทั้งนี้เพราะการสร้างความรู้สึกให้การผลิตสินค้ามาเป็นแบบที่สร้างสรรค์เองโดยไม่ลอกเลียนใครให้เสียชื่อนั้น ประสบการต่อต้านจากนักธุรกิจหัวโบราณชาวไต้หวันอย่างหนัก

เพราะแม้แต่นักธุรกิจรุ่นใหม่ๆ ชาวไต้หวันยังมองเห็นว่าสินค้าลอกเลียนเขานั้นขายได้ดีกว่า ทำเงินได้ดีกว่าที่จะไปเสียเวลาคิดผลิตเองขึ้นมา ทำเป็นเหมือนกับการผลิตงานศิลปะที่นิยมจะลอกเลียนจากของโบราณอยู่ตลอดไป เถียงกันเท่าไหร่ก็ไม่ยอม

ญี่ปุ่นเมื่อก่อนนี้มีความสามารถที่จะลอกเลียนสินค้าจากต่างประเทศได้อย่างรวดเร็วอย่างน่าทึ่ง แต่ของไต้หวันไม่เก่งเช่นนั้น อีกทั้งบุคลิกหรือนิสัยใจคอของคนญี่ปุ่น กับไต้หวันก็แตกต่างกันอยู่

คนญี่ปุ่นทำงานร่วมทีมกันได้อย่างดีเยี่ยม

แต่คนไต้หวันนิยมไปตัวคนเดียวมากกว่ายึดคติโบราณที่ว่า "เป็นหัวไก่ยังดีกว่าเป็นหางวัว" หรืออะไรทำนองนั้น

คนไต้หวันชอบจะเป็นเจ้านายมากกว่าลูกจ้างอีกด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีกิจการอุตสาหกรรมไต้หวันน้อยรายที่พร้อมกับยอมรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

โครงสร้างทางเศรษฐกิจด้านธุรกิจเอกชนของไต้หวัน ก็แตกต่างจากประเทศอื่นๆ พอสมควร เพราะตั้งอยู่ได้ด้วยร้านรวงเล็กๆ เป็นพันๆ ร้านเป็นสำคัญ มีอยู่ไม่ถึงสิบร้านที่มีรายได้เกิน 250 ล้านดอลลาร์ต่อปี แต่กระนั้นก็ยังมีชาวอเมริกันบางคนมีความเห็นดีต่อลักษณะการเป็นเอกเทศของชาวไต้หวันโดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับ "หมู่บ้านซิลิกอน" แหล่งรวมตัวของนักผลิตและสร้างสรรค์วิทยาการด้านคอมพิวเตอร์ของสหรัฐฯ ตรงที่คนในหมู่บ้านดังกล่าวมีนิสัยอยู่กับใครไม่ยืดเหมือนกัน

เมื่อมีหนทางเป็นไปได้เช่นนี้รัฐบาลไต้หวัน จึงพยายามหาวิธีล่อหลอกตัวบุคคลในวงการอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ให้เดินทางมาไต้หวันเพื่อให้คนไต้หวันได้เห็นกับตาว่าระบบการทำงานหรือคิดค้นแบบอเมริกันนั้นเรียนรู้ได้เช่นไร ดีเลวแค่ไหน

ปัญหาเรื่องเงินทุนของไต้หวันก็มีเหมือนกัน ถึงแม้จะมีเงินตราต่างประเทศสำรองไว้ถึง 16 พันล้านดอลลาร์ สินค้าออกหรือก็เพิ่มขึ้นอีก 25% อัตราการสะสมเงินของพลเมืองก็สูงน่าพอใจ แต่ปัญหาเรื่องการยอมรับของเหล่านายทุนต่อเงื่อนไขใหม่ๆ ในการลงทุนจากรัฐบาลนั้นยากเย็นกว่า ไม่เหมือนของเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์

ยิ่งเป็นการลงทุนแบบใหม่ที่มองไม่เห็นผลอย่างชัดเจนแล้วนายทุนไต้หวันดื้อด้านพอสมควร ปัญหาจึงมีอยู่ตรงนี้ส่วนหนึ่ง

นายทุนรุ่นเก่าๆ ของไต้หวันยิ่งร้าย เนื่องจากมีการศึกษาน้อยจึงไม่ยอมรับการส่งเสริมจากรัฐบาลที่เสนอให้ลงทุนการผลิตสินค้าเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วยไม่เข้าใจเลยมองไม่เห็นว่าจะมีกำไรได้อย่างไร? นิยมแต่จะลงทุนในตลาดสินค้าเทคโนโลยีต่ำแบบดั้งเดิมอยู่ต่อไป เช่น ของเล่น สิ่งทอ หรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เป็นความคิดอนุรักษนิยมที่แก้ไขได้ยาก แม้การสำรวจจากภาครัฐบาลจะรายงานออกมาซ้ำหลายครั้งว่าถึงเวลาที่ไต้หวันจะต้องลงทุนกับสินค้าเทคโนโลยี ระดับสูงแล้ว และจะต้องมากกว่าที่เป็นอยู่

รัฐบาลไต้หวันก่อตั้งสถาบันข่าวสารการอุตสาหกรรมขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1979 โดยมีเป้าหมายสำคัญประการแรกอยู่ที่การพัฒนาการผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบต่างๆ ให้ก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่ และมีการบีบให้ธนาคารขอปันเงินจากธนาคารและแหล่งธุรกิจต่างๆ ออกมาได้ถึง 4.4 ล้านเพื่อร่วมลงทุนก่อตั้งกลุ่มยูไนเต็ด ไมโครอีเล็คทริคขึ้นมาเพื่อผลิตนาฬิกา เครื่องคิดเลข และชิ้นส่วนแบบง่ายๆ ของคอมพิวเตอร์ในตอนแรก ต่อมาจึงเพิ่งเริ่มผลิตชิปบันทึกความจำสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ยังมีบริษัทอื่นๆ ของไต้หวันที่ได้เริ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ขึ้นมาอีก เช่นที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือการโทรคมนาคม และชิ้นส่วนของเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

จุดอ่อนอีกประการหนึ่งของอุตสาหกรรมไต้หวัน คือเรื่องการตลาด เนื่องจากระยะเวลาที่ผ่านมาอุตสาหกรรมของประเทศเติบโตขึ้นได้จากการตลาดของกิจการเล็กๆ นับเป็นพันๆ แห่งที่ปรับตัวได้ง่ายกับความต้องการของตลาด แต่หากว่าเป้าหมายของการผลิตเปลี่ยนไปเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูง ที่ไม่ลอกเลียนใคร ประสบการณ์ด้านการตลาดของสินค้าใหม่นี้จะเป็นสิ่งที่ขาดแคลนในไต้หวัน ซึ่งเรื่องเช่นนี้เป็นที่ยอมรับกันอยู่

ไต้หวันกำลังอยู่ในระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงสินค้าออกและระบบการตลาด รวมทั้งเงื่อนไขของการผลิตอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการส่งเสริมของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นทั้งตลาดใหญ่และคู่คิดที่ดีแก่ภาวะเศรษฐกิจของไต้หวันตลอดมา แต่ปัญหาและเงื่อนไขต่างๆ ที่มีอยู่นั้นไต้หวันจะแก้ไขให้ลุล่วงไปได้มากน้อยเพียงไร จะเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามกันต่อไป แม้ว่าสหรัฐฯ ดูเหมือนจะมีความมั่นใจอยู่มาก ว่าสภาพแวดล้อมต่างๆ ของไต้หวันยังเอื้ออำนวยให้แก่การเปลี่ยนแปลงอยู่แล้วก็ตามที

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us