ชาวนาหรือเกษตรกรที่ได้ชื่อว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ จำนวนเกินกว่าครึ่งของประชากรของประเทศ
เกษตรกรเหล่านี้ทำการเพาะปลูกบนพื้นแผ่นดินนี้มาตั้งแต่บรรพบุรุษสืบทอดมาจนถึงลูกหลาน
ตั้งแต่ผืนดินทำกินที่กว้างใหญ่จนแทบไม่มีที่จะทำกินในปัจจุบัน
ทำไมเกษตรกรของชาติเหล่านี้จึงได้เจริญลง?
ปัญหาหนึ่งเพราะเกษตรกรเหล่านี้ขาดความรู้ในด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อนำมาใช้ในการเพาะปลูก
สภาพดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงก็ไม่เอื้ออำนวย
และประการสุดท้ายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับแรกๆ มุ่งส่งเสริมงานอาชีพภาคอุตสาหกรรมให้เจริญก้าวหน้ามากกว่าภาคเกษตรกรรม
ทำให้เกษตรกรเหล่านี้ต้องหันมาประกอบอาชีพด้านอุตสาหกรรมด้วยการมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ
เพื่อทำงานตามโรงงานต่างๆ ผลก็คือทำให้กรุงเทพฯ มีประชากรหนาแน่นเกินไปกลายสภาพเป็นแหล่งเสื่อมโทรม
เกิดปัญหาสังคมและอาชญากรรมก็เพิ่มมากขึ้น
รัฐบาลมิได้นิ่งนอนใจพยายามคิดหาวิธีที่จะช่วยเหลือเกษตรกรเหล่านี้ เป็นต้นว่าศึกษาโครงการ
"คิบุช" จากประเทศอิสราเอล ที่สามารถเนรมิตทะเลทรายให้เป็นป่า
หรือผืนดินที่สามารถทำการเกษตรได้ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาภาคอีสานของไทย
ซึ่งมีสภาพแห้งแล้งเหมือนประเทศอิสราเอล
แต่โครงการนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะขาดปัจจัยด้านเงินทุน เนื่องจากจะต้องใช้เงินทุนมากในการเปลี่ยนแปลงพื้นดิน
จนในปี 2517 รัฐบาลเล็งเห็นว่าแหล่งเงินทุนต่างๆ คือธนาคารควรจะมีส่วนร่วมรับผิดชอบและพัฒนาประเทศบ้าง
แทนที่ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจอื่นๆ นั้นจึงให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งต้องอำนวยสินเชื่อเพื่อการเกษตรในปริมาณ
5% ของปริมาณเงินสินเชื่อทั้งหมด และในปี 2518 ก็ได้ปรับปรุงให้ทุกธนาคารต้องอำนวยสินเชื่อเพื่อการเกษตร
7-15% ของปริมาณเงินฝาก และการอำนวยสินเชื่อทางภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้นปีละ
2% จนกว่าจะถึง 15% ซึ่งในแต่ละปีถ้าธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้หมด
ก็จะต้องนำเงินที่เหลือไปฝากกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก
เพื่อ ธกส. จะนำไปปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกร
การปล่อยสินเชื่อนั้นต้องพิจารณาด้วยว่าเกษตรกรเหล่านี้มีฐานะมั่นคงพอไหม? มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองพอที่จะนำมาค้ำประกันได้ไหม?
มีความสามารถในการเพาะปลูกไหม? ฯลฯ
ปัญหาเหล่านี้เองจึงทำให้ธนาคารไม่กล้าที่จะปล่อยสินเชื่อให้การเกษตร เพราะจะหาเกษตรกรที่มีที่ดินเป็นของตนเองสักกี่คน
หรือถ้าให้กู้แล้วเกษตรกรไม่มีความรู้ในด้านเพาะปลูก ผลผลิตที่ได้ไม่พอที่จะใช้หนี้คืนแก่ธนาคารหรือถ้าเพาะปลูกแล้วนำผลผลิตไปขายก็ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาอีก
แต่ถ้าธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อทางเกษตรก็ไม่ได้อีกเช่นกัน! เพราะกฎหมายวางกรอบเอาไว้
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการธนาคารนั้น ในแต่ละปีต้องปล่อยสินเชื่อเป็นจำนวนมาก
เช่นในปี 2517 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นการปล่อยสินเชื่อนั้น ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อเป็นจำนวนเงิน
273.5 ล้านบาท จนถึงปี 2526 ธนาคารต้องปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวเป็นเงิน
10,560 ล้านบาท
เดิมทีธนาคารกรุงเทพร่วมมือกับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ทำโครงการเกษตรกรรมกึ่งสมบูรณ์แบบขึ้น
โดยจะคัดเลือกเกษตรกรที่มีฐานะปานกลางขึ้นไป ซึ่งมีที่ดินทำกินเป็นของตนเองไม่น้อยกว่า
5 ไร่ ธนาคารจะให้เงินกู้เพื่อทำการเลี้ยงไก่หรือสุกร และเพื่อเป็นการประกันว่าเกษตรกรเหล่านี้จะสามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดรอดฝั่ง
บริษัทเจริญโภคภัณฑ์จึงรับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกร โดยจะสอนเทคโนโลยีและวิชาการใหม่ๆ
ในการเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนเป็นผู้รับซื้อผลิตผลจากเกษตรกรเหล่านี้ด้วย
แต่จะมีเกษตรกรสักกี่คนที่มีที่ดินเป็นของตนเอง ส่วนมากเกือบ 90% ของเกษตรกรที่มีอยู่ต้องเช่าที่ทำกินทั้งนั้น
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงได้เกิดโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมสมบูรณ์แบบขึ้นมา
โดยได้รับความร่วมมือจาก 4 ฝ่าย คือธนาคารกรุงเทพ รัฐบาล บริษัทเอกชน และเกษตรกร
เอกชนในที่นี้ก็คือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์
ถ้าธนาคารกรุงเทพ เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการธนาคาร
บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ก็ต้องเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเกษตรกรรมเหมือนกัน
บริษัทเจริญโภคภัณฑ์หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในนาม ซีพี ทำธุรกิจตั้งแต่ด้านเกษตรกรรม
(ผลิตข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง มัน) โรงงานอาหารสัตว์ เครื่องมือเกษตรและยาฆ่าแมลง
เลี้ยงไก่ สุกร เป็ด ปลา โรงงานทอพรมและทอผ้า และธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย ซีพี
มีบริษัทในเครือทั้งสิ้นเกือบร้อยกว่าบริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศ
เจริญโภคภัณฑ์สามารถผลิตไก่ทั้งหมด 55% ของจำนวนผลผลิตได้ทั้งหมดของประเทศนอกจากนี้ยังผลิตอาหารสัตว์ได้
40% ของจำนวนที่ผลิตได้ และผลิตหมูได้อีก 40%
เมื่อยักษ์กับยักษ์จับมือร่วมกันทำโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมสมบูรณ์แบบขึ้นมา
จึงเกิดเป็นหมู่บ้านโครงการนี้ทั้งหมด 4 แห่ง โดยเริ่มด้วยหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า
ในเดือนมกราคม 2521 พอปลายปีนั้นก็ตามติดมาด้วยหมู่บ้านเกษตรกรรมทรายขาว
หมู่บ้านตะเคียน และคลอง 13 ธนาคารกรุงเทพได้ดำเนินการร่วมกับบริษัทวังน้ำฝน
โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมสมบูรณ์แบบทั้ง 7 แห่งนี้มีหลักการที่ปฏิบัติหลายประการ
ประการแรก จัดซื้อที่ดินขนาดใหญ่ที่รกร้างเพื่อนำมาปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์แบบ
แล้วจัดสรรที่ดินนั้นให้กับเกษตรกรที่ธนาคารคัดเลือกเข้ามาอยู่
อำนวยสินเชื่อ เพื่อการลงทุนให้เกษตรกรตามความต้องการ และตามความจำเป็น
รวมทั้งการจัดสร้างบ้านพักที่อยู่อาศัยและโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้
จัดการอบรมให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีวิทยาการสมัยใหม่เกี่ยวกับการเกษตร ทั้งด้านการเพาะปลุกและเลี้ยงสัตว์
ให้หลักประกันรายได้ที่แน่นอนกับเกษตรกรทุกเดือน ซึ่งแต่ละครอบครัวจะมีรายได้ขั้นต่ำประมาณ
2,500 บาทต่อเดือน
และประการสุดท้าย ส่งเสริมบริษัทธุรกิจการเกษตรเข้ามารับผิดชอบในการจัดการดำเนินงานควบคุมการผลิต
และจำหน่ายผลิตผลที่ได้
หน้าที่ของแต่ละฝ่ายที่มีต่อโครงการเหล่านี้ก็แตกต่างกันออกไป
ภาครัฐบาลรับหน้าที่ดูแลสาธารณูปโภคและรักษาความปลอดภัยให้แก่สมาชิกของโครงการ
ส่วนธนาคารกรุงเทพก็รับหน้าที่ปล่อยสินเชื่อ ควบคุมการบริหารการเงิน คัดเลือกเกษตรกร และติดตามประเมินผลของโครงการ
สำหรับกลุ่มธุรกิจเอกชน คือ ซีพีและบริษัทวังน้ำฝน ก็รับหน้าที่ตามถนัด
คือจัดสอนวิธีการเกษตรที่ถูกหลักวิชาการ จัดหาวัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนพันธุ์พืชและสัตว์ให้แก่สมาชิกในโครงการ
และจัดการด้านการตลาดเพื่อนำผลผลิตจากโครงการไปขาย
ฝ่ายสุดท้ายคือเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ มีหน้าที่เป็นฝ่ายผลิตโดยไม่ต้องเสียเงินทุนเข้าร่วมโครงการสักบาทเดียว
แต่จะต้องเอาแรงกายมาช่วยกันสร้างผลผลิตออกมา
เกษตรกรเหล่านี้จะต้องมีคุณสมบัติคือ ยากจนแต่ขยัน และมีความประพฤติดี
เกษตรกรในแต่ละโครงการจะได้เป็นเจ้าของที่ดินไม่ต่ำกว่า 15 ไร่ ซึ่งจะทำการโอนให้หลังจากหมดโครงการแล้ว
ที่ดินที่รับผิดชอบนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกซึ่งเป็นที่ดินจำนวนมากของแต่ละครอบครัวจะมารวมกันเป็นที่ดินผืนใหญ่เพื่อทำการเพาะปลูกข้าวและข้าวโพด
ซึ่งในส่วนนี้ทุกครอบครัวจะต้องมาช่วยกันลงแรงทำ
ส่วนที่เหลืออีกเล็กน้อยจะเป็นที่ส่วนตัวสำหรับปลูกบ้าน ขุดบ่อเลี้ยงปลาสวาย
ทำโรงเลี้ยงสุกร และปลูกพืชผักต่างๆ เป็นรายได้เฉพาะครอบครัว
สำหรับเรื่องรายได้นั้นจะขึ้นอยู่กับความขยันของเกษตรกร มีการประกันรายได้ขั้นต่ำหลังจากหักเงินต้นและดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายแล้วเหลือครอบครัวละไม่ต่ำกว่า
2,500 บาท
รายได้เหล่านี้มาจากการขายสุกรและข้าวโพดที่เกษตรกรทุกครอบครัวช่วยกันผลิตขึ้นมา
นอกจากนี้ เกษตรกรแต่ละครอบครัวจะมีรายได้ส่วนตัวจากผลผลิตในที่ดินส่วนตัว
ซึ่งเลี้ยงปลาสวายและปลูกพืชต่างๆ ซึ่งถ้าครอบครัวใดขยันไม่ปล่อยให้พื้นดินว่างโดยเปล่าประโยชน์เขาก็จะ
มีรายได้เพิ่มขึ้นจากรายได้ประจำอีกจำนวนหนึ่ง
ระยะแรกของการดำเนินงานนั้นจะเป็นการเร่งรัดการสอนเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกรเพื่อเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น
หลังจากนั้นก็จะเริ่มสอดแทรกแนวความคิดในการเป็นเจ้าของความรู้ด้านธุรกิจการเกษตร
ระบบการตลาด เรื่องต้นทุน ตลอดจนการตัดสินใจในปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้
เพื่อให้เกษตรกรสามารถดำเนินการธุรกิจเกษตรได้เองภายหลังจากที่สามารถปลดหนี้สินของโครงการได้หมดแล้ว
สำหรับผลตอบแทนที่ทุกฝ่ายจะได้รับจากโครงการนี้ เริ่มต้นจากธนาคารกรุงเทพก็สามารถปล่อยสินเชื่อทางเกษตรออกไปได้ตามที่รัฐบาลกำหนด
และก็ยังมีผลดีเพราะบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้นี้
จึงมั่นใจได้แน่นอนว่าจะได้เงินคืนเต็มเม็ดเต็มหน่วยทั้งต้นและดอก
สิ่งที่รัฐบาลจะได้ก็คือสามารถทำให้ประชาชนยากจนกลุ่มหนึ่งมีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีผลทางอ้อมคือ
ช่วยลดปัญหาอาชญากรรมลงด้วย
ด้านกลุ่มเกษตรกรนั้นก็จะได้เป็นเจ้าของที่ดินครอบครัวละไม่ต่ำกว่า 15 ไร่
(ขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการ) และคาดกันว่าเมื่อหมดจากโครงการนี้แล้ว ก็จะมีการจัดตั้งสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรขึ้นเพื่อปกครองดูแลผลประโยชน์ของโครงการแทนบริษัทเจริญโภคภัณฑ์
และวังน้ำฝน
ส่วนบริษัทโภคภัณฑ์และบริษัทวังน้ำฝนนั้น ผลที่ได้ก็คือ สามารถขยายพันธุ์สัตว์และพืช
อุปกรณ์การเลี้ยง อาหารสัตว์ หัวอาหาร และยาฆ่าแมลง ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทให้แก่โครงการโดยได้รับเงินที่แน่นอนกว่าเกษตรกรธรรมดา
เพราะบริษัทเป็นผู้ควบคุมการเงินของโครงการด้วย จึงตัดปัญหาการเบี้ยวเงินไปได้
ส่วนหลังจากหมดโครงการแล้วเกษตรกรของโครงการมีสิทธิที่จะเลือกทำธุรกิจกับ
2 บริษัทนี้อีกต่อไปหรือไม่ก็ได้ ซึ่งบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ก็มั่นใจว่าเกษตรกรเหล่านี้คงจะเลือกทำธุรกิจกับบริษัทของตนต่อไป
โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมเหล่านี้เป็นโครงการใหม่ และมีขนาดใหญ่ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนมากพอสมควร
ดังนั้น การดำเนินการจึงต้องกับอุปสรรคนานาประการ
ปัญหาแรกที่ต้องพบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้นคือ ปัญหาคน ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ได้รับคัดเลือกเข้ามาร่วมโครงการ
เป็นการยากที่จะนำคนที่มีการศึกษาเพียงประถม 4 และมาจากพื้นเพครอบครัวต่างกัน
ไม่เคยอยู่ในกฎระเบียบมาก่อน ให้มาอยู่ร่วมกันภายใต้กฎเกณฑ์ของสังคมใหม่
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เลย ซึ่งในแต่ละโครงการนั้นก็ได้รับความสำเร็จพอสมควร
เกษตรกรทุกครอบครัวสามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมใหม่ได้ ทุกคนรู้ว่าหน้าที่ของแต่ละคนนั้นมีอะไรบ้าง
แต่ก็ยังมีบางโครงการซึ่งมีปัญหาเกิดขึ้นนั่นคือโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมทรายขาว
ซึ่งได้เริ่มโครงการขึ้นในปี 2523 เนื่องจากธนาคารกรุงเทพเห็นว่าเป็นปีคนพิการสากล
จึงต้องการจะช่วยเหลือทหารผ่านศึกของไทยที่พิการเนื่องจากไปรบเพื่อชาติ แล้วต้องมาเป็นปัญหาต่อครอบครัวและสังคม
ทหารผ่านศึกเหล่านี้จึงหันไปหาสุราและยาเสพติด
ทหารผ่านศึกที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการหมู่บ้านทรายขาว บางคนไม่ยอมทำมาหากินแต่กลับไปมั่วสุมอบายมุขกัน
ทำให้ผลผลิตส่วนรวมลดน้อยลงไป จึงต้องมีการเจรจาตกลงกันใหม่ ซึ่งผลก็คือมีการเชิญบางครอบครัวที่ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎออกไป
ปัญหาอีกประการหนึ่งคือความไม่แน่นอนของธรรมชาติ แม้จะมีการสำรวจหาแหล่งน้ำและนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเพาะปลูกแล้วก็ตาม
แต่บางครั้งก็เกิดความแห้งแล้งขึ้นมาโดยคาดไม่ถึงเหมือนกัน เช่น หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้าซึ่งแต่แรกได้มีการสำรวจพบตาน้ำ
มีการเก็บกักน้ำได้เรียบร้อยแต่เกิดปัญหารถสิบล้อที่วิ่งเข้าหมู่บ้านประจำนั้นทำให้ดินแน่น
เลยไปปิดทางเดินของน้ำ ทำให้ตาน้ำแห้งไม่มีน้ำใช้ในการเพาะปลูก
และปัญหาสำคัญที่สุดที่ทุกคนต้องการจะทราบ คือการจัดการด้านการตลาด
จุดประสงค์สำคัญในการจัดตั้งโครงการนี้เพื่อยกฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น
ให้เกษตรกรของโครงการสามารถยืนด้วยลำแข้งของตนได้ ดังนั้น นอกจากจะมีการสอนด้านการผลิตแล้ว
ยังมีการสอนธุรกิจด้านการตลาดไปด้วย แต่ผลปรากฏออกมาว่าบ้านหนองหว้าซึ่งครบกำหนดเวลาแล้ว
แต่ยังไม่สามารถดำเนินธุรกิจด้านการตลาดเองได้
" มันเป็นการยากที่จะสอนชาวนาที่จบ ป.4 ให้รู้เรื่องการตลาด ระบบราคาเหล่านี้
เพราะตลาดพวกนี้เป็นตลาดของผู้ที่มีเงินทุนมหาศาลและต้องมีอิทธิพลด้วย เกษตรกรเหล่านี้ถ้าคิดแล้วก็เป็นผู้ผลิตรายย่อยเท่านั้น
ไม่มีโอกาสเรียกร้องอะไรได้เลย แต่ก็พยายามสอนพวกเขาให้มากที่สุด แม้ว่าจะหมดโครงการแล้วก็ตาม เราก็ยังต้องเป็นพี่เลี้ยงพวกเขาต่อไป
ซึ่ง พวกเขาก็รู้ปัญหานี้และยินดีจะร่วมงานกับเราต่อไปด้วย" เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งของโครงการเล่าให้
"ผู้จัดการฟัง"
อีกเรื่องหนึ่งที่ยังเป็นที่สงสัยสำหรับหลายท่านที่สนใจเรื่องนี้คือ ตอนนี้โครงการหมู่บ้านหนองหว้าครบกำหนดเวลา
ตามสัญญาจะต้องมีการโอนที่ดินให้แก่เกษตรกร แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีการโอน
สาเหตุของเรื่องนี้มีแหล่งข่าวผู้หนึ่งเล่าว่า "ที่ดินโครงการหนองหว้าอยู่ในเขตหลังแดง
ซึ่งมีกฎหมายห้ามมีการจำหน่ายจ่ายโอน ในเวลา 10 ปี ตอนนี้ แม้จะครบสัญญาแล้ว
ก็ยังไม่สามารถโอนให้แก่เกษตรกรได้ แต่เรามีการวิ่งเต้นกับทางราชการขอให้มีการลดหย่อนให้เราสามารถโอนที่ได้"
"ผู้จัดการ" ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโครงการ หมู่บ้านเกษตรกรรม กำแพงเพชร
ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากบริษัทเจริญโภคภัณฑ์และเกษตรกร หลังการเลี้ยงอาหารกลางวันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ก็ขึ้นรถขนสุกรและพบปะพูดคุยกับชาวบ้านของโครงการ มีชาวบ้านคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเดือนนี้มีเกษตรกรบางคนมีรายได้ถึงหมื่นกว่าบาท
จากการสังเกตทั่วไปแล้วแต่ละครอบครัวดูมีความสุขดี ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส
สภาพความเป็นอยู่นั้น แต่ละครอบครัวจะมีบ้านเป็นของตนเอง ภายในบริเวณพื้นที่
5 ไร่ จะขุดบ่อเลี้ยงปลาสวายและปลูกพืชผักสวนครัว โรงเลี้ยงสุกรสร้างอย่างถูกสุขลักษณะ
สุกรแต่ละตัวมีขนาดใหญ่มาก เพราะได้รับการเลี้ยงอย่างถูกหลักวิชาการและมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าช่วย
ภายในหมู่บ้านจะมีอาคารสำนักงาน สโมสรและร้านขายของสหกรณ์
อย่างไรก็ตาม แม้จะยังมีอีกหลายคนที่ยังมีข้อกังขาสงสัยต่อโครงการเหล่านี้ก็ตาม
แต่ก็นับได้ว่าเป็นโครงการที่ให้ประโยชน์มากสำหรับเกษตรกร เพราะจากคนที่ไม่มีอะไรเลยก็สามารถสร้างหลักฐานได้ภายในระยะเวลาเพียง
10 ปี มีที่ดิน มีบ้าน ลูกหลานได้รับการศึกษา และมีรายได้ที่แน่นอน ดังนั้น
ถ้าหากหน่วยงานทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลจะสนับสนุนให้เผยแพร่ไปยังพื้นที่เกษตรอื่นๆ
ทั่วประเทศ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยซึ่งเป็นกระดูกสันหลังที่ผุๆ
ของชาติเหล่านี้ให้มีโอกาสลืมตาอ้าปากกับเขาได้บ้าง ถึงแม้ว่าจะต้องพบกับอุปสรรคในการทำงานหลายต่อหลายอย่างก็ตาม
แต่ถ้าทุกฝ่ายมีความบริสุทธิ์ใจ ตั้งใจจริงๆ ที่จะทำงานเพื่อเกษตรกรตามหลักการที่ได้ตั้งไว้แล้ว
เชื่อว่าความสำเร็จคงไม่หนีไปไหนแน่
เมื่อถึงเวลานั้น เราคงจะได้พบกับมาดใหม่ที่สดใสของเกษตรกรกัน!