บัญชา ล่ำซำ เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2467 ปัจจุบันจึงมีอายุ 60 ปี บิดาชื่อ
โชติ ล่ำซำ มารดาชื่อ น้อย สกุลเดิม อึ๊งภากรณ์ (เป็นพี่สาวแท้ๆ ของ ดร.ป๋วย
อึ้งภากรณ์) ต้นตระกูลมีเชื้อสายจีนแคระ ซึ่งเข้ามาค้าขายครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์
บัญชาในปฐมวัยเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญและต่อชั้นเตรียมอุดมศึกษาที่โรงเรียนเตรียมอุดม
ปี 2490 ได้ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปี 2493 ได้ปริญญาตรีสาขาเคมี จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา
งานแรกในชีวิตเริ่มขึ้นเมื่อปี 2488 ขณะเรียนอยู่ที่จุฬาฯ โดยเป็นเสมียนนับเงินที่ธนาคารกสิกรไทย
กสิกรไทย ก่อตั้งขึ้นวันที่ 8 มิถุนายน 2488 มี โชติ ล่ำซำ และน้องชายชื่อเกษม
ล่ำซำ เป็นเจ้าของ เริ่มต้นด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท
งานชิ้นแรกของบัญชาจึงพอจะพูดได้เต็มปากว่าเป็นการช่วยงานบิดาและอาโดยแท้
บัญชาเริ่มงานเป็นชิ้นเป็นอันอย่างแท้จริงเมื่อปี 2495 ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต
ซึ่งก็เป็นกิจการอีกแขนงหนึ่งของครอบครัว "ล่ำซำ" อีกเช่นกัน
จากปูมหลังนั้น พอจะมองกันออกว่า ครอบครัวต้องการให้บัญชาดูแลกิจการด้านประกันชีวิตเป็นหลัก
ส่วนกิจการธนาคารให้อยู่ในความดูแลของอา (เกษม ล่ำซำ) หลังโชติ ล่ำซำ เสียชีวิต
บัญชาจึงเกิดขึ้นมาบนกองเงินกองทอง อยากจะเรียนวิทยาศาสตร์ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องค้าๆ
ขายๆ ครอบครัวก็ไม่ขัดข้อง แต่เมื่อจะต้องหันเหวิถีชีวิตมาทำธุรกิจประกันชีวิต
บัญชาก็เร่งรีบเรียนรู้ศาสตร์และศิลปะด้านนี้อย่างหนักจนได้ประกาศนียบัตร
Life Office Management Association New York และอนุปริญญา Life Insurance
Agency Management Association Connecticut
นี่ก็ย่อมแสดงให้เห็นเด่นชัดว่า บัญชานั้นเป็นคนขวนขวายหาความรู้ใส่ตัวเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารงานของตนอย่างเอาจริงเอาจังคนหนึ่ง
เขาอาจจะเหมือนกับลูก "เจ้าสัว" อีกหลายๆ คน ตรงที่เขาพยายามช่วยตัวเขาเองด้วย
และนี่นับเป็นจุดเด่นประการหนึ่งของบัญชา ล่ำซำ
อาจจะเป็นไปได้ที่หากว่าบัญชายังอยู่ในวงการประกันชีวิตสืบไปจนถึงปัจจุบัน
เขาอาจจะถูกเลือกเป็น "ผู้จัดการแห่งปี" ด้านสาขานี้ แต่ก็เป็นเรื่องโชคชะตาจริงๆ
ที่ทำให้บัญชาต้องสละงานด้านประกันชีวิตมากุมบังเหียนกิจการธนาคารของครอบครัว
เหตุทั้งนี้เนื่องจาก เกษม ล่ำซำ ถึงแก่กรรมด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินตกที่ไทเปเมื่อปี
2506
เกษมเข้าควบคุมกิจการธนาคารกสิกรไทยตั้งแต่ปี 2491 หลังพี่ชายของเขา คือ
โชติ ล่ำซำ ถึงแก่กรรม หรือ 3 ปี ภายหลังจากร่วมกันก่อตั้งธนาคารแห่งนี้ขึ้นมา
เกษม ถูกกำหนดตัวให้เป็นผู้ควบคุมกสิกรไทยมาตั้งแต่ต้น ดังนั้นครอบครัว
"ล่ำซำ" จึงส่งเขาไปเรียนและฝึกงานด้านการธนาคารที่ประเทศอังกฤษ
และเกษมก็สามารถใช้ความรู้ความสามารถในการบริหารได้ยอดเยี่ยมไม่เป็นที่ผิดหวังของครอบครัวแม้แต่น้อย
เกษมบริหารงานมาได้ 15 ปีเต็ม ก่อนที่จะพบจุดจบร่วมกับผู้โดยสารนับร้อยชีวิตบนเครื่องบินของสายการบินอะลิตาเลีย
ขณะเข้ารับตำแห่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกสิกรไทยในปี 2506 แทนอาเกษมนั้น
บัญชามีอายุ 38 ปี มันเป็นหน้าที่ที่ยุ่งยากใจไม่น้อย เพราะเขาไม่มีประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับงานของธนาคารมาก่อน
อีกทั้งเป็นการเข้ามาอย่างฉุกละหุกไม่ได้มีโอกาสเตรียมเนื้อเตรียมตัวแต่อย่างใด
แต่สำหรับคนหนุ่มที่รักการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ธนาคารของครอบครัว ซึ่งมีสาขาเพียง
36 สาขา จัดอยู่ในอันดับ 9 ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย และพนักงานส่วนใหญ่มีพื้นความรู้ระดับกลาง
คนจบปริญญาตรีขึ้นไปมีน้อยมาก ส่วนชื่อเสียงก็ไม่ได้เด่นดังนักหนา มันก็ออกจะเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถเป็นอย่างยิ่ง
ครั้นแล้ว บัญชา ล่ำซำก็เริ่มต้นในสิ่งที่ผู้บริหารในยุคนั้นไม่ค่อยจะคิดถึงกันกับธนาคารกสิกรไทย
คือ การพัฒนา "ทรัพยากรคน" อย่างจริงจังต่อเนื่อง
อาจจะเป็นเพราะบัญชามีประสบการณ์ตรงกับตัวเองว่าเมื่อเขาเริ่มเข้าไปสู่ธุรกิจประกันชีวิตนั้น
เขาเริ่มต้นแบบคนตาบอดเนื่องจากไม่ตรงกับสาขาวิชาที่ร่ำเรียนมา แต่เขาก็สามารถเข้าใจมันมากขึ้นเมื่อเริ่มพัฒนาตัวเองด้วยการเรียนรู้และฝึกฝน
การมองเห็นคุณค่าแห่งการพัฒนาคนจึงซึมซาบอยู่ในสายเลือดตั้งแต่ครั้งนั้นก็เป็นไปได้
กล่าวได้ว่า ตลอด 2 ทศวรรษของการกุมบังเหียนธนาคารกสิกรไทย บัญชา ล่ำซำ
ได้สร้างเครื่องมือขึ้นหลายอย่างในการพัฒนาคนขึ้นมา
อย่างเช่นระบบการสรรหาพนักงาน บัญชาจะเน้นเรื่องระบบคุณธรรม (MERIT SYSTEM)
อย่างเข้มงวดกวดขัน
เขาประกาศเป็นนโยบายอย่างชัดเจนว่า " ตราบใดที่ผมยังอยู่ที่นี่ ห้ามนำระบบการเล่นพรรคเล่นพวกมาใช้เด็ดขาด..."
และเป็นการสรรหาโดยบุกไปเปิดรับและสัมภาษณ์ถึงสถาบันศึกษาโดยตรง ซึ่งข้อนี้ทำให้กสิกรไทยสามารถคว้าคนระดับหัวกะทิมาไว้เป็นฐานของตน
ต่อมาในเรื่องการให้ทุนการศึกษา การส่งไปดูงานและการฝึกอบรม
การให้ทุนการศึกษาแก่พนักงานที่จบปริญญาตรีเพื่อไปต่อปริญญาโทยังต่างประเทศนั้น
บัญชาเริ่มใช้เมื่อปี 2509 เป็นปีแรก ซึ่งรุ่นแรกที่ได้ทุนก็คือ สงบ พรรณรักษา
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ คนปัจจุบัน และเทพ
รุ่งธนาภิรมย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสของกสิกรไทยในขณะนี้
ซึ่งถึงบัดนี้กสิกรไทยยังประกาศให้ทุนอย่างไม่จำกัดสำหรับพนักงานที่สามารถสอบเข้าเรียนต่อหลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจทั้งสถาบันในประเทศไทยและสถาบันมีชื่อในต่างประเทศ
อีกด้านหนึ่งของการพัฒนาพนักงาน ก็เห็นจะได้แก่รูปแบบการตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานขึ้นมาเพื่อทำงานชิ้นหนึ่งๆ
ร่วมกัน
คณะกรรมการหรือคณะทำงานนี้จะประกอบด้วยคนที่มีประสบการณ์สูงหรือผู้ใหญ่ผสมผสานไปกับพนักงานรุ่นหนุ่มรุ่นสาวที่มีแววว่าจะก้าวหน้าต่อไปในอนาคต
จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างคลื่นลูกเก่ากับคลื่นลูกใหม่นั่นเอง
นอกจากนี้ระบบการแต่งตั้งและให้ความดีความชอบโดยยึดถือผลงานยิ่งกว่าความ
อาวุโส และการสร้างวินัยให้เกิดขึ้นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวนั้น ก็เป็นอีก 2
เครื่องมือที่บัญชาได้สร้างขึ้นมาเพื่อพัฒนาคนของกสิกรไทย
"โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างวินัยต้องถือว่าคุณบัญชาเก่งมาก กสิกรไทยอาจจะเป็นองค์กรที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปรายได้สูงมาก
เมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรอื่นๆ แต่คนของเขาก็ดูจะภักดีอย่างมากๆ ส่วนใหญ่จะทำงานกันด้วยความซื่อสัตย์
เอาการเอางานและสมถะจริงๆ ..." แบงเกอร์ด้วยกันแสดงความคิดเห็น
แน่นอนว่าในการพัฒนาคนตั้งแต่ฐานของพีระมิดขึ้นไปจนถึงระดับบนๆ นั้น ผู้ที่อยู่ยอดสุดจะต้องวางตัวเป็นแบบอย่างด้วย
เพราะมิฉะนั้นผลของการพัฒนาก็คงไม่อาจจะสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่วางไว้เด็ดขาด
ประการนี้ก็คงจะต้องยอมรับกันว่า บัญชา ล่ำซำมีอยู่ค่อนข้างเพียบพร้อม
บัญชามีบุคลิกของผู้นำที่เข้มแข็ง คนในกสิกรไทยทั้งรักและเกรงและกลัว
เขาเป็นคนเอาจริงกับงานและเป็น TYCOON ที่มีภาพลักษณ์สะอาดในสังคม
เขาเต็มเปี่ยมในเรื่องความเที่ยงธรรมด้านการให้คุณให้โทษแก่พนักงาน
เขาสร้างระเบียบแบบแผนที่ดีและเหมาะสมในการบริหารงาน
เขาจัดให้มีกิจกรรมสัมพันธ์ระหว่างพนักงานเพื่อสร้างความกลมเกลียว และไม่ละเลยโอกาสเข้าร่วม
จัดสวัสดิการให้พนักงานพอใจและให้ความสนใจเอาใจใส่พนักงานอย่างจริงจัง
จุดเด่นอีกประการหนึ่ง นอกเหนือจากความพยายามทุ่มเทในเรื่องการพัฒนาคนและคุณสมบัติของผู้จัดการที่ดีที่บัญชามีอยู่ในตัวแล้ว
ก็เห็นจะได้แก่การกำหนดจุดยืนและนโยบายที่เด่นชัดนับแต่เขาเริ่มเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี
2506
จุดเด่นประการนี้ พอจะแยกแยะให้เห็นได้เป็น 3 ด้านที่สำคัญคือ
ด้านแรก บัญชาได้วางนโยบายไว้อย่างแน่นอนว่า กสิกรไทยนั้นหากจะเติบโตยิ่งใหญ่ได้ในอนาคตก็จะต้องทำการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะสาขารอบนอกตามต่างจังหวัดเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว นโยบายเช่นนี้
นอกจากกสิกรไทยก็คงมีธนาคารกรุงเทพเท่านั้น
บัญชาเมื่อแรกเข้ารับตำแหน่งธนาคารกสิกรไทยมีสาขาอยู่ 36 สาขา แต่บัดนี้ได้พัฒนาขึ้นมาเป็น
249 สาขาทั่วราชอาณาจักร
ด้วยนโยบายที่บัญชาได้วางไว้เช่นนี้เอง ที่ทำให้กสิกรไทยก้าวจากอันดับ 9
ขึ้นมายืนอยู่ในอันดับ 2 ได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว
ส่วนด้านการบุกเบิกเปิดสาขาในต่างประเทศเพื่อให้กสิกรไทยมีฐานในโลกกว้าง ก็เป็นนโยบายที่ทำกันมาต่อเนื่อง
ซึ่งขณะนี้กสิกรไทยมีสาขาในต่างประเทศทั้งหมด 3 สาขา และ 3 สำนักงานตัวแทน
ด้านที่สอง ในเรื่องนโยบายการให้บริการ กสิกรไทยภายใต้การนำของบัญชา ล่ำซำ
เน้นว่า ธนาคารของตนจะต้องไม่มีระบบใต้โต๊ะหรือเงินปากถุง และจะต้องเป็นผู้นำในด้านการให้บริการใหม่ๆ แก่ลูกค้า
และด้านที่สาม เกี่ยวกับนโยบายการบริหาร บัญชาตั้งความหวังอย่างยิ่งที่จะให้กสิกรไทยมีความเป็นเลิศด้านบริหาร
อันหมายถึงการให้บริการที่ดีแก่ลูกค้า เป็นกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
ผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ายิ่งเสียกว่าที่จะไปหลงดีใจกับอัตราการเจริญเติบโตอย่างพรวดพราดของธนาคาร
จะเห็นได้ว่านโยบายทั้ง 3 ด้านที่บัญชาประกาศเป็นจุดยืนของกสิกรไทยนี้ จะต้องลงทุนลงแรงและระดมความคิดกันอย่างใหญ่หลวง
และผลก็คงจะไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด
หากแต่เป็นการวางรากฐานวันนี้เพื่อไปรอเก็บเกี่ยวผลในอีกเป็นสิบปีข้างหน้า
ซึ่งถ้าเป็นบางคนที่พบว่า วันหนึ่งธนาคารของรัฐอย่างกรุงไทยจู่ๆ ก็แซงขึ้นหน้าไปเป็นอันดับสองแทน
ทั้งที่เริ่มมา เป็นรุ่นหลังก็คงจะต้องคิดทบทวนสิ่งที่ตัวเองตั้งไว้เป็นนโยบายบ้างก็ได้
ความอดกลั้นและความเชื่อมั่นของบัญชาจึงจะต้องมีอยู่อย่างมากๆ
และความอดกลั้น, ความเชื่อมั่นก็ได้รับการพิสูจน์ไปแล้วในรอบปี 2527 ว่าสิ่งที่บัญชาคิดและทำที่ผ่านๆมานั้น...ถูกต้องแล้ว
เหมือนกับที่กล่าวกันว่า "วีรชนกำเนิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์วิกฤต"
ปี 2527 เป็นปีที่ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต้องพกยาระงับประสาทกันคนละหลายๆ
ขวด
เริ่มตั้งแต่บริษัทการเงินล้ม ประเทศไทยขาดดุลชำระเงินอย่างหนักหน่วง และมีการกำหนดมิให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นเกิน
16 เปอร์เซ็นต์ และก็อีกหลายๆ ปัญหาที่ประดังเข้ามาราวกับนัดหมาย
เป็นครั้งแรกที่ธนาคารใหญ่ที่สุดอย่างธนาคารกรุงเทพเจอข่าวลือว่าจะล่มซึ่งกว่าจะประคองตัวรอดพ้นสถานการณ์มาได้ก็อยู่ในสภาพที่บอบช้ำอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้
ท่ามกลางกระแสสับสนเหล่านี้ กสิกรไทยดูจะเป็นสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียวที่นอกจากจะไม่แสดงอาการว่ากระทบกระเทือนแล้ว
ก็ยังมีกิจกรรมในเชิงรุกสถานการณ์อีกด้วย
- กสิกรไทยประกาศติดตั้งระบบสื่อสารคอมพิวเตอร์ระบบมหึมาเพื่อทำ "ออนไลน์"
ฝากถอนต่างสาขาและติดตั้งเครื่องเอทีเอ็ม
- เปิดบริการบัตรฝากเงินชนิดโอนได้หรือที่เรียกกันว่า ทีซีดี
- ปรับปรุงบัตรวีซ่าให้สามารถถอนเงินสดได้ทั่วโลกภายใน 10 นาที
- เปิดให้บริการโครงการ "สินเพิ่มสุข" และ "เชิดชูชีพ"
สำหรับประชาชนทั่วไป เพื่อสนับสนุนความสุขความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต
- ให้บริการสินเชื่อสำหรับแท็กซี่
- ปรับปรุงบริการถอนเงินสดอัตโนมัติ ใช้ชื่อใหม่เป็น "บริการจ่ายเงิน
24 ชั่วโมง"
- ส่งเสริมการทำประมงบนฝั่งทุกประเภท
- ตั้งศูนย์ไมโครคอมพิวเตอร์สำหรับให้บริการฟรีแก่ผู้สนใจใฝ่รู้
เมื่อปี 2506 ปีแรกที่บัญชาเข้ารับตำแหน่งในกสิกรไทยนั้น ธนาคารแห่งนี้มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น
757 ล้านบาท มีเงินฝาก 506 ล้านบาท และปล่อยเงินกู้ยืมออกไป 469 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ
8 เปอร์เซ็นต์ของระบบธนาคารพณิชย์ทั้งระบบ
แต่ ณ สิ้นสุดเดือนกันยายน 2527 กสิกรไทยมีสินทรัพย์ 93,158.8 ล้านบาท เงินฝาก
74,821.8 ล้านบาท และปล่อยเงินกู้ยืม 70,350 ล้านบาท คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ออกมาจะเท่ากับร้อยละ
14.8,14.4 และ 14.0 ตามลำดับ
ซึ่งเป็นการก้าวขึ้นมายืนในอันดับ 2 รองจากธนาคารกรุงเทพ ไม่ว่าจะพิจารณาจากสินทรัพย์
ยอดเงินฝากหรือยอดเงินให้กู้ยืมก็ตาม
คงต้องนับเป็นความสำเร็จที่กสิกรไทยสามารถแย่งตำแหน่งเบอร์ 2 นี้มาได้จากธนาคารกรุงไทย
หลังจากต้องขับเคี่ยวกันอยู่หลายปี
แต่นั่นก็จะยังไม่น่ายินดีเท่ากับท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตในรอบปี 2527
นี้ ธนาคารกสิกรไทยกลับเป็นธนาคารที่มีภาพลักษณ์ดีที่สุดในสายตาประชาชน ซึ่งพอจะวัดกันได้จากการขายหุ้นที่ได้รับความสนใจอย่างสูง
สามารถขายหุ้นได้หมดในเวลาอันรวดเร็ว และดำเนินการกระจายหุ้นไปสู่ประชาชนได้สำเร็จเป็นไปตามพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์
แน่นอนทีเดียวที่ความสำเร็จทั้งหลายเหล่านี้เกิดจากองค์ประกอบหลายๆ ส่วนที่
บัญชา ล่ำซำ และพนักงานของกสิกรไทยร่วมกันสร้างขึ้นมา
และสิ่งหนึ่งที่ "ผู้จัดการ" มองเห็นก็คือ กระบวนการพัฒนาจากระบบธนาคารของครอบครัวมาเป็นธนาคารที่มีมหาชนเป็นเจ้าของ
และบริหารโดยนักการธนาคารมืออาชีพ
"ผู้จัดการ" เชื่อว่า ความเป็นเลิศของธนาคารกรุงเทพนั้น ประการหนึ่งจะต้องสลัดให้หลุดพ้นไปจากการตั้งข้อสังเกตของประชาชนว่า
ธนาคารนี้เป็นของตระกูลโสภณพนิช เช่นเดียวกับที่ธนาคารเอเชียจะต้องหลุดพ้นจากคำว่า
"ธนาคารของเอื้อชูเกียรติ" หรือธนาคารศรีนครของ "เตชะไพบูลย์"
ความเป็น "ล่ำซำ" ในธนาคารกสิกรไทยก็เช่นเดียวกัน
ซึ่งสิ่งนี้ "ผู้จัดการ" ยกย่องอย่างมากๆ สำหรับกสิกรไทยนั้น
บัญชา ล่ำซำได้มีความพยายามที่จะแยกความเป็น "เจ้าของ" ออกจากการเป็น
"ผู้จัดการมืออาชีพ" ของเขา
บัญชามีความกล้าหาญและใจกว้างพอที่จะกระจายหุ้นของกสิกรไทยออกไปสู่มือประชาชนหรือกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่
"ล่ำซำ"
ในขณะที่ "เจ้าของ" ธนาคารบางแห่งไม่กล้าแม้แต่จะคิด
และความใจกว้างเช่นนี้เองที่สร้างภาพลักษณ์ใหม่ในสายตาประชาชนให้กับกสิกรไทย
อย่างไรก็ตาม กสิกรไทยในวันนี้ก็ใช่จะลบภาพความเป็น "ล่ำซำ"
ไปได้หมดสิ้นอย่างแท้จริง
หลายอย่างยังต้องการความใจกว้างและมองการณ์ไกลของบัญชา
โดยเฉพาะเมื่อหมดยุคของบัญชาและบรรยงค์ ล่ำซำ ซึ่งนั่นจะเป็นขั้วต่อในการพิสูจน์คุณค่าในฐานะ
"ผู้จัดการประจำปี 2527" ของบัญชา ล่ำซำ