Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2527








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2527
วิโรจน์ ภู่ตระกูล ผู้จัดการแห่งปี             
 


   
www resources

โฮมเพจ ยูนิลีเวอร์

   
search resources

ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง, บจก.
ลีเวอร์บราเธอร์
วิโรจน์ ภู่ตระกูล
Pharmaceuticals & Cosmetics




ความจริงถ้าจะวัดกันว่า วิโรจน์ ภู่ตระกูล เป็น "ผู้จัดการ" ที่เก่งหรือไม่ก็ต้องบอกว่า เก่ง !

เพราะถ้าไม่เก่งก็คงจะไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคนไทยคนแรกที่เป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัทลีเวอร์บราเดอร์ส ในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทข้ามชาติที่มีขนาดใหญ่เอาการบริษัทหนึ่ง

แต่ถ้าว่ากันไปแล้ว ก็ต้องให้เครดิตบริษัทยูนิลีเวอร์ ที่มีนโยบายส่งเสริมให้คนแต่ละชาตินั้น ได้ขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงที่สุดเท่าที่ความสามารถเขาจะมีได้

ถ้าจะวัดกันว่า วิโรจน์ ภู่ตระกูล เป็น "ผู้จัดการ" แห่งปีได้อย่างไร ก็เห็นจะต้องพิจารณาดูอะไรหลายๆ อย่างประกอบกัน

วิโรจน์เป็นผู้จัดการ เพราะความสามารถ

การเป็นผู้จัดการมืออาชีพจริงๆ นั้น จะสังเกตได้อย่างว่า ส่วนใหญ่แล้วคนที่ประสบความสำเร็จในการเป็น PROFESSIONAL MANAGER มักจะเป็นคนที่ไม่ได้มีชาติตระกูลเก่าแก่หรือมีครอบครัวที่เป็นเจ้าของกิจการ

จากการที่วิโรจน์ ภู่ตระกูลได้พิสูจน์ความเป็นมืออาชีพในบริษัทข้ามชาติ และได้ขึ้นมาสู่ตำแหน่งประธานกรรมการในปัจจุบันนั้นแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า วิโรจน์ ภู่ตระกูลได้ตำแหน่งนี้มาด้วยฝีมือ หรือที่เรียกกันว่า "HE EARNS IT"หาใช่เพราะโชคช่วยหรือระบบ "เตี่ยอุปถัมป์"ไม่

วิโรจน์ ภู่ตระกูลเป็นคนลำปาง มีเชื้อสายไหหลำ บิดาเป็นเจ้าของโรงเลื่อย เกิดเมื่อ พ.ศ. 2478

เมื่อเด็กๆ ย้ายไปหลายจังหวัด เพราะอยู่ในช่วงสงคราม แต่มาลงเอยตรงจบมัธยม 6 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ในสมัยที่บราเดอร์เทโอฟาน เป็นอธิการบดีอยู่

คงจะเป็นเพราะเมื่อเด็กๆ ค่อนข้างจะเฮี้ยวเอาการอยู่ หลังจากจบมัธยม 6 แล้ว วิโรจน์จึงไปเรียนต่อที่อังกฤษในปี พ.ศ. 2496

ใช้เวลา 3-4 ปี สอบGCE ได้ แล้วก็เริ่มเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ (SHEFFIELD) ในสาขาเศรษศาสตร์ โดยใช้เวลาเรียน 3 ปี

พอจบปริญญาตรีใน พ.ศ. 2502 วิโรจน์ก็กลับมาบ้านทันที

ทางบ้านซึ่งฐานะดีก็อยากให้รับราชการ แต่สำหรับเด็กหนุ่มในวัยเพียง 24 ปี ขณะนั้นคิดว่าภาคเอกชนน่าจะดีกว่า อาจจะเป็นเพราะวิโรจน์ในขณะนั้นกำลังมีความรัก และอยากจะแต่งงาน ก็เลยคิดว่ารับราชการจะไม่พอกิน

วิโรจน์เข้าไปทำงานบริษัทลีเวอร์ในปี 2502 เป็น MANAGEMENT TRAINEEหลังจากจบจากอังกฤษโดยสมัครงามตามประกาศแจ้งความในหน้าหนังสือพิมพ์ ในช่วงนั้นคนรับวิโรจน์คือ เสนาะ นิลกำแหง ซึ่งเป็นกรรมการ และเลขาของ BOARD ลีเวอร์ ปัจจุบันเสนาะ นิลกำแหง เป็นกรรมการบริษัทเครือซิเมนต์ไทย จำกัด

หลังจากที่ต้องผ่านขั้นตอนของการเป็นเซลส์และการตลาด เป็นหนูทดลองในระบบของลีเวอร์เป็นเวลา 2 ปีแล้ว วิโรจน์ก็ได้เป็นผู้จัดการฝ่ายขายในเขตกรุงเทพฯ

ต่อมาในปี 2509 ก็ได้เป็นผู้จัดการฝ่ายขายทั่วไปแทนฝรั่งชื่อ TED DAVIS และต่อมาก็เป็นผู้จัดการการตลาดของสินค้าสบู่และผงซักฟอก

ในช่วงอายุประมาณ 35-36 วิโรจน์ถูกเชิญเข้าเป็นกรรมการของ BOARD และเป็นผู้อำนวยการฝ่ายขายในสมัยที่ JARLOV เป็นประธานบริษัท

ในปี 2517 อีกสามปีต่อมา หลังจากที่ได้เข้าเป็นกรรมการ วิโรจน์ก็ถูกเลื่อนตำแหน่งเป็นรองประธานดูแลการขายฝ่ายกฎหมายและ CORPORATE AFFATRS

เรียกได้ว่าเป็นการเตรียมเนื้อเตรียมตัวกระโดดขึ้นไปเป็นประธานบริษัทนั่นแหละ!

เป็นรองประธานได้ 2 ปี ก็ถูกเรียกไปยังสำนักงานใหญ่ในอังกฤษ ให้ทำหน้าที่ OPERATIONS OFFICER ดูแลงานของเครือ UNI-LEVER ใน 10 ประเทศซึ่งมี นิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย, บังกลาเทศ, อินเดีย, ปากีสถาน, โรดีเซีย, มาลาวี, โคลอมเบีย และเวเนซุเอลา

จากการที่ได้เห็นงานใน 10 ประเทศนี้เป็นเวลาถึง 4 ปี วิโรจน์สรุปได้ว่า "เป็นโชคและประสบการณ์อย่างมากๆ ที่ผมได้รับ เพราะผมได้มีโอกาสเห็นการประสบความสำเร็จในการทำงานที่เป็นแนวทางให้ผม และเมื่อมันเกิดขึ้นกับผมทีหลังก็ทำให้ผมรู้สึกเฉยๆ ไม่หลงระเริงไปกับมัน และผมได้เห็นความล้มเหลว ซึ่งถ้าเกิดขึ้นกับผมอีก ผมก็คงจะเตรียมตัวเตรียมใจรับกับมันได้ โดยไม่แตกตื่นหรือตกอกตกใจกับมันมากนัก และผมติดใจที่ได้เห็นประธานบริษัท 10 คนใน 10 ประเทศ ทำงานกัน ได้เห็นปัญหาการบริหารทั่วไป ได้เห็นปัญหาการตลาด ปัญหาการขาย ฯลฯ"

และ 4 ปีช่วงนั้นคือ โรงเรียนการบริหารที่วิโรจน์ ภู่ตระกูลได้เรียนจากของจริง

ในที่สุดในปี 2522 วิโรจน์ ภู่ตระกูลก็ได้เป็นคนไทยคนแรกที่เป็นประธานกรรมการของบริษัทลีเวอร์ บราเดอร์ส (ประเทศไทย)

จะเห็นได้ว่าเส้นทางเดินของวิโรจน์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 ถึง 2522 หรือ 20 ปี นั้นเป็นเส้นทางที่วิโรจน์ต้องผ่านขวากหนามอุปสรรค ตลอดจนต้องพัฒนาตัวเองมาสู่จุดที่ตัวเองเป็นทุกวันนี้

และทุกตำแหน่งที่ต้องสู้มานั้น ก็มีคู่แข่งกันมาตลอดในการแข่งขันกันโดยไม่มีใครมาอุปถัมภ์ค้ำชู

และเราจะเห็นได้ว่าจากการที่บริษัทลีเวอร์ฯ มีปมเด่นอยู่ที่เป็นบริษัทที่เน้นการตลาดและการขาย ฉะนั้นสนามรบที่วิโรจน์ผ่านมาก็เป็นเรื่องของตลาดการขาย

คนที่รู้จักวิโรจน์ดีพูดว่า "คนนี้อย่านึกว่าเป็นประธานบริษัทลีเวอร์ มีเงินเดือนเป็นแสนๆ นั่งรถจากัวร์มีคนขับแล้ว เขาเท้าไม่ติดดิน วิโรจน์เป็นคนที่ลูกทุ่งที่สุด และลุกทุ่งจนนึกไม่ออกว่าเขาเป็นแชร์แมนของลีเวอร์สได้อย่างไร"

ถึงแม้องค์กรที่วิโรจน์ทำอยู่จะเป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมของอังกฤษอย่างสูง แต่พฤติกรรมของผู้จัดการที่สามารถจะประสานวัฒนธรรมองค์กรให้เข้ากับวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม และคนท้องถิ่นนั้นคือความสำเร็จขององค์กร

และที่จริงก็คือความสามารถของวิโรจน์ ภู่ตระกูล นั่นเอง!

"ในความหมายของผู้จัดการแห่งปี"

ถ้าจะให้วิโรจน์ ภู่ตระกูล ได้เป็น “ผู้จัดการแห่งปี" เพียงเพราะเขาสามารถ และได้ถูกเลื่อนขึ้นมาเป็นประธานกรรมการนั้น ก็อาจจะมีผู้จัดการแห่งปีแบบวิโรจน์อีกไม่น้อย แต่ในความหมายของ "ผู้จัดการแห่งปี" นั้น ยังมีสิ่งอื่นที่เราใช้เป็นบรรทัดฐานในการวัดคนคน นี้ด้วย

แน่นอนที่สุดบรรทัดฐานแรกที่หลายๆ คนมักจะมองอยู่ตลอดเวลาคือความเจริญเติบโตขององค์กรที่คนคนนั้นเป็นผู้จัดการ ว่าเจริญเติบโตแค่ไหน อย่างไร?

แต่บางครั้งการที่องค์กรนั้นไม่ได้เจริญเติบโต ก็ไม่ได้หมายความว่า "ผู้จัดการ" คนนั้นจะไร้ความหมาย เพราะมีองค์กรอยู่หลายแห่งที่พร้อมจะหยุดความเจริญเติบโต เพราะตนเองต้องการจะปรับปรุงคุณภาพขององค์กรและจัดโครงสร้างเสียใหม่

เพียงแค่คิดทำเช่นนั้น ก็น่าจะได้คะแนนแล้ว!

สำหรับวิโรจน์ ภู่ตระกูลนั้น นอกจากการทำความเติบโตให้กับองค์กรในรูปแบบของยอดขายที่ขยายจาก 1,303 ล้านบาท ใน พ.ศ. 2522 มาเป็นประมาณ 2,800 ล้านบาท ในปี 2527 โดยมีอัตราเฉลี่ยการเติบโตปีละประมาณ 23% แล้ว

ปัจจุบันลีเวอร์ กุมตลาดผงซักฟอกอยู่ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ ตลาดสบู่กว่า 50 % และสินค้าประเภท PERSONAL PRODUCTS เช่น แชมพู ฯลฯ ลีเวอร์เป็นผู้ผลิตขายมากที่สุด

สิ่งหนึ่งที่เรามอบตำแหน่ง "ผู้จัดการแห่งปี" ให้แก่วิโรจน์ ด้วยความเต็มใจ คือ ความสามารถของวิโรจน์ที่

เป็นคนมองการณ์ไกล

ผู้จัดการที่แท้จริงควรจะเป็นคนที่มองอะไรไกลกว่าข้างหน้าตัวเองไปให้มากๆ และวิโรจน์ก็เป็นเช่นนั้น

สิ่งแรกทีเขาเริ่มทำคือ การปรับปรุงระบบการผลิตสินค้าให้มีประสิทธิภาพเพื่อทำให้เป็นผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำที่สุด (LOW COST PRODUCERS)

วิโรจน์คิดว่าผู้ผลิตสินค้าไม่ควรเอาความไม่มีประสิทธิภาพของตัวเองไปเป็นต้นทุนแล้วตั้งราคาให้ผู้บริโภคต้องรับภาระไป

ลีเวอร์ในยุควิโรจน์จึงเน้น

- เทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัยที่สุด

- การวางแบบโรงงานที่มีคุณภาพมากที่สุด และ

- การสร้างคุณภาพให้อยู่ใต้จิตสำนึกของพนักงานทุกคน

จากการที่ต้องเป็น LOW COST PRODUCERS วิโรจน์ตัดสินใจรวมโรงงานทั้งหมด ให้อยู่บนเนื้อที่ร้อยกว่าไร่ที่อำเภอมีนบุรี ในราคาเกือบๆ พันห้าร้อยล้านบาท โดยมีโรงงานที่เริ่มดำเนินงานแล้ว เช่น :-

1. โรงงานผลิตสบู่แบบครบวงจร

2. โรงงานผลิตปัจจัยการผลิตเชื้อผงซักฟอก

3. โรงงานผลิตวัตถุดิบในการทำยาสีฟัน ยาสระผม และการทำเภสัชกรรม

4. โรงงานผลิตหลอดยาสีฟัน (นี่ก็เป็นตัวอย่างของการมองการณ์ไกลที่วิโรจน์คิดพัฒนาการทำหลอดยาสีฟันแบบ LAMINATED ซึ่งคิดและวางแผนเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว และในที่สุดก็ออกมาเป็นเป๊ปโซเด้นท์ ซึ่งผลของการพัฒนาหีบห่อรูปร่างทำให้เป๊ปโซเด้นท์ได้ก้าวเข้ามาในวงการยาสีฟันอย่างที่เจ้าเก่าต้องมองด้วยความเป็นห่วง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะขั้นตอนการผลิตแบบ LAMINATED อยู่ในมือ LEVER แต่ผู้เดียว)

5. โรงงานการผลิตเนยขาวและเหลือง (INDUSTRIAL FAT)

6. โรงงานน้ำมันพืช ซึ่งในปีหน้าจะเริ่มดำเนินการได้แล้ว

จะเห็นได้ว่าในการที่จะสร้างโรงงานทั้งหมดให้อยู่ในที่เดียวกัน และต้องใช้เงินทุนพันกว่าล้านบาทนั้น มันเป็นการทำงานที่ต้องใช้การมองการณ์ไกล และการพิจารณาสิ่งแวดล้อมในสังคม และในที่สุดทำให้วิโรจน์ตัดสินใจดำเนินการไป

และการกระทำเช่นนั้นได้จริงๆ คือการต้องขายความคิดของตัวเองให้บริษัทแม่ยอมรับ ซึ่งนั่นหมายถึงต้องเป็นโครงการที่มีเหตุผลด้วยแผนงานที่รอบคอบ รัดกุมประสานกับความสามารถส่วนตัวของผู้จัดการด้วย

นอกจากนั้นแล้ว เมื่อมองไปที่ประสิทธิภาพในการลดต้นทุนการผลิต LEVER ภายใต้การนำของวิโรจน์สามารถลดจำนวนคนทำงานลงจากประมาณ 2 พันกว่าคนในปีแรกที่วิโรจน์มาเป็นประธาน ลงเหลือเพียง 1,350 คนในปี 2527 หรือลดลงเกือบ 50 % นี่ย่อมแสดงให้เห็นประสิทธิภาพของ LOW COST PRODUCERS ได้ชัด ว่าในขณะที่ยอดขายในปี 2522 มีเพียง 3,303 ล้านบาท LEVER ใช้คน 2 พันกว่าคน แต่มาในปี 2527 ในขณะที่ยอดขายเพิ่มขึ้นกว่าปี 2522 ถึง 100 กว่า% เป็น 2,800 ล้านบาท แต่จำนวนคนที่ใช้กลับเหลือเพียง 1,350 คนเท่านั้นเอง

และการลดคนในจำนวนขนาดนั้น เป็นการลดอย่างสันติที่สุดที่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างพอใจด้วยกัน

ในบรรดาผู้ผลิตในอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน มีสหพัฒนพิบูลอีกเจ้าหนึ่งที่ได้ย้ายตัวเองไปตั้งสวนอุตสาหกรรมที่ศรีราชาลักษณะเดียวกับ LEVER จะมีก็เพียงคอลเกตปาล์มโอลีฟเท่านั้นที่ออกเดินช้ากว่าทุกคน

และก็เผอิญคอลเกตเกิดเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมประเภทนี้บริษัทเดียวที่ใช้ฝรั่งเป็นผู้บริหาร

ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจของคนไทยเชียวละ!

ความรับผิดชอบต่อสังคมในรูปการสร้างสรรค์โดยใช้ธุรกิจเป็นสื่อ

บริษัทห้างร้านทุกวันนี้ ถ้าได้บริจาคการกุศลหรือแจกทุนการศึกษาก็มักจะอ้างว่าตัวเองรับผิดชอบต่อสังคม

ทั้งๆ ที่สิ่งที่ตัวเองทำคือปรัชญาของ "การให้ปลาคนกิน" แทนที่จะ "สอนคนให้รู้จักตกปลา"

วิโรจน์ ภู่ตระกูลได้ทำสิ่งหนึ่งลงไปที่ธุรกิจใหญ่ๆ หลายแห่งน่าที่จะทำตามดู นั่นคือการที่วิโรจน์เป็นหนึ่งในทีมงานที่สามารถจะชักชวนให้บริษัทแม่ยอมเปลี่ยนใจหันมาทำกิจการสวนปาล์ม

การทำเช่นนั้นนอกจากเป็นการนำธุรกิจสวนปาล์มมารู้จักกับการบริหารงานที่ทันสมัยแล้ว ยังเป็นการทำให้เกิดการสร้างงานและรายได้ในย่านที่เรียกว่าดงผู้ก่อการร้าย

จริงอยู่ในที่สุดแล้วลีเวอร์ก็คงจะได้ประโยชน์จากการทำสวนปาล์ม

ถ้าลีเวอร์จะเอาแต่ประโยชน์ คงไม่ต้องลงทุนลงแรงเข้าไปบุกเบิกงานที่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ลีเวอร์ก็คงจะทำประโยชน์ได้จากธุรกิจแขนงอื่นอีกมาก

แต่การที่ทำเช่นนี้ก็ส่อให้เห็นถึงการที่วิโรจน์ ภู่ตระกูลรู้จักใช้ธุรกิจเป็นสื่อสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรและในขณะเดียวกันก็รับผิดชอบในการสรรค์สร้างสังคมด้วย โดย "สอนคนให้รู้จักตกปลา"

และในที่สุดลีเวอร์ก็เป็นผู้ผลิตสบู่เจ้าแรกที่เอาน้ำมันปาล์มมาทำแทนไขมันวัว

เป็น "ผู้จัดการ" ที่เปลี่ยนบทบาทตามสถานการณ์

เคยมีคนถามวิโรจน์ว่า เขาเป็นผู้จัดการประเภทไหน?

วิโรจน์ตอบว่า เขาสามารถจะเป็นผู้จัดการที่ให้ทีมงานได้ร่วมกันออกความคิดเห็นและรับผิดชอบอย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันวิโรจน์จะเป็นเผด็จการทันทีที่มีเรื่องคุณภาพของสินค้า และความปลอดภัยต่อผู้บริโภคเข้ามาเกี่ยวข้อง

วิโรจน์คิดว่าตัวเองเป็นผู้จัดการลักษณะ "WALKABOUT"

"ผมจะเดินคุยกับบรรดาผู้จัดการตามห้องทำงานทั้งหลายอยู่เสมอ แล้วผมพยายามจะ INITIATY ความคิดให้เขา บางครั้งเขาไม่เห็นด้วย เขาก็จะโต้แย้งออกมาถ้าเหตุผลเขาดี ผมก็จะยอมรับและเมื่อเรามาสู่โต๊ะประชุม เราก็จะไม่มีการโต้เถียงกันนอกจากตกลงจะดำเนินการตามแผนอย่างเป็นทางการ"

ในวัยเพียง 49 ปี วิโรจน์ ภู่ตระกูล จากคนที่ไม่มีชาติตระกูลผู้ดีเก่า หรือเตี่ยที่เป็นเจ้าสัว เขาได้เดินมาแล้ว 25 ปี กับบริษัทลีเวอร์ บราแดอร์ส และจากวันแรกในปี 2522 ที่เขาเริ่มเข้ามาเป็นประธาน เขาได้ก่อให้เกิดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นก็เริ่มมาเห็นผลในปีสองปีนี้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของ "ผู้จัดการ" คนนี้ ซึ่งเขาเองก็ได้รับการยอมรับโดยจุฬาลงกรณ์ฯ ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพณิชยศาสตร์ให้เขาเมื่อปี 2525 และในปี 2527 รัฐบาลอังกฤษก็ได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น OBEW (OFFICER OF THE ORDER OF THE BRITISH EMPIRE)

ถ้าจะถามคนชื่อวิโรจน์ ภู่ตระกูล ว่าตอนนี้คิดจะทำอะไร เขาก็จะตอบอย่างจริงจังว่า "ตอนนี้ผมเจ็บใจที่สุดที่ยาสีฟันเป๊ปโซเด้นท์ผลิตไม่ทันขาย"

ขอแสดงความยินดีกับตำแหน่ง "ผู้จัดการแห่งปี"

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us