จรัส ชูโต เป็น "ผู้จัดการ"
คนไทยตัวอย่างที่สามารถจะผสมผสานความเป็นไทยให้สัมพันธ์กับศาสตร์การจัดการที่ทันสมัยของต่างชาติอย่างกลมกลืน
แล้วก่อให้เกิดวัฒนธรรมขององค์กรที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
บางคนคิดว่าจรัส ชูโตเป็นคนโชคดีที่เข้ามาเครือซิเมนต์ไทยเมื่อ 16 ปีที่แล้วเพราะ
"คุณจรัสมาจากองค์กรต่างชาติเช่นเอสโซ่ ซึ่งทำงานอย่างมีระบบแล้วมาเข้าปูนซิเมนต์ไทยในสมัย
16 ปีที่แล้วที่ไม่มีระบบ มีวัฒนธรรมของศักดินาและผูกขาดเอามากๆ ฉะนั้นใครก็ตามที่เข้ามาในช่วงนั้นก็ต้องประสบความสำเร็จ
" คนที่รู้จักจรัสดีพอสมควรพูดขึ้น
จรัส ชูโตเป็นพี่ชายของ ดร. สมศักดิ์ ชูโต อดีตอธิการบดีนิด้า และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ
ในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรมชุดแรก
จรัสเรียนเซนต์คาเบรียลรุ่นเดียวกับ "กระแช่" หรือ ประสาน มีเฟื่องศาสตร์
และมาจบวิศวกรรมศาสตร์สาขาเหมืองแร่จากจุฬา ฯ เมื่ออายุเพียง 21 ปี
งานชิ้นแรกที่จรัสได้รับผิดชอบ คือเป็นผู้จัดการเหมืองแร่ของบริษัทแร่ยางไทย เมื่ออายุเพียง
21 ปีเท่านั้น!
เขาอยู่เหมืองจนอายุได้ 26 ก็เข้าเอสโซ่ จนในที่สุดได้เลื่อนตำเหน่งเป็น
ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ (operations manager) มีหน้าที่จัดเส้นทางลำเลียงน้ำมันของรถน้ำมัน
ในปี พ.ศ. 2501 อายุส อิศรเสนา ซึ่งอยู่เครือซิเมนต์ไทยได้ชวนจรัสมาเป็นหัวหน้าแผนกปฏิบัติของบริษัทค้าวัสดุก่อสร้าง
จรัสใช้เวลา 9 ปีขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการบริษัทค้าวัสดุก่อสร้าง
และอีก 2 ปี เป็นรองผู้จัดการบริษัทผลิตภัณฑ์และวัสดุก่อสร้าง จำกัด
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 จนถึงกุมภาพันธ์ 2523 จรัสได้ผ่านงานในตำแหน่งต่างๆ
ตั้งแต่กรรมการผู้จัดการบริษัทผลิตภัณฑ์และวัสดุก่อสร้าง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ซิเมนต์และวัสดุทนไฟ
รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายผลิต จนถึงรองผู้จัดการใหญ่
19 กุมภาพันธ์ 2523 คือวันที่จรัส ชูโต ได้มานั่งเก้าอี้ของผู้จัดการใหญ่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย
จำกัด
ในความหมายของ "ผุ้จัดการแห่งปี"
จรัส ชูโตเป็น professional manager ซึ่งมีทุกอย่างเท่าที่ผู้จัดการมืออาชีพจะพึงมี
เริ่มด้วยความรู้ในกิจการที่จรัสทำอยู่นั้น จากการที่จรัสเริ่มจากฝ่ายปฏิบัติการทำให้จรัส
อยู่ในสภาวะที่ชาวบ้านเรียกว่า "เท้าติดดิน" อยู่ตลอดเวลา
ไม่ว่าจะมองจรัสในรูปลักษณะของ "พฤติกรรมผู้จัดการ" หรือ "ลักษณะของผู้จัดการ"หรือ"ผู้จัดการตามแต่สถานการณ์"
จรัส ชูโตสวมได้ทุกบทบาท
การมองการณ์ไกล
การมองการณ์ไกลของจรัส ชูโต นั้นมองมานานแล้วนับตั้งแต่การที่เขาเห็นว่าเครือซิเมนต์ไทยนั้นเป็นบริษัทประเภท
production oriented ฉะนั้นการที่จะละเลยบทบาทของนายช่างนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สมควร
ในยุคที่ก่อนจรัสจะขึ้นมาเป็นผู้จัดการใหญ่นั้น ระบบของเครือซิเมนต์ไทยเป็นไปในทางที่ทุกฝ่ายจะผลิตแล้วส่งให้บริษัทขายกลางเป็นคนขาย
ซึ่งปัญหาของการขาดความเข้าใจระหว่างการตลาดในแง่ของการประเมินปริมาณการขายกับฝ่ายผลิต
ในแง่ของการคาดคะเนกำลังผิดมักจะเกิดข้อขัดแย้งเสมอ
และที่สำคัญที่สุดคือการที่จะเอา marketing นำหน้า production นั้นเป็นเรื่องที่คุกรุ่นในหมู่พนักงานเครือซิเมนต์ไทย
ซึ่งฐานของเครือซิเมนต์ไทยก็คือฐานของนายช่าง
จรัสเป็นคนที่ไม่ยอมเอาผลประโยชน์ระยะสั้นแล้วสูญเสียผลประโยชน์ระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเกี่ยวพันกับลูกค้าบริษัท
"ผมจำได้ว่าครั้งหนึ่งมีการประชุมการทำงานในระดับผู้จัดการในสมัยที่คุณสมหมายเป็นผู้จัดการใหญ่อยู่
เวลานั้น ปูนขาดตลาด และมีการเสนอให้ลูกค้าถ้าต้องการปูนก็ให้มาขนเองที่โรงงาน
แต่คุณจรัสค้านหัวชนฝา โดยเขาต้องการให้ปูนบริการลูกค้าอย่างเต็มที่ถึงแม้ว่าปูนจะอยู่ใน
position ที่สามารถ dictate term ได้ " คนนอกที่ใกล้ชิดจรัส ชูโต และได้มีโอกาสไปนั่งเสนองานในครั้งนั้นเล่าให้ฟัง
การมองการณ์ไกลของจรัสนั้นรวมไปถึง corporate strategy หลายอย่างที่เริ่มในยุคจรัสเริ่มเป็นผู้จัดการใหญ่และมาเห็นผลในระยะหลังนี้
ซึ่งก็มีหลายประการ ตั้งแต่การพัฒนาคนไปจนกระทั่งการแบ่งกลุ่มบริษัทและการdiversify
ธุรกิจออกไปในลักษณะ satellite
การมองอะไรในระยะยาวอาจจะเป็นเพราะจรัส ชูโตเป็นนักอุตสาหกรรม (industrialist)
ในความหมายของมันอย่างเต็มที่
การเป็น industrialist ของจรัสทำให้เขามองทุกอย่างระยะยาวหมด และเขาก็จะไม่ตกอกตกใจถ้าเกิดมีวิกฤตการณ์ขึ้นมา
แม้กระทั่งในระยะที่มีการควบคุมราคาปูน มีผู้บริหารรวมทั้งกรรมการหลายคนต้องการจะให้ปูนใช้สายสัมพันธ์ที่มีกับกลุ่มต่างๆ
เพื่อแก้ปัญหาการที่ปูนต้องถูกคุมราคาสินค้า
แต่จรัสเองกลับมองปัญหานี้ว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มันต้องเกิดขึ้น
เขาเคยพูดว่าเมื่อรัฐบาลประสบปัญหา ปูนซิเมนต์ไทยก็จำต้องยอมขมขื่นไปด้วย
CONSIDERATE และแคร์คนมาก มีจิตวิทยาการใช้คนสูง
ในตำแหน่งหน้าที่ของจรัสซึ่งมีอำนาจมาก จรัส ชูโตวางตัวได้ดีเลิศ
เขาเป็นคนสนใจในรายละเอียดและจดจำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ของคนได้ดีมาก จนคนที่เข้าพบเขาซึ่งระดับต่ำกว่าเขามากจะรู้สึกแปลกใจว่า
ไม่น่าเชื่อที่คนระดับจรัส ชูโต จะสนใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ได้
บางครั้งเมื่อเขาพูดกับคนภายนอกแล้วพาดพิงไปถึงเด็กหนุ่มที่ทำงานปูนหลายคนจรัสจะสามารถพูดถึงชื่อเด็กหนุ่มคนนั้น
พร้อมทั้งอธิบายให้ละเอียดว่าคนนั้นทำงานก้ววหน้าหรือถอยหลังไปแค่ไหนอย่างไร
"จรัสเป็นคนมี common sense สูง ถกเถียงอะไรกับเขาลำบากมาก เพราะจรัสจะพูดทุกอย่างจากข้อเท็จจริงทั้งหมด"
เพื่อนรุ่นน้องจรัสเล่าให้ฟัง
จรัสรู้จักใช้คนและเขาไม่เคยสั่งใคร แต่ "เขาจะมีวิธีการพูดที่ไม่ใช่สั่ง
แต่คนที่พูดกับเขาจะรู้เลยว่านี่คือสิ่งที่จรัสต้องการ และความเห็นของจรัสที่แสดงออกมาจะเป็นความเห็นที่แฝงด้วย
AUTHORITY"
จรัสจะเป็นกันเองกับทุกคนและเป็นผู้จัดการใหญ่ที่ไม่มีฟอร์มอะไรมากมาย
หลายครั้งหลายคราวในห้องอาหารของพนักงานปูนที่ทุกระดับมานั่งเหมือนกันหมด
จะเจอจรัสเดินถือถาดอาหารพยายามแวะนั่งตามโต๊ะเพื่อคุยกับพนักงานและหลายครั้งที่ไม่มีที่ให้นั่งจรัสจะต้องเลี่ยงไปนั่งคนเดียว
ในการประชุมหลายครั้ง จรัสจะนั่งฟังทุกคนพูดโดยไม่ออกความเห็น เมื่อจบแล้วพอจรัสพูดทุกคนก็จะรู้ทันทีเลยว่าจรัสจะมีความคิดเป็นของตนเองที่ทุกคนจะต้องยอมรับ
นอกจากนั้นแล้วถ้าใครไม่ผิดแต่อาจจะทำให้ผู้ใหญ่ระดับ BOARD ไม่พอใจ
จรัสจะบอกผู้อยู่ใต้บังคับบัญชานั้นว่าเขาจะแก้ปัญหาให้เอง
เขาเป็นคนที่มีความทะเยอทะยานแต่เป็นลักษณะ QUIET AMBITION ซึ่งพอดีเหมาะสมกับ
NORM ของปูน
"เมื่อสัก6-7 ปีที่แล้วไม่เคยมีใครคิดว่าจรัสจะขึ้นมาขนาดนี้ เพราะเห็นได้ชัดเลยว่าเวลาประชุมอะไรกันแทบทุกคนจะข้ามแกไปหมด
บางคนแค่เปิดประตูห้องประชุมมาก็พ่นภาษาอังกฤษเป็นน้ำ แต่แกจะนั่งเฉยๆ ใจเย็นๆ
และแกจะโต้แย้งจากข้อเท็จจริง เพราะแกเป็น OPERATIONS MAN มาก่อน แกรู้ปัญหาดี
และนี่เป็น STRENGTH ของแก"
ถ้าจะพูดถึง STRENGTH ของจรัส ชูโต แล้ว ก็ต้องยอมรับว่าในด้านการพัฒนาคนนั้นเขาเด่นที่สุดในวงการธุรกิจเมืองไทย
จรัสจะพูดอยู่เสมอว่าเขาได้เรียนรู้จากงานและการฝึกอบรมของเอสโซ่มาตลอด
และจากการที่เป็นคนสนใจศาสตร์ของการบริหารถึงแม้จะจบวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งคนรุ่นจรัสที่จบทางช่างแทบจะไม่มีใครให้ความสนใจในด้าน
MODERN MANAGEMENT เลย
แต่จรัสสนใจที่จะศึกษาและต้องการจะพัฒนาคนอื่นด้วย!
จรัส ชูโตเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ก่อตั้งสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย
(THAILAND MANAGEMENT ASSOCIATION) หรือ TMA
ในบรรดาผู้ที่ทำงานร่วมกับจรัสใน TMA จำได้ว่า จรัสเป็นคนเอาจริงเอาจัง
"พี่รัสเป็นคน DEDICATED และมี COMMITMENT ที่สูงมาก TMA ที่มาได้ขนาดนี้ส่วนหนึ่งเป็น
เพราะพี่รัสเอาจริงเอาจังกับสมาคมและแกเป็นคนเชื่อมากในเรื่องหลักการบริหารอย่างทันสมัย"
ชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ อดีตกรรมการคนหนึ่งของ TMA เล่าให้ฟัง
สำหรับในเครือซิเมนต์ไทยเอง จากประสบการณ์ของจรัสที่เคยทำด้านปฏิบัติการมาก่อนได้เห็นความขัดแย้งระหว่างสายช่างกับสายการตลาดมาตลอด
คงจะทำให้จรัสคิดว่าไหนๆ เครือซิเมนต์ไทยก็เป็น PRODUCTION ORIENTED แล้ว
ถ้าปรับปรุงและพัฒนาพนักงานซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากสายช่างให้รู้มากกว่าการเป็นช่าง
แต่ให้รู้ถึง BUSINESS CONCEPT ให้ดีแล้วค่อยเรียนโปรแกรมที่สูงขึ้นเช่นโครงการ
MDP (อ่านรายละเอียดเรื่องนี้ในผู้จัดการฉบับที่ 14 เดือนตุลาคม หน้า
22-40) เพื่อพัฒนาตนเองไปในระดับบริหารชั้นสูงขึ้น นอกจากจะเป็นการปรับปรุงคุณภาพบุคลากรแล้วยังเป็นการสร้างคนจากภายในเพื่อเตรียมไว้รองรับการขยายงานของเครือซิเมนต์ไทยอีก
พอจะเรียกได้ว่ายุคของจรัส ชูโต เป็นยุคที่เครือซิเมนต์ไทยมีการพัฒนาคนอย่างจริงจัง
และได้มีการลงทุนในโครงการนี้อย่างไม่เสียดายเงิน (โครงการ MDP เพียงโครงการเดียว
จัดแต่ละครั้งต้องใช้เงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป)
ชื่อเสียงของจรัส ชูโตในด้านการพัฒนาคนโด่งดังมาก จรัส ชูโตยังได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากจุฬาลงกรณ์ฯ ในปี
2526 สาขาบริหารธุรกิจ
นอกจากนั้นแล้วในเดือนมกราคมหลังจากที่จรัส ชูโต เกษียณอายุจากเครือซิเมนต์ไทยแล้ว
จรัส ชูโต จะเป็นคนจากภาคเอกชนคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(NIDA)
ก็ต้องนับว่าเป็นโชคอย่างที่สุดของ NIDA ที่ได้คนอย่างจรัส ชูโต เข้าไปวางนโยบายโครงการปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจของ
NIDAคงจะคึกคักขึ้นอีกมากหลังจากที่ซบเซามานานพอสมควร
เป็น FAMILY MAN ใกล้ชิดกันทั้งครอบครัว
ชีวิตครอบครัวของจรัส ชูโต ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงว่าจรัส ชูโต
เป็นคนประเภทใด
จรัส ชูโตมีภรรยาเป็นแพทย์ ชื่อ ประไพ ซึ่งทำงานอยู่สภากาชาดไทย มีบุตรและธิดาอย่างละคน
คนโตเป็นผู้หญิงชื่อพวงรัตน์ ทำงานอยู่บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน คนเล็กเป็นผู้ชายทำงานอยู่
CITI BANK
ครอบครัวจรัส ชูโตเป็นครอบครัวตัวอย่างที่ชอบทำกิจกรรมร่วมกัน บางครั้งพ่อแม่ลูกก็จะไปตีกอล์ฟด้วยกัน
ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทยเป็นชีวิตความเป็นอยู่ที่สมถะอย่างมากๆ
ทีเดียว
บ้านที่อยู่แถวๆ ดุสิตเป็นบ้านเล็กๆ ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นบ้านของผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทย
บางครั้งถ้ามีการทานข้าวกันเกิน 10 คนก็ต้องขนเก้าอี้ออกมานั่งหน้าสนามหญ้าเล็กๆ
และลูกๆ ยังต้องช่วยกันเสิร์ฟอาหาร
จรัสเป็นคน LOW PROFILE มากๆ ถ้าจะให้จรัสไปออกงานใดเป็นพิเศษแล้ว เขาจะอึดอัดและไม่ต้องการเป็นข่าว
แต่ถ้าจะให้เขาไปกินเหล้า JOHNNY BLACK ที่เขาชอบกับเอเย่นต์ขายสินค้าปูนแล้วเขาพร้อมที่จะไปเสมอ
การกินอาหารของจรัสก็เป็นแบบง่ายๆ อาหารไทยคืออาหารหลักที่เขาชอบ น้ำพริกปลาทู
ผัดสะตอ อาหารใต้ คือสิ่งที่จรัสโปรดมากๆ
จรัสเป็นคนแต่งตัวเรียบร้อยแต่ไม่แคร์ว่าต้องประดับยี่ห้ออะไรที่ดัง ๆ
ไว้กับตัว
คนเราจะเป็นผู้นำที่ดีและมีคนนับถือได้อย่างเต็มที่นั้น นอกจากจะต้องมีความสามารถในการทำงานเป็นพื้นฐานมีความเข้าใจในธุรกิจเป็นหลักแล้วยังต้องมีชีวิตส่วนตัวที่เป็นแบบอย่างได้ด้วย
เพราะพฤติกรรมของผู้จัดการบางครั้งมันก็สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมขององค์กรเหมือนกัน และมันก็เป็นเช่นกันในมุมกลับ
จรัส ชูโตเป็นคนไม่มีศัตรู และเป็นคนที่สามารถจะคุยกับคนทุกระดับได้รู้เรื่อง
นอกเหนือจากการที่เป็นคนเก่งในการบริหารธุรกิจ ซึ่งพิสูจน์ได้จากฐานที่มั่นคงและการเจริญเติบโตของเครือซิเมนต์ไทยแล้ว
จากการที่องค์กรเช่นเครือซิเมนต์ไทยมีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างสูง บางทีสิ่งนี้ก็อาจจะสะท้อนให้เห็นว่า
จรัส ชูโต คิดอย่างไรกับสังคมบ้าง
เพราะก็ได้มีการพิสูจน์และวิจัยกันมาแล้วมิใช่หรือว่า พฤติกรรมของผู้จัดการมักจะเป็นส่วนหนึ่งที่องค์กรนั้นแสดงออกต่อสังคมเช่นนั้น
ขอแสดงความยินดีกับการเป็น "ผู้จัดการแห่งปี" ที่เราให้จรัส
ชูโต มาเป็นอันดับที่หนึ่งของ 3 คน