ในยุคเศรษฐกิจยังคงทรงและทรุดอยู่อย่างนี้การปล่อยใบปลิวเป็นเรื่องที่สร้างความฮือฮาให้เกิดขึ้นอย่างมาก
ไม่ว่าจะเป็นกรณีธนาคารกรุงเทพ จำกัด หรืออย่างเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมนี้ที่มีบุคคลนิรนามส่งใบปลิวไปยังหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ
เอ่ยพาดพิงถึงการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และบริษัท ศิริวิวัฒน์ (2515) จำกัด
ในกรณีการตัดราคาหม้อแปลงไฟฟ้าและการส่งมอบงานล่าช้า
นิตยสาร "ผู้จัดการ" เห็นว่าเรื่องนี้มีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศด้วยจึงได้ติดต่อสอบถามข้อเท็จจริงไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เพื่อรายงานให้ผู้อ่านได้ทราบ
แต่เมื่อพยายามสอบถามไปยังสำนักผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็ได้รับคำตอบว่า
"เรื่องนี้เป็นเพียงใบปลิว เราคงไม่ต้องแถลงอะไร"
ในวงการอุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าบ้านเรานั้นผู้ผลิตมีอยู่หลายรายด้วยกัน
เช่น บริษัท ศิริวิวัฒน์, บริษัทไทยแมกซ์เวล, บริษัทเอกรัฐวิศวกรรมจำกัด,
ห้างหุ้นส่วนจำกัดหม้อแปลงสยาม, ห้างหุ้นส่วนแสงสินการไฟฟ้า, แสงชัยการไฟฟ้า
และห้างหุ้นส่วนกิจวัฒนาจำกัด แต่ที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ได้แก่ ศิริวิวัฒน์,
ไทยแมกซ์เวล, และเอกรัฐวิศวกรรม ส่วนผู้รับซื้อรายใหญ่ที่สุดคือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
(กฟภ.)
แหล่งข่าวใน กฟภ. ได้พูดถึงการประมูลซื้อหม้อแปลงไฟฟ้าของก กฟภ. ว่า
"เมื่อก่อน กฟภ. ประมูลซื้อจากบริษัทต่างประเทศ แต่เมื่อมีบริษัทของคนไทยจึงเปลี่ยนมาซื้อของคนไทย
ทั้งนี้โดยคำนึงว่า ราคาของบริษัทไหนถูกและแบบตรงตามสเป็กก็จะเลือกของบริษัทนั้น
ส่วนใหญ่ที่บริษัทศิริวิวัฒน์ ได้งานประมูลไปก็เพราะเขาตั้งราคามาต่ำ"
บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งสามต่างก็แย่งกันประมุลขายหม้อแปลงไฟฟ้าให้กับ
กฟภ. ดุจดาวล้อมเดือน
การแข่งขันยื่นซองประมูลเป็นไปอย่างถึงพริกถึงขิงด้วยชั้นเชิงของนักธุรกิจที่เตรียมเชือดเฉือนกันอยู่ทุกเฮือกของลมหายใจ
ขณะเดียวกันเหตุการณ์ยิ่งทวีความเข้มข้นเมื่อศิริวิวัฒน์ผู้ผลิตหม้อแปลงรายใหญ่ที่สุดของประเทศ
และทำการค้ากับหน่วยราชการถึง 80% ประกาศตัดราคาเพื่อน็อกคู่ต่อสู้ทั้งสองเมื่อต้นปี
2526
"ผมจะตัดราคาต่อไปจนกว่าจะสามารถครองตลาดทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด"
สมเจตน์ วัฒนสินธุ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทศิริวิวัฒน์ฯ ประกาศเมื่อเปิดศึกตัดราคาหม้อแปลงไฟฟ้าตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่สองของปี
2525
"โรงงานเราตั้งมานานแล้ว ภาระด้านดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการลงทุนย่อมจะลดลงและขณะเดียวกันเรามีปริมาณการขายสูง
สามารถสั่งซื้อวัตถุดิบครั้งละมากๆ ซึ่งจะได้ราคาที่ต่ำลง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ต้นทุนเราลดลงมากสามารถขายตัดราคาโรงงานที่เพิ่งตั้งโดยไม่ต้องลดคุณภาพสินค้า"
"การตัดราคาของเราทำให้ผู้ใหญ่บางคนกังวลว่า เราจะลดคุณภาพสินค้าซึ่งผมก็ชี้แจงเทคนิคการจัดการของเราไปว่าเราลดต้นทุนได้ยังไงบ้าง"
"จะมาว่าผมไม่ได้นะ นี่เป็นวิถีทางทางการค้าไม่ว่าใครก็ต้องทำอย่างนี้"
สมเจตน์ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ธุรกิจฉบับหนึ่งเมื่อครั้งเปิดศึกตัดราคาครั้งแรกอย่างไม่พรั่นพึงต่อเสียงผู้ใดทั้งสิ้น
หลังจากสงครามตัดราคาหม้อแปลงอันดุเดือดผ่านไปได้เพียงปีเศษ ในเดือนกรกฎาคม
2527 ก็มีมือดีร่อนใบปลิวจุดระเบิดลูกที่สองขึ้นมาอีก (รายละเอียดของใบปลิวอยู่ในล้อมกรอบ)
ภูเขาไฟที่คุกรุ่นรอการระเบิดก็ปะทุพ่นลาวาออกมาทันทีโดยไม่รั้งรอ
"ไม่มีใครหรอกครับ แหล่งข่าวนี่คือใคร ผมพิสูจน์ให้เห็นได้เลยว่าเป็นไอ้เจ้าเอกรัฐ
เพราะการแข่งขัน การ กฟภ. นั้นก็มีแค่ 3 บริษัท ตามสถิติแล้วนี่ในปี 2527
ไทยแมกซ์เวล ได้งานประมูลไป 50-60 ล้านบาท ผมได้มา 95 ล้านบาท ส่วนของเอกรัฐได้ไปแค่
6 ล้านกว่าบาท เขาหาว่าผมเสนอราคาต่ำสุดก็ไม่จริง อย่างวันที่ 13 ต.ค.
นี่ประมูลกันไทยแมกซ์เวลได้ ผมไม่ได้ คือเราผลัดกันได้ แล้วจะมาว่าผมตัดราคาได้ยังไง
บาางครั้งประมูลกันเอกรัฐยังต่ำกว่าผมอีก แต่ไทยแมกซ์เวลก็ไม่มีอะไรหรอก เพราะต่างคนต่างทำ
เขาได้น้อย ผมได้มากกว่า เขาก็ยังมีงานทำ แต่ที่ร้องนี่คือเอกรัฐ เพราะมันประมูลได้น้อย
ก็ราคามันสูงกว่าเขานี่ครับ"
สมเจตน์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" พร้อมกับรัวประโยคต่อไปอีกว่า
"นี่ถ้าไม่มีผม อีกสองบริษัทเขาจะต้องจับมือฮั้วกันอย่างแน่นอน ขนาดไทยแมกซ์เวล
ที่เคยเจ๊งมาจากไต้หวันแล้วมาเปิดบริษัทร่วมทุนกับไทย เจ้าของก็เป็นลูกเขยเจ้าของบริษัทบะหมี่ไวไว
มร.ซันนี่ ย่องมาหาผม 2 ครั้งอ้อนวอนขอให้ร่วมมือด้วย แต่ผมไม่เอาด้วยหรอกผมกับเขาได้
บีโอไอทั้งคู่ ฉะนั้นเท่ากับรัฐบาลส่งเสริมให้เขามาแข่งขันกับผม เราต้องเป็นคู่แข่งขันกัน"
"กรณีที่มีข่าวกล่าวหาว่าผมตัดราคาเพื่อผูกขาดการค้าเสียเองนั้นเป็นการกล่าวร้ายโดยไม่มีเหตุผลของฝ่ายตรงข้ามที่ไม่มีงานจะทำแล้ว"
สาเหตุที่ทำให้สิงโตถึงกับคำรามออกมาเช่นนี้ แหล่งข่าวที่รู้เรื่องดีเล่าให้
"ผู้จัดการ" ฟังว่า
"คุณสมเจตน์กับบริษัทเอกรัฐมีเรื่องมีราวกันอยู่ แล้วเขาก็เป็นญาติกันด้วย"
คมเฉือนคมตอนศึกสายเลือด
หลังจากสมเจตน์ วัฒนสินธุ์ คนบ้านบางกรูด อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
เดินทางมาเล่าเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบจนกระทั่งรับปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ได้เข้าทำงานซ่อมและสร้างหม้อแปลงไฟฟ้าอยู่ที่ร้านวรบูรณ์ของ ม.จ.ดุลภากร
วรวรรณ หลังโรงภาพยนตร์โอเดียนเป็นเวลา 10 ปี เมื่อสั่งสมประสบการณ์และรวบรวมเงินทองได้ก็ออกมาดำเนินกิจการของตนเองโดยจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดศิริวิวัฒน์
เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2501 อยู่ที่ซอยกัลปพฤกษ์
"คุณสมเจตน์ติดต่อกับ กฟภ. มาตั้งแต่บริษัทยังอยู่ที่ซอยกัลปพฤกษ์
เป็นที่ทำงานเล็กๆ เกือบ 20 ปีแล้ว" พนักงานเก่าแก่ของการไฟฟ้าเล่าถึงความหลังให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
เมื่อกิจการก้าวหน้าก็ต้องมีการขยับขยายรวบรวมญาติสนิทมิตรสหายมาร่วมหุ้นกันจัดตั้งบริษัทเมื่อ
1 มิ.ย. 2515 แต่ปรากฏว่าผู้เริ่มก่อการคนหนึ่งเสียชีวิตลง ทำให้ไม่สามารถจดทะเบียนเป็นบริษัทได้
ถัดมาในวันที่ 24 ก.ค. ของปีเดียวกันห้างหุ้นส่วนจำกัดศิริวิวัฒน์ ก็ได้ยื่นขอเลิกห้างหุ้นส่วนและจดทะเบียนเป็นบริษัทศิริวิวัฒน์
(2515) จำกัด สำเร็จในอีกประมาณ 10 เดือนต่อมา เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2516
ด้วยทุนจดทะเบียนหนึ่งล้านบาท แบ่งเป็นหนึ่งพันหุ้นหุ้นละหนึ่งพันบาท โดยสมเจตน์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 500 หุ้น และมีผู้ถือหุ้นร่วมกันอีก 6 คน และในจำนวนหกคนนี้มีผู้ถือหุ้นรายหนึ่งชื่อสมเกียรติ
น้อยใจบุญ ซึ่งเป็นญาติกับสมเจตน์และมีลูกชายสำเร็จวิศวกรรมโยธาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชื่อ
เกียรติพงศ์ น้อยใจบุญ ได้เข้ามาร่วมงานกับสมเจตน์หลังจากที่สำเร็จการศึกษาเมื่อปี
2514 แล้ว
"ผมมาเริ่มทำงานที่ศิริวิวัฒน์ตั้งแต่บริษัทยังเล็กๆไม่มีอะไรจนมีชื่อเสียง
คนที่รู้จักก็รู้จักแต่ในนามคุณสมเจตน์ อาศัยว่าผมยังหนุ่มปล่อยให้เขาดังไปก่อน"
เกียรติพงศ์คุยให้ "ผู้จัดการ" ฟัง และตบท้ายด้วยเสียงหัวเราะอย่างอารมณ์ดี
ในช่วงระยะเวลานั้นศิริวิวัฒน์ยังไม่มีคู่แข่งในประเทศ กิจการก้าวรุดหน้าจนมีการเพิ่มทุนจากหนึ่งล้านบาทมาเป็นสิบล้านบาท
ในเดือนมี.ค.2517 และสมเจตน์ก็ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อีกเช่นเคย คือเพิ่มเป็น
4,500 หุ้น(ปัจจุบันเป็น 5,000 หุ้น) แต่ก็ยังต้องแข่งขันกับต่างประเทศอยู่นั่นเอง
ศิริวิวัฒน์ต้องยกระดับมาตรฐานสินค้าให้ได้มาตรฐานเดียวกับของต่างประเทศจึงจะสู้กับสินค้าของชาวต่างประเทศได้
และวิธีการหนึ่งที่ศิริวิวัฒน์ได้ทำคือ ยอมเสียเงินล้านเศษซื้อความรู้จากประเทศอิสราเอลที่ได้รับการยอมรับในฝีมือสมัยนั้น
และคนที่ได้รับเลือกให้ไปถ่ายทอดวิชาในครั้งนั้นก็คือเกียรติพงศ์
"เมื่อเราไปซื้อวิชาการที่อิสราเอล เขาต้องการคนที่ไม่ต้องมีประสบการณ์
ตอนนั้นผมเป็นหัวหน้าแผนกออกแบบ เขามาดูเพราะจะเริ่มเทรนใหม่เขาก็เลือกผม แล้วเขาก็สอนวิชาออกแบบหม้อแปลงให้ได้มาตรฐานเท่ากับเขา
แล้วผมก็กลับมาทำงานต่ออีก 5-6 ปีก็ไปซื้อวิชาการที่เวสติ้งเฮ้าส์ อเมริกาจนจบมาก็สามารถผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานของโลก
ตอนนี้เองมาตรฐานสินค้าของเราไม่แพ้ยุโรป"
แต่ทว่าความผันผวนก็เกิดขึ้นเมื่อเสือสองตัวอยู่ในถ้ำเดียวกันไม่ได้ สมเจตน์เล่าให้เราฟังว่า
"มันเป็นหลานผม แล้วผมจับมันไปฝึกหวังจะให้แทนด้วยผม ทำงานกับผมมาสิบกว่าปีแล้วมันกำแหงพูดกับคนงานว่าถ้าไม่มีมันแล้วผมอยู่ไม่ได้
เขาจะทำอย่างไรผมก็ไม่กล้าไล่ออก"
สมเจตน์กล่าวต่อไปด้วยน้ำแสียงกร้าวว่า"มันยุคนงานสไตรค์ ผมเลยไล่ออกเลย"
หลังจากที่เกียรติพงศ์ถูกเชิญออกและรับเงินชดเชย 6 เดือนไปแล้วก็มีพนักงานในบริษัทติดตามออกมาอีกประมาณ
20 คน
"พักที่หลานชายคุณสมเจตน์และพนักงานช่างอีกหลายคนออกไป ศิริวิวัฒน์ก็เกือบแย่ไปเหมือนกัน"
เสียงเล่าจากพนักงานเก่าแก่คนเดิมของ กฟภ. ชี้แจงให้ฟัง
ว่ากันว่าที่สมเจตน์เปิดศึกตัดราคาขึ้นมาก่อน เป็นเพราะ เกียรติพงศ์
หลานชายที่ตนไล่ออกมาได้รวบรวมญาติและเพื่อนฝูงออกมาตั้งบริษัทเอกรัฐวิศวกรรมจำกัด
เมื่อปี 2524 พร้อมกับผู้ถือหุ้นจำนวน 18 คนด้วยจำนวนหุ้นสี่หมื่นหุ้น หุ้นละ
100 บาท โดยที่เกียรติพงศ์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวนแปดพันหุ้น ทำการผลิตและซ่อมหม้อแปลงไฟฟ้า
และยื่นประมูลหม้อแปลงไฟฟ้าประเภทสองสายกับการไฟฟ้าด้วยทุกครั้ง
"บริษัทเรากำลังก่อตั้ง ผมไม่เคยให้สัมภาษณ์ใคร คนภายนอกก็มองว่าผมเป็นคนเลว
ผมก็ไม่รู้จะเถียงใคร พูดไปพูดมาก็ลำบากเพราะศิริวิวัฒน์เขาก็เป็นญาติผม คือคุณสมเจตน์เป็นอา ผมเคยเป็นผู้จัดการอยู่ที่ศิริวิวัฒน์มาก่อน
เมื่อตอนที่ผมอยู่ที่บริษัท ผมสบายมาก ผมเป็นที่สองของบริษัท และเป็นผู้จัดการของบริษัทมีรายได้หนึ่งแสนบาท
คุณสมเจตน์ให้ผมจัดการเรื่องการซื้อขาย อยู่มา 10 ปีตั้งแต่ปี 2514-2524
ผมก็แยกตัวออกมาเพราะมีปัญหาเรื่องครอบครัว คือเป็นเรื่องภายในรวมทั้งปัญหาอีกหลายอย่าง"
"ผมไม่สบายใจคือ ผมคิดแง่หนึ่ง แต่เขาคิดอีกแง่หนึ่ง คือเขาคิดว่าเขาสร้างผมขึ้นมาและส่งไปศึกษางานด้านออกแบบหม้อแปลงไฟฟ้าที่ต่างประเทศ
ขณะเดียวกันผมก็คิดในแง่ของผมว่า เมื่อผมอยู่ที่ศิริวิวัฒน์ทำความเจริญเติบโตให้ในแง่วิชาการ
เผอิญช่วงนั้นมีเรื่องส่วนตัวแต่ผมไม่ได้สนใจ เพราะถือว่าผมเป็นหลาน คุณสมเจตน์ก็ไม่มีลูก
ผมออกด้วยความโกรธคุณสมเจตน์ที่แกหาเรื่องกับผม เอาเรื่องส่วนตัวมายุ่งกับงาน
แกว่าผมคิดจะหักหลังแก เตรียมการมาเป็นเวลานาน อะไรอย่างนี้ ผมฟังก็ เอ๊ะ!
เป็นผู้ใหญ่ในวงการ เป็นคนดังของประเทศ (เป็นนักธุรกิจตัวอย่างปี 2524) ฉะนั้นเมื่อแกพูดอะไรออกไปทุกคนก็ต้องเชื่อเขาหมด
แล้วคนอย่างผมจะไปพูดอะไรได้" เกียรติพงศ์ระบายออกมาในวันหนึ่งกับ "ผู้จัดการ"
"ตอนนี้เท่ากับว่าผมเป็นมด นั่งมองยักษ์ใหญ่เขาสู้กัน แต่ผมก็เข้าประมูลด้วยทุกครั้ง
ผมใช้วิธีรบแบบกองโจร รอจังหวะที่เขาเผลอแล้วไปขอลดค่าวัสดุที่ผลิตเป็นกรณีพิเศษไป
แล้วผมก็ได้ ทางไทยแมกซ์เวลก็บอกว่าเขามีทุนไม่รู้จบ เพราะเงินทุนของเขามีมากนี่ครับ
ศิริวิวัฒน์ก็ว่าเขาใหญ่ ทำกิจการนี้มานาน ไทยแมซ์เวลตั้งขึ้นมาเป็นที่สองประมาณ
7 ปีก่อน เขาก็ตัดราคากันมาตลอด ส่วนผมมาเป็นที่สาม รอดูยักษ์ใหญ่อย่างเขาตีกันดีกว่า"
เกียรติพงศ์กล่าวทิ้งท้ายกับ "ผู้จัดการ" ก่อนจากกันไปในวันนั้น
ในระบบการค้าเสรีในประเทศไทยนั้นการตัดราคาเป็นเรื่องที่ไม่ผิด สำหรับคนที่เงินทุนหนากว่าก็จะสามารถอยู่ต่อไปได้
คนที่เงินทุนไม่มากพอก็ต้องตกไปปล่อยให้คนอื่นก้าวขึ้นมาแทน เป็นตัวตายตัวแทนกันไปตามวัฏจักรของระบบการค้าเสรี
สำหรับผู้ซื้อก็จะได้สินค้าที่มีราคาถูกลงและได้รับของที่มีการปรับปรุงและทันสมัยอยู่เรื่อยๆ
แต่ในแง่กลับกันหากว่าผู้ซื้อไม่มีการควบคุมคุณภาพสินค้าอย่างสม่ำเสมอ ผู้ซื้อก็จะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพต่ำ
กฟภ. เองได้รับผลประโยชน์จากการตัดราคาในตอนต้น แต่เมื่อใดที่ กฟภ. ไม่ควบคุมคุณภาพ
ใครจะเป็นผู้สูญเสีย เรื่องนี้ กฟภ. คงจะเป็นผู้รู้เรื่องดี
ในขณะเดียวกันหากทั้งสามบริษัทยอมฮั้วกันทำการผูกขาดสินค้าหม้อแปลง การณ์ก็จะกลับกลายเป็นดาบสองคม
ในแง่ดีก็คือ สามารถแข่งขันกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น คู่แข่งสำคัญของไทยได้
แต่ผลเสียที่เกิดขึ้นคือผู้ซื้อจะได้สินค้าที่มีราคาแพงและคุณภาพอาจจะต่ำเพราะไม่มีการแข่งขันกันปรับปรุงคุณภาพสินค้าเพื่อจูงใจลูกค้าให้มาซื้อของของตน
กรณีที่มีใบปลิวออกมาก็คงจะเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่เป็นปกติวิสัยสำหรับการค้าที่มีการตัดราคา
จากใบปลิวที่กล่าวถึงงานของ กฟภ. ที่ศิริวิวัฒน์ประมูลได้ตั้งหลายโปรเจ็กต์นั้น
เมื่อถึงกำหนดเซ็นสัญญาศิริวิวัฒน์ก็ทำเพิกเฉยเสียไม่มาลงนามกันให้เป็นที่เรียบร้อย
และ กฟภ. ก็มิได้ดำเนินการเร่งรัดไปแต่ประการใด ในเรื่องนี้ศิริวิวัฒน์ได้ชี้แจงให้
"ผู้จัดการ" ฟังว่า "เรื่องเซ็นสัญญานั้นผมเซ็นไปหมดแล้ว
ไม่มีติดค้างอะไรอีก ผมมาเซ็นไม่ทันผมก็ยอมให้ กฟภ. ปรับไปตามระเบียบ…."
ส่วนแหล่งข่าวที่พอจะทราบเรื่องนี้เปิดเผยว่า "สัญญาที่ค้างๆ อยู่ของศิริวิวัฒน์ตอนนี้เขามาเซ็นเรียบร้อยแล้ว
เพิ่งมาเซ็นเมื่อวันที่ 6 กับ 9 เดือนนี้เอง (ก.ค.)…." ดังนั้นเรื่องการเซ็นสัญญาล่าช้าหรือไม่มาเซ็นนั้นเป็นอันว่าหายข้องใจไปได้
แต่ยังติดอยู่นิดตรงที่ ศิริวิวัฒน์มาเซ็นสัญญาที่ค้างๆ อยู่นั้นสาเหตุเพราะถูกแรงกระแทกของใบปลิวหรือเปล่าก็ไม่ทราบได้
แต่ก็ยังมีคลื่นใบปลิวอีกลูกหนึ่งซึ่งนับว่าเป็นลูกใหญ่พอที่จะทำให้ศิริวิวัฒน์หวั่นไหวบ้างเหมือนกัน
นั่นคือ ศิริวิวัฒน์ไม่สามารถส่งหม้อแปลงตามกำหนดสัญญาได้ แหล่งข่าวเดิมเล่าให้ฟังถึงเรื่องนี้ว่า
"เป็นเรื่องจริงที่ศิริวิวัฒน์ส่งงานช้า แต่บางงานที่ กฟภ. ขอเร่งก่อนกำหนดเขาก็เร่งส่งให้
กฟภ. ทันทีได้เหมือนกัน เรื่องนี้คงเป็นทำนองพึ่งกันไปพึ่งกันมา แต่ถ้าศิริวิวัฒน์ส่งงานช้าไม่ทันตามกำหนดก็ต้องถูกปรับตามสัญญาเหมือนกัน
บางคราวเขาโดนปรับกันเป็นล้านเลย"
ส่วนศิริวิวัฒน์ก็ตัดพ้อถึงเรื่องนี้ว่า "บางอันเราเร็วกว่าก็มี บางครั้งการไฟฟ้าบอกมาว่าต้องการอะไรเร็วเราก็ทำให้ก่อนหลายเดือนเลย
ก็มีอย่างเมื่อราวเดือนก่อนน้ำท่วมนี่เอง ท่านรัฐมนตรีช่วยวีระไปปักษ์ใต้มา
พบว่ามีโครงการหนึ่งจะเร่งด่วนแกก็ยังบอกกับผมเลยว่า คุณสมเจตน์หม้อแปลง
19 เควี. ที่ใช้ทางภาคใต้นั้นขอก่อนนะ ผมก็เร่งทำให้เสร็จก่อนเวลาตั้งเดือน
แต่เสร็จก่อนเวลาเราไม่เคยได้รับค่าชดเชยหรือใบชมเชยเลย แต่ถ้าเรามีอะไรช้าเราก็ต้องถูกปรับตามสัญญาที่กำหนดอยู่แล้ว
มีบางครั้งผมถูกปรับถึง 10 ล้านบาท คุณคิดดูว่า กฟภ. ได้ประโยชน์มากแค่ไหน"
แล้วทำไมการผลิตหม้อแปลงของยักษ์ใหญ่อย่างศิริวิวัฒน์ ซึ่งมีกำลังผลิตถึง
7-8 พันตัว/ปี ยังไม่สามารถส่งงานได้ตามกำหนดอีกล่ะ!
เรื่องนี้มันค่อนข้างจะซับซ้อนพอดู เพราะจะว่าไปแล้วศิริวิวัฒน์คงจะผลิตได้ทันกำหนดแน่ๆ
ถ้ามีทุกอย่างเตรียมพร้อมตามขั้นตอนการผลิต แต่นี่พอจะเริ่มต้นก็ต้องมาหยุดเอาตั้งแต่ขั้นตอนแรกเสียแล้ว
ขั้นตอนแรกนั้นคืออะไรหรือถ้าไม่ใช่เรื่อง…เงิน!!!!!
ในการประมูลแต่ละครั้งนี้จะได้งบประมาณมา 2 ทางคือ งบราชการและงบเงินกู้ต่างประเทศ เมื่อศิริวิวัฒน์ประมูลงานได้แล้วก็จะสั่งวัตถุดิบประเภทชิ้นส่วน
ซีเอชพี ไทย (C.H.P.THAI) ของบริษัทเวสติ้งเฮ้าส์ ซึ่งศิริวิวัฒน์จะต้องอาศัยวัตถุดิบจากต่างประเทศถึง
98% เช่น ลวดทองแดง เหล็ก แผ่นเหล็กทำถัง กระดาษฉนวนสี เป็นต้น แต่ศิริวิวัฒน์ไม่สามารถเปิดแอลซี
สั่งวัตถุดิบได้ เพราะกฟภ. ยังประชุมอนุมัติเงินไม่เสร็จ และกว่าจะเสร็จก็กินเวลาหลายเดือน
"ที่ผมว่าอย่างนี้เพราะผมประมูลได้เมื่อเดือนกันยา 2526 เพิ่งจะออกออเดอร์ให้ผมเมื่อต้นปี
2527 นี้เอง เรื่องเงินกู้เวิลด์แบงก์กว่าจะประชุมกันเสร็จก็ 10 เดือน แล้วจะมาว่าผมช้าแล้วตัดสิทธิผมได้อย่างไร
เพราะมันยังไม่ถึงสัญญาส่งมอบหม้อแปลงนี่" สมเจตน์เปิดเผยให้เราฟัง
ส่วนปัญหาอีกเรื่องคือ การงดปล่อยสินเชื่อของธนาคาร ซึ่งจะต้องมีการพิจารณากันอย่างละเอียดจึงจะอนุมัติ
"ทางแบงก์หาว่าผมทำกำไรไม่ถึง 10% ก็เลยพิจารณาให้แอลซีผมช้า"
สมเจตน์เล่าให้เราฟัง ขณะนี้ศิริวิวัฒน์ให้แบงก์กรุงเทพค้ำประกันโครงการ
พีอี 10-10 อาร์อีเอ 2 พี-บี 11981 โดยธนาคารออกเป็นดังนี้คือ ขอให้ธนาคารประกันงาน
กฟภ. 2,298,000 บาท ของเงินค้ำประกันแอลซี/ทีอาร์ 9.5 ล้านบาท ประกันแอลซีในประเทศ
542 ล้านบาท เงินโอดี อีก12.1 ล้านบาท นอกจากนี้ค้ำประกันเงินกู้ค่านำเข้าวัตถุดิบอีก
1,632,905 บาท
"มีอยู่งานหนึ่งที่ช้ามาตั้ง 2 ปีแล้ว ก็เรื่องประมูลแล้วตัดสินไม่ได้
เรื่องคือ ผมชนะงาน 80 กว่าล้าน แต่ไทยแมกซ์เวลกล่าวหาว่าผมไม่มีใบรับรองมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐาน
ก่อนประมูลนี่ผมก็ไปขอใบรับรองมาตรฐาน เขาก็เอาหม้อแปลงผมไปตรวจแล้วเห็นว่ามีมาตรฐานทุกประการ
แต่ใบประกาศยังไม่ได้ แล้วกว่าจะออกให้ก็เผอิญในสำนักงานฯ เขาก็มีเรื่องวุ่นๆ ภายในอยู่
เลยไม่มีใครกล้าเซ็น พอถึงวันประกวดราคาผมก็ไม่มีใบประกาศนียบัตร สำนักงานมาตรฐานฯ ก็ให้ใบรับรองมาก่อน
พอประกวดราคาปรากฎว่าผมชนะ แต่ไทยแมกซ์เวลไม่ยอม ค้านว่าผมไม่มีใบมาตรฐาน
กฟภ. ก็ไม่กล้าตัดสินให้ผม ผมก็ต้องมาขอที่สำนักงานมาตรฐาน ทางสำนักงานมาตรฐานก็ปัดให้ไปถาม
ครม. ดูสิ…ผมก็เลยต้องอุทธรณ์กันอยู่นาน ในที่สุดผมก็ได้หลังจากตัดสินแล้ว
8 เดือน
นั่นคือเหตุผลของศิริวิวัฒน์ ที่ต้องทำงานล่าช้า ก็ถ้าจะต้องทำงานร่วมกับราชการก็คงต้องปลงเสียบ้าง
เพราะงานราชการเป็นงานละเอียดอ่อนมาก การทำงานทุกอย่างต้องมีขั้นตอนแบบแผนมากมายจะทำมาชุ่ยๆไม่ได้
เพราะทุกอย่างเป็นความลับของทางราชการไปหมด
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหาหนักใจมิใช่เฉพาะศิริวิวัฒน์เท่านั้น เอกรัฐ
หรือแม้แต่โรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็ต้องหนักใจไปด้วย นั่นก็คือ….ภาษี….!
คนไทยที่ดีทุกคนควรมีหน้าที่เสียภาษีให้กับรัฐบาล เพื่อรัฐบาลจะได้นำเงินภาษีไปพัฒนาประเทศ
แต่พวกเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลายต้องครวญกันเลยว่า รัฐตั้งหน้าเก็บลูกเดียวไม่ส่งเสริมหรือเห็นใจกันบางเลย
โครงสร้างการเก็บภาษีนำเข้าหม้อแปลงสำเร็จรูปกับการส่งวัตถุดิบสำเร็จรูปมาผลิตอีกทีหนึ่งนั้นแตกต่างกันมาก
ถ้าสั่งหม้อแปลงสำเร็จรูปเข้ามาจะเสียภาษีในอัตรา 5% แต่ถ้าสั่งวัตถุดิบสำเร็จรูปมาผลิตอีกทีหนึ่งต้องเสียในอัตรา
33% แล้วก็ยังมีเงินคืนภาษีตามข้อตกลงการคืนเงินภาษีหม้อแปลงไฟฟ้า เงินกู้
โอเอซีเอฟ รัฐบาลสั่งซื้อหม้อแปลงไม่มีการหักภาษีการนำเข้าตาม ซีไอเอฟ
แต่ของเราต้องมีแบงก์ค้ำประกันวัตถุดิบให้กรมศุลกากรจึงจะสามารถนำเข้ามาได้ตามมูลค่านำเข้าของภาษีการนำเข้า
ซึ่งต้องเสียให้กรมศุลกากร 1% และเสียให้กับแบงก์ค้ำประกันอีก 4.5% เป็นระยะเวลา
3 ปี รวมเป็นการจ่ายภาษีทั้งหมด 40.5% นี่ยังไม่รวมภาษีโรงงาน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
และสารพัดภาษีอีกด้วย
"เรื่องภาษีเก็บกันอย่างนี้ก็ตายอยู่แล้ว ผมร้องเรียนไปหลายครั้ง
นี่…บีโอไอ ยังจะส่งเสริมการผลิตหม้อแปลงของอังกฤษให้มาแข่งกับคนไทยอีก
เรามิตายเหรอ ไม่ส่งเสริมแล้วยังไม่เคยเหลียวแลอีกด้วย เหมือนอย่างเป็นพ่อแม่ออกลูกมาแล้วก็ไม่เคยคิดจะติดตามดูเลยว่าลูกจะมีกินไหม
มีค่าเช่าบ้านไหม อย่าง บีโอไอ นี่รัฐบาลตั้งมาให้ส่งเสริม แต่ผมว่ามันส่งเดชมากว่า
พอถึงเวลาทีก็ตั้งหน้าแต่จะเก็บภาษีลูกเดียว" สมเจตน์โอดครวญมา
แม้ว่าจะมีข้อกระทบกระทั่งกับศิริวิวัฒน์เรื่อยมา แต่ในเรื่องภาษีแล้วสองอาหลานกลับมีความเห็นเข้ากันเป็นปีเป็นขลุ่ย
"นี่ผมก็ร้องเรียนจนไม่รู้จะไปร้องเรียนกับใครแล้ว พอพูดถึงเรื่องลดภาษี
รัฐบาลก็ไม่พูดด้วย แต่เมื่อผมถามว่าถ้าผมไปขายเมืองนอกไม่ได้แม้แต่บาทเดียว
รัฐบาลก็ได้ภาษีศูนย์เพราะผมขายไม่ได้เลย แต่ถ้าสมมุติรัฐบาลลดให้ 20%
ให้ไปแข่งกับนอก ผมได้งานทำจากนอก ผมมีกำไรผมก็เสียภาษีสุทธิ รัฐบาลไม่ยอมเข้าใจปัญหานี้
ถ้าถามเรื่องภาษีเมื่อไหร่ฉันไม่พูดไม่ลดให้ เดี๋ยวปิดหีบไม่ลง" เกียรติศักดิ์
น้อยใจบุญ แห่งเอกรัฐออกความเห็น
เมื่อบริษัทหม้อแปลงภายในประเทศกำลังทำศึกชิงเจ้ายุทธจักรอยู่ ส่วนรัฐบาลก็มิได้ตั้งใจจะส่งเสริมอุตสาหกรรมกันอย่างจริงจัง
ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากเรื่องนี้ก็เลยกลายเป็นประเทศในเอเชียที่ส่งหม้อแปลงแข่งกับไทย
เมื่อเร็วๆ นี้มีการประมูลหม้อแปลงโครงการเงินกู้ โอเอซีเอฟ เกาหลีก็ชนะไทยได้ไป
40 กว่าล้านอย่างน่าเจ็บใจ จะว่าไปแล้วประเทศไทยก็เป็นประเทศผู้นำในเรื่องหม้อแปลงของเอเชีย
โดยสมเจตน์เป็นตัวแทนของไทยและเป็นประธานสมาคมหม้อแปลงของเอเชียอีกด้วย แม้ว่าศิริวิวัฒน์จะเป็นยักษ์ใหญ่ของไทยและของเอเชีย
แต่สมเจตน์ก็ยังสารภาพกับเราเรื่องคู่แข่งว่า "ในประเทศผมเชื่อว่าไม่มีใครสู้ผมได้
ไม่ว่าไทยแมกซ์เวลก็ดี หรือเอกรัฐก็ตาม เขาส่งนอกไม่มีใครรับซื้อหรอก เพราะเขาไม่เชื่อความสามารถ
มันได้แค่สแตนดาร์ดเมืองไทย ผมไม่ได้ดูถูกสแตนดาร์ดเมืองไทยนะ ของผมได้อเมริกันสแตนดาร์ด
มีผมแห่งเดียวในประเทศที่ได้ แต่ที่ผมกลัวก็คือญี่ปุ่น ใครๆ ก็รู้ว่าญี่ปุ่นขายกันยังไง
ผมกลัวไอ้ยุ่นเอาไปกิน" เมื่อบริษัทเมืองไทยกำลังสาดโคลนเข้าใส่กันอย่างเต็มที่
บริษัทญี่ปุ่นและเกาหลีก็คงดีใจแล้วนั่งดูคนไทยตีกันอย่างสนุก
"ผมอยากให้โรงงานอุตสาหกรรมในประเทศสามัคคีกัน ที่จุดนี้ถ้าเรามีความสามัคคีกันกรุงศรีอยุธยาย่อมไม่มีวันแตก
ถ้าผมสามัคคีกันได้ 3 โรงงาน ต่างชาติก็เข้ามาในประเทศไม่ได้ แต่ผมเป็นเพียงบริษัทเล็กๆ ทำอะไรไม่ได้
บริษัทใหญ่อย่างศิริวิวัฒน์เขาไม่ยอมรับ เขาต้องการปฏิเสธและหาว่าผมชวนทะเลาะวิวาท"
เกียรติพงศ์ออกความเห็น
ยังมีปัญหาอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกมองข้ามไปเพราะมันจะเป็นผลที่ตามมาของปัญหาเหล่านี้และเป็นปัญหาที่สำคัญมากที่สุดด้วย
คือผลที่เกิดขึ้นต่อ กฟภ. และบานปลายไปถึงการพัฒนาประเทศด้วย
การตัดราคากันมากๆ ก็ดีจนทำให้มีข่าวลือว่า กฟภ. ได้สินค้าที่มีคุณภาพต่ำ เพราะบริษัทที่ประมูลได้ต้องไปลดต้นทุนให้ต่ำลง
โดยการนำวัสดุที่คุณภาพไม่ดีเท่าที่ควรมาทำหม้อแปลง หรือการที่บริษัทต่างๆ ไม่สามารถผลิตหม้อแปลงส่งตามกำหนดได้ทัน
ทำให้โครงการพัฒนาชนบทของ กฟภ. ต้องเลื่อน ต้องรอกันต่อไปอีก ในเรื่องนี้แม้จะมีมาตรการปรับอยู่ทั้งสองกรณีก็ตามแต่
มองดูเผินๆ แล้วจะช่วยทำให้ กฟภ. มีรายได้จากเงินค่าปรับกันเป็นล้านๆ ก็จริงอยู่
แต่ชาวบ้านตามชนบทอีก 65% ของคนทั้งประเทศที่ไม่มีไฟฟ้าใช้จะต้องรอกันอีกนานเท่าไหร่
สมมุติส่งงานช้าไป 1 เดือน บริษัท ที่ประมูลได้มีปัญหาจ่ายเงินค่าปรับให้แก่
กฟภ. ส่วน กฟภ. เมื่อได้เงินแล้วก็นั่งรอต่อไป ถ้าเดือนหน้าผิดสัญญาส่งช้าอีก
ก็รอรับเงินปรับกันอีก แต่ตาสี ตาสาตามชนบทล่ะ แทนที่จะได้เห็นแสงสว่าง ได้สัมผัสกับความเจริญในเดือนนี้ก็ต้องเลื่อนและเลื่อนต่อไปอีก
แล้วเมื่อไหร่พวกเขาจึงจะได้มีบุญเห็นแสงสว่างเหมือนคนกรุงเทพฯ เสียที ทั้งๆ ที่เขาก็เป็นคนไทยและอาศัยอยู่บนแผ่นดินไทยเหมือนคนกรุงเทพฯ
เรื่องนี้ "ผู้จัดการ" ได้สอบถามไปยังท่านผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าเรื่องจริงๆนั้นเป็นเช่นที่กล่าวมาไหม
ก็ได้รับคำตอบชี้แจงจาก กฟภ. ดังนี้ "เรื่องใบปลิวนั้นเป็นเรื่องของบริษัทผลิตหม้อแปลงเขาตีกันเอง
กฟภ. นั้นไม่เกี่ยวข้องด้วย แล้วข้อความในใบปลิวนั้นก็ไม่เกี่ยวกับ กฟภ. ดังนั้น เราจึงคิดว่า
ไม่ต้องชี้แจงใดๆ" ว่าแล้ว กฟภ. ก็ปิดปากเงียบไม่ยอมอธิบายถึงปัญหาที่จะกระทบกระเทือนถึงการพัฒนาชนบทหรือแม้แต่ในกรณีที่ใบปลิวกล่าวพาดพิงมาถึง
กฟภ. ว่า "ศิริวิวัฒน์เพิกเฉยไม่ได้มาเซ็นสัญญาตามกำหนด และ กฟภ. เองก็ยังไม่มีมาตรการในการนี้แต่อย่างใด
ทั้งที่โครงการพัฒนาใช้ไฟฟ้าในชนบทหลายแห่งไม่สามารถเบิกหม้อแปลงไปใช้ได้….ซึ่งการนี้น่าจะมีเงื่อนงำบางประการ"
จึงไม่ทราบว่าที่ท่านผู้ว่าฯ บอกว่าไม่เกี่ยวกับ กฟภ. นั้นเพราะเนื้อความระบุว่าเป็น
กฟภ. แต่มิได้ระบุว่าเป็นท่านผู้ว่า" ท่านจึงเห็นว่าเรื่องไม่ควรจะเกี่ยวกับตัวท่าน
แล้วก็มีคนเดือดร้อนแทน กฟภ. จนได้ "คนนั้น" พูดถึงกรณีนี้ว่า
"อันที่จริงแล้วทางนั้นเขาผิดสัญญาส่งของไม่ทันตามกำหนด บางโครงการที่ไม่เร่งด่วนก็รอกันได้
แต่บางโครงการที่รอไม่ได้ก็คงจะไปยืมหม้อแปลงของหน่วยงานอื่นมาใช้ก่อน แต่ก็มีบางโครงการที่ซื้อหม้อแปลงมาเก็บไว้ก่อน
ถ้าเป็นกรณีนี้ก็คงไม่มีปัญหาหรอก"
ถ้าเรื่องนี้จะให้อุทาหรณ์กับวงการธุรกิจแล้วละก็ มันก็น่าจะมีข้อคิดอยู่
2-3 ประการ เช่น
1. ในการทำธุรกิจนั้นจริงอยู่ถ้ามองในแง่ระบบเสรินิยมแล้วใครดีใครก็อยู่ไป
แต่นั้นก็ควรจะเป็นการแข่งขันที่มีกฎเกณฑ์และทรงความยุติธรรมไว้บ้าง
เพราะการที่ศิริวิวัฒน์หม้อแปลงไฟฟ้าถึงกับประกาศว่า จะตัดราคาจนคู่แข่งทั้งหมดอยู่ไม่ได้นั้น
มันแสดงถึงวิธีการทำธุรกิจแบบล้างแค้นมิใช่การแข่งขันกันธรรมดาในเรื่องราคาและคุณภาพแล้ว
จริงอยู่การทำเช่นนี้มันเป็นสิทธิของศิริวิวัฒน์ แต่ถ้าการที่ธุรกิจใหญ่กว่าเอาความใหญ่เข้ามาฆ่าธุรกิจเล็กกว่าแล้ววันหนึ่งในวงการหม้อแปลงไฟฟ้าอาจจะเหลือเพียงเจ้าเดียว
ก็จะเป็นดาบอีกคมหนึ่งที่การไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาคน่าจะระวังเอาไว้
ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฯ จะพูดอย่างภูมิใจว่า "ดีซิที่เราจะได้ซื้อหม้อแปลงในราคาถูก"
แต่ตรรกวิทยาและสามัญสำนึกน่าจะสั่งสอนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้พึงสังวรไว้ว่าราคาที่ได้มาทุกวันนี้เป็นราคาที่ผิดกฎเกณฑ์อย่างมาก
2. ความจริงแล้วในวงการหม้อแปลงไฟฟ้าก็มีผู้ทำอยู่เพียงไม่กี่ราย และเราก็เสียใจพร้อมทั้งเสียดายว่า
น่าจะสามัคคีร่วมกันทำงานได้แทนที่จะต้องหันเข้ามาปะทะกัน หรือว่าลักษณะนี้เป็นลักษณะธรรมชาติของนักธุรกิจไทยที่จะต้องประพฤติเช่นนี้
3. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเองก็น่าจะต้องมีบทบาทมากกว่าการนั่งเฉยและรอรับหม้อแปลงราคาถูกที่สุดและนั่งดูผู้ผลิตรายอื่นตายไป
บทบาทของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคควรที่จะต้องเป็นผู้ประสานงานและหาทางทำให้ผู้ผลิตเกิดความสามัคคีที่ไม่ได้เกิดการฮั้วกัน
จากราคาหม้อแปลงที่เคยขาย 100,000 บาทในปี 2525 ภายใน 1 ปีเท่านั้น มันไม่ใช่ลักษณะของการผลิตจำนวนได้มากและทำให้ราคาต่อหน่วยลดลงฮวบฮาบเช่นนี้
ปรากฎการณ์เช่นนี้น่าจะทำให้การไฟฟ้าภูมิภาคน่าจะดูออกว่า ต้นทุนจริงๆ ของผู้ผลิตอยู่ที่ใด
และถ้าขืนเป็นไปแบบนี้เรื่อยๆ การไฟฟ้าเองก็ควรจะถามว่า จะอยู่ได้อย่างไรถ้าไม่ลดคุณภาพ?