อุปกรณ์ไฮเทคที่ได้รับการวางให้เป็นพระเอกของปีนี้อย่าง “แท็บเลต” ได้โชว์รูปลักษณ์ใหม่ที่ทำให้กระดานชนวนอิเล็กทรอนิกส์ที่เราได้เห็นกันตั้งแต่ปี 2553 ที่ผ่านมา พลิกโฉมกลายพันธุ์ผสมผสานร่างไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของสไลด์ การถอดแยกประกอบร่าง บวกกับคีย์บอร์ดที่มีมาให้พร้อม คือนวัตกรรมที่บรรดาค่ายผู้ผลิตชั้นนำของโลกกำลังจะพาเหรดแท็บเลตพันทางมาให้เป็นทางเลือกสำหรับปี 2554 นี้
สิ่งที่ผู้บริโภคได้เห็นและสัมผัสจากงาน “International Consumer Electronics Show 2011” (CES) ณ ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา งานที่ได้ชื่อว่าเป็นงานมหกรรมแสดงสินค้าคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นงานอันดับหนึ่งของโลก ทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ “แท็บเลต” ที่นับจากนี้ไปจะไม่ได้มีเพียงแต่ “ไอแพด” ของแอปเปิล และ “ซัมซุงกาแล็คซี่แท็บ” เท่านั้นที่วาดลวดลายจนโด่งดังข้ามปี แต่จะมีผู้ผลิตทั้งรายใหญ่รายเล็กกระโดดเข้ามาเล่นในตลาดนี้
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเปิดตัว “แท็บเลต” รุ่นใหม่ออกสู่สายตาคนทั่วโลก คือการผสมผสานระหว่างแท็บเลตที่ถูกดีไซน์ให้ใช้งานได้แบบแท็บเลต และยังมีการเพิ่มในส่วนของคีย์บอร์ดในลักษณะเดียวกับโน้ตบุ๊ก แต่เป็นโน้ตบุ๊กที่สามารถถอดได้มาใช้งานในลักษณะของแท็บเลต และอีกหนึ่งการออกแบบคือในรูปลักษณ์ของสไลด์ ที่สามารถใช้งานแบบกระดานชนวนได้ และเมื่อสไลด์ขึ้น ผู้ใช้งานก็สามารถใช้คีย์บอร์ดที่ถูกทับอยู่ได้ทันที
อย่างค่ายยักษ์ใหญ่ไต้หวัน “อัสซุส” ได้นำเสนอโน้ตบุ๊กไฮบริดลูกผสมอย่าง Eee Pad Slider ที่มีขนาดหน้าจอถึง 10.1 นิ้ว ซีพียู Dual-Core Tegra 2 ทำงานด้วยระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ฮันนีโคม โดยจุดเด่นคือสามารถสไลด์คีย์บอร์ด QWERTY เลื่อนออกมาจากด้านหลังได้ อีกทั้งยังสามารถตั้งแท็บเลตขึ้นมาเป็นจอแบบโน้ตบุ๊ก เพื่อใช้พิมพ์ได้อย่างสะดวกมือ เวลาที่ไม่ต้องการใช้ระบบหน้าจอสัมผัสทัชสกรีน โดยจะวางจำหน่ายในเดือนพฤษภาคม ราคาอยู่ที่ 499-799 เหรียญฯ หรือประมาณ 15,000-24,000 บาท
ขณะที่ Eee Pad Transformer แท็บเลตที่มีความโดนเด่นไม่แพ้กัน จากดีไซน์สุดล้ำที่สามารถแปลงร่างเป็นโน้ตบุ๊กได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่เสียบกับคีย์บอร์ด QWERTY ที่มีลักษณะเหมือนแท่นรองรับ (docking station) พร้อมกับหน้าจอสัมผัสแบบ capacitive ขนาด 10.1 นิ้ว ทำงานด้วยระบบปฏิบัติการ Android 3.0 (Honeycomb) ซีพียู Dual-Core Tegra 2 เช่นกัน และมีกล้อง 2 ตัว ด้านหน้า 1.2 ล้านพิกเซล และด้านหลัง 5 ล้านพิกเซล สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายด้วย Wireless และ Bluetooth มีช่องเสียบพอร์ต HDMI, USB และช่องอ่านการ์ดหน่วยความจำ โดยจะวางจำหน่ายในเดือนเมษายน สนนราคาของ “ASUS Transformer” อยู่ที่ประมาณ 399-699 เหรียญฯ หรือประมาณ 12,000-21,000 บาท
ค่ายเลอโนโวเปิดตัว IdeaPad U1 ไฮบริดกับสเลตพีซี LePad โน้ตบุ๊กลูกผสม (Hybrid) ที่ใช้งานได้ทั้งเป็นโน้ตบุ๊กกับแท็บเลตในตัว นับเป็นสุดยอดมัลติมีเดียพกพาแบบทู-อิน-วัน ที่มาพร้อมกับสเลตพีซีความละเอียดสูงที่สามารถเข้าใช้งานแอนดรอยด์แอปพลิเคชั่น และแป้นคีย์บอร์ดสุดทันสมัยให้ประสบการณ์การใช้งาน Windows 7 อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ IdeaPad U1 ที่ไฮบริดกับสเลตพีซี LePad นั้นสามารถนำมาใช้งานร่วมกันได้เป็นอย่างดี หรือสามารถใช้งานแยกกันได้ตามวัตถุประสงค์ด้วยโหมด Hybrid Switch เพื่อสับเปลี่ยนการใช้งานระหว่างสองระบบปฏิบัติการ
LePad สะดวกแก่การพกพาด้วยน้ำหนักเพียง 0.9 กิโลกรัมและขนาดบางเพียงครึ่งนิ้ว ใช้หน่วยประมวลผล Snapdragon ของ Qualcomm สามารถใช้งานแบตเตอรี่ได้นานต่อเนื่องกว่า 8 ชั่วโมง มีให้เลือก 4 สีในแบบ 2 ผิวสัมผัส ได้แก่ สีแดงสด สีขาว พื้นหนังสีน้ำตาล และพื้นหนังสีดำ ทั้งนี้ สเลตพีซี LePad มาพร้อมกับหน้าจอความคมชัดสูง กว้าง 10.1 นิ้ว ที่ซึ่งสามารถแสดงผลได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน LePad สร้างบนระบบแอนดรอยด์ 2.2 พร้อมเทคโนโลยีเฉพาะของเลอโนโว
ซัมซุงแนะนำคอมพิวเตอร์พกพาแบบสไลด์ รุ่น “สไลดิ้ง พีซี 7” (Samsung Sliding PC 7 Series)” นิยามใหม่ของคอมพิวเตอร์ลูกผสมที่รวมเอาจุดเด่นของเน็ตบุ๊กและแท็บเลตพีซีไว้ด้วยกันพร้อมแป้นพิมพ์แบบสไลด์ ใช้ระบบปฏิบัติการ Microsoft Windows? 7 และโปรเซสเซอร์ Intel? Atom
ซัมซุงเชื่อว่าดีไซน์ของเน็ตบุ๊กในซีรีส์นี้มีความแตกต่าง และเหนือกว่าเน็ตบุ๊กทั่วไป ไมว่าจะเป็น การใช้จอสัมผัสสำหรับการใช้เป็นแท็บเลต ในขณะที่ด้านหลังสามารถเลื่อนสไลด์ คีย์บอร์ด QWERTY พร้อมทัชแพด ออกมาใช้งานเป็น “เน็ตบุ๊ก” ได้ด้วย อาจจะเรียกว่า มันเป็นการไฮบริด “แท็บเล็ต” กับ “เน็ตบุ๊ก” ก็ได้ “Samsung 7 Series” กำลังสร้างหมวดผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาด้วยตัวมันเองด้วยความเพียบพร้อมสมบูรณ์ ไม่เพียงแต่ดีไซน์ที่ให้ความสะดวกสบายในการเปิดรับคอนเทนต์ต่างๆ เท่านั้น แต่มันยังตอบโจทย์ในการสร้างสรรค์คอนเทนต์บนคอมพิวเตอร์อีกด้วย
สำหรับความเคลื่อนไหวของการเปิดตัวแท็บเลตค่ายอื่นๆ นั้น อย่างค่ายโตชิบาเตรียมเปิดแท็บเลต ขนาด 10.1 นิ้ว มาพร้อม USB HDMI เชื่อมต่อทีวี เปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ มีกล้องด้านหน้าและหลัง ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ Honeycomb
ส่วนค่ายเอชพีมีข่าวเตรียมเปิดแท็บเลตรองรับระบบปฏิบัติการ webOS หน้าจอขนาด 9.7 นิ้ว พร้อมกล้องด้านหน้าและหลัง มีพอร์ต USB 3.0 HDMI เชื่อมต่อไป HDTV รองรับการเชื่อมต่อไวแมกซ์ 4G
นอกจากนี้ค่ายโทรศัพท์มือถืออย่างเอชทีซี เปิดตัว HTC Scribe ขนาด 7 นิ้ว รองรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ Honeycomb เช่นเดียวกับค่ายดังเกาหลีอย่าง “แอลจี” ที่ส่งแท็บเลต Optimus Pad บน Honeycomb หน้าจอขนาด 8.9 นิ้ว มาพร้อมซีพียูจาก NVDIA dual-core Tegra 2 พร้อมกล้องด้านหน้าและหลัง รวมถึงโมโตโรล่าที่เปิดตัวแท็บเลตบนระบบปฏิบัติการ Honeycomb เช่นกัน โดยใช้ชื่อว่า “Xoom”
กูเกิลจะกินรวบ “แท็บเลต”
Honeycomb เจาะทุกค่าย
เมื่อกองทัพ “แท็บเลต” เตรียมทัพใหญ่ไว้อย่างพร้อมสรรพ ในภาคของระบบปฏิบัติการ มีส่วนสำคัญที่จะทำให้แท็บเลตติดลมบนยิ่งขึ้นไปอีก ล่าสุดทางกูเกิลก็ประกาศกลางงาน CES 2011 เปิดตัวระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 3.0 Honeycomb ชึ้นโชว์พร้อมแท็บเลต Motorola Xoom
โมโตโรล่าถือเป็นแบรนด์แรกที่กูเกิลเลือกให้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 3.0 หรือในรหัส Honeycomb ขึ้นเปิดตัวบนแท็บเลต Motorola Xoom
ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ตัวล่าสุดนี้จะถูกออกแบบมาเพื่อแท็บเลตโดยเฉพาะ ซึ่งแตกต่างกับระบบปฏิบัติการรุ่นก่อนหน้าที่มีผู้ผลิตหลายเจ้าพยายามดัดแปลงตัวระบบให้รองรับกับแท็บเลตของตนจนอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องการแสดงผลที่ไม่สมบูรณ์
Andy Rubin หัวเรือใหญ่ในการพัฒนาระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ได้ชี้แจงถึงเรื่องระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ สำหรับในเวอร์ชั่น 3.0 หรือในรหัส Honeycomb ได้มีการปรับปรุงในส่วนของการรองรับการแสดงผลสำหรับหน้าจอขนาดใหญ่ รวมถึงการปรับเปลี่ยนระบบ User Interface ใหม่ทั้งหมด และที่สำคัญคือในเวอร์ชั่นล่าสุดนี้ตัวระบบจะรองรับการทำงาน Multi-Tasking ได้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
ในส่วนการพัฒนาระบบการทำงานอื่นๆ อย่างในแอนดรอยด์มาร์เกตจะมีการเพิ่มเติมแอปพลิเคชั่นให้มากกว่าเดิมถึง 100,000 ตัว และในส่วนของซอฟต์แวร์จากกูเกิลเองจะมีการปรับปรุงและเพิ่มเติมในหลายส่วน เช่น แผนที่จะสามารถแสดงผลแบบ 3D interactions and offline reliability ได้ รวมถึงการเพิ่มคุณสมบัติ Video Call ข้ามแพลตฟอร์มบน Google Talk และในส่วนของเว็บเบราว์เซอร์จะมีการเพิ่มระบบแท็บหน้าเพจ, Auto Fill, Bookmark, และหน้าเว็บเพจแบบส่วนตัว รวมถึงแอปพลิเคชั่นอย่าง Google eBook จะถูกเพิ่มเข้ามาเพื่อจับตลาดสื่อสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังเริ่มได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน
ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 3.0 Honeycomb ยังสามารถรองรับกับหน่วยประมวลผลจากอินเทลอย่างอะตอม หรือฟิวชั่นจากเอเอ็มดีได้ เพื่อในอนาคตระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 3.0 จะขยายฐานตลาดไปจับกลุ่มแท็บเลตประสิทธิภาพสูง ตลาดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กหรือตลาดเน็ตบุ๊กได้ง่ายขึ้น
จากการเปิดตัวของเหล่าผู้ผลิตแท็บเลต เห็นได้ชัดว่าวันนี้ทุกค่ายพร้อมใจที่จะดึงเอาระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชั่นล่าสุดไปไว้บนผลิตภัณฑ์ของตนเอง งานกินรวบตลาดแท็บเลตมาไว้บนหน้าตักกูเกิลจึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่เป็นเรื่องยากสำหรับระบบปฏิบัติการอื่นๆ ที่จะมาแย่งตลาดนี้จากกูเกิล
|