|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
สองสิ่งที่ผู้บริโภคทั่วโลกต้องการอยากได้เป็นเจ้าของคงหนีไม่พ้น “แท็บเลต” และ “สมาร์ทโฟน” เพื่อไม่ให้ตกกระแสตกเทรนด์ที่เกิดขึ้น
ในทางกลับกันผู้ประกอบการก็เช่นเดียวกัน เมื่อกระแสของ “แท็บเลต” และ “สมาร์ทโฟน” เป็นที่ต้องการของตลาด ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะปฏิเสธการกระโดดเข้ามาร่วมวงนำเสนอสองผลิตภัณฑ์นี้สู่ตลาด
สิ่งที่ได้เห็นจากงานซีอีเอส 2011 ที่จัดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา คือเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าทั้งแท็บเลตและสมาร์ทโฟนจะพาเหรดครั้งใหญ่ที่สุดในปีนี้ เมื่อทุกค่ายผู้ผลิตระดับโลกพร้อมใจกันเปิดตัวผลิตภัณฑ์ให้ผู้คนทั่วโลกได้สัมผัสก่อนที่จะมีการวางขายจริงในช่วงเวลาต่างๆ ในปีนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อแบรนด์อินเตอร์ระดับโลกขยับรุกหนักแท็บเลตและสมาร์ทโฟน โลคัลแบรนด์สัญชาติไทยก็ต้องขยับรุกตลาดนี้เช่นกัน และในบรรดามือถือโลคัลแบรนด์ ชื่อของ “จีเนท” ถือได้ว่าเป็นแบรนด์ที่สร้างความฮือฮาอย่างมากนับตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำตลาด ด้วยการดึง น้องปอย ตรีชฎา เป็นพรีเซนเตอร์ จนสร้างชื่อเป็นที่รู้จัก
แต่สำหรับการรุกตลาดในปี 2554 นี้ จีเนทต้องการที่จะผลักดันแบรนด์ให้แรงไม่หยุดและดูเหมือนว่าจะให้แรงยิ่งกว่าเดิม โดยได้เตรียมแผนการรุกตลาด ด้วยการเตรียมรีแบรนด์-ปรับโพซิชันนิ่งใหม่ เพื่อรุกตลาดสมาร์ทโฟน-แท็บเลตพีซีที่กำลังแข่งขันกันอย่างถึงพริกถึงขิงในห้วงเวลานี้
ในช่วงการเปิดศักราชปีเถาะได้ไม่นาน “จีเนท” ก็ออกตัวแรงทันที ด้วยการประกาศกร้าวที่จะนำสมาร์ทโฟนและแท็บเลต เข้ามาทำตลาดท้าชนอินเตอร์แบรนด์ด้วยความมั่นใจเกินร้อย
วุฒิ จารุวัชรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเนท อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ให้สัมภาษณ์กับผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์ ว่า สมาร์ทโฟนและแท็บเลตพีซีเป็นตลาดที่มาแรง จีเนทได้เกาะติดและเฝ้ามองตลาดนี้อยู่เช่นกัน แต่ไม่ได้รีบร้อนที่จะต้องเร่งรีบนำแท็บเลตและสมาร์ทโฟนมาทำตลาดทันที
“เรามีแผนจะนำทั้งสองผลิตภัณฑ์เข้ามาทำตลาดในไตรมาส 2 ปีนี้”
ต้องบอกว่า การที่จีเนทมีแผนจะนำสมาร์ทโฟนและแท็บเลตเข้ามาทำตลาด อาจไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับคนในวงการโทรคมนาคมมากนัก เพราะจะว่าไปแล้วก็ถือเป็นการเพิ่มไลน์สินค้า และที่สำคัญถือเป็นสินค้าที่กำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง จึงเท่ากับเป็นการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ
แต่สำหรับจีเนทแล้ว วุฒิ ยอมรับว่า เป็นสิ่งท้าทายจีเนทอย่างมาก เพราะไม่ใช่แค่การขยายไลน์นำมือถือใหม่เข้ามาทำตลาดเท่านั้น โดยความท้าทายที่ว่า คือ 1.สมาร์ทโฟนเป็นมือถือที่มีความสามารถมากกว่ามือถือฟีเจอร์โฟนทั่วไป ในขณะที่แท็บเลตเป็นอุปกรณ์กึ่งๆ คอมพิวเตอร์ 2.ราคาของสมาร์ทโฟนและแท็บเลตพีซีค่อนข้างสูง จึงสวนทางกับตำแหน่งทางการตลาดเดิมของจีเนทที่จับกลุ่มตลาดล่าง และ 3.พฤติกรรมการซื้อสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับแบรนด์เป็นหลัก
เพราะฉะนั้น งานนี้จึงไม่หมูสำหรับจีเนท!
แต่เมื่อจีเนทคิดจะทำอะไรแล้ว วุฒิ บอกว่า ก็ต้องรุกเต็มที่แน่ แต่สิ่งสำคัญจีเนทต้องศึกษาตลาดให้รอบคอบ และต้องให้ฐานเดิมมีความแข็งแกร่งก่อน เพราะหากฐานของบ้านแข็งแรง การจะขยายฐานไปสู่ตลาดใหม่ๆ ก็ง่ายขึ้น
“ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่เรารุกให้บริการหลังการขาย มีการเปิดศูนย์บริการ 7 แห่ง เป็น 14 แห่งครอบคลุมทั้งประเทศ และปีนี้จะขยายเพิ่มอีก 5 แห่ง รวมถึงเพิ่มช่องทางกระจายสินค้า ทั้งทางโมเดิร์นเทรด และจีเนท เอ็กซ์เพรส เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า”
วุฒิ บอกว่า ตอนนี้หลังบ้านของจีเนทมีความแข็งแรงและพร้อมมากขึ้นแล้ว สเตปถัดมาที่จีเนทต้องเร่งคิดและทำขนานใหญ่ต่อไป ก็คือ แบรนด์และตำแหน่งทางการตลาด ซึ่งเบื้องต้นอาจจะมีการรีแบรนด์พร้อมปรับตำแหน่งการตลาดใหม่ เพื่อให้เข้ากับผลิตภัณฑ์ กลุ่มเป้าหมาย และราคา
“ตอนนี้อยู่ระหว่างการทำวิจัยเรื่องแบรนด์และโพซิชันนิ่งใหม่ คาดว่าทุกอย่างจะสรุปในไตรมาส 1”
ไม่เพียงเท่านั้น จีเนทยังต้องเดินเครื่องฝึกอบรมบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจทั้งในแง่เทคนิคและบริการเพิ่มขึ้นด้วย เพราะอย่างที่บอกไว้ในตอนต้น สมาร์ทโฟนเป็นมือถือที่มีความสามารถมากกว่าฟีเจอร์โฟน ในขณะที่แท็บเลตนั้น มีความเป็นคอมพิวเตอร์ ทำให้บุคลากรต้องมีความเชี่ยวชาญพิเศษมากขึ้น
นอกจากการปรับแบรนด์และโพซิชันนิ่งเพื่อรองรับสมาร์ทโฟนและแท็บเลตพีซีแล้ว ปีนี้ยังเป็นปีที่จีเนทยังประกาศกร้าวที่จะก้าวขึ้นสู่อันดับ 1 ในตลาดมือถือในแง่วอลุ่มด้วย ที่ผ่านมาเฉพาะเดือนธันวาคม 2553 จีเนททำยอดขายได้ 3 แสนเครื่อง รวมทั้งปีได้ 2 ล้านเครื่อง ซึ่งหากจีเนททำทุกอย่างได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ผู้บริหารก็มั่นใจว่าจีเนทจะไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ ที่สำคัญงานนี้เป็นการคว่ำแบรนด์เจ้าตลาดอย่างโนเกีย ซัมซุง และไอ-โมบายได้ด้วย
เวลคอมออกตัวเร็ว
สมาร์ทโฟน-แท็บเลต
ที่ผ่านมา “เวลคอม” คือหนึ่งในแบรนด์มือถือสัญชาติไทยอันดับแรกที่ก้าวมารุกตลาดแท็บเลตและสมาร์ทโฟนแบบเต็มๆ หลังจากวิเคราะห์สภาพตลาดโดยรวมของการแข่งขันในตลาดมือถือโดยรวมแล้ว เริ่มที่จะเสียเปรียบค่ายอินเตอร์ยักษ์ใหญ่อย่างโนเกียและซัมซุง ที่ทุบราคาโทรศัพท์มือถือลงมาชนกับโลคัลแบรนด์
สมชาย รวมก้อนทอง ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท นิวส์เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้จำหน่ายมือถือยี่ห้อ “เวลคอม” กล่าวไว้ว่า เวลคอมได้ปรับกลยุทธ์ในการขยายตลาดสมาร์ทโฟนมากขึ้น เพื่อสร้างความแตกต่างจากเฮาส์แบรนด์รายอื่นๆ ที่ยังเน้นฟีเจอร์โฟน รวมถึงเป็นการช่วยเพิ่มมาร์จิ้นของเวลคอมด้วย เนื่องจากเวลคอมเห็นกระแสของตลาดและความต้องการสมาร์ทโฟนของคอนซูเมอร์ จากปัจจุบันสมาร์ทโฟนมีส่วนแบ่งในตลาดรวมมือถือ 7-8% คาดว่าปีนี้จะเพิ่มสัดส่วนเป็นตัวเลข 2 หลัก
นอกจากนี้ยังมีการวางจำหน่ายแท็บเลตภายใต้แบรนด์ของตนเองในช่วงปลายปี 2553 ที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อ “WePad A800” เป็นครั้งแรกกับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 2.2 หน้าจอ 7 นิ้ว ราคา 15,900 บาท ผลปรากฏว่าสินค้าล็อตแรกจำนวน 2,000 เครื่องจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็ว
การที่เวลคอมตัดสินใจเข้าสู่ตลาดแท็บเลต เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงจังหวะของตลาดที่แนวโน้มสินค้าประเภทนี้กำลังมา โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของไอแพดและผู้ผลิตแท็บเลตแบรนด์อื่นๆ เช่น ซัมซุง กาแล็คซี่แท็บ, เอเซอร์, เดลล์ และแบล็กเบอร์รี่ ทำให้เวลคอมเห็นโอกาสจึงพัฒนาแท็บเลตระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เวอร์ชั่นภาษาไทยเจ้าแรกออกสู่ตลาดเพื่อจับกลุ่มคอนซูเมอร์ในเมือง ปัจจุบันจำหน่ายสินค้าตามร้านตัวแทนจำหน่ายของเวลคอม และมีแผนจะขยายไปยังช่องทางร้านไอทีอื่นๆ ในอนาคต
โซเชียลเน็ตเวิร์กโฟน
สมาร์ทโฟนแบบไทยๆ
ตลาดมือถือสัญชาติไทยยังได้เห็นการแจ้งเกิดของแบรนด์น้องใหม่ที่พร้อมเข้ามาชิมลางทำตลาด แต่ก็ต้องแลกกับไอเดียเด็ดๆ ดีๆ ที่จะเข้ามาสร้างเป็นจุดขาย อย่างแบรนด์ “สปริง” ที่เข้ามาทำตลาดพร้อมกับการสร้างสมาร์ทโฟนให้กลายเป็น “โซเชียลเน็ตเวิร์กโฟน” คือหนึ่งสีสันใหม่ให้กับตลาดมือถือไทยในช่วงนี้
บริษัท สปริง เทเลคอม คือผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนโลคัลแบรนด์น้องใหม่ “สปริง” โดยสปริงมีแผนวางจำหน่าย และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 มกราคมนี้ร่วมกับเอไอเอส ซึ่งโทรศัพท์มือถือรุ่นแรกที่นำเข้ามาทำตลาดคือ สปริง สไมล์ หน้าจอสัมผัส บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 2.1 ราคา 6,850 บาท ตัวเครื่องออกแบบจากประเทศสวีเดน ส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ผลิตโดยบริษัท หัวเหว่ย ประเทศจีน
เห็นได้ชัดว่าโทรศัพท์ดังกล่าวถือเป็นสมาร์ทโฟนระดับล่าง แต่จะเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กโฟนครบวงจร เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่เพิ่งเริ่มใช้งานสมาร์ทโฟนเครื่องแรก โดยคุณสมบัติเด่นของตัวเครื่อง มีฟังก์ชั่นการใช้งานโปรแกรมแชตได้ตลอดเวลาผ่านสปริง แอปพลิเคชั่น
แบรนด์สปริงจะเน้นการพัฒนาแอปพลิเคชั่นสร้างคอมมูนิตี้ ให้สมาร์ทโฟนกลายเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กโฟน ช่วยให้ผู้ใช้สามารถติดต่อสื่อสารเข้าหากัน พร้อมอัปเดตข้อมูลข่าวสารโปรโมชั่นต่างๆ โดยไม่จำกัดอยู่บนโอเอสใดโอเอสหนึ่ง ในเบื้องต้นสปริงแพลตฟอร์ม จะถูกบันเดิลมาพร้อมกับสมาร์ทโฟนในแบรนด์สปริงเท่านั้น แต่ภายในไตรมาส 1 ผู้ใช้สมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการอื่นๆ จะเริ่มเห็นแอปสปริงขึ้นไปให้ดาวน์โหลดกัน ทั้งภายในแอนดรอยด์ มาร์เกตเพลส, แบล็กเบอร์รี่ แอปเวิลด์ และแอปสโตร์ ของแอปเปิล ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงการพัฒนา
สำหรับปีนี้ สปริงวางแผนทำตลาดโทรศัพท์มือถือทั้งหมด 3 รุ่น คือรุ่นสำหรับตลาดเอนทรี ที่ใช้ทำตลาดในปัจจุบัน รุ่นในกลุ่มมิดเทียร์ สเปกกลางๆ ราคากลางๆ และไฮเอนด์ สำหรับผู้ที่ต้องการเครื่องประสิทธิภาพสูง ซึ่งราคาของแต่ละรุ่นก็จะแตกต่างกันออกไป แต่เชื่อว่าจะทำราคาให้ผู้บริโภคสามารถจับต้องได้ ซึ่งอีก 2 รุ่นน่าจะมาในช่วงครึ่งปีหลัง
ในแง่การตลาด สปริงจะใช้ช่องทางจำหน่ายของบริษัท ไวร์เลส ดีไวซ์ ซัพพลาย (WDS) ผ่านร้านเทเลวิซ นอกจากนี้ สปริงยังมีกิจกรรมการตลาดเช่นร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้การสนับสนุนในการนำสปริงแพลตฟอร์ม เข้าไปใช้ในงานกิจกรรมมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ให้แบรนด์เป็นที่รับรู้มากขึ้น
|
|
|
|
|