ราวเดือนสิงหาคมของปีที่ผ่านมา วิเชฐ ตันติวานิช ได้รับการทาบทามจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผ่านทาง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เข้ามาช่วย “บูม” หลักสูตรการสร้างและพัฒนา Creative Enterpreneurship ด้วยความมุ่งหวังว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตัวได้
“ปรัชญาคือให้ผู้ประกอบการประหยัดเวลาในการสร้างธุรกิจ คือเลิกลองผิดลองถูก เลิกเดา เลิกเสียเวลาทดลองด้วยตนเอง ผ่านการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จแล้วว่ามีอะไรบ้างที่ควรทำ ไม่ควรทำ จึงดึงผมมา เพราะผมอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์ และอยู่ที่นั่นมา 8 ปี มีเครือข่ายธุรกิจที่รู้ดีว่าธุรกิจที่ประสบความสำเร็จคืออะไร” วิเชฐ ตันติวานิช ประธานกรรมการบริหาร สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (Creative Enterpreneurship Development Institute Bangkok University) ที่เรียกสั้นๆว่า CEDI กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์”
สถาบัน CEDI หรือที่เรียกแบบไทยๆ ว่า “เซดี้” ก่อตั้งมาแล้ว 2 ปี เป็นหลักสูตรสั้นๆ ที่ต้องการให้ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของธุรกิจครอบครัวมาเรียน โดยใช้ตำราการเรียนการสอน และคณาจารย์จากบางส่วนจาก Babson College ที่มีชื่อเสียงในหลักสูตรด้านการสร้างผู้ประกอบการ การันตีได้จากการได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ด้านการสร้างผู้ประกอบการ 17 ปีซ้อน เนื่องจากการเรียนการสอนของสถาบันแห่งนี้บริหารโดยผู้ประกอบการที่ผ่านการปฏิบัติ และประสบในการทำธุรกิจมาแล้ว ไม่เหมือนกับบางแห่งที่มักนำผู้ที่จบปริญญาเอก แต่ไม่เคยมีประสบการณ์การบริหารธุรกิจของตนเองมาสอน
ช่วงที่ผ่านมามหาวิทยาลัยกรุงเทพได้จับมือกับมหาวิทยาลัย Babson เปิดคอร์สสอนผู้ประกอบการเป็นภาษาอังกฤษผสมกับภาษาไทยมาแล้ว 3 รุ่นมีผู้เข้าเรียนประมาณ 50 คน ทั้งหมดเป็นหลักสูตรเกี่ยวกับแฟมิลี่ บิสสิเนส นำรุ่นลูกมาเข้าชั้นเรียนเพื่อเรียนรู้วิธีการถ่ายโอนธุรกิจจากรุ่นพ่อว่าทำอย่างไร ซึ่งหลักสูตรประเภทนี้ไม่ใช่แค่ CEDI เท่านั้นที่เปิดสอน แต่ศศินทร์ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็มีความพยายามที่จะเปิดหลักสูตรแบบนี้ด้วยเช่นกัน
ปั้น 3 หลักสูตรสร้างรากแก้ว
ดังนั้น เพื่อสร้างความแตกต่าง และสอดคล้องกับการพัฒนาผู้ประกอบการ เนื่องจากเห็นว่าโลกธุรกิจปัจจุบันที่ถูกครอบด้วยระบบเสรีทางการค้า แต่ละประเทศต้องมุ่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับตนเอง “ผู้ประกอบการรายย่อย” หรือกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ถือได้ว่าเป็นดัชนีที่สำคัญในการพัฒนาประเทศให้แข็งแกร่ง วันนี้ผู้ประกอบการของธุรกิจต่างๆ ในเมืองไทยที่จดทะเบียนอยู่ในกระทรวงพาณิชย์มีกว่าล้านบริษัท โดยกว่าร้อยละ 90 เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเปรียบได้กับรากแก้วของเศรษฐกิจไทย ถ้าธุรกิจเอสเอ็มอีมีความมั่นคงและสามารถพึ่งตนเองได้ ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมมั่นคงและสามารถแข่งขันกับต่างชาติได้
ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้เล็งเห็นประโยชน์และความสำคัญจึงก่อตั้งสถาบันพัฒนาผุ้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์ โดยร่วมมือกับ Babson Collegeโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดความรู้ของผู้ประกอบการที่มีคุณภาพในต่างประเทศมาสู่ผู้ประกอบการไทย
สถาบันเซดี้ได้พัฒนาหลักสูตรต่างๆมากมาย โดยการเรียนการสอนจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์ เน้นศึกษาจากประสบการณ์ในชีวิตจริง จากผู้มีประสบการณ์จากองค์กรชั้นนำที่ประสบความสำเร็จในการสร้างธุรกิจของตนเองมาแล้ว และการฝึกจำลองบทบาททางธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าอบรมมีโอกาสได้รับประสบการณ์การบริหารธุรกิจในส่วนต่างๆขององค์กร อีกทั้งยังแยกสอนตามลักษณะของธุรกิจเพื่อให้สามารถสอนได้ลึกและตรงจุด ช่วยลดระยะเวลาการลองผิดลองถูกให้กับผู้ประกอบการ
ล่าสุดสถาบันเซดี้ ได้ผนึกกำลังกับพันธมิตรจาก 10 องค์กรได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์, กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์, สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) , สำนักงานคณะกรรมการกำกับการส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.), สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ, ธนาคารกรุงเทพ, สถาบันพัฒนาธุรกิจครอบครัว, โรงเรียนจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยวนานาชาติ (i-tim)
เพื่อร่วมสร้างหลักสูตรพิเศษที่พัฒนาให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของแต่ละหน่วยงาน เพื่อใช้ในการอบรมให้กับบุคลากรในแต่ละหน่วยงาน รวมไปถึงผุ้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในสังกัดขององค์กรดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้เปิดหลักสูตรสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าร่วมอบรม โดยแบ่งการอบรมตามลักษณะผู้ประกอบการ
“เซดี้ในวันนี้เรียกว่า Evolutionใหม่ เราค่อยๆพัฒนาใหม่ โดยแบ่งลูกค้า หรือคนที่จะมาเรียนกับเราออกเป็น 3 กลุ่ม” ประธานกรรมการบริหาร เซดี้ อธิบาย
หลักสูตรแรก ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัท (Start Up) การจัดตั้งธุรกิจใดๆขึ้นมาใหม่นั้น ถ้าเริ่มต้นในแบบที่ถูกต้องจะทำให้ธุรกิจเติบโตเร็วขึ้นมาก โดยเซดี้จะสอนในเรื่องของ การวางโครงสร้างบริษัทที่ดี การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพควรเป็นอย่างไร รวมถึงการอบรมเพื่อบ่มเพาะจิตวิญญาณของผู้ประกอบการให้แก่ผู้เข้ารับการศึกษา เพื่อสร้างผู้ประกอบการตัวจริงที่มีมุมมองความคิด บุคลิกและการกระทำอย่างผุ้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ
“กลุ่มนี้อาจจะยังไม่เคยทำอะไรมาก่อนเลย เช่นกลุ่มที่เพิ่งจบ กลุ่มที่เป็นลูกจ้างออกมาอยากทำธุรกิจของตนเอง อาจจะมีไอเดีย หรือไม่มีไอเดียก็ได้ กลุ่มนี้เราจะเปิดหลักสูตรที่จะสอนเขาว่า ควรจะเริ่มต้นอย่างไร ตั้งแต่การทำเรื่องโครงสร้างธุรกิจ โครงสร้างบริษัท การใช้ระบบบัญชีที่ถูกต้อง การมีบรรษัทภิบาลที่ใส่เข้าไปตั้งแต่แรก มีเรื่องการรับผิดชอบต่อสังคม รวมไปถึงการใส่จิตวิญญาณของความเป็นนักธุรกิจเข้าไป กลุ่มสตาร์ทอัพเป็นกลุ่มแรกที่เราคลาสสิฟายด์ไว้”
หลักสูตรที่สอง การขยายตัวของบริษัท Expansion สำหรับบริษัทที่เปิดตัวมานานแล้ว การขยายธุรกิจที่ดีต้องมีแผนที่ดีมั่นคงและใช้ได้จริง โดยการดำเนินการตามแผนจะต้องมีภาวะผู้นำ และสามารถตัดสินใจในภาวะวิกฤต โดยขยายตัวตามแผน และปรับตัวไปตามสถานการณ์ ไม่ใช่การปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์หรือกระแสโลก อีกทั้งยังต้องมีความสามารถในการต่อรองทางธุรกิจ และมีมุมมองที่ชัดเจนต่อตลาดโลก
“เป็นกลุ่มที่ต้องการขยายจากธุรกิจที่สร้างเอาไว้แล้ว กลุ่มนี้ต้องการความรู้อีกด้านที่ไม่ใช่สตาร์ทอัพ ตรงนี้มีเรื่องของภาวะผู้นำ เรื่องของ critical thinking เรื่อง Dicission Making เรื่อง Crisis Management เรื่องของการบริหารความเสี่ยง หรือแม้กระทั่งเรื่องของเทคนิคในการต่อรอง รวมถึงเรื่องของโกลบอล หรือ International Perspective ให้มุมมองที่กว้างออกไปกว่าในประเทศ เพราะการขยายตัวมันต้องการสิ่งเหล่านี้ทั้งสิ้น หลักสูตรของกลุ่มนี้จึงเน้นทางด้านนี้ทั้งหมด เพื่อให้เกิดการขยายตัวได้”
หลักสูตรที่สาม การสืบทอดธุรกิจภายในครอบครัว (Trans-generation) จากการศึกษาการสืบทอดธุรกิจแบบรุ่นต่อรุ่นได้พบว่า ส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะเกิดปัญหาขึ้น เพราะความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในแนวคิดการดำเนินธุรกิจของคนรุ่นส่งมอบ และรุ่นสืบทอด จึงทำให้เกิดการล่มสลายของธุรกิจในรุ่นสืบทอดบ่อยครั้ง หลักสูตรพิเศษนี้จึงถูกจัดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ในการสร้างความเข้าใจร่วมกับระหว่างผู้ประกอบการรุ่นส่งมอบ และรุ่นสืบทอด โดยผู้มีประสบการณ์จากเซดี้ จะเป็นดั่งคนกลางในการหาช่องว่าง และความแตกต่างในแนวคิดการดำเนินธุรกิจภายในครอบครัวพร้อมกลบช่องว่างนั้น
“เป็นกลุ่มที่เราจับไว้แต่เดิมคือถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง กลุ่มนี้อาจจะสำเร็จหรืออาจไม่สำเร็จเต็มที่ก็ไม่รู้ แต่จะต้องมีการถ่ายจากรุ่นพ่อไปรุ่นลูก เราเน้นเรื่องของการปิดช่องว่างทางความคิดระหว่างคนสองวัย เน้นเรื่องการวางกลยุทธ์ร่วมกัน และต้องทำงานร่วมกันอย่างไร เพราะหากปิดกั้นระหว่างคน 2 รุ่นไม่ได้ Vision Mission กับ Corporate Strategy จะออกมาคนละเรื่อง มีสถิติเวลาส่งมอบธุรกิจไปแล้วก็คือ รุ่นหนึ่งจน รุ่นสองรวย รุ่นสามเจ๊ง นี่คือสถิติทั่วโลก 3 เจเนอเรชั่นไปหมด เพราะเมื่อมาถึงรุ่นลูกแล้วลูกจะคิดอน่างเดี่ยวคือการขยาย ทั้งที่ไม่รู้เลยว่าขยายธุรกิจไปเพื่ออะไร เลยเจ๊งง่ายเพราะใช้เงินเยอะ รวมทั้งในช่วงนี้จะมีพวกมืออาชีพเข้ามาทำงานในองค์กรด้วยเยอะมาก การผสมผสานการทำงานระหว่างพ่อที่ยังอยู่ กับลูกที่กำลังเข้ามา และมืออาชีพกำลังเข้ามาเสียบ ช่วงเวลาแบบนี้มันจะเจ๊งง่าย”
นอกจากหลักสูตรพื้นฐานทั้ง 3 ข้างต้นแล้ว ยังมีการสอนแบบเข้มข้นเจาะลึก Extended Program นอกจากนั้นยังให้คำปรึกษาทางธุรกิจและจัดการวางแผนทางการเงิน Consultancy& Wealth Management อีกด้วย
ที่ผ่านมาทางเซดี้ได้จัดเสวนาพิเศษ “กว่าจะเป็นมังกร” โดย ทศ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด วิชา พูนวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ชนิตร ชาญชัยณรงค์ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์
อัพเดดล่าสุด 1/14/2011 2:29:00 PM โดย Chaotip Kleekhaew
หมายเหตุ เส้นแบ่งข่าว หมายถึง ข่าวถูกแบ่งเป็นหน้า ๆ
keyword :
Close
|