|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แม้บางฝ่ายจะกล่าวว่าเวียดนามขายข้าวตัดราคา ขายข้าวคุณภาพต่ำหรือค้าขายแบบ "ไม่แฟร์" ก็ตาม แต่ผลลัพธ์ก็คือ ปี 2553 ประเทศที่มีประชากรต้องเลี้ยงดูเกือบ 80 ล้านคนแห่งนี้ มีข้าวเหลือบริโภคและส่งออกได้ถึง 6.88 ล้านตัน ซึ่งเป็นสถิติใหม่
ตัวเลขนี้ใหม่ทำให้เวียดนามขยับเข้าใกล้ประเทศไทยมากขึ้น ในฐานะผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก และหากไม่มีอุปสรรคสำคัญ คืออุทกภัยใหญ่ที่เกิดซ้ำซ้อนใน 7 จังหวัดภาคกลาง เวียดนามก็อาจจะทำได้ตามความคาดหวังอันทะเยอทะยาน 7.5 ล้านตัน เทียบกับปริมาณ 9.5 ล้านตัน ตัวเลขส่งออกข้าวไทย
โชคดีอู่ข้าวใหญ่ที่สุดของประเทศคือ เขตที่ราบปากแม่น้ำโขงไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากภัยธรรมชาติ เช่นเดียวกับนาข้าวในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำแดงทางเหนือ แต่เมื่อเกิดภัยพิบัติใหญ่ ก็ทำให้ต้องโยกย้ายข้าวอยู่ไปเลี้ยงดูผู้ประสบเคราะห์ ส่งผลกระทบต่อยอดส่งออก
ปริมาณส่งออกเมื่อปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 15.4% จากปี 2552 ทำรายได้เข้าประเทศ 3,230 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 21.2% หนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋ (Tuoi Tre) รายงานโดยอ้างตัวเลขกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท
ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและอินโดนีเซียที่เคยเป็นตลาดของไทยเมื่อก่อน ได้กลายเป็นตลาดข้าวเวียดนามมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก ซื้อจากเวียดนามมากที่สุดในช่วง 3-4 ปีมานี้
ความต้องการข้าวในตลาดโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุทกภัยและภัยพิบัติอื่นๆ ในหลายท้องถิ่น ผู้ผลิตข้าวรายใหญ่รวมทั้งจีนอินเดีย ปากีสถานล้วนผลิตข้าวได้น้อยลง ซึ่งจะทำให้ราคาในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น เปิดโอกาสให้แก่ข้าวเวียดนามที่มีขายราคาต่ำกว่าข้าวไทย 30-50 ดอลลาร์ต่อตัน เทียบชนิดต่อชนิด
บริษัทดุ๊กซ์ตันในสิงคโปร์พยากรณ์ว่า ราคาข้าวในตลาดจะพุ่งขึ้น 3 เท่าตัวในช่วง 18 เดือนข้างหน้าด้วยปัจจัยหลากหลาย
นายฝั่มวันเบ่ย (Pham Van Bay) ประธานสมาคมอาหารเวียดนาม หรือ VietFood กล่าวว่า ยังไม่มีปัจจัยอื่นใดที่บ่งชี้ว่าราคาข้าวจะตกลงในช่วงต้นปี 2554 นี้ มีแต่แนวโน้มสูงขึ้น สะท้อนจากราคาธัญญาหารอื่นๆ รวมทั้งข้าวโพด ถั่ว และข้าวสาลี ที่เพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2553
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือ FAO พยากรณ์ในรายงานที่ออกช่วงปลายเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว ระบุว่า ปี 2554 ปริมาณข้าวในตลาดโลกอาจจะลดลงราว 2% เหลือเพียง 30.5 ล้านตัน เนื่องจากทุกแห่งผลิตได้น้อยลง รวมทั้งในเวียดนามด้วย
เจ้าหน้าที่ VietFood กล่าวว่า เพื่อรักษาตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 2 เวียดนามจำเป็นจะต้องเร่งพัฒนาระบบสตอก และก่อสร้างยุ้งฉางสำหรับจัดเก็บเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถควบคุมตลาดได้ ปัจจุบันเวียดนามยังขาดยุ้งสำหรับเก็บข้าวสารอีกมาก ทำให้ต้องเร่งระบายข้าวออก แม้กระทั่งในช่วงที่ราคาตกต่ำ
หลายฝ่ายกล่าวว่าอนาคตข้าวเวียดนามแจ่มใสมากในปีกระต่าย และ VietFood ได้ตั้งเป้าส่งออกต้นปีเอาไว้ที่ 1.3 ล้านตันโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดอินโดนีเซียซึ่งแสดงความประสงค์จะซื้อข้าว 1.5 ล้านตัน
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไซ่ง่อนหยายฟอง (Saigon Giai Phong) ต้นเดือน ม.ค. เวียดนามได้เซ็นสัญญาขายข้าวประเดิม 250,000 ตันให้บังกลาเทศ โดยส่งมอบทันที่ในเดือน ม.ค. กับ ก.พ. ปีที่แล้วบังกลาเทศซื้อจากเวียดนาม 400,000 ตัน
สำหรับฟิลิปปินส์ลูกค้ารายใหญ่เจ้าเก่า ปีนี้แสดงความประสงค์จะนำเข้าข้าว 1.5-2 ล้านตัน เวียดนามอาจจะขายให้ได้ราว 1 ล้านตันเท่านั้น ขณะที่มาเลเซียแสดงความประสงค์จะนำเข้าทั้งหมด 800,000 ตัน ซึ่งเวียดนามอาจมีขายให้ได้เพียง 400,000-500,000 ตัน
ช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปีถ้าหากผลิตข้าวได้เพียงพอ ก็เชื่อว่าเวียดนามจะกวาดตลาดในภูมิภาคนี้เกือบทั้งหมด ซึ่งตลาดใกล้ตัวหมายถึงการซื้่อง่ายขายคล่อง ต้นทุนการขนส่งต่ำลงและทุกฝ่ายพึงพอใจ
เวียดนามผลิตข้าวได้มากขึ้นทุกปี แต่ประชากรก็เพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน นอกจากนั้นกว่าครึ่งหนึ่งยังเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาววัยทำงานวัยแห่งการบริโภค ทำให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ต้องมีหลักประกันด้านเกี่ยวกับความมั่นคงด้านเสบียงอาหาร
การส่งออกข้าวของเวียดนามยังผูกติดกับธรรมชาติ เช่นเดียวกับการผลิต ประเทศนี้มีพายุจากทะเลตะวันออกพัดเข้ากระหน่ำปีละ 8-10 ลูก ไม่เช่นนั้น การก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 1 ของโลกก็อาจจะง่ายกว่านี้.
|
|
|
|
|